ดร.เนตรปรียา ชุมไชโย

ดร.เนตรปรียา ชุมไชโย

ย้อนกลับไปหลังจากที่เธอเรียนจบชั้น ม.5 จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เธอก็เข้าศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีด้านการเงินธนาคาร จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากจุฬาฯ ทำงานอยู่หนึ่งปีก็ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาปริญญาโทด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ที่Loyola Marymount University และเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ดร.เนตรปรียา ชุมไชโย หรือครูเคทก็สามารถคว้าดีกรีระดับการศึกษาปริญญาเอกสาขาเดียวกันนี้ได้ที่ University of South Australia

 

ปัจจุบัน ดร.เนตรปรียา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ และยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาครูเคท ไปพร้อมๆ กัน เธอบอกว่าทุกวันนี้ของเธอมาจากจุดเปลี่ยนเพียงนิดเดียวเท่านั้น

 

“แรกๆ อยากเป็นหมอมาก เราทำคะแนนวิชาอื่นๆ ได้ดีหมด ยกเว้นวิชาเคมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น เราก็มาคิดแล้วว่าถ้าเป็นหมอแล้ววิชาเคมีเรายังไม่ดีพอ เราควรจะลองเปลี่ยนแนวทางดีไหม จึงได้ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่บวกกับความใกล้ชิดที่เราไปคลุกคลีกับการทำงานของทั้งสองท่านมาตั้งแต่เด็กๆ  คุณพ่อท่านจะมีสำนักงานบัญชีและคุณแม่ก็จะทำงานอยู่ที่แบงค์ชาติ ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนสาขาการเงินธนาคาร จนจบปริญญาตรีในคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชีที่จุฬาฯ พอเรียนจบก็เลือกฝึกงานที่บริษัทโฆษณา คือบริษัทชูโอเซนโกะ (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอยู่ในส่วนของประชาสัมพันธ์ และขายโฆษณาด้วย”

 

จากหน้าที่การงานที่ได้รับผิดชอบในครั้งนั้น ทำให้เธอได้ค้นพบความต้องการของตัวเองว่าเธอนั้นเหมาะกับงานด้านการตลาดโดยแท้จริง หลังจากที่สนุกกับการทำงานอยู่ได้หนึ่งปี เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจโดยตรงที่ Loyola Marymount University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเลือกเรียนในสาขา International Marketing ซึ่งพอเรียนจบก็ประจวบเหมาะกับธุรกิจด้านการส่งออกของไทยกำลังเริ่มพัฒนา นี่จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของเธอในการตัดสินใจเข้าไปรับราชการที่กรมส่งเสริมการส่งออก

 

“แรกเริ่มที่จะเข้าไปทำยอมรับว่าอิดออดอยู่พอสมควร เพราะเรายังเด็กเลยยังคิดเยอะเรื่องเงินเดือนข้าราชการที่ถือว่าน้อยมากในตอนนั้น ยังยึดติดความคิดที่ว่าเราเรียนจบมาจากเมืองนอกอย่างน้อยๆ ในสมัยนั้นน่าจะได้ค่าตอบแทนที่ระดับหมื่นปลายๆ 
แต่รับราชการได้เงินเดือนแค่ 2,700 บาทเท่านั้นเองหรือ คุณพ่อก็ได้ให้แนวคิดไว้ว่าเราก็ไม่ได้จะเดือดร้อนอะไรเรื่องเงินทองนักแต่สิ่งที่เราเรียนมามันสามารถนำมาช่วยพัฒนาประเทศได้ แถมยังได้พบเจออะไรใหม่ๆ ได้เปิดโลกทัศน์ของเราให้กว้างขึ้นได้อีกด้วย ก็เลยเริ่มมองเห็นคุณประโยชน์ตรงนั้น จึงตัดสินใจเข้ามาทำจวบจนถึงทุกวันนี้”

 

