Royal Thai  Marine Corps

Royal Thai Marine Corps

“วิ่งขึ้นเขาแล้วเราก็ลงน้ำ เพื่อนอย่าถามฉันให้มากเลย ว่าเหนื่อยไหมฉันใคร่เฉลย ว่าไม่เคย ไม่เคยนึกกลัวมองดูขาฉันสิเพื่อนฉัน ถึงขาจะสั่นแต่ฉันก็ชัวร์ เรื่องสนุกทุกข์ไม่เคยกลัว เพื่อศักดิ์ศรีตัวสร้างสมไว้นะเพื่อน”

บทเพลงนี้เป็นตอนหนึ่งที่ตัดมาจากเพลง “วิ่งขึ้นเขาแล้วเราก็ลงน้ำ” เป็นเพลงที่เพื่อนตำรวจน้ำสอนให้ผมร้องขณะที่วิ่งฝึกอยู่ด้วยกันเมื่อก่อน อันเป็นบทเพลงของทหารนาวิกโยธิน ที่ร้องในตอนเช้าเพื่อความพร้อมเพรียง และบำรุงกำลังปอดขณะออกวิ่ง และเมื่อมีบทเพลงนี้ขึ้นมาเมื่อใด Legend ในฉบับนี้เป็นอื่นอะไรไปไม่ได้ นอกจากเรื่องราวของ “นาวิกโยธินแห่งราชอาณาจักรไทย” นั่นเอง

หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นหน่วยหนึ่งที่แยกออกมาจาก กองทัพเรือของประเทศไทย ซึ่งโดยปัจจุบันนี้ กองทัพเรือของไทยแบ่งออกเป็น  3 พรรคหลักๆ คือ พรรคนาวิน พรรคกลิน และ พรรคนาวิกโยธิน 

โดยหน้าที่หลักคือ  พรรคนาวิน จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการรบทางทะเลโดยตรง ทำงานและมีสังกัดเป็น เรือหลวง ต่างๆ 

พรรคกลิน (กะ-ลิน)  จะทำงานเกี่ยวข้องกับการช่างกลเรือและช่างไฟฟ้า ประจำเรือ

สุดท้ายคือ พรรคนาวิกโยธิน ที่ผมกล่าวถึงนี่เองครับ เป็นหน่วยทหารเรือที่ได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษเพื่อปฎิบัติภารกิจ นอกเหนือจากในน่านน้ำ โดยมุ่งเน้นการรบภาคพื้นดิน เรียกได้ว่าเป็นหน่วยรบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก สนับสนุนการทำงานของทหารเรือ และร่วมรบกับทหารจากหน่วยอื่นๆ อาทิ ทหารบก ทหารอากาศ และทำงานประสานกับตำรวจในเรื่องของความมั่นคงในพื้นที่ อย่างที่เราเห็นบ่อยๆ ในข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ การเก็บกู้วัตถุระเบิด และการเฝ้าระวังภัยในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ ซึ่งหน่วยทหารนาวิกโยธิน นั้นสังกัดอยู่ในส่วนกำลังรบของกองทัพเรือก็จริง แต่เมื่อรับราชการจะมียศเช่นเดียวกับทหารบก 

Royal Thai Marine Corps
Royal Thai Marine Corps

ความเป็นมาของการก่อตั้ง “หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน” ของไทยนั้น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากครับเรียกได้ว่าเก่าแก่อันดับต้นๆ ของหน่วยงานราชการในประเทศเลยก็ว่าได้ ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเรียกว่า “ทหารมะรีน” อันเป็นคำทับศัพท์จากคำว่า “Marines” ในภาษาอังกฤษ แต่กิจการทหารมะรีน หรือนาวิกโยธินในอดีตไม่สู้มั่นคงนัก ได้มีการจัดตั้งและยุบเลิกไปหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 กองทัพเรือได้ดำเนินการสถาปนากรมนาวิกโยธินขึ้นอีกครั้ง ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ตึกซึ่งเป็นที่ทำงานของกองกิจการพิเศษ ภายใต้คำแนะนำของกองทัพอเมริกา ถึงความจำเป็นที่ต้องมีทหารนาวิกโยธิน ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นที่ตั้งและได้สืบต่อกิจการนาวิกโยธินอย่างจริงจังต่อมา ซึ่งทหารนาวิกโยธินได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วยสืบมา และต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วยราชการของกองทัพเรือ เป็นผลให้ “กรมนาวิกโยธิน” แปรสภาพเป็น “หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน” จนถึงปัจจุบัน 

หน่วยทหารนาวิกโยธิน ถือได้ว่าเป็นหน่วยทหารที่มีขีดความสามารถสูง แต่กว่าที่จะมาเป็นทหารนาวิกฯ ผู้มากความสามารถได้นั้น เหล่าทหารผู้กล้าจักต้องฝึกหลักสูตรการรบพิเศษแขนงวิชาการลาดตระเวนสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือ หรือที่เรียกว่า RECON  ให้สำเร็จหลักสูตรเสียก่อน จึงจะมาเข้าสังกัดในหน่วยนาวิกโยธินฯ ได้ ซึ่งหลักสูตร Recon นี้ยังได้เปิดโอกาสโควต้า ให้กับหน่วยอื่นๆ เช่น ทหารบก กับตำรวจ มาร่วมฝึกได้อีกด้วย แต่น้อยคนครับที่จะมา เท่าที่ผมทราบและรู้จักสนิทเป็นอย่างดีคือ ร.ต.อ. ธรณิศ ศรีสุข (เลื่อนยศให้เป็นพลตำรวจโทในภายหลัง) หรือผู้กองแคน ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2007 ขณะปฎิบัติภารกิจปะทะกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

