คีรีวง

คีรีวง

เช้าๆ ความมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวอยู่พอประมาณอย่างที่มันเคยเป็นมา หลังพระสงฆ์จากวัดคีรีวงอันมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เดินข้ามพ้นสายคลองเข้าไปตามหย่อมบ้านเรือน ที่ศาลาหลังเล็กริมคลองท่าดีคือที่พบปะของผู้เฒ่าและเรื่องราวผ่านวงกาแฟ ความเปลี่ยนแปลงแทบทุกอณูแทรกผ่านอยู่ในบทสนทนา ตั้งแต่เรื่องราวสารทุกข์สุกดิบใกล้ตัว ความเป็นไปของคนในหมู่บ้าน ไล่เลยไปถึงเหตุการณ์บ้านเมืองที่อยู่ภายนอกหุบเขา

หากเป็นหน้าผลไม้ ที่นี่คือ “กลางทาง” แห่งการงานที่สุกงอมและออกผล คนคีรีวงผ่านพ้นตัวเองมาในบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ด้วยการยังชีพทำสวนอยู่เชิงเขา ที่หลายคนเรียกว่า “สวนสมรม” ผสมผสานผลไม้และพืชพรรณนานาอยู่ในหุบเขา

ย้อนไปร่วม 300 ปี ความสมบูรณ์ของสายน้ำและผืนป่าเบื้องบนดึงดูดให้ผู้คนกลุ่มเล็กๆ ที่กลับจากสงครามเมืองไทรบุรี รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ล่องเรือผ่านคลองท่าดีขึ้นมาพบที่ทางอันเหมาะสมจะปลูกเรือนฝังรากและทำกิน พวกเขาเรียกแผ่นดินตรงนี้ว่า “บ้านขุนน้ำ” มีที่มาจากคลองสามสายอย่างท่าหา ท่าชาย และปลายปง ซึ่งล้วนหลากไปออกทะเลที่ปากนคร เป็นต้นน้ำของเมืองนครศรีธรรมราช

การปักหลักและอยู่ร่วมกับขุนเขาได้ก่อเกิดขึ้นที่ริมเขาหลวงฝั่งตะวันออก สวนผลไม้และชีวิตอันเป็นสุข สมถะ เริ่มขึ้นตรงนั้นพร้อมๆ กับการเติบโตเป็นหมู่บ้านอันใหญ่โตมั่นคงกลางขุนเขา มากมายด้วยเรื่องราวอันน่าทึ่งถึงสัมพันธภาพของคนในป่ากับคนที่ราบลุ่มของนครศรีธรรมราช

ยามที่ผลไม้สุกงอม เพียงพอต่อการอยู่กิน คนคีรีวงในอดีตรู้ดีว่า คลองท่าดีที่เส้นทางที่นำพาพวกเขาลงไปข้างล่าง เพื่อพบเจอกับเพื่อนพ้องและผู้คนอีกหลากหลาย ชีวิตที่ดีเต็มลำเรือกลับมาด้วยข้าวของยังชีพอยู่กิน

เราเดินไปรอบๆ หมู่บ้านที่มั่นคงแข็งแรงขึ้นตามกาลเปลี่ยนผ่านของโลกปัจจุบัน คลองสายสวยยังคงไหลนิ่งชื่นเย็น กองหินระเกะระกะ ทว่าในบางตำแหน่งก็ดูมีระเบียบ ก่ายกองขึ้นเพื่อชะลอการไหลของสายน้ำยามมากล้น

ก่อเกิดจนมั่นคงแข็งแรง พืชผลและอาหารไม่เคยขาดหายไปจากชีวิต ทว่ายามที่เวลาอันโหดร้ายมาเยือน พวกเขาก็ล้วนต้องเผชิญกับห้วงเวลาอันหน่วงหนัก คีรีวงเคยประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ถึงสามครั้ง จากผลพวงของวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี..2505 ครั้งต่อมาใน ..2518 และมหาอุทกภัยที่คนคีรีวงต้องพบเผชิญเมื่อ ..2531

ชีวิตผจญภัยตามสายคลองของเรือเหนือและระบบเกลอเลเกลอเขาสิ้นสลายไปจากสายน้ำที่พัดพาโคลนดินพังทลายจนระดับน้ำตื้นเขิน ถนนเข้ามาแทนที่ ทั้งด้วยเรื่องลดความรุนแรงของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เคลื่อนไหวในเขตภูเขา หรือเพื่อเปิดหนทางเชื่อมโยงใหม่ๆ ให้คนคีรีวงได้เลือกทางเดิน

