ชีวิตในชั้นหิน

ชีวิตในชั้นหิน

ลึกลงไปในชั้นหินและวงรอบของกาลเวลา เมื่อโลกก่อเกิดยาวนานกว่า 4,600 ล้านปี ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงและทดสอบจากธรรมชาติต่างๆ นานา จนใต้แผ่นผืนที่เราเหยียบยืนนั้นเต็มแน่นอยู่ด้วยเศษเสี้ยวเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตจากยุคดึกดำบรรพ์อันกระจัดกระจาย

 

บางชิ้นบ่งบอกได้ว่าโลกที่ห่อหุ้มพวกเขาอยู่หน้าตาเป็นอย่างไร ขณะที่หลายชิ้นก็เติมต่อจินตนาการของผู้เดินตามอย่างมนุษย์สองขาอย่างเราๆ ให้พอจะทำความเข้าใจกับอดีตอันเร้นลับ

 

อาจยังไม่ทั้งหมด แต่ก็เพียงพอจะทำให้รู้ว่าแผ่นดินไม่ได้มีแต่หนทางของเราแต่เพียงผู้เดียว

 

ยามบ่ายของเส้นทางสายอีสานแถบอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ในวันกลางสัปดาห์ค่อนข้างเงียบเชียบ ข้าวที่ปักกล้ามาหลายเดือนเริ่มกลายเป็นพรมผืนสีเขียวทอดกว้างยาวไกล ยอดภูกุ้มข้าวปรากฏสัณฐานชัดเจนเมื่อเราเบนหัวรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าสู่ความร่มรื่นของวัดป่าสักกะวัน

 

จะว่าไปพื้นที่แถบภูกุ้มข้าวนี้ก็คงเหมือนกับพื้นที่แถบอีสานรอบนอกเมืองใหญ่อื่นๆ คือเป็นแผ่นดินอันอุดมของชาวบ้านยามฝนมาเยือน ล้อมรอบอยู่ด้วยความร่มรื่นเรียบง่ายของป่าเขา เหมาะยิ่งสำหรับการบำเพ็ญเพียรของอริยสงฆ์สักรูปผู้ต้องการศึกษาตัวตนภายใน

 

แต่มากไปกว่านั้น ลึกลงไปในเนื้อดินเนื้อหิน ผ่านการผุพังทับซ้อนทางธรรมชาติ ในที่นาเชิงภูผืนเดียวกันกับที่ใครสักคนเคยหว่านกล้าหรือขึ้นไปหาของป่าข้างบนเทือกเขา ย้อนกลับไปกว่า 220 ล้านปี ผืนดินและชั้นหินเหล่านี้เคยเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในมหายุคพาลีโอโซอิกอย่างไดโนเสาร์ ก่อนการเกิดมาของมนุษย์สองขามีหยักสมองนับร้อยล้านปี

 

อาคารสองชั้นเล่นระดับตัดเรียบลดทอนรายละเอียดภายนอก สีคล้ายหินทรายแดงอันสื่อถึงกลุ่มหินโคราชของพิพิธภัณฑ์สิรินธรวางตัวเด่นอยู่ตีนภูกุ้มข้าว รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนท้องถิ่นตัวเล็กๆ เพิ่งมาถึง กลุ่มเด็กๆ กรูกันลงมาจัดแถวยุกยิก ก่อนที่เราจะแทรกตัวเป็นเด็กโข่งเดินเข้าสู่ความทันสมัยในงานนิทรรศการภายใน

 

ไม่เฉพาะในสายตาของเด็ก แต่กับผู้ใหญ่อย่างผม ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ก็เหมือนมิติเวลาย้อนยุคอันละเอียดลึกซึ้ง เต็มไปด้วยปริศนาและความไม่เข้าใจอันน่าทึ่งของสิ่งที่เรียกว่าโลกและวิวัฒนาการ สยามโมไรทันนัส อิสานเอนซิส ไดโนเสาร์กินเนื้อตัวเขื่องอุ่นแสงเหลืองดึงดูดให้หลายคนเดินเข้าไปจ้องมอง ก่อนจะหลุบเข้าไปในโพรงคล้ายอุโมงค์กาลเวลา เผยการก่อเกิดอันพิศวงของโลกให้รับรู้

 

“นักบรรพชีวินสนใจแตกต่างกันไปค่ะ ศึกษาคนละเรื่องแต่เอามารวมกัน” ผมเดินคู่ไปกันกับคุณพรรณิภา แซ่เทียน นักบรรพชีวินสาวจากบุรีรัมย์ เธอสนใจในชีวิตเล็กๆ อย่างปะการังซึ่งเริ่มปรากฏหลักฐานขึ้นบนโลกในยุคออร์โดวิเชียน ราว 505-438 ล้านปีมาแล้ว สมัยที่ทะเลยังกลืนกินแผ่นดินอีสาน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตกทอดเป็นซากดึกดำบรรพ์อยู่ในเนื้อหินเช่นเดียวกับอีกหลายสายพันธุ์ในยุคต่อๆ มา

 

หากเราจะเติมความมีชีวิตให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โลกน่าจะเป็นผู้มาก่อน

 

ทางเดินวนเวียนในความมืดของพิพิธภัณฑ์สิรินธรเผยให้เราเห็นการพัฒนาการของดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกอย่างน่ารื่นรมย์ จากมหายุคพรีแคมเบรียนซึ่งกินเวลายาวนานหลายพันล้านปี สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หนอน และฟองน้ำเริ่มเกิดก่อ ต่อยอดผ่านมหายุคพาลีโอโซอิกที่ทะเลเริ่มสร้างความอัศจรรย์ของชีวิต ปลาและพืชโบราณ ตลอดจนแมลงและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเริ่มหยัดยืนชีวิต

 

“จนมหายุคมีโซโซอิกนี่ล่ะค่ะที่ความหลากหลายของภูมิประเทศเริ่มมีมาก ก่อเกิดทั้งพืชและสัตว์ ไดโนเสาร์ก็เริ่มมีมากในมหายุคนี้” ราวกับย้อนกลับไปเลกเชอร์ในห้องเรียนภูมิศาสตร์ สำหรับคนที่เคยอ่านแต่นิยายอย่างผม เรื่องบางเรื่องก็ยิ่งใหญ่เกินจดจำ

 

แต่ก็คล้ายการหยิบแรงบันดาลใจยามเด็กออกมาโลดแล่น เมื่อรู้ว่าไดโนเสาร์ต่างก็ย่ำเดินกันในมหายุคนี้

 

ผ่านโครงกระดูกไดโนเสาร์จำลองตัวขนาดยักษ์ เด็กๆ เดินนำไปถึงยุคย่อยในมหายุคมีโซโซอิกที่เรียงต่อกัน อันได้แก่ ไทรแอสสิก จูแรสสิก และครีเตเชียส ก็คล้ายโลกในการ์ตูนตอนเด็กออกมาให้เห็นให้เข้าใจกันตรงหน้าให้เห็นให้เข้าใจว่าในอดีตเม็ดดินเนื้อหิน และผืนทะเลแทบทั้งโลกนั้นไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไรนัก

 

ก่อนที่โลกจะแยกออกเป็นทวีปชัดเจนด้วยการเคลื่อนตัว ยุบตัว และยกตัวของเปลือกโลกอย่างทุกวันนี้ แผ่นดินอีสานที่เคยเป็นที่ราบลุ่มน้ำขนาดใหญ่ก็ได้เป็นบ้านของไดโนเสาร์มายาวนาน ยิ่งเมื่อผ่านยุคจูแรสสิกอันเป็นยุคทองของไดโนเสาร์ แผ่นดินก็ได้รองรับความหลากหลายทางชนิดพันธุ์มากขึ้น ทั้งซอโรพอดที่กินพืชและเทอราพอดที่กินเนื้อ จนเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ปลายยุค
ครีเตเชียสก็คล้ายจุดเฟื่องฟูนั้นจะแตกดับ

 

“อากาศในยุคนั้นอบอุ่นมากขึ้น สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ก็เฟื่องฟูหลากหลาย อยู่รวมกันเป็นฝูงนี่ล่ะ เวลาตายก็ตายเป็นฝูง ยิ่งอีสานในช่วงนั้นมากมายไปด้วยแม่น้ำคดเคี้ยวไปมา เมื่อเกิดบิ๊กแบงพวกที่หากินอยู่ริมน้ำก็ตายก่อนตกทอดเป็นซาก
ดึกดำบรรพ์อยู่ในชั้นตะกอน”

 

เธอพูดอย่างยาวๆ แต่นั่นคือที่มาของการหลับใหลของไดโนเสาร์มาอีกหลายร้อยล้านปี

 

แยกกันไปตามความสนใจในแต่ละสื่อแสดงอันทันสมัย นอกจากโครงกระดูกและหุ่นจำลองพันธุ์เด่นๆ อย่างภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน สยามโมซอรัสสุธีธรนิ หรือสยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ที่ดูจะดึงดูดเด็กๆ ด้วยหน้าตาที่แตกต่างตามประเภทการหากินแล้ว สื่อ 3 มิติที่บ่งบอกว่าพวกเขาอยู่ร่วมกันอย่างไรก็น่าสนใจไม่แตกต่าง

 

จอเล็กๆ เจ็ดแปดจอนั้นคล้ายภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง บอกว่าพวกเขาหากินอย่างไร ไล่ล่ากันและกันอย่างไร รวมถึงถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติแบบไหน

 

เดินออกจากอาคารพิพิธภัณฑ์ฯ ด้วยหัวใจอุ่นๆ แต่หลุมขุดค้นข้างบนภูกุ้มข้าวนั้นยิ่งเปิดจินตนาการของเด็กในคราบผู้ใหญ่อย่างผมให้วิ่งวุ่น

 

กลางแสงไฟดาวน์ไลท์ที่ตกทอดลงบนโครงกระดูกขนาดใหญ่ในชั้นหินเสาขัว ซึ่งเมื่อมองเทียบกับภาพจำลองตรงหน้าก็จะเห็นว่าเจ้าของโครงนั้นนอนคว่ำตวัดหางพาดขึ้นมาถึงขาหน้าขวา “นี่คือภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเนที่สมบูรณ์ที่สุดที่ค้นพบในเมืองไทยค่ะชัดเจนมาก ในหลุมนี้มีอยู่ 6 ตัว เป็นกินพืช 2 ชนิด”

 

กระดูกกว่า 800 ชิ้นที่ขุดพบมีการซ้ำกันในแต่ละอวัยวะบอกได้ถึงจำนวนตัว บ้างก็มีฟันของพวกกินเนื้ออย่างสยามโมซอรัส สุธีธรนิ และสยามโมไรทันนัส อิสานเอนซิส “พวกกินพืชน่าจะหากินรวมฝูงอยู่ แล้วเจ้าตัวกินเนื้อก็ตามเข้ามาล่า” เธอปิดท้ายเป็นฉากแอ็คชั่นด้วยจินตนาการทำให้ภาพหลายร้อยล้านปีนั้นเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้า

 

ยามเย็นมาถึง ผมก็ออกมาเดินเล่นตามสวนหย่อมที่ตกแต่งเป็นไดโนเสาร์จำลองหลากหลายชนิดรอบพิพิธภัณฑ์ฯ ขบวนเด็กๆกลับไปแล้ว เจ้าของแผงร้านค้าข้างหน้าลงจากภูกลับไปที่ตัวอำเภอ

 

ประตูอาคารปิดลงพร้อมกับฟ้าเย็นในหน้าฝนเจือแสงสุดท้ายอู่ที่ภูกุ้มข้าว

 

นึกถึงประโยคที่ติดไว้ตอนทางเข้าพิพิธภัณฑ์ฯ ที่ว่า ผู้อยู่รอดคือผู้รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด

 

ลึกลงไปใต้ชั้นหินคาดว่ายังมีซากดึกดำบรรพ์นอนนิ่งกระจัดกระจายอยู่อีกมากมาย รอการขุดค้นและส่งต่อเรื่องราวจากผู้ที่จดจ่ออยู่กับเนื้อหินไปสู่ผู้คนหลายหลายภายนอก

 

กับบางชีวิต การอยู่รอดอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญ แค่รู้ว่าการล้มลงอาจเกิดก่อบางสิ่งบางอย่างขึ้นกับอีกหลายชีวิต เท่านั้นก็อาจหมายความว่าหัวใจยังอยู่

 

เช้ารุ่งขึ้น จากภูกุ้มข้าว เราย้อนกาฬสินธุ์กลับสู่เมืองใหญ่ของอีสานอย่างขอนแก่น เลือกทางหลวงหมายเลข 12 ออกไปทางอำเภอหนองเรือ จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 2038 เพื่อกลับไปหาเรื่องราวในเนื้อหินท่ามกลางเมฆฝนทะมึนผืนใหญ่อับปกคลุมเมื่อเราแอบรถกระบะสีฟ้าเข้าที่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

 

แม้จะค่อนข้างเงียบเหงาเพราะฝนทำหน้าที่ตามฤดูกาลเพาะปลูก แต่เรื่องราวภายในอาคารจัดแสดงยังคงเล่าเรื่องราวของไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน และภาพรวมอีกหลากหลายเอาไว้ได้อย่างลงตัว

 

แม้ภูเวียงโกซอรัสฯ ที่ภูกุ้มข้าวจะสมบูรณ์ที่สุด แผ่นผืนภูเขาของภูเวียงต่างหากที่มีการค้นพบเจ้าของกระดูกที่หลับใหลอยู่ใต้พิภพนี้มาก่อนหลายสิบปี

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพิพิธภัณฑ์จะมีชีวิตเสมอเมื่อเคลื่อนไหวไปด้วยผู้เข้ามาเยี่ยมชม เช่นนั้นเองที่ยามบ่ายหลังฝนของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเต็มไปด้วยบรรยากาศครอบครัว ทั้งจากท้องที่ใกล้เคียงและที่ลงมาจากรถยนต์ทะเบียนต่างถิ่น

 

ข้างในไม่ได้ซับซ้อนถึงกับมึนงงในเรื่องราวการก่อเกิดโลก และโครงกระดูกหรือหุ่นจำลองตัวไดโนเสาร์ก็อยู่ใกล้เสียจนเด็กๆเข้าไปมีส่วนในเฟรมถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิด

 

ทางเดินพาเวียนขึ้นไปที่ชั้นสอง มองลงมาเห็นโครงกระดูกลดทอนรายละเอียดเป็นเหมือนหุ่นยนต์เหล็กของเล่นสมัยเด็ก ช่างภาพเลือกมุมจากข้างบนโดยมีเด็กหนุ่มจากหนองบัวลำภูยิ้มร่าอยู่ข้างล่าง

 

ห้องจำลองบรรยากาศโลกยุคดึกดำบรรพ์เป็นภาพคุ้นตาสู่ภายนอกของภูเวียง ทางเดินไม้นำเด็กๆ เข้าไปก่อน เวียนไปตามไดโนเสาร์หลากหลายชนิดที่จำลองอยู่ในบรรยากาศป่าโบราณ นอกจากภูเวียงโกซอรัสฯ แล้วตัวที่โดดเด่นไม่แพ้กันในห้องนี้เห็นจะเป็นสยามโมซอรัส สุธีธรนิ ที่ยื่นปากแบนๆ แหลมๆ คล้ายจระเข้ลงมาจนแลดูใกล้ เด็กตัวเล็กในอ้อมกอดแม่ร้องไห้จ้าปล่อยให้พี่ชายยืนหัวเราะอยู่ข้างๆ

 

สยามโมซอรัสฯ จัดเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่ค้นพบในไทย โดยชิ้นส่วนฟันทรงกรวยที่มีแนวร่องและสันเรียงสลับกันและแตกต่างไปจากเทอโรพอดทั่วไปนี่เอง ที่ทำให้ ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาผู้มีส่วนสำคัญในการค้นพบและค้นคว้าจนได้รับการตั้งชื่อให้เป็นเกียรติให้ความเห็นว่า สยามโมซอรัสฯ น่าจะกินปลาเป็นอาหาร

 

สังคมนักล่ายุคครีเตเชียสในห้องเล็กๆ ยังคงสร้างความตื่นตา สยามไทรันนัส อิสานเอนซิสยืน 2 ขาทรงพลัง อ้าปากโชว์ฟันแหลมคมเหมือนใบมีดเรียงราย ลักษณะกระดูกซึ่งค้นพบที่ภูเวียงนี้บ่งบอกว่านักล่าตัวนี้เป็นบรรพบุรุษของทีเรกซ์ ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่ติดตาคนทั่วไปมากที่สุด

 

ความเก่าแก่จากห้องนิทรรศการจุดประกายจินตนาการได้เท่าไร ข้างบนอุทยานแห่งชาติภูเวียงซึ่งขณะนี้ร้อนเร่าไปด้วยแดดจัดหลังฝน เมื่อเราลงจากรถและเดินเลาะขึ้นไปตามสันเขา เข้าไปตามหลุมขุดค้นต่างๆ ที่เรียงรายอยู่ตามเทือกภู อย่างภูประตูตีหมาถ้ำเจีย โนนสาวเอ้ หินลาดป่าชาด หินลาดยาว ฯลฯ ชิ้นกระดูกส่วนต่างๆ ก็สงบนิ่งผ่านกาลเวลาอยู่ในนั้น

 

แต่ละหลุมไม่เพียงบอกสายพันธุ์ แต่ยังปรากฏเรื่องราว อย่างโนนสาวเอ้ก็เห็นฟอสซิลซอโรพอดขนาดใหญ่และชิ้นส่วนของวัยอ่อนตกหล่นทับซ้อนในชั้นหินอยู่เคียงข้างกัน ซึ่งน่าจะเป็นแม่ลูกที่กำลังเดินท่อมๆ หากินอยู่อย่างสบายอารมณ์

 

การมาถึงของตัวกินเนื้อใหญ่ๆ สัก 1 ตัวก็ทำให้ภาพตรงขณะนั้นน่าจะวุ่นวายโกลาหล ที่หลุมขุดค้นหินลาดป่าชาด รอยตีนไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ 1 รอย ปะปนอยู่ในรอยตีนของไดโนเสาร์ขนาดเล็กๆ ที่เดินวิ่งกันวุ่น

 

เราลงจากภูเวียงมาด้วยฉากในจินตนาการหลากหลายตามแต่ร่องรอยที่ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวทิ้งไว้ให้ในชั้นหิน ร่องรอยที่พบเห็นเมื่อใดก็เต็มไปด้วยปริศนา ชวนให้ใครสักคนเดินตามแกะรอยไปเรียนรู้

 

หลายครั้งเค้ารางก็ชัดเจนมากขึ้น นำพาให้เราไปต่อ และอาจบ่อยครั้งที่ปริศนาก็คลี่คลายออกมาเป็นความว่างเปล่า

 

เหลือเพียงแต่ความเป็นจริงตรงหน้าที่เราต้องยอมรับไม่ว่ามันจะผ่านมากี่ร้อยล้านปีก็ตาม  

 

How to Go? 

จากกรุงเทพฯ มุ่งสู่แผ่นดินอีสาน บ้านไดโนเสาร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) เมื่อถึงสระบุรีเลือกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านเมืองนครราชสีมา มุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นไปแยกขวาที่อำเภอบ้านไผ่ ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอบรบือ เข้าเขตมหาสารคาม แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 209 (มหาสารคาม-กาฬสินธุ์)  เมื่อถึงกาฬสินธุ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 227 สู่อำเภอสหัสขันธ์ แยกขวาเข้าพิพิธภัณฑ์สิรินธร ภูกุ้มข้าว ที่ทางเข้าวัดป่าสักกะวันทางขวามือ ชมการจัดแสดงทางธรณีวิทยาและบรรพชีวินที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย

 

จากกาฬสินธุ์ใช้ทางหลวงหมายเลข 213 กลับสู่ขอนแก่น จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอบ้านฝาง เมื่อถึงแยกอำเภอหนองเรือ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2038 มุ่งสู่อำเภอภูเวียง ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และหลุมขุดค้นต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง เยี่ยมบ้านของภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์ซอโรพอดกินพืชตัวแรกที่ขุดค้นพบในผืนแผ่นดินอีสาน

บนพลาญหินแห้งน้ำตอนต้นของลำห้วยผึ้ง