หนองคาย

หนองคาย

ผมยืนอยู่กลางสะพานนิ่งนาน ไม่ได้ใส่ใจเรื่องเวลาและเรื่องเขตแดนมากนัก ต่อหน้าตะวันดวงเดียวกัน โลกรายล้อมคล้ายไม่ต่องการสิ่งเหล่านั้น มีแต่คำถามประเภทที่ว่า สิ่งใดกันแน่ดึงดันให้ใครสักคนเลือกผืนแผ่นดินข้างล่างเป็นบ้านหรือจุดพักวางหลายอย่างของชีวิต

 

ใครสักคนกล่าวไว้ บุคลิกของเมืองชายแดนเป็นเรื่องเฉพาะที่ แต่ละแห่งมีเสน่ห์แตกต่างกันไป

 

แต่สิ่งที่ไม่น่าจะต่างคือสีสันชีวิตของผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เหล่านั้น ที่ผ่านการดิ้นรน ปรับเปลี่ยน และปักหลัก สะสมรอยยิ้มและหยดน้ำตามาควบคู่

 

ชายแดนสำหรับคนที่นี่อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่เส้นกั้นระหว่างแผ่นดิน การข้ามผ่านหรือความแตกต่างของคำเรียกชื่อประเทศ ผู้คนยังคงสบตากันอย่างเป็นมิตรเหมือนมันมิได้ดำรงอยู่

 

การค้าขายอันคึกคัก สินค้าต่างสัญชาติอันเป็นที่ตื่นตาของผู้มาเยือน ความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้อง ศิลปกรรมเก่าแก่ จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด หรืออะไรก็ตามแต่ที่ล้วนเดินทางข้ามผ่านคืนวันความเปลี่ยนแปลงมาสู่นาฬิกาเรือนปัจจุบัน เหล่านี้ต่างหากที่สำคัญกว่าพิกัดของเส้นรุ้งเส้นแวงอันลากสายวุ่นวายอยู่ในแผนที่

 

แม้ชายแดนจะทำให้ใครบางคนรู้สึกถึงคำว่าอาณาเขต แผ่นดิน ความเป็นเจ้าของ

 

แต่จะมีความหมายอะไรได้อีก หากเขาไม่ได้ใช้ชีวิตหรือหลับตาอยู่ตรงนั้นทุกค่ำคืน

 

ถนนมีชัยกลางเมืองหนองคายในวันหม่นฝนครึ้มสบาย เดินเล่นดูความเป็นไปบางส่วนได้อย่างแช่มชื่น ขบวนพระสงฆ์จากวัดโพธิ์ชัย วัดศรีคุณเมือง และอีกหลากหลายเพิ่งเดินผ่านลับกลับประตูวัด หลังจากปรากฏเป็นภาพอันเปี่ยมศรัทธามาเมื่อเช้าตรู่

 

ถนนเล็กๆ ริมลำโขงเส้นนี้เต็มไปด้วยความเก่าแก่และลมหายใจของคืนวัน ตึกแถวและห้องแถวไม้เก่าแก่กระจายตัวกันอยู่สองฟากถนนมีชัย ผสมผสานงานช่างเวียดนาม ช่างจีน และความเป็นตะวันตกจากยุคอาณานิคมของฝรั่งเศสจากฝั่งลาวไว้ด้วยกันจนกลายเป็นความสวยงามสองข้างถนน ที่แม้แต่คนไม่เจนจัดในประวัติศาสตร์หรือสถาปัตยกรรมก็อดไม่ได้ที่จะหยุดยืนดูรายละเอียดเหล่านั้น

 

“เห็นเงียบๆ อย่างทุกวันนี้ แต่ก่อนแถวนี้คึกคักที่สุดล่ะ” ป้าฉวีวรรณ โควสุภัทร เอนหลังพิงกำแพงตึกเก่าสีเหลืองหม่น จักรยานโบราณอิงอยู่ตรงอาณาเขตทางเดินหน้าบ้าน ซึ่งก็คือห้างหุ้นส่วนจำกัด วิวัฒน์การค้า บ้านที่ป้าลืมตาซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2468 “ตอนนั้น 2 ขวบเอง” เธออมยิ้ม

 

“เยื้องๆ ที่ฝั่งตรงข้ามนั่นของตระกูลเก่าแก่ที่สุดในหนองคาย” ก่อนการมาถึงของอาคารตึกปูนอย่าง วิวัฒน์การค้า ตึกแถวไม้สามชั้นสีฟ้าอ่อนอย่าง คิมฮะฮวด ที่เช้านี้ปิดเงียบ โชว์บานประตูยาวเหยียดเสียจนฝรั่งสองสามคนที่ขี่จักรยานออกเที่ยวทนไม่ไหวจอดรถลงไปก้มๆ เงยๆ เพ่งมอง

 

จัมโบหรือที่เรียกกันในท้องถิ่นอื่นของภาคอีสานว่าสกายแล็บวิ่งผ่านไปมา เป็นสีสันความคึกคักอันเข้ากันดีกับย่านเก่า แดดสายระบายซุ้มประตู ลวดลายพรรณพฤกษาตามช่องลมหรืออาร์คโค้งของกรอบหน้าต่างที่ประดับคีย์สโตนไว้อย่างเหมาะเจาะลงตัวสะท้อนส่วนเสี้ยวของศิลปกรรมโคโลเนียลที่พัดพามาตามชาติอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส

 

ตึกของวิวัฒน์การค้าสร้างโดยช่างเวียดนามที่อพยพมาในลาวและข้ามฝั่งมาหนองคายครั้งสงครามอินโดจีน “ไม้ตะเคียนทั้งหลังเชียวนา ตอนนั้นฉันว่าหลังมันใหญ่กว่านี้เยอะ สงสัยบ้านเรือนมันยังไม่ขยาย” ป้าอมยิ้มราวเด็กๆ ผมนึกภาพตึกปูนทรงสวย มีหัวเสาคอรินเธียนประดับ มันน่าจะดูโอ่อ่าอยู่ไม่น้อยในสมัยนั้น

 

“คนลาวเทียบหัวเรือเข้ามาถึงตลิ่งหลังบ้านเลย เข้างานบุญ งานออกพรรษานี่แทบจะไม่ได้ว่างเว้น” ตอนนั้นป้าฉวีวรรณยังเล็ก รู้แต่เพียงแม่น้ำโขงที่อยู่ถัดไปหลังบ้านนั้นแสนกว้างใหญ่ และคนที่ข้ามมาหาเตี่ยก็ไม่ใช่คนไทย “หมดเสียงปืนนั่นล่ะ ไอ้ภาพคึกคักที่ว่าก็ค่อยๆ หายไป” หลังสงครามแบ่งแยกภายในลาวสิ้นสุด

 

ย้อนไปในความเก่าแก่มาสมัยอาณาจักรล้านช้าง ที่ศูนย์การปกครองอยู่ตรงเวียงจันท์อันตั้งอยู่อีกฟากฝั่งโขง สู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์ ผ่านสมัยศึกฮ่อ ผ่านผลกระทบทางการยึดครองลาวของฝรั่งเศสที่ตกทอดอยู่ในหลากมิติ เมืองชายแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยเรื่องเล่า บางอย่างคือสงคราม ขณะที่อีกหลายแง่มุมล้วนเป็นการฝังรกรากชีวิต

 

“คนจีนในตลาดนี่แต้จิ๋วเกือบหมดละ อ้อ เชื้อสายเวียดนามก็เยอะนะ ตามประสาเมืองริมโขง” ชายแดนในอดีตไม่ได้กินความอยู่แค่เขตแดนการปกครอง แต่เป็นที่พักพิงของคนหลากหลายที่มีจุดหมายร่วมกันอยู่ ณ แผ่นดินใดแผ่นดินหนึ่ง

 

ถนนมีชัยพาผมเดินเลาะผ่านทางเข้าตลาดท่าเสด็จ ที่ยามเช้ายังเงียบเหงา หากไม่นับจัมโบที่ให้ความรู้สึกของการมาเยือนอีสานบรรยากาศความผสมผสานของความเป็นเวียดนามกลับมีให้เห็นมากกว่า บ้างอยู่ในเรื่องอาหารการกิน ร้านดาริกายังคงเป็นที่ทางของคนเก่าแก่ สภากาแฟ และฝรั่งบางคนที่เลือกหนองคายเป็นบ้าน ไข่กระทะ บาแกตหรือขนมปังฝรั่งเศสสอดไส้หมูยอกุนเชียง ต้มเส้นโชยควันฉุย

 

ใช่เพียงคนจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาสู่แผ่นดินชายแดนอย่างหนองคายเพื่อปักหลักทำกิน แต่แรงขับจากสงครามในอินโดจีนก็พาผู้คนเวียดนามผ่านดินแดนลาว ข้ามน้ำโขงมาหายใจตนเองอยู่ที่นี่เช่นกัน

 

