ปรัชญา ปิ่นแก้ว

ปรัชญา ปิ่นแก้ว

วงการภาพยนตร์ไทยยอมรับฝีมือ ปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นผู้กำกับหนังคนไทยที่มีผลงานคุณภาพคนหนึ่ง เขาคือผู้ร่วมสร้างปรากฏการณ์หนังแอคชั่นโดยใช้เอกลักษณ์ของมวยไทย ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก ออกมาจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยผลงานเรื่องอื่น ๆ ของเขาก็น่าจับตามองไม่แพ้กันเส้นทางการเดินทางของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่มาด้วยสมองและสองมือที่ตั้งใจอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มต้น...

ปรัชญา ปิ่นแก้ว เกิดและเติบโตที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวชั้นกลางที่มีลูก 5 คน ซึ่งไม่ได้มีเงินมากนัก เพราะคุณแม่เป็นแม่ค้าและคุณพ่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง สิ่งที่แตกต่างจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนคือเขาเป็นคนที่ชอบวิชาคณิตศาสตร์
และวาดรูป พอมีกิจกรรมที่ทำในห้องหรือโรงเรียนเขาจะเป็นคนคิดไอเดียแต่ไม่ชอบแสดงการทำงานเป็นคนเบื้องหลังนั้นมีความสุขมากกว่า เมื่อกิจกรรมที่ทำสำเร็จลงโดยด้วยดี เขาจึงตั้งเป้าหมายเอาไว้ตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมว่าจะเป็นผู้กำกับหนังให้ได้

ในช่วงวัยรุ่นคุณปรัชญาได้รับอิทธิพลและแนวคิดโดยตรงจากกลุ่มคนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โด่งดังมากสำหรับวัยรุ่นในสมัยนั้น บุคลากรระดับประเทศหลายท่านก็มาจากที่นี่ เช่น คุณประภาส ชลศรานนท์, คุณปัญญา 
นิรันดร์กุล หรือ กลุ่มซูโม่สำอาง เป็นแรงบันดาลใจให้เข้าเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน)

“ยุคนั้นเรื่องการทำหนังต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะมันไม่มีตัวอย่างให้ศึกษา ผมดูหนังเยอะมากแล้วก็อ่านนิตยสารหนังมากมาย ผมรู้สึกว่านี่คือตำราควบคู่ไปกับการเรียนสถาปัตย์ เรียนที่นี่ผมเป็นนักกิจกรรม ทำมากจนรุ่นพี่แต่งตั้งให้ผมเป็นประธานกิจกรรม
ตั้งแต่อยู่ปี 1 ตอนนั้นก็ตกใจนะแต่ผมก็มั่นใจว่าทำได้ ผมรู้สึกว่ากิจกรรมคือการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ดีมาก

“ส่วนเรื่องของการทำหนังในสมัยนั้นผมเรียนรู้เองจนรู้วิธีการทำหนังสามมิติว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมากเพราะในประเทศไทยเวลานั้นไม่มีใครทำได้ จึงพยายามนำไอเดียนี้ไปเสนอให้กับคนที่สนใจ ตอนนั้นวิทยาลัยมีทัศนศึกษาในกรุงเทพ ฯ
ที่ห้างมาบุญครอง ผมดูตารางช่วงที่ว่างก็ฉีกตัวออกไปหาบริษัทที่ต้องการจากสมุดหน้าเหลือง ผมเจอบริษัทหนึ่งแถวสุขุมวิท ก็เข้าไปแนะนำตัว และบอกว่ามีไอเดียการทำหนัง 3 มิติที่ไม่เหมือนใคร แล้วเขาก็บอกว่าจะติดต่อกลับมา ผมรอจดหมายทุกวันแต่ก็เงียบไปก็เลยไม่ได้ทำ ซึ่งถ้าเป็นปัจจุบันเทคนิคการทำหนังหนัง 3 มิติ เป็นเรื่องที่เปิดเผยทำง่ายแล้ว

