อัฐพร นิมมาลัยแก้ว

อัฐพร นิมมาลัยแก้ว

ใครจะคิดว่า ‘มุ้ง’ สิ่งที่เราพบเจอและใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน จะสามารถนำมาเป็นผลงานศิลปะได้นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ ‘อัฐพร นิมมาลัยแก้ว’ ที่มองเห็นความงดงามของศิลปะอีกแง่มุมหนึ่ง ใช้เวลาปลุกปั้นพัฒนาผลงานมากว่า 15 ปี จนกลายมาเป็น
ภาพวาด 3 มิติ การันตีฝีมือด้วยรางวัลมากมายและถูกยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทจิตรกรรม คนที่ 21 จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีกด้วย

ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำสอนอยู่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ภาควิจิตรศิลป์ พร้อมกับทำงานศิลปะควบคู่กัน จุดเริ่มต้นศิลปะของเขาเริ่มจากวาดภาพแนวจิตรกรรมมาก่อน แล้วได้ค้นพบเทคนิควาดภาพบนมุ้งโดยบังเอิญเมื่อปี 2001 ช่วงที่กำลังเรียนปริญญาตรี หมกมุ่นทำงานศิลปะในสตูดิโอจนสีจุดเล็ก ๆ เปื้อนติดมุ้ง เขาเลยเกิดความสนใจทันที 

“ช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีปีท้าย ๆ ผมต้องหาแนวทางที่เป็นของตัวเอง มีความชัดเจนในสไตล์ เราค้นหาอยู่พักใหญ่เหมือนกัน จิตกรรมบนผ้าใบผมก็ทำได้ แต่มันดีระดับพื้นฐาน ไม่ได้โดดเด่นอะไร ผมเลยต้องมองหาอะไรมาสนับสนุน จนผมมาเจอมุ้ง คิดว่ามันน่าสนใจดี ไม่มีใครทำ อาจจะมีคนทำแต่เราไม่รู้ เพราะยุคนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต(หัวเราะ) คือผมได้แต่หาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุด แล้วก็ไม่เห็นคนทำ ผมเลยเริ่มพัฒนาผลงานแล้วใส่แนวคิดเข้าไปง่าย ๆ เกี่ยวกับความมืดสลัวในช่วงเช้ามืด จากนั้นก็ลองส่งประกวด จนได้รับรางวัลจิตรกรรมรุ่นเยาว์ (เหรียญทอง) ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะเรา ผมก็เลยทำต่อไปเรื่อย ๆ

“มาถึงจุดที่ผลงานของผมลอยตัวได้ คือเป็นเรื่องของการพัฒนาเทคนิค เป็นการท้าทายอย่างหนึ่งจากที่เป็นกล่องแค่ดูเหมือน 3 มิติ ผมเลยอยากสร้างสิ่งที่มันแปลกตาและเซอร์ไพรส์ให้กับคนดู ตรงที่ว่าถ้าเราใช้วิธีการแบบให้ความรู้สึกเหมือนมวลมิติที่ลอยได้ แล้วถ้าเราหาวัตถุหนึ่งมาวางสามารถเพ้นท์ให้คนมานั่งหรือนอนได้ แบบนั้นมันจะเป็นยังไง ส่วนเนื้อหาจะมองว่าวัตถุนั้นจะเชื่อมกับผลงานเราแบบไหน ตอนแรกผมเริ่มหยิบพ่อกับแม่เข้ามาใส่ในผลงาน เพราะเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวผม นับวันท่านค่อย ๆแก่ชราลง ป่วยผมก็ต้องพาไปโรงพยาบาล เลยรู้สึกว่าวันหนึ่งพ่อแม่ก็ต้องจากเราไป สะเทือนใจมากนะ บังเอิญเรื่องนี้เข้ากันได้ดีกับเทคนิคของผม พ่วงด้วยที่เรานับถือศาสนาพุทธจะมีคำสอนของพระพุทธเจ้าสอนไว้ เรื่องความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ผมก็ดึงเรื่องนั้นมาเชื่อมกับผลงาน

“อย่างหนึ่งที่ผมเลือกพ่อกับแม่คือ พ่อแม่เป็นอะไรที่สากล ทำให้คนเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือใครก็ตามส่วนวัตถุของท่านผมก็เลือกโซฟาที่เคยใช้ร่วมกัน เป็นสิ่งที่ไม่ได้ใช้แล้ว สิ่งหนึ่งเป็นของกำลังถูกทิ้ง อีกสิ่งหนึ่งเป็นความรู้สึก เป็นนามธรรมที่เราสร้างขึ้น จนมาถึงชุดล่าสุดผมเริ่มใช้ธรรมมาตรที่นั่งพระเทศน์ แล้วผมใส่ไอเดียเกี่ยวกับคำสอนพ่อแม่ ที่บอกว่าพระในบ้าน คือพระอรหันต์ของลูกเราเคารพท่าน ไหว้ท่านทุกวัน ท่านไม่เคยโกรธเรา เกลียดเราท่านมีแต่ให้อภัย อยากให้เราได้ดี ซึ่งพระอรหันต์เป็นผู้ที่ปล่อยวางได้ทุกสิ่ง พ่อแม่เราก็ปล่อยวางเรื่องเราได้ เฉพาะเราคนเดียว ซึ่งมีเนื้อหาที่ดี เลยหยิบพ่อแม่ขึ้นมานั่งบนธรรมมาตรที่ถูกทิ้ง เพราะจริง ๆ เราก็ฟังท่านเทศน์อยู่ตลอดเวลา ผมหวังแค่อยากให้งานของผมทำให้คนฉุกคิดตรงนี้ แม้ว่าคุณจะบ้าทำบุญมากเท่าไหร่ ผมว่าให้พ่อให้แม่คุณก่อนเถอะ เริ่มจากคนใกล้ตัวก่อน”

