จีรวุฒิ วงศ์พิมลพร

จีรวุฒิ วงศ์พิมลพร

แม้ Lenovo จะกำเนิดที่กรุงปักกิ่ง ในปี ค.ศ. 1984 แต่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน กับการสร้างอุตสาหกรรมสารสนเทศที่มีการพัฒนาสินค้าของตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2005 บริษัท Lenovo ได้เข้าซื้อกิจการด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ IBM ทั่วโลก ที่ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบรนด์ของตัวเองให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลเป็นอย่างมาก จากนั้น Lenovo ก็เป็นที่แพร่หลายในอีกหลายประเทศจนมาถึงประเทศไทย ในช่วงแรกอาจยังเป็นแบรนด์สินค้าที่ใหม่เกินไปสำหรับคนไทย แต่ในปัจจุบันถือได้ว่า สินค้าของ Lenovo ได้เข้าไปอยู่ในใจของคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากมันสมองของผู้บริหารระดับสูงหลายท่านพนักงานทุกระดับรวมถึงชายผู้นี้ คุณจี้ จีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการผู้จัดการบริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด

1

“เรื่องของสินค้าด้านคอมพิวเตอร์ตอนนี้เราเป็นที่ 2 มี Market Share ห่างจากผู้นำแค่ 0.4% เอง ส่วนตลาด Smart Connected Device คือรวม PC Notebook มือถือ แทบเลต เราอยู่อันดับสามรองจาก แอปเปิ้ล, ซัมซุง

“แม้เราเริ่มมาจากเป็น Local ในประเทศจีน ซึ่งเกิดมาพร้อมแบรนด์ Dell ในอเมริกา หลังจากที่พบว่ามีส่วนในตลาดของจีนมากเลยเริ่มมองว่าถ้าใช้แบรนด์นี้ต่อไป Scale ช่วงแรกจะสู้ไม่ได้ อาจจะขายได้แค่ในจีน ซึ่งยี่สิบปีที่แล้ว User ในประเทศจีนมันนิดเดียว อย่างที่ทราบกันว่ามีการควบกิจการกับ IBM ในส่วนของ PC มา ซึ่งเป็นความคิดที่กล้าเสี่ยงมากในสมัยก่อน ที่จะควบรวมกิจการเพื่อสร้างแบรนด์ให้ออกนอกประเทศได้ เพราะถ้าใช้แบรนด์เดิมกว่าเราจะทำให้คนเชื่อหรือสนใจได้มันคงใช้เวลาอีกหลายสิบปี เพราะฉะนั้นนี่คือวิธี Short Cut จากนั้นมาก็เริ่มสร้างแบรนด์ใหม่คือ Lenovo ใช้ว่า IBM Lenovo เพื่อให้คนจดจำควบคู่ไป แล้วต่อจากนั้นก็เริ่มทำตลาด Consumer แต่เรื่องของสไตล์คนจีนชอบต่างชาติไม่ชอบนี่คือปัญหา เราจึงต้องค่อยปรับในเรื่องของรูปลักษณ์ เราก็ไปทำสปอนเซอร์โอลิมปิคในปี 2008 เพื่อให้ผู้ใช้ทั่วโลกจดจำเรา และเราก็พัฒนาผลิตภัณฑ์มาตลอดจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน Design มันเริ่มเป็นที่พอใจแล้ว เชื่อว่าปีสองปีเราจะเริ่มเป็นผู้นำ เพราะพอเรามีฐานลูกค้าใหญ่ เราจะมีเงินมาลงทุนมากขึ้น 

“ตอนมาควบรวมกับ IBM แรกๆ ลูกค้า IBM เก่าก็มีเริ่มหนีไป เพราะเค้าไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพสินค้าและมีคำถามเกิดขึ้นหลายอย่าง หน้าที่ผมคือเข้าไปหากลุ่มผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ใช้เวลาสองสามปีโดยเน้นลูกค้าองค์กรเป็นหลัก ใช้โรงงานเดิม ใช้คนเดิม เรามีทั้งที่จีน อเมริกา ญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์เราจะมีการทดสอบการใช้งานเสมอเช่น การกันน้ำ การกระแทก ฝุ่น ไฟฟ้าสถิตย์ สารพัดมาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมั่นใจคุณภาพ และนอกจากเป็นผู้สนับสนุนโอลิมปิคแล้ว เรายังมีโปรแกรมชื่อว่า Are You Lenovo เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว มีการทำ Flash Mob ป้ายคัทเอาท์ตามต่างจังหวัด มีกิจกรรม CSR เช่นสมาคมเจ็ตสกี คือกิจกรรมพวกนี้ เราสามารถทำได้ทั่วโลก และการเป็นสปอนเซอร์และการบริจาคเป็นกิจกรรมที่ทำได้ต่อเนื่องเรื่อยๆ และทำให้เราเป็นที่รู้จัก มากขึ้น แต่เราไม่ได้มาโฆษณาว่าเราทำอะไรบ้าง รวมถึงการ Support Partner ของเราเพื่อสร้างความมั่นใจให้เขาว่าเราจะดูแลให้เติบโตไปพร้อมกันไม่ทอดทิ้งเขา”