“จำได้พี่ก็โตมาริมโขงแล้ว” สุทินา ธวิกิจถาวร ไม่เพียงแต่จดจำทุกตารางเมตรในเรือนแถวไม้สองชั้นสีฟ้าอันแสนสวยด้วยลายฉลุหลังนี้ได้ดี แต่ย่านตลาดและบ้านพี่น้องที่มีเชื้อสายเวียดนามเช่นเดียวกับเธอ ก็ล้วนอยู่ในความทรงจำไม่แตกต่าง

 

“บ้านนี่สร้างมาตั้งแต่รุ่นปู่แล้ว” ใช่เพียงเฝอรสกลมกล่อมที่ดึงดูดลูกค้าเข้ามานั่ง สำหรับบางคน ลวดลายแกะสลักไม้
เป็นรูปพรรณพฤกษาเกี่ยวกระหวัดเหนือขอบประตูก็ทำให้ห้องแถวไม้สีฟ้าซีดๆ 2 ห้องเยื้องวัดศรีคุณเมืองแห่งนี้ยิ่งดูมีเสน่ห์ “ถึงรุ่นพี่นี่ก็เกือบร้อยปีแล้วมั้ง” เธอโคลงศรีษะนับเลข ขณะที่มือยังระวิงลวกเส้นที่สั่งตรงมาจากอำเภอท่าบ่อ “เส้นท่าบ่อดีที่สุด หนุบแต่ไม่เหนียว”

 

อาหารเวียดนามที่ผสมผสานอยู่ในชีวิตคนหนองคายทุกวันนี้ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกแรกๆ ของคนที่เพิ่งมาถึง เช้าๆ ไข่กระทะและต้มเส้นเป็นของกินง่ายๆ ที่โด่งดัง และไม่กี่วันให้หลังผมก็พบว่า หนองคายมีร้านต้มเส้นกระจัดกระจายอยู่ตามถนน 2 สายอย่างถนนมีชัยและถนนประจักษ์ฯ อย่างที่คนที่นี่เองบางทีก็ไม่เจาะจงลงไปว่าเจ้าไหนอร่อย “แต่ละเจ้าก็มีดีของเขา ใครชอบร้านไหนก็เข้าร้านนั้นค่ะ” ลูกสาวของสุทินาที่ยืนตักลอดช่องอยู่หน้าร้านเล่าอมยิ้ม นี่ก็ขนมที่ตกทอดมากับวัฒนธรรมของพวกเขาอีกนิดหนึ่ง

 

เช่นนี้เอง มื้อเที่ยงในหนองคายจึงมีคนถามถึงแหนมเนืองมากกว่าข้าวเหนียวส้มตำเสียอีก ยังไม่นับขนมกินเล่นอย่างขนมเบื้องญวน เพื่อนช่างภาพชอบในสีสันและรูปทรงแบนๆ สีเหลืองอ่อนยามสุกอยู่ในกระทะ “ซื้อขนมเก่า ข้างบ้านเก่า จากคนเก่า” เขาว่าพลางยิ้มละมุน

 

จากเรื่องเล่าในรสอาหารเวียดนาม อาคารก่ออิฐถือปูนสีขาวสลับน้ำตาลแถบหนึ่งริมถนนมีชัยก็ดึงให้ผมมายืนอยู่หน้าสารพันสมุนไพรและตู้กระจกขนาดใหญ่โตเท่าผนัง มันดูสง่างาม น่าเพ่งมอง ทว่าก็ให้อารมณ์ยามเด็กเข้าไปหาผู้ใหญ่ คือต้องนอบน้อมระมัดระวัง

 

เรือนแถวเลขที่ 249 หลังนี้เหยียดขยายถึง 5 ห้อง แค่มองจากภายนอก ใครสักคนอาจอดไม่ได้ที่จะจินตนาการถึงเฒ่าชราและลูกหลานหลายรุ่นที่ผูกพันกันอยู่ข้างใน

 

“ป้านิธินั่นพี่สาวผมล่ะครับ” ลุงตรีรัตน์ สีมะสิงห์เต็มไปด้วยรอยยิ้มและจังหวะพูดเนิบๆ ป้ายร้านสีมะสิงห์โอสถที่อยู่เหนือขึ้นไปบอกถึงการเป็นร้านขายยาแผนโบราณเก่าแก่ของเมืองชายแดนแห่งนี้ซึ่งคุณป้านิธิ สีมะสิงห์ คือหมอยาของคนหนองคายมาแล้วรุ่นต่อรุ่น

 

