ประเสริฐ  ธีรนาคนาท

ประเสริฐ ธีรนาคนาท

Life & Learn

“ผมเป็นลูกครึ่งไทย-จีน เตี่ยเป็นคนจีนโล้สำเภามาจากแผ่นดินใหญ่ มาขึ้นที่จังหวัดชลบุรีแล้วมาอยู่กินกับแม่ที่เป็นคนไทย ย่านทรงวาด ท่านขยันทำงานทุกอย่าง เก็บเล็กผสมน้อยจนกระทั่งมีทรัพย์สิน จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นโดยเตี่ยเปิดโรงงานทำถังสังกะสีสำหรับใส่น้ำหรือหาบ ธุรกิจมีกำไรดี ขายไปหลายจังหวัดในแถบภาคอีสาน ผมเป็นลูกคนที่ 2ในจำนวนพี่น้อง 9 คน เมื่อมีความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจเริ่มขยาย มีคนงาน 40-50 คนทำถังขายอย่างเดียว เพราะยังไม่มีคู่แข่ง ถังพาสติกยังไม่เข้ามา มีทีวีดูเป็นเครื่องแรกของจังหวัด เด็กๆ ในละแวกบ้านตื่นเต้นมาดูเต็มไปหมด (หัวเราะ) เตี่ยเตรียมขนมเตรียมน้ำไว้ให้กิน แต่แม่ไม่ค่อยชอบเพราะมันวุ่นวายของหายเป็นประจำ

 

“มีอยู่คืนหนึ่งโชคไม่ดี ไฟไหม้โรงงานหมดเลย ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรเพราะอายุแค่ 7-8 ขวบ ประกันภัยสมัยนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมทำให้ครอบครัวลำบาก

 

“ก่อนจะเกิดไฟไหม้ เตี่ยอยากให้ผมไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ผมไม่ยอมไป ชีวิตเด็กๆ ไม่เคยห่างบ้านแม้แต่ครั้งเดียว เรียนจนจบม.ศ.3 เตี่ยให้ลาออกมาช่วยกิจการทางบ้าน แม้ธุรกิจมันจะเริ่มลำบากขึ้น คนใช้ถังน้ำสังกะสีน้อยลงเพราะมันหนัก การทำโรงงานถังน้ำสังกะสีมันไม่ง่ายเลย ต้องปล่อยสินเชื่อเหมือนกัน ปล่อยไปทั่วอีสาน ตามเก็บตามทวงหนี้ไม่ค่อยจะได้ ไหนจะต้องดูแลคนงาน เวลากินข้าวเตี่ยจะเรียกคนงานมากินพร้อมกันหมด เตี่ยต้องต่อลำโพงเปิดเพลงลูกทุ่งให้คนงานฟัง ทำให้ผมชอบเพลงลูกทุ่งไปด้วย (หัวเราะ) อาหารก็ดีดนตรีก็เพราะ แถมสวัสดิการยังดีอีก ไม่มีคนงานลาออกสักคนเพราะเขาชอบเถ้าแก่ พอถึงเทศกาลตรุษจีน ผมจึงได้ของเล่นเยอะหน่อย พวกพ่อค้าเพื่อนฝูงเตี่ยเยอะ เพราะเขาเป็นคนใจกว้างมีเหลือเผื่อแผ่ ชอบช่วยเหลือคน เพื่อนฝูงจึงรักใคร่ เมื่อโรงงานไฟไหม เตี่ยจนลงก็เกิดความเครียด เพื่อนฝูงหายหมด ไม่มีใครช่วยเหลือเราเลย เราต้องดิ้นรน ผมต้องลงไปหาญาติสนิทคือน้องของเตี่ยไปอาศัยเขาอยู่และเริ่มฝึกงานชีวิตเริ่มดีขึ้น”

 