2

ปัจจุบันบริษัท Lenovo แบ่งเป็นตลาดสินค้าออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ ลูกค้าองค์กร SME และตลาดของ Consumer ผลิตภัณฑ์ของ Lenovo ตอนนี้มีตั้งแต่ Desktop Notebook Work Station Software และเร็วๆ นี้จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือ Tablet และ Smartphone และตัว Storage เก็บข้อมูลทั้งภายในบ้านและภายในสำนักงาน ก็คือทั้งหมดจะวางในปีนี้

“ตลาดคอมพิวเตอร์มันถูกพัฒนามาเป็นไซส์โทรศัพท์ขนาดเล็กและ Tablet ปัจจุบันต้องยอมรับว่าโทรศัพท์มือถือมันคือ Whole Computer คือ Computer มันถูกพัฒนามาหลายๆ รูปแบบ ทาง Lenovo เราเรียกว่ายุค PC Plus คือหมายถึง PC ที่มีในหลายรูปแบบ PC Notebook / Tablet / Smartphone / Smart TV จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกเพราะที่มีอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ใช่ Smart TV จริงๆ เว็บทีวี ยังไม่มีอุปกรณ์ที่เราสามารถเชื่อมต่อข้างนอกได้จริงๆ ต่อไปภายในบ้านเราจะมีฮาร์ดดิสก์มาต่อปลั๊กทีวีพ่วงเชื่อม ให้มี Libraly อนาคตโลกจะเปลี่ยนไปแน่นอนครับ“จริงๆ แนวคิดนี้มาจาก CEO ประเทศจีนเขาอายุยังน้อยนะ เพราะเขาเข้าใจธุรกิจมากกว่าคนอายุห้าสิบกว่าในเรื่องธุรกิจที่เป็นคอมพิวเตอร์ไอที เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าบางแบรนด์อเมริกาไม่เข้าใจตลาดเขาอาจจะทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ในขณะที่การบริหารของเรามองว่าต่อไปตลาด Consumer จะใหญ่กว่าตลาดองค์กร เมื่อก่อนเราอาจจะจับตลาดองค์กรเป็นหลัก เพราะมันใหญ่ สมัยก่อนผู้บริโภคยังไม่มีกำลังซื้อ แต่ปัจจุบันพวกนี้คือกลุ่ม Gen X เริ่มมีความมั่งคั่งมีฐานะ แล้วลูกเขาก็ด้วย ดังนั้น LifeStyle จะเปลี่ยน กำลังซื้อสูง เพราะฉะนั้นมุมมองการตลาดนี่ต้องเปลี่ยน 

“เราก็ชมว่า Samsung เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มี วิสัยทัศน์ที่ดี มุมมองตลาดจะไปทางไหนและ LifeStyle มีผลยังไง ของเราเองเมื่อปีที่แล้วเรามีการสร้างโรงงานใหม่ เน้นทำตัว Smartphone กับ Tablet อย่างเดียว เพราะเค้าบอกว่าสองตลาดนี้อีก 10 ปี ข้างหน้าตลาดจะใหญ่เท่ากับประชากรโลก Smartphone ปีละสี่ร้อยล้านเครื่อง PC Notebook ปีละสามร้อยกว่าล้านเครื่อง เทรนด์จะไม่โตแล้ว แต่ก็ไม่ลดลง ถ้าใครไม่สามารถ Capture ภาพนี้ได้จะหลุดจากตลาดไป 

