สมุทรสงคราม

สมุทรสงคราม

เมื่อพูดถึงความเป็นคนลุ่มน้ำของคนแม่กลองหรือสมุทรสงคราม อำเภออัมพวาดูเหมือนจะเป็นภาพเงาอันแจ่มชัดและเต็มไปด้วยเรื่องราวให้เราตามเข้าไปสัมผัส ซึมซับ และค้นหา ไม่เพียงในวัดวาอารามเก่าแก่ที่ตกทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาไล่เรื่อยถึงรัตนโกสินทร์ แต่ชีวิตในสวนผลไม้และคลองย่อยสายเล็กสายน้อยก็น่าใส่ใจไม่แพ้กัน

 

อำเภออัมพวานี้ สมัยก่อนเรียกกันว่าแขวงบางช้าง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าตั้งขึ้นเมื่อใด คงรู้แต่เพียงว่าเคยรวมอยู่กับเมืองราชบุรี แม้แขวงบางช้างจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ก็เจริญทั้งด้านเกษตรกรรมและการค้า ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดให้เปลี่ยนแปลงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเสียใหม่ มีการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล เมืองสมุทรสงครามขึ้นอยู่กับมณฑลราชบุรี แขวงบางช้างจึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เรียกว่าอำเภออัมพวาตามชื่อคลองอัมพวา และชื่อบางช้างก็กลายเป็นเพียงตำบลหนึ่งไป

 

แขวงบางช้างเป็นที่ประสูติของรัชกาลที่ 2 อีกทั้งยังเป็นถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 1 ซึ่งก็คือพระชนนีของรัชกาลที่ 2 และยังเป็นที่ประสูติของพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระมเหสีในรัชกาลที่ 2 อีกด้วย ที่นี่จึงนับว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระประยูรญาติของพระราชินี จนมีคำกล่าวว่าอัมพวาเป็นเมืองราชินีกุลบางช้าง

 

อัมพวาเต็มไปด้วยเรือกสวน ไม่ว่าจะเป็นลิ้นจี่อันลือชื่อ สวนมะพร้าวที่คนที่นี่มักจะเรียกว่าตาล ซึ่งการไป “ขึ้นตาล” นั้นหมายถึงการได้มาซึ่ง “น้ำตาล” เพื่อนำไปเคี่ยวเป็นน้ำตาลปี๊บอันลือชื่อของสวนอัมพวา

 

ทุกวันนี้เมื่อเราเข้าไปในแต่ละสวนมะพร้าว เจ้าของแต่ละคนมักจะต้องเก็บป้ายไม้ฉลุลวดลายวิจิตรที่สมัยก่อนนิยมแกะเป็นรูปสัตว์อย่างสิงห์ อันเป็นการบอกถึงยี่ห้อน้ำตาลปี๊บของแต่ละเจ้าไว้ และจะใช้มันปั๊มลงบนหน้าน้ำตาลเพื่อบอกยี่ห้อก่อนส่งขาย

 

ในคลองย่อยแต่ละสายล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราว และคนที่นี่ก็เลือกต้อนรับผู้คนและความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกด้วยกิจกรรมโฮมสเตย์ ทุกวันนี้มีคนที่สนใจแม่น้ำลำคลองพาตัวเองไปเป็นชาวสวนแถบตำบลปลายโพงพางกันไม่หยุดหย่อน เรือหลายลำแวะเวียนไปตามท่าน้ำวัดวาอารามงดงามต่างๆ อย่างเช่น วัดอัมพวัน วัดบางแคใหญ่ วัดบางแคน้อย วัดภุมรินทร์กุฎีทองที่แต่ละแห่งก็ล้วนแตกต่างกันไปทั้งด้านรูปแบบสถาปัตยกรรม ศิลปะและความเก่าแก่

 

บางแห่งก็ทำให้ผู้เข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตสวนได้รู้จักความเป็นคนลุ่มน้ำภาคกลางกันอีกหลายมิติ อย่างเช่น บ้านดนตรีไทย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดภุมรินทร์กุฎีทอง ที่คนสมุทรสงครามจะรวบรวมนักดนตรีไทยรุ่นเก่าๆ มาอบรมสั่งสอนเด็กๆ ยุคใหม่ให้สืบทอดความเป็นเมืองดนตรีไทยของแม่กลองไว้อย่างยั่งยืน

 

บ้านบางหลังก็ให้ความสำคัญไปที่ความเป็นชีวิตพื้นบ้านอย่างบ้านแมวไทย ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์และรวบรวมแมวไทยโบราณหลายหลายสายพันธุ์ที่โด่งดัง อาทิ วิเชียรมาศ อันสะท้อนรูปแบบหนึ่งของชีวิตไทยโบราณออกมาได้อย่างน่าชื่นชม

 

จากความงดงามแบบเล็กๆ อย่างบ้านเรือนและวิถีผู้คน อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือที่หลายคนมักเรียกว่าอุทยาน ร.2 ก็งดงามเต็มตา เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวรูปแบบของชีวิตลุ่มน้ำภาคกลาง

 

ภายในพื้นที่อันร่มรื่นนั้นโดดเด่นอยู่ด้วยอาคารทรงไทย 4 หลัง ที่แบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ เช่น หอกลาง ที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 2 แสดงวัตถุโบราณอันมีค่าสมัยรัตนโกสินทร์อย่างหัวโขน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ ห้องหญิงและห้องชาย ที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่บอกถึงความเป็นอยู่ของหญิงชายภาคกลางไว้อย่างน่าตื่นตา หรือส่วนของชานเรือน ที่เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในเรือนไทยทั้งส่วนของเจ้าเรือนและลูกเรือน

 

เรียกกันง่ายๆ ว่าในความร่มรื่นของอุทยาน ร.2 นั้นมากมายไปด้วยกลิ่นอายของอดีต

 

และยามเย็นในลำคลองอันอุดมด้วยต้นลำพูก็กลายเป็นอีกหนึ่งภาพประทับใจจากเรือกสวนและสายน้ำที่คนซึ่งเข้ามาเยือนได้จดจำกลับไป หิ่งห้อยนับพันนับแสนที่เกาะพราวระยิบวิบวับตามต้นไม้ริมตลิ่ง หรือที่ว่อนบินมาใกล้ดวงตาเด็กๆ รูปแบบกิจกรรมพานักท่องเที่ยวดูหิ่งห้อยที่ปลายโพงพางนี้ได้รับความนิยมไม่แตกต่างไปจากกิจกรรมเปี่ยมค่าหลากหลายในช่วงกลางวัน

 

พูดถึงสวนถึงแม่น้ำ ชีวิตในนั้นล้วนต้องมีจุดร่วมกัน ณ ที่ใดที่หนึ่ง

 

ตลาดอัมพวาคือที่รวมของคนจากทั้งในสวน คนเมือง และบางคนที่แรมไกล

 

ชุมชนค้าขายที่เคยซบเซาไปยาวนานเมื่อความเจริญได้พรากความสำคัญของเรือกับสายน้ำลำคลองไปยาวนาน มาวันนี้กลับเต็มไปด้วยความคึกคัก และไม่ใช่เป็นการจัดฉากเพื่อการท่องเที่ยวแต่เพียงหลอกๆ แต่หลายสิ่งหลายอย่างล้วนมาจากกการร่วมคิดร่วมตัดสินใจ และร่วมฟื้นฟูอดีตของพวกเขากลับมาอีกครั้ง

 

ตลาดน้ำยามเย็นอัมพวาจึงคึกคักไปด้วยเรืออาหารการกินหลากหลาย เรือนแถวไม้เก่าแก่เปี่ยมเสน่ห์จึงถูกบูรณะรื้อฟื้น ตามสองทางเดินริมตลิ่งจากที่เคยเงียบเหงา มาวันนี้คึกคักทั้งจากผู้มาเยือนและผู้อยู่ที่เห็นว่าเรือนแถวของเขานั้นก็งดงามไม่แตกต่างไปจากบ้านปูนหลังใหญ่

 

บางหลังเปิดประตูบานเฟี้ยมให้กลายเป็นร้านกาแฟเปี่ยมเสน่ห์อย่างสมานการค้า ผู้มาเยือนกรุ่นหอมกาแฟโบราณกันอย่างเต็มอารมณ์อดีต ถัดไปไม่กี่ห้อง ใครสักคนอาจเลือกซื้อหาโปสการ์ดหรือเสื้อดีไซน์เก๋ไก๋ หยอดคำว่าอัมพวาลงไปในบางส่วน เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นเป็นมากกว่าเสื้อผ้าหรือแผ่นกระดาษ

 

แต่มันเต็มไปด้วยความทรงจำอันเป็นเอกลักษณ์ต่อเมืองริมน้ำแห่งหนึ่ง

 

เรือที่ค่อยๆ พายกันออกมาจากคลองเล็กคลองน้อยสู่คลองอัมพวานั้น หลากหลายไปด้วยอาหารการกินที่บางอย่างนั้นหากินยากในปัจจุบัน ของสดจากทะเลกลายมาเป็นหมึก-กุ้งปิ้ง ผัดไทย หอยทอด ของหวานของคาวสารพัดสารพัน ยังไม่นับดอกไม้ พืชผัก ผลไม้ที่บรรทุกมาเต็มลำพร้อมกับเรื่องราวชีวิตสวนหลากหลายที่ผสมผสานกันมาด้วย

 

บนเรือจึงเต็มทั้งความหวังและคุณค่าของคนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับเรือสวนและสายน้ำ

สายน้ำเป็นจุดกำเนิดของหลายสิ่งหลายอย่าง