นครพนม

นครพนม

การอพยพดิ้นรน หลีกหนีภัยสงครามและเพื่อการอยู่รอด มิตรภาพต่างแดนทว่าร่วมแผ่นผืนดิน การข้ามแม่น้ำสายใหญ่ใช่เพียงเพื่อการค้าอย่างทุกวันนี้ ทว่าหมายถึงการมุ่งมองหาพื้นที่เพื่อลงหลักปักฐาน

 

สิ่งเหล่านั้นยิ่งชัดเจนเมื่อผมพาตัวเองมาไกลจากบ้านเกิดกว่า 740 กิโลเมตร

 

มายืนอยู่บนแผ่นดินที่ความเป็นอยู่อันแตกต่างดำเนินไปร่วมกัน และมีแม่น้ำชราสายหนึ่งที่คอยรองรับความขับเคลื่อนเป็นไปนั้นอย่างอาทร

 

1

ยามเช้าบนทางเดินเลาะริมแม่น้ำโขงของถนนสุนทรวิจิตร แดดอุ่นจับต้นหางนกยูงเพลินตา อาคารทรงฝรั่งที่เรียงรายเป็นสถานที่ราชการ บ้านเรือน รวมไปถึงชีวิตยามเช้าของเมืองเล็กแสนไกลแห่งนี้ขับเคลื่อนไปอย่างแช่มช้า

 

ผมนั่งมองออกไปยังทิวเขาหินปูนคลุมเครือหมอกขาวที่ฝั่งท่าแขก สปป. ลาว อีกฟากโขง ใน เรือหาปลาปรากฎภาพชายทอดแหตามสันดอนทราย ชีวิตการทำมาหากินล้วนล่วงหน้าหมุนตามดวงตะวัน

 

ใครๆ ที่มาเยือนนครพนมต่างก็หลงใหลถนนสายนี้ มันเป็นถนนที่เคียงคู่มากับการตั้งเมือง ทอดผ่านตั้งแต่ด้านหน้าเมืองที่เรียงรายไปด้วยอาคารและเรือนแถวแสนคลาสสิก ผ่านย่านตลาดที่ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งการค้าโบราณ ทว่าผสานด้วยเรื่องราวคืนวันของพี่น้องชาวเวียดนาม ลากผ่านไปด้านท้ายเมืองที่มีหาดทรายผืนใหญ่แผ่กว้างวิบวับดวงแดดอยู่กลางน้ำโขง

 

“คนเวียดที่นี่มีทั้งเวียดนามเก่าและเวียดนามใหม่” ตรงหัวมุมหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ กลุ่มห้องแถวไม่เก่าโดดเด่นในแดดเช้านรพล เวียงศรีประเสริฐ บอกผมไว้อย่างนั้น เมื่อเราพบกันตรงร้านกาแฟโบราณแถบถนนศรีเทพ

 

เวียดนามเก่าที่นรพลหมายถึงนั้น หมายถึงคนรุ่นทวดรุ่นปู่ของเขาที่พาชีวิตมาถึงนครพนมและอีกหลายหนแห่งในเมืองไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 “คือพวกที่เกิดและโตในเมืองไทยครับ ส่วนเวียดนามใหม่นั้นคือพวกที่อพยพลี้ภัยสงครามฝรั่งเศสในบ้านเกิดมารอวันกู้ชาติ”

 

นครพนมแทรกซ่อนอยู่ด้วยเรื่องราวในการก้าวมาถึงของคนเวียดนามใหม่อยู่ 3 ครั้งใหญ่ หนแรกก็เมื่อเกิดกบฏไต่เซิน หนที่สองคือห้วงยามที่ฝรั่งเศสเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาปกครองเวียดนาม ชายแดนเวียดนาม-ลาว อย่างเมืองเงห์อัน และเมืองวิงห์ จึงเต็มไปด้วยการเดินเท้าระหกระเหินนับร้อยกิโลเมตร เข้าสู่ลาว บางส่วนข้ามโขงสู่นครพนม และครั้งที่สามเป็นการอพยพหนีสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนามเหนือ

 

ในช่วงปี พ.ศ. 2467-2474 ไกลจากถนนสายนี้ออกไปนอกเมืองราว 4 กิโลเมตร ที่บ้านนาจอก หรือบ้านใหม่ในชื่อดั้งเดิม ผืนนาและหนองน้ำที่นั่นเป็นบ้านและที่พำนักของ “ลุงโฮ” หรือโฮจิมินห์ บุคคลที่คนเวียดนามทั้งแผ่นดินเปรียบว่าเป็นยิ่งกว่าพระเจ้า

