Meralgia  paresthetica (ตอนที่ 2)

Meralgia paresthetica (ตอนที่ 2)

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าสาเหตุหลักๆ ก็คือ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน รวมไปถึงการตั้งครรภ์และอาการของโรคเบาหวาน โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้นั้นอยู่ในช่วง 40-60 ปี เช่นนั้นแล้วการตรวจหรือวินิจฉัยโรคนี้นั้นก็จะอ้างอิงจากประวัติการเจ็บป่วยและการตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจสัมผัสผิวหนังโดยตรงบนบริเวณที่มีอาการคันและชา และถามรายละเอียดเกี่ยวกับการปวด รวมทั้งขอให้ผู้ป่วยบอกตำแหน่งที่แน่นอนของอาการชาหรือที่เจ็บปวดบริเวณขาของผู้ป่วยด้วย

นอกจากการตรวจด้วยการสัมผัสโดยตรงแล้ว การเอ็กซ์เรย์ก็สามารถวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้ โดยเป็นการเอ็กซ์เรย์บริเวณเอวและสะโพกของผู้ป่วย

อีกวิธีการหนึ่งก็คือ การ Electromyography (EMG) ซึ่งเป็นการตรวจโดยการวัดระดับของกระแสไฟฟ้าที่สร้างจากกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการประเมินและวินิจฉัยโรคที่เกิดกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ในระหว่างการตรวจจะมีการใช้เข็มบางๆ ที่เรียกว่าelectrode วางในกล้ามเนื้อ เพื่อบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้า ผลที่ได้จากการตรวจนี้จะเป็นปกติในผู้ป่วยโรค Meralgia paresthetica แต่การตรวจนี้จะช่วยแยกภาวะความผิดปกติอื่นๆ เมื่อการวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน

การตรวจแบบ Nerve Conduction Study ก็สามารถช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้เช่นกัน โดยจะใช้แผ่นแปะ electrodes วางลงบนผิวหนังเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างอ่อน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเส้นประสาทที่ถูกทำลาย

วิธีการรักษาโรคนี้นั้นมุ่งเน้นเรื่องการบรรเทาอาการกดทับของเส้นประสาท เพราะฉะนั้นสิ่งแรกๆ ที่ควรทำในการรักษาโรคนี้ก็คือสวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ ลดน้ำหนัก รวมทั้งกินยา เช่น Paracetamol, ibuprofen หรือ Aspirin เพื่อบรรเทาอาการปวดแต่ถ้าอาการที่เป็นอยู่มากกว่า 2 เดือน หรือมีอาการปวดอย่างรุนแรงต่อเนื่องก็ควรไปพบแพทย์

สำหรับวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น พบได้ไม่มาก โดยส่วนมากจะแนะนำเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นมานาน หรือมีอาการของโรคที่รุนแรง

สำหรับวิธีการรักษาตามแนวธรรมชาติบำบัดนั้น การฝังเข็มก็ถือว่าช่วยได้ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นวิธีการลดอาการเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัยมาก แต่ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น โดยผู้ที่ต้องการฝังเข็ม ควรจะมาฝังเข็มให้ได้ 1-3ครั้งต่อสัปดาห์ และฝังเข็มอย่างน้อย 10 ครั้ง หรือจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น

อีกหนึ่งวิธีธรรมชาติบำบัดก็คือ การประคบร้อนสลับเย็น ทำได้โดยการประคบร้อนบริเวณที่มีอาการ 3 นาที สลับกับประคบเย็นนาที ทำสลับกัน 3 รอบ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้ดีขึ้นด้วย

ขอให้ทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงครับ

หน้าฝนระวังเห็ดพิษ

เห็ดมีพิษบางชนิดมีรูปร่างและชื่อเรียกคล้ายกับเห็ดที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก ฯลฯ ดังนั้นแล้วการเก็บเห็ดมากินเองคงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เวลาเก็บเห็ดมาก็ควรเก็บให้ครบทุกส่วน เมื่อเก็บมาแล้วก็แยกชนิดเป็นชั้นๆ อย่าให้ปนกัน รวมทั้งอย่าเก็บเห็ดหลังพายุฝนใหม่ๆ เพราะสีของเห็ดอาจถูกชะล้าง อีกทั้งเมื่อเก็บมาแล้วก็ควรนำมาปรุงอาหารทันที และห้ามกินเห็ดดิบเด็ดขาด

อะมิโนฉีดอันตราย

จากกรณีของเด็กนักเรียนในต่างประเทศฉีดกรดอะมิโนเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อช่วยกระตุ้นและสร้างพลังงานให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ทำให้หลายหน่วยงานออกมาเตือนว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเลียนแบบ โดยกรดอะมิโนนั้นร่างกายได้รับอยู่แล้วจากอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ปลา นม เนย ไข่ การฉีดกรดอะมิโนเข้าเส้นเลือดดำจะใช้กรณีที่จำเป็นทางการแพทย์เท่านั้น เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการฉีดที่ถูกวิธีก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรค Meralgia parestheticaมีสาเหตุมาจากอะไร