ลีเล็ด

ลีเล็ด

บ้านไม้สักหลังนี้หล่อหลอมป้าเล็ก วิไลวรรณ น้ำเงิน มา 58 ปี นับเลยไปถึงรุ่นพ่อของป้ายิ่งมากว่านั้น พื้นกระดานหน้าเรือนกว้างเย็นสบายเมื่อค่ำคืนมาเยือน กลางวันก็เช่นกัน นั่งคลายสายตามองคลองสายกว้างหน้าบ้านได้อย่างสบายอารมณ์

 

เราอยู่กันที่ตำบลลีเล็ด ห่างออกมาจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเพียงสิบกว่ากิโลเมตร ในพื้นที่สวนและลำคลองนับร้อยสายเวียนวนหล่อเลี้ยง อย่างที่คนสุราษฎร์ฯ เรียกตำบลแถบนี้ว่า “ในบาง” ความมืดและบรรยากาศเงียบเชียบปกคลุมอยู่เหนือหลังคา ชีวิตไม่มีอะไรมากไปกว่าหลากไหลไปตามคืนวันของการเปลี่ยนแปลงเคียงคู่สายน้ำลำคลอง

 

ก่อนนอนผมคิดถึงหลายวันที่มาอยู่ที่นี่ พบเจอเรื่องราวสามัญของพวกเขา ที่กลายเป็นเรื่องตื่นตาของอีกหลายคนที่มุ่งเข้ามายังตำบลเล็กๆ เล็กของอ่าวบ้านดอนแห่งนี้

 

ป่าโกงกางผืนใหม่ การงานในสายน้ำและเรือกสวน เสียงหัวเราะยิ้มหัวในเพิงกาแฟเช้าตรู่ หรือแววตาตระหนกของคนทั้งหมู่บ้านยามข่าวการจากไปของลูกหลานสักคนเดินทางผ่านมาถึง เหล่านี้ปะปน ไม่มีอะไรตกหล่น แม้ว่าจะผ่านไปอย่างเงียบๆ ไร้ซึ่งการป่าวร้องให้ใครสักคนหันมาใส่ใจท่ามกลางกระแสวันคืน

 

ชีวิตเรียบง่ายนั้นจริงแท้เสมอโดยไม่ต้องปริปากพูด หลายคนที่นี่แสดงมันให้ผมเห็นตลอดช่วงเกือบอาทิตย์ที่มาหลับตาในค่ำคืนและลุกตื่นเดินตามพวกเขาไปในทุกซอกมุมในยามกลางวัน

 

ให้เห็นว่ารอยยิ้มมีอยู่จริงในการงาน ตราบที่หัวใจยังมีเรี่ยวแรง

 

และชีวิตมีทางเดินเสมอ ต่อเมื่อพวกเขายังคงหันหน้าเข้าหากัน

 

เสียงนกร้องจุ๊บจิ๊บชายน้ำนั้นแสนเพลินยามเงี่ยหูฟังจากที่นอนอุ่นๆ เมื่อคืนอากาศเย็นสบาย ขณะเสียงขลุกขลักดังมาจากในครัวบอกว่าชีวิตที่นี่ก็ตื่นขึ้นมาไม่แพ้กัน ป้าเล็กคงตื่นก่อนหน้านี้นานแล้ว “น้ำร้อนแล้ว กาแฟสักแก้วก่อนยังทัน” ผมงัวเงียออกจากมุ้งจริงๆ มื้อเช้าก็พร้อมเพรียงอยู่ในสำรับเรียบร้อย น้ำพริกมะขามจากเมื่อวานเอาผัดมาใหม่ ไข่เจียวร้อนๆ ปลาดุกย่างตัวโต

 

ฟ้าสางและเปิดให้เห็นสวนมะพร้าวและคลองพุนพินที่เป็นเหมือนเส้นเลือดหลักอันหล่อหลอม “แต่ก่อนป้าเล็กออกทะเลกับพ่อ ไปสว่างเอาปากอ่าวโน่น” แกว่าถึง อ่าวบ้านดอน อันโอบอุ้มพื้นที่ของตัวอำเภอสุราษฎร์ฯ อำเภอพุนพิน เอาไว้แทบทั้งหมด เป็นทะเลน้ำจืดอันไพศาล เก่าแก่ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และมากมายทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดที่ดูแลชีวิตรายรอบมาได้หลายต่อหลายรุ่น

 

