นพพร วิฑูรชาติ

นพพร วิฑูรชาติ

การเกิดขึ้นของตลาดในอดีต มาจากการนัดกันของชาวบ้านชาวสวนที่นำผลผลิตของตัวเอง อาทิ พืชผักผลไม้ หมูเห็ด เป็ด ไก่ใส่เรือมาแลกเปลี่ยนซื้อขายตามสถานที่วันเวลาที่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกวันข้างขึ้นข้างแรมตั้งแต่ 8 ค่ำจนถึง 14 ค่ำอันเป็นช่วงเวลาที่น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด หากนัดไหนมีก่อนวันพระหรือเทศกาลสำคัญก็จะยิ่งคึกคัก นานวันเข้าเมื่อ
ผู้ซื้อผู้ขายเริ่มรู้จักกันเพิ่มจำนวนมาก ก็มีการขยายวันเวลาให้เจอกันบ่อยขึ้น

 

แต่เมื่อความเจริญมาเยือน ถนนหนทางถูกตัดผ่าน ก็ทำให้ตลาดน้ำบางแห่งเลิกไปและกลายมาเป็นจุดกำเนิดของตลาดสดบนบกและถ้าพูดถึงตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นตลาดสดร้อยปีมีนบุรี ของตระกูล “วิฑูรชาติ” ที่ตกทอดสืบต่อกันมาหลายรุ่น ที่นี่ไม่ได้มีแต่เฉพาะของในท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกปรับโฉมด้วยมือทองสมองเพชรของคุณนพพร วิฑูรชาติ ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้บุกเบิกตลาดสดจนมาเป็นตลาดกลายพันธุ์และได้เข้าไปเฉิดฉายในเมือง และกลายเป็นจุดนัดพบของคนทันสมัยที่เรียกว่าช็อบปิ้งเซ็นเตอร์ ติดแอร์เย็นฉ่ำชุ่มปอด พร้อมสรรพด้วยสาระบันเทิงครบครัน

 

คุณนพพรคือนักพัฒนาที่ดินมือฉมัง สยามจัสโก้ มาร์เก็ต เพลส เจ อเวนิว ดิ อเวนิว และอีกมากมายคือผลงานของเขา ล่าสุดเขาลุยสร้างศูนย์การค้าเอสพละนาด (Esplanade) บนถนนรัชดาภิเษก (Esplanade เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่าทางเดินเล่น)เนื้อที่ 10 ไร่

 

อาคารโล่งๆ สูง 6 ชั้นของศูนย์การค้าคอนเส็ปต์ใหม่สถานที่ตั้ง Esplanade แห่งนี้อยู่ใกล้กับตึกไทยประกันชีวิต เป็นอาคารที่มีสถาปัตยกรรมล้ำสมัย ดีไซน์เก๋ เมื่อมองเข้าไปจะเห็นเหมือนตึกซ้อนตึก ตรงกลางเหมือนจานสี เสาเอียงไปมาดูมีมิติ ตามสโลแกนที่เรียกว่า “ผสานศิลป์สู่ชีวิตสนุก” ที่นี่มีพื้นที่ค้าปลีกเกือบห้าหมื่นตารางเมตร เท่าที่สังเกตสังกาแบบรวดเดียวจบจะพบหลากหลายร้านค้าพวกเสื้อผ้า แฟชั่น ร้านหนังสือ หนัง เพลงก็มีเพียบพร้อม ที่ชั้น 5 มีโรงละครรัชดาลัยของคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่มีมาตรฐานคล้ายโรงละครบรอดเวย์ที่นิวยอร์ค นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์มากถึง 12 โรง มีลานโบว์ลิ่ง มีฟิตเนสเซ็นเตอร์ชื่อดังอย่าง “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง และซูเปอร์มาร์เก็ตของมาร์เก็ตเพลสเป็นฟู้ดฮอลล์อยู่ชั้นใต้ดิน เรียกว่ามาที่นี่มีให้ครบทุกอย่าง

 