ความสูญเสียอาจคล้ายเหรียญสองด้าน คนที่นี่ก็เช่นกัน ผันผ่านห้วงยามเลวร้ายมากเท่าไหร่ บางอย่างก็ถูกชดเชยให้ชีวิตได้ตั้งหลัก งอกงาม

เหตุการณ์อุทกภัยในอดีตนำพาชีวิตอีกรูปแบบขึ้นมาหลังน้ำท่วมหนักแทบทุกครั้ง ภาระหนี้สินจากการติดต่อผ่านระบบทุนหลายทางจาก “ในเมือง” ส่งผลให้พวกเขาเลือกกลับมาดูแลตนเอง กลุ่ม “สัจจะออมทรัพย์” เริ่มเกิดขึ้นด้วยความคิด         ที่ให้คนเชิงเขาไม่ต้องหันไปหวังพึ่งการช่วยเหลือจากภายนอก ระบบแบบสหกรณ์ที่รวบรวมเงินฝากจากชาวบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้เป็นรูปธรรม เงินสดไหลเวียนดูแลสมาชิก เขาเรียกกันว่า “เงินสัจจะ

พวกเขาออมเงินเพื่อส่วนรวม จากแรกเริ่มในปี ..2523 ด้วยเงินทุน 35,000 บาท และสมาชิกเพียง 51 คน กลับกลายเป็นเงินหมุนเวียนกว่า 40 ล้านบาท และสมาชิกราว 2,000 คน เมื่อปี ..2548

ท่ามกลางป่าชื้นรื่นเย็น “ธนาคารแห่งขุนเขา” ที่พวกเขาดูแลกลับกลายเป็นที่พึ่งหลัก น้ำท่วมหนัก สูญเสียมากเพียงไร การเยียวยาล้วนมาจากเรี่ยวแรงและทิศทางที่พวกเขาร่วมสร้าง ร่วมใส่ใจฝากความหวัง

บ่ายจัดแดดเย็นส่องไล้บ้านไม้โบราณหลังหนึ่งที่จมโคลนดินอยู่ครึ่งหลัง หลงเหลือเป็นสิ่งตกทอดให้คนคีรีวงและคนภายนอกได้เห็นห้วงยามอันโหดร้ายแห่งวันเวลา เรายืนอยู่หน้า “บ้านประวัติศาสตร์” ชายวัยกลางคนกลับลงมาจากสวนบนภูเขา ปาดเหงื่อและยิ้มจริงใจ

ยามเย็นริมคลองท่าดี ความเงียบเหงาละลายหาย มอเตอร์ไซค์วิบากที่มีตะกร้าพ่วงอยู่ด้านท้ายหวนลงมาจากภูเขาคันแล้วคันเล่านาทีนี้หมากกำลังสุก ตามชานบ้านคือที่ปอกเปลือก ฝานผล ตากแห้ง หญ้าที่รกตามสวนข้างบนถูกหอบหิ้วลงมาเลี้ยงวัว หากเป็นแต่ก่อน พวกเขามักหาบคอนมันลงมา เดินข้ามแนวหินตามคลองเป็นภาพงามตา

มีมอเตอร์ไซค์แล้วยิ่งดี วันหนึ่งได้หลายรอบ” คล้ายๆ ชาวสวนสักคนจะหมายความว่า ภายนอกอาจเปลี่ยนได้ แต่ภายในไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ศาลาริมท่าน้ำคึกคักทั้งคนพื้นถิ่นที่จิบกาแฟพักผ่อน และผู้มาเยือนจากข้างนอก นั่งมองภูเขาห่มฝนที่กำลังจะเลือนหายไปในความมืด สายน้ำคลองท่าดีเอื่อยไหลผ่านโขดหินละมุนเบา เขาหน้าร้อนทางด้านหลัง และยอดเขาหลวงอีกฟากด้านที่จมหายอยู่ในม่านหมอก ทึบทะมึนราวฉากม่านมหึมาของโรงละครแห่งคืนวัน

การงานตามสวนผลไม้และป่าเขาซุกซ่อนอยู่ข้างบนนั้น การงานแห่งภูเขา...ผลผลิตแห่งชีวิต

กลางวันที่บ้านคีรีวงเหมือนจะเป็นที่อยู่ของผู้หญิงและเด็กๆ ผู้ชายกำยำหายขึ้นไปในสวนและหุบเขา แทนที่จะเงียบเชียบ ตามบ้านกลับคึกคักด้วยอีกหลายใบหน้าของคีรีวงที่มีผลพวงมาจากป่าและสวนผลไม้

บ้านไม้หลายหลังไม่เพียงร่มรื่นน่าอยู่ หากแต่บรรจุเต็มด้วยแรงงานและสิ่งที่เรียกว่าแรงบันดาลใจ