“สินค้าเรายังแบ่งเป็น 3 ซีรี่ย์ Consumer นี่เราเรียกว่า Idea Series กลุ่ม SME เรียกว่า Edge Series และกลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งแต่ละซีรี่ย์จะมี Target Group และ Design ต่างกัน Consumer เป็นตลาดที่ใหญ่สุดมี 70% อีก 15% เป็น SME อีก 15% เป็นองค์กร ในแง่ของ Volume คือ มาจาก Notebook ของตลาด Consumer ที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักตัว Think Pad Notebook ทำให้เราเป็นที่รู้จักเรื่องความคงทน ทำหล่นได้ น้ำหกได้ กาแฟหกก็ไม่เป็นไร เพราะมันมีอลูมิเนียมสองชั้น มันคงทนสำหรับการใช้งานธุรกิจได้ดี Think Pad เลยเป็นตัวแทนด้านความคงทน ส่วนกลุ่ม Consumer เน้นดีไซน์ ปีนี้เป็นปีแรกที่เราได้รับรางวัล Innovative ปีนี้มีโน้ตบุ๊คที่เรียกว่าโยคะ คือพับได้ 360 องศา มียี่ห้อเดียวในตลาด ตัวต่อมาเป็น X1 Hi-End นิดนึง เบาสุด จอ 14 นิ้ว จอใหญ่ น้ำหนักเบา เป็นทัชสกรีนด้วย ตัวที่สามคือ Twist Series คือบิดม้วนได้ หมุนได้ เราค่อนข้างจะเป็นผู้นำเรื่อง Innovation ให้ตลาด อีกตัวนึงคือ Table PC ซึ่งเป็น Category ใหม่ในตลาด เพื่อให้เป็น Entertainer ภายในบ้านได้”

3

สำหรับเรื่องของคู่แข่งคุณจีรวุฒิบอกว่าหลายคนสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมาในแนวทางไหน เนื่องจากเทคโนโลยีที่ผลิตนั้นไม่ได้มาจากอเมริกาหรือยุโรปอีกต่อไป ฐานการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศจีน และเอเชียทำให้ความได้เปรียบจากนี้ยังเป็นส่วนช่วยให้การทำงานหลายอย่างจึงยังได้เปรียบอยู่มาก

“เนื่องจากบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จึงต้องมีเป้าหมายในการประกอบธุรกิจเพื่อให้มีมูลค่าในตลาดและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าบริษัทเราไม่มีความคาดหวังจากผู้ถือหุ้น หุ้นก็จะลงเพราะมูลค่าหุ้นไม่ใช่มูลค่าปัจจุบันของธุรกิจแต่เป็นมูลค่าในอนาคต เราได้รับ Assignment ในทุกปี CEO จะบอกว่าปีนี้อยากให้ไปในทิศทางไหน หลังจากนั้นก็จะส่งมาที่ Region แล้วก็ Country แต่ละปีเรามีเป้าหมายที่เติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เราก็ไปแจ้งเป้าหมายและทำ Budget Plan และมา Brianstrom กัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ 

“แล้วสินค้าเราค่อนข้างกว้างนะ อย่างโน้ตบุ๊คนี่อาจจะเริ่มที่ประมาณหมื่นนึง All in One ก็หมื่นต้นๆ สูงสุดคือเจ็ดแปดหมื่น ผมว่า Lenovo เป็นแบรนด์ที่มี Price กว้างมากในตลาด เจ็ดหมื่นนี่ไม่มีไหนขายในตลาด เพราะฉะนั้นเรามีทั้ง Low Mid High Mid จะกว้างมีหลายซีรี่ย์ High เราจะพรีเมี่ยมไม่มีคู่แข่ง

“อย่างแรกอยู่ที่การยอมรับเรื่องแบรนด์ ความมั่นใจในสินค้า สองคือพอมาทำ Consumer มี Product Line กว้างขึ้น เรื่องดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ออกมาแรกๆ ยังไม่ตรงใจ เป็นลายฉลุอะไรแบบนี้ คือยังไม่ Global เท่าไหร่ และก็ยังเน้นความหนา เฟสที่สามคือต้องการโตแบบก้าวกระโดด โครงสร้างการตลาด Channel และแบรนดิ้ง สร้างให้มี Value เป็นความต้องการของตลาด 

“เรารู้ในใจแต่เราให้ข้อมูลตรงๆ ไม่ได้มากเพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่สามารถคาดการณ์ได้จากตอนเปิดมาใหม่ๆ เรามี Market Share อยู่ 3% สามสี่ปีผ่านไปก็เท่านี้ไม่โตขึ้นเลยนะต้องเรียนว่าขาดทุนทุกปี อยู่ๆ เราควบรวมกิจการกับ IBM แต่การจัดการยังไม่ดี เพราะกิจการนั้นใหญ่กว่าเรา จึงยังไม่พร้อมเหมือนเราไม่เคยออกข้างนอก ไม่รู้ว่ากลไกลการทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นยังไง แต่หลังจากนั้นพอเราจัดการได้ สามปีหลังก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง 4% - 11% ปัจจุบันโตเกือบสามเท่า Management by Objective คือรับเป้าหมายมาถ่ายทอดทีมงาน ทำ Reward หรือตักเตือน คือ Manage ตาม Corporate Policy ส่วนเรื่อง Personal คือเป็นแบบ Family ใช้หลักธรรมะในการปกครองคน จะเป็นการ coaching และ Feedback” 

4

ในเรื่องธุรกิจต้องยอมรับว่าคุณจีรวุฒิมีความสามารถในการบริหารงานคนหนึ่งเลยทีเดียว แต่เบื้องหลังชีวิตของเขานั้นน้อยคนนักที่ได้รู้จักว่า เขาทำอะไรและผ่านอะไรมาบ้าง ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทีเขาจะมาเล่าเรื่องราวของช่วงหนึ่งของชีวิตให้เราได้ฟังกัน

“ครอบครัวของผมเป็นครอบครัวใหญ่ที่บ้านก็ทำอาชีพค้าขาย ผมมีพี่น้อง 8 คน บ้านผมเกิดนราธิวาสแต่มาโตที่กรุงเทพ ผมเป็นคนสุดท้ายของครอบครัวที่เกิดที่นราธิวาส ทีนี้พอลูกเยอะพ่อแม่ก็จะไม่มีเวลาดูแล การเลี้ยงดูเลยเป็นแบบ Independent ดูแลตัวเอง เพราะทุกๆ ปีจะมีเด็กเกิดใหม่ 12 ปี มี 8 คน แต่พ่อแม่ไม่เคยจ้ำจี้จ้ำไช จะให้รับผิดชอบตัวเอง ให้คิดเองทำเอง พ่อแม่จะมอบงานให้ช่วยทำ เช่นล้างจาน ซักผ้าก็คือทำให้ทั้งบ้าน ไปอยู่ที่ไหนจะได้ไม่ลำบาก คือมันไม่ได้ลำบากมากนะ เพราะเรามีเวลาอ่านหนังสือดูทีวีทำงานบ้าน คือสอนให้เรามีวินัยไม่เกี่ยงงาน รับผิดชอบ ไม่ดูถูกงานที่ทำ อีกอย่างคือคุณแม่จะสอนตลอดเวลาว่าให้เป็นคนดีอย่าเอาเปรียบใคร บ้านผมเลยไม่ค่อยมีใครเกเร มีผู้ชายสี่คน ผู้หญิงสี่คน ไม่มีใครเกเรเลย ทุกคนมีปรัชญาชีวิตว่าต้องเป็นคนดี บ้านเราไม่เคยทะเลาะกับข้างบ้านเลย ถ้าผมไปทะเลาะกับใครพ่อแม่จะตีผมก่อน เพราะฉะนั้นจะฝึกให้มีความอดทนไม่ผลีผลาม ถ้าใครมาเกเรกับเราเราก็อย่าไปสนใจ อย่าไปเล่นกับเขา ฝึกให้เราถ่อมตัว

“ผมเกิดปีเดียวจากนราธิวาสก็ย้ายเข้ามาในกรุงเทพ มาเรียนที่โรงเรียนแม่พระประจักษ์ เป็นคาทอลิก ผมไม่ได้เรียนอนุบาลก็เข้า ป.1 เลยเร็วกว่าคนอื่น แล้วตัวผมจะเล็กกว่าคนอื่นเวลาไม่อยากโดนแกล้งก็เลยไปหารุ่นพี่มาช่วยดูแล เขาเอ็นดูเราไม่ให้ใครมาแกล้ง พอโตหน่อยก็ย้ายมาโรงเรียนวัดนวลนรดิศ จากนั้นต่อมาเรียนวิศวะที่มหาวิทยาลัยลาดกระบัง เรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตอนที่ผมเรียนคือเรียนเร็วไปนะเพราะเรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ใหม่มากแต่เราสนใจ บริษัทคอมพิวเตอร์สมัยนั้นมีไม่กี่ราย แล้วโปรเจ็คท์ตอนเรียนจบผมทำเกี่ยวกับ Software Computer ทำรากฐานการใช้กล้อง ตอนใกล้จบจะฝันร้ายบ่อยเพราะมันยาก อาจารย์ก็มาจากต่างประเทศ ที่ปรึกษาผมก็เป็นฝรั่งมากจากไอร์แลนด์ เพราะบุคลากรประเทศไทยไม่ค่อยมี

