เอกชัย วรรณแก้ว

เอกชัย วรรณแก้ว

‘อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ’ หนึ่งประโยคที่ เอก-เอกชัย วรรณแก้ว ยืดมั่นมาตลอด เจ้าของฉายา ‘มนุษย์เพนกวิน’ ผู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์เต็มร้อยเหมือนคนปกติมาตั้งแต่กำเนิด แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้สภาพร่างกายภายนอกจะแตกต่าง แต่จิตใจกลับเข้มแข็ง บางทีอาจแข็งแกร่งกว่าคนปกติทั่วไปเสียด้วยซ้ำ

“ถึงผมจะเป็นแบบนี้ไม่เหมือนคนอื่น แต่ผมไม่เคยดูถูกตัวเองเลยแม้แต่วินาทีเดียว ถ้าผมดูถูกตัวเอง คิดว่าคนอื่นที่มองผมเป็นแสนล้านคน เขาจะชื่นชมตัวผมไหม ขนาดผมยังไม่ชื่นชมตัวเองเลย แล้วใครจะมาชื่นชมผมล่ะผมมีวันเหนื่อย วันท้อ แต่ผมมีคำ ๆ หนึ่งที่ผมท่องมาตลอด คืออย่าบอกตัวเองว่าทำไม่ได้ เมื่อยังไม่ได้ทำ เมื่อก่อนผมแทบจะเดินไม่ได้ แทบจะไม่ได้อ่านหนังสือ คิดดูเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ใครจะรู้จักคนที่ชื่อเอกชัยบ้าง ผมโดนคนปฏิเสธเยอะมาก ผมพูดจริง ๆ ตอนที่ผมเรียน ถามว่าผมชอบผู้หญิงไหม ผมชอบสิ แต่ผมอาย ผมรู้สึกว่าผมไม่กล้าเดินเข้าไปคุย เขาจะคิดว่าเราเป็นตัวประหลาดรึเปล่า เมื่อก่อนผมเป็นคนคิดเยอะ ถ้าผมไม่อยู่ในกลุ่มเพื่อน ผมก็จะเป็นคนไม่ค่อยคุย

“หลาย ๆ คนรวมถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เองก็บอกว่า เอกเป็นตัวของตัวเราเองดีแล้วลูก อย่าเป็นตัวที่เขาแสดงให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะอยู่แล้วไม่มีความสุข จนตอนนี้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เราช่วยคนอื่นได้ บางคนที่คิดว่าไม่เหลืออะไรแล้ว พอได้มาเห็นเรา เขาจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กไปเลย พอผมได้ออกสื่อออกทีวี หลายร้อยคนเข้ามากอดเข้ามาขอบคุณ แล้วมีคนหนึ่งบอกว่าถ้าพี่ไม่เห็นเอกในทีวีวันนั้น พี่คงไม่มีลมหายใจแล้ว ผมเลยรู้สึกว่า เงินมันเป็นแค่ปัจจัยส่วนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็ทำให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าของตัวเองได้ ”

กว่าจะมีวันนี้ ชีวิตเขาต้องฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคมาไม่น้อย เพราะเขาไม่เคยยอมจำนนต่อโชคชะตา ใช้พลังใจสยบข้อจำกัดทางร่างกาย จนสามารถคว้าปริญญาตรี คณะจิตรกรรม วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมกับยืนบนลำแข้งตัวเองอย่างสง่างามด้วยการเป็นจิตรกร ครูสอนศิลปะ ควบคู่ไปกับวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจ 

“ผมชอบศิลปะตั้งแต่หัดเขียนและสามารถที่จะเขียนได้ แต่เราไม่ได้รู้หลักว่าองค์ประกอบมันถูกต้องไหม มาชอบจริงจังก็ตอนที่ได้เรียนหนังสือ ผมรู้สึกว่าการเขียนศิลปะมันสามารถที่จะถ่ายทอดอะไรที่เราอยากให้คนอื่นได้รู้โดยที่ไม่มีผิดถูก แล้วเราอยากจะเป็นอะไรก็ได้โดยที่คิดนอกกรอบ ผมเขียนภาพได้ทุกแนว แต่ตอนนี้ที่ชอบเขียนที่สุดก็คือลายเส้น เพราะมันละเอียดอ่อนและไม่แต่งแต้ม ไม่เพิ่มเติม มันออกมาจากจิตใจข้างใน ผมใช้เท้า ใช้ไหล่เขียนภาพคิดดูว่าสิ่งที่คนเราคิดว่ามันยาก แล้วถ้าเราลองทำมันจะได้ไหม แต่ถ้าเป็นภาพในหลวงผมจะใช้ไหล่เขียน ผมชอบศิลปะเพราะไม่มีหลักเกณฑ์ เราสามารถคิดหรือประดิษฐ์อะไรก็ได้ และเรารู้สึกว่าอยู่กับมันแล้วมีความสุข”

