พิษณุ ศุภนิมิตร

พิษณุ ศุภนิมิตร

อาจารย์พิษณุนั้นเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช พื้นเพเดิมเป็นคนอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อกาลเวลาผ่านไป มีอันต้องตามบิดาที่เป็นครูไปรับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ที่จังหวัดสิงห์บุรี ช่วงที่เดินทางล่องแม่น้ำแม่กลอง ออกไปสู่แม่น้ำท่าจีน เลาะคลองลัดเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความตื่นเต้นประทับใจมิรู้ลืม

นั่นเป็นการผจญภัยเดินทางเข้าเมืองกรุงครั้งแรกของเขา ยามเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทาง ก็ต้องเทียบเรือลอยนอนที่เชิงสะพานพุทธ แหงนหน้ามองดูรถบนสะพานเพื่อเรียนรู้วิถีเมืองบางกอกยามค่ำคืนอันสุขอุรา อรุณรุ่งจึงขึ้นเหนือสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผ่านลานเท เข้าแม่น้ำน้อย รอนแรม 5 วัน 5 คืน จึงถึงที่หมาย

เขาเติบใหญ่วัยคะนองที่บางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ดินแดนนักต่อสู้ ด้วยแสงทองส่องทาง จึงระหกระเหินเดินดงมาสอบเข้าสู่รั้วศิลปากร ร่ำเรียนคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ เคยได้รับรางวัลเหรียญทอง 3 ครั้ง จากการแสดงงานศิลปกรรมแห่งชาติ และรางวัลภาพพิมพ์นานาชาติที่ญี่ปุ่นและเยอรมนีด้วยความชื่นชอบศิลปะทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กวี เขียนรูป และเขียนหนังสือ นักวิจารณ์งานศิลปะ เขาอยากทำทุกอย่างปัจจุบันเขาเป็นคนทำงานเกี่ยวกับศิลปะ วาดรูป เขียนหนังสือศิลปะและสอนศิลปะ สร้างชื่อเสียงรุ่งโรจน์ก้องนามกับบทประพันธ์นวนิยายเรื่อง “กลิ่นสีและกาวแป้ง” เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เมื่อ “เปี๊ยก โปสเตอร์” ผู้กำกับชื่อดังจับมาโลดแล่นบนโลกเซลลูลอยด์สร้างตัวละครในรั้วศิลปากรให้มีชีวิตชีวา สนุกสนานหลุดโลกแฝงกลิ่นธรรมผสมสาระบันเทิงปะปนไป

ปฐมบทสนทนา

ดูเหมือนชีวิตอาจารย์พิษณุจะตกผลึก จึงย้อนกลับมาสู่ความเรียบง่ายอีกครั้ง จากที่เคยได้ผ่านความยุ่งยาก สับสนตลอดค่อนศตวรรษที่ผ่านมา เหมือนจักรวาลที่ค่อยๆ สงบ เมื่อผ่านความวุ่นวายมาแล้ว

“ทุกวันนี้ผมจะเขียนรูปง่ายๆ เขียนด้วยพู่กันเหมือนศิลปินเขียนเมื่อพันปีก่อน เขียนด้วยสีน้ำที่ไม่มีพิษภัยกับตัวเองและสิ่งแวดล้อม พิมพ์ภาพแบบโมโนพรินต์ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่หรูหราอลังการ เรื่องราวที่ทำขึ้นมา เป็นการบันทึกทิวทัศน์สถานที่ที่พานพบ เพื่ออธิบายความงดงามของโลกนี้ในซอกมุมต่างๆ เป็นบรรยากาศยามเช้า กลางวันที่มีแสงแดด ยามเย็นใกล้พลบค่ำ ทั้งในประเทศทุกภูมิภาคของไทย ภูเขา ชายทะเล ท้องทุ่งหญ้า สำหรับต่างประเทศก็มีที่เนปาล กัมพูชา เวียดนาม จีน ลาว พม่าญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์และดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย อาทิ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ สารนาถ สถานที่ปฐมเทศนา กุสินารา สถานที่ปรินิพพานพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเริ่มต้นจากเมืองพุทธคยา แล้วจึงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันข้ามฝากไปฝั่งของแม่น้ำเนรัญชราพบกันสถูปนางสุชาดา มองผ่านสถูปไกลออกไปทางทิศตะวันออก ผ่านทุ่งนาเขียวขจี แลเห็นทิวเขาลูกหนึ่งอยู่ไกลสุดขอบฟ้า คือเขาดงคสิริ เขาที่พระสิทธัตถะโยคีทรงประทับอยู่ 6 ปี เพื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา

“ผมดื่มด่ำจิตรกรรมสีสันแห่งศรัทธา 3 เดือนที่นั่งเขียนรูป ผมทำงานต่อเนื่องไปอย่างมีความสุข ไม่ได้ประสงค์ที่จะเขียนให้เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าถึงพุทธประวัติในแบบจิตรกรศิลปะไทยทั่วไปเขียน หากเป็นการบันทึกถึงสถานที่จริงอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ บวกกับอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นความประทับใจในขณะที่ได้เห็น บอกถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่เป็นศรัทธาที่ตนเองมีต่อสถานที่นั้น เมื่อครั้งพุทธกาล ผมเริ่มทำงานต้นแบบที่เป็นจิตรกรรม หลังจากที่กลับจากอินเดียทันที ผลงานจิตรกรรมจำนวนทั้งสิ้น 36 ภาพล้วนเป็นภาพที่เลือกสถานที่ได้ครบถ้วนเท่าที่ได้เห็นได้สัมผัสกับบรรยากาศจริง

“ภาพเขียนชุดนี้ตั้งชื่อไว้ว่า ‘วาดไว้ในอินเดีย: แดนพุทธภูมิ’ แต่กระบวนการของผมไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ยังต้องใช้ความเพียรต่อไปอีก สืบเนื่องจากการที่ผมเป็นช่างพิมพ์ เป็นอาจารย์สอนวิชาภาพพิมพ์มานาน 30 ปีกว่า จึงจำเป็นต้องให้ครบถ้วนกระบวนความ ถือว่าผลงานนี้เป็นงานต้นฉบับจิตรกรรมที่ต้องใช้ต้นแบบนำไปสร้างงานศิลปะภาพพิมพ์อีก ด้วยเทคนิค Woodblock และSilk screen อันมีความหมายสองนัย ทั้งงานพิมพ์และเป็นงานที่ต้องประทับใจ จารึกไว้ตลอดกาล”

กลิ่นสีและกาวแป้ง

หากจะพูดถึงภาพพิมพ์ มีคนที่ทำภาพพิมพ์ดังๆ อยู่ไม่กี่คนในโลก ที่ทำศิลปะภาพพิมพ์แบบที่มีเครื่องมือพิเศษแบ่งเป็นซี่ฟันเล็กๆโยกไปบนเศษโลหะ โยกให้มันเกิดเม็ดเล็กๆ ไปทั้งแผ่น ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เขาต้องการให้เพลตนั้นดำก่อน แล้วใช้เครื่องมือค่อยๆ ลบ เทคนิคนี้ละเอียดอ่อนมาก เรื่องน้ำหนัก เมืองไทยเองก็ทำมาหลายรุ่นแล้วที่ศิลปากร พวกนี้เขาเป็นช่างพิมพ์จริงๆ

“งานของผมจะไม่เหมือนกับคนอื่น เพราะผมทำหลายอย่าง เพ้นท์ติ้ง ภาพพิมพ์ และเขียนหนังสือ มีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น อย่างกลิ่นสีและกาวแป้งก็เป็นงานในยุคแรกๆ ที่ผมเขียน ต่อมาพี่เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็นำไปทำเป็นภาพยนตร์ สร้างชื่อเสียงพอสมควรเป็นเรื่องราวของชีวิตพวกผม สมัยเรียนที่ศิลปากรราวปี 1 ปี 2 ตอนนั้น พ.ศ.2510-2511 ตัวละครมีตัวตนหมด เพียงแต่ชื่อคล้ายๆ กัน

“การเขียนกลิ่นสีและกาวแป้ง จุดประสงค์จริงๆ เราจะเขียนเรื่องราววิชาการให้เป็นนิยาย มันเขียนไม่ได้ เมื่อเขียนไม่ได้ เราก็เอาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ต่างๆ ที่ได้ในรั้วศิลปากรสะท้อนออกมา เราจะเห็นนักศึกษาพวกนี้มันเหมือนเหลวไหล เรียนกันเล่นๆ สนุกๆแต่ความจริงเขามีชีวิตที่ผูกพันกับศิลปะมากๆ มีความคิดสร้างสรรค์ ในที่สุดคนพวกนี้เขารักเพื่อน นี่คือสิ่งที่อยากแสดงออก แต่ไม่ต้องการสอนคนทำงานศิลปะ หรือว่าเป็นการศึกษาศิลปะ มันไม่ถึงขนาดนั้น นวนิยายมันทำไม่ได้ ในหนังมันดูเป็นเรื่องตลกมันเป็นเรื่องไม่จริง เพราะนิยายที่ไหน มันมีเรื่องจริงบ้าง คนเขียนก็ต้องจินตนาการ เวลาผมสร้างบุคลิกของใครขึ้นมาคนใดคนหนึ่ง มันไม่ใช่คนนั้นคนเดียว ฉะนั้นต้องเอาบุคลิกที่ใกล้เคียงกันมาผสมเป็นคนๆ เดียว มันจะทำให้เรื่องสนุกขึ้น”

หนทางสร้างศรัทธา

ครั้งหนึ่งมีคนเคยถามอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่าทำไมลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ต้องไว้ผมยาวด้วย อาจารย์ศิลป์บอกว่าเวลาเรามองคนเราไม่ได้มองที่ผม เราต้องมองที่ข้างในของผม

“ผมก็เห็นด้วยนะ เพราะว่าคนเป็นศิลปินแล้ว การแต่งเนื้อแต่งตัวเป็นนักกฎหมาย หรือแต่งตัวเป็นนายธนาคาร ผมว่ามันไม่ใช่เพราะศิลปินมันเป็นเรื่องของความงาม เรื่องของความเป็นอิสรภาพ ใครอยากทำอะไรก็ทำ อย่างพี่ถวัลย์ ดัชนี ท่านก็แต่งตัวในแบบของท่านไปอีกอย่างหนึ่ง อาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ก็แต่งของท่านไปอีกแบบหนึ่ง แต่งเป็นพราหมณ์บ้าง มันเป็นการสร้างสีสัน เวลาเขาไปที่ไหน มันทำให้มนุษย์เรามีหลายสปีชีส์ มีสไตล์มากขึ้น ไม่ต้องมาซ้ำซาก อย่างงานเขียนของผมกับงานศิลปะที่ผมทำอยู่ บางทีมันทำแบบพักเหนื่อย เหนื่อยจากตรงนี้บางทีถึงทางตันแล้ว มันต้องเปลี่ยนไป ทำงานศิลปะจนกระทั่งล้า ผมก็จะหันมาเขียนหนังสือ มันก็กลับกันไปกลับกันมา

“ผมเคยเขียนบทวิจารณ์งานศิลปะลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เป็นคอลัมน์ที่เริ่มต้นของคนในยุคนั้น เมื่อก่อนไม่มีใครวิจารณ์งานศิลปะ ระหว่างที่วิจารณ์ก็จะมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีการโต้แย้งกัน ผมว่าสนุกดี ผมเขียนไปเกือบ 10 ปี จึงเกิดความเบื่อหน่าย เรามีข้อขัดแย้งมากขึ้น มีสถาบันของศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงกลายว่าเราเป็นตัวแทนของศิลปากร ซึ่งมันไม่ใช่ ตัวตนจริงๆ ของผมคือครูสอนศิลปะ แล้วเพื่อนฝูงเวลามีการแสดงผลงาน ทุกคนก็อยากให้ผมไปเปิดงานให้ เขาเชื่อว่า เราต้องไปเขียนให้กับเขา แต่ถ้าเราไม่ไป เขาก็จะมองว่าทำไมไม่ไป แล้วถ้าไม่เขียนถึง เขาก็จะต่อว่าเอา ผมเลยหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ เพราะใกล้ชิดมันมากเกินไป

“ผมจึงหยุดเขียนตรงนั้น หันมาเขียนนิยายสนุกๆ แทน ก็จะกลับไปกลับมาเมื่อถึงทางแยก เบื่อนิยายก็มาเขียนสารคดีเชิงศิลปะการท่องเที่ยวหลายถิ่นที่สวยงามน่าประทับใจ ผมนึกได้ว่าผมมาท่องเที่ยวเชิงศิลปะ ทำไมผมไม่เขียนรูปเองเวลาผมไปเที่ยวที่ไหน ในที่สุดผมก็เขียนรูปได้ ซึ่งนักเขียนสารคดีคนอื่นๆ เขียนรูปไม่ได้ เขาจะถ่ายรูปได้เพียงอย่างเดียว ผมก็เอาจุดนี้เป็นจุดสำคัญ ในที่สุดงานเขียนสารคดี กับงานเขียนรูปจึงไปด้วยกัน ทั้งๆ ที่งานศิลปะที่ผมทำ ไม่ใช่เหมือนรูปเขียนที่เขียนในสารคดีมันคนละเรื่องกัน

“ถ้าผมทำงานศิลปะ ผมจะทำแบบซีเรียส เหมือนกับดนตรีก็จะเป็นคลาสสิค ยุคนั้นผมทำแบบนั้น แต่งานท่องเที่ยวผมจะเขียนเป็นบันทึกเล็กๆ เช่นไปอินเดีย ไปพม่า หรือในที่ต่างๆ ผมจะเขียนแบบสบายๆไม่ต้องคิดอะไร เมื่อผมเจอทางแยก ผมก็จะเขียนรูปอะไรง่ายๆ แต่ถ้าถามว่างานเหล่านั้นมีคุณค่าไหม เราก็ไม่ต้องไปสนใจว่ามีหรือไม่ แต่มันมีบุคลิกภาพของผมอยู่ในนั้น ไปที่ไหนก็เขียนรูปที่นั่นก็จบ ไม่ต้องมีเบื้องลึกอะไรมากมาย นี่เป็นจุดที่ผมคิดว่าหักเห ผมทำแบบจริงจังแต่ไม่ซีเรียส ไม่เหมือนสมัยหนุ่มๆยิ่งศิลปะสมัยใหม่ใช้ทุกอย่างใช้ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น การมองเห็น เป็นความงดงามแห่งสุนทรียภาพ มันสามารถใช้สิ่งเหล่านั้นแสดงออกมาได้ อย่างชื่อคณะก็บอกแล้วว่า มันแยกสาขาเป็นเทคนิคจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ แต่ปัจจุบันมันแยกไม่ได้ งานบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้น เราสามารถบอกได้ว่านี่คืออะไร เป็นศิลปะประเภทไหน เพราะศิลปะมันพัฒนาขึ้นมา จนกระทั่งเรารู้สึกว่ามันรวมตัวกันได้ทุกอย่าง คนที่เรียนเพ้นท์ติ้ง อาจทำปั้นก็ได้ หรือไปทำภาพพิมพ์ ผมก็ทำเพ้นท์ด้วย ฉะนั้นอัตลักษณ์ของผมไม่จำเป็นต้องมี ขอให้งานมันถ่ายทอดออกมาได้ด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้”

จารึกตัวตนคนสร้างภาพ

“สมัยเรียนอยู่โรงเรียนช่างศิลป์ ผมเองไม่ได้รู้จักความหมายของศิลปะเท่าไรนัก รู้แต่ว่าเรียนเขียนรูป แต่ว่าการเขียนรูปมันสำคัญอย่างไร เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ตอนหลังเรามารู้จักแวนโก๊ะ รู้จักไมเคิลแองเจโล ลีโอนาร์โด ดาวินชี่ พวกนี้เป็นศิลปินอมตะของโลก ทำไมถึงต้องเป็นอมตะด้วย ทำไมต้องสร้างผลงานไว้กับโลก ฝากไว้กับแผ่นดิน เราไม่เคยคิด แม้แต่งานวรรณกรรม ก็ยังมีวรรณกรรมดีๆ ของโลก แต่เมื่อเราโตขึ้น ครูที่อยู่โรงเรียนช่างศิลป์ให้เราฟังดนตรีคลาสสิค ให้เรารู้จักบีโธเฟ่น เอาแผ่นเสียงมาเปิดให้พวกเราฟัง ตอนเย็นๆ ก็นั่งคุยกัน ผมว่ามันเป็นสถาบันให้รู้จักรสนิยมของชีวิต

“คนที่สอนผมในรุ่นนั้นก็มีอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ท่านเป็นผู้อำนวยการ อาจารย์อวบ สานะเสน อาจารย์พิชัย นิรันดร์ ท่านจะเปิดเพลง สร้างความประทับใจให้กับเรามาก ผมอยู่ในกลุ่มค่อนข้างเกเร ไม่ใช่เด็กเรียน อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก เพื่อนผม เรียนมารุ่นเดียวกัน ท่านจะอยู่ในกรอบ เนี้ยบทุกอย่าง ตั้งแต่ไปเขียนรูปด้วยกัน ท่านจะไม่รู้จักร้อน รู้จักหนาวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จะไม่มีคำว่าไม่มีอารมณ์เขียนรูป ของผมยังมีวูบวาบ ไม่ดี ไม่เลว แต่จุดมุ่งหมายว่าต้องเข้าศิลปากร

“ตอนนั้นผมอยู่ในเกณฑ์ที่เก่งพอสมควร แต่เข้าศิลปากรปีแรกไม่ได้ ก็ต้องกลับไปเลียแผลที่สิงห์บุรี ปีต่อมาจึงสอบเข้าได้ ผมก็ยังสนุกกับการทำกิจกรรม ผมเข้ามารุ่นเดียวกับคุณวานิช จรุงกิจอนันต์ ที่ชอบเขียนกลอน กวี เขาเป็นนักโต้วาที ผมก็เข้าไปโต้วาทีกับเขาในระดับอุดมศึกษา พอขึ้นปี 2 ผมก็เริ่มเขียนนวนิยายลงในวารสารของศิลปากร เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก เหมือนเป็นการปูพื้นฐานให้มีบุคลิกที่แตกต่าง จากนั้นมีการประกวดเรื่องสั้น ทางจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ ผมส่งเรื่อง มายา เข้าประกวดปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศที่ 1 แต่เขาไม่จัดพิธีมอบรางวัลขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ รุ่นนี้มีคุณอัศศิริ ธรรมโชติ ได้รางวัลที่ 2 ปีที่2 ผมส่งเรื่อง นิพพานศตวรรษที่ 20 ปีนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ผมชนะการประกวดได้รางวัลที่1 อีก เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ทั้งที่ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนี้ เราเขียนตามความรู้สึกที่เราคิด รางวัลมันเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เรามีหนทางที่เราจะไปได้ในทางการเขียน เสมือนเป็นประกาศนียบัตรของเร

“ส่วนรางวัลภาพพิมพ์นั้นมาทีหลัง เพราะในการเรียนศิลปะส่วนใหญ่งานที่มันเริ่มสุกงอม มันจะอยู่ในช่วงปี 3 ถึงปี 5 จะทำได้เต็มที่ ผมจะได้รางวัลในช่วงนี้ เวทีของเราในตอนนั้นคืองานศิลปกรรมแห่งชาติเป็นหลัก ผมเริ่มส่งผลงานภาพพิมพ์ เข้าประกวดได้รางวัลเหรียญทองแดง เหรียญเงิน สุดท้ายเหรียญทอง มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับรางวัลเหล่านี้ เราทำงานเพื่อให้ตัวเองพัฒนาขึ้น จนกระทั่งได้เหรียญทองมา 3 เหรียญ แต่ผมไม่ได้ศิลปินชั้นเยี่ยม เพราะผมทำได้หลายสาขา ศิลปินชั้นเยี่ยมในยุคหลังเขาจะต้องทำสาขาเดียว ถ้าภาพพิมพ์ก็ภาพพิมพ์อย่างเดียว จากนั้นผมก็กวาดรางวัลมาอีกมากมายทั้งงานประกวดของกสิกรไทยงานประกวดของบัวหลวง เรียกว่าเป็นนักล่ารางวัลก็ได้ จนกระทั่งส่งไปประกวดที่ต่างประเทศ ผมได้รางวัลมา 2 ครั้งระดับนานาชาติ แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว”

ตำนานอาจารย์ศิลป์

“ผมเรียนที่ศิลปากรปี 2510 ท่านอาจารย์ศิลป์ เสียเมื่อปี 2505 รุ่นพี่ถวัลย์ ดัชนี พี่จักรพันธุ์ โปษยกฤต จะเรียนทันท่าน ส่วนผมเรียนไม่ทัน ใครก็ตามที่เรียนที่นี่ทุกท่านต้องซาบซึ้งอาจารย์ศิลป์เหมือนท่านยังมีชีวิตอยู่ บางทีผมยังหลงไปด้วยซ้ำว่าเรายังเห็นท่านเดินอยู่ที่ศิลปากร ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นท่านเลย มันรู้สึกได้ว่าท่านเดินอยู่แถวศิลปากร ท่านเป็นบุคคลเสมือนพ่อ ท่านมีเมตตากับลูกศิษย์ที่เราเป็นอยู่ ได้ดีอย่างนี้เพราะท่านวางรากฐานไว้ให้

“ความรู้สึกที่ผมเห็นท่านอาจารย์ศิลป์ เพราะบรรยากาศที่นั่นสอนในสิ่งที่รุ่นพี่แต่ละคนปลูกฝังกันมา เขามีสปิริต รุ่นพี่ที่เรียนกับอาจารย์ศิลป์ เขาจะมาเล่าตำนาน พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ มีแต่สิ่งดีๆ ทั้งนั้น ท่านอยากให้ลูกศิษย์ไปดูหนังดีๆ ลูกศิษย์ไม่มีสตางค์ท่านก็จะให้สตางค์ไปดู เพื่อจะให้ทุกคนมีรสนิยมที่ดี ลูกศิษย์ไม่มีเงินซื้อสี ท่านก็จะให้สตางค์ไปซื้อ ท่านเป็นคนสมถะบางช่วงก็ขี่จักรยานมาทำงาน แต่งชุดสีน้ำตาลสีกากี ท่านจะแต่งแบบนี้ตลอด ข้อสำคัญอาจารย์เขียนรูปไทยเป็น และสอนศิลปะไทย ถ้าเป็นฝรั่งทั่วไป เขาจะไม่กระตุ้นเรื่องนี้ แต่อาจารย์ศิลป์ ท่านเป็นปัญญาชนของโลก ท่านไม่ได้มองเฉพาะเชื้อชาติ ท่านมองทุกอย่างกว้าง”

