ทางหลวงหมายเลข  408-4013

ทางหลวงหมายเลข 408-4013

ผมพารถจี๊บคันเล็กผ่านเลาะแนวประติมากรรมเรียงรายตามชายหาด บางชิ้นสดใสเข้ากับบรรยากาศทะเล แต่ก็สะท้อนถึงรูปแบบพื้นบ้านของคนใต้ ขณะบางชิ้นก็สื่อถึงความเป็นสากลด้วยรูปลักษณ์ศิลปะร่วมสมัย ทั้งนามธรรมและงานหล่อรูป“...Knowledge builds Men. Men Build a Nation. Knowledge is Power…” งาน sculpture “สัญลักษณ์แห่งการเรียนรู้” รูปคนนั่งอ่านหนังสือเป็นเงาดำอยู่ริมหาด ยาวลิบลับไปสุดตา เรือกอและ รวมไปถึงชุมชนเก้าเส้งปรากฏภาพชีวิตประมงท้องถิ่นชัดเจน รถจอดสนิทเหลือเพียงทะเลและผู้คนเคลื่อนไหว

 

ขณะนี้ความเร็วไม่ใช่เรื่องสำคัญ และเรื่องราวนอกหน้าต่างกำลังก้าวเดินไปเร็วกว่าหน้าปัดเข็มไมล์ที่คอนโซลคนขับ ตลอดเส้นทางเกือบ 200 กิโลเมตรจากเมืองที่โอบอยู่ด้วยมหาสมุทรและทะเลสาบอย่างสงขลา ย้อนทวนขึ้นไปจนถึงเมืองแห่งขุนเขาอย่างนครศรีธรรมราช

 

บางหลักกิโลเมตรเราพบว่าชีวิตนั้นช่างแตกต่าง และถนนสายเดียวก็ต่างความหมายไปตามแต่ผู้ใช้ บางคนใช้เป็นเพียงทางผ่านขณะที่อีกหลายคนหมายรวมความหมายของคำว่าบ้านและชีวิตเข้าไปด้วย

 

รถของเราดูเคอะเขินอยู่ไม่น้อย เมื่อผ่านเข้าไปกลางย่านเก่าของเมืองสงขลาที่มีถนน 3 เส้น อย่างถนนนางงาม ถนนนครในและถนนนครนอกเป็นเส้นหลัก ห้องแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีสเรียงราย พร้อมภาพร้านรวง ตลอดจนผู้คนที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในนั้นบางหลังตรึงตราด้วยงานประดับอาคารตามส่วนต่างๆ สื่อถึงการติดต่อซื้อขายและรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมกับปีนังในอดีต ขณะบางจุดอย่างหับ โห้ หิ้น โรงสีข้าวเก่าที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นท่าส่งน้ำแข็งให้เรือใหญ่บนถนนนครนอก ก็เต็มตาด้วยสีแดงสดราวกับฉากในภาพยนตร์อาร์ตๆ สักเรื่อง

 

เวียนชิมขนมพื้นถิ่นและของกินหลากหลายที่เต็มไปด้วยอารมณ์เก่าแก่แถบถนนนางงาม เราก็ฉีกเมืองเก่าสงขลาขึ้นทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 408 สะพานติณสูลานนท์พาชีวิตทั้งสี่ในรถเครื่องยนต์ 1,600 ซีซี เข้าสู่แผ่นดินเกาะยอที่โอบล้อมอยู่ด้วยทะเลสาบสงขลา กระชังปลาวิบวับนับพันอยู่ในแดดสาย เมื่อเรามองลงมาจากห้องแสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ ตลอดจนภูมิปัญญาของแผ่นดินใต้ที่สถาบันทักษิณคดี ไล่เรียงลงมาตั้งแต่ยุคโบราณก่อนประวัติศาสตร์ ต่อยอดถึงสมัยประวัติศาสตร์ ผ่านมาถึงเครื่องมือเครื่องใช้และวิถีชีวิตถิ่นใต้ที่นับวันกำลังจะเดินทางไปอยู่เพียงในความทรงจำ

 

จะว่าไป ทางหลวงหมายเลข 408 ที่พาดเลาะไปตามอำเภอสิงหนคร สทิงพระ และระโนดนั้น เราอาจเรียกว่าเส้นทางสายคาบสมุทรสทิงพระ ที่คงความเก่าแก่มาแต่โบราณ อันเกิดจากการทับถมของทรายและซากหอยปะการังที่ถูกพัดพามาตามสายลมและแรงคลื่นแผ่นดินมีวันเวลาก่อเกิด ผู้คนย่อมมีที่มาไม่แตกต่าง

 

ขับรถเลาะตามเส้นทางไปเรื่อยๆ วัดวาอารามรายทางก็โดดเด่นอยู่ด้วยเจดีย์ที่สืบค้นความเก่าแก่ไปได้ถึงสมัยที่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์เพิ่งเข้ามาสู่แผ่นดินใต้ในยุคแรกเริ่ม อย่างวัดจะทิ้งพระ วัดพะโคะ และวัดเจดีย์งาม หรือบางจุดอย่างโบราณสถานเขาคูหาที่แยกขวาจากเนินเขาวัดพะโคะ ก็ทำให้เราจินตนาการถึงบรรยากาศแรกเริ่มของแผ่นดินแห่งนี้ได้ผ่านถ้ำเล็กๆ 2 ถ้ำที่เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย

 

ใช่เพียงความเก่าของวัดหรือแหล่งโบราณคดี แต่ทะเลที่ประชิดอยู่ด้านขวาเมื่อเราเลียบรถผ่านแถบอำเภอระโนดและต่อเข้าสู่เขตจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เขตอำเภอหัวไทร ก็ทำให้การขับรถเลาะแผ่นดินสงขลาฝั่งตะวันออกนี้ดูรื่นรมย์ บ้านทรงปั้นหยาหลังคากระเบื้องว่าวอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนแถบนี้เรียงรายเป็นระยะ จะว่าไป ก็เพียงทางหลวงหมายเลข 408 ต่อถึงหมายเลข 4013นี้เท่านั้น ที่เราจะเห็นบ้านเรือนโบราณแบบนี้มากที่สุด

 

ผ่านบ้านหน้าศาลเข้าเขตอำเภอหัวไทรไปตามทางหลวงหมายเลข 4013 ถนนถูกทะเลเข้ามาทักจนเปิดกระจกลงไปดมกลิ่นคาวเค็มอันเป็นเอกลักษณ์ได้ชัดเจน เลี้ยวแวะเข้าไปตามหาดชุมชน คลื่นในปลายฤดูร้อนสาดครืนโครม แตกฟองยามกระทบฝั่งสูงท่วมหัว หลายคนตื่นตาตื่นใจ ขณะที่ชาวบ้านท้องถิ่นอีกไม่น้อยหันไปมองบ้านเรือนหลังเก่าด้วยความรู้สึกตรงข้าม

 

นอกจากปัญหาความเสื่อมโทรมของแผ่นดินด้วยการทำนากุ้งแถบนี้แล้ว นักวิชาการทางธรณีวิทยายังคาดการณ์กันว่า ราว 100 ปีข้างหน้า พื้นที่แถบนี้อาจจะจมน้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินด้วยฝีมือมนุษย์

 

แต่เรื่องบางเรื่องก็ยังมาไม่ถึง ในเมื่อเรายังหายใจอยู่กับทุกวันนี้ ดูเหมือนชีวิตตรงหน้ามากกว่าที่ควรให้ความสำคัญ

 

ประโยคในย่อหน้าที่ผ่านมาดูจะชัดเจนขึ้นเมื่อเราผ่านเข้าสู่เขตอำเภอปากพนังแผ่นดินที่เรียงรายด้วยนากุ้งเหมือนแถบที่ผ่านมาเริ่มลดลง และนาข้าวก็กำลังต่อยอดเหยียดขยายเข้ามาทำแทน

 

โดยแท้พื้นที่แถบลุ่มน้ำปากพนังนั้นเคยสมบูรณ์ยิ่งอยู่ด้วยความเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีหลากหลาย แต่ด้วยความผันแปรของคนและแผ่นดิน กลับทำให้ช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ความแห้งแล้งยากไร้เข้ามาอยู่ในชีวิตคนที่นี่แทน

 

เลี้ยวรถเข้ามาในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่ายเกยรถไว้ที่ประตูน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เราจึงเห็นถึงระบบการแยกน้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกันเพื่อแก้ปัญหาอันส่งผลต่อการเกษตรกรรม ทุกวันนี้พื้นที่ทำกินของนากุ้งแถบตอนล่างที่เราผ่านมาถูกแยกออกจากที่นาอย่างชัดเจนด้วยระบบการจัดการน้ำคนปากพนังที่จากบ้านเรือน ทิ้งนาข้าวรกร้าง เริ่มกลับมาหาความฝันอันหอมหวานของการงานอีกครั้ง

 

เลาะเข้าไปในเขตอำเภอปากพนัง คอนโดฯ นกแอ่นสีราวลูกกวาดเสียดยอดเรียงรายแทรกอยู่ตามตึกเก่า ขณะที่เมื่อทิ้งรถลงไปเดินเล่นตามตลาด เสียงร้องจากแผ่นซีดีที่เจ้าของคอนโดฯ แต่ละเจ้าเปิดล่อนกยามกลับจากหากินแว่วอยู่ในลมบ่าย

 

ดูเหมือนทองคำในอากาศกำลังถูกไขว่คว้ากันอย่างจริงจัง

 

เลาะรถออกจากแนวคอนโดฯ นกในแสงท้ายๆ ของวัน และใช้อีกราว 20 กิโลเมตรสู่แหลมตะลุมพุก ปลายแหลมแคบๆ ที่ยื่นออกไปในทะเลเคยผ่านวาตภัยแฮเรียตมาเมื่อปี พ.ศ.2505 ทุกวันนี้หมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้านเหลือเพียงไม่กี่หลังคาเรือน

 

แนวหาดทรายเหงาๆ ทอดยาวสะท้อนริ้วอยู่ในปลายเย็น มันดูงดงามอยู่ไม่น้อยเมื่อเพื่อนช่างภาพเลือกมุมบางมุมให้เหมาะกับรถที่เข้าไปประกอบฉาก

 

โดยแท้มันก็คือผืนทรายแผ่นเดียวกับที่เคยผ่านเรื่องราวโหดร้ายอันยากจะลืมเลือนราว 45 ปีก่อนไม่ว่าปากพนังจะเติบโตผ่านยุคสมบูรณ์ของข้าวและประมง ผ่านความบอบช้ำทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ มาจนถึงยุคคอนโดฯ นกแอ่นกินรัง อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นได้แค่เพียงเปลือกนอก

 

ถ้าข้างในยังไม่เปลี่ยน แผ่นดินบอกช้ำสักเท่าไหร่ก็ยังคงความหอมหวานทุกครั้งเมื่อก้าวเดินไปบนนั้น

 

ท่าเรือ 54 อำเภอปากพนัง ใกล้ค่ำ

 

กระชับพวงมาลัยแน่น ละสายตาไปตามแสงไฟหน้าที่เป็นลำพุ่งตรงตามความมืดมิด ทิ้งเส้นทางที่ผ่านมาไว้ข้างหลัง คล้ายทุกครั้งที่ผ่านไปตามแต่ละหนทาง หากความเร็วของเราไม่มากไปกว่าเรื่องราวและหัวใจอันเรียงรายอยู่สองฟากฝั่ง ภายนอกก็อาจมากมายด้วยความหมายของแผ่นดินที่พบผ่านให้อิ่มเอมทุกครั้งที่มองไปนอกบานกระจก

ถนนชลาทัศน์ที่ทอดขนานทะเลทำให้เมืองเล็กๆนี้งดงาม