 

ที่นั่นกลายเป็นศูนย์ประสานงานวางแผนกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ลุงโฮไม่ได้ใช้บ้านนาจอกเป็นเพียงที่พำนักหลบภัย ทว่าได้พาคณะร่วมอุดมการณ์รอนแรมไปมาระหว่างเวียดนามกับไทย เคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้นในหมู่ผู้อพยพเวียดนามในแผ่นดินไทย โดยใช้บ้านไม้หลังเล็กๆ นอกเมืองนครพนมแห่งนั้นเป็นที่มั่น ในห้วงยามนั้นน้อยคนนักที่จะรู้ว่าชายผู้นั้นคือลุงโฮ หากรู้จักกันในนาม “เตาจิน” ชายผู้คร่ำเคร่งกับระบบคิด ทว่าก็มีชีวิตอยู่กับการเกษตรอย่างสมถะ

 

หลังกลับสู่เวียดนามอีกครั้ง ลุงโฮในฐานะหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้นำคนเวียดนามต่อสู้กับฝรั่งเศสและอเมริกาจนได้รับชัยชนะ รวมเวียดนามเหนือและใต้เข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่น อย่างคำกล่าวที่ล่องลอยอยู่ในใจลูกหลานชาวเวียดที่ว่า “เวียดนามไม่มีเหนือไม่มีใต้”

 

แดดสายฉายแสงอุ่น ผมนั่งมองปี พ.ศ. ที่จารึกไว้ที่หอนาฬิกาฯ พ.ศ.2503 คือปีที่เหล่า “เวียดนามใหม่” ในนครพนมเดินทางข้ามสายน้ำโขง ตัดผ่านเทือกเขาซับซ้อนในแผ่นดินลาว กลับสู่ “ปิตุภูมิ”

 

สงครามกับฝรั่งเศสและอเมริกาอันยืดเยื้อยาวนานได้ผ่านพ้น พวกเขากลับสู่บ้านเพื่อสัมผัสชัยชนะอันหอมหวานของคนทั้งชาติทว่าหลงเหลือบางสิ่งเอาไว้ที่นี่

 

รอยจำที่มีชีวิต ผสมผสาน คงอยู่ และหนักแน่น ณ ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ไม่เลือนหายไปไหน

 

เรื่องราวของเวียดนามใหม่ สำหรับคนรุ่น 40-50 ปีในนครพนม น้อยคนนักที่จะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในเมื่อชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันผสมผสานอยู่แทบทุกอณูของเมืองเล็กๆ แห่งนี้

 

อย่างน้อยการเดินท่องไปบนถนนสุนทรวิจิตรก็ทำให้เราเห็นว่า บ้านเรือน ตึกราม ล้วนมากมายไปด้วยภาพผสานของเชื้อชาติและอิทธิพลของฝรั่งเศสที่ตกทอดผ่านประเทศเพื่อนบ้านมาสู่เรา

 

การเลาะเลียบไปบนถนนสายนี้เป็นเรื่องงดงาม แม่น้ำโขงกระเจิงแสงกระจ่างตาอยู่ทางขวา ขณะที่อาคารศิลปะโกธิกเรียงรายเป็นจุดๆ อย่างอาคารเรียนชั้นเดียวของโรงเรียนสุนทรวิจิตร โค้งอาร์กสีขาวหม่นนั้นสะดุดตาทุกครั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจวนผู้ว่าราชการหลังเก่า ที่หยัดยืนสีเหลืองอมส้มงามสง่ามาตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2458-2468 ด้านในจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของนครพนมอดีตทุกแง่มุม

 

ถนนสุนทรวิจิตรพาเราผ่านห้องแถวชั้นเดียวริมแม่โขงเป็นหย่อมๆ บางชุดมี “อาเขต” หรือซุ้มทางเดินที่มีโครงหลังคาหน้าบ้าน มันดูทรุดโทรมตามกาลเวลา ทว่าชีวิตด้านในนั้นต่างหาก ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนให้มันมีทิศทางของตนเอง บางห้องเป็นร้านโชห่วยเล็กๆบางแห่งที่หลังบ้านคือชีวิตประมงในน้ำโขง วางแผงขายหอยทรายกันที่หน้าบ้าน ขณะมีไม่น้อย ที่เหลือเพียงเฒ่าชราผ่านพ้นชีวิตบั้นปลายอย่างสบายอารมณ์อยู่หลังเฟี้ยมประตูเหยียดยาว