จะเห็นได้ว่าทุกรอยต่อของชีวิต เธอจะมีคนในครอบครัวคอยอนุบาลทางความคิดอยู่เสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเธอสามารถสร้างแนวทางชีวิตของเธอได้เองโดยที่ไม่หลุดกรอบ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของแต่ละคนจะไม่มีอะไรที่สวยหรูไปเสียหมด หากแต่มันจะมีหลุดกรอบไปมากหรือน้อยเพียงเท่านั้น และมันสำคัญตรงที่ทุกชีวิตน้อยๆ ของคนตั้งแต่เริ่มต้น ต้องมีผู้ที่คอยประคับประคองสอนแนวคิดต่างๆ ที่ยังเว้นที่เผื่อไว้ให้คนๆ นั้นต่อยอดเองได้

 

“เรื่องของการทำธุรกิจและการศึกษานั้นมันแยกกันไม่ออก อย่างนักธุรกิจไทยที่เติบโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก สาเหตุนั้นก็มาจากพื้นฐานการศึกษาและการดำเนินชีวิตที่ยังขาดการปรับตัวเข้าหาสิ่งต่างๆ แต่กลับต้องการให้สิ่งต่างๆ ปรับเข้าหา คนไทยไม่ค่อยยอมลำบาก การเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่มันย่อมเหนื่อยและหนักเสมอ ดังนั้นการก็อปปี้หรือทำซ้ำจากที่เขาเคยทำกันไว้แล้วจึงเป็นแนวทางที่คนไทยส่วนใหญ่นำมาใช้ ก็เพราะคุณขาดภาวะทางความคิด พอย้อนกลับมาจะมาเจอที่ต้นตอว่าเพราะการศึกษาของเรานี่แหล่ะที่ไม่ได้สอนให้คนไทยคิดเป็น

 

“จริงๆ มันต้องแก้ที่พื้นฐานความคิด การศึกษา แต่ถ้าง่ายๆ เลยคุณต้องเปิดตา เปิดหู เปิดใจ แล้วอ่านคนอื่นให้ออกใช้ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก อย่างเช่น เมนูที่เราจะขายฝรั่ง เราไปยัดเยียดเขาแต่ผัดไท ต้มยำกุ้ง แต่จริงๆ แล้วเมนูอันดับหนึ่งในยุโรปนั้นเป็นต้มข่าไก่นี่เอง แต่เราก็ยังดื้อที่จะขายต้มยำกุ้งอยู่นั่นแหละ และถึงแม้จะเป็นต้มยำกุ้งฝรั่งเขาก็จะอยากทานในรสชาติที่เหมาะกับเขามากกว่าที่จะมาเผ็ดร้อนในสไตล์เรา คือเราต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้าง

 

“ข้อเท็จจริงที่เราลืมไม่ได้ก็คือเราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนลิ้นของคนได้ แต่เราไปสู้ด้วยการแนะนำให้เขารู้จักว่าจริงๆ แล้วต้มยำกุ้งของเรามันหน้าตาอย่างไร ดีอย่างไร เป็นการขายด้านวัฒนธรรม แล้วเขาจะไปปรับให้เป็นรสของชาติไหนทานก็ไม่เป็นไรจะดีกว่า อย่าไปกลัวเลยว่าสูตรมันจะเพี้ยน เพี้ยนยังไงแบรนด์เราก็ยังอยู่

 

“ปัญหาสำคัญทางด้านธุรกิจของไทย เรามีจุดอ่อนตรงที่พื้นฐานเราไม่ค่อยมีเซ้นส์ทางธุรกิจ เราต้องมาเพิ่มมูลค่าสินค้า สู้ที่ดีไซน์แล้วก็การสร้างแบรนด์ซึ่งไม่ใช่แค่การตั้งชื่อยี่ห้อของสินค้าเท่านั้น เราต้องสื่อสารจุดประสงค์และภาพลักษณ์ของเราไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าให้ได้นั่นเอง เริ่มศึกษาได้แล้วว่าคนอื่นเขาทำอะไรอยู่ ในปี 2558 อาเซียนจะรวมเป็นหนึ่ง เราควรจะมองออกได้แล้วว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งแรกที่จะเห็นเลยก็คือสินค้าทั้งหลายในอาเซียนก็จะทะลักเข้าไทย แต่สินค้าไทยก็ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะทะลักเข้าประเทศในอาเซียนเลย การการฉกฉวยโอกาสที่จะไปเป็นสินค้าอันดับหนึ่งในใจของคนในอาเซียน นั่นคือสิ่งที่ต้องทำ และเมื่อวันนั้นมาถึงระวังว่าจะเป็นแบรนด์ของสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่เขาเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วก็ได้