“คือผมก็มีใจรักด้านนี้ก็มุ่งทำงานด้านนี้มาตลอด ช่วงเรียนจบก็ได้งานหลายที่ทั้ง CPI หรือ Sony แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากทำ ผมชอบทางนี้เริ่มทำงานที่ซีเกทแล้วตอนนั้นโรงงานจะย้ายไปปากช่องคิดว่ามันไกลเกินไป ผมเลยย้ายมาทำงานที่โกดัก เป็นการจัดเก็บข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ ไมโครฟิล์มแทน ผมอยู่ในแวดวงคอมพิวเตอร์ตลอดก้าวขามาแล้วก็ไปต่อ ได้เรียนรู้ว่ามันเป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่เหมือนธุรกิจอื่น มันมีไซส์ที่เล็กลงแต่จัดเก็บข้อมูลมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“มันสนุกแล้วผมเป็นคนชอบทำอะไรเร็วๆ เป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง ต้องการความท้าทายใหม่เรื่อยๆ ทำให้เรามีเป้าหมายในการทำงาน และดำรงชีวิต ถ้าเราไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายนี่มันไม่สนุก สำหรับผมนะผมมีเป้าว่ากี่ปี จะทำอะไร เช่น เรียนจบสิบปียังไม่แต่งงาน ใช้ชีวิตก่อนซึ่งผมก็ทำแบบนั้นจริงๆ หลังจากนั้นก็จะหยุดทุกอย่างมาโฟกัสครอบครัว

“แต่บางทีผมคิดว่าการที่ผมมีเป้าหมายแล้วผมโฟกัสกับมันเยอะเกินไป จนมองข้ามบางอย่าง ทำให้บางอย่างอาจจะลงไม่ลึกพอ มองข้ามสิ่งเล็กน้อย สิ่งเล็กๆ ที่คนอื่นมองว่าเป็นปัญหา เช่นเรื่อง Working Environment สิ่งจุกจิกพวกนี้ที่เราอาจจะมุมมองไม่ตรงกัน คือ อาจจะสรุปได้ว่าเป็นเรื่อง Human Touch ที่ผมอาจจะเข้าใจมนุษย์ไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควร 

“ผมเคยมีเป้าหมายว่าอยากเที่ยวทั่วโลก ตอนกำลังทำงานแรกๆ คือจะพิจารณาบริษัทที่จะทำงานด้วยโดยดูว่ามีโอกาสเดินทางมากหรือเปล่า ถ้ามีจะพิจารณาเป็นพิเศษ ผมเคยไปสอบนักบิน ไปสอบเดินเรือ ไปเดินเรือในทะเล ผมเข้าไปถึงรอบสุดท้ายตลอด แต่ก็มีเหตุให้ไม่ได้ตลอด และก็อยากปีนหิมาลัยแต่ว่าอาจจะเลยวัยแล้ว 

“จริงๆ ผมก็ถูกปลูกฝังในครอบครัวนะ ผมอยู่กับแม่มาตลอดจนอายุสามสิบกว่าถือว่านานที่สุดนะ ที่บ้านผมทุกคนจะให้ความสำคัญในเรื่องของความกตัญญู เรารักและใกล้ชิดกันมาก และเมื่อชีวิตมาถึงจุดหนึ่งผมก็ได้คืนกลับสู่สังคมด้วยการเข้าไปส่งเสริมด้านการแนะแนวเรื่องอาชีพ ประสบการณ์เพื่อเป็นวิทยาทานแก่เด็กรุ่นใหม่ หรือเหล่ารุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย หรือในส่วนของที่เราไม่ใช้แล้วก็พยายามจะเก็บไปแบ่งปันให้กับผู้อื่นอยู่เสมอ นี่คือการอบรมสั่งสอนที่เราได้รับมา และหลักที่สำคัญอีกอันคือภาษี ไม่เคยหนีไม่เคยโกงสำคัญมาก ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมเสียค่าเทอมเดือนละเก้าร้อยบาทใช้เงินรัฐบาล เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่ทำอยู่คือตอบแทนแผ่นดิน 

“ในเรื่องของตัวองค์กรผมพยายามทำ CSR มาโดยตลอด เพราะเรามองว่าการคืนกลับสู่สังคมเป็นเรื่องที่สำคัญทุกฝ่ายควรหันกลับมามองและรับผิดชอบร่วมกันในการสร้างสรรค์ให้สังคมน่าอยู่ขึ้น และในฐานะที่เราเป็นคนไทย ในฐานะที่เป็นบริษัทต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทย ผลกำไรที่ได้มาสามารถตอบแทนอะไรได้ก็ต้องทำ คือช่วยเหลือได้ก็ต้องช่วยเหลือเป็นหน้าที่เรา ที่เราทำอยู่ตลอดเวลา”

ไม่ว่าไปที่ไหนเราก็ต้องพบกับเรื่องของเทคโนโลยี