 

ถนนเปิดกว้างอีกครั้งเมื่อมาถึงวัดนักบุญอันนา หนองแสง ยอดแหลมสองยอดราวปราสาทในเทพนิยายตะวันตกเสียดสูงล้อไปกับทิวตาล ศูนย์กลางของคริสตชนริมโขงแห่งนี้โอ่อ่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2422 แต่เดิมว่ากันว่ามีโบสถ์ใหญ่ทรงฝรั่งอยู่ด้านหน้า แต่ระเบิดในกรณีพิพาทอินโดจีนได้ทลายให้หายไป เหลือเพียงหลังที่สร้างขึ้นใหม่โดยยึดเค้าโครงความงามของหลังเก่าในปีพ.ศ.2515

 

ทุกเย็นเมื่อถึงช่วงเวลามิสซา ริมโขง ณ พิกัดนี้ราวโลกสุขสงบของคริสตชนในนครพนม พวกเขาจูงลูกหลานมารวมกันประกอบพิธีทางศาสนา เสียงบทสวดกังวานหวานออกมาเป็นระยะสลับกับภาพสงบงามรอบด้านราวกับจะบอกว่า ในดินแดนของพระเจ้าที่พวกเขาศรัทธา โลกทั้งใบนั้นไร้ความแตกต่าง

 

ใช่เพียงแต่ถนนสุนทรวิจิตรที่เรียงรายอยู่ด้วยอาคารตะวันตกงดงาม หากผ่านมาที่ถนนภิบาลบัญชา อันเป็นแหล่งรวมสถานที่ราชการของนครพนม พื้นที่กว้างใหญ่ของศาลากลางเก่า ที่วันนี้กลายเป็นหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม จะดึงดูดผู้มาเยือนให้ผ่านแนวหางนำยูงและต้นคูนร่มครึ้ม เข้าไปสัมผัสสถาปัตยกรรมไทยและยุโรปอันผสมผสานอย่างสง่างาม เมื่อแดดจัดฉายจับ อาคารหลังนี้ก็มลังเมลืองสมกับที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมในด้านอาคารสาธารณะ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2540

 

ฝีมือ “ช่างญวน” อย่างที่คนที่นี่มักบอกทุกครั้งเมื่อผมถามถึงที่มาที่ไปของอาคารแต่ละหลังนั้น สะท้อนอยู่ด้วยรูปแบบการก่อสร้างที่มาพร้อมกับศิลปะตะวันตกแต่ครั้งสมัยสงครามอินโดจีน มันเป็นเหมือนตัวแทนของ “อิทธิพล” บางอย่างที่เลี่ยงไม่ได้ว่าโลกมีสองด้านให้เราสัมผัสเสมอ

 

ด้านงดงาม น่าตรึงตรา และด้านที่ควรจะเก็บมันไว้เป็นเพียงแค่ความทรงจำ

 

2

ว่าไปแล้ว เมืองเล็ก ๆ ที่ประชิดแม่น้ำโขงอย่างนครพนมไม่ได้มีแต่ตึกรามหรือห้องแถวที่รับเอาอิทธิพลของศิลปะตะวันตกอันผ่านมาทางเวียดนามและลาว ทว่าในนาทีขับเคลื่อนที่หมุนเวียนมายาวนาน ชีวิตของคนที่นี่ต่างหาก ที่มีส่วนทำให้ “เมืองแห่งขุนเขา”แห่งนี้มากมายไปด้วยสีสันอันมีชีวิตชีวา

 

“คนที่นี่มันหลากหลาย พวกไทยแสก ไทยข่า ไทยโส้ ผู้ไทย อยู่นอกเมือง คนเวียดนี่อยู่กันในเมืองมากละ ดูของกินสิ มีแต่อาหารญวน” ป้านิภา พัชรมณีโชติ ไม่เพียงผ่านชีวิตสืบทอดความเป็นเวียดนามเก่ามาแต่รุ่นปู่ แต่ร้านอาหารเวียดนามที่เธอส่งต่อถึงรุ่นลูกตรงถนนธำรงค์ประสิทธิ์ก็บอกมิติหนึ่งของผู้คนในนครพนมได้แม้แต่เรื่องใกล้ๆ ตัว

 

“ปากหม้อ เปาะเปี๊ยะ นี่ไม่ต้องขึ้นร้านอย่างป้าหรอก ริมทางก็อร่อยกันหลายเจ้า ของเขาสืบทอดกันมาทั้งนั้น” จริงอย่างที่ป้านิภาเล่า หลายวันที่มาอยู่นครพนม ผมและเพื่อนๆ แทบเลือกไม่ถูกว่าจะเข้าไปลองอาหารที่ตกทอดวัฒนธรรมของคนเวียดกันที่ไหนเผลอลงไปเจ้าไหนก็หนุบนุ่มไม่แตกต่าง

 

“แบ๋นก๋วนจะดีเขาวัดที่น้ำจิ้มและแป้ง แต่ของนครพนมนี่ไม่เหมือนที่เวียดนามนะ เราปรับรสให้เหมาะกับแบบไทยมานาน” ทุกเย็นผมมักปล่อยให้เพื่อนผู้ชื่นชอบถ่ายรูปเพลินไปกับห้องแถวไม้ชั้นเดียวชุดท้ายๆ ที่หัวถนนเฟื่องนคร แล้วมานั่งต่อหน้าจินตนา กีรติกานนท์ ที่ร้านปากหม้อโจ๊ก 01 อารมณ์แบบ “ต่อหน้า” ระหว่างคนขายกับลูกค้านั้นมีเสน่ห์ไม่เลือนหาย “วันนี้เอาแบบไหนล่ะ”เธอเตรียมทำปากหม้อใส่ไข่ให้ลอง หลังจากที่เมื่อวานผมลองแบบห่อข้าวเกรียบไปแล้ว “หมูยอนี่ก็อีก ต้องเลือกนานเชียว กว่าจะถูกใจ เด็กๆ เดี๋ยวนี้ทำไม่ค่อยถึง”

 

ไม่นับแบ๋นก๋วน หรือบุ๋นบี (เปาะเปี๊ยะ) ที่มีให้ลองกันตั้งแต่บ่ายไปยันค่ำ หากเป็นของหนักท้องแบบเวียดนาม ไข่กระทะ เฝอหรือต้มเส้น (กวยจั๊บญวน) วัฒนธรรมการกินของคนเวียดที่สั่งสม ผสมผสาน ล้วนลานตา กระจัดกระจายอยู่ในขอบเขตเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เช้าๆ ที่ร้านพรเทพ ขนมปังฝรั่งเศสอวบอูมไส้หมูยอ หมูสับ กุนเชียง สายๆ เฝอเนื้อที่ตรงถนนธำรงค์ประสิทธิ์เนืองแน่นคนท้องถิ่น ผักเคียง เครื่องเคราครบครันเสียจนน่าทึ่งในการผสมผสานอาหารเส้นกับผักพื้นบ้านได้อย่างมีเอกลักษณ์

 

ยิ่งในตลาดเทศบาลตอนเช้า ใครคนหนึ่งอาจทึ่งถึงที่มาที่ไปของสินค้าในมือแม่ค้าหลากหลายเจ้าว่ามันสะท้อนตัวตนของคนที่นี่มากมายขนาดไหน ร้านป้ายุงเจ้าดังขายข้าวปุ้นน้ำหมู ข้างๆ กันคือข้าวจี่ หรือขนมปังฝรั่งเศสชิ้นโต หอมนุ่มทุกวัน ป้ายร้านรวงต่างๆ มักมีภาษาเวียดนามกำกับไว้ คนนครพนมมักมากินคู่กับกาแฟกันตั้งแต่ตลาดติด ยิ่งลึกเข้าไปข้างในความทึบทึมอันแสนคึกคัก ไม่เพียงหมูยอหรือแป้งปากหม้อที่ดารดาษ ยังมีผลิตผลจากแม่น้ำโขงอย่างปลาหรือพืชผักอีกส่วนที่ละลานตาสะท้อนความเป็นเมืองริมแน่น้ำที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก

 

โลกของการกินแบบเวียดนามวนเวียนอยู่ในชีวิตคนนครพนมตั้งแต่เช้าถึงเย็น ยิ่งเมื่อตลาดนัดปลายถนนเฟื่องนครเริ่มตั้ง การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนที่นี่อาจทำให้เรารู้จักบางส่วนในชีวิตขอบพวกเขามากขึ้น ของกินสมัยใหม่มาเยือนทว่าคนที่นี่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาหารที่บ่งบอกความเป็น “ตัวเอง” ของพวกเขาน้อยลงแต่อย่างใด เด็กๆ รุ่นใหม่ยังหันหน้าเข้าหาแบ๋นก๋วน บุ๋นบี หรือไข่ข้าวญวนที่แทรกตัวปนอยู่กับอาหารจากท้องถิ่นอื่น