อากาศยามเช้าสดสะอาด ชีวิตตามบ้านเรือนดำเนินไปตามครรลอง อ้อยอิ่งกันพอควรกว่าเราจะลงจากเรือนไม้คลาสสิคหลังนี้ได้“ไปเที่ยวด้วย” ป้าเล็กตามลงมาเป็นคนสุดท้าย เราผละออกจากพื้นที่กว่า 3 ไร่ของแก เข้าสู่ถนนสายเล็กๆ พระสงฆ์จากวัดบางพลาเพิ่งกลับจากบิณฑบาต เด็กๆ มุ่งไปโรงเรียนส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่ตามหน้าบ้าน

 

เพียงเพื่อที่จะรู้ว่าท่ามกลางพื้นที่กว่า 17,266 ไร่ ของตำบลลีเล็ดนั้นสมบูรณ์เพียงไร พวกเขาพาตัวเองก้าวเดินมาคู่โลกปัจจุบันได้แค่ไหน ผมและป้าเล็กต้องมาเยือนกลุ่มชุมชนลีเล็ดนำเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์กันแต่เช้าตรู่ “จะเห็นลีเล็ดต้องไปตามสวนตามคลอง” พี่ทัศ-ทัศนีย์ หีตอนันต์เอ่ยผ่านกาแฟร้อนแก้วที่สอง แม้ผมจะบอกว่าเรียบร้อยมาจากบ้านแล้วก็ตาม แต่น้ำใจของเธอนั้นดูจะขัดกันไม่ได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แบบนี้

 

ถนนสายเล็กซอกซอนเข้ามาตามพื้นที่สวน มะพร้าวเสียดยอดปกคลุมอยู่เหนือหัว ขณะที่เข้าไปตามบ้านแทบทุกหลัง เราพบว่าสายน้ำลำคลองหลากหลายล้วนเป็นเหมือนโลกอีกใบที่ห่อหุ้มพวกเขาอยู่ มันครึ้มร่ม อ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศโบราณของบรรพบุรุษ

 

“พูดไม่เข้าข้างตัวเองนะ ผมว่าป่าจากริมฝั่งคลองนี่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลย” มนตรี ประตูใหญ่ วางมีดที่ลอกยอดจากออกเป็นแผ่นบางๆ ไว้ชั่วครู่ ทอดตาไปยังคลองหลังบ้านที่มีศาลาไม้คร่ำคร่าวางตัวอยู่อย่างน่านั่ง “จากมันสารพัดประโยชน์ ลูกลอยไปไหนก็โตที่นั่น”

 

หากว่างจากสอนหนังสือที่โรงเรียนประจำอำเภอ มนตรีเป็นต้องง่วนอยู่หน้ายอดจากนับร้อยนับพันที่ตัดขึ้นมาจากชายน้ำ “ไปถามคนริมคลองยุคก่อนดูได้ นอกจากพายเรือ ตกกุ้งแล้ว จากนี่แหละที่เป็นงานแรกๆ ตั้งแต่เด็ก”

 

หมาพันธุ์ไทยหมอบหงอยอยู่ใต้เรือน ฉางข้าวโบราณที่เรานั่งคุยกันยามเช้าเมื่อผลักประตูเข้าไป ผมก็พบกับตั้งใบยาสูบสีน้ำตาลกองรวมกันเป็นตั้งท่วมหัว “เห็นอย่างนั้นน่ะ กว่าจะเสร็จก็เล่นเอาเหนื่อยอยู่” มนตรีรวบชายโสร่งสีสวย ลุกขึ้นเดินไปหยิบใบยาสูบตราดอกมะลิที่แพ็กเรียบร้อยมาให้ผมลองลูบจับ มันบอบบาง เจือกลิ่นมีเอกลักษณ์

 

กว่าจะเป็นใบยาสูบ ไม่ถึงขั้นกับต้องแรมรอนไปตามลำคลองเหมือนแต่ครั้งพวกเขายังเล็กๆ ไม้ชายน้ำชนิดนี้ยังคงดกดื่นสะท้อนความสมบูรณ์ชองลีเล็ด แต่พวกเขาก็ต้องนำยอดจากมาลิดใบ สับ แยกก้านออก ตากแดดจนแห้ง ลอกออกเป็นแผ่นอย่างประณีต “ต้องดูแดดด้วยนะ หน้าแล้งนี่งานดี ผู้หญิงนี่ลอกไป ทำกับข้าวไปเลยทีเดียว และก็ลืมอบไมได้ ต้องทำให้แห้งและหอม” เขาว่าพึงขั้นตอนอบนี่ล่ะ ที่จะวัดกันว่าใบจากของใครจะดีกว่ากัน

 

นั่งกันเพลินๆ ป้าเล็กก็พาผมลัดเลาะมาอีกบ้านริมคลองสายเดียวกัน “นี่ก็จากเหมือนกัน” ดูเหมือนแกเริ่มชอบหน้าที่ไกด์กิตติมศักดิ์ ทุกวันรถจี๊บคันเล็กของผมเป็นต้องมีป้าเล็กคอยบอกทาง ด้วยสารพันประโยชน์ของจาก ลุงจรัญ พุฒิเอี้ยวเป็นอีกคนในลีเล็ดที่พึงใจจะใช้บั้นปลายชีวิตอยู่กับสิ่งที่เคยคุ้นมาในยามเด็ก ตับจากที่ก่ายกองรอคนมารับไปขาย ไปมุงหลังคา ต่อหน้าผมนั้น ลุงจรัญนั่งฟังทรานซิสเตอร์อยู่ริมคลองและเย็บมันขึ้นมาอย่างสวนทางกับที่เด็กรุ่นใหม่หลายต่อหลายคนหันหนี

 

“จากเดี๋ยวนี้จ้างเขาตัด ไม่รู้ยังตัดแบบเดิมอยู่ไหม” ลุงจรัญเล่าว่า แต่โบราณคนที่นี่สอนกันว่าไม่ตัดจากที่อ่อนหรือแก่จนเกินไป“ยอดอ่อนหน้าจากจะเล็ก ยอดแก่ใบก็เริ่มบาน” และเพื่อให้จากยังคงโตได้อีก ต้องเหลือทางด้านในสุดไว้สองทาง “เขาเรียกทางพี่ทางน้องน่ะ” สิ่งตกทอดเหล่านี้ไม่เพียงอยู่ในอาชีพ หากแต่พวกเขาต่างรู้ว่ามันคือการถนอมแผ่นดินและสายน้ำอันเป็นบ้านไว้ไม่ให้จากหาย

 

ลมในสวนพัดเย็นสบาย บ้านริมคลองหลังนี้เหลือเพียงลุงและหมาสี่ตัว ที่หากเอ่ยชื่อออกไปก็สะท้อนความแก่การเมืองของคนใต้ลูกสาวจรัญไปอยู่ไกลถึงเยอรมัน นานๆ จะพาหลานกลับมาเยี่ยมสักที “การงานเราก็มี ข้าวปลาอิ่มหนำ ไปไหนไกลทำไม” แกว่าพลางหยิบจากตับท้ายๆ ของวันขึ้นซ้อน

 

หากชีวิตเป็นเรื่องแสวงหาความสงบสุข ในสวนริมคลองแห่งนี้อาจมีที่ทางบางอย่างให้ใครสักคนเลือกที่จะไม่จากไปไหน

 

ไม่ใช่ที่หลับที่นอน ทำมาหากิน แต่เป็นพื้นที่เล็กๆ อันแสนอุ่น ให้พักวางต้นเหตุแห่งการไขว่คว้า

 

เหมือนกับที่บางคนเชื่อว่า ในโลกหลากไหลคล้ายสายน้ำ ภายนอกปรับเปลี่ยนได้ แต่ภายในต่างหากที่ไม่อาจเปลี่ยนแปร

 

เรานั่งคุยกับลุงจรัญเจ้าของตับจากอีกพัก แก็งค์แม่บ้านจากกลุ่มชมรมฯ ก็ตามมาสมทบ ดึงผมออกจากมะพร้าวกะทิที่ลุงเฉาะให้ลิ้มรสหวานมัน นาทีนั้นผมไม่แปลกใจเลยกับความเข้มแข็งในการตื่นตัวเรื่องโฮมสเตย์ที่คนลีเล็ดเลือกเดิน “เอ้า เดี๋ยวไปดูป่าชายเลนกัน เด็กๆ มากันแล้ว” พวกเธอนำทางพาเราออกสู่ชายฝั่งด้านตะวันออกของลีเล็ด

 

ทางเดินไม้ระแนงทอดตรงเลาะไปตามแนวคลอง เด็กๆ ลงไปย่ำอยู่ในเลนพร้อมกล้าพันธุ์ไม้ชายเลนหลายชนิดที่ติดมือไปปลูกผมเดินดูอะไรต่อมิอะไรไปเรื่อยๆ ใบจากยามต้องแสงกลายเป็นสีเขียวมีมิติ แนวโกงกางใบใหญ่ ตะบูน ลำพู เบียดเสียดกันอยู่อย่างสมบูรณ์ กุ้งดีดขันดีดตัวเองดังเป๊าะๆ ตรงส่วนที่เสียงอึงอลของเด็กๆ ยังมาไม่ถึง ปูเปี้ยวตามรากโกงกางหายไปกับระดับน้ำที่ค่อยๆ สูงขึ้น

 

ภาพตรงหน้าคือแนวสุดท้ายของเขตป่าชายเลนที่จดกับผืนน้ำกว้างใหญ่ เส้นขอบผ้าวันอากาศสดขึงตาอยู่ลิบๆ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกระหว่างป่าชายเลน แผ่นดิน และผืนทะเลที่โอบล้อมนี้คือบ้านของคนลีเล็ด ซึ่งมันก็ได้ผ่านกาลเวลามาร่วมกับพวกเขาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด หลายต่อหลายปีที่การทำนากุ้งและประมงขนาดใหญ่ได้รุกล้ำเข้ามาตามแม่น้ำลำคลองย่อย ด้วยความไม่รู้ระบบทุนนิยมหรือการดิ้นรนของชีวิตในอดีต จะโดยใดก็ตาม คนตำบลนี้ก็ได้เห็นได้ผ่านมันมาด้วยตนเอง มีหนทางแก้ไข เรียนรู้ และเลือกทางเดินได้ด้วยวิถีทางของพวกเขา

 

โครงการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง (CHARM) และโครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ (REST) ที่คนบ้านลีเล็ดเลือกเชื่อมโยงสื่อสารกับองค์กรภายนอกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 อาจเป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกว่า พวกเขาอยากให้บ้านหลังนี้เป็นเช่นไร

 

เช่นนั้นเองในภาพง่ายๆ ของพี่ๆ น้องๆ ที่คอยจัดการคนมาท่องเที่ยวให้รู้เห็น ดูแลบ้านเรือนให้สะอาดเอี่ยมเป็นเรือนนอน เพิ่มเติมการงานอันตกทอดให้กลายเป็นเรื่องน่ารู้น่าสัมผัส จึงเป็นรูปธรรมและนิยามของคำว่าท่องเที่ยวชุมชนที่คนบ้านลีเล็ดตีความออกมาอย่างน่าใส่ใจ

 

น้ำเริ่มขึ้น เด็กๆ ที่มาปลูกป่ากลับไปแล้ว เหลือเพียงเสียงน้ำหลากไหล สัตว์น้ำอุดมข้างล่าง และการกลับมาของป่าชายเลนที่เติบโตอย่างเงียบๆ ไปพร้อมกับชีวิตของคนตำบลนี้

 

ตกเย็นเรามายึดสะพานแถบหัวถนนที่จะมุ่งไปตัวเมือง ฟ้าปลายเดือน 11 กำลังย้อมสีตัวเองลงกับการจากไปของกลางวัน มันกลายเป็นสีส้มแดงและไล่โทนกระทบลงกับผืนน้ำคลองพุนพิน เรือตกกุ้งติดไฟอยู่ตามมุมนั้นมุมนี้ของลำคลอง ชีวิตการงานหล่อหลอมอยู่แทบทุกเวลาของผืนน้ำ

 

ในทะเล สายน้ำลำคลอง หรือที่ราบอันปกคลุมด้วยเรือกสวน สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้ภาพเหล่านี้ดำเนินคงอยู่ควบคู่คืนวัน กาลเวลานั่นส่วนหนึ่ง เวียนหมุนเปลี่ยนแปลง เหวี่ยงแง่มุมดีร้ายมากมายครอบคลุม

 

เช่นนั้นเอง อาจเป็นด้วยแววตาและลมหายใจประเภทเดียวกันก็เป็นได้ ท่ามกลางพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านซึ่งใครสักคนหวงแหน ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่อาจเพื่อใครสักคนที่รออยู่ในวันข้างหน้า พวกเขาต่างใช้หัวใจที่มีอยู่ทุ่มเทเข้าดูแล

 

เพราะอย่างจริงแท้ สายน้ำ แผ่นดินนั้นแสนยั่งยืน และเราเองก็เป็นเพียงผู้ผ่านมาชั่วคราวบนโลกใบนี้ 

คืนนี้ป้าเล็กไม่นอนเร็วเหมือนเคย