“สมัยเรียนราวปี พ.ศ.2523 ผมได้ทำกิจการเล็ก ๆ กับเพื่อนและรุ่นพี่คือการทำเสื้อยืดสกรีนลาย ในสมัยนั้นเป็นเรื่องใหม่ที่มีคู่แข่งน้อย เราใช้ชื่อว่า โคราชดีไซน์ โดยเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน ก็ทำจนได้กำไรมีเงินหลายหมื่นบาท แต่มีอยู่งานหนึ่งเราได้สกรีนเสื้อเหล้ายี่ห้อดังเจ้าหนึ่ง พอทำเสร็จเขาบอกว่าไม่ตรงสเปก คือไม่จ่ายเงิน เสื้อที่ทำก็เลยต้องตีกลับทำให้ขายไม่ได้ ไม่มีเงินไปจ่ายค่าเสื้อที่โรงงาน เขาก็ทวงแล้วทวงอีกพวกเราก็ไม่มีเงิน 

“จำได้ว่าตอนนั้นผมอยู่ชั้นปี 4 (ปวส.) วันหนึ่งรุ่นพี่บอกว่าเราต้องไปปล้น จะเอาเงินแค่ 3 หมื่นบาทพอ เขาบอกว่าปรัชญากับเพื่อนไม่กล้าไม่เป็นไร เดี๋ยวรุ่นพี่สองคนทำกันเอง ผมอึ้งมากก็แอบคุยกับเพื่อนบอกว่าไม่กล้า กลับไปก็นอนไม่หลับอยู่สองสามวัน คือมันรู้สึกผิดว่าเราร่วมหัวจมท้ายกันมาแล้ว คำว่าสปิริทมันถูกฝังหัวเรามา ตอนเราสบายเราสบายด้วยกันแต่ตอนลำบากเราจะมาหนีเหรอ ก็เลยคิดว่าต้องทำแต่กลัวมาก

“เราตะเวนหาร้านปล้นไปเจอร้านขายนาฬิการ้านใหญ่ร้านหนึ่งซึ่งมีเพียงคนแก่กับเด็ก คือเราจะขอแค่ 3 หมื่น ถ้าเรามีเงินแล้วจะเอามาใช้คืน วันที่ปล้นช่วงที่กำลังนั่งรถมอเตอร์ไซค์ภาพในหัวผมมันบิดเบี้ยว วิ้ง ๆ หัวใจเต้นแรงหูอื้อ ตาพร่าหมด เหมือนในหนังเลย พอรุ่นพี่จอดรถมอเตอร์ไซค์ผมแทบก้าวขาไม่ออก 

“เมื่อเข้ามาในร้านก็มีลูกค้ากำลังเลือกซื้อนาฬิกาอยู่แล้วลูกค้าก็ไม่ไปสักที จนรุ่นพี่มาสะกิดผมก็นึกว่าให้สัญญาณไปจับอาแปะ รุ่นพี่ก็ล็อกคอผมออกมาจากร้าน ผมตื่นเต้นมากบอกอะไร! ยังไง! ผมก็ซ้อนมอเตอ์ไซด์ออกมาจากร้าน จนรุ่นพี่ไปจอดหน้าธนาคารพร้อมกับอีกทีมหนึ่งที่มารออยู่ก่อน ผมก็ตกใจอีกเราเปลี่ยนแผนจะมาปล้นธนาคารเหรอ! จะเป็นลม หลังจากนั้นทุกคนก็หัวเราะผม ผมถามว่าอะไร! คือขวัญเสียหมดเลย ทุกคนก็เฉลยว่ารุ่นพี่เขาถูกล็อตเตอรี่ได้เงินมา 3 หมื่นบาท ก็ดีใจที่ได้เงินมาใช้หนี้ เลยมาแกล้งผมกับเพื่อน 2 คนว่าจะปล้นร้านเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ คือมันเป็นประสบการณ์ที่ผมจำไม่มีวันลืมคือเล่าตอนนี้มันสนุกนะแต่ตอนนั้นมันแรงมาก ๆ เลย

“ผมเสียเวลาเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งนี้มากกว่าคนอื่นไปอีกหนึ่งปี สาเหตุเพราะผมไม่ยอมเลิกทำกิจกรรม เนื่องจากผมเป็นประธานทุกปีแล้วไม่มีใครมาแย่งตำแหน่ง ด้วยความที่ไม่ยอมเลิกนี่แหละทำให้ผมไม่มีเวลาเรียนจึงสอบไม่ผ่านวิชาเขียนแบบ แต่ในท้ายที่สุดแล้วผมก็ผ่านมันมาได้”

หลังจากเรียนจบ คุณปรัชญา ก็ตัดสินใจเดินตามความฝันคืออยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่สิ่งที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้นคือต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และทำงานเกี่ยวกับวงการบันเทิงให้มากที่สุด โชคดีที่ได้รับการแนะนำงานจากรุ่นพี่คนหนึ่งทำให้ได้ทำงานที่บริษัท แพคช๊อท ซึ่งเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ที่ผลิตงานมิวสิกวิดีโอให้กับศิลปินดังในสมัยนั้น

“เมื่อได้มาทำงานในตำแหน่งฝ่ายศิลป์ ผมก็ดีใจมากคือบอกเขาว่าทำได้หมดทุกอย่าง ตั้งแต่ออกแบบ เซ็ตฉาก ในการทำมิวสิกวิดีโอ บางครั้งก็ออกไอเดียช่วยงานครีเอทีฟ บางงานเขาก็ให้ผมคิดไอเดียเองทั้งหมด แล้วจากนั้นผมก็ช่วยถ่ายภาพวีดิโอ มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และมาเป็นผู้กำกับภายในเวลา 8 เดือน แต่เวลานั้นบริษัทฐานะการเงินไม่ค่อยดีทำให้ตัดงบประมาณออกไปเยอะ ผมเลยไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่พอดีกับบริษัท RS ต้องการครีเอทีฟมิวสิกวิดีโอก็เลยได้ทำงานกับบริษัท RS Promotion

“การทำงานที่บริษัท RS นั้นในอัลบั้มหนึ่งจะมีเพลงหลักและเพลงรองที่ต้องทำทุกอาทิตย์ ผมเข้าไปอยู่ทีมงานมิวสิกวิดีโอ ในปีแรกยังไม่ค่อยมีอะไร แต่พอปีที่ 2 ผมได้เป็นผู้กำกับโดยทำเพลงเก็บตะวันของ อิทธิ พลางกูร เป็นเพลงแรก แล้วปีนั้นผมได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ มันเป็นกำลังใจให้เรารู้สึกว่ามาถูกทาง

“แม้ว่าเรื่องของเพลงและมิวสิกวิดีโอกำลังบูม แต่ ช่วงนั้นอุตสาหกรรมหนังไทยกำลังตกต่ำมาก ๆ จากหนังไทยที่มีให้ดูเป็นร้อยเรื่องก็เหลือให้ดูปีหนึ่งไม่ถึง 10 เรื่อง ดาราหนังไปออกทีวีหมดผู้สร้างหนังก็สร้างน้อย มีดัง ๆ หน่อยก็ไฟว์สตาร์ แล้วก็มีบริษัทหนังเปิดใหม่ ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ของคุณวิสูตร พูลวรลักษณ์ ตอนนั้นเป็นคลื่นลูกใหม่น่าจับตามาก ๆ โดยที่สหมงคลฟิมล์นาน ๆ จะมีหนังออกมาสักเรื่องหนึ่ง

“ผมก็มีความฝันว่าถ้าทำงานกับ RS จนอิ่มตัวแล้วก็อยากไปทำหนังกับไทเอนเตอร์เทนเมนท์ แต่วันหนึ่งเฮียฮ้อ(สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) ก็เรียกเข้าไปคุยเรื่องการโปรโมทเทปอัลบั้มหนึ่งที่เป็นมินิซีรีส์ ซึ่งสมัยก่อนมิวสิกวิดีโอยาว ๆ นิยมทำเป็นมินิซีรีส์ 1 ชั่วโมง มีเพลงหลายเพลงรวมอยู่ในนั้น ท่านก็บอกว่าทำไมไม่ลองทำเป็นภาพยนตร์ไปเลย 

