สุโขทัย

สุโขทัย

ห้วงนาทีเหล่านั้น ชีวิตรายรอบก็เหมือนจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับผืนดินที่โอบอุ้มพวกเขาอยู่

 

กว่า 700 ปี ที่พื้นแผ่นดินริมลุ่มน้ำยมเก็บซ่อนเศษซากความรุ่งเรืองของเมืองและเรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตอยู่กับมันไว้ข้างล่าง ในที่นาสักแปลง หรือแม้แต่หนองน้ำสักแห่ง จนเมื่อความรู้สึกอยากรู้ของคนยุคถัดมาอย่างเราๆ ทำให้บ้านเมืองเหล่านั้นกลับเสียดตั้งทะลุวันเวลาขึ้นมาอีกครั้ง รูปทรงลวดลายของเจดีย์ตลอดจนงานปั้นเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย และความงดงาม เครื่องสังคโลกที่ขุดค้นขึ้นมาจากปลักโคลนและเตาเผาโบราณกลายเป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและการติดต่อกับสังคมภายนอกของพวกเขา

 

พวกเขา-คนที่มีส่วนทำให้เราหยัดยืนอยู่บนดินเดียวกันในวันนี้

 

เหนือเลยไปกว่าเรื่องราวของวันเวลา ความน่าตื่นตาในกลุ่มก้อนอารยธรรมที่ปรากฏ ผู้คนที่ลืมตาก้าวเดินอยู่กับสิ่งตกทอดเหล่านั้นใช้หัวใจชนิดไหนต่อยอดชีวิตให้ดำรง

 

คล้ายผมจะพบคำตอบของประโยคที่ผ่านในดวงตาและคำพูดจาของหลายคนที่ยิ้ม หัวเราะ และใช้ชีวิตหายใจอยู่รายรอบซากอิฐซากปูนเหล่านั้น

 

สายๆ ของวันธรรมดาที่มาถึงเขตเมืองเก่าสุโขทัย ร้านรวงเงียบเชียบ จักรยานเช่าหลายร้อยคันของร้านใหญ่หน้าอุทยานฯ จอดเรียงรายเกาะพราวด้วยเม็ดฝน สองแถวไม้หน้าตามีเอกลักษณ์เพิ่งส่งคนเมืองเก่าและนักท่องเที่ยวฝรั่งสามสี่คนลงมายืนรวมหลบฝนกันหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อย่างไม่พูดจา คนพื้นถิ่นกางร่มเดินข้ามเข้าสู่บ้านในชุมชนตรงข้ามอุทยานฯ ขณะผู้มาเยือนผมทองหันรีหันขวาง กางแผนที่ย่อยๆ ในมือ ก่อนที่จะใช้เพิงกาแฟเล็กๆ เป็นที่ตั้งหลัก

 

ความไม่คึกคักจอแจยามฝนเยือนดูจะเข้ากันไม่น้อยกับเรื่องราวและบรรยากาศเงียบๆ ภายในเขตอุทยานฯ เมื่อฝนหยุด ยอดเจดีย์มากมายที่เรียงรายโผล่พ้นแนวไม้ภายในเขตชั้นในก็ดึงดูดให้หลายคนรวมถึงเราเดินเตาะแตะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรุ่งอรุณแห่งความสุข ตามความหมายของชื่อเมืองสุโขทัย

 

แม้จะไม่สันทัดในเรื่องประเภทและความสำคัญของแต่ละรายละเอียด แต่ความงดงามอ่อนช้อย รวมไปถึงลวดลายปูนปั้นและความสมบูรณ์หลังการบูรณะของวัดมหาธาตุ ก็ทำเอาคนรุ่นหลังหลายร้อยปีอย่างเราๆ ต้องแหงนมองเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์คอตั้งบ่า จดสายตาและย่ำเท้าไปแทบทุกรายละเอียด

 

ซากเจดีย์ต่างแบบต่างสมัยของวัดมหาธาตุบอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่อเติมตลอดที่สุโขทัยรุ่งเรืองเป็นนครสำคัญบนลุ่มน้ำยมช่างภาพสนใจปูนปั้นรูปพระสาวกตามรอบฐาน ส่วนผมแยกออกมานั่งมองพระพุทธรูปปางมารวิชัยในวิหารร้างขนาดเล็กทางทิศเหนือที่เป็นภาพติดตาสมัยหัดเรียนวาดเขียนยามประถม

 

คล้ายแง่มุมและความสนใจส่วนตัวจะปรากฏในความเงียบ เท่าที่รู้สึกเวลาเข้ามายังเขตโบราณสถาน แต่ละคนเหมือนถูกเสน่ห์อันอ่อนช้อยในรอยอิฐดึงให้ตรึงตราแทบจะไร้คำพูดคุย ปรางค์สามยอดลักษณะอิทธิพลศิลปะขอมของวัดศรีสวายโดดเด่นอยู่หลังคูน้ำที่ล้อมรอบปรางค์ ลายปูนปั้นรูปครุฑและเทวดาที่กลีบขนุนของปรางค์องค์ซ้ายละเอียดอ่อนไม่แพ้ลายปูนปั้นซุ้มเรือนแก้วของปรางค์องค์กลาง

 

นอกเหนือจากทั้งสองวัด ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ชั้นในยังเรียงรายหย่อมโบราณสถานไว้ตามจุดต่างๆ อย่างวัดตระพังเงินโดดเด่นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมอยู่ทางทิศตะวันตกของตระพังหรือสระน้ำตาม วัดสระศรีที่เจดีย์ทรงลังกาตระหง่านอยู่กลางสระใหญ่กลางเมือง ที่เมื่อเราข้ามสะพานไม้เล็กๆ เข้ายืนจึงได้เห็นว่า ด้านหน้าองค์เจดีย์มีวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยไว้อย่างสวยงาม

 

ตระพังหรือบ่อน้ำคูน้ำมากมายภายในเขตเมืองนี้เอง ที่เป็นสิ่งสะท้อนกายภาพของเมืองสุโขทัยที่ยังหลงเหลือให้เห็นถึงความโดดเด่นของการวางผังและการจัดระบบชลประทานในอดีตกาลนับร้อยปี ตระพังกักเก็บน้ำจากทางน้ำที่หลั่งไหลมาจากเขาหลวง เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในอดีตทั้งการใช้และการเพาะปลูก

 

ความเป็นชุมชนของคนในอดีตกาลไม่เพียงอัดแน่นอยู่แต่ในเขตกำแพงเมือง ภายนอกกำแพงรายรอบทั้งสี่ทิศก็ทิ้งเรื่องราวการก่อตั้งเมืองไว้ในวัดต่างๆ อย่างวัดพระพายหลวงทางทิศเหนือ ที่เมื่อเราไปถึงพร้อมฟ้าขมุกขมัวแต่เสน่ห์ไม่เลือนจางตกหล่น ลายปูนปั้นตามหน้าบัน ฐานเจดีย์น่าตื่นตาเมื่อเดินเข้าไปโฟกัสใกล้ๆ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางชุมชนยุคแรกของสุโขทัย ที่ปะปนศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน เอาไว้ที่องค์ปรางค์ ต่อมาเมื่อถูกเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาทก็ได้มีการสร้างเจดีย์และพระสี่อิริยาบถอันเป็นสิ่งสะท้อนสกุลช่างสุโขทัยเพิ่มเติมต่อมาทางทิศตะวันออก

 

เลียบเลาะไปทางทิศเหนือของเมือง ระหว่างเดินลอดผนังมณฑปเข้าไปยืนมองความยิ่งใหญ่ของพระอจนะแห่งวัดศรีชุม ที่ทางซ้ายมีช่องทางเดินขึ้นไปสู่ยอดมณฑปแต่ถูกปิดตายไปแล้ว เสียงหนึ่งก็ดังขึ้นข้างหลัง

 

“ที่นี่พบจารึกหลักที่ 2” เสียงออด พ่วงแผนกังวานชัดตามสไตล์คนโบราณ เขาว่าถึงจารึกวัดศรีชุมอันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเรื่องราวของเมืองสุโขทัยยุคก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์

 

ภาพเก่าๆ ครั้งซากอิฐปูนเกลื่อนกล่นพังทลายในสายตาคนเก่าก่อน สมัยที่ตระพังเป็นที่เล่นน้ำตูมๆ ของเด็กซนอย่างออด และในปลักเลนรอบบ้านซุกซ่อนอยู่ด้วยเครื่องถ้วยชามสังคโลก ถูกฉายให้เห็นที่หน้าวัดศรีชุม ก่อนที่ผมจะขับรถย้อนตามมอเตอร์ไซค์ป๊อบคันเล็กตามเขาออกมาสู่อาณาจักรแห่งหนึ่ง

 

“นี่อาณาจักรพ่อกู” อย่างโผงผางตามบุคลิก เขาว่าถึงชื่อศูนย์ปั้นเครื่องสังคโลกของเขา ที่เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็ต้องตื่นตากับมิวเซียมเล็กๆ ซึ่งสะท้อนทั้งความเชื่อ ศรัทธา และภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าอันส่งต่อมาถึงคนรุ่นหลังอีกเกือบ 700 ปีอย่างน่าดูน่าชม

 

อันที่จริงผมเห็นช่างปั้นเก่าแก่คนนี้ตั้งแต่เมื่อคืนที่ร้านอาหารตามสั่ง ออดซ่อนภาพคนบุกเบิกงานปั้นเครื่องสังคโลกตามแบบโบราณคนแรกๆ เอาไว้ในบุคลิกปอนๆ พร้อมเบียร์กระป๋องในมือ คล้ายจอมยุทธ์นิรนามร่ำสุราดูโลกรายรอบอยู่ในโรงเตี๊ยม

 

เรารู้จักกันก็ต่อเมื่อผมไปถามหาช่างปั้นโบราณครั้งที่เคยมาเยือนอาณาจักรพ่อกูเมื่อเกือบ 7 ปีก่อน ออดในครั้งนั้นเต็มไปด้วยแรงมุ่งมั่น เปล่งประกายในเนื้องานพอๆ กันกับความคึกคักของนักท่องเที่ยวที่โหมเข้ามาสู่เมืองเก่าของสุโขทัย

 

“มันซบลงไปเยอะ คนใหม่ๆ ว่าไปงานก็หยาบ เขาทำตามแบบสั่งกันเป็นหลัก ตัดราคากันเองให้ถูก” ใช่ว่าออดจะไม่ทำงานออร์เดอร์เลย แต่สิ่งที่หล่อหลอมให้งานสังคโลกสุโขทัยเป็นที่รู้จักนั้นเป็นผลพวงมาจากสิ่งตกทอดที่อยู่ใต้ดินที่คนรุ่นออดรู้จักและภูมิใจมาตั้งแต่เด็ก

 

เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งชนิดนี้หลากหลายไปด้วยรูปแบบการใช้ ทั้งจาน ชาม หม้อ กระปุก ตลับ กาน้ำ ตุ๊กตา ซึ่งล้วนถูกผลิตขึ้นจนเป็นสินค้าส่งออกของบ้านเมืองในสมัยที่กรุงสุโขทัยได้ติดต่อกับจีน “กรรมวิธีผลิตแบบเคลือบก็มาจากจีนนั่นล่ะ” ออดเล่าพลางหยิบจานโบราณที่มีลายปลาว่ายเวียนมาให้ชม “ชิ้นนี้จมอยู่ในหนองหลังบ้าน”

 

มันน่าตื่นตาไม่น้อยหากนึกไปถึงอดีต ที่ว่าในหนองน้ำ เนินดิน หรือที่นาของหลายต่อหลายคน เมื่อขุดลงไปไม่มากเป็นต้องเจอเอากับเครื่องสังคโลก ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ก็ตามแต่ความสำคัญของชุมชนโบราณ “ตรงไหนขุดเจอเตาทุเรียงนะ โอ้ย หลายแบบลานตา” เตาทุเรียงคือเตาเผาเครื่องสังคโลกโบราณที่มักถูกขุดค้นพบมากมายทั้งเล็กใหญ่ตามจุดต่างๆ ในเมืองเก่า

 

จริงๆ แล้วเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัยมีจุดผลิตใหญ่อยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย หรือ เมืองเชลียง อันเป็นเมืองที่เติบโตและมีพัฒนาการมาควบคู่กันตลอดช่วงประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี ยิ่งเมื่อเข้าสู่สมัยอยุธยา เมืองศรีสัชนาลัยถูกเรียกกันในชื่อสวรรคโลกที่มาของคำว่าสังคโลกก็มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากการเรียกชื่อเมืองที่ผลิต “บ้างก็เรียกซ้องโกลก” ออดว่าในภาษาจีนที่หมายถึงเตาแผ่นดินซ้อง หมายถึงการผลิตเครื่องสังคโลกที่สัมพันธ์กับการรับอิทธิพลจากจีน “ช่วงนั้นสังคโลกสุโขทัยศรีสัชนาลัยส่งออกเป็นสินค้าทางทะเลรุ่งเรืองกันสุดๆ” ช่วงที่เขาบอกน่าจะราวพุทธศตวรรษที่ 21

 

ถึงแม้จะอยากให้คนเห็นถึงเรื่องราวของสิ่งตกทอดเท่าๆ กับการได้เลือกซื้อสังคโลกแบบโบราณกลับไปสักชิ้น แต่เอาเข้าจริงๆเงื่อนไขบางอย่างกลับทำให้การหมุนของโลกปัจจุบันนั้นรุนแรงทรงพลังกว่าความวิจิตรน่าทึ่งของคุณค่าใต้แผ่นดินไม่น้อย “แรกๆเราก็เริ่มสอนงานเก่าล่ะ แต่พอนานๆ ไปกลับเป็นงานประยุกต์ที่ขายดี” เช่นนั้นเองเราจึงเห็นเครื่องปั้นที่ใช้ลายแบบดั้งเดิมแต่รูปทรงกลับเป็นเครื่องใช้สักอย่าง จานแบนแบบฝรั่ง ถ้วยซุป หนักเข้าก็เป็นที่เขี่ยบุหรี่ “อันหลังนี่ผมรับไม่ได้” เขาหัวเราะท้ายๆประโยค ทั้งที่ความเป็นจริงมันก็เกลื่อนไปทั่ว

 

ถึงแม้จะเปลี่ยนแปรรูปทรงไปสักเท่าไร แต่ถามเข้าจริงๆ ออดว่ากลับยิ้มอยู่คนเดียวทุกครั้งที่ได้ปั้นจานสังคโลกแบบโบราณเล่นๆแม้จะไม่ได้ส่งไปขายก็ตาม “คุณดูชิ้นนี้ ปลาสองตัวไล่กัน รอบนอกเป็นลายดอกเครือวัลย์ พืชพรรณทั้งนั้น นี่มันโลกอุดมคติ”

 

เขาหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในอดีตหลายร้อยปีที่ตัวเองก็ไม่เคยมองเห็น

 

แต่ลึกๆ แล้วหากมีหัวใจเดียวกัน สิ่งตรงหน้าก็ดึงสร้างภาพที่ไม่เคยเห็นออกมาได้

 

เราเดินตามออดไปรอบๆ อาณาจักรพ่อกู ชิ้นงานใหม่ๆ ร่วมสมัยอย่างงานตกแต่งสวนหรือหัวเสาถูกแยกออกจากงานสังคโลกโบราณค่อนข้างชัดเจน ลูกศิษย์วัยรุ่นสามสี่คนง่วนอยู่กับงานใหญ่ที่จะส่งไปติดตั้งสนามบินของสายการบินเอกชนแห่งหนึ่ง “กว่าจะให้เด็กๆ ปั้นงานใหญ่พวกเขาต้องรู้จักของเก่าครบ ทั้งรูปทรง ลวดลาย ไปจนถึงการเผา” หยิบแจกันโบราณออกมาวางในมือให้คนรับหวาดเสียวเล่น แล้วเขาก็หัวเราะพร้อมคำพูดลึกซึ้ง “ของบรรพบุรุษเรามีสิทธิ์จับอย่างเท่าเทียมล่ะ เอาใจจับนะ” แจกันเล็กๆคร่ำดินดูมีค่าไม่ต่างจากชิ้นโตๆ ขึ้นมาทันที

 

ผมพบกับใครอีกคนที่หน้าอาณาจักรพ่อกู นานเท่าน้ำในกาเดือดพล่านเราก็ก้าวมาสู่บ้านร้องตะเพ็ด ลึกเข้ามาในซอยข้างมินิมาร์ทชื่อดัง บุคลิกเรียบง่ายแท้ๆ ของคนเมืองเก่าก็ชัดเจนรายรอบ

 

หน้าบ้านแถบต้นๆ ซอยเรียงอยู่ด้วยร้านขายของที่ระลึกจากไม้สักหลายชนิดอย่างนกชุดไล่ขนาดใหญ่เล็ก มือไวน์ หรือที่วางขวดไวน์ดีไซน์เก๋ แต่หลังบ้านแทบทุกหลังเต็มไปด้วยภาพที่เรี่ยวแรงชัดเจนที่หากินอยู่กับงานไม้

 

“ไม้น่ะหมดไป แต่คนบ้านนี้ไม่เคยหยุดหรอก” ยายห้อง เมฆพัฒน์ ชูปลาใบโพธิ์ที่เป็นหนึ่งในงานไม้เก่าแก่ของคนแถบเมืองเก่าให้ผมในบ่ายต่อมา เราพบกันจากการแนะนำของช่างปั้นจากอาณาจักรพ่อกู หลังจากเดินตามแกเข้ามาไม่นาน โลกภายนอกถนนก็เหมือนจะห่างไกลจากหมู่บ้านแห่งนี้

 

ไม่นับสังคโลกที่อยู่คู่สุโขทัยมายาวนาน งานไม้สักฝีมือดีก็เป็นสิ่งที่คนภายนอกมักนึกถึงเมื่อมาเยือนแถบเมืองเก่า ด้วยแต่เดิมก่อนที่จะมีการปิดป่า ไม้สักหลากหลายขนาดได้ทยอยกันลงมาถึงเมืองที่ราบริมน้ำยมแห่งนี้ “ชิ้นใหญ่ ๆ ทำโต๊ะเก้าอี้ พวกตอหรือชิ้นเล็กๆ ก็อย่างที่เห็นนี่ล่ะ เป็นปลา เป็นนก” ไม่เฉพาะบ้านยายห้องที่ทำแต่ปลาใบโพธิ์ แต่อีกหลายบ้านก็เลือกชิ้นงานอย่างนกชุดหรือนกคุ้มที่คนมักซื้อไปด้วยความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล คุ้มบ้านคุ้มเรือนแก่เจ้าของ

 

ไม่นับไม้สักทองเมืองสุโขทัยที่ห่างหายไปจากมือคนเมืองเก่ามาเนิ่นนาน ทุกวันนี้ตอไม้ที่เหลือจากการตัดไม้จากแหล่งอื่น ๆแปรรูปกันมาจากป่า มาถึงมือคนอย่างยายพัฒน์ก็แทบจะลงเป็นชิ้นงานได้เลย “นี่ยังน้อยนะ อย่างมือไวน์ของพี่นี่สำเร็จรูปมาจากในป่าเลย เราแค่มาลงดำทำเงา ค่าแรงก็ถูกตามไปด้วย” เสาวลี น้อยถึงเห็นเราเดินเข้าออกบ้านโน้นบ้านนี้จึงตามมาดู และก็เพื่อจะพบว่าคำถามเรื่องนกคุ้มตัวใหญ่ๆ ที่ผมอยากเห็นนั้นกลายเป็นของหายากไปแล้ว “คนทำอย่างเรายังไม่ค่อยได้เห็นเลย ไม้ลูกใหญ่ๆ มันน้อยลง” ขณะตามเธอกลับมาดูการลงสีเคลือบดำ ลูกของเธอร้องจ้าอยู่ใกล้ๆ

 

ถึงบางสิ่งบางอย่างหายไปจากหมู่บ้าน แต่ก็อย่างที่ยายพัฒน์บอกว่า ไม้ร่อยหรอเหลือน้อยจนคนที่เคยผ่านอดีตอันรุ่งเรืองยังไม่ลืมภาพเช่นนั้น ว่ากันว่าราวเกือบสามสิบปีก่อน แต่ละบ้านนั้นมีลูกไม้ขนาดเท่าหม้อข้าวใหญ่ๆ ก่ายกองรอการลงมือแกะไม่หวาดไหว หากแต่ถึงอย่างไรก็ตาม งานเปลี่ยนรูปไม้ตามออร์เดอร์อย่างที่เข้ามาเยือนงานสังคโลกที่อีกฟากถนนนั้น ก็ทำให้หลายชีวิตในแถบนี้มีหนทางเดินไปอย่างไม่ไร้ทิศทางสักเท่าไรนัก

 

“ว่าไปนักท่องเที่ยวไม่ได้เข้ามาในนี้เท่าไหร่หรอก”ในนี้ที่ พนม อยู่คง เจ้าของร้านงานไม้หลายชนิดบอกหมายถึงที่ที่มีภาพอันเป็นจริงเป็นจังของคนเมืองเก่า ตามศาลาคุณยายคุณป้านั่งคุยทักทายและมองโลกที่กำลังผันเปลี่ยนผ่านถนนเล็กๆ “ส่วนใหญ่แม่ค้าจากแผงขายของที่ระลึกต่างหากที่เป็นฝ่ายเข้ามาเลือกของ” ร้านของเธอเต็มไปด้วยงานไม้จากหลากหลายบ้านที่ลัดลึกเข้าไปในซอย ที่เมื่อครบจำนวนก็ต่างทยอยกันออกมาหลากหลายชนิด

 

นกคุ้มตัวใหญ่ๆ ที่ผมเคยเห็นเดี๋ยวนี้กลายเป็นตัวเล็กๆ ลงสีสดราวของเล่นเด็ก ก่ายกองในเข่งไม่ต่างไปจากกบร้อง-กบไม้หลายขนาดที่มีรอยหยักกลางหลัง รอคนซื้อเอาไม้ลากให้เกิดเสียง ทั้งหมดหายสิ้นความเชื่อที่ว่าคุ้มบ้านคุ้มเมืองไปตามการเปลี่ยนผ่านของวันเวลาและป่ารอบนอก

 

หากแต่เช่นนี้เองจึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่เราจะเห็นนกคุ้มหรือนกชุดก่ายกองกันอย่างไร้ระเบียบ ลงสีกันง่ายๆ ภายใต้การตีกรอบของคำว่าค้าขาย กลายเป็นของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยวได้เลือกกลับไปหลังจากพอรู้ว่า นอกจากความงดงามของโบราณสถานภายในเขตอุทยานฯ สุโขทัยแล้ว ใกล้กันยังมีของที่ระลึกฝีมือชาวบ้านให้ซื้อกลับไปตั้งโชว์ หรือติดผนังบ้าน

 

มันอาจต่างจากความชัดเจนในงานในอดีตอยู่บ้างอย่างที่หลายคนในหมู่บ้านเคยลงแรงเกลาลูกไม้ขนาดโตจนกลายเป็นนกคุ้มสักตัว หรือช่างปั้นโบราณที่ศึกษาลวดลายจากสังคโลกแท้ๆ ที่เขาเห็นมันมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ต่างก็ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่าศรัทธาและการดิ้นรนต่อสู้กับเงื่อนไขชีวิตเท่านั้นจึงสร้างมันขึ้นมาได้

 

แต่เมื่อทั้งหมดทั้งมวลก็ยังทำให้เรื่องราวชีวิตรายรอบหมู่เจดีย์โบราณยังคงขับเคลื่อนไปต่อได้ในทุกวันนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเลือกที่จะเป็น

 

ตกเย็นผมฉีกเมืองออกมาตรงวัดตะพานหินทางด้านตะวันตกหรืออรัญญิกของเมือง เดินผ่านทางเดินที่ปูด้วยหินชนวนแผ่นบางๆขึ้นไปจนถึงลานร้างบนยอดเขา

 

ข้างบนนั้นพระประธานปางประทานอภัยสูงกว่าสิบเมตรอย่างพระอัฎฐารสสงบนิ่งราวกำลังเพ่งมองลงไปยังเมืองที่เคยเปี่ยมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์เบื้อล่างอย่างสุโขทัย

 

มองผ่านลงไปที่ราบเมืองเก่าซ่อนความเรืองโรจน์เอาไว้เนิ่นนาน

 

เมื่อคนรุ่นหลังอยากรู้และขุดค้นมันขึ้นมา ไม่เพียงแต่ความเก่ากร่อนงดงามที่แฝงฝัง

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ได้กลับขึ้นมาหล่อหลอมให้คนที่นี่มีหนทางชีวิตอันคงทนไม่แตกต่าง

 

How to Go?

ออกจากจากกรุงเทพฯ ด้วยทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เลี่ยงเมืองนครสวรรค์ มุ่งสู่กำแพงเพชร เมื่อแยกขวาเข้าเมืองกำแพงเพชร ถึงวงเวียนหน้าเมือง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย คีรีมาศ เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย ระยะทางประมาณ440 กิโลเมตร

 

อุทยานฯ สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 6.00-21.00 นาฬิกา (วันศุกร์-วันอาทิตย์ มีการเปิดไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน) โทรศัพท์ 0-5569-7310

 

สนใจเที่ยวชมและเลือกซื้องานหัตกรรมอันเต็มไปด้วยเรื่องราว ก่อนทางเข้าเมืองเก่า สุโขทัย ตามซอกซอยด้านขวามือเต็มไปด้วยร้านขายเครื่องไม้ที่ระลึกอย่างนกชุด มือจับไวน์ ไล่ไปถึงงานไม้สักหลากหลาย ซึ่งตกทอดการทำมากว่า 50 ปี

 

อาณาจักรพ่อกู ศูนย์ชมและเลือกซื้อเครื่องสังคโลก โทรศัพท์ 0-5569-7380

บุคลิกของเมืองสุโขทัยเต็มไปด้วยความเก่าแก่