วันนี้ MiX MAGAZINE จะพาคุณไปสัมผัสกับคมความคิดของคุณนพพร วิฑูรชาติ อดีตนิสิตวิศวคอมพิวเตอร์ฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ลูกครึ่งไทย-จีนที่ไต่เต้าด้วยหยาดเหงื่อแรงกายผสานความกล้าจนทะลุถึงขีดสุดในตำแหน่ง CEO ของบริษัทสยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บุรุษหนุ่มวัย 43 ปี บุคลิกดี มีหลักการ มีลีลาการพูดมีน้ำหนักจะโคนมั่นใจในตัวตนสูง แฝงไปด้วยปรัชญานักคิดนักการปกครอง เขาชอบท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 
อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา เพื่อนำคมความคิดเหล่านั้นกลับมาพลิกแพลงพัฒนาศักยภาพสร้างสรรค์องค์กร

 

หนึ่งวันในชีวิต

“ผมเติบโตมาในย่านชานเมืองกลางเทือกสวนไร่นา ผมเป็นคนตื่นเช้ามาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเมื่อก่อนบ้านอยู่มีนบุรี ต้องตื่นเช้านั่งรถมาเรียนหนังสือที่สาธิตสวนสุนันทา เพราะคุณแม่เป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต ถึงทุกวันนี้ผมก็ยัง
ตื่นเช้าอยู่

 

“ชีวิตผมไม่เร่งรีบ ตื่นมาก็ดูข่าวเช้าทางทีวี อ่านหนังสือพิมพ์เสร็จ ก็แต่งตัวไปทำงานที่ออฟฟิศเอสพละนาด ย่านถนนรัชดาภิเษกส่วนมากถ้าผมอยู่ในออฟฟิศก็จะดูด้านบริหารทั่วๆ ไป หรือไม่ก็นัดพบกับนักลงทุนซึ่งเป็นหน้าที่หลัก เราต้องให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนและสถาบันการเงินต่างๆ เพราะเราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อันนี้จึงเป็นหน้าที่หลักสำคัญที่เราต้องแสดงวิสัยทัศน์และกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจต่างๆ ให้เขาเห็น พอช่วงบ่าย ถ้าหากไม่มีประชุม ผมก็จะทบทวนงานหลังจากวางกรอบนโยบาย ตกเย็นๆ ก็จะไปดูหนังกินข้าวฟังเพลงเหมือนคนอื่นๆ”

 

100 ปีตลาดเก่ามีนบุรี

เมื่อถามถึงเรื่องราวความเป็นมาของตลาดมีนบุรีในอดีต คุณนพพรดูจะอิ่มเอิบภาคภูมิใจเป็นพิเศษ พลางหลับตานึกภาพย้อนอดีตก่อนจะพรรณนาเป็นฉากๆ อย่างละเอียด

 

“คุณทวดของผมเดินทางมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่กับเพื่อนๆ เมื่อมาถึงสยามประเทศ จึงแยกย้ายกันไปทำมาหากินตามที่ตนเองถนัด คุณทวดผมมาตั้งรกรากเป็นลูกจ้างเศรษฐีร้านขายทองอยู่แถวแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำอยู่หลายปี ช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนนั้นยังไม่มีถนนหนทาง การสัญจรไปมาก็ใช้การล่องเรือออกแม่น้ำบางปะกงที่เชื่อมกับแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และออกคลองแสนแสบได้ ด้วยความขยันขันแข็ง พอคุณทวดทำได้สักพักพอมีฝีมือก็ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของร้าน คุณทวดจึงขยับขยายมาเปิดร้านทองเอง แล้วก็หัดอ่าน-เขียนภาษาไทยด้วยตนเองจนคล่อง ต่อมาท่านได้รู้จักกับเพื่อนชาวจีนด้วยกันที่ชื่อ พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ ท่านมาเปิดตลาดสดที่มีนบุรี ก็เลยชวนคุณทวดมาเปิดร้านทองที่มีนบุรี เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วยังเป็นจังหวัดมีนบุรีอยู่เลย คุณทวดท่านก็ทำร้านทองจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พอมีสตางค์เก็บ ก็เริ่มรับจำนำทองซื้อที่นา