“ตอนนั้นมีอัลบั้มเท้าไฟ ของทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ซึ่งเฮียฮ้อบอกว่าทำเป็นหนังไปเลยจะดีไหม ผมก็บอกเลยว่าทำได้ โดยที่รู้ว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อรู้ว่าต้องเปิดกล้องก็รีบเขียนเรื่องซึ่งมันยากมาก แล้วหนังเรื่องนี้ใช้เทคนิคพิเศษโดยที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก แต่ในวันนั้นถือเป็นมิติใหม่ของหนัง เพราะวงการเพลงกำลังบูม ในขณะที่วงการหนังเงียบแต่ค่ายเพลงใหญ่ให้ความสนใจหนัง ทำให้บรรยากาศวงการหนังมันเริ่มดีขึ้น”

หลังจากที่วงการหนังไทยเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นเห็นได้จากมีหนังเรื่อง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว สร้างรายได้มากที่สุดในยุคนั้น มากถึง 50 ล้านบาท  แม้บริษัท RS จะเปิดบริษัทฟิล์มโดยตรง แต่คุณปรัชญาก็ตัดสินใจออกจากงานผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพื่อมาทำภาพยนตร์อย่างอิสระมากว่า

“ผมลาออกจาก บริษัท RS ได้ไม่นาน โดยที่ไม่ได้ตั้งใจผมก็มีโอกาสได้เข้าไปคุยกับอากู๋ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ที่บริษัทแกรมมี่ อากู๋ชวนให้เปิดบริษัทเพื่อทำหนัง ผมก็คิดว่าดีเหมือนกันก็เลยได้ก่อตั้งบริษัท เมกเกอร์เฮด จำกัด (แกรมมี่กรุ๊ป) ขึ้นมากับเพื่อนช่วยกันบริหาร แต่ตอนนั้นทำหนังอย่างเดียวไม่พอต้องทำศิลปินด้วย ศิลปินคือ นาวิน ต้าร์เบอร์สองก็คือ ไบรโอนี่ ผมทำงานกับบริษัท เมกเกอร์เฮด อยู่ 3 ปี ก็มีความเห็นต่างจากเพื่อนจึงไม่ได้ร่วมงานกันต่อ

“จากนั้นผมออกมาเปิดบริษัท บาแรมยู ซึ่งความหมายของมันไม่มีอะไรมาก ก็เอาชื่อมาจากหนังเรื่อง Babe ซึ่งหมูต้อนแกะมันต้องมีพาสเวิร์ด ไม่งั้นแกะไม่ให้ความร่วมมือพาสเวิร์ดที่ว่านี้คือบาแรมยู คือผมคิดชื่อไม่เก่งก็เลยเอาวิธีที่มันซ่อนอยู่ในหนัง ก่อนหน้านี้ผมมีชื่อที่เอามาจากในหนังอีกเรื่องหนึ่งคือ ไลออนคิง ชื่อฮาคูนา มาทาท่า ผมจดเอาไว้แต่ไม่ได้ใช้

“ระหว่างที่ยังร่วมงานกับแกรมมี่ผมก็ยังทำศิลปินออกมาด้วยเช่นกัน เบอร์แรกคือ ญาญ่า หญิง เบอร์สองก็เป็นเจี๊ยบ วรรธนา แต่ในอีกด้านหนึ่งผมก็ดันโปรเจ็กต์หนังออกมาเรื่อย ๆ ก็มี องค์บาก ซึ่งโปรเจ็กต์มันเกิดที่นั่นพอดี แล้วการพัฒนาโปรเจ็กต์เหมือนกับไม่มีใครมองเห็นว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมก็เลยลาออกมาจากแกรมมี่”