วิธีการนำเสนอที่น่าติดตามและความเป็นเอกลักษณ์ของเขา ทำให้ผลงานเขาโดดเด่นทั้งแนวความคิดและเทคนิคอันชวนหลอน โดยผลงานชุดล่าชุดของเขาใช้ชื่อว่า ‘มโนภาพแห่งความทุกข์’ เปรียบเสมือนการสร้างพื้นที่หรือสร้างรูปทรงที่เป็นความรู้สึกของเขาผ่านตัวเทคนิค

“ผลงานชิ้นอื่น ๆ คอนเซ็ปต์ก็จะคล้าย ๆ กัน มีงานหนึ่งเป็นรูปเด็กผู้หญิง ผมจะมองมุมที่ต่างออกไป เป็นความทุกข์ที่ขยับออกมา ไม่ใช่ความทุกข์ทางร่างกายแต่เป็นความทุกข์ภายในจิตใจ เรื่องของการใช้ชีวิต ผมหยิบน้องสาวและลูกพี่ลูกน้องของผมมาเล่า เหมือนเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนจบใหม่ ๆ การหางาน หรือการมองหาความเป็นตัวตน แล้วผมก็จะเปลี่ยนองค์ประกอบทางศิลปะนิดหน่อย อย่างผมเขียนแม่ จะใช้เส้นในแนวดิ่งลง แสดงให้เห็นถึงความร่วงโรย แต่ของน้องผู้หญิงผมเปลี่ยนเส้นให้เป็นแบบขดวน ให้ดูเหมือนสร้างมวลมิติ รู้สึกสับสน ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งของความทุกข์ที่เรามอง น้องผมอาจจะไม่รู้สึกขนาดนั้นก็ได้

“มีคนถามผมตลอดว่าทำไมไม่ทำเรื่องดี ๆ บ้าง ถ้าหากเทคนิคผมทำเรื่องดี ๆ ข้อแรกคือ มันไม่กินใจ มันไม่กระแทก ไม่เหมือนเวลาเราเห็นอะไรอย่างแรกแล้วมันสะดุดตา หลอนว่ะน่ากลัวว่ะ แล้วค่อยมาอ่านแคปชั่นก็ได้ มันจะค่อย ๆ ซึมซับลงไป ว่าผมพยายามจะเล่าอะไรไป อย่างที่สอง มันไม่ใช่ทางที่เราทำมาด้วย มันไม่ลึกพอ ถ้าจะให้ทำเรื่องดี ๆ ก็คงต้องรอให้เทคนิคผมตันก่อนแล้วกัน (หัวเราะ) 

“สำหรับหัวใจของการออกแบบ ผมคิดว่าอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ความเป็นออริจินอล มันสำคัญมากทุก ๆ แขนง ความเป็นต้นแบบ ไม่ใช่ได้รับมาแล้วก็อปปี้ แบบนั้นน่ากลัว ถ้าในวงการศิลปะผมมองว่าถ้าผลงานยิ่งเผยแพร่ออกไปมาก ๆ เราก็จะมีความเป็นออริจินอลไปโดยปริยาย พอคนอื่นเขาทำตาม เขาก็จะบอกว่าเหมือนของอัฐพร เป็นของอัฐพรรึเปล่า แต่จุดที่มันจะย้อนกลับมาหาเราก็คือ แล้วอัฐพรจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน สมมติคนอื่นเขาก็อปเท่าเราแล้วเราหนีไม่ได้ เราก็ต้องเคารพเขานะ เพราะเขาก็อปดีกว่าเรา แต่สิ่งสำคัญที่ผมบอก คือความเป็นปัจเจกและไอเดีย”

โปรเจ็กต์ต่อไปเขาวางแผนที่จะสร้างสตูดิโอให้มีพื้นที่แสดงงานเป็นของตัวเอง ส่วนการจัดแสดงผลงานกำลังอยู่ในระยะดำเนินการว่าจะจัดแสดงในไทยหรือต่างประเทศเห็นได้ชัดว่าการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสักชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ประสบการณ์ในการเพาะบ่มฝีมือ จึงจะออกมาเป็นผลงานที่มีคุณค่า คู่ควรที่จะเผยแพร่และเก็บรักษาต่อไป 

Painting on layers of mosquito nets ภาพศิลป์บนผืนมุ้ง