อยู่กับเบาหวาน

อยู่กับเบาหวาน

กลุ่มโรคชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันมีการรณรงค์กันอย่างแพร่หลายเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคกลุ่มนี้ นั่นก็คือ กลุ่มโรค NCDs หรือเรียกง่ายๆ ว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กลุ่มโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมากจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือติดต่อผ่านตัวนำโรค หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ไม่เหมือนกับโรคติดต่อร้ายแรง เช่น HIV, อีโบล่า หรือไข้หวัดนก 

โรคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs ก็อย่างเช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง รวมไปถึงโรคที่มีผู้ป่วยเป็นมากลำดับต้นๆ ของประเทศก็คือ เบาหวาน อีกด้วย

กลุ่มโรคนี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการใช้ชีวิต หรือพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียด และที่สำคัญๆ ก็คือ การกินอาหารหวาน มัน เค็ม แบบรสจัดๆ สถิติผู้ที่ป่วยเป็นโรคกลุ่มนี้ ในปี พ.ศ. 2556 พบว่ากลุ่มเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีผู้ป่วยจากทั้งประเทศที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 3 ล้านคน และมีหนุ่มสาวอีกมากมายที่จ่อคิวรอที่จะเป็นโรคนี้อยู่ เพราะพฤติกรรมการกินแบบไม่ระวัง

ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากที่เป็นเบาหวานหากไม่สามารถควบคุมเรื่องอาหารการกินได้ ก็จะต้องกินยา และจะต้องรับประทานยาไปตลอดชีวิต อย่างปีแรกอาจจะกินแค่ 1 เม็ด แต่หากไม่ควบคุมก็จะต้องกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งที่สุดแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานบางคนอาจจะต้องกินยาเป็นกำมือเลยทีเดียว

เพราะหากไม่กินยาก็จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย เช่น หากมีแผลเรื้อรังที่ขาก็อาจจะถึงขึ้นถูกตัดขา เนื่องจากแผลที่เป็นเรื้อรังไม่หาย และเน่าไปในที่สุด หรืออาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่า เบาหวานขึ้นตา ทำให้ตามัวขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ตาบอด หรือบางคนก็ไปลงที่ไต ถ้าหากเบาหวานไปที่ไต ก็จะทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม หรือไตวายในที่สุด ซึ่งสภาวะเหล่านี้หากไม่แก้ไข หรือบำบัดก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในที่สุด    

แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง ผู้ป่วยเบาหวานอาจไม่ต้องรับประทานยาตลอดชีวิต เพราะจริงๆ การรับประทานยาเบาหวานก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เพราะไม่ได้ไปแก้ที่ต้นเหตุ หลักการที่สำคัญของการดูแลก็คือ การคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดให้ได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ยาควบคุมน้ำตาลเสมอไป หมอมีคำแนะนำอย่างอื่นในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาเลย

สิ่งที่สำคัญที่สุดของการรักษาโรคเบาหวานโดยไม่ใช้ยานี้ จำเป็นต้องปรับลักษณะการกินใหม่หมด ซึ่งจริงๆ แล้วการรักษาแบบนี้เป็นการรักษาแบบสูตร กินเนื้อกินผัก ซึ่งอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ จะกินได้แต่โปรตีน เนื้อสัตว์ ไขมัน และผักเท่านั้น นอกเหนือจากนี้กินไม่ได้ ก็คืออาหารในกลุ่มที่มีคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดกินไม่ได้ ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ผลไม้ เหตุผลที่ผลไม้รวมอยู่ด้วยเพราะผลไม้จะมีน้ำตาลอยู่ ซึ่งแม้แต่ผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อยๆ ก็ไม่ควรกิน เพราะจะเป็นการไปเพิ่มน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นได้ รวมไปถึงอาหารประเภทถั่วทุกชนิด เพราะอาหารประเภทนี้มีแป้งอยู่ครึ่งหนึ่ง นมทั้งนมวัว นมถั่วเหลือง ว่าง่ายๆ ก็คือนมทุกชนิด แม้กระทั่งน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลก็ต้องงดเช่นเดียวกัน

ทีนี้คำถามถัดมาก็คือ แล้วกินอะไรได้บ้าง สิ่งที่กินได้ก็คือ เนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก รวมไปถึงเห็ด เต้าหู้ สาหร่าย ไข่ โดยถ้ากินสิ่งเหล่านี้ 1 ส่วน ให้กินผักใบ 2 ส่วน ผักที่เป็นพืชหัวก็ต้องห้าม เช่น เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น

การกินแบบนี้ข้อห้ามคือ ห้ามปล่อยให้หิวเด็ดขาด เพราะถ้าหิวจะทำให้รู้สึกโหยหาและอาจจะทนไม่ได้ต้องกินอย่างอื่นเพิ่มเติม และที่ต้องกินผักสองส่วนเพราะว่า การกินโปรตีนเข้าไปอย่างเดียวจะทำให้ระบบย่อยมีปัญหา การกินผักใยเข้าไปก็จะช่วยทำให้ระบบย่อยเราทำงานได้ดีขึ้น

ถ้าในเบื้องต้นสามารถปรับเปลี่ยนวิถีการกินแบบนี้ได้ น้ำตาลในเลือดก็จะลดลงซึ่งที่หมอเล่ามาทั้งหมด เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจว่า การที่เราป่วย เป็นเพราะเรากินตามใจปาก ทำอะไรตามใจเรา และหากเราอยากจะหายจากโรคที่เป็น ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งไม่ได้ทำแค่วันสองวันแล้วหาย หากแต่ต้องทำต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งสุดท้ายโรคก็มีโอกาสหายในที่สุด

และเราก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข 

กินเช้าป้องกันอ้วน

การกินอาหารเช้า นอกจากจะทำให้การเผาผลาญในร่างกายดีขึ้น 10 %แล้วยังมีผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน (American Heart association) รายงานในงานประชุมประจำปีครั้งที่ 43 เกี่ยวกับระบาดวิทยาและการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ว่า การรับประทานอาหารเช้าทุกวันนั้นอาจจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน, เบาหวาน และโรคหัวใจ

นักวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารเช้าทุกวันมีอัตราการป่วยด้วยโรคอ้วน และกลุ่มอาการดื้อฮอร์โมนอินซูลิน(โรคเบาหวาน) น้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเช้าไม่สม่ำเสมอประมาณ 35-50% เลยทีเดียว

Dr. Mark A. Pereira PhD. ผู้ช่วยวิจัยจาก รพ.เด็กในบอสตันและผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ได้ให้ข้อมูลว่า 

“ได้มีการค้นพบว่าอาหารเช้าอาจจะมีบทบาทสำคัญในการลดอัตราการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และการรับประทานอาหารเช้าอาจจะมีประโยชน์ต่อภาวะอยากอาหาร ภาวะความดื้อของอินซูลินและอัตราการเผาผลาญอาหาร เพียงหัดนิสัยการกินให้อิ่มในตอนเช้า อาจจะช่วยเราควบคุมระดับความหิวได้ตลอดวันดังนั้นเราจึงลดการกินล้นเกินในมื้อเช้าหรือมื้อเที่ยงได้ หรือการรับประทานอาหารเช้าอาจจะมีผลต่อระดับของฮอร์โมนเพราะฮอร์โมนอินซูลินควบคุมน้ำตาลในเลือดและระดับน้ำตาลในเลือดมีผลกับความหิวหรือเรี่ยวแรงของเรา”

รู้อย่างนี้ เช้านี้อย่าลืมกินอาหารเช้าครับ

 

อย่างเข้าใจ