เมื่อลาออกมาเขาก็คิดว่าจะต้องทำหนังอย่างจริงจังเสียที โดยมีองค์บากเป็นตัวสานฝันที่อยากให้ไปถึงในระดับโลกจนในที่สุดก็ได้มาพบกับเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) เป็นผู้สนับสนุนหลักในการทำหนังเรื่ององค์บากจนประสบความสำเร็จ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ จนถึงทุกวันนี้

“หนังสามเรื่องของผมคือ องค์บาก, ต้มยำกุ้ง และช็อกโกแล็ต เรื่ององค์บากผมทำได้อย่างที่เราคิดซึ่งเกิดจากวิเคราะห์ มันไม่ได้เกิดจากความฟลุ๊ก ผมยอมลาออกจากแกรมมี่ทิ้งทุกอย่างเพื่อกำกับหนังเรื่องนี้ แล้วหลายคนไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันเกิดจากไอเดียผม คือเราต้องมีเอกลักษณ์การต่อสู้แบบมวยไทยเป็นของตัวเอง และต้องสู้ด้วยชีวิตเล่นด้วยชีวิตมีสิทธิ์ตายได้ทุกฉาก ตอนนั้นคนรุ่นใหม่มองมวยไทยนอกสายตามาก ผมเปลี่ยน จา พนม จากการได้รับอิทธิพลมวยจีนเป็นมวยไทยจนสำเร็จ จาพนมเล่นหนังมาหลายเรื่อง พันนา ฤทธิไกร ก็ทำหนังมาหลายเรื่อง แต่ทำไมมาสำเร็จที่เรื่องนี้ มันต้องมีที่มาที่ไปนี่คือสิ่งที่คนมองไม่เห็น

“พอเราทำหนังองค์บาก เหมือนเราได้รับโอกาสแล้วใส่เข้าไปเต็มที่มาก ๆ ท่ามกลางบทที่ไม่ดี ผมรู้แต่รอไม่ได้คือรอมานานเกือบสองปี ซึ่งระหว่างที่รอผมเสียเงินเดือนหนึ่งเป็นล้านให้กับทีมงานเพื่อปรับบทจนสุดท้ายรอไม่ได้แล้ว คือผมเขียนไม่ได้แต่ผมมีไอเดียในการทำหนังแอคชั่นใส่เข้าไปแล้วให้คนเขียนบทแก้ให้มันสมูท เราก็ไปถึง Box Office อันดับสี่ของอเมริกา จุดนี้บางทีคนที่ศึกษาวงการหนังจะมองไม่ออก หนังของปรัชญา ปิ่นแก้ว เป็นหนังที่บทไม่ได้ดีเท่าไหร่ แต่เขาไม่สงสัยเหรอว่าทำไมไปได้ไกลขนาดนั้น

“พอสร้าง จา พนม ขึ้นมาแล้ว จะทำใครสักคนขึ้นมาเทียบมันยาก เหมือนในยุคเราที่ดู บรู๊ช ลี พอเขาตายเราเห็นเฉินหลง เพราะฉะนั้นทั่วโลกกำลังยอมรับ จา พนม พร้อมกับมวยไทย จะมาสร้างนักบู๊ผู้หญิงซึ่งยากมาก อีกทัศนคติผู้หญิงมาสู้กับผู้ชายมันยากที่จะให้เชื่อว่าสู้ผู้ชายได้ ผมมีจีจ้าอยู่ในมือแต่หาไอเดียให้กับหนังยังไม่ได้ จนได้ไอเดียว่าเป็นออทิสติก มันโม้แต่ก็ทำให้คนเชื่อได้ ช็อกโกแล็ตก็ทำให้คนยอมรับทั่วโลก