ที่บ้านสีมะสิงห์ นอกจากความเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรุ่นแรกของหนองคายอันคงเสน่ห์อยู่ตามเสา ประตู บานหน้าต่างไว้อย่างน่าหลงใหล ตู้ยาแผนโบราณขนาดใหญ่ที่เก็บตัวยาแผนโบราณหลายสูตรไว้ข้างในล้วนคือภาพบางอย่างที่หลงเหลือและแสดงถึงการมีอยู่จริงของความเชื่อมั่นในวิถีทางโบราณ

 

“พี่ผมและคนหนองคายดูแลกันและกันมานานครับ ชายแดนแต่เดิมกว่าจะมีโรงพยาบาลรัฐนี่ก็เนิ่นนาน” อย่างถ่อมตน ลุงตรีรัตน์พูดถึงพี่สาวของเขาด้วยแววตาชื่นชม

 

จริงๆ แล้วตระกูลสีมะสิงห์เป็นหมอกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ของลุงตรีรัตน์ “ท่านเป็นหมอประจำลำพูน ตอนไปร่วมสงครามอินโดจีนจึงเจอกับคุณย่า คนหลวงพระบาง พากันมาตั้งบ้านที่นี่ล่ะ” ด้วยความผูกพันกับอีกฟากโขง เรือนแถวไม้หลังนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าเพ็ชรราช มหาอุปราชลาว ครั้งที่เสด็จลี้ภัยทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากหลวงพระบาง

 

ภายในบ้านสีมะสิงห์ ลมจากถนนมีชัยพัดเข้ามาเย็นสบาย หากเดินทะลุประตูหลังและเลาะที่ว่างไปอีกหน่อย ตรงนั้นคือแม่น้ำโขงกว้างไกล คุณลุงคุณป้าแวะเวียนมาซื้อหาหยูกหยา หรือไม่ก็ขี่รถเครื่องมาไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบ ร้านขายยาโบราณในบ้านเก่าแก่เกือบร้อยปี ท่ามกลางตู้ไม้กรุกระจก โหลยา กระป๋องสังกะสี ภาพถ่ายโบราณ ผมเหมือนโลดแล่นอยู่เหนือกาลเวลา

 

ไม่ใช่จากความเก่าแก่ของบ้านที่ครอบคลุมเราอยู่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งคงทนของวันเวลาที่วิ่งวนอยู่ในชีวิตร่วมสนทนาในบ่ายนี้เสียมากกว่า ที่ต่างดำรงอยู่คู่เคียงมาอย่างยั่งยืน

 

ทางเดินที่ถัดจากถนนมีชัยเข้ามาใกล้แม่น้ำโขงพาเรากลับสู่ภาพปัจจุบันอันเป็นไปของหนองคายอย่างรื่นรมย์ ตลาดอินโดจีนคึกคักในยามสายอย่างที่มันเป็นมาเกือบ 20 ปี ซึ่งจะว่าไป จากแต่เดิมครั้งที่ลาวยังไม่ได้เปิดประเทศและสะพานมิตรภาพไทย-ลาวยังไม่ปักหลักตอม่อลงกลางน้ำโขง ท่าเสด็จหรือที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกกันว่าท่าด่านไม่ได้มีข้าวของมากมายถึงเพียงนี้ แต่เต็มไปด้วยภาพเอื้ออาทรและพึ่งพาอย่างที่ยังคงอยู่ในแววตาของผู้เฒ่าผู้แก่

 

ภาพการค้าและสินค้าที่หลั่งไหลทั้งจากจีน อาหารการกิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับราคาถูก เป็นผลพวงและการยอมรับว่าชายแดนอย่างหนองคายและผู้คนทั้งสองฟากโขงได้ก้าวสู่โลกเสรีแห่งทุนนิยมอย่างเป็นจริงเป็นจัง

 

ไม่มีใครให้คำตอบไปได้มากไปกว่าชีวิตประจำวันที่เต้นแสดงบทบาทอยู่ริมโขงของพวกเขาเอง ท่ามกลางการพัดพาทุกสิ่งไปอย่างเท่าเทียมกัน บางสิ่งคงอยู่ บางสิ่งเปลี่ยนแปลงหรือดับไป เหตุผลหลายอย่างซับซ้อนและไม่น่าใส่ใจไปกว่าการที่ถึงอย่างไรเมือง ๆ หนึ่งก็มีหนทางของตนเองเสมอ ซึ่งบางทีก็ไม่ต้องหาเหตุผลไปอธิบาย

 

ขอเพียงให้รู้ว่าระหว่างทางที่ก้าวมาไกลแสนไกล พวกเขาไม่ต้องเดินไปอย่างโดดเดี่ยว

เย็นวันหนึ่งกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว