ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ

ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ

อาจารย์ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ในวัย 86 ปี ถือว่าเป็นสกุลช่างประจำรัชกาลที่ 9 ผู้ทะนุบำรุงบูรณะโบราณสถาน พระอารามพระบรมมหาราชวัง ท่านได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ในปี พ.ศ.2544 รุ่นเดียวกับอาจารย์คำพูน บุญทวี สาขาวรรณกรรม อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สาขาทัศนศิลป์และหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล จากสาขาศิลปะการแสดง

ราวปี พ.ศ.2484 หลังสำเร็จการศึกษาช่างออกแบบและตกแต่งจากโรงเรียนศิลปากร อาจารย์ประดิษฐ์จึงเริ่มรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งช่างออกแบบและตกแต่ง กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จากช่างจัตวา มาช่างตรี หัวหน้าแผนกออกแบบ ตกแต่งสถาปนิกระดับ 6 -7 โดยทำงานเกี่ยวกับการสำรวจ ตกแต่ง บูรณะโบราณสถาน พระอาราม พระบรมมหาราชวัง ตำหนักต่างๆอาคารที่ทำการรัฐบาล ฯลฯ โดยได้รับการถ่ายทอดสายเลือดสกุลช่างประจำรัชกาลที่ 5 จากคุณตาคือพระยาจินดารังสรรค์ และคุณพ่อคือหลวงวัฒนศิลป์ ซึ่งเป็นช่างด้านศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีฝีมือสูงเด่น เป็นช่างเขียนของศิลปากรรุ่นแรก เคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนศิลปะจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เกิดมาท่านจึงเห็นที่บ้านมีทั้งงานปั้น ทั้งงานแกะสลัก งานเขียนรูป ฯลฯ และทำให้ท่านมีความรู้ความชำนาญทางด้านการออกแบบ ตกแต่งเจดีย์ อุโบสถ ศาลาอเนกประสงค์ กำแพง ซุ้มประตู การเขียนลวดลายบนบานประตู แกะสลักหยวกตกแต่งจิตกาธาน จากการสะสมประสบการณ์ซ่อมสร้างผลงานมามากมายจนนับไม่ถ้วน และได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทย เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยปี พ.ศ.2538 หากจะนับผลงานคร่าวๆ ที่ได้รังสรรค์ในระหว่างรับราชการจนถึงปัจจุบัน ผลงานที่โดดเด่นเป็นสง่า ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ วัดญาณสังวรารามจังหวัดชลบุรี พระอุโบสถ วัดป่านางสีดา จังหวัดอุดรธานี พระอุโบสถ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาสวดพระอภิธรรม หอไตร ซุ้มกำแพง วัดพุทธภาวนา จังหวัดสมุทรปราการ ฯลฯ ส่วนผลงานสถาปัตยกรรมล้วนเป็นผลงานที่มีการพัฒนา มีการอนุรักษ์สืบสานอย่างมีเอกลักษณ์เป็นรูปแบบที่ประณีตงดงามของตนเองและของประเทศชาติ เป็นที่ยอมรับในวงการช่างวิชาชีพและประชาชนว่าเป็นผู้สร้างศิลปะเพื่อศิลปะโดยแท้

ต้นตระกูลช่าง

“ครอบครัวต้นตระกูลผมเป็นครอบครัวที่มีพื้นฐานทางการช่างตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ทวด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 มีคุณตาชื่อพระยาจินดารังสรรค์ นามเดิม ปลั่ง วิภาตะ ท่านเป็นเจ้ากรมศิลปากร มีผลงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นปรากฏอยู่ถึงปัจจุบันก็คือ อนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม พระร่วงโรจนฤทธิ์ หน้าองค์พระปฐมเจดีย์และพระที่นั่งวัชรีรมยาพระราชวังสนามจันทร์โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตึกเก่าๆ ที่อยู่ในปัจจุบันทุกหลังท่านทำทั้งนั้น

“ส่วนคุณพ่อทำงานเป็นช่างอยู่ในกรมศิลปากร ท่านเป็นผู้ที่มีฝีมือดีผู้หนึ่ง ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวัฒนศิลป์แม้ท่านจะรับราชการอยู่ แต่ก็ยังรับงานอดิเรกมาทำ เช่น งานแกะสลักธรรมมาสน์ บุษบก งานเขียนภาพและลวดลายบนผนังเขียนภาพรามเกียรติ์ผนังระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบรมนิวาส วัดสังเวช ออกแบบก่อสร้างเมรุเผาศพ

“ตอนนั้นผมอาศัยอยู่บ้านใกล้วัดสังเวช จึงรับงานสลักหยวก ตกแต่งจิตกาธาน มานับสิบๆ ปี ผมจึงได้อิทธิพลทางสายเลือดจากบรรพบุรุษทางด้านศิลปะการช่างโดยเฉพาะคุณตาและคุณพ่อโดยตรง ผมเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนวัดสังเวช ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส จนจบม.ศ.4 คุณพ่อให้ออกจากโรงเรียนแล้วนำไปฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปากร แผนกช่าง ซึ่งส่วนมากจะมีนักศึกษาที่เป็นลูกหลานข้าราชการที่เป็นศิลปินของกรมศิลปากร

“สาเหตุที่ออกจากโรงเรียนตอนนั้นเพราะได้ข่าวว่าโรงเรียนศิลปากร จะปิดทำการสอน เนื่องจากอาจารย์ ซี.เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี หมดสัญญาจ้าง ต้องกลับประเทศอิตาลี ตามสัญญา นักศึกษารุ่นแรกไม่มีใครจบสักคน กรมศิลปากรจึงได้ทำการของบประมาณจากรัฐบาลหลายครั้งจนได้รับงบประมาณมาจ้างอาจารย์ศิลป์ต่อ

“ตอนแรกผมเรียนช่างเขียนเพราะคุณพ่อท่านเป็นช่างเขียน เรียนจบมาออกมาหากินได้ ไม่อดตาย ในเดือนแรกที่เข้าเรียนมีนักศึกษาเรียน 30 กว่าคน เพราะเรียนฟรี ต่อมา 2-3 เดือนหลังก็หายหน้าไปทีละคนสองคน เหลือเรียนจริงๆ 7- 8 คน เมื่อขึ้นปีที่ 2 หลวงวิจิตรวาทการ ท่านได้ใช้อาคารเรียนเป็นห้องทำงาน นักศึกษาต้องไปเรียนที่โรงเก็บราชรถและโกดังเก็บโครงสร้างพระเมรุเก่าซึ่งสำนักพระราชวังฝากไว้

“ผมเรียนช่างเขียนเสร็จแล้วต้องไปปั้นปูนสดด้วยปูนซีเมนต์อีก ขณะเรียนอยู่ปี 2 กลางปี กรมศิลปากรขาดช่างเขียนแบบและสถาปนิก คุณพระสาโรชรัตน นิมมานก์ ท่านเป็นสถาปนิกพิเศษและเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน จึงประกาศยุบช่างจิตรกรรมทำให้ผมและเพื่อนๆ ต้องมาเรียนช่างสถาปัตยกรรมออกแบบและตกแต่ง ซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ โดยสั่งให้ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากรเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมสากล หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ สอนวิชาตกแต่งภายใน พระหรหมพิจิตร สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทย นายเอช เฮอร์แมน เป็นวิศวกร สอนวิชาคำนวณและแบบโครงสร้าง อาจารย์ฝรั่ง สอนวิชาช่างประติมากรรมและช่างจิตรกรรม ตามเดิม

“ราวปี พ.ศ.2482 มีคำสั่งจากกรมศิลปากรให้นักศึกษาไปช่วยเขียนภาพและลายเพดานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลให้เสร็จสมบูรณ์ อีก 1 ปีถัดมามีคำสั่งจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีให้ทางกรมศิลปากรออกแบบดำเนินการต่อเติมเจดีย์พระธาตุพนมให้สูงขึ้น และให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานโดยการนำของอธิบดีกรมศิลปากร หลวงวิจิตรวาทการ”

ล้างพู่กัน..สลักหยวก

“ในระหว่างที่ทำการก่อสร้างได้เกิดสงครามอินโดจีน ตามริมฝั่งโขง มีการปะทะกันด้วยอาวุธและระเบิดเป็นครั้งคราว ในเวลากลางวันพวกผมปฏิบัติงานก่อสร้างขึ้นยอดพระธาตุ ผูกเหล็ก เทคอนกรีต พอกลางคืนก็อยู่เวรเดินยามร่วมกับตำรวจและครูประชาบาลดูแลและรักษาความปลอดภัยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่พวกเราที่เป็นนักศึกษาที่สมัครไปทำการก่อสร้างบูรณะพระธาตุพนม ก็ไม่ท้อถอย ต่างตั้งหน้าปฏิบัติงานก่อสร้างจนสำเร็จภายใน 6 เดือนซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะสำเร็จการศึกษา อาจารย์ฝรั่งจะเคี่ยวเข็ญในเรื่องการทำงานให้มากที่สุด ผมเคยถามท่านว่าจะเปลี่ยนจากโรงเรียนศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วจะเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าเป็นอะคาเดมี่อย่างนี้ดีแล้ว ไม่ใช่ให้แต่งตัวใส่หมวกแล้วมานั่งเฉยๆ ท่านชอบทำงานและให้นักศึกษาทำผลงาน สำคัญที่สุดสมัยนั้นค่าเครื่องเขียน ราคาแพง พวกกระดาษทำแล้วฉีกทิ้ง ท่านบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้กระดาษที่ซื้อมา ให้ใช้กระดาษห่อปูนซีเมนต์เขียนก็ได้ ท่านจะดูเทคนิค ความแตกต่าง เส้นๆ หนึ่งของดินสอมันมีความหมาย เราเขียนเส้นๆ หนึ่งท่านจะรู้เลยว่าเขียนเป็นหรือเปล่า

“ช่วงนั้นผมต้องทำงานช่วยพ่อแม่เกี่ยวกับการช่างเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เป็นงานพิเศษ เช่น ช่วยล้างพู่กันเขียนภาพ กวนสีฝุ่นผสมกาวหนังในกะลามะพร้าว สลักหยวก แกะมะละกอ แกะฟักทองเป็นดอกไม้ ลงสีพื้นภาพ ออกแบบลายผ้าให้ให้คนจีนที่ตลาดผ้าพาหุรัต ออก 3 แบบได้ค่าจ้างมา 20 บาท

“ตอนนั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมก็เรียนจบพอดีและท่านก็ตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นของนายปรีดี พนมยงค์ ท่านตั้งเพื่อเป็นการมองการณ์ไกลเรื่องการศึกษา หลังจากรับประกาศนียบัตรช่างออกแบบตกแต่งแล้ว ผมได้บรรจุเป็นข้าราชการในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ในปี พ.ศ.2485 กรมศิลปากรสมัยนั้นยังไม่มีมาตรฐานในเรื่องเงินเดือนเท่าไร ผมรับราชการได้เงินเดือน 30 บาท หากใครมีวุฒิจบจากเพาะช่างหรือมหาวิทยาลัยศิลปากรมาจะได้เงินเดือนขึ้นอีก 20 บาทเป็น 50 บาท”

ร่วมรบรับใช้ชาติ

“ช่วงปีนั้นเองได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้นำกองทัพขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอตั้งฐานทัพและเป็นทางผ่านเข้าสู้รบกับทหารพันธมิตรอังกฤษ ที่เข้ายึดครองประเทศพม่ามาเลเซีย สิงคโปร์ และฝรั่งเศส ยึดครองลาว กัมพูชา และเวียดนาม ขอให้รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้าร่วมสงคราม ในที่สุดประเทศไทยก็จำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามสู้รบกับอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกา ข้าราชการและประชาชนไม่เป็นอันทำงานต้องคอยวิ่งหลบกระสุนและระเบิดภัยทางอากาศเป็นประจำทุกวัน

“ครั้งแรกผมจับได้ใบดำ ตอนหลังถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร เข้าประจำการที่ในกรมทหารป้องกันและต่อสู้อากาศยานร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่น ตอนหลังเขาให้ผมไปประจำขบวนรถไฟอุตรดิตถ์-ลำปาง ตั้งปืนกลต่อสู้อากาศยานบนขบวนรถไฟ สำหรับยิงเครื่องบินที่จะมาทิ้งระเบิดขบวนรถไฟลำเลียง ผมยิงเครื่องบินตกไป 2 ลำ (หัวเราะ)

“ตอนนั้นเกิดเสรีไทยขึ้นมาแล้ว ทางเสรีไทยประกาศไม่ให้เรายิงพันธมิตร ผมรับใช้ชาติอยู่ถึง 2 ปี สงครามจึงยุติ ก็ปลดประจำการ ซึ่งมันแตกต่างจากการรับราชการกองสถาปัตยกรรม เป็นทหารมันกดดัน เขาไม่มีข้อยกเว้นว่าเราเป็นข้าราชการมาก่อน เราต้องทำตามที่เขาสั่ง เพราะมันเกิดสภาวะสงครามและเราเป็นผู้แพ้สงครามด้วยในตอนนั้น

“หลังจากนั้นได้ไปหาอาจารย์ฝรั่ง ท่านถามว่านายประดิษฐ์มีงานทำหรือยัง จากนั้นท่านก็เขียนหนังสือประวัติความสามารถของผมลงไป หากเอาไปยื่นที่ไหนเขาจะรับเพราะเขาเชื่อถืออาจารย์ฝรั่งมาก สุดท้ายผมก็กลับมารับราชการในกองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรต่อ งานแรกที่ทำคือ ออกแบบอาคารปฏิบัติงานประติมากรรมและงานจิตกรรมอย่างละหนึ่งหลังให้มหาวิทยาลัยศิลปากรปีต่อมาทางเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรมีโครงการที่จะทำการตกแต่งคูหาภายในพระอุโบสถให้สมบูรณ์ จึงให้ช่างกรมศิลปากรดำเนินการเขียนภาพเจดีย์และปรางค์ที่เป็นอนุสรณ์ทางพุทธศาสนา ที่ผมออกแบบตกแต่งก็มีพระปฐมเจดีย์ เจดีย์พระธาตุไชยาเจดีย์หริภุญชัย เจดีย์พระธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปรางค์วัดมหาธาตุ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งผมกับเพื่อนได้ร่วมกันเขียนภาพ ‘ปรางค์วัดอรุณราชวราราม’ 1 ในจำนวน 6 คูหาในพระอุโบสถ”

ซ่อม..สร้าง..พระบรมมหาราชวัง

“ช่วงปี พ.ศ. 2489-2491 ผมได้ไปช่วยหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ซึ่งเป็นสถาปนิกพิเศษรับราชการอยู่กรมศิลปากรและรับราชการอยู่ในสำนักพระราชวัง ท่านสำรวจและเขียนแบบพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์และพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติซึ่งทรุดโทรมมาก เพื่อเป็นต้นแบบในการบูรณะและเปลี่ยนแปลงใหม่ ท่านเป็นผู้ออกแบบสร้างศาลาเฉลิมกรุงและสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง ช่วงนั้นผมได้ติดตามรองอธิบดีกรมศิลปากร สำรวจโบราณสถานทุกจังหวัดในภาคอีสานและภาคใต้ ท่านให้ผมช่วยก่อสร้างศาลาการเปรียญและแนะนำการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานในเมืองเก่า กรุงสุโขทัยทั้งหมด อาทิ วิหารวัดศรีชุม วัดศรีสวาย วัดพระพายหลวง วัดมหาธาตุ ให้คงสภาพเพื่อชะลอความเสื่อมโทรม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมในมั่นคงแข็งแรงอยู่ได้ตราบนานเท่านาน

“ในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติงานนั้น รองอธิบดีกรมศิลปากร มีคำสั่งให้เปิดโบราณสถานจัดงานลอยกระทงขึ้นเป็นครั้งแรกในตระพังทองและงานเห่เรือตามแบบอย่างของหลวง ท่านได้ให้ผมปั้นหัวเรือและท้ายเรือ ปิดกระดาษทองและกระดาษสีสร้างจำลองขึ้น อีกทั้งเป็นผู้นำในการขับร้องและฝึกซ้อมฝีพายด้วยทำนองเพลงเห่ตามราชประเพณี เป็นที่ครึกครื้นแปลกตา มีชาวบ้านและประชาชนมาชมจำนวนมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน หลังจากนั้นมากรมศิลปากรจึงมีดำริร่วมกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานเผาเทียนเล่นไฟ เป็นงานประจำปีขึ้นมา มีชาวไทยและชาวต่างประเทศไปชมมิได้ขาด เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรมฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ

“การทำงานทุกครั้งผมจะทำงานด้วยการได้รับมอบหมายจากหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม ผมเป็นผู้ช่วย เสมือนผมเป็นมือซ้าย มือขวาเรียกอีกอย่างคือทหารเอกของท่าน มีการออกแบบพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จังหวัดนครปฐม เพื่อจัดตั้งศิลปวัตถุโบราณ จากนั้นไปสำรวจจัดซ่อมพระบรมมหาราชวังและพระราชวังต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นที่ประทับเจ้านายชั้นสูงและท่านโปรดให้ผมเป็นผู้เขียนและออกแบบเป็นประจำ เมื่อปี พ.ศ.2503 หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม ได้รับมอบหมายให้สำนักพระราชวังขอตัวผม ไปช่วยควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์และเป็นสถาปนิกออกแบบเรือนรับรองแขกต่างประเทศและเรือนมหาดเล็ก พร้อมห้องเครื่องไทย-ฝรั่งอย่างละ 1 หลัง 3 ชั้น ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรทรงตรัสว่านึกว่าทำชั้นเดียว เป็นการเล่นระดับ หากสูงเกินไปจะไปข่มพระราชตำหนักที่หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมก่อสร้างไว้

“สมัยนั้นพระราชอาคันตุกะระดับประธานาธิบดีจะพักตำหนักเดียวกับในหลวง ส่วนผู้ติดตามจะพักที่เรือนรับรอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิมทรงหาแบบศาลาขนาดย่อมใช้งบประมาณไม่มากนัก เพื่อพระราชทานให้แก่ประชาชนขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ประเทศละ 1 หลัง หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม ได้มอบหมายให้ผมเขียนแบบศาลาดังกล่าว มีตัวอักษรพระปรมาภิไธย ภปร บนหน้าบัน พระราชทานส่งไปยังต่างประเทศนั้น ตามพระราชประสงค์พร้อมกับออกแบบอาคารไม้เรือนไทย เพื่อรับรองเป็นการส่วนพระองค์ในพระราชวังสวนจิตรดา ผมเขียนแบบเรือนไทยขึ้น 3 ขนาดคือขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม ได้ให้ผมตามเสด็จเพื่อนำแบบเข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายในบริเวณที่จะก่อสร้างอาคารเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก”

พระธาตุพนมองค์ใหม่

“เมื่อปี พ.ศ.2522 ในงานพระราชพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐ์บนยอดเจดีย์พระธาตุพนมที่สร้างขึ้นใหม่แทนเจดีย์พระธาตุองค์เก่าโดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นองค์ประธาน ผมได้ออกแบบโครงร่างร้านตั้งลอย อยู่บนปากฐานเจดีย์ส่วนบนได้สวยงาม ไม่กีดกั้นบังรูปทรงองค์เจดีย์เป็นการประหยัดเวลาก่อสร้างและรื้อถอน เมื่อเสร็จพิธียกฉัตรแล้วเวลา20.00 น. ก็ทำการรื้อถอน วันรุ่งขึ้นได้มีพระราชพิธีบรรจุพระธาตุพนม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นองค์ประธาน องค์พระธาตุพนมโดดเด่นสวยงามมาก มีลวดลายประดับทองงามระยิบระยับ ผมยังได้ออกแบบทำเกรินรอกบุษบกประดิษฐานผอบพระธาตุขึ้นบรรจุในองค์เจดีย์พระธาตุพนม

“ปีต่อมาทางกรรมการจัดซ่อมพระบรมมหาราชวังและพระอุโบสถวัดพระแก้ว เพื่อเฉลิมฉลองพระแก้วมรกต 200 ปีตรงกับพุทธศตวรรษที่ 25 ผมจึงเป็นกรรมการจัดสร้างบุษบกที่ประดิษฐานพระแก้วองค์ใหม่ เนื่องจากองค์เก่าชำรุด การพัฒนางานศิลปะของผมนั้น ผมอยากพัฒนานอกเหนือจากที่เราคิดคือมีความแปลกใหม่ อย่างวัดวาอารามของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่จังหวัดเชียงราย ก็เป็นงานศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง เขาหาสตางค์เองเขาจึงทำได้ ฉะนั้นงานศิลปะมันมีอยู่ 2 อย่างคือ ดีกับไม่ดี หากเราออกแบบไปแล้ว มันอาจจะไม่ดีกว่าของเดิมก็ได้ มันต้องเป็นแนวใหม่เลย เหมือนกับต้องล้างสมองใหม่ ทีนี้มันล้างไม่ได้เพราะมันติดรูปแบบเดิม อย่างพระพุทธรูป ไม่ต้องติดทองให้ก็มีความสวยงามแบบเรียบๆ

“ตอนที่ผมจบโรงเรียนศิลปากรด้านสถาปัตยกรรม เป็นสถาปนิกที่เขายังไม่รับรอง หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม เป็นคนจัดตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ท่านเป็นนายกสมาคม บอกว่าเราต้องหาพวกคนที่เก่งๆ ต้องเชิญเขาเข้ามา อย่างสมเด็จกรมพระยานริศฯ ท่านเรียนสถาปัตยกรรมซะที่ไหน ท่านเรียนมาจากงานวัดทั้งนั้น ถึงเขาไม่ได้เรียนมา แต่เขาเก่งก็ต้องเชิญเขาเข้ามา อย่างไปกีดกั้นเขา อย่างคำพูดที่ว่าศิลปินต้องมีค่าตัว นั่นคือคำพูดของช่างเขียนในปัจจุบัน ช่างสถาปัตยกรรม ในสมัยนั้นหากินไม่ได้หรอกเขียนแบบขายก็ไม่มีใครเอา นอกจากออกแบบผ้าที่พาหุรัด

“อย่างที่วัดบึงทองหลางก็มาจ้างผมไปออกแบบ พระเวลาเงินหมดจะหาเงินต้องเดินทางไปประเทศมาเลเซีย นำพระเครื่องไปให้คนจีนในมาเลเซีย เช่าบูชา(หัวเราะ) ผมยังออกแบบตาลปัตรให้เจ้าอาวาส แล้วท่านก็ถามผมว่าคิดค่าออกแบบเท่าไร ผมก็บอกว่าเอาไว้ก่อน ผมถือว่าผมเรียนมาฟรีและเราได้เงินเดือนจากทางราชการและศิลปินแห่งชาติมาแล้ว ผมถึงไม่รับเงิน ผมถือพระราชดำรัสในหลวงที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียง เราพอมีกินเราก็ยังอยู่ได้ เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน เวลานี้เราตัดหมดแล้ว ถ้าผมตายก่อน ใครจะมาเรียกร้องเอาอะไรจากผม ผมไม่ให้ สมบัติที่มีอยู่หรือที่ผมสร้างสรรค์มา ผมจะถวายสมเด็จพระเทพฯ ให้ทำเป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองต่อไป”