“ถ้าลองสังเกตดี ๆ ผมทำหนังสำเร็จมันมาจากไอเดีย แม้คนชอบวิจารณ์เรื่องบทหนังว่าห่วยก็ตาม ผมชอบคิดวิเคราะห์ในเชิงเพื่อประโยชน์แก่สังคม ด้านหนึ่งผมเลยเอาเวลาไปบรรยายสอนหนังสือ คือจริงจังเป็นองค์ความรู้พูดง่าย ๆ คือเหมือนเขียนตำรา ก็เลยทราบว่าคนไทยไม่ได้ไม่อยากดูหนังไทย แต่คนไทยไม่อยากดูหนังห่วยต่างหากหนังดีมีเยอะแต่เพราะมันไม่น่าดู เพราะคนดูหนังจะเลือกดูจากหน้าหนังแล้วรู้สึกว่าอยากดูหรือเปล่า หนังดีเยอะนะครับแต่ทำหน้าหนังไม่ค่อยโดน แต่หนังที่คนแห่ไปดูกัน
เยอะ พอเราไปดูจริง ๆ มันห่วยมาก หนังมันแบ่งได้คือเนื้อหนังกับหน้าหนังซึ่งมันคนละเรื่องกัน 

“แล้วนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยก็ใช่ว่าจะเก่งทั้งหมด เพราะคนวิจารณ์ได้ต้องมีองค์ความรู้ แล้วผมเชื่อว่านักวิจารณ์หนัง 1 คน ไม่สามารถวิจารณ์หนังได้ทุกประเภท ถ้าเขาไม่ได้ชอบหนังผีแล้วมาวิจารณ์หนังผี เราจะได้องค์ความรู้จากเขาไหม หรือการตัดสินภาพยนตร์ยอดเยี่ยมซึ่งมันมีหลายประเภท มันก็เหมือนอาหารที่มีหลายชนิดในโลก มีทั้งแกงส้ม แกงเขียวหวาน ผัดสะตอถ้ากรรมการบางคนกินสะตอไม่เป็นจะเกิดอะไรขึ้นการตัดสินภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถ้าเกิดมันผิดพลาดขึ้นมาล่ะ แล้วเอาอะไรมาเป็นหลัก อาหารจุดเด่นมันคือความอร่อยส่วนหนังมันคือความสนุก 

“ในต่างประเทศผมเจอนักวิชาการมาเป็นกรรมการ เขาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจารณ์หนังประเภทนั้นโดยเฉพาะคือเป็นกูรู อย่างหนังแอคชั่นมีการแบ่งเป็นหลายประเภท เช่นศิลปะการต่อสู้ซึ่งเขาวิจารณ์ได้ละเอียดมาก เวลาเราอ่านเราจะได้ความรู้ แต่บางคนวิจารณ์หนังไม่พูดถึงฉากแอคชั่นพูดถึงแต่บท แล้วจะเป็นนักวิจารณ์ที่ดีได้อย่างไร

“ส่วนหนังที่ให้แง่คิดกับสังคมนักวิจารณ์จะให้คะแนนทันที ทั้ง ๆ ที่ความสมบูรณ์แบบในทางของหนังเรื่องนี้มันไม่เต็ม 10 ผมคิดว่าหนังไม่จำเป็นต้องมีสาระที่ดีนัก เพราะมันจะมีหนังที่ทำเพื่อความสนุกอย่างเดียวก็มี ส่วนสาระที่ดีมันทำให้หนังมีคุณค่า สมมติมีหนัง 2 เรื่อง ได้รับคะแนนเท่ากัน ซึ่งต้องกลับมาดูว่าเรื่องไหนมีสาระดีกว่าค่อยให้คะแนนเรื่องนั้น 

“เมื่อแบบนี้ทำให้หนังของผมจึงไม่ค่อยได้รับรางวัล แต่ถ้าแยกประเภทเฉพาะทางก็จะได้มาเช่นฉากแอคชั่นยอดเยี่ยม หรือเอ็กซ์ตรีม ซึ่งจะได้รับจากต่างประเทศ ทุกครั้งที่ผมไปสอนในมหาวิทยาลัยผมจะถามนักศึกษาว่าหนังดีคืออะไร เชื่อไหมว่าผมไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนเลย สุดท้ายมันได้คำตอบว่าแล้วแต่คนแสดง ไม่มีหลักการใช่ไหม ผมว่ามันเป็นคำเดียวกันหมดหากไปถามผู้กำกับแต่ละคน

