ประภัสสร เสวิกุล

ประภัสสร เสวิกุล

บทที่หนึ่ง ‘หน้าแรกของการอ่าน’

ทันทีที่สิ้นเสียงพลิกกระดาษหน้าแรกๆ เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกเรียงร้อยผ่านถ้อยคำ กลั่นกรองรวมตัวกันเกิดเป็นมโนภาพสรรพเสียงอื้ออึงรอบตัวกลับถูกกลบห้วนด้วยเสียงของตัวอักษรความงดงามของการประดิษฐ์คำ สัมผัสในแต่ละสระ แต่ละอักษรคือเสน่ห์ดึงดูดความสนใจในขณะวัยเยาว์ของประภัสสร เสวิกุลไว้อย่างแน่วแน่

“ผมรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะได้รับการปลูกฝังที่ดีมาจากครอบครัว ที่สำคัญคือคุณพ่อท่านก็รักการอ่าน ผมเริ่มอ่านตั้งแต่โคลงโลกนิติ ลิลิตตะเลงพ่าย เมื่อโตขึ้นก็หันมาอ่านโคลงโลกนิติ ราชาธิราช สามก๊ก จากนั้นงานวรรณกรรมดีๆ ก็เริ่มผ่านตาผมมากขึ้น

“เวลาของผมมักใช้ไปกับหนังสือ มันทำให้ผมได้ใช้จินตนาการได้เข้าไปอยู่ในโลกของความคิด การที่เราอ่านวรรณกรรมดีๆ ก็เหมือนเราได้เข้าไปอ่านความคิดอันแยบยลของนักเขียน มันน่าสนุกนะ แต่หนังสือที่เราอ่านนั้นมันก็ต้องเป็นหนังสือที่ดี เพราะเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมให้เราเติบโตไปในทิศทางที่ถูกที่ควรด้วย

“อย่างผมโตมากับแรงบันดาลใจที่ได้จากการอ่าน การดำเนินชีวิตก็จะสำนึกในสิ่งดีๆ ที่หนังสือได้บอกเล่าเรื่องราว หรือสอนอะไรไว้ในนั้น เช่น ตอนเด็กๆ ผมเคยอ่านหนังสือในชั้นเรียนเรื่อง‘ออมไว้ไม่ขัดสน’ ผมก็จำมาจนถึงทุกวันนี้ ขนาดจะแก้เชือกเราก็ต้องแก้เพื่อที่จะสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก คือสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในใจเรา อย่างที่บอกว่าการอ่านนั้นสำคัญสำหรับเยาวชน เพราะถ้าหนังสือดี มันจะฝังใจ และจะสร้างคุณธรรมที่ดีสำหรับเด็กได้ไม่ยาก ที่ผ่านมาเด็กรุ่นหลังๆ นั้นอาจจะถูกละเลยในสิ่งสำคัญตรงจุดนี้ไป”

บทที่สอง “บรรทัดต่อไปของการเขียน”

ความสุขจากการเป็นผู้เสพ สู่ความสุขของการเป็นผู้สร้าง ตัวอักษรที่ถูกกลั่นกรองเรียงตัวกันในแต่ละถ้อยคำแต่ละบรรทัดจากวรรคสู่วรรค จากสัมผัสสู่สัมผัส ความรู้สึกนึกคิดแห่งจินตนาการได้ถ่ายทอดบทบาทสลับหน้าที่ต่างเวลากับเมื่อครั้งยังเยาว์วัย

“หลังจากที่อ่านมาพอสมควรแล้ว ก็เริ่มที่จะอยากเขียนบ้างผมเริ่มเขียนครั้งแรกๆ ก็จะเขียนกลอน เขียนบทกวี พวกกลอนแปด โคลงสี่ก่อน ต่อมาอาจเป็นเพราะผมชอบฟังเพลงสากลด้วย ก็มักจะนำเนื้อเพลงมาแต่งเป็นกลอน อันนี้อาจเป็นที่มาที่ทำให้ผมมีความคิด

ที่ไม่อยู่ในกรอบเสียเท่าไหร่ ผมมองว่าทุกอย่างมันสามารถแตกออกไป ต่อยอดได้หมด ขอแค่เรามีสิ่งที่สำคัญคือจินตนาการ