“อาจารย์ศิลป์จะปลูกฝังลูกศิษย์ทุกคนให้รักในความเป็นไทยจริงๆ อย่างอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านก็จะผลักดันให้เรียนศิลปะไทย ผมคิดว่าท่านมองเห็นว่าคนไทยนั้นมีความเป็นช่างอยู่ในสายเลือดเกือบทุกคน เพราะฉะนั้นคนไทยไม่น่าจะทิ้งเรื่องความเป็นวิถีไทย ในขณะที่อีกด้านหนึ่งท่านก็สนับสนุนศิลปะตะวันตก เพราะท่านมาในยุคเรอเนซองซ์ ผมว่าหายากมาก ท่านให้ชีวิตและให้สิ่งที่ผมมีชีวิตอยู่ด้วยการสอนหนังสือ เพราะศิลปากรให้ชีวิต เพราะฉะนั้นผมจะทำทุกอย่างเพื่อตอบแทนศิลปากร

“ผมต่ออายุราชการมาอีก 5 ปีและช่วงที่ต่ออายุเป็นช่วงที่ผมทำงานหนักที่สุด เพราะผมทำทุกอย่างให้กับคณะและมหาวิทยาลัยเราไม่ใช่คนที่ร่ำรวย นอกจากรวยความรู้ ที่อยู่ในตัวเรา เราก็จะให้คนอื่น เพราะโลกนี้เขาวัดกันด้วยศิลปะ ไม่ใช่ว่าเราอยู่ฝ่ายศิลปะแล้วจะมาพูดยกย่อง ศิลปะมันสำคัญกับชีวิตมนุษย์ ศิลปะมันบ่งบอกความเป็นชาติและเป็นสากล แต่คนที่ทำงานจะเข้าใจโลก เข้าใจตัวตนที่เรามีอยู่

“สมมุติว่าเราทำงานด้านไทย มีพื้นฐานทางไทย แต่ผลงานที่ปรากฏออกมาเป็นสากลได้ อันนี้เป็นเรื่องประหลาดมาก เอาง่ายๆ ดูตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น เขามีพื้นฐานวัฒนธรรมของเขา ในขณะที่ศิลปะสมัยใหม่ของเขาก้าวหน้ามาก ทั้งนี้เพราะว่ารากที่เป็นตัวเขา แล้วสิ่งที่เป็นศิลปะปัจจุบัน มันสามารถปรากฏแก่ชาวโลกได้ เราจะต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ โลกมันถึงจะยอมรับ คือนำเอาความเป็นไทยไปสู่สากลให้ได้ เราเป็นไทย อยู่เฉยๆ มันไปไหนไม่ได้ เราต้องสืบต่อ สร้างสรรค์ผลักดัน เราเป็นชาติไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยาฯลฯ สมัยนั้นเขาไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปะไทยมันอยู่ในสายเลือด อยู่ในสิ่งแวดล้อมของคนไทย”

ชีวิตความคิด “ศิลป์ พีระศรี

“วันนี้ผมอยากจะทำอะไรที่นอกเหนือจากงานศิลปกรรมและการเขียนหนังสือ ผมอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ มันก็เหมือนกับการเล่นดนตรีที่ผมยังไม่ได้ทำ แต่อยากจะทำ หรือแม้แต่การเป็นคอนดักเตอร์ ผมก็อยากเป็น แต่ที่ทำไม่ได้เป็นเพราะมันไม่ใช่ไลน์ของเรา แต่ลึกๆ ผมอยากจะเขียนนิยายมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่สักเรื่องหนึ่ง แต่มันยังไม่มีสมาธิที่จะเขียน ผมอยากจะเขียนประวัติของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ตั้งชื่อเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว ทำมาเป็น 10 ปีแล้ว ผมจะเขียนเป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ เพราะปัจจุบันมันมีความนิยมมากๆ

“คนที่เขียนนิยายแล้วใช้ข้อมูลที่จริงๆ แล้วเขียนให้จริงกว่านี้ อย่างหนังเรื่อง รูท เนื้อเรื่องมันเกี่ยวกับทาส นั่นมันก็เป็นเรื่องจริงทั้งหมด หลายๆ เรื่องก็เป็นนิยายในเชิงแบบนี้ แม้แต่ ดาวินชี่โค้ด ก็นำเอาความจริงเข้าไป ถึงมันจะจินตนาการ มันก็มีส่วนของความจริงถ่ายทอดออกมา ผมอยากเขียนเพราะว่าท่านอุทิศชีวิตนี้ให้กับศิลปะและประเทศไทย แต่ที่ผมไม่สามารถทำออกมาได้เพราะมันมีแต่หนังสือที่ลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์พูดถึงอาจารย์ แต่ยังไม่มีใครทำเป็นภาพยนตร์มาก่อน ผมอยากจะเขียนตั้งแต่อาจารย์ศิลป์ล่องเรือเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามา อาจารย์ศิลป์เห็นสภาพแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นเด็กแก้ผ้ากระโดดเล่นน้ำ ซึ่งท่านตื่นเต้นมาก ฝรั่งโดยทั่วไปในสมัยก่อน เขาเห็นประเทศของเราแล้ว เขาจะรู้สึกว่าพวกเราป่าเถื่อนไม่มีความศิวิไลซ์ แต่ท่านอาจารย์ศิลป์เห็นความมีชีวิตชีวา ท่านถึงอยู่เมืองไทยได้”

มรดกแห่งปัญญา

“ผลงานทั่วไปของผม บางคนจะชอบรูปที่ผมเขียนในประเทศอินเดีย ที่ผมไปสังเวชนียสถาน คนที่จะดูรูปเห็นแล้วจะบอกว่าสวยๆทั้งนั้น แต่สิ่งที่ผมสร้างสรรค์พลิกทั้งความคิดและการแสดงออกจากการสร้างสรรค์งานที่ค่อนข้างจริงจังในยุคแรกๆ แล้วผมก็มาเปลี่ยนตัวเอง ในเมื่อเรามาทำในเรื่องราวที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมชาติ ผมคิดว่าภาพพิมพ์ที่เราสอน มันเป็นกระบวนการภาพพิมพ์แบบเก่า ซึ่งต้องใช้เทคนิคแบบโบราณ จะต้องเกี่ยวข้องกับน้ำยา สารเคมี มีน้ำมันหรือสิ่งต่างๆ ที่มันกระทบกระเทือนถึงโลกปัจจุบันมันจะแข็งขืนต่อไปไม่ได้แล้ว

“การทำงานศิลปะก็เหมือนกับความคิดของผม ผมอยากจะให้มันไปทั้งความคิดและการกระทำให้มันไปด้วยกัน ไม่ใช่ว่าทำอย่างหนึ่งแล้วไปอีกอย่างหนึ่ง ผมว่ามันไม่จริงใจ เช่นว่าเราทำเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ดันไปตัดต้นไม้มาแสดงในห้องแสดง แล้วศิลปินมันไม่ผิดหรือที่ไปตัดต้นไม้มา มันไม่ถูกต้อง ผมจึงกลับไปคิดดูว่างานภาพพิมพ์ที่ผมทำ ผมทำให้งานภาพพิมพ์มันบริสุทธิ์ทั้งกระบวนการ เทคนิคต่างๆ ผมจึงมาค้นคว้าเทคนิคโดยการใช้สีน้ำ ในการทำงานภาพพิมพ์ ผมก็ทำงานภาพพิมพ์ woodblockซึ่งพิมพ์ด้วยน้ำ เทคนิคนี้เรียก Japanese Print ร่ำเรียนมาจากญี่ปุ่นที่ตกทอดมาเป็นรุ่นๆ จนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังมีช่างพิมพ์ที่มันเหมือนกับโบราณ แต่เขาก็ยังทำต่อๆ กันมา

“แต่บ้านเราไม่มีที่จะทำเป็นมรดกตกทอด ผมก็เลยคิดเทคนิคสีน้ำบริสุทธิ์ มันจะมีส่วนที่ทำลายธรรมชาติอยู่บ้าง เพราะสีมันมีสารตะกั่วเล็กน้อย ต่างจากภาพพิมพ์ยุคเก่าที่ต้องไปแช่น้ำกรด ต่อมาใช้น้ำมัน ซึ่งน้ำที่ใช้ก็จะเทลงท่อระบายน้ำ แล้วท่อระบายน้ำก็ไหลลงแม่น้ำ แต่ของเราใช้เทคนิคสีน้ำ มันจะกลมกลืน กลิ่นก็ไม่มี ไม่ทำลายตัวเอง และคนข้างเคียง ผมก็เริ่มเป็นตัวหลักในการจัดกระบวนการนี้ ตอนนี้เริ่มมีลูกศิษย์ผมอีกคน ตอนนี้เป็นรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม คืออาจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง ท่านก็ทำเทคนิคนี้ แต่ท่านทำก้าวหน้าไปกว่าของผมอีก ท่านใช้สีมาจากธรรมชาติจริงๆ ด้วยการบดใบไม้บดสีจากดอกอัญชัน สีจากเม็ดมะเกลือ แล้วนำเอาสีเหล่านั้นมาทำให้เราเห็นว่านี่คือสีที่มาจากธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาไทย นั่นคือความก้าวหน้าของภาพพิมพ์

