ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล

ณ ห้วงหนึ่งที่มือน้อยๆ ค่อยๆ ประคองดินสอวาดเขียน ‘เล่นเส้น’ ที่ทยอยปลดปล่อยเส้นไหมพรมให้ทอดตัวลงเป็นรูปร่างตามความคิด ตามจินตนาการ มือน้อยๆ ลูบไล้ไปตามการเดินทางของเส้นไหมพรมนั้น ... เขาไม่รู้ว่ามันเป็นสีอะไร เขาไม่รู้ว่าในสายตาคนอื่นมันจะเป็นรูปร่างแบบไหน แต่ในสัมผัสของเขา มันคือจินตนาการที่ก่อรูปร่างได้ชัดเจนเป็นจริง และสวยงาม ...

รอยยิ้มของเด็กๆ พิการทางสายตา คือกำไรของวันนี้ที่คุณต่อ ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ที่ริเริ่มแนวคิด ชุดวาดเขียนเล่นเส้น ชุดวาดเขียนสำหรับเด็กผู้การทางสายตา เขาเริ่มจากจุดประกายเล็กๆ แห่งความหวังว่าเด็กๆ เหล่านี้ มีความนึกคิด มีความรู้สึก และมีจินตนาการเฉกเช่นเดียวกันกับเด็กๆ ทั่วไป มันไม่ยุติธรรมที่สังคมจะปิดกั้นการรับรู้และการพัฒนาจินตนาการของพวกเขาเพียงเพราะประสาทการรับรู้ของรูม่านตาที่ถูกปิดลง 

เมื่อสองปีที่แล้วคุณต่อ ได้ใช้เวลาว่างในช่วงเรียนปริญญาโทเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ  เพื่อที่จะทำหน้าที่คอยสอนการบ้านน้องๆ จึงพบปัญหาในด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเด็กๆ เหล่านี้ได้ การสอนในครั้งนั้น เขาจึงทำได้แค่อธิบายเพียงอย่างเดียว ส่วนในวิชาเลข หรือวิชาที่ต้องใช้ความเข้าใจประกอบการนึกภาพตามไปด้วยนั้นดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ และในที่สุดก็ลงท้ายด้วยการลงมือทำให้เด็กๆ แทน 

จากนั้นเขาจึงกลับมาคิดหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้องค์ประกอบในเรื่องของการศึกษานั้นสามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้มากขึ้น เพราะเขามองเห็นว่าการศึกษาไม่เอื้ออำนวยบวกกับความพิการ ทางเลือกชีวิตในอนาคตของพวกเขาก็จะยิ่งน้อยลง ... เขาจึงเริ่มคิดหาวิธีการ และลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างสรรค์ออกมาเป็นชุดวาดเขียนเล่นเส้นