ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตของคนปกติจะอยู่ที่ 120/80 ตัวเลข 120 คือตัวเลขที่เรียกว่า Systolic เป็นความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท ส่วนตัวเลข 80 หรือตัวเลขข้างล่างเรียกว่า Diastolic เป็นความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว หากใครที่มีความผิดปกติ ตัวเลขมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจจะเกิดจากการที่เราตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ กลัว เครียด เหนื่อย แต่ถ้ายังอยู่ในภาวะปกติ คุณหมอก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่ามีโอกาสที่เราจะเป็นโรคอื่นๆ แทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น หรือที่เรียกว่า ซ่อนโรคนั่นเอง

 

โรคที่ซ่อนอยู่ภายใต้ภาวะความดันโลหิตผิดปกตินั้น มีหลากหลายโรค เรามาเริ่มรู้จักกันที่ความดันโลหิตต่ำก่อนดีกว่า

 

โดยปกติแล้วมักจะมีคนบอกว่า ความดันโลหิตต่ำๆ ดี เพราะหัวใจจะได้ไม่ทำงานหนัก แต่จริงๆ แล้วความดันโลหิตต่ำอาจก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เป็นลมเวลาลุก อาการดังกล่าวมักเกิดกับผู้ป่วยที่นอนนานเกินไป หรือผู้ที่เสียน้ำหรือเลือดมากเกินไปอย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้เมื่อทราบสาเหตุก็สามารถทำให้ภาวะความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติได้

 

แต่ถ้าหากเมื่อไรก็ตามที่ความดันโลหิตพุ่งเกิน 140/90 นั่นหมายความว่าคุณกำลังมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรที่จะตรวจวัดความดันซ้ำภายใน 2 เดือน และถ้าหากความดันยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง นั่นก็หมายความว่าคุณ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ภาวะในสมองตีบตันหรือแตก เลือดเลี้ยงไตไม่พอ หลอดเลือดแดงในตาเสื่อมลงอย่างช้าๆ และโรคอื่นๆ อีกมากมาย

 

ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงจำเป็นต้องรับประทานยาลดความดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับสภาพความดันของคุณให้เข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุดนอกจากการรับประทานยาเพื่อลดความดันแล้ว ยังมีวิธีการอื่นอีกทีทำให้ความดันลดลงกว่าเดิมได้ เช่น การลดน้ำหนักตัว งดอาหารเค็ม ออกกำลังกาย เลิกดื่มสุรา และงดสูบบุหรี่

 

โดยปกติแล้วผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็คือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI เกินมาตรฐาน (ค่าBMI คือ น้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง โดยค่าดัชนีมวลกายสำหรับคนปกติไม่ควรเกิน23) ถ้าหากค่า BMI เกินมาตรฐานไปมาก การจะทำให้ค่าความดันลดลงนั้นก็คือการลดน้ำหนักลง โดยน้ำหนักตัวที่ลดลงทุกๆ10 กิโลกรัม ค่าความดันจะลดลง 5-20 มม.ปรอท ดังนั้นใครที่มีน้ำหนักมากและเป็นโรคความดันโลหิตสูง การลดน้ำหนักนับว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกเหนือจากการกินยาลดความดันควบคู่กันไปด้วย

 

หรือแม้กระทั่งการงดอาหารที่มีปริมาณโซเดียมมากๆ ก็สามารถทำให้ความดันในร่างกายลดลงได้ 2-8 มม.ปรอท เช่นกัน เพราะโดยปกติแล้วเราควรได้รับเกลือน้อยกว่า 6 กรัมต่อวัน แต่ในอาหารหรือขนมขบเคี้ยวบางชนิดมีการใส่เกลือเพิ่มเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติ ดังนั้นทำให้เรามีโอกาสได้รับเกลือเกินกว่าปริมาณที่ต้องการต่อวันได้

 

การออกกำลังกายถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ความดันโลหิตลดลงจากเดิม โดยทุกๆ การออกกำลังกายที่ต่อเนื่องวันละ30 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ จะทำให้ความดันโลหิตมีโอกาสลดลงจากเดิม 4-9 มม.ปรอท

 

บุหรี่หรือแอลกอฮอล์ก็มีส่วนทำให้ความดันโลหิตสูงผิดปกติเช่นกัน ดังนั้นหากลด ละ เลิก สิ่งเหล่านี้ ก็จะส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงจากเดิมได้ 2-4 มม.ปรอท ทั้งนี้ความเครียดยังส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายเกิดความผิดปกติได้ ดังนั้นหากเราปล่อยใจให้สบาย รู้จักฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจ ก็สามารถช่วยลดความดันโลหิตลงได้อีกแรงหนึ่งเช่นกัน

 

ทุกคำแนะนำ ถ้าเราสามารรถทำทั้งหมดพร้อมๆ กันได้ จะยิ่งส่งผลให้ความดันโลหิตที่สูงผิดปกติลดลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าความดันโลหิตจะลดลงอยู่ในภาวะปกติตลอดไป ต้องหมั่นตรวจเช็กว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และถ้าจะให้ดีก็ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงไปอีกนานๆ ครับ

เหตุผลที่ทุกครั้งที่เราไปหาหมอ