เชียงของ

เชียงของ

วันนี้อากาศสดจนสูดลมหายใจได้อย่างชื่น ฝนเช้าโปรยหยุมหยิมลงบนแม่น้ำโขงและหลังคาบ้านเรือนที่ตั้งอยู่เหนือตลิ่งขึ้นมาอาจแตกต่างกับหลายสิบปีที่ผ่านมาอยู่บ้าง ตรงที่ผู้มาเยือนที่ค่อยๆ พาตัวเองออกสัมผัสยามเช้าของเชียงของ ไม่ใช่พ่อค้าจากต่างแดนที่รอนแรมข้ามภูเขามาขายสินค้าที่เมืองชายแดนอย่างเชียงของ แต่กลับเป็นฝรั่งแบ็กแพ็กกลุ่มใหญ่ ก่อนที่จะได้เวลาลงเรือมุ่งสู่หลวงพระบาง หลังจากฝากเป้ความจุหลายลิตรไว้ตามเกสต์เฮาส์ พวกเขาพากันออกเดินเล่นไปตามถนน มองดูประตูไม้ที่กำลังแง้มเปิด สนอกสนใจกับข้าวพื้นเมืองราวกับสิ่งของมหัศจรรย์

 

“แต่ก่อนนานๆ ทีจะมีฝรั่งขี่รถวิบากกันมา ฝุ่นเต็มหน้า ถอดแว่นออกมาทีราวกับแร็กคูน” ภาพอย่างที่พี่วัช-วัชระ หลิ่วพงษ์สวัสดิ์เล่านั้นเกิดขึ้นราว 20 ปีมาแล้ว วันที่ถนนจากเชียงแสนยังเป็นเพียงทางลูกรัง ฉ่ำแฉะเป็นโคลนเลนยามหน้าฝน การที่ใครสักคนจะมาถึงเชียงของจึงไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์กับวิวภูเขาสักเท่าไรนัก “อย่าว่าแต่เกสต์เฮาส์เลย ผมกับแฟนมาปักหลักอยู่ คนที่นี่เขายังว่าแปลกๆ” ถึงวันนี้บ้านตำมิละ เกสต์เฮาส์อารมณ์ไม้ริมน้ำโขงของเขาก็กลายเป็นหนึ่งในภาพยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงของเชียงของที่เฒ่าชราบางคนเริ่มรู้สึกคุ้นเคย

 

กาแฟลาวคุณภาพดีกรุ่นหอมอยู่ในแก้ว วิวน้ำโขงเบื้องล่างเริ่มกระจ่าง พี่กุ้ง-คู่ชีวิตของพี่วัชเพิ่งกลับจากจ็อกกิ้งริมโขง สักพักไม่เพียงผมที่มีขนมปังโฮมเมดมาเคล้ากาแฟ แต่ฝรั่งโต๊ะข้างๆ ก็กำลังละเลียดออมเล็ตหน้าตาดีอย่างไม่สนอกสนใจโลกรอบด้าน ในตาจดจ่ออยู่กับไกด์บุกลาวไม่ลดละ

 

ดูเหมือนโต๊ะไม้ตรงส่วนเทอร์เรสต์ของตำมิละจะเป็นที่พบปะของนักเดินทางที่มุ่งหน้ามาเชียงของแทบทุกเช้า “ก่อนไปลาวเชียงของก็เป็นจุดพักน่ะ แต่ก็มีบางคนที่มาอยู่ที่นี่อย่างเดียวเลย เที่ยวไปรอบๆ” อย่างที่รู้จักกันมาเป็นสิบๆ ปี พี่วัชไม่ได้ยืนอยู่ริมโขงในฐานะของเจ้าของเกสต์เฮาส์แต่เพียงอย่างเดียว แต่เขาคือ “เสือเทา” ชายหนุ่มผู้หลงใหลเรื่องราวบนหลังอาน ปั่นจักรยานสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงตั้งแต่จีน ลาว เขมร ไล่เลยไปจนวียดนาม “นี่ก็เพิ่งกลับจากพม่า ว่าจะเขียนอะไรที่พบมาสักหน่อย”

 

เช่นนี้เอง หลังจากช่วงปี พ.ศ.2531 ที่สงครามภายในชนชาติของลาวเริ่มเงียบเสียงปืนลง การข้ามแม่น้ำโขงไปมาระหว่างคนเชียงของและคนห้วยทรายไม่ได้เป็นจำกัดอยู่เพียงเรื่องการไปมาหาสู่ การเปิดด่านถาวรให้คนนอกเข้าไปท่องเที่ยว ต่อยอดไปสู่และแขวงอื่นๆ ของลาว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีปลายทางที่หลวงพระบาง เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เชียงของเองก็ปรับรูปตัวเองไปจากสายตาคนรุ่นก่อน ชนิดที่ใครสักคนที่เคยนอนหลับริมโขงจนชินกับเสียงปืนทุกคืนอาจนึกไม่ออก

 

แม่น้ำโขงกลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่พาสินค้าขึ้นล่อง ทั้งจากจีนและล่วงเลยเข้าไปในลาว เชียงของเปลี่ยนจากเมืองการค้าชายแดนกลายเป็นจุดพักส่งสินค้าระหว่างประเทศย่อมๆ ขยายออกมาจากเชียงแสนที่ห่างกัน 53 กิโลเมตร ตามเส้นทางคดโค้งของภูเขา

 

กาแฟหมดไปนาน ที่เติมมาเป็นชาร้อนอย่างดี เรือช้าเที่ยวแรกๆ เริ่มแล่นผ่านเป็นภาพเคลื่อนไหว ฝั่งลาวชัดเจนด้วยภูเขาเขียวฉ่ำและเมฆหมอกจางๆ บางคราวคล้ายหนวดเคราของเฒ่าชรา คนข้างบนอย่างเรามองลงไปเป็นครั้งคราว ก่อนจมกลับสู่วันคืนที่ผ่านมาของเชียงของ

 

ถึงแม้จะเป็นเมืองอันไกลแสนไกลในสายตาหลายต่อหลายคน แต่เชียงของก็เต็มอยู่ด้วยความสงบสวยงามทั้งผู้คนและธรรมชาติเปี่ยมค่ากับการดั้นด้นมาถึง สัมผัสและเปิดหัวใจเรียนรู้ “ภูชี้ฟ้านี่เราหาทางไปสำรวจอยู่นาน รวมกลุ่มกันดั้นด้นขึ้นไปจนเจอ” ไม่นับแหล่งท่องเที่ยวโด่งดังของเชียงของที่กลายเป็นภาพติดตามาจนทุกวันนี้ แต่การรวมกลุ่มคนขี่จักรยานก็ทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวมากมาย ลัดเลาะเข้าไปในป่าเขา ซอกซอนเข้าไปหาพี่น้องชาวเขาหลากหลายกลุ่มชน ทั้งม้ง อาข่า ขมุ ไทยลื้อ ที่ต่างก็อพยพข้ามแม่น้ำมาฝังรากริมโขงที่เชียงของมาเนิ่นนาน

 

“นั่นแค่รอบนอกนะ ที่นี่ยังเต็มไปด้วยความหลากหลาย แค่เดินเล่นตลาดก็เพลินแล้วล่ะ” ท้ายๆ ประโยคคล้ายเขาพูดถึงเสน่ห์ของเชียงของ ที่หากเราเดินช้าลงสักหน่อย ไม่ว่าใครก็ต้องพบเจอ

 

หากไม่นับอายุของเกสต์เฮาส์เก่าแก่อย่างตำมิละ หรือที่เกิดขึ้นตามมาอีกหลายต่อหลายเจ้า ก่อนที่ตามบ้านเรือนจะปรับเปลี่ยนโฉมอาคารร้านค้าให้กลายเป็นร้านกาแฟ ร้านขายของพื้นเมืองนั้น การข้ามไปมาของพี่น้องไทยลาวดูจะเป็นเรื่องจริงจังกว่าการท่องเที่ยวที่เพิ่งผ่านมาเพียงราวสิบกว่าปี

 

“ที่นี่มันเมืองปิด แต่ก่อนก็เรือกับแม่น้ำเท่านั้นล่ะ จะไปเชียงรายก็ล่องเรือไปเชียงแสน 1 วันก่อน รอรถที่นั่นอีก กว่าจะเต็ม ไปกลับทีก็สองสามวันล่ะ” แม่คำของ ชัยวรรณะ เพิ่งกลับจากวัดหลวง วัดเก่าแก่ของคนชียงของที่งดงามด้วยเจดีย์ศิลปะล้านช้างเขียวตะไคร่ครึ้ม

 

ผ่านถนนในยามเช้า ตึกไม้เก่าแก่ บ้านไม้ สามล้อสักคัน หรือนักท่องเที่ยวที่เดินเล่นลัดเลาะไปตามซอกมุมของเชียงของ ความสุขเล็กน้อยระหว่างทางของพวกเขาถูกเก็บลงบนกล้องดิจิตอลตัวเล็ก

 

ก่อนจะมีเกสต์เฮาส์กระจัดกระจาย หรือร้านอาหารหลากหลายให้คน “ผ่านทาง” ได้เลือกลิ้มลอง คนนอกที่เข้ามาเยือนเชียงของในความทรงจำของคนอย่างป้าคำของเห็นจะเป็นพ่อค้าที่พากันบรรทุกสินค้าต่างๆ มาขึ้นล่องที่ชายแดน “เซี่ยงของ บางคนเขาเรียกที่นี่อย่างนี้นะ คือมาถึงที่นี่ก็ของหมดเลยละ” ถนนเล็กๆ ใกล้แม่น้ำโขงรื่นรมย์ ผมนั่งลงคุยกับหญิงชรา ขณะที่อีกฟากแม่น้ำลิบๆ ตา ตึกรามของเมืองห้วยทรายเริ่มเห็นชัดเป็นรูปเป็นร่างตามเวลาและความสว่างของวัน “ใครมาก็ต้องพักโรงแรมสุขนิรันดร์ล่ะ มีอยู่เจ้าเดียว ยังไม่เยอะเหมือนตอนนี้”

 

ไม่ถึงกับต้องย้อนกลับไปในอดีต เอาแค่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นต้องการสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา ได้ขอผ่านประเทศไทยไปยึดครองประเทศพม่า เชียงของเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานกำลังสนับสนุนการทำสงคราม เมื่อนั้นยายคำของยังเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่ริมน้ำโขง บ้านริมแม่น้ำก็เริ่มพลิกผันเปลี่ยนแปลง

 

“มันเมินมานักแล้ว ตอนนั้นยังเล็ก รู้แต่ว่าคนริมน้ำโขงไม่ได้มีแค่บ้านเรากับฝั่งโน้น ชัดๆ เลยนี่ก็ตอนลาวแตกนั่นล่ะ” ต่อเนื่องมาจนยุคสงครามเย็น ที่เชียงของถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีชมพู ซึ่งหมายถึงจุดของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงประชากรระหว่างลัทธิสังคมนิยมกับโลกเสรี คนเชียงของเองได้เห็นหลายๆ ด้านของสงครามไม่น้อยไปกว่าพี่น้องชาวลาวที่ฝั่งตรงข้าม

 

“ก่อนจะเจริญอย่างนี้ แต่ก่อนนะ ฝั่งห้วยทรายดีกว่าบ้านเราเยอะ ฝรั่งเศสมาตั้งฐาน ใครจะหาหมอต้องข้ามไปฝั่งโน้น ไม่เหมือนตอนนี้ แม้แต่ข้าวของ อาหาร ฝั่งเรานี่ล่ะที่เป็นที่ต้องการของเขา”

 

สงครามผ่านพ้น เหลือแต่การดิ้นรนของคนที่หลงเหลือ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โลกทุนนิยมชนะทุกฝ่าย เชียงของได้รับการพัฒนามาตามลำดับในฐานะอำเภอหน้าด่านของจังหวัดเชียงราย มีการค้าขายกับลาวและจีนตอนใต้ ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาเชียงของถูกวางให้เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และเป็นอีกหนึ่งประตูสู่อินโดจีนในแง่มุมของการพัฒนา

 

ผมเดินเข้ามาในความคึกคักของถนนสายกลาง ชุมชนจีนอยู่คู่กันมากับตลาดในแทบทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เมืองชายแดนอย่างเชียงของ “ส่วนใหญ่ที่นี่เป็นจีนไหหลำครับ รุ่นปู่ผมมาจากนครสวรรค์ ค้าขายกันมาเรื่อยๆ” ไม่เพียงย่านตลาดจะดูคึกคัก แต่ของกินหลากหลายที่สะท้อนการอยู่ร่วมของคนสักพื้นที่หนึ่งมาเนิ่นนาน ไม่เว้นแม้สายวันนี้ หลังกาแฟอุ่นอารมณ์ในเกสต์เฮาส์ผมเป็นต้องมาพึ่งพาบะหมี่และข้าวมันไก่ไหหลำของ สิงหา เหลี่ยมพันธุ์ ซึ่งก็ไม่น่าจะต่างกับคนอื่นๆ ที่มาเยือนเชียงของนัก

 

บรรยากาศกันเองนั้นเต็มแน่นอยู่ในร้านโปร่งๆ “บางคนกินกันมาแต่รุ่นพ่อเลยเทียวล่ะ” สิงหาเล่าพลางลวกบะหมี่อย่างคล่องแคล่วนานหลายปีแล้วที่เขาเลือกกลับบ้านมาอยู่หน้าหม้อน้ำเดือดๆ และเครื่องรีดเส้นบะหมี่โบราณ หลังจากข้ามเขาไปกับเรื่องราวการศึกษาและค้นหาหนทางชีวิตอยู่เนิ่นนานหลายปี

 

“อยู่ตรงนี้ไม่ใช่แต่ขายของครับ แต่เหมือนเปิดบ้านมาก็เจอพี่ป้าน้าอาที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก อะไรจะดีกว่านี้ล่ะ”

 

ถนนสายกลางพาคนมาเยือนเไปเห็นแง่มุมการค้าที่ตกหล่นอยู่ตามชุมชนโบราณของเชียงของ พ่อเฒ่าแม่เฒ่านั่งนิ่งอยู่ในห้องแถวทั้งไม้และปูนที่ผันผ่านตามกาลเวลา บางหลังเปลี่ยนแปลงไปเหลือเพียงรูปรอยจางๆ ให้คนรุ่นหลังทำได้เพียงยืนมอง หากอยากรู้จัก ก็ต้องตามหาเอากับผู้ที่เก็บบางส่วนของมันไว้ในความทรงจำ

 

“แต่ก่อนโรงหนังเชียงของรามานี่คนแน่น ฉายหนังขาวดำ ต่อมาก็หนังสี” หักเลี้ยวหักมุมมาที่อาคารไม้คร่ำคร่า ผนังไม้เก่าๆ ที่ด้านหน้ามีช่องพอให้จินตนาการว่าเป็นห้องขายตั๋ว ขณะนี้ปิดร้าง ซ่อนภาพความรื่นรมย์หย่อนใจของคนเชียงของในอดีตไว้ภายใน“เก้าอี้ไม้เรียงแถว ชั้นบนก็ 5 บาท ชั้นล่าง 3 บาท แต่ก่อนหน้าโรงหนังนี่ ข้าวโพดคั่ว น้ำผึ้งป่านี่ของล่อใจเด็กๆ ยังไม่นับขนมทอฟฟี่ มีขายกันให้เกลื่อน” ท่ามกลางร้านดีวีดีเรียงรายอย่างทุกวันนี้ อย่างน้อยอาคารไม้เก่าแก่ร้างหลังหนึ่งก็มีเรื่องเล่าของตัวมันเองในสายตาผู้คนที่โตมาร่วมกับมัน

 

ไม่เพียงถนนและหรือพระพุทธรูปหยกโขงเขียวในวัดพระแก้ว ที่เป็นจุดดึงศรัทธาและการปักหลักร่วม แต่แม่น้ำโขงอันกว้างใหญ่ที่ไหลอย่างมีชีวิตในทุกฤดูกาลก็เป็นหมือนสายเลือดหลักหล่อหลอมทั้งคนเชียงของและราบรอบด้านมาควบคู่

 

ท่าเรือบั๊กและด่านถาวรดึงความคึกคักของเชียงของไปริมโขง หากไม่นับความเจริญแบบมีเรื่องราวของย่านตลาดที่ถนนสายกลางย่านท่าเรือบั๊กก็ถือว่ามีบุกคลิกของย่านการค้าและการติดต่อสำหรับคนผ่านแดนอย่างมีชีวิตชีวา

 

ร้านอาหาร สถานที่ราชการ ด่านตรวจคนเข้าออกเมือง เพิงขายของ ตลอดจนบริษัททัวร์ท่องเที่ยวในลาวและจีน กระจัดกระจายอยู่ตามทางลาดลงสู่แม่น้ำโขง ไม่เพียงเฉพาะนักท่องเที่ยวที่กำลังผละจากแผ่นดินไทยมุ่งหายเข้าไปในแดนลาวพร้อมแม่น้ำโขงแต่กับคนอีกฟากฝั่งที่ใช้เครื่องยนต์เหล็กของแพขนานยนต์ หรือแม้แต่เรือไม้ลำเล็กที่รอนแรมหาปลาอยู่ตามเกาะแก่งทั้งสองฟาก แม่น้ำโขงดูจะมีความหมายกับชีวิตพวกเขามากกว่าคำว่าเส้นทางสัญจร

 

การสู้รบแบ่งแยกในแผ่นดินบ้านเกิด เสียงปืน ตลอดจนภาพจำของสงครามจบไปนานแล้ว

 

แต่ทุกวันนี้ ในวันที่โลกเปิดให้ทั้งคนและกระแสหลากหลายไหลข้ามผ่านซอกซอนไปมาระหว่างลำน้ำ ดูเหมือนสงครามบางอย่างที่พวกเขาไม่อาจเลือกยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่รู้วันสิ้นสุด

 

กับแม่น้ำและความเปลี่ยนแปลงตรงหน้า บางครั้งก็ราวไม่มีใครเข้าใจใคร ไม่แม้แต่หันหน้ามาทำความเข้าใจกัน ทั้งที่เรากำลังหลากไหลไปกับสายน้ำเดียวกันอย่างแยกไม่ออก เขาหรือเรา หรือใครก็ตามที่ผ่านมาร่วมชะตากรรมเดียวกัน

 

ทุกยามเย็น เชียงของกลับมามีชีวิตชีวา ยิ่งเป็นช่วงฝน อาหารจากป่าอย่างเห็ด หน่อไม้ จะวางขายแบกับดินพร้อมกับข้าวพื้นเมืองของสดจากแม่น้ำอย่างไค-สาหร่ายน้ำจืดของสายน้ำโขง และปลาหลากขนาด ภาพและเสียงอันคละเคล้าปะปน ทั้งภาษาเมืองภาษากลาง หรือแม้แต่ศัพท์แสงภาษาอังกฤษ ล้วนหล่อหลอมกันอยู่ตามรายทาง ร้านอาหาร ขนมพื้นบ้าน

 

หลายคนที่เติบโตคู่กันมากับเมืองชายแดนริมน้ำโขงในอดีตเริ่มคุ้นเคยกับภาพเช่นนี้

 

ภาพอันชัดเจนอยู่ในดวงตาเฒ่าชรากลางตลาดเก่า ในร้านกาแฟเล็กๆ ของเมืองแห่งหนึ่ง อาจเป็นบนเรือช้าที่มุ่งสู่จุดหมายไกลแสนไกล ซ่อนอยู่ตามถนนคดโค้งกระจ่างวิวหมอก บนโต๊ะไม้ริมน้ำโขงที่ประดับด้วยเค้กสักชิ้น หรือในเรี่ยวแรงเล็กๆ ที่กลับสู่ฝั่งเมื่อสิ้นวัน

 

ใช่เพียงเรา เขาหรือว่าใคร หากเหล่านั้นคือที่อยู่ของความสุข

 

เราต่างพร้อมเลือกและเชื่อในสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องเสียเวลามาหาคำอธิบาย

ความสุขของคนเราไม่เท่ากัน