ศิษย์รัก อาจารย์ป๋วย

“สมัยก่อนมีสตางค์เยอะ แต่ซื้อที่ไม่ได้เพราะเป็นคนต่างด้าว ผมเองยังไม่บรรลุนิติภาวะ จำได้ว่าก่อนหน้านั้นเตี่ยชอบเก็บสะสมทองคำไว้เยอะมาก เมื่อเกิดไฟไหม้โรงงานด้วยความตกใจ หลังจากนำลูกเมียออกจากกองเพลิงได้ เตี่ยวิ่งไปเอาทองคำที่เก็บไว้แล้วส่งให้คนงานเก็บไว้ให้แล้ววิ่งเข้าไปเอามาใหม่ ปรากฏว่าหลังเพลิงสงบ คนงานเอาทองคำเราหลบหนีไปด้วย (หัวเราะ) 
หลายวันผ่านมาผมไปเจอคนงานคนนี้ ปรากฏว่าเป็นเศรษฐีไปเลย เขานำทองคำไปขายที่ตลาด นำเงินมาซื้อที่นา จำแทบไม่ได้เพราะเวลายิ้มมีฟันทองเลี่ยมอยู่เต็มปากเลย (หัวเราะ)

 

“จากนั้นผมไปสอบเข้าพาณิชยการพระนครได้ เรียนถึงปี 3 และไปสอบเทียบได้อีก จึงไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์ภาคค่ำ แต่ยังไม่ได้บอกเตี่ย ที่ผมชอบธรรมศาสตร์ที่สุดเพราะผมได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ท่านเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เรียนถึงปีสุดท้ายก็มาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคมปี 2516 “ผมศรัทธาท่าน มาก อาจารย์ท่านดีมากผมมีความผูกพันกับอาจารย์ป๋วย ตอนนั้นท่านเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ด้วยกฎกติกาต้องรับเงินเดือนทางเดียวหรือต้องรับอย่างละครึ่งท่านเลือกรับที่ละครึ่ง เงินเดือนคณบดีสมัยนั้นถูกมากแค่ 8,000 บาท ในขณะที่แบงก์ชาติเดือนละเกือบ 40,000 บาท ท่านเลือกลาออกจากอาจารย์ก็ได้ แต่ท่านมีความมุ่งหมายที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ท่านมักจะพูดว่าท่านจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่เหมือนกับผ้าขาวสะอาดเพื่อสร้างคนที่ดีมีคุณธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม แล้วท่านเป็นคนที่ให้โอกาสคนยากจนที่ดิ้นรนทำงานกลางวันไม่มีโอกาสได้เรียนมาเรียนภาคค่ำ ใครขัดสนเรื่องเงินทอง ท่านจะควักกระเป๋าเอาสตางค์ออกทุนให้เรียน ท่านอยู่อย่างสมถะ บ้านไม้เก่าๆ ดูทีวีขาวดำ หายากมากคนที่เสียสละแบบนี้

 

“ลูกชายท่านคือคุณจอน อึ๊งภากรณ์ จะไปสอบชิงทุนรัฐบาล ท่านไม่ยอมให้ลูกไปสอบ ท่านบอกว่า ‘ลูกจะทำอย่างนี้ไม่ได้ ลูกมีแม่เป็นฝรั่ง ภาษาลูกก็ดีกว่าเขาอยู่แล้ว ทำอย่างนี้ทำไม พ่อเองก็มีฐานะปานกลาง พ่อก็ส่งเสียได้อยู่แล้ว ทำไมต้องไปแย่งชาวบ้าน พ่อเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ถ้าลูกไปสอบสัมภาษณ์คนเขาก็ต้องเกรงใจ พ่อไม่ให้ลูกไปเบียดเบียนลูกชาวบ้านหรอก’ หาคนอย่างอาจารย์ป๋วย แบบนี้ได้ยากจริงๆ ท่านไม่เคยทะเยอทะยานที่จะมาเป็นผู้นำประเทศ ผู้ใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เคยเชิญท่านมาเป็นหัวหน้าพรรคท่านยังไม่ยอมรับเลย

 

“ทุกวันนี้ผมก็พูดกับลูกสาวทั้ง 2 คนว่าให้มีความเสียสละอย่าไปเบียดเบียนผู้อื่นเขา คนโตจบทันตแพทย์จุฬาฯ คนที่ 2 เรียนที่ธรรมศาสตร์ปี 3 คณะบริหารธุรกิจ เรียนเก่งทั้งคู่ ไม่น่าเป็นห่วง เพื่อนๆ พี่และรุ่นน้องของผมทุกวันนี้อยู่ในรัฐบาลนี้ทั้งนั้น เป็นรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา เป็นข้าราชการผู้ใหญ่และปลัดกระทรวงพาณิชย์

 