ที่หลังบ้านส่งกลิ่นควันเปรี้ยวๆ บนเตาต้ม อารี ขุนทน และสมาชิก “กลุ่มมัดย้อม” ของบ้านคีรีวงตวงใบเพกาลงในหม้อใบกว้างน้ำค่อยๆ เข้มสีเขียวขึ้นตามอุณหภูมิ

หลังจากที่คนคีรีวงเลือกที่จะดูแลป่าเขา ไม่เพิ่มปริมาณสวนในผืนป่า และยอมรับกับผลผลิตที่ไม่ได้มากขึ้นอย่างทบทวี การหันมารวมกันในลักษณะกลุ่มอาชีพและในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศคืออีกหนึ่งหนทางที่เปลี่ยนให้ผู้คนรู้จักการอยู่ร่วมกับขุนเขาในอีกรูปแบบ

ปัญหาที่รุมเร้าทั้งจากอุทกภัยและการเปลี่ยนแปลงแบบทุนนิยมที่โหมเข้าใส่คีรีวงในอดีตถูกเลือกและแก้ไขผ่านแนวคิดที่ว่า ทำอย่างไรให้พวกเขาไม่ต้องบ่ายหน้าออกไปจากขุนเขา การหารือรวมถึงการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ อย่างมูลนิธิโกมลคีมทอง เข้ามาสอนอาชีพ ปรับเปลี่ยนแนวคิด รวมไปถึงดึงธรรมชาติกลับมาอยู่ในรูปแบบชีวิต ล้วนคือแสงสว่างที่ฉายฉานขึ้นตรงเชิงเขา

แรกๆ สู้กันค่ะ ลองผิดลองถูก ไม่ได้คิดหรอกว่าจะขายได้ แต่เราต้องมีอะไรทำตอนรอฤดูผลไม้” เธอเล่าว่าในป่าราวกับโรงเรียนอีกหลังนอกเหนือจากเป็นแหล่งอาหาร “ต้องลองดูว่าอะไรนำมาย้อมติด ได้สีอะไร ใบไม้เปลือกไม้ชนิดไหนนำมาสกัดทำสีได้ อย่างไหนย้อมร้อน อย่างไหนย้อมเย็น” ผ้ามัดย้อมที่มีตัวหนีบแขวนเรียงราย รอเวลาแห้งเพื่อเปลี่ยนเป็นผ้าทอผืนสวยด้วยสีสันจากป่าเขา

อุไร ด้วงเงิน ก็เช่นกัน เธอจากการงานในเมือง มุ่งหน้ากลับสู่บ้านเชิงเขาด้วยความรู้สึกประเภทที่ว่า ความวุ่นวายนั้นเร่าร้อน เร่งรีบ ทว่าภูเขามีจังหวะแห่งความเนิบช้าและอบอุ่น “เริ่มผ้าเขียนลายผืนแรกก็จากใบชมพู่” เธอเล่าผ่านรอยยิ้มและดวงตาดำขลับตามแบบฉบับหญิงปักษ์ใต้ “กลุ่มใบไม้” ของเธอและสมาชิกค่อยคิดค่อยสร้างผลิตภัณฑ์แตกยอดออกจากผ้าผืน เป็นทั้งกระเป๋าซองในโทรศัพท์ เสื้อผ้าหลากหลาย “ใบหูกวางให้สีเหลืองอมเขียว ใบมังคุดให้สีส้มกับชมพู เปลือกลูกเนียงให้สีน้ำตาลเข้ม  ฝักสะตอให้สีเทา เรามีใบไม้เป็นครู” เธอว่าอย่างนั้น นาทีเช่นนี้ไม่แตกต่างจากบรรพบุรุษ ที่การงานของเขาเรียงรายอยู่ในขุนเขาที่รายล้อมหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งมาเนิ่นนาน

ไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ เองก็มีอีกหนึ่งใบหน้า นอกจากคนสวนแห่งขุนเขาที่ฝากความหวังไว้กับพืชผลและผืนดิน  “กลุ่มลูกไม้” ที่เขาริเริ่มก่อตั้งก็ชัดเจนในรูปแบบชิ้นงานที่ลงมือทำ

ของเหลือจากป่าคือทรัพย์สินของผม” เขาว่าวันๆ ที่เดินขึ้นป่า เก็บลูกไม้ เศษหิน กรวด นั้นมันน่าสนุก จากเด็กที่ช่วงชีวิตหนึ่งไปโตในเมืองกรุง เมื่อเลือกกลับบ้านและผสานความเชี่ยวชาญในการถักเชือกเข้ากับวัตถุดิบจากป่าเขา สิ่งที่ได้มันมากกว่าอาชีพและชิ้นงาน

