บ้านดง

บ้านดง

หลายวันกลางหุบเขา เราไม่อาจลืมห้วงเวลาเช่นนั้นไปได้ ...ระหว่างคืนวันกลางคดโค้งของขุนเขา เราใช้บางช่วงของทางหลวงหมายเลข 108 ค่อยๆ พาตัวเองไปเป็นหนึ่งเดียวกับแววตาผู้คนในบางหนแห่งของแม่ฮ่องสอน กลางนาข้าวเขียวอิ่มตาซ้อนตัวเองเป็นเชิงชั้น หรือรอยยิ้มจากเฒ่าชราอันแสนอบอุ่นในวันฝนพรำ ไม่มีสิ่งใดงดงามไปกว่าภาพเป็นตัวของตัวเองอย่างที่มันเคยเป็นมา

เรามาถึงแม่ลาน้อยหลังคืนค่ำยาวไกลจากเมืองหลวง ถนนสายสวยเส้นเดิมกำกับหมายเลข 108 มันดำสนิทยามหมาดฝน รอบข้างเขียวรื่นเย็นตาเมื่อป่าเขาเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

จากแยกเล็กๆ หน้าที่ทำการไปรษณีย์แม่ลาน้อย ทางดำชั้นดีอย่างทางหลวงหมายเลข 1266 ไต่ลัดพารถคันเล็กขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับทะเลภูเขาที่โอบล้อม รถกระบะเขรอะดินแดงที่สวนลงมาบ่งบอกว่านี่คือฤดูทางยากของข้างบน ไร่ถั่วแดงหลวงแผ่ผืนต้นอ่อนสีเขียวไล่ลัดไปตามผืนภูเขา หมอกลงจัดแม้ยามใกล้เที่ยง ไม่มีสิ่งใดงดงามไปกว่าการจอดรถยืนมองมันด้วยตาเปล่า

เฮือกสุดท้ายที่ถนนเหวี่ยงเราไปมา เบื้องหน้าราวพรมสีเขียวที่มีหมอกไหลเอื่อยคลี่คลุม หมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งวางตัวอยู่ในโอบล้อมทุกทิศทางของผืนนาขั้นบันได เพื่อนร่วมทางแยกกันหามุมงดงามสำหรับบันทึกภาพ

เราดิ่งลงไปสู่บ้านดง หมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าละว้าอันแสนเก่าแก่แห่งตำบลห้วยห้อม โลกตรงหน้าเงียบเชียบอันเป็นผลมาจากนาขั้นบันไดอันสวยงามไพศาลนั้นดึงพวกเขาไปสู่การงาน

อากาศฉ่ำฝนนอกชานบ้านเย็นชื่น มองลงไปเห็นนาข้าวแปลงสวยที่กำลังแตกกอ หมู่บ้านเล็กๆ กลางแดนดอยของแม่ฮ่องสอนแห่งนี้มีที่มาจากผู้คนชาวละว้าจาก 4 ตระกูลที่อพยพโยกย้ายมาจากต่างที่ต่างถิ่น ทั้งตระกูลกวนจุยะ กวนลวด โกลงปัด และตระกูลสะมัง ตกทอดเป็นหมู่บ้านกลางป่าเขาที่ความคิดความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษมีคุณค่าสำหรับพวกเขาพอๆ กับการเพาะปลูกอยู่กิน (ครั้งหนึ่งในหลวงพระองค์ทรงเสด็จมาที่นี่ แล้วได้ทรงโปรดฯ ให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การปลูกผัก เลี้ยงหมู รักษาสัตว์ป่า ชาวบ้านจึงมีการพัฒนาที่จะดำเนินชีวิตในแบบที่ยั่งยืนขึ้น)

จากครั้งที่บ้านดงคือหมู่บ้านของคนละว้าอันห่างไกล ผู้คนข้างบนนี้รู้จักสัมผัสสัมพันธ์กับคนข้างล่างก็เพียงยามที่เป๊อะข้าวดอยและของป่าลงไปแลกเกลือ หรือปลาทูเค็ม ซึ่งมันคือของกินอันมีค่าสำหรับคนข้างบนนี้

ต่อหน้าเสาสะก้างและเรือนไหว้ผีโบราณที่ด้านในคือกลองไม้อันแสนเก่าคร่ำ มีพ่อเฒ่าประกอบพิธีกรรมไหว้ผีให้เราชม ความเชื่อจากอดีตอันไม่เคยตกหล่นของที่นี่ถูกถ่ายทอดผ่านการไหว้ผีตะงอเพื่อความอยู่ดีมีสุข กลางหมู่บ้านอันเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของวันเวลา

ทุกวันนี้คนละว้าบ้านดงเต็มไปด้วยความศรัทธาอันหลากหลาย ทั้งพุทธและคริสต์ ซึ่งมันประกอบกันขึ้นในนามของการเปลี่ยนแปลง ทว่าคนอย่างพ่อเฒ่าบุญสมยังรู้สึกสบายใจกับทิศทางเดิมๆ ที่หล่อหลอมพวกเขาขึ้นมา นาทีเช่นนี้ถนนเล็กๆ กลางหมู่บ้านราวลานศักดิ์สิทธิ์ และเหล้าขาวจอกนั้นที่ราดรดไปโคนเสาสะก้างก็เปี่ยมไปด้วยความหมาย

หมู่บ้านอันแน่นหนามั่นคงวางตัวเองไปตามลาดเนินของดงดอย เราค่อยๆ เดินเลาะไปตามโอบล้อมอันน่าทำความรู้จัก แม่เฒ่าในซิ่นลายสวยสวมลูกปัดสีสดเต็มแผงคอยืนสูบใบยาสบายอารมณ์ เรือนคนละว้าแบบโบราณแทบไม่ปรากฏ หากแต่เมื่อก้าวย่างขึ้นไปตามแต่ละบ้าน ครัวไฟกรุ่นควันฟืนที่แยกส่วนตามแบบฉบับบ้านคนละว้าดั้งเดิมยังคงทำหน้าที่ของมัน

“ผ้าคือสิ่งสำคัญของคนละว้า”ผ้าของที่นี่จะมีลวดลายโบราณอันตกทอดมาช้านาน ทุกวันนี้มีผ้าทอหลากหลายที่ปรับเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หากแต่เมื่อถามถึงทิศทางเก่า ต้องนับว่า “ลายตวน” นั้นถือเป็นส่วนสำคัญของผ้าทอที่สะท้อนความเป็นคนละว้า

คนที่นี่นับถืองูเหลือมเป็นบรรพบุรุษ เช่นนั้นเองส่วนลายที่สำคัญที่สุดของผ้าทอจึงถอดแบบมาจากลายงูเหลือม ดังนั้นเขาจึงไม่ฆ่า หรือทำร้ายเมื่อได้พบเจอในป่าก็ตาม    

นับจากหมู่บ้านเติบโต ผลิตผลทางการเกษตรเริ่มมีทิศทางในการหล่อหลอมชีวิต ลูกหลานรุ่นใหม่ได้รู้จักที่จะส่งเสริมให้ใช้ทักษะอันน่าทึ่งในงานหัตกรรมมาสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างผ้าพันคอ ย่าม เสื้อ ล้ำเลยไปถึงเครื่องใช้ร่วมสมัยอย่างซองไอแพด ซองโทรศัพท์ ซึ่งทั้งหมดทั้งสิ้นมีจุดเริ่มมาจากลวดลายและการถักทอจากบรรพบุรุษทั้งสิ้นนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและค่อยๆ พัฒนาไปพร้อมๆ กับการมาถึงที่นี่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย 

ที่ตั้งอยู่บนสันดอยของบ้านดง รอบด้านเมื่อเราขึ้นไปถึง มองไปลับตาคือผืนนาขั้นบันไดและแปลงผักผลไม้เมืองหนาว แอ่งที่ราบตรงนั้นเปรียบดังตะกร้าแห่งพืชผลที่หล่อเลี้ยงคนละว้าที่นี่อย่างถึงที่สุด เพราะฉะนั้นเปรียบได้ว่าที่นี่เป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลักของแม่ฮ่องสอน” ก็ว่าได้ 

จากวันที่ 9 มกราคม 2514 วันที่รอยพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับลงเหนือแผ่นดินแถบบ้านดงและอีกหลายหมู่บ้านในเขตตำบลห้วยห้อม ณ โมงยามนั้น การทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นยังคงดำเนินไปควบคู่กับความยากไร้

ด้วยทุนพระราชทานจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หมู่บ้านเล็กๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมไปถึงบ้านดงได้รับการเข้าอยู่ในโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ไล่เรียงมาถึงปี พ.ศ. 2522 ดูเหมือนจากนั้นเป็นต้นมา อะไรๆ จะเริ่มเปลี่ยนไป บ้านดงที่เคยหลากไหลตัวเองไปตามฤดูกาลของขุนเขาและชะตากรรมก็เริ่มมีทิศทางให้ผู้คนยึดเหนี่ยวเดินตาม หลังจากที่ศูนย์พัฒนาฯ แม่ลาน้อยได้ก่อสร้างอย่างเต็มรูปแบบ เต็มไปด้วยการส่งเสริมทั้งด้านเพาะปลูกและพัฒนาอาชีพ และในปี พ.ศ. 2535 พระองค์เสด็จเยี่ยมบ้านดงอีกครั้ง พร้อมกับรับสั่งเหมือนทุกครั้ง คือให้คนที่นี่รักษาป่าไม้ ป่าต้นน้ำ เรื่องราวเหล่านี้นั้นตกทอดอยู่ในแววตาและความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ของที่นี่อย่างแยกกันไม่ออก

หลังพาตัวเองเดินลัดลงไปในผืนนาที่กำลังแตกกล้าเขียวนวล ใครสักคนชวนเข้าไปดูกล้าพันธุ์เบบีฮ่องเต้และเบบีค็อตตามโรงเรือน มันยืนต้นกล้าราวงานกราฟิกสีเขียวบนพื้นผิวสีน้ำตาลเข้มของเนื้อดินในกระถาง ชายชาวละว้าประคบประหงมดูแลมันราวกับผักเมืองหนาวเหล่านี้ไม่แตกต่างไปจากพืชผลอื่นๆ ที่พวกเขาใช้ยังชีพกลางผืนป่ามาแต่ดั้งเดิม

ฤดูกาลของเบบีฮ่องเต้และเบบีค็อตเวียนมาถึงพร้อมๆ กับข้าวดอยในผืนนาที่รอวันตั้งท้อง มันคือผลผลิตจากขุนเขาที่พร้อมจะเคียงข้างคนของที่นี่ไม่แตกต่าง และที่สำคัญที่นี่ยังมีระบบสหกรณ์ สำคัญยิ่งสำหรับคนห่างไกลในขุนเขาที่ต้องต่อสู้กับระบบทุนที่กำลังรุกคืบขึ้นมาตามแรงเหวี่ยงของคืนวัน

ฝนพรำยามสายเราติดอยู่ที่กระท่อมเฝ้านาของใครสักคน การได้นั่งมองพืชผลกลางหุบดอยในความชื่นเย็นดูจะมีค่าอยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อเดินลัดตามเสียงเจื้อยแจ้วขึ้นมาถึงห้องเรียนเล็กๆ ของโรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชบ้านดง
ก็ราวจุดเล็กๆ ที่เชื่อมโยงโลกใบเก่าและนาทีปัจจุบันได้ร้อยเรียงเข้าหากัน

เด็กน้อยคล้องกี่เข้าที่เอวและกำลังหัดขึ้นลายผ้า ขณะที่แม่เฒ่าชาวละว้าที่เริ่มคุ้นหน้าตากันนั่งมองมัดย้อมเส้นใยฝ้าย หรือ “มัดปุ๊ก” ที่กำลังได้ขนาด ปุ๊กสีขาว ดำ แดง และน้ำตาลแดง อันถือเป็นสีหลักของผ้าทอชาวละว้าเรียงรายรอการถักทอ

วันทั้งวันกลางม่านเมฆฝนบ้านดงผ่านพาตัวเองไปตามการหมุนเวียนของฤดูกาล บ้านเรือนอันแน่นหนาสะท้อนชีวิตที่ดีขึ้นหลังหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการส่งเสริมและเติบโต ตามซอกซอยล้วนเต็มไปด้วยภาพจริงแท้ของรูปแบบชีวิต รอยยิ้มและความคิดความเชื่อจากคนละว้ารุ่นดั้งเดิมไหลเวียนถ่ายเทจนต่อยอดมาสู่ลูกหลาน มันผสานรวมให้พื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งกลางหุบเขานั้นเปี่ยมค่า หาใช่เพียงแค่แรงศรัทธาต่อความคิดความเชื่อที่ผสมผสาน มิใช่แค่ลวดลายผ้าทอหรือการดำรงตนในบ้านเรือนรูปแบบโบราณอันตกทอด

ทว่าอาจหมายถึงชีวิตที่กล่อมเกลาและเติบโตอย่างมีทิศทางภายในกำแพงป่าเขาอันแสนอุ่นเอื้อเช่นที่มันเคยเป็นมา... 

How to Go?

การเดินทาง

จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียงในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จากแม่สะเรียง มุ่งหน้าอำเภอแม่ลาน้อย เมื่อถึงที่ทำการไปรษณีย์แม่ลาน้อยแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1266 ไปอีกราว 30 กิโลเมตร ผ่านบ้านหมากหนุน บ้านแม่ละกั๊วะ แล้วแยกขวาเข้าบ้านดงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อยตั้งอยู่ที่เดียวกับหมู่บ้าน รวมระยะทางจากเชียงใหม่ราว 250 กิโลเมตร

การติดต่อ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย บ้านดง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58120 โทรศัพท์ 0 - 5361 - 9533 - 4, 08 - 3324 - 3062 www.royalprojectthailand.com/maelanoi

 

ณ ที่ความมั่นคงห่มคลุมขุนเขา