เมื่อไม่นานมานี้เขาได้รับรางวัลจากเวที “M Thai Top Talk About 2016” ในฐานะบุคคลชายที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด (Top Talk-About Guy) ผู้พิชิตยอดเขาคิลิมันจาโร ประเทศแทนซาเนีย ยอดเขาที่สูงที่สุดของทวีปแอฟริกา ที่มีความสูงถึง 5,895 เมตร เพื่อวาดพระบรมสาทิสลักษณ์เทิดพระเกียรติถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา

“ผมเป็นวิทยากรเกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจมา 5 ปี ทำให้พบว่าสิ่งที่คนไทยยังขาดแคลนไม่ใช่ความรู้ ไม่ใช่เงินทอง แต่ขาดกำลังใจ ผมจึงอยากเอาตัวเองเป็นกระจกสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่า ตัวผมแค่นี้ ผมยังสามารถปีนเขาได้ แล้วถ้าเป็นพวกคุณค่ะ ทำไมมีโอกาสแล้วทำไม่ได้ ผมจิตนาการว่าคงจะดีนะถ้าเราไปเขียนภาพบนเขาสูง ๆ สักที่ แล้วเขียนภาพอะไรที่พิเศษนอกจากทิวทัศน์ มันจะเป็นยังไง จะรู้สึกภูมิใจกว่าไหม แล้วบังเอิญได้รู้จักกับพี่หนึ่ง (วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขา
เอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จ) ก็เลยนั่งคุยเล่น ๆ กันว่าลองปีนเขาดูไหม ผมก็บอกว่าไม่ได้หรอก ปรากฏว่าพี่เขาเอาจริงนะ ผมเลยกลับไปคิดอยู่นาน สิ่งแรกที่กังวลคือเราจะไปเป็นภาระเขาหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไป”

วินาทีที่เขาได้พิชิตยอดเขาและวาดรูปในหลวงสำเร็จ ต้องผ่านด่านหฤโหดมากมาย ทั้งหิมะ อุณหภูมิติดลบกว่า 20 องศา และสภาพพื้นผิวของการปีนเขา ด้วยระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างนั้น ถือว่าเป็นบทเรียนล้ำค่าที่เขาจะไม่มีวันลืมจากการพิชิตยอดเขาครั้งนี้อย่างแน่นอน และส่วนหนึ่งที่ให้เขาประสบความสำเร็จได้คือกำลังใจจากทุกคน

“ดีใจครับ ท้อแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้ การทำเพื่อในหลวง เพื่อพ่อของประเทศไทย เป็นความอิ่มใจที่สุดในชีวิต นอกจากนี้ผมยังอยากให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่า ถ้าเราคิดที่จะทำ กล้าที่จะทำ ทุกอย่างสำเร็จได้แล้วที่ผมปีนเขาขึ้นไป ผมไม่ได้ต้องการชื่อเสียงหรืออะไร ผมแค่อยากเป็นกระจกสะท้อนเท่านั้นเอง บางคนกลัวจนไม่ยอมทำอะไร ผมมองว่าโอกาสสำคัญมาก เพราะโอกาสที่เข้ามามันน้อย จึงต้องเต็มที่กับโอกาสที่ได้รับมา”

ปัจจุบันนี้นอกจากเขาจะเป็นวิทยากรแล้ว ยังออกทำงานเพื่อสังคมผ่านการทำงานศิลปะด้วย โดยเป็นหนึ่งในศิลปินของโครงการ Art for All และล่าสุดเขาได้นำเรื่องราวบทเรียนชีวิตมาเขียนบอกเล่าไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า‘ใจเปลี่ยนโลก’ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้คน ทั้งหมดคือความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขาไม่เคยย่อท้อกับทุกสิ่งที่เผชิญ ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับนับถือจากคนทั่วประเทศ 

Never give up หัวใจไม่ยอมแพ้