เรานั่งดูเขาถักเชือกเทียนล้อมลูกสวาด ลูกหมามุ่ย ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ มันกลายเป็นกำไล สร้อยคอ หรือเครื่องประดับนานาได้อย่างน่าทึ่ง

เดินอยู่ในนั้นคุณจะเห็นคุณค่าของมัน” เขาหมายถึงเทือกเขาหลวงที่โอบล้อมและมอบชีวิตให้กับคนที่นี่ “ตั้งแต่แผ่นดิน ต้นไม้ใหญ่ หรือกระทั่งลูกไม้ เศษหิน ไม่มีภูเขา เราเองก็อยู่ไม่ได้

วันทั้งวันเราเพลินอยู่ตามกลุ่มอาชีพอีกหลากหลาย บางคราวย้อนไปดู “กลุ่มสมุนไพร” ที่โด่งดังด้วยสบู่เปลือกมังคุด ของสนธยา ชำนะ ที่มากมายด้วยขั้นตอนการผลิต ศึกษา นอกจากการทำผลิตภัณฑ์ให้ดี ยังมีเรื่องของการตลาด การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ “เราช่วยๆ กันในชุมชน สู้ร่วมกันทุกกลุ่ม ไปออกงานทีก็ไปกันหมด” เขาบอกในยามเย็นที่เฝ้ารอการผลิตขนานใหญ่ยามที่มังคุดจะออกมากราวเดือนสิงหาคม

ห้วงยามนั้นที่คีรีวงจะมากมายด้วยการงาน ไม่เพียงขายผลสด แต่ “กลุ่มทุเรียนกวน” จะคัดทุเรียนพันธุ์ดี กวนและห่อในกาบหมาก กลายเป็นการถนอมอาหารที่เพิ่มมูลค่าอันมากล้น

นาทีเช่นนั้นกำลังเคลื่อนมา นาทีที่หุบเขาเต็มไปด้วยความหอมหวาน ผู้คนทั้งภายนอกและในหุบเขาเต็มไปด้วยการพบปะ แลกเปลี่ยน และทำความรู้จัก ผ่านผลิตผล พืชพรรณ และนานาผลงานอันมีที่มาจากเรี่ยวแรงและหัวใจ

บางวันเราติดตามคนสวนของคีรีวงเข้าไปในหุบเขา ผ่านน้ำตกวังไม้ปักอันเย็นชื่นที่เชิงชั้นม่านน้ำโรยตัวมาตามชั้นหิน ลาดหินที่เรียกว่า “หนาน” ไม่เคยห่างหายนักท่องเที่ยว ไล่ลึกขึ้นไปชายน้ำคือสวนผลไม้อันผสานกลืนอยู่ในป่า

มังคุดและทุเรียนเสียดต้นขึ้นหยัดยืนแทรกไปกับหมากและนานาพืชสมุนไพรที่จดจำไม่หวาดไหวสำหรับคนนอกภูเขาอย่างเราเมื่อทวนความสูงของควนเขาขึ้นไปสู่วิวเปิดโล่ง อากาศชื่นเย็นสัมผัสได้ทุกลมหายใจ มองข้ามยอดไม้กลับลงสู่เบื้องล่าง บ้านคีรีวงวางตัวเองอยู่อย่างสมถะ สองฟากฝั่งคลองท่าดีล้วนคือชีวิตอันสั่งสมและบ่มเพาะอยู่ด้วยฤดูกาล

ใครสักคนบอกไว้ว่า ที่นี่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยหากวัดกันที่ปริมาณของโอโซน

ว่ากันตามตรง ลมหายใจและชีวิตของคนคีรีวงอาจไม่ได้ต้องการการชี้วัด ตัดสิน เป็นหรือไม่เป็นมากไปกว่าใคร

ขุนเขาที่รายล้อมและบ่มเพาะผู้คนตัวเล็กๆ ของที่นี่มาเนิ่นนานต่างหาก ที่เป็นเหมือนสิ่งที่จะบอกได้ว่า ยามใดที่ความมั่นคงเช่นนี้สั่นคลอน ทางเดินของพวกเขาก็อาจมืดบอดหายสูญ

HOW TO GO?

จากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ทางหลวงหมายเลข 4016 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4015 บริเวณกิโลเมตรที่ 9เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านคีรีวงไปอีก 9 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คุณวารุณี คำศรี โทรศัพท์ 08-6788-8718 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.kiriwonggroup.com หรือ www.kiriwongtour.com

สายคลองท่าดีเรียงรายด้วยหินใหญ่น้อยราวประติมากรรม