“มีคนถามผมว่าทำไปทำไม เขียนรูปเสร็จแล้วก็จบ ทำไมต้องไปทำเป็นภาพพิมพ์ด้วย มันยุ่งยากเปล่าๆ ผมก็บอกว่า ผมจบภาพพิมพ์มา แล้วผมก็สอนการทำภาพพิมพ์ ผมก็ต้องทำวิทยาการอันนี้ให้มันก้าวหน้าขึ้นไป ภาพพิมพ์นั้นมันมีความหมายที่คนเขาไม่เขียนรูป แต่เขาเอาไปพิมพ์ เพราะเขาอยากได้ภาพพิมพ์เยอะๆ สมมุติเป็นเพ้นท์ติ้ง เขียนเสร็จก็จะได้รูปเดียว แต่ภาพพิมพ์ มันจะก็อปปี้ความประทับใจ มันจะบ่งบอกถึงความประทับใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำ เราสามารถเผยแพร่ได้มันจะมีความเกื้อกูลเอื้ออาทรต่อกัน และราคาก็ถูกกว่าเพ้นท์ติ้งเยอะ

“ผมประทับใจในสิ่งที่ผมไปท่องเที่ยวมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามันอาจจะฉุดเราให้เราจำเจ แต่เมื่อเราไปเขียนที่คลองเวนิซ ประเทศอิตาลี หรือคลองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ มันเป็นสิ่งที่เราตื่นเต้นมาก ตึกรามบ้านช่องแปลกตา ส่วนใหญ่สิ่งที่ผมประทับใจ มันจะเป็นดินแดนศิลปะ เป็นศาสนสถานที่ทั่วโลกยกย่อง มีทั้งสถูป เจดีย์ หรือโบสถ์

“ท้ายที่สุดผมอยากให้ศิลปะของผมเป็นเช่นดอกไม้ ที่ระเหยกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา เป็นดั่งเช่นการปล่อยพลังอันอบอุ่นอย่างไม่มีวันจบสิ้น เป็นดั่งเช่นสายลมเคลื่อนไหวพัดผ่าน โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ผมหวังที่จะให้งานศิลปะของผม เป็นงานที่ให้คนธรรมดาได้ชื่นชม เป็นศิลปะจากคนธรรมดา ดั่งคำพูดที่ว่า เมื่อเราลดตัวลงมา บางทีปัญญาเราอาจจะสูงขึ้น

“สถานที่ที่ผมไป ไม่ว่าผมจะอยู่มุมไหนของสถานที่นั้น ยกตัวอย่างที่เวนิซ ผมจะนั่งอยู่มุมไหนก็ตาม ผมสามารถเขียนรูปได้รอบทิศทาง แล้วเป็นมุมที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ศิลปินมองเห็นจุดนี้ เป็นจุดที่เหมือนกับดอกไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ ทุกดอกมันมีคุณค่า เหมือนกับพี่ช่วง มูลพินิจ ที่ท่านมองเห็นมดยิ้ม (หัวเราะ)

“ทุกวันนี้ผมอยากจะมีชีวิตที่ยืนยาว อายุมนุษย์มันสั้นมากๆ ถ้าเทียบกับศิลปะที่ยืนยาว ถ้าชีวิตยืนกว่านี้สักหน่อย มันอาจทำอะไรได้อีกเยอะ แต่คนเราจะไปจำนนเรื่องของสังขาร ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง 80 พรรษาท่านก็ละสังขารแล้ว เพราะฉะนั้นคนเราอายุนั้นสำคัญมาก อายุแสนสั้น ชีวิตสั้น สิ่งที่เราจะทำเมื่ออายุมากขึ้น มันยิ่งมีมากขึ้น ผมจึงอยากให้ทุกคนคิดในเรื่องนี้ให้มากๆกับเวลาที่เหลืออยู่ อยากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์ก็รีบทำ เพื่อให้เกิดคุณค่าและความงดงามของจิตใจ”

จิตรกรใช้อารมณ์ผสมสี นักดนตรีใช้อารมณ์ผสมเสียง