“ผมทำงานแบงก์ที่แรก พนักงานจะกลัวในเรื่องการตั้งสหภาพแรงงาน กลัวเจ้านายรู้และถูกไล่ออกเพราะกระแสการถูกเอาเปรียบมันสูง เพื่อนผมถูกย้ายไปมุกดาหาร ทุกคนในแบงก์ถอดใจออกจากสหภาพ ตอนนั้นคุณชัย ราชวัตร คุณปวีณา หงสกุล ก็ทำงานแบงก์ คนมาอยู่สหภาพต้องเสียสละกำลังทรัพย์และเวลา ผมเพียงต้องการช่วยเพื่อนที่อยู่นครหลวงเท่านั้น เงินเดือนมันไม่ขึ้น โอทีมันไม่ได้ เมื่อผู้ใหญ่รู้ว่าผมตั้งสหภาพแรงงาน สุดท้ายผมถูกเตะโด่งไปอยู่ที่สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ไปเป็นสมุห์บัญชีเพื่อทำสาขาคอมปาโด ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสำนักงานใหญ่อยู่แล้ว และผมดันเป็นตัวแทนของสำนักงานใหญ่ ตอนนั้นภาคใต้ไม่ใช่ร่มเย็น ใต้เดือดเป็นไฟ ตอนแรกจะเจริญรอยตามอาจารย์ป๋วยไปทำงานที่แบงก์ชาติ เผอิญแบงก์กรุงไทยประกาศรับสมัคร ผมจึงลาออกจากแบงก์นครหลวง”

 

Work

“ผมเป็นกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงบริหารทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นประธานกรรมการจัดการกองทุนรวมของธนาคารกรุงไทยทั้งหมดและอีกหลายตำแหน่ง

 

“ก่อนที่จะมาทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกรุงไทย ผมเคยทำงานที่ธนาคารนครหลวงมาก่อน เป็นธุรกิจเอกชนที่ตั้งมานานแล้ว สมัยเมื่อ 40-50 ปีก่อน มันมีคำว่า คอมปาโด (Compado) ธนาคารต่างๆ ที่เปิดขึ้นมา ไม่ได้มีเงินทุนมากมายอะไรเมื่อไม่มีทุนก็ขยายธุรกิจลำบาก ธนาคารในสมัยนั้นจึงไปชวนคหบดีในพื้นที่ต่างจังหวัดมาร่วมทุนเพราะคหบดีมักจะมีเงินถุงเงินถังเป็นคนมีชื่อเสียงฐานะมั่นคงในท้องถิ่น แต่พวกเขาไม่มีใบอนุญาตในการประกอบกิจการแบงก์ จึงต้องมาร่วมมือกันในการลงเงินแต่ชื่อเสียงเป็นของธนาคาร ผลประโยชน์กำไรก็แบ่งกันคนละครึ่ง เมื่อมีเงินมากก็เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกัน คนท้องถิ่นก็พยายามตั้งตัวด้วยการปล่อยสินเชื่อนอกระบบ ยกตัวอย่างผมปล่อยให้นาย ก.ไป ถ้าการติดต่อมันปกติก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่วันหนึ่งนาย ก.ไม่มีเงินชำระ เงินอะไรไม่ได้ ก็จะผลักภาระให้กับแบงก์ไปเป็นลูกหนี้แบงก์หรืออาจจ่ายเช็คเด้ง ดันไปเข้าบัญชีกระแสรายวัน พอเช็คเด้งเขาก็ผ่านวงเงินให้ จึงเป็นลูกหนี้แบงก์ แต่ว่าหนี้ของพฤติการณ์หรือนักลงทุนท้องถิ่นก็ต้องหยุดไปเพราะคนที่เป็นนายทุนเซ็นต์เช็คในฐานะที่ต่างสาขาผ่านเช็คใบนี้ไปซึ่งเงินในบัญชีของเขาในแบงก์ไม่พอก็กลายเป็นหนี้แบงก์ จะทำกันอย่างนี้ตลอด สมัยนั้นระดับเจ้าขุนมูลนายชอบที่จะลงทุนทำธุรกิจแบบนี้เพราะมันง่ายแล้วยังมีแบงก์หนุนหลัง มีปัญหาก็ผลักภาระเข้าแบงก์ ก็เลยรวยกันใหญ่ ถ้าล้มมันก็ไม่มีความเสี่ยงเลย เขาก็ร่ำรวยกันมาจากการทำธุรกิจที่ถูกกฎหมาย รับรองไม่มีความเสี่ยง