 

คล้ายการผสานของผู้คนที่พามันเข้ามา มีปรับเปลี่ยน เรียนรับ แต่เมื่อสิ่งที่อยู่ภายในที่ส่งต่อถึงกันยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

โลกภายนอกก็ราวกับมีนาทีหยุดนิ่ง ไร้กาลเวลา

 

3

บ่ายวันหนึ่ง หลังจากให้แม่น้ำโขงและชีวิตชีวาอันผสมผสานในย่านเก่าแก่ของนครพนมดำเนินไปเป็นอย่างทุกเมื่อเชื่อวัน เราแวะไปเยี่ยมเยียนบ้านนาจอกกันอีกหลายต่อหลายครั้ง เพียงเพื่อที่จะพบว่าหมู่บ้านคนไทยเชื้อสายเวียดนามแห่งนั้นเงียบสงบคล้ายกับที่คนรุ่นต่อรุ่นของพวกเขาได้เล่าต่อกันมา นอกจากสุสานหน้าหมู่บ้านที่เขียนกำกับไว้ด้วยตัวอักษรแบบเวียดนาม หรือต้นหมากเรียงรายที่สะท้อนการใช้พืชชนิดนี้ในพิธีสำคัญต่างๆ ของคนเวียด นอกเหนือจากนั้น ล้วนคือผืนดินอันอุดมที่ไม่ว่าใครสักคนก็คงมองเห็นไม่แตกต่าง

 

เยี่ยงเดียวกับยามเย็นที่เราพากันลงไปในหาดทรายผืนกว้างแถบท้ายเมือง เดินผ่านเนื้อทรายดำเนียนไปสู่ชีวิตเช้าค่ำในสายน้ำโขงของผู้คนที่หากินอยู่กับแม่น้ำ ฝั่งท่าแขกแวมไฟตามอาคารบ้านเรือน แว่วเสียงดนตรีพื้นบ้านลอยมาตามลมเหนือลำโขง

 

หันมองกลับไปยังแผ่นผืนดินของนครพนม ที่ที่ใครหลายคนเดินทางมาปักหลัก พักพิง หรือแม้กระทั่งฝังรากรอวันเป็นที่พักวางลมหายใจ

 

หากแม่น้ำเป็นตัวแทนของการเดินทาง ไหลเรื่อย และแผ่นดินคือสิ่งสะท้อนการมีอยู่ของชีวิตอันหนักแน่น

 

ใครสักคนจะเข้าใจนิยามของสิ่งเหล่านั้นชัดเจน อาจต้องแลกมาด้วยการสั่งสม ปรับเปลี่ยน ถึงแม้ที่มาที่ไปของพื้นที่ตรงนัั้นจะหลากหลายไปด้วยสิ่งนานา

 

และนาทีนั้น แม่น้ำอาจไม่ใช่พรมแดนและนิยามทางภูมิศาสตร์ล้วนเลือนหาย หากจะเป็นได้ ก็คงเป็นสะพานที่มองไม่เห็น เชื่อมคนเข้าด้วยกัน ตราบเท่าที่ความเป็นจริงและชีวิตของพวกเขายังยินยอมจะก้าวร่วมในสิ่งเดียวกัน

 

How to Go?

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านนครราชสีมาถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านเข้าสู่มหาสารคาม จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข213 ไปกาฬสินธุ์ ผ่านภูพาน ถึงสกลนครใช้ทางหลวงหมายเลข 22 ตรงเข้านครพนม รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 740กิโลเมตร

 

ริมแม่น้ำโขงมีที่พักนอนสบายอยู่คู่คนนครพนมมานาน อย่างโรงแรมวิวโขงที่ถนนสุนทรวิจิตร เป็นจุดที่เห็นหาดทรายทองศรีโคตรบูรและฝั่งท่าแขก สปป. ลาว ได้สวยงามที่สุด โทรศัพท์ 0-4251-3564-70 เว็บไซต์ www.viewkonghotel.com หรือหากอยากลองโรงแรมใหม่ๆ ห่างจากตัวเมืองเพียง 2.5 กิโลเมตร แนะนำ ihotel โรงแรมเล็กๆ ตกแต่งน่ารักด้วยคอนเส็ปต์ร่วมสมัย โทรศัพท์ 0-4254-3355, 0-4254-3366

ผมรู้จักส่วนเสี้ยวที่ประกอบกันขึ้นเป็นนครพนม