สนองคุณแผ่นดิน

“สำหรับศิลปินรุ่นใหม่ เขาได้เปรียบกว่าสมัยก่อนเยอะ แต่อยากขอเตือนในเรื่องความอดทน อย่าไปคิดหวังกับเงิน ต้องคิดอย่างอาจารย์ศิลป์ท่านจะบอกว่า ทำทำทำ ท่านไม่ชอบให้ใครคิดไปทำเล่นๆ หรือตอนนั้นกระแสรักชาติรุนแรง ประเทศไทยถูกรังแกจากฝรั่งเศส ลูกศิษย์ของท่านจะไปเป็นยุวชนทหารเพื่อไปรบ อาจารย์ศิลป์บอกว่า รบทำไม รบแล้วได้อะไร ท่านไม่ให้ยุ่ง ท่านให้เรียน ท่านยังบอกอีกว่า นาย ศิลปะนี้ยืนยาว อายุคนสั้น แต่ศิลปะยืนยาวกว่า ให้ฟังสิ คิด คิด คิด ท่านเป็นคนดี สอนยิ่งกว่าพ่อกว่าแม่เราอีก”

“แม้ผมจะเกษียณอายุราชการมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปี พ.ศ.2526 ผมยังปฏิบัติงานรับใช้ชาติและศาสนา มิได้ขาด เช่นออกแบบพระบรมธาตุเจดีย์มหาจักรีพิพัฒน์ จังหวัดชลบุรี ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงสร้างขึ้นเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นมหาราชสามพระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงปกป้องทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยืนยง มาจนถึงทุกวันนี้และเพื่อเป็นอนุสรณ์เพื่อเทิดทูลราชวงศ์จักรี ที่ได้ปกครองแผ่นดินมายาวนาน

“นอกจากนั้นผลงานที่เด่นๆ ก็มีการออกแบบ ตกแต่งพระอุโบสถวัดป่านางสีดา จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีลักษณะลวดลายคล้ายคลึงกับศิลปะภาคอีสาน พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เป็นผู้อำนวยการสร้าง ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประสกนิกรประชาชนชาวอีสาน ได้เสด็จทอดพระเนตรพระอุโบสถและถวายปัจจัยจำนวนหนึ่งเพื่อร่วมพระกุศลในการก่อสร้าง และได้พระราชทานอักษรพระปรมาภิไธย ภปร. และ สก. ประดิษฐานบนหน้าบันพระอุโบสถ

“ผมยังออกแบบตกแต่งพระอุโบสถ ศาลาเอนกประสงค์ หอไตร ศาลาสวดพระอภิธรรม ซุ้มประตูยอดหน้าพรหมและกำแพงวัดพุทธภาวนา จังหวัดสมุทรปราการ ออกแบบและตกแต่งกุฏิสงฆ์แบบเรือนไทย วัดอุทัยธาราม เป็นกุฏิสามชั้นออกแบบศาลาอเนกประสงค์ที่มีขนาดใหญ่ แบบทรงไทย ปิดทอง ประดับกระจก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลายหน้าบัน เพดานภายในปิดทองลายฉลุ เสาเขียนลาย ปิดทองทรงรดน้ำ ออกแบบและตกแต่งศาลาไทยปิดทองประดับกระจก ของมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญABAC บางนา ออกแบบและตกแต่งซุ้มประตูกำแพงหน้าวัดยานนาวา เป็นซุ้มประตูทรงมงกุฎสามยอด อาคารทั้งสามหลังนี้ ปิดทองประดับกระจกดูสง่างามยิ่งนัก ออกแบบและตกแต่งวิหารยอด ประดิษฐ์พระพุทธรูปและรูปปั้นอดีตเจ้าอาวาสวัดบึงทองหลางกรุงเทพฯ เป็นอาคารใหญ่โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ตลอดจนยอดมณฑปปิดทองประดับกระจกสีส่วนมากที่ทำเป็นวัดในต่างจังหวัด อีกหลายแห่งนับไม่ถ้วนเพราะไม่ค่อยได้บันทึกไว้ แต่ผมเสียดายแบบที่ออกแบบไว้ตามหลักจะต้องมอบให้กับกรมศิลปากรหรือกระทรวงวัฒนธรรม ที่ตามแบบมาได้จำนวนหนึ่ง เพราะใครขอผมมักจะให้เขาไป ผมไม่ค่อยหวงของเท่าไร