“หนังดีสำหรับผมคือหนังสนุก คำว่าสนุกไม่ได้แปลว่าเสียงหัวเราะ มันเป็นเรื่องของอารมณ์ความกลัว ตื่นเต้น โรแมนติก ความรัก ซาบซึ้ง ประทับใจทุกอย่าง สมมติเราดูหนังดราม่าความสนุกของมันคือประทับใจ กินใจ ซึ้ง น้ำตาไหล ซึ่งการทำหนังคือการเล่าเรื่องได้ดีแล้วสนุก

“ผมเคยวิเคราะห์ว่าความสนุกเกิดจากอะไรบ้าง หนึ่งประสบการณ์มีผลนะ สองคือความรู้ สามคือทัศนคติ สี่คือรสนิยม ทุกคนมีความรู้สึกพวกนี้ โดยสี่ข้อนี้แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ทำให้เวลาดูหนังเรื่องเดียวกันกลั่นกรองออกมาไม่เท่ากัน ถามว่าเราจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ คำตอบของผมคือประสบการณ์ใหม่เป็นเกณฑ์ หมายถึงในโลกนี้มีคนทำหนังรักที่ดีที่สุดในโลกไปกี่เรื่องแล้ว สมมติเราจัดอันดับหนังรักมา 10 อันดับ ถ้าเกิดมีการทำหนังรักเรื่องใหม่ออกมาแต่ไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับนี้ มันจะกลายเป็นหนังดีได้อย่างไร มันอยู่ที่ประสบการณ์ของมนุษย์ซึ่งถ้ามันไปถึงตรงจุดนั้นแล้ว เราไม่ต้องสนใครที่ยังไม่ได้ดู แต่เราต้องดูว่ามีคนทำมาแล้วหรือยัง”

ในส่วนของวงการหนังในประเทศไทยคุณปรัชญา วิเคราะห์ว่าทรัพยากรบุคคลในเชิงครีเอทีฟยังมีน้อยเกินไปบวกกับตลาดภายในประเทศที่แคบ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี หรืออินเดีย ที่มีคนดูรองรับจำนวนมาก หนังในประเทศเราจึงเติบโตได้ช้ากว่า“มีอยู่ 4 ข้อ ที่บ่อนทำลายอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คือ หนึ่งเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ตอนนี้มันก็เป็นกันทั่วโลก สองภัยพิบัติต่าง ๆ ตอนนี้ก็มีบ่อยมากเลย สามความมั่นคงทางการเมือง สี่เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ อนาคตของวงการภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มันเป็นเรื่องของแพลตฟอร์มการเสพภาพยนตร์ของมนุษย์ด้วย สมัยก่อนคนเราดูหนังในโรงหนัง พอเอามาฉายทางทีวีเหมือนเป็นโบนัส แต่ทุกวันนี้ดูจากที่ไหนไม่ค่อยต่างกัน ทุกวันนี้เราสามารถดูหนังจากโทรศัพท์มือถือจนจบเรื่องได้เลย ด้วยความรู้สึกไม่ต่างจากโรงหนัง ทำให้คนรู้สึกว่าทำไมต้องไปโรงหนัง มันเปลี่ยนไปทั่วโลกการดูหนังต้องพิเศษจริง ๆ ต้องมีจอใหญ่หนังฟอร์มยักษ์ควรไปดูที่โรงหนัง หนังฟอร์มเล็กธรรมดา ๆ ดูที่มือถือก็ได้ พฤติกรรมมนุษย์มันเปลี่ยนไปแล้ว คนที่ต่อสู้ก็สู้อยู่ แต่ในเรื่องธุรกิจ คนที่แข็งแกร่งจะรอดส่วนที่เหลือจะขาดทุนเกือบหมด เราจึงต้องปรับตัวให้ได้” 

Behind The Director ผู้กำกับพันล้าน