การฝึก Recon นี้เป็น 1 ในสามการฝึกสุดหินของประเทศ อันประกอบไปด้วย Seal, Ranger และ Recon โดย Recon นี้ กำหนดการศึกษา13 สัปดาห์ กำหนดการฝึกแบ่งเป็น ภาคที่ตั้งทฤษฎี 5 สัปดาห์  ภาคทะเล4 สัปดาห์ ภาคป่าภูเขา 4 สัปดาห์ โดยมีสถานที่ฝึกเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี 

Royal Thai Marine Corps
Royal Thai Marine Corps

ตลอดระยะเวลาแห่งการฝึก Recon นั้น ทุกเสียงต่างพูดเหมือนกันว่า “นรกทุกสัปดาห์” โดยตลอดระยะการฝึกนั้นผู้คุมฝึก จะพูดในเชิงบั่นทอนกำลังใจอยู่โดยตลอดว่า “ใครทนไม่ไหว ให้ออกไป” “ใครทนไม่ไหว ให้กลับบ้านไป” ซึ่งแน่นอนครับมีผู้ฝึกหลักสูตร Recon จำนวนไม่น้อยที่ต้องถอดใจกลับบ้านไป ซึ่งทางศูนย์ฝึกก็ไม่ได้ว่ากล่าวคนที่ถอนตัวแต่อย่างใด เพราะเข้าใจความหนักหน่วงของการฝึกเป็นอย่างดีเพราะการฝึกเพียงแค่ด่านแรกในภาคที่ตั้ง บางคนก็ถึงกับยอมถอดใจเนื่องจากร่างกายอ่อนล้าเกินจะต้านทาน พวกเขาได้นอนเพียงแค่วันละ 2 ชั่วโมง กินวันละ 1 มื้อ ฝึกแบกเรือยางสารพัดวิธี พายเรือยางต่อเนื่องอย่างไม่หยุดพัก และในสภาพที่ง่วงสุดขีดก็ต้องโดนทดสอบคำนวณโจทย์เลขให้ได้แม่นยำ 

จากภาคที่ตั้งมาสู่ภาคทะเล และภาคป่าภูเขา ซึ่งโหดกว่าหนักกว่าภาคทฤษฎีหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย จะเป็นช่วงการฝึกที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิตการฝึกทั้งหมด ผู้ฝึกจะต้องเข้าปฏิบัติภารกิจตามสถานการณ์สมมุติ ต้องอาศัยความรู้ในการเดินป่า การดำรงชีพในป่า การโจมตี การลาดตระเวนที่ได้ฝึกมาทั้งหมด รวมไปถึงภาคการจำลองการถูกจับเป็นตัวประกัน เชลยศึก เชลยศึกถูกกระทำอย่างไรการฝึกนี้ก็ไม่ต่างกันครับ ซึ่งมีน้องผมคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังว่าในระหว่างการฝึก Recon อาหารที่ทางศูนย์ฝึกเตรียมให้ ไม่เพียงพอต่อการชดเชยการเผาผลาญ ที่ร่างกายสูญเสียไปจากการฝึก ผู้ฝึกหลายนายมีอาการตัวบวม อันเกิดมาจากสภาวะโปรตีนในร่างกายเป็นพิษนั่นเอง

ซึ่งเมื่อจบหลักสูตร ไม่ต้องนึกสภาพหลังการฝึกเลยครับว่าจะเป็นอย่างไร เข้าโรงพยาบาลหยอดน้ำเกลือกันแทบทุกนาย แต่สุดท้ายก็ได้มาซึ่ง เข็ม “นักรบสามมิติ” นักรบผู้ช่ำชองทั้งการส่งกำลังทางอากาศ และจู่โจมสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก  อันเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีของทหารหน่วยรบพิเศษที่จะเป็นกำลังหลักในการช่วยดูแลประเทศชาติต่อไปในอนาคต

ความภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่งของหน่วยทหารนาวิกโยธินของประเทศไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้มีการจัดอันดับความสามารถเฉพาะตัวของหน่วยนาวิกโยธินในประเทศต่างๆ ตัดออกในเรื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือ และอุปกรณ์เทคโนโลยีทั้งหมด ทหารนาวิกโยธินไทยนั้น จัดว่ามีความสามารถเฉพาะตัวสูงที่สุด ไม่เป็นรองใครหน้าใหนในโลก ซึ่งเรื่องนี้ประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกาก็ทราบดี และได้มีการจัดการฝึกหน่วยรบพิเศษ ร่วมกับไทยมาโดยตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งและนี่คือตำนานนักรบหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินแห่งประเทศไทย 

บทความนี้ : อุทิศให้เหล่าเพื่อนทหารนาวิกโยธิน ที่เสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ปกป้องดินแดนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด     

ตำนานนาวิกโยธินแห่ง ราชอาณาจักรไทย