“การออกแบบในรูปแบบสถาปัตยกรรมแต่ละครั้งความยากง่าย อยู่ที่โจทย์ว่าต้องการอะไร ขนาดไหน สถานที่ที่จะประดิษฐ์สถานศิลปะไทยคือศิลปะชั้นสูงมีความประณีต ผมทำงานศิลปะมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เริ่มจากการเป็นลูกมือ ช่างในสมัยนั้น ต้องทำทุกอย่าง พอได้สตางค์มา 5-10 สตางค์พอเป็นค่ารถกลับบ้าน ส่วนที่ออกแบบตกแต่งวัดที่ต่างจังหวัดบางทีผมก็ได้ผ้าเช็ดหน้าหรือไม่ก็ผ้าขาวม้าแทนสตางค์ก็มี (หัวเราะ) พระบางรูปก็ให้ผมมาออกแบบ ผมอยากทำอะไรที่ใหญ่ๆ และมีชื่อเสียงตอนนี้ยังไม่ได้ทำ เมื่อออกแบบเสร็จดูสวยงาม คนที่จะทำมันต้องมีเงิน แต่เวลานี้พระก็อย่างว่า อยากทำใหญ่ๆ ไม่ยอมทำนิดหน่อย แล้วมันก็ไม่เสร็จ อย่างผมออกแบบดูสมบูรณ์ สวยงาม พระท่านก็ไปตัดแบบออกต้องการให้มันถูกเข้าไว้

“ยามว่างผมก็ออกแบบงานปูนปั้นทำบล็อกเป็นรูปผู้หญิงกับผู้ชายอยู่บนเพดาน มีแสงส่องตั้งชื่อว่า ‘โลกอลวน’ แลดูมีลีลาวิจิตรบรรจง งานออกแบบเวลานี้ผมมีเยอะมีทั้งการออกแบบให้กับวัดเทวราชกุญชร ล่าสุดออกแบบวงล้อธรรมจักร 5 วง ไปที่วัดไทยในเยอรมนี และบริษัทการบินไทยจ้างให้ออกแบบสร้างวัดไทยในประเทศเนปาล สร้างหอระฆังและบุษบก ผมไม่ต้องห่วงอะไรอยู่กับลูกชาย 2 คนเขาเป็นอาจารย์สอนคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง เงินเดือนเยอะกว่าผมอีก”

อาจารย์ประดิษฐ์ได้สร้างผลงานสถาปัตยกรรมไว้เป็นจำนวนมากถือได้ว่าเป็นสกุลช่างประจำรัชกาลที่ 9 ก็ว่าได้ การเผยแพร่ผลงานเป็นถาวรวัตถุจึงมีอยู่ทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นที่ย่อมรับยกย่องในวงการช่างวิชาชีพเป็นที่ประจักษ์ว่ามีความงดงามวิจิตรศิลป์เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม เพื่อสืบสานปณิธานงานสถาปัตยกรรมศิลป์แบบประเพณีไทยให้ดำรงคงอยู่ตลอดไป

ถ่ายทอดกลิ่นไออดีต เยี่ยงวีรบุรุษของแผ่นดิน