 

“ในสายตาของคนแบงก์ในปัจจุบัน คอมปาโดมันไม่ควรเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเราเป็นสถาบันการเงินในระบบมีกฎ กติกาเยอะแยะต้องขอใบอนุญาต ต้องมีทุนประกอบกิจการมากพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ว่านายทุนนอกระบบเขาแทบไม่ได้ลงทุนอะไรมากมายเท่าไร เมื่อเขามีเงินเขาก็นำเงินมาปล่อย ปัจจุบัน คอมปาโดไม่มีแล้ว สูญพันธุ์ไปหมด ต้องมีการบังคับจากธนาคารแห่งประเทศไทยว่าแบงก์จะต้องเข้าไปดำเนินการไม่ให้ คอมปาโดหรือนายทุนท้องถิ่นมีส่วนเป็นเจ้าของธนาคาร ต้องเพิ่มทุนหรือซื้อหุ้นกลับคืนมา เพื่อให้มันเข้าระบบ จะได้มีความเชื่อมั่นเชื่อถือจากประชาชน ความเสียหายจึงจะไม่เกิดขึ้นเหมือนในอดีต”

 

นอมินีกลายพันธุ์

“คำจำกัดความของคอมปาโดคือเจ้าตัวลงมาเล่นเอง บริการเอง ส่วนนอมินี มันอาจจะเกิดจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เขาจะเข้ามาถือหุ้นเองไม่ได้ จึงใช้รูปแบบของนอมินีด้วยการผ่านนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นหรือมีตัวบุคคลเข้ามาดำเนินการแทน สัดส่วนการถือหุ้นมันอาจจะทำให้เขาไม่มีส่วนเป็นเจ้าของ 100% ประเทศไทยบอกว่าต่างชาติมาลงทุนได้เพียงแค่ 49% แต่เมื่อจัดตั้งเป็นนิติบุคคลขึ้นมา มันกลับถูกกฎหมาย ส่วนคอมปาโดมันมีสิทธิ์เต็มที่ สมัยก่อนกฎหมายไม่สลับซับซ้อน ไม่มีรายละเอียดลึกซึ้งธนาคารในสมัยนั้นยังไม่มีขีดความสามารถในการลงทุนซื้อตึกแถวหรือซื้อที่ดินมาดำเนินการ การสื่อสารก็ไม่เหมือนกับสมัยนี้อย่างปักษ์ใต้กว่าจะเดินทางไปถึงมันทุรกันดารถนนหนทางไม่ดี โจรผู้ร้ายชุกชุม แบงก์ก็ไม่มีตัวกลางในการขนเงิน พนักงาน
ต้องขนกันไปเอง เพื่อนำเงินไปฝากยังคลังจังหวัดหรือธนาคารสาขาที่ใหญ่กว่าเพื่อนำไปฝากเขาไว้ สมัยนั้นต้องนำเงินใส่กระสอบใหญ่ๆ โยนขึ้นรถ บขส.จะถูกปล้นเมื่อไรก็ไม่รู้ การประกันภัยก็ยังไม่มี นั่นคือความเสี่ยง

 

บทเรียนอันล้ำค่า

“กรณีการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 นั้น NPL มีประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ภาคเอกชนไม่กล้าขยับขยายอะไรเลยปล่อยเงินกู้ไปก็กลัวเสียหาย หากไม่ปล่อยเงินกู้ เศรษฐกิจมันก็นิ่งอยู่อย่างนี้ อาจจะซบเซาหนักเข้าไปใหญ่ ถ้าธนาคารกรุงไทยไม่มีโครงการอัศวินม้าขาวเข้าไปช่วย คือต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นลูกค้าที่เป็น NPL ถ้าเกินครึ่งไม่ว่าแบงก์ไหนก็อยู่ไม่ได้ เหมือนลูกค้าที่เป็นง่อย ไม่มีเงินขยายธุรกิจ เป็น NPLขยับอะไรไม่ได้ คนจะมีงานทำหรือเปล่า เมื่อธุรกิจไม่ขยายตัวนับวันมีแต่ย่ำแย่ คนตกงาน สังคมมีปัญหาหนี้สินของต่างชาติมันอยู่กับเรา เราก็ขยับอะไรไม่ได้มีแต่เพิ่มพูนดอกเบี้ยขึ้นมา แบงก์เองอยู่ไม่ได้ รับฝากมา 100 ปล่อยสินเชื่อ 50 ลูกค้าดี 50 แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยมันไม่พอที่จะมาจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก แบงก์ก็เจ๊งรัฐบาลโดยธนาคารกสิกรไทยต้องเอาอัตราเสี่ยงเข้าไปเพราะเราไม่รู้ว่าธุรกิจเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแค่ไหน ถ้าโชคดีเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ความเสียหายตรงนี้ก็น้อย ถ้าโชคไม่ดีอัดเม็ดเงินเข้าไปแล้ว ธุรกิจมันไม่ฟื้นก็เหนื่อย

 

“อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจโลกตอนนี้กับต้มยำกุ้งปี พ.ศ.2540 ผมมองว่าปัญหามันต่างกัน เมื่อปี พ.ศ.2540 เราเองเป็นผู้ประมาทรวมทั้งแบงก์ไทยทุกๆ แบงก์ด้วย เพราะชื่อเสียงของประเทศไทยตอนนั้นมันหอมหวาน ทั่วโลกต่างพากันชื่นชม เห็นแต่ความสดใสทุกคนอยากให้เรากู้ เรากู้แบงก์ง่ายมาก แม้แต่ไฟแนนซ์ซึ่งฐานะไม่ดีก็ยังให้กู้

 

“ก่อนหน้านั้น เกิดวิกฤต 4 เมษายน พ.ศ.2527 ผมถูกส่งตัวไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง บริษัทนี้เขาอ้างผู้ใหญ่ว่า พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเจ้าของ แต่เมื่อสืบเสาะจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเป็นทรัสต์ที่ชอบโฆษณามากที่สุดคนรู้จักเยอะ ชอบแจกของชำร่วย ให้ดอกเบี้ยสูงบริษัททรัสต์เหล่านี้ฐานะไม่ค่อยดี มีหลักประกันน้อย คนมาขอกู้ยืมเพราะเหตุว่าคนที่มีเครดิตมีหลักประกันก็ไปที่แบงก์กันหมด เพราะดอกเบี้ยมันถูกกว่าและแบงก์ก็มีขีดความสามารถในการให้สินเชื่อได้มากกว่า พวกที่ไปกู้เอกชนหรือบริษัททรัสต์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลักประกันไม่ค่อยมี โครงการไม่แน่ชัด มีความเสี่ยงสูง แต่เขายอมที่จะจ่ายดอกเบี้ยสูง เพราะปล่อยสินเชื่อค่อนข้างรวดเร็ว

 

“วิกฤตปี 2540 ค่าเงินทองก่อนหน้านั้นมันหยิบฉวยได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เท่ากับการที่เราลงทุนอะไรถ้าต้นทุนสูงเราต้องคิดมากหน่อยว่าธุรกิจหรือโครงการอะไรที่เราจะลงทุนมันต้องมีค่าตอบแทนสูงกว่าต้นทุน ในทางกลับกันเมื่อต้นทุนต่ำ กู้ยืมง่าย ก็ทำให้คนคิดง่ายหากต้นทุนอย่างนี้ทำอะไรก็กำไร ทำให้การใช้เงินทุนไม่มีประสิทธิภาพ สังคมไม่ค่อยได้ประโยชน์ เมื่อเป็นอย่างนี้มันก็ทะลักทลาย ซับไพรม์มันก็มากขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ง่าย ต้นทุนต่ำ ทุกคนก็ไปซื้อที่ดิน ที่ดินถึงเฟื่องฟูขึ้นมา มันจึงมีปัญหาในเรื่องของฟองสบู่แตก ที่บอกว่าประมาทเพราะลงทุนง่ายโดยไม่ต้องคิดอะไรรอบคอบ กู้ระยะสั้น 3เดือนส่งครบแล้ว ขอกู้ต่อแบงก์ก็ให้ ธุรกิจใหญ่โตที่มีความสามารถในการกู้ มีสิทธิกู้BIBF แต่การกู้ส่วนใหญ่ไปลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่แค่ 3 เดือนอย่างที่เขากู้มา แต่กลับไปลงทุนตั้งแต่ 3-5 ปี คิดว่าอย่างไรเขาก็ให้กู้ตลอด แบงก์เป็นตัวกลาง แบงก์ได้3 เดือนมาปล่อย 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง เมื่อมีปัญหากับทางต่างชาติเขาไม่เชื่อถือขึ้นมา เขาก็เรียกเงินคืน แต่เป็นเงินดอลลาร์ไม่ใช่เงินบาทไทยของเรา เงินดอลลาร์ในคลังมันมีน้อย พอเขาเรียกคืน ค่าเงินบาทมันจึงเละ แบงก์ได้เงินบาทมาก็ไปซื้อดอลลาร์ ที่แย่ที่สุดรัฐบาลบางพรรคบางสมัยที่เขาเห็นแล้วว่าจะเกิดภัยร้ายแรงกับประเทศขึ้นมา ก็ไม่ยอมคิดหาทางแก้ไขปัญหาโดยประกาศลดค่าเงินบาทไปเลย แต่กลับมีการไปลากเวลามาเรื่อยๆ ขาดความเข้าใจ ไม่รู้จัก มองเพียงแต่ว่าฝรั่งดูถูกเราว่าเศรษฐกิจเราแย่เขาไม่ได้มองว่าตัวเลขต่างๆ มันฟ้องแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้าเริ่มมีปัญหา มันส่อแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหา แล้วเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็มีไม่มากพอ เมื่อเทียบกับโครงสร้างหนี้ เราก่อหนี้ที่บอกว่า 3 เดือน นั่นคือ 80% ของเงินสำรองระหว่างประเทศ เมื่อเขาเรียกเงินคืนมา เงินสำรองจึงเหลือ 20% เราก็อยู่ไม่ได้ เห็นกันอยู่แล้ว แต่เขาไม่ทำอะไรเขาอาจจะเห็นตั้งแต่ 50% แรกด้วยซ้ำ แล้วก็ปล่อยให้มันไหลไปเรื่อยๆ จนถึง 80% จึงมาตัดสินใจให้ลดค่าเงินบาท มันช้าเกินไป จึงเป็นผลเสียทำให้เกิดฟองสบู่แตก จะไปโทษเอกชนฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ รัฐบาลเองต้องดูแลภาพใหญ่ภาพรวมของประเทศ แต่กลับไม่ดำเนินการให้ทันเหตุการณ์ ตอนนั้นมีข่าวลือว่ามีคนรวยกับสถานการณ์เหล่านั้นมากมาย แต่อย่าไปพูดถึงเลย (หัวเราะ)

 

“มันเหมือนกับการดำเนินการที่ผ่านมาผิดประเพณีที่เคยปฏิบัติ ผู้ว่าแบงก์ชาติเข้าไปรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับนายกรัฐมนตรี 3 คนเท่านั้น แล้วตัดสินใจเดี๋ยวนั้น ไม่ปล่อยให้ข้ามวัน แต่นี่กลับลากไป 2-3 วันก็เรียบร้อย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากภายในของเราเอง แต่ปัจจุบันมันไม่ได้เกิดจากเรา มันเกิดจากต่างประเทศโดยตรงที่เขาทำให้มันเกิดขึ้น เหมือนกับที่หลอกเราในเรื่องระบบล่มที่เรียกว่า Y2K เมื่อปี ค.ศ.2000 ใครได้ประโยชน์ นายทุนต่างประเทศเขาหาเรื่องหลอกเรา การซื้อขายพวกฮาร์ดแวร์หยุดหมด เศรษฐกิจซบเซา พวกขายซอฟแวร์เข้ามาแก้ปัญหา Y2K ได้สตางค์ไป พอปลายปี ค.ศ.2001 จีนได้เข้าWTO พอเข้าไป จีนผลิตสินค้าต้นทุนต่ำมากทะลักไปทั่วโลก ประเทศที่เคยขายสินค้าที่จีนผลิตเสร็จหมด อัตราการว่างงานทั่วโลกเยอะแยะ โดยเฉพาะอเมริกา เศรษฐกิจซบเซาจีนร่ำรวย สินค้าของอเมริกาขายไม่ได้เพราะต้นทุนสูง ต้องเลิกจ้าง ต่อมาอเมริกาบุกอิรัก ปัญหาก็สะสมมาเรื่อยๆ แล้วน้ำมันก็ขึ้นราคา รัฐบาลอเมริกาตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยจาก 6% เหลือ 1% เขานึกว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ก็กระตุ้นประชาชนให้ใช้จ่าย คนก็เริ่มซื้อทรัพย์สิน แบงก์ก็โลภ ดอกเบี้ย 0% ยังปล่อยสินเชื่อไม่ได้ คุณสมบัติของผู้กู้ด้อยขนาดไหนก็ยังปล่อย นี่คือตัวเร่งให้เกิดดีมานในอสังหาริมทรัพย์”

 

เศรษฐกิจโลกทรุด ยักษ์ใหญ่ล้มดัง

“ผมมองว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนการลงทุนอย่างจริงจัง ดูอย่างประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลเขาสนับสนุน SMEอย่างมากมายมหาศาลเขาจะมีที่ปรึกษาในหัวเมืองต่างๆ ให้กับประชาชนของเขาเยอะแยะไปหมด ที่ปรึกษาทางการเงิน ทางมาร์เก็ตติ้ง ทางเทคโนโลยีโดยเขาจัดหามาให้และมีกฎหมายเอื้ออำนวย ผู้ประกอบการมีฐานะแข็งแรงจะต้องช่วย SME เอาเครดิตจากเขาได้ไม่เกิน 90 วันช่วยโอบอุ้มให้เขาอยู่ได้มีระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ปัจจัยกฎหมายของเราไม่เอื้ออำนวย ถ้าบ้านเราอยากจะส่งเสริม SME จริงๆต้องมีสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเป็นประโยชน์กับเขาด้วยของญี่ปุ่นเขาทำมานานจึงประสบผลสำเร็จ เราเห็นว่าง่ายแต่เราไม่ทำแบบเขาซึ่งอาจจะมีอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)

 

“เริ่มต้นนับ 1 ได้ตั้งแต่วินาทีนี้เลยเหมือนอย่างสินค้า OTOP ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่เขาทำมาอยู่ก่อนแล้วเพียงแต่ว่านำไปจัดหมวดหมู่ขึ้นมาเท่านั้นเอง OTOP ที่น่าจะถูกต้องคือใครมีความสามารถด้านไหนก็ทำด้านนั้นๆ อย่าไปแย่งตลาดกัน ไม่อย่างนั้นมันจะไปชนกันหมด สมัยก่อนยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ พวกอุ พวกสาโท วิ่งข้ามเขตก็ผิดกฎหมายแล้ว นี่นำมาบรรจุขวดสวยหรูเจ๊งกันระนาว คือมาตรฐานไม่มี ทำให้สุขภาพคนดื่มแย่ บางผลิตภัณฑ์กินไปแล้วถึงกับเสียชีวิตก็มีให้เห็น รัฐบาลจะต้องมีมาตรฐานดูแลให้มีความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ของ OTOP ต้องรับประกันว่าบริโภคแล้วไม่มีปัญหาแต่ทุกวันนี้ไม่มีอะไรรองรับเลย

 

“หากจะมองย้อนไปถึงเศรษฐกิจที่ทั่วโลกจับตามองอยู่อย่างในสหรัฐอเมริกาเขามีผู้นำคนใหม่ โอบามาจะต้องกระโดดลงมาแก้ไขเพราะในอดีตรัฐบาลก่อนไปทำสงครามกับประเทศอิรักนั้น รายจ่ายอันดับต้นๆ เกี่ยวกับสงคราม มันมากกว่า 5 อันดับข้างล่างรวมกัน เขาจะต้องแก้ปัญหางบประมาณขาดดุลของประเทศเขาให้ได้ดุล บัญชีเดินสะพัดก็น่าจะดีขึ้น ดุลการค้ายังไม่แน่ใจ อย่างน้อยที่สุดผู้นำคนใหม่กับนโยบายต่างๆ ที่นำมาแก้ไข ทำอย่างไรคนอเมริกาหรือคนทั่วโลกจะมีความเชื่อมั่นสถาบันการเงินของสหรัฐฯทุกวันนี้คนไม่กล้าฝากเงินในแบงก์ เพราะไม่รู้ว่าจะถอนออกมาได้หรือเปล่า ในอเมริกาเขามีแบงก์ แต่ละเมืองนับพันแห่งแต่ละแห่งล้มเกือบทุกวัน มันยักษ์ใหญ่มันล้มดัง ทั้งๆ ที่แบงก์เหล่านั้นบางแห่งก่อตั้งมานับ 100 ปีก็ล้ม แต่มันไม่ค่อยมีข่าว แบงก์อันดับ 2-3 เมื่อมันล้มคนจึงรับไม่ได้ แบงก์ก็ไม่สามารถปล่อยเครดิตได้ ตู้เซฟ จึงขายดี เพราะคนมันไม่เชื่อมั่นสถาบันการเงินบัตรเครดิตถูกตัดสิทธิหมด ส่วนใหญ่แบงก์ไม่สามารถปล่อยเครดิตได้เพราะเงินกองทุนมันหายไป ความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ราคาหุ้นเดิมมันเกิน เดิมมีร้อยบาทตอนนี้มันเหลือ 5-6 บาท คนจึงไม่กล้าลงทุน ขวัญผวาไปหมด

 

“คนไทยเราไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องถามว่าเศรษฐกิจจากภายนอกมันจะหยุดเลวลงเมื่อไร แต่ถ้ามันเลวต่อไปเราก็ได้รับผลกระทบ เราป้องกันไม่ให้มีผลกระทบไม่ได้ต้องพยายามให้ได้รับกระทบน้อยที่สุดได้อย่างไร เรายังไม่ถึงจุดนั้น ประเทศไหนที่ยืมจมูกเขาหายใจ พึ่งพิงอเมริกามากๆ อย่างประเทศสิงคโปร์ จะกระทบกระเทือนแน่ ดูอย่างราคาน้ำมัน ขนาดลดการผลิต ราคามันก็ลด คนลดการใช้จ่าย เดิมทีพวกตะวันออกกลางมันแฮปปี้ น้ำมันขึ้นตลอด ทองคำถึงได้ลง กำลังซื้อจึงหมดไปด้วย เพราะยุโรปและอเมริกา GDP มันหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ถ้าความเห็นส่วนตัวของผม ให้ระวังปี ค.ศ.2010อาจจะต่ำสุด สิ่งที่กระทบก็คือการค้าขายระหว่างธนาคาร”

 

Give Back to Social

“เรื่องงบประมาณในการประชาสัมพันธ์มีกันทุกแบงก์ เราในฐานะที่เป็นแบงก์ของรัฐบาล เราจะเน้นไปที่การตอบแทนสังคมมากกว่า เป็นต้นว่าเรามีโรงเรียนในฝัน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งให้ทุนการศึกษา ให้เด็กมีโครงการ กรุงไทยสานฝัน โครงการยุววาณิช ส่งเสริมให้เยาวชนคิดโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์เข้ามา เขียนโครงการทำธุรกิจเพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามา มีโครงการรณรงค์โลกร้อน พาเยาวชนไปปล่อยเต่าบ้าง ไปรักษาป่าบ้างและอีกมากมาย เราต้องการเห็นสังคมที่ดีขึ้น รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมกีฬามวยสากลสมัครเล่น สนับสนุนสมาคมปีละหลายสิบล้านบาท ส่งเสริมการจัดงานประกวดจิตรกรรม ประติมากรรมของศิลปินรุ่นใหม่ พร้อมทั้งจัดแสดงหอศิลป์ที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแรกที่เยาวราชมีผลงานของศิลปินจำนวนมากที่ทางแบงก์ซื้อไว้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนศิลปินไทย โดยเฉพาะภาพฝีพระหัตถ์จำลองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นำมาจัดแสดงด้วย”

 

ทั้งหมดคือเรื่องราวฉากชีวิตแบบย่นย่อแต่กระชับ มีมิติ ของหนุ่มใหญ่นายแบงก์ที่มีความสุขกับครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ นั่งฟังเพลงลูกทุ่ง วิ่งจ็อกกิ้งที่สวนลุมพินีกับเพื่อนฝูง รับประทานอาหารอร่อยๆ สนุกกับการเป็นก่อนจากกัน คุณประเสริฐ ธีรนาคนาทบอร์ดใหญ่แบงก์กรุงไทย หันมากล่าวว่า

 

“นี่ยังไม่ได้พูดถึงชีวิตรักของผมกับภรรยาในรั้วจุฬาฯ เลยนะครับ (หัวเราะ)”

หนุ่มใหญ่นายแบงก์ด้านสินเชื่อนามประเสริฐ ธีรนาคนาท