ผลสรุป JAS  หลังเบี้ยวค่าคลื่น 900MHz

ผลสรุป JAS หลังเบี้ยวค่าคลื่น 900MHz

วันที่ 21 มีนาคม 2559 เวลา 16:30 น. นั้นถือว่าเป็นเส้นตายที่ทาง JAS จำเป็นจะต้องหาเงินจำนวนกว่า 8,000 ล้านและสัญญาค้ำประกันเงินค่าประมูลมาให้ทาง กสทช. แต่แล้วทาง JAS ก็ไม่ได้มาตามสัญญา จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายอย่างตามที่หลาย ๆ คนคาดการณ์เอาไว้

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดกับข่าวการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่ผ่านมานั้นก็คงจะเริ่มตะหงิด ๆ กับ JAS พอสมควรว่าจะสามารถจ่ายเงินค่าสัมปทานได้หรือไม่ ? โดยเฉพาะการหาบริษัท/ธนาคารค้ำประกันเงินกู้จำนวนที่
สูงกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท JAS ทั้งหมดเสียอีก 
โดยก่อนหน้านี้ก็มีข่าวแว่ว ๆ ว่าจะมีบริษัททางด้าน
โทรคมนาคมต่างชาติมาร่วมหุ้น รวมไปถึงการ
เตรียมเงิน 8 พันล้านบาทนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่อยู่ดี ๆ ทาง JAS ก็ได้เงียบหายไปเสียเฉย ๆ และเบี้ยวค่าประมูลในที่สุด

## เรื่องที่เกิดขึ้นกับ JAS ทันที

•    เสียเงินประกันจำนวนกว่า 644 ล้านบาท
•    เสียสิทธิเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่อื่น ๆ ตลอดไป
•    ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประมูลทั้งหมดแทน กสทช. เป็นเงินมูลค่าประมาณ 170-180 ล้านบาท
•    สรุปค่าเสียหายรวมกันประมาณ 850-1,000 ล้านบาทโดยประมาณ

## เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จะมีการจัดประมูลสำหรับคลื่นความถี่ 900MHz อีกครั้ง โดยเริ่มต้นที่ราคาเดิมของ JAS ไม่ต่ำกว่า 75,654 ล้านบาท ให้กับทั้ง 3 เจ้าเข้าร่วมประมูลใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ค. และหากไม่มีใครประมูลแม้แต่รายเดียวทาง กสทช. ก็จะเก็บคลื่นนี้ไว้อีก 1 ปี แล้วจะนำเอาคลื่น 900MHz นี้มาทำการประมูลแบบถอยหลัง (ค่อย ๆ ลดราคาจนกว่าจะมีคนเคาะ)

ซึ่งจากที่คาดการณ์กันไว้คือ ทาง DTAC และ AIS น่าจะไม่ประมูลอย่างแน่นอนในราคานี้ เพราะเป็นราคาที่สูงเกินไป (มาก ๆ) รวมไปถึงถ้าการประมูลแบบลดราคานั้นลงมาต่ำมากเกินไป เชื่อว่าทาง TRUE จะไม่ยอมอย่างแน่นอน งานนี้ทาง กสทช. และ กทค. จะต้องประชุมพิจารณากันเป็นอย่างมากเพื่อให้ยุติธรรมกับทุกฝ่าย

## ผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

การแข่งขันจะกลับไปเหลือ 3 ฝ่าย AIS, DTAC, True เช่นเดิม แล้วคลื่นที่เหลืออยู่ 1 Slot น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่าง DTAC และ AIS ที่ไม่ได้คลื่น 900MHz ทั้งคู่ ซึ่งแน่นอนว่าคนที่อยากได้คลื่นมากที่สุดไม่พ้นทาง DTAC ที่ไม่สามารถประมูลทั้งคลื่น 1800MHz และ 900MHz ซึ่งในปี 2562 คลื่นปัจจุบันของทาง DTAC ที่ถือครองอยู่จำนวนกว่า 50 MHz (ใช้จริง 25 MHz) จะหมดสัญญาสัมปทาน ทำให้เกิดผลกระทบกับ DTAC อย่างรุนแรงหากยังไม่มีคลื่นความถี่สำรอง

ก็กลายเป็นเรื่องอลหม่านในบ้านทรายทองไม่น้อยกับวงการโทรคมนาคมไทย ที่อยู่ ๆ JAS ก็เข้ามาปั่นการประมูลให้มีมูลค่าสูงขึ้น แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถจัดการให้เกิดขึ้นจริงได้ สุดท้ายคลื่น 900 MHz ก็ถูกทิ้งไว้เฉย ๆ อีกเป็นปี ๆ กว่าจะกลับมาให้บริการได้อีกครั้งหนึ่ง 

 

จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?