 

“ต่อมา เมื่อทางการออกกฎหมายให้คนจีนมีนามสกุลและให้เปลี่ยนสัญชาติได้ คุณทวดท่านก็รีบเปลี่ยนทันที โดยเจ้าเมืองมีนบุรีเป็นผู้ตั้งนามสกุลให้ว่า ‘วิฑูรชาติ’ คุณทวดท่านมีชื่อไทยว่า สมบูรณ์ จากนั้นก็เริ่มพลิกแพลงทำกิจการอื่นๆ ด้วยการซื้อที่ดินอีกฟากหนึ่งของตลาด ซึ่งปัจจุบันก็คือตลาดมีนบุรี เมื่อก่อนยังไม่มีถนนรามอินทราตัดไปถึง ก็เป็นที่ดินผืนใหญ่ เมื่อถนนตัดผ่านจึงมี2 ฝั่งเป็นตลาดเก่าและตลาดใหม่ เนื้อที่ตลาดก็ประมาณ 50-60 ไร่

 

“หลังจากนั้น คุณปู่ก็มารับช่วงทำตลาดสดต่อ คุณปู่ท่านมีลูกๆ ถึง 11 คน คุณพ่อผมเป็นลูกคนโต ผมเองก็เป็นหลานคนโต ทุกวันนี้คุณปู่อายุ 90 กว่าแล้ว คุณพ่อท่านก็มาช่วยกิจการคุณปู่ ส่วนนายเลิศ ก็ทำโรงสี ทำธนาคาร พอเปลี่ยนแปลงการปกครองตอน พ.ศ. 2475 รัฐบาลก็เปิดให้ทำสัมปทาน นายเลิศจึงขยับขยายทำสัมปทานเรือเมล์และรถเมล์ขาวนายเลิศ ส่วนที่บ้านผมก็ทำสัมปทานบริษัทการไฟฟ้ามีนบุรี ทำอยู่จนถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลจึงซื้อสัมปทานคืนเพื่อไปทำเอง สุดท้ายก็เลยทำร้านทองกับตลาดอย่างเดียว

 

“จากที่มีร้านทองเพียง 1 ร้าน ก็เปิดอีก 3 ร้านอยู่ในตลาดของตัวเอง มีตึกแถวอีกหลายร้อยห้อง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำร้านทองแล้ว เพราะลูกหลานไปทำกิจการอย่างอื่น ส่วนตลาดนั้นเริ่มมาใหญ่โตในยุคของคุณปู่กับคุณพ่อ ตอนนี้ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ กับปริมณฑล ตลาดมีนบุรีน่าจะมีขนาดใหญ่สูสีกับตลาดรังสิตและตลาดยิ่งเจริญ”

 

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

“เท่าที่จำความได้ คุณปู่เล่าให้ฟังว่าคุณทวดจะสอนเรื่องการอ่านให้กับคุณปู่ คุณปู่ก็จะสอนคุณพ่ออีกที คุณปู่ท่านชอบอ่านหนังสือรีดเดอร์ไดเจสท์ แต่เป็นภาษาจีนนะ ท่านสั่งซื้อมาจากฮ่องกง ที่บ้านจึงมีแต่หนังสือ ผมโตขึ้นมาคุณพ่อก็ฝึกสอนการอ่านให้ผม ก็ทำให้เราเห็นโลกกว้างและรักการอ่าน

 

“คุณปู่ท่านเป็นคนทันสมัย ท่านวางโครงสร้างของตลาดไว้ดี มีถนนกว้าง 18 เมตร ทำไว้ใหญ่มาก ส่วนคุณพ่อก็เป็นคนหัวก้าวหน้า สมัยนั้นท่านทำเกษตรแผนใหม่ ท่านเอาที่แปลงหนึ่งที่อยู่ติดกับคลองแสนแสบถัดจากตลาดมาครึ่งกิโลเมตรนำมาทำบ้านและสวน เนื้อที่บ้านก็ 1 ไร่เศษๆ พื้นที่สวนอีก 5 ไร่ มีท้องร่องปลูกมะม่วงแซมมะพร้าว กล้วย ส่วนท้ายปลายที่ยังเหลืออีก15 ไร่ก็ให้ชาวบ้านเช่าทำนา ชาวนาก็อยู่ท้ายนา ลูกหลานของพวกเขากับผมจึงกลายเป็นเพื่อนกัน ต่อมาคุณพ่อออกมาทำรับเหมาก่อสร้าง ทำจนเกษียณแล้วก็มาเล่นหุ้น ท่านเพิ่งเสียไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี่เอง

 

“สมัยเด็กๆ ผมต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ออกจากบ้าน 6 โมงเช้า เพื่อไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ จบอนุบาลก็เข้าเรียนที่สาธิตสวนสุนันทา จนถึง ป.7 ก็ไปสอบเข้าต่อที่บดินทร์เดชาฯ แล้วก็สอบเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ลาดกระบังฯ ด้านวิศวคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นผมไม่เคยมีความคิดฝันอยากจะทำธุรกิจเลย คุณพ่อกับคุณแม่ก็อยากให้ลูกเรียนสูงๆ จบเป็นดอกเตอร์ หรือรับราชการเป็นอธิบดีอะไรก็ได้ เพราะรุ่นคุณพ่อค้าขายกันมาตลอด ที่บ้านก็มีอยู่ไม่กี่คนที่เข้ามาช่วยกิจการที่บ้าน คุณอาทำงานแบงก์ เป็นหมอและรับราชการเกือบทุกคน เลยอยากให้ลูกรับราชการบ้าง

 

“สมัยที่ผมเรียนอยู่ลาดกระบัง ผมทำกิจกรรมขององค์การนักศึกษาเยอะมาก ผมเคยเป็นรองประธานสมาคมภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผมเองเป็นคนที่ชอบเขียนชอบอ่านหนังสือ พอขึ้นปี 5 ก็เขียนหนังสือส่งตามนิตยสารของแมนกรุ๊ป ทำหนังสือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รับงานนอกมาเขียน พวกบทความ โดยแปลจากหนังสือ จนผมเริ่มเป็นนักเขียนอิสระ เมื่อจบปริญญาตรีก็เลยเข้าไปทำงานที่แมนกรุ๊ป ทำกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ผมเขียนบทความแนวการตลาด ด้านเทคโนโลยี การทำหนัง การโฆษณา ก็แปลมาแล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ ต่อมาก็ขยับตำแหน่งมาเป็นบรรณาธิการ เพราะแมนกรุ๊ปไปซื้อหัวหนังสือเมืองนอกชื่อ BYTE ก็เลยต้องเขียนบทบรรณาธิการ บทความ ตรวจปรู๊ฟต้นฉบับ ประสานงานกับฝ่ายศิลป์”

 

เซลล์แมนขายคอมพิวเตอร์ 

“ต่อมา ผมได้งานที่ศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ทำได้ปีเดียวก็ลาออก หลังจากนั้นผมสอบเข้ามาทำงานที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งมีบริษัทในเครือชื่อเอสซีที ค้าสากลซิเมนต์ไทย ผมได้เข้าไปทำงานกับบริษัทหนึ่งที่ปูนซีเมนต์ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ชื่อเอสซีทีคอมพิวเตอร์ ตอนหลังบริษัทนี้ถือหุ้นกับไอบีเอ็มห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้วขายคอมพิวเตอร์ให้กับไอบีเอ็ม 
ผมเป็นเซลล์ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นได้เงินเดือน 7,000 บาท คุณปู่ท่านก็บอกให้ทำงานนี้ไปเลยเพราะชื่อเสียง
ของปูนซีเมนต์ไทย มีความมั่นคงสูง ท่านชอบให้ออกไปทำงานหาประสบการณ์ข้างนอก ผมได้เรียนรู้หลักการบริหารจากปูนซีเมนต์ไทยเยอะมาก อย่างน้อยก็ทำให้รู้ถึงหัวอกลูกจ้าง การที่เราเคยเป็นลูกน้องคนอื่น มันทำให้เราเข้าใจว่าลูกน้องหรือพนักงานต้องการอะไร ผมจึงได้นำหลักการกลับมาใช้ในงานของเราเอง ปูนซีเมนต์จึงเสมือนเป็นโรงเรียนสอนวิชาอีกแขนงหนึ่ง

 

“เวลาผมได้มีโอกาสแนะนำน้องๆ ในเรื่องของการทำงาน ก็จะบอกว่าชีวิตคนเราสักครั้งหนึ่ง ต้องลองเป็นเซลล์เพราะอาชีพนี้เป็นงานที่สื่อสารโดยตรงกับคนทั้งบริษัท เกือบจะทุกแผนกก็ว่าได้ จะได้รู้ว่าทั้งองค์กรเขาทำอะไรกัน ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายบัญชีฝ่ายผลิต ฝ่ายสต๊อก ฝ่ายบริการ เราต้องประสานงานหมด อย่างตอนนั้นผมรับนโยบายยอดขายมาจากฝ่ายบริหารแล้วกลับมาหาฝ่ายบัญชี ทำเรื่องวางบิล เก็บเงิน เรื่องการติดตั้ง ต้องประสานงานกับฝ่ายเทคนิค ทำให้เรามีความชำนาญหลายๆ อย่าง มีความรู้มากขึ้น เป็นประโยชน์สำหรับคนที่จะโตไปในสายบริหาร เวลา 3 ปีกับงานขายจึงเหมือนกับการได้รับปริญญาโทอีกใบ แต่เป็นการเรียนนอกห้องเรียน สมัยนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องละสองแสนบาท คิดดูแล้วกัน ผมขายได้ตั้งหลายเครื่อง”

 

จุดหักเหของชีวิต

คุณนพพรเล่าถึงความภาคภูมิใจในเครือซีเมนต์ไทยบ้านเก่าว่า บริษัทปูนซีเมนต์ไทยเป็นเบ้าหลอมที่ดี ดุจสำนักตักศิลา

 

“ตอนเข้าไปทำงานที่ปูนซีเมนต์วันแรก เขามีคู่มือเล่มสีทอง เรียกว่าสมุดปกทอง ขนาดเท่าพ็อกเก็ตบุ๊ก ที่หน้าปกเขียนว่า จรรยาบรรณเครือซีเมนต์ไทย เขาจะให้พนักงานอ่านก่อนเข้าทำงาน ผมท่องได้หมดเลย ข้อแรก ตั้งมั่นในความเป็นธรรม สอง ต้องมุ่งมั่นในความเป็นเลิศ สาม เชื่อมั่นในคุณค่าของคน สี่ ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งผมเองก็นำกฎเหล่านี้มาใช้ในการบริหารงานของบริษัทตัวเอง

 

“หลังจากทำงานขายได้ 3 ปี ก็ลาออกมาช่วยที่บ้าน ถือว่าเป็นทางแยกของชีวิตที่ไม่รู้ว่าตอนนั้นจะไปเรียนต่อหรือทำงานกิจการของที่บ้านดี แต่ในใจอยากกลับไปทำงานที่ปูนซีเมนต์อีกครั้ง กลับไปเป็นลูกจ้างเขา เพราะอยู่แล้วมีความสุข มีนายดี มีเพื่อนร่วมงานดี เราก็ภูมิใจ ระหว่างนั่งขบคิดเตรียมตัวที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก คุณปู่ก็บอกว่าให้มาทำอะไรเล่นๆ ที่บ้านดีกว่า เพราะตอนนั้นตลาดกำลังขยายทำตึกแถว คุณปู่ก็ให้ผมเข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ ผมจึงนำเอาสิ่งที่เราเรียนรู้มาอย่างเรื่องการจัดองค์กรไปปรับปรุงใช้ ทำไปทำมา อาผมที่เป็นผู้บริหารท่านลาออกไปทำงานอย่างอื่นที่เขาถนัด ผมเลยขึ้นเป็นผู้จัดการ ปริญญาโทที่เคยวางไว้ว่าจะไปเรียนต่อที่เมืองนอกเมืองนาก็เลยไม่ได้ไปเรียนเพราะต้องสร้างตึกและขยาย ต้องจัดการตลาดสดให้ทันสมัย เวลาผ่านไป 4 ปี ผมขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ คอยดูแลตลาด มีแม่ค้ามาเปิดแผงถึง 3,000 แผง มีตึกแถวอีกหลายร้อยห้อง แต่การจะทำตลาดให้ติด ก็ต้องเปิดให้พ่อค้าแม่ค้าขายฟรีเป็นปีก่อน เพราะส่วนใหญ่แม่ค้ากับคนซื้อเขาจะเป็น
ขาประจำกัน ฉะนั้นถ้าเขาย้ายมาแล้วไม่มีขาประจำ เขาก็ไม่ตามมาซื้อ ผมก็ปรับเป็นตลาดเช้า ตลาดบ่าย เช้าขายของสด บ่ายเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นสลับกันไปมาในตลาด ก็มีทั้งเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้แบบโชห่วย

 

“เคยทำงานปูนซีเมนต์ เคยอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม แล้วต้องมาทำตลาดสด มันคนละเรื่องกันเลย เหมือนเทวดาตกสวรรค์เลย (หัวเราะ)”

 

ฝีมือเข้าตานักธุรกิจแดนซามูไร

และแล้วชะตาชีวิตของคุณนพพรก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อมีนักธุรกิจใหญ่ชาวญี่ปุ่นมาเห็นผลงานการสร้างตลาดสดของเขา จึงชักชวนเขาเป็นพันธมิตรเข้าร่วมลงทุน

 

“มีอยู่วันหนึ่ง นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่ทำห้างสยามจัสโก้กับซูเปอร์มาร์เก็ต เขาได้ยินชื่อเสียงการทำตลาดสดมีนบุรี เลยเดินทางมาจากญี่ปุ่น พร้อมกับชักชวนผมให้มาทำซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยกัน เพราะเรามีที่ดินแถวมีบุรี ผมบอกว่าทำไม่เป็น เขาเลยบอกว่าจะสอนให้ แล้วเขาก็พาผมไปดูงานซูเปอร์มาร์เก็ตที่ญี่ปุ่น พาเราไปศึกษา ไปวางแผนให้เสร็จว่าจุดคุ้มทุนกี่ปี เขามีคู่มือให้มาหมดผมก็เสนอเรื่องนี้ให้ทางบ้าน ที่บ้านก็เห็นดีด้วย จึงนำเงินมาลงทุนร่วม 100 ล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นถือว่าสูงมาก

 

“เมื่อพูดคุยถูกคอ เราก็ตกลงร่วมลงทุนให้เขาเช่าที่ สร้างเสร็จตามแบบ ปรากฏว่าพอเปิดมาก็ประสบผลสำเร็จมาก ตอนหลังเขาก็มาชวนอีกบอกว่าเราทำตามกฎกติกามารยาท ทำตามเอกสารสัญญา พูดคำไหนคำนั้น เหมือนคุยภาษาเดียวกัน ก็เลยอยากให้ทำอีกหลายๆ ที่ ผมก็บอกไปว่าถ้าจะให้ไปทำที่สุขุมวิทหรือแถวฝั่งธนบุรี ผมไม่เอาด้วยหรอก อยากจะให้ทำในที่ของครอบครัว ไม่อยากไปลงทุนที่อื่น นักธุรกิจญี่ปุ่นคนนั้นเขาก็ตื๊อ เพราะเขาเห็นศักยภาพของเรา เขาบอกให้ผมตั้งบริษัทเองสิ คิดแล้วมันก็แปลกอย่างนะ ตอนเริ่มแรกจะคบญี่ปุ่น ค่อนข้างคบยากเย็นแสนเข็ญมาก แต่เมื่อเขายอมรับเราแล้ว เขาจะคบระยะยาว

 

“สุดท้ายผมก็ตกลงทำบริษัทเองควบคู่ไปกับตลาดของที่บ้าน พร้อมกับชวนที่บ้านและเพื่อนๆ ที่ทำงานปูนซีเมนต์มาร่วมหุ้น เชิญเจ้านายเก่าที่ปูนฯ มานั่งเป็นประธาน ผมเป็นหุ้นใหญ่นั่งบริหาร จากนั้นก็ขอเงินกู้จากคุณปู่ กู้คุณพ่อ กู้แบงก์ ก็จ่ายดอกเบี้ยไป นำมาเปิดบริษัทในฝันสนุกๆ ลงทุนเฉพาะออฟฟิศไปสิบล้านบาท เอาพนักงานบัญชีและระเบียบพนักงานของปูนซีเมนต์มาใช้หมด 
เรายึดมั่นหลักวินัยการใช้เงิน ไม่ใช่มีเงินแล้วไปใช้อย่างอื่น ไปซื้อหุ้น สะสมที่ เราไม่ทำ ถ้าทำเรื่องไหนก็ทำเป็นเรื่องๆ ไป ทำไป3-4 โครงการ ก็คืนเงินที่กู้เขามาได้หมด ตอนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ.1997 คนเขาก็คิดว่าผมเจ๊งไปด้วย แต่ความจริงคือผมจ่ายเงินกู้ในธนาคารจนจะหมดแล้ว แล้วก็ยังมีสาขาที่เก็บเงินค่าเช่าได้ทุกวันผมไม่ต้องเปิดโปรเจ็คท์ใหม่ก็มีเงินเลี้ยงพนักงาน เราไม่เคยมีการไล่ใครออกสักคน

 

“หลังปี พ.ศ. 2540 อีก 2 ปีราคาที่ดินตก ผมเปิดตึกใหม่ พอผมลงตูม เราก็สบาย ร้านค้าที่มีขีดความสามารถในการขยาย หรือรายที่อยากขยาย เขาก็วิ่งมาหาเรา เราก็เริ่มจับรวมกลุ่มร้านค้า ตั้งแต่นั้นมาเราทำธุรกิจกับต่างชาติแล้วเขาก็จะเชื่อถือ เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ง่ายขึ้น ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งปี แต่งตัวเสร็จแล้วเข้าได้เลย เพราะทุกอย่างโปร่งใส ทุนมีอยู่แล้วกว่า 5,000 ล้านบาท

 

“ศูนย์การค้าแห่งแรกที่ทำก็คือสยามจัสโก้ ย่านฝั่งธนบุรี ต่อมาก็มาทำสยามจัสโก้ ประชาอุทิศ ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนที่สาขาสุขาภิบาล 3 เราเช่าที่เขาทำ 30 ปี ทำปีละศูนย์ ใช้เงินศูนย์หนึ่งไปต่ออีกศูนย์หนึ่ง แล้วก็มาเปิดที่สยามจัสโก้ ที่สุขุมวิท 71 ทำมาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ เป็นป่าล้อมเมือง แล้วก็มาทำ เจ อเวนิว เราไม่ต้องลงทุนซื้อที่ เพราะมันเป็นบิสสิเนสโมเดลมาจากเมืองนอก เหมือนที่อเมริกา ธุรกิจเราก็ให้เช่าที่เหมือนกัน ไม่ใช่สร้างแล้วขาย ถ้าเราซื้อแล้วสร้างเอง 
แล้วให้เช่า เงินก็จมอยู่ การเช่าที่ เราไม่ได้กลัวว่าหมดสัญญาแล้วเขาจะไม่ต่อสัญญากับเรา มีแต่เราจะไม่ต่อสัญญากับเขามากกว่า เพราะผ่านไป 20-30 ปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปแล้ว รูปแบบของศูนย์การค้าก็อาจจะล้าสมัย วันนั้นอาจจะมีที่อื่นที่ดีกว่าเพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะไม่เอาที่เดิมก็มีมากกว่า”

 

บริหารอย่างมืออาชีพ

นอกจากจะสร้างศูนย์การค้าเองแล้ว เขายังรับเข้าไปบริหารศูนย์การค้าขนาดเล็กและขนาดกลางอีกหลายแห่ง 

“ทุกวันนี้เจ้าของที่ที่เขาทำเองอยู่แล้ว เขายังเอามาให้ผมทำเลย อย่างตอนนี้เราเข้าไปบริหารที่ปิยรมย์สปอร์ตคลับ ที่สุขุมวิท101/1 ผมก็เอาท็อปส์มาร์เก็ตเพลสเข้าไป เอาสตาร์บัคส์ ไอเบอร์รี่ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ไปลง ต่อมาก็ไปทำที่ แจ้งวัฒนะ เมื่อก่อนเป็นแฟมิลี่เซนเตอร์ เราก็ขยายเป็น ดิ อเวนิว และอีกหลายที่อย่าง มารวยเซ็นเตอร์ เจ้าของเดิมเขาก็ไม่ได้เจ๊งนะ แต่เขาไม่มีผู้บริหารมืออาชีพ เราเป็นมืออาชีพ ทำเป็นรูปแบบบริษัทก็ได้เปรียบ ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าเราไปบริหารให้เขา ทำให้เขามีรายได้มากกว่าตอนสมัยที่เขาทำ เขาเองก็ไม่ต้องเหนื่อย

 

“อันดับแรก เราต้องรู้ว่าเราถนัดเรื่องอะไร แล้วเราก็ทำเฉพาะที่เราถนัด เพราะผมเป็นคนที่ไม่ฝืนทำอะไรที่ไม่ถนัด อย่างมีคนแนะนำเอาที่มาให้เช่า ทำเลดีมากอยู่ย่านสุขุมวิท แล้วบอกผมว่าให้ทำโรงแรมสูงๆ หลายสิบชั้น แต่ผมก็ไม่ทำไม่ใช่ไม่ถนัดแล้วผมไม่ทำนะ ผมจะไปหาคนที่ถนัดกว่ามาทำให้แล้วเราวางนโยบายให้เขา ทั้งการเงิน การบริหารบุคคล แต่ที่ผมถนัดแน่ๆ ก็คือการตลาดกับเรื่องพัฒนาที่ดิน

 

“ผมทำมาหลายสิบปี ความชำนาญในการดูที่ปีสองปีมันทำไม่ได้ เราต้องรู้จักเจ้าของที่ การอยู่ในวงการที่ดิน เราเห็นศูนย์การค้ามาทั่วโลกทำให้เราได้เปรียบ โดยเฉพาะการมีพาร์ทเนอร์ดี มีผู้ใหญ่ที่แวดล้อมอุปถัมภ์ค้ำชู ชีวิตผมมีแต่คนอุปถัมภ์มาตลอด อยู่ในครอบครัวก็มีคุณปู่คุณพ่อ อยู่ที่ปูนซีเมนต์มีนายดีมีเพื่อนฝูงบริวารดี เก่งอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องเฮงด้วย เพราะเราเก่งแต่ไม่มีโอกาสได้ทำ บางคนทำได้แต่ไม่ได้ทำ บางคนทำแล้วทำไม่ได้ก็มีถมไป ต้องทำได้ แล้วได้ทำคือวันที่ดวงมา เราทำได้มันถึงจะเกิด

 

“เหมือนกับละครของคุณบอย ถกลเกียรติ เรื่อง ‘ทอฝันกับมาวิน’ ที่เขาพูดวลีหนึ่งไว้ว่า ‘ได้ทำในสิ่งที่รักคืออิสระ ได้รักในสิ่งที่ทำคือความสุข’ มันเป็นเรื่องจังหวะ เรื่องโอกาสของชีวิต สยามฟิวเจอร์จึงเป็นศูนย์การค้าชุมชนที่ผมเรียกว่าตลาดสดกลายพันธุ์เปลี่ยนจากตึกแถวชุมชนมาเป็นร้าน มีแบรนด์ มีออกาไนซ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จอดรถ ความสะดวกสบาย ห้องน้ำสะอาดปลอดภัยมีบริเวณสวน เพื่อตอบแทนสังคมในชุมชนนั้นๆ”

ตลาดสดใกล้บ้านคือจุดนัดพบของผู้คนในอดีต