หากสังเกตให้ดี สมาร์ทวอทช์ที่ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ไฮเทคสำหรับสวมใส่บนร่างกายที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงต้นปี วันนี้ดีกรีความร้อนแรงได้แผ่วลงจนแทบไม่หลงเหลือความน่าสนใจ จะเรียกอาการนี้ว่า ‘แป้ก’ ก็คงไม่ผิดนัก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาร์ทวอทช์ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน คือการไร้ซึ่งหัวใจอย่าง ‘แอพพลิเคชั่น’ ที่นอกจากจะต้องมีความหลากหลายในเรื่องของฟังก์ชั่นแล้ว ยังต้องทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนนั่นก็คือแนวทางที่แอปเปิ้ลผลักดันสมาร์ทโฟน ‘ไอโฟน’ ของตัวเองในยุคบุกเบิก 

แอปเปิ้ลโดยสตีฟ จ๊อบส์เมื่อครั้งที่ขึ้นบนเวทีแนะนำ ‘ไอโฟน’ รุ่นแรก ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของ ‘แอพฯ’ ที่ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างให้กับอุปกรณ์รุ่นเดียวกัน ให้สามารถสอดรับความต้องการในการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

ใครไม่เชื่อ ผมขอท้าให้หยิบเครื่องเพื่อนมาเปิดโฮมสกรีนดู โอกาสที่แอพฯ ที่อยู่บนหน้าจอจะเหมือนกันทุกตัวแทบจะไม่ถึง 1% นี่ยังไม่นับรวมถึงส่วนประกอบจุกจิกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวอลล์เปเปอร์และวิดเจ็ตต่างๆ ที่รับรองว่าไม่มีซ้ำกันอย่างแน่นอน ... เรียกได้ว่าแอพฯ เป็นตัวสร้างเอกลักษณ์ให้สมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องรวมไปถึงการบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

กูเกิลผู้ซึ่งเฝ้ามองสมาร์ทวอทช์อยู่ห่างๆ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และแน่นอนว่าคงไม่ยอมให้ปัญหาดังกล่าวมากระทบกับโปรเจ็กต์ ‘Android Wear’ ของตัวเองแน่ๆ ซึ่งสิ่งที่กูเกิลได้เปรียบเหนือผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์รายอื่น คือการมีอีโค่ซิสเท็ม ทั้งด้านปริมาณแอพฯ และพอร์ทัลหรือศูนย์กลางในการจัดการดาวน์โหลดอย่าง Google Play ที่สามารถรองรับการทำงานของสมาร์ทวอชท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android Wear ได้ทันที

โดยในงาน Google I/O เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กูเกิลได้เผยโฉม Android Wear ที่ทำงานได้จริงบนนาฬิกาอัจฉริยะรุ่นแรกซึ่งแน่นอนว่าความสามารถพิเศษของมันคือการทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้แม่นยำและหลายหลายกว่าเดิมไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สิ่งที่กูเกิลสาธิตให้เห็นบนเวทีสร้างความฮือฮาให้กับผู้ร่วมงานและกูรูไอทีทั่วโลกเนื่องจากมันสามารถตอบโจทย์ที่สมาร์ทวอทช์ก่อนหน้าไม่สามารถทำได้ อาทิ การรองรับการสั่งงานด้วยเสียง สามารถสั่งให้รับสายหรือวางสายได้เต็มรูปแบบ การทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนโดยแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดแอพฯ ใหม่บนสมาร์ทโฟน Android Wear ก็จะดาวน์โหลดแอพฯ เดียวกันเข้าสู่ตัวเครื่องและเมื่อมีการอัพเดทก็จะถูกอัพเดทไปพร้อมๆ กันโดยอัตโนมัติ ข้อมูลการแจ้งเตือนต่างๆ ที่ปรากฏบนสมาร์ทโฟน ก็จะปรากฏให้ผู้สวมใส่ Android Wear เห็นในทันทีด้วยเช่นกัน 

นอกจากฮาร์ดแวร์ที่เราจะได้เห็นการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ มากขึ้นนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป (ล่าสุดคือ Moto 360, LG G WATCH R, Asus ZenWatch) ในส่วนของแอพฯ ที่ถือเป็น ‘หัวใจ’ ก็เป็นที่น่ายินดีว่านับจากวันแรกที่มีแอพฯ เพียง 24 ตัวที่กูเกิลเปิดตัวพร้อม Android Wear (หลักๆ จะเน้นด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นแอพฯ วัดอัตราการเต้นของหัวใจ หรือแอพฯ วัดจำนวนการก้าวเดิน) จนถึงปัจจุบันมีแอพฯ ที่สนับสนุนการทำงานบนอุปกรณ์ Android Wear เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับได้เกินกว่า 100 แอพฯ แล้ว 

ความสามารถพื้นฐานที่ Android Wear สามารถทำได้(หมายความว่ายังสามารถทำได้มากกว่านี้ถ้าลงแอพฯ เพิ่มเติม)เริ่มตั้งแต่การแจ้งสภาวะอากาศปัจจุบันและคาดการณ์สภาพอากาศในทุกๆ เช้าที่คุณลุกจากที่นอน, ประเมินระยะเวลาในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน โดยวิเคราะห์จากสภาพการจราจรในแผนที่, แสดงข้อมูลการนัดหมาย ไม่ว่าจะเป็นชื่อบุคคล หัวข้อนัด เวลา สถานที่ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดดูปฏิทิน, สรุปข้อมูลเที่ยวบิน ก่อนที่คุณจะเดินทางถึงสนามบิน (มuีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางบ่อยๆ), นำทางคุณไปยังจุดหมายได้แบบละเอียดทุกแยกทุกเลี้ยว, เก็บสถิติกิจกรรมระหว่างวันรวมไปถึงสรุปรายงานให้ทราบ เช่น จำนวนก้าวเดิน หรืออัตราการเต้นของหัวใจ 

และเพียงแค่พูดว่า ‘Okay! Google Play Some Music’ เพลงโปรดที่คุณชื่นชอบก็ลอยมาเข้าหูทันที ... 

‘ANDROID WEAR’ ปฏิวัติวงการสมาร์ทวอทช์