“ผมเขียนกลอนอยู่ 12 ปี ถึงได้มาเขียนเรื่องสั้น ซึ่งผมก็ไม่ได้จับแนวทั่วไป แต่มาจับแนวงานเขียนของคุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะถือว่าเขาเป็นหนุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรง แนวแปลก แนวใหม่ของไทยสมัยนั้น ผมก็เลยค่อนข้างที่จะได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของเขามาพอสมควร แล้วงานของผมตอนนั้นมันจะก้ำกึ่งระหว่างวรรณคดีและความคิดของฝรั่งสมัยใหม่ด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้น

“แม้ผมจะผ่านการอ่านมาเยอะ ผ่านการเขียนมาหลากหลายแบบ แต่ก็ใช้เวลานานเหมือนกันนะกว่าจะมาค้นพบสไตล์ของตัวเอง แล้วยิ่งถ้าเราอ่านงานของใครมามากๆ ก็อาจจะทำให้เราติดสไตล์ของเขามาโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าลอกสำนวน ลีลา การเว้นวรรค คำพูดต่างๆ ของเขามาเลยทีเดียว หมายถึงในตอนนั้นนะ

“แต่ทีนี้มีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมมีเหตุการณ์ต้องไปประจำการที่ประเทศลาว ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยกับลาวมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นกันเท่าไหร่ ผมเลยต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ก็จะอยู่แต่ที่บ้านและสถานทูตเท่านั้น  จะข้ามมายังหนองคายก็ยังลำบากเลยทำให้เมื่อไม่ได้ออกไปติดต่อสื่อสารอะไรที่ไหน สิ่งที่ทำได้ก็คืออ่านหนังสือและอยู่กับตัวเองไป ความนิ่งมันจึงเกิดขึ้น ได้อยู่กับตัวเอง แล้วเรื่องที่เราเคยอ่านๆ มาทั้งหมดมันก็จะค่อยๆ ซึมผ่านเข้ามาในสมอง มันเหมือนตกตะกอน งานเขียนผมเองก็ค่อยๆ เปลี่ยนมาตั้งแต่นั้น โดยที่ผมเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน

“ช่วงนั้นก็จะได้งานเขียนที่มาจากกระแสสำนึก เช่นข้างๆสถานทูตตอนนั้นมีคนญวนอยู่ เขาก็ทำสวนผักอะไรไป ในขณะที่ข้างนอกมันก็วุ่นวาย มีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ เต็มไปหมด แต่ว่าเขาก็ยังนิ่งมากนะ ยังดูแลสวนผัก ใช้ชีวิตอะไรของเขาไปตามปกติ ผมมองออกไปเห็นเขาทุกวันๆ ก็เลยเกิดจินตนาการ สามารถเขียนหนังสือได้เรื่องหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่า ‘อีกวันหนึ่งของตรัน’  (ได้รับรางวัลชนะเลิศจากอนุสรณ์ ว.ณประมวญมารค พ.ศ.2520) มันก็เลยเหมือนกับว่าพอเรามีประสบการณ์มาแล้ว เราก็จะเริ่มรู้แล้วว่าควรจะเดินทางไหนต่อ

“ส่วนเรื่องของการทำทั้งสองอย่างระหว่างผู้สร้างงานวรรณกรรมกับนักการทูตที่ผมเป็นนั้น บ้านเราหรือในเอเชียอาจมองว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ในแถบอเมริกาใต้ เขาใช้นักเขียนเป็นนักการทูตมานานแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ จะเห็นว่านักการทูตหลายๆ คนของประเทศแถบนั้นจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เพราะเขาทำสองอย่างพร้อมกัน แล้วก็ใช้ประโยชน์ตรงจุดนั้นมาเชื่อมโยงกันจนประสบความสำเร็จ เมื่อเอาประสบการณ์ต่างๆ มาใช้ในงานเขียนมันก็ยิ่งได้เปรียบที่ได้วิสัยทัศน์และจินตนาการ เพราะถ้าเป็นศิลปินหรือเป็นนักเขียนไปด้วยมันจะได้จินตนาการที่มากกว่า การพบปะติดต่ออะไรกันมันก็เป็นไปอย่างนิ่มนวล ใช้การพูดจากันแบบศิลปิน พูดง่ายๆ ว่าจะถูกคอ พูดกันได้รู้เรื่อง สื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้นนั่นเอง”

บทที่สาม “วรรณกรรมคือลมหายใจ”

เมื่อประสบการณ์ผสานกับความคิดที่ตลกผลึกออกมาเป็นตัวตนความเข้มข้นแห่งแรงบันดาลใจถูกแฝงไว้ในรูปแบบของจินตนาการ คิดจากสิ่งที่เห็น สร้างจากสิ่งที่เป็น ใส่จิตวิญญาณให้น้ำหมึก สู่หลายชีวิตได้เวียนว่ายในโลกแห่งความเป็นจริงเขาสร้างตัวละครที่สะท้อนเสี้ยวหนึ่งของตัวเอง

“งานเขียนแต่ละชิ้น ตัวละครแต่ละตัวที่ผมสร้าง ผมผูกพันเพราะมีความรู้สึกว่าเขาใช้ชีวิตร่วมอยู่กับเราในระยะหนึ่ง ซึ่งถ้าเปรียบเหมือนเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จักกัน ก็คงจะไม่มีวันลืมเขาแน่นอน อย่างตัวครู ‘นัท’ ใน ‘เวลาในขวดแก้ว’ นี่ก็รู้สึกคุ้นเคยกันมาก เพราะผมจะนึกถึงวัยของตัวเองในช่วงนั้น และบุคลิกอะไรหลายๆ อย่างในตัวนัทนั้นก็มาจากตัวผมหรือคนที่ผมรู้จักหรืออย่าง ‘อาเหลียง’ ใน ‘ลอดลายมังกร’ เขาก็ให้ความรู้สึกถึงความเป็นผู้ใหญ่อีกแบบ เราก็มองว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผมคิดถึงเขาในแบบญาติผู้ใหญ่ของเราคนหนึ่ง

“การที่เราจะเขียนเรื่องใดก็ตาม เราต้องคลุกคลีกับเรื่องที่จะเขียนพอสมควร อย่างเช่นเรื่อง ‘ซิ้มใบ้’ ที่ผมเขียน ผมใช้เวลานานมาก เป็นสิบปีในการเขียน มันมาจากการที่ผมได้เห็นหญิงจีนชราคนหนึ่งนั่งชุนผ้าอยู่ที่เยาวราชเป็นประจำ จนผ่านไประยะหนึ่งก็ลืมไปเลยว่าเคยเห็นแก แต่พอผมจะเริ่มเขียนหนังสือ มันก็เกิดความคิดแว่บหนึ่งเป็นภาพของหญิงชราคนนั้นขึ้นมา ก็เลยนำมาเขียนเป็นเรื่องราวโดยสมมติว่าเขาเป็นใบ้ เขามีแบ็คกราวด์อย่างไร จินตนาการของผมก็สร้างขึ้นจากภาพความทรงจำเมื่อ10 ปีก่อน

“ต้องอย่าลืมว่าในงานเขียน สำคัญคือจุดสะเทือนใจ เมื่อใดก็ตามที่งานเขียนชิ้นนั้นมีจุดสะเทือนใจ ก็เรียกได้ว่างานเขียนชิ้นนั้นมีคุณค่าแล้ว ควรแก่การจดจำ ในการเริ่มเรื่องก็เหมือนกันเราต้องมีแรงบันดาลใจในการเขียน แรงบันดาลใจนี้มันมีอยู่ทั่วไป อยู่ที่ไหนก็จับเอามาใช้ได้หมด บางทีเราอาจผ่านเรื่องราวอะไรไปแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจก็สามารถเอามาเขียนได้

“โดยส่วนมากเวลาจะเขียนเรื่องสักเรื่องหนึ่งผมจะมีการเตรียมตัวก่อนระยะหนึ่ง อย่างเรื่อง ‘ชี้ค’ ผมก็ใช้เวลาในการเตรียมตัวเขียนอยู่ถึงปีครึ่ง ที่ผมมีความคิดจะเขียนเรื่องนี้ก็เพราะผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับอเมริกาส่งกองเรือปิดล้อมลิเบีย ก็เลยสนใจว่าลิเบียอยู่ตรงไหน ทำไมอเมริกาถึงต้องปิดล้อม จนได้ไปศึกษาเรื่องตะวันออกกลาง เรื่องแอฟริกาเหนือ เรื่องสงครามช่วงนั้นคือเราต้องหาความรู้เตรียมตัวก่อนเสมอ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการที่จะเขียนเรื่องอะไรก็แล้วแต่

“งานเขียนที่ผมคิดว่ายากก็อย่างเช่นเรื่อง ชั่วนิรันดร เพราะยิ่งเขียนเหตุการณ์ก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย 2475 ปัญหาก็คือตัวละครมากขึ้นเรื่อยๆ มันลำบากที่จะคุมให้ตัวละครแต่ละตัวมีบทบาท มีความเคลื่อนไหวไม่มากไม่น้อยไป แล้วก็ต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากพอสมควรในการวางโครงเรื่องและการเขียน เพื่อไม่ให้มันบิดเบือน หรือไปกระทบกับใคร”

บทที่สี่ “จรรโลงสังคม”

หากตัวเลขที่มากขึ้นในแต่ละหน้ากระดาษแห่งการเดินทางของชีวิต ใจความสำคัญของแต่ละเรื่องมักไม่เน้นถูกผิด หากแต่เน้นฝากแง่คิดสิ่งละอันพันละน้อยไว้ในใจ เปรียบเหมือนการเดินทางด้วยเท้า วิวเอื่อยๆ ที่เห็นได้ชัดด้วยสองตาเรา มักกลั่นกรองถ่ายทอดออกมาได้สวยงามจากใจ

“หลายคนอาจเคยสังเกตเห็นว่างานเขียนผมจะแฝงเรื่องปรัชญา ความดีงามของชีวิตเข้าไปเสมอ ซึ่งนั่นอาจมีส่วนสำคัญจากการที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบโบราณ คุณพ่อคุณแม่ท่านจะปลูกฝังเรื่องจริยธรรมต่างๆ มาตั้งแต่เด็กๆ อีกอย่างหนึ่งผมว่ามันเป็นการที่ผมมองหาแง่ดีของคนในสังคม ผมคิดว่าคนเรามันก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่ถ้าเรามองแต่สิ่งที่ไม่ดีของเขาเอามาเขียนเป็นงานเขียนออกมา มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรให้สังคมเราดีขึ้น แต่ถ้าเรามองสิ่งที่ดีของมนุษย์ แม้จะยังเหลืออยู่ไม่มากก็ตาม แล้วเอามาเขียน คนอ่านก็อาจเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความรู้สึกปิติสุข หรืออยากจะทำในสิ่งดีๆ เหล่านั้นตามก็เป็นได้

“ผมระลึกไว้เสมอว่าการที่จะเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้นต้องจรรโลงสังคม ต้องไม่ทำให้คนอ่านเสื่อมถอยลงไป ตรงนี้คือเรื่องสำคัญศรีบูรพาเคยบอกว่า ถ้าคุณเป็นช่างไม้ คุณทำเก้าอี้ไม่ดีตัวหนึ่งมันก็แค่ไม่มีคนนำไปใช้ แต่เมื่อคุณเป็นนักเขียน แล้วเขียนหนังสือไม่ดีออกไป มันมีผลต่อสังคม

“นักเขียนสมัยนี้ขาดรากเหง้าของวรรณกรรม เขาเขียนได้เพราะมองเห็นจากสังคมโดยทั่วไป ภาษาพูดก็เอามาเป็นภาษาเขียนกันไปหมด ที่แย่คือทุกวันนี้ใช้การพิมพ์คุยกันแทบจะไม่ได้พูดกันเสียด้วยซ้ำ พวกเขามาเขียนหนังสือทั้งๆ ที่ไม่ได้อ่านหนังสือ เมื่อเขาไม่ได้อ่าน รากของวรรณกรรมในงานของเขามันจึงไม่มีติดตัวมาจากอดีต เรื่องลำดับ เสียงสำเนียงของคำก็ขาดหายไป

“ที่สำคัญเด็กๆ เดี๋ยวนี้ดูละครกันมากก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาเพราะโทรทัศน์นี้เหมือนเป็นตัวกำจัดจินตนาการของพวกเขาก็ว่าได้ ภาษาที่เขาใช้มันก็ไม่ถูก ใช้การเขียนง่ายๆ เข้าไว้ เมื่อลองเปิดดูจะพบว่าเขียนผิดกันเยอะเลย เพราะบางทีเขาจำคำเพราะการฟังแต่เสียง เขาไม่ได้ผ่านจากการอ่าน การใช้คำเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมยนั้นอย่าได้พูดถึง คิดกันเองหมดเพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้จากการอ่านก่อน”

บทที่ห้า  “อีกองศาที่หักมุม”

นิยายแต่ละเรื่องมักมีจุดเปลี่ยนแปลงหรือการหักมุมเกิดขึ้นเพื่อสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้อ่านได้นำกลับมาคิด การเดินทางของวงการวรรณกรรมที่ไหลผ่านมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามยุคสมัยก็ย่อมมีการเปลี่ยนไป

“วรรณกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ผมเห็นจากหลายครั้งที่ผมไปเป็นกรรมการในการประกวดงานเขียนต่างๆ จะได้เห็นหนังสือเยอะมากเลย ที่เห็นได้ชัดคือวิธีการเขียนของเขาอย่างเรื่องสั้นที่เขียนออกมา มันก็จะไม่ใช่เรื่องสั้นอย่างที่เราเรียนหรือเขียนกันมาในสมัยก่อนว่าจะต้องมีความยาวไม่เกินกี่หน้า องค์ประกอบอะไรต่างๆ เปลี่ยนไป เขาจะเขียนเป็นนิยายขนาดสั้น แต่ไม่ใช่เรื่องสั้น เรื่องของความรุนแรงทางเพศ ความโหดร้าย การล่วงเกินสถาบันมีมากขึ้น มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในสองสามปีที่ผ่านมา มันเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพรวมของสังคมออกมาได้ดี เพราะงานเขียนเหล่านี้เกิดจากการที่ไม่ได้ถูกปลูกฝังพื้นฐานมาดีพอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเห็น เขาก็คิดว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เหมาะสมถูกต้องแล้ว

“ประเทศเรา สังคมเรา อยู่ในช่วงของการเดินทางที่กำลังมาอยู่ในจุดที่บรรจบกัน เพื่อจะเลือกว่าจะเดินไปทางไหน ผมเชื่อในเรื่องของเสรีนิยม ในเรื่องของด้านความคิด ในด้านเสรีธิปไตยแต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็เพราะว่าหลายคนไม่ได้เชื่อในเรื่องนี้ พวกเขาเชื่อในเรื่องอื่นแทน ทีนี้ถ้าจะถามว่าเสรีธิปไตยดีตรงไหน ก็ต้องไปศึกษาเรื่องการเมืองดูศึกษาในทุกๆ ฝ่าย เพราะในทุกสิ่งมันก็จะมีข้อดีข้อด้อยของมันอยู่ ซึ่งการที่เราจะมีแนวคิดอะไรและพร้อมที่จะสนับสนุนแนวคิดนั้นได้ มันต้องมาจากการที่เรารู้จริง เข้าใจจริงเสียก่อน

“ถ้าเรามองย้อนกลับไปยังสังคมอเมริกันที่เขามีความหลากหลายต่างๆ มากมาย แต่เขากลับอยู่ได้เพราะอะไร เขาอยู่ได้เพราะสองอย่างคือเรื่องของกฎหมายกับเรื่องของภาษี นี่สะท้อนให้เห็นถึงทุกคนมีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เท่าเทียมกัน และทุกคนต้องคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ของตน และเคารพในสิทธิ หน้าที่ของคนอื่น มันเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ถ้าเราถูกปลูกฝังจิตสำนึกมาดีๆ  ผมเชื่อว่าถ้าเราทำสองสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้นะ ความสงบมันก็จะเกิดขึ้น คนจะอยู่ในรูปในรอยมากขึ้น เกิดความละอายมากขึ้น

“ด้วยความปรารถนาของนักเขียนคนหนึ่งที่มีความคิดอยากจะเห็นบ้านเมืองสงบสุข เรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน อาจมีการขัดแย้งกันนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เราอย่าทำให้มันเกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง<

เรื่องราวที่เป็นไปในแต่ละวันของชีวิต มักจบลงทันทีเมื่อหลับ