 

“เรื่องของแรงงานก็จะเกิดปัญหาเพิ่มระดับขึ้นมาจากแรงงานขั้นต่ำทั่วไปแล้ว แรงงานประเภท Skill Labor หรือพวกที่จบปริญญาโท-เอกนั้นจะเข้าขั้นวิกฤติไปพร้อมๆ กันด้วย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว เราพูดอังกฤษกันได้น้อยมาก ไม่ต้องหวังภาษาที่สาม ประสบการณ์และความพยายามก็น้อย ถือว่ามีคุณภาพและศักยภาพต่ำที่สุด อย่างที่องค์การยูเนสโก้เขาจะมีการสำรวจทักษะภาษาอังกฤษและไอคิวกันทุกๆ สองปี เมื่อก่อนไทยจะอยู่ที่อันดับ 8 มาตลอด รองลงไปจะเป็นลาวและเขมรแต่ตอนนี้ไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 10 มาหลายปีแล้ว ส่วนระดับของไอคิวนักศึกษามหาวิทยาลัยของเราอยู่ที่ระดับ 88 คืออยู่ในเกณฑ์ปัญญาทึบเลยนะ โดยเฉลี่ยในอาเซียนแล้วควรอยู่ในระดับหนึ่งร้อยขึ้นไป แล้วถ้าต่ำลงมา 80-60 เราจะเข้าขั้นปัญญาอ่อนทันทีเลยนะ แต่เงินเดือนเรากลับแพงมากเทียบเท่ากับสิงคโปร์ทั้งที่เขามีคุณภาพมากกว่า”

 

ครูเคทยังให้แง่คิดถึงการพัฒนาตนเองได้ง่ายๆ ที่เธอได้ซึมซับมาจากการทำงานร่วมกับเจ้านายหลายๆ ท่าน โดยเริ่มจากการบริหารเวลาทางความคิด อย่างการจะทำอะไรก็ควรจากการวางแผนที่ละขั้น เรื่อยไปจนถึงหลายๆ ขั้นพร้อมๆ กันให้ได้ เพราะเราความสามารถของคนเราไม่ได้ถูกขีดไว้แค่การทำทีละสิ่งเท่านั้น และเราควรจะเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ได้ ทุกทางตันย่อมมีทางออกเสมอ แม้จะเป็นรูเล็กๆ ก็ตาม

 

“เรื่องของการประสบความสำเร็จ ทุกวันนี้แค่รู้จักพอมันก็จบแล้วล่ะ เราก้าวขึ้นมาอยู่บนยอดสูงสุดตามกฎของ Maslow เร็วมากจากฐานรากเรื่องของความต้องการเพื่อการอยู่รอด ต่อด้วยความปลอดภัย ต่อมาเป็นเรื่องของการสร้างความสำเร็จเพื่อ
ตนเองแล้ว เรายืนอยู่บนจุดแห่งการคืนกลับสู่สังคมแล้ว โดยนอกจากทำงานที่กรมฯ สอนหนังสือที่โรงเรียนสอนภาษาฯ แล้ว ยังรับเป็นที่ปรึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งทางด้านธุรกิจและครอบครัวให้แก่คนที่ประสบปัญหา สิ่งที่ดีขึ้นของเขา มันคือความสุขที่เราได้กลับมาค่ะ”

 

Know Her

• เธอได้รับรางวัลถึง 4 รางวัลนักเขียนเบสเซลเลอร์จากสำนักพิมพ์สุดสัปดาห์ บริษัทอัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัดรางวัล Woman of Year 2002 จากนิตยสาร Cosmopolitan รางวัล Working Woman o Year 2002 จากนิตยสารWorking Woman และล่าสุดกับรางวัล NIVEA Thailand Most Influential Woman Award 2009

• สามารถนัดเวลาเพื่อขอคำปรึกษาปัญหาด้านธุรกิจและปัญหาครอบครัวฟรีกับ
ครูเคทได้ที่ โทร.0-2619-9979

แม้เธอจะเป็นบุคคลที่ต้องสวมหมวกซ้อนกันถึงหลายใบ