พูดถึงญี่ปุ่น คุณนึกถึงอะไร … เดาว่าคำตอบนั้นต้องมี ‘หุ่นยนต์’รวมอยู่ด้วยแน่นอน

แม้แนวคิดเรื่องหุ่นยนต์จะไม่ได้เกิดขึ้นจากมันสมองของชาวญี่ปุ่น (แต่เกิดจากนักประพันธ์ชาวเชค) และหุ่นยนต์ตัวแรกก็ไม่ได้เกิดจากฝีมือของชาวญี่ปุ่น (แต่เป็นฝีมือของชาวอเมริกัน) แต่ถึงอย่างนั้นชาวญี่ปุ่นก็ชื่นชอบหุ่นยนต์เป็นชีวิตจิตใจ

หนังการ์ตูนเรื่อง เทะสึวันอะตอม หรือที่เราเคยรู้จักและชื่นชอบมันในชื่อภาษาไทยว่า ‘เจ้าหนูปรมาณู’ เป็นผลงานของนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ที่สร้างตัวละคร ‘อะตอม’ ให้เป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์ มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ ที่สำคัญคือการ์ตูนเรื่องนี้ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญต่ออุตสาหกรรมการพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพในจินตนาการของชาวญี่ปุ่นที่แสดงถึงความผูกพันธ์ต่อหุ่นยนต์ในแง่ของสัมพันธ์ภาพและการใช้ชีวิตร่วมกันฉันเพื่อน ยังถูกถ่ายทอดออกมาในการ์ตูน ‘โดราเอมอน’ เรื่องโปรดของผม (และทุกท่าน) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513

จนในที่สุดฝันของคนญี่ปุ่นก็เป็นจริง เมื่อท่านประธานบริษัทฮอนด้ามอเตอร์ ที่บังเอิญมีความฝันอยากสร้างหุ่นยนต์ที่เดินสองขาได้เหมือน ‘อะตอม’ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยหุ่นยนต์ โดยสร้างห้องวิจัยเตรียมไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เครื่องมือชิ้นแรกที่วิศวกรกลุ่มแรกได้รับไม่ใช่เครื่องไม้เครื่องมือไฮเทคอะไรเลย แต่เป็นหนังสือการ์ตูนเรื่อง ‘เทะสึวันอะตอม’ เต็มตู้เก็บหนังสือ พร้อมคำพูดจากท่านประธานว่า“ผมอยากให้พวกคุณสร้างหุ่นยนต์เดินได้ คุณอ่านการ์ตูนเรื่องนี้แล้วสร้างให้เหมือนเจ้าตัวนี้”

ไม่นานหลังจากนั้น ไม่เพียงแค่ชาวญี่ปุ่นแต่เป็นทั้งโลกที่ได้พบกับ ASIMO (Advanced Step in Innovative Mobility) หุ่นยนต์เหมือนคนตัวแรกที่เดินสองขาขึ้นบันไดได้ เต้นได้ และตอบสนองต่อคําพูดของมนุษย์ได้ 

นับจากวันนั้น อุตสาหกรรมการพัฒนาหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นก็ก้าวไกลแบบติดจรวด มีการพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปร่างลักษณะต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์สุนัข AIBO, หุ่นยนต์ขายสินค้า, หุ่นยนต์รับใช้, หุ่นยนต์ทำซูชิ, หุ่นยนต์ตัดหญ้า, หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย และอีกสารพัดหุ่นยนต์ที่คุณอยากให้มี

ปัจจุบันญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเข้าใกล้สังคมแห่งอนาคตที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันกับหุ่นยนต์เต็มที จากการที่ 1 ใน 5 ของประชากรชาวญี่ปุ่นนั้นอยู่ในวัยชรา (อายุมากกว่า 65 ปี) รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเร่งโครงการ “ฮิวแมนนอยด์โรบอต” หรือ “มนุษย์หุ่นยนต์” ส่งผลให้อุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีของหุ่นยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว จากมูลค่า 5,200 ล้านเหรียญใน พ.ศ.2549 เพิ่มเป็น 26,000 ล้านเหรียญในพ.ศ. 2553 และคาดว่าจะเติบโตถึง 70,000 ล้านเหรียญใน พ.ศ. 2568 

แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้น เรามาดูหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดของญี่ปุ่นกัน ว่าตอนนี้ไอเดียก้าวล้ำไปถึงไหนแล้ว ตัวแรกเป็นหุ่นยนต์หน้าหมี ‘Robear’ หนัก 140 กิโลกรัม ความสูงเท่าคนจริง แข็งแรงแต่อ่อนโยนรักความสะอาด ซึ่งหน้าที่หลักของมันคือการช่วยงานในสถานพยาบาลหรือแคร์โฮมต่างๆ เพราะจุดเด่นของมันคือการประคองและอุ้มผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุให้ลุกขึ้นจากเตียงได้อย่างนุ่มนวล

หุ่นยนต์ตัวที่สองนี้ไอเดียกระฉูดมาก เป็นดีไซน์แบบ Wearable คือสามารถสวมใส่ติดตัวได้ โดยเจ้า ‘Wearable Tomato’ น้ำหนัก 8 กิโลกรัมตัวนี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มพลังให้นักวิ่งมาราธอนโดยเฉพาะ โดยจะเกาะอยู่บนบ่านักวิ่งเหมือนเป้ และจะทำการป้อนมะเขือเทศไซส์กลาง 7 ลูก ให้นักวิ่งกินทีละลูก ด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวโดยไม่ต้องพักหรือหยุดวิ่งเลย หรือถ้า 8 กิโลหนักไป ก็มีรุ่นเล็กน้ำหนัก 3 กิโล แต่ก็จะได้กินมะเขือเทศเชอร์รี่ลูกเล็ก 12 ลูกแทน (แต่จะป้อนถี่กว่า)

หุ่นยนต์ตัวสุดท้ายสำหรับวันนี้ชื่อ Asuna อายุ 15 ปี สูง 155 เซนติเมตร น้ำหนัก 43 กิโลกรัม ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เหมือนคนจริงเพื่อลบล้างภาพหุ่นยนต์แข็งทื่อออกไป จุดเด่นของ Asuna คือใบหน้าที่สวยใสคล้ายกับนักร้องสาววง AKB48 ซึ่งชาวญี่ปุ่นที่ได้พบเธอในงานเปิดตัว Wonder Festival 2015 ถึงกับอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว จุดเด่นของ Asuna คือการแสดงออกทางสีหน้า อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นการกระพริบตา การยิ้ม ทำได้เหมือนมนุษย์มาก รวมไปถึงผิวสัมผัสก็แทบไม่ต่างจากผิวมนุษย์เราเลย 

อยากมีหุ่นตัวไหนติดไว้ใช้ที่บ้านกันครับ? 

ญี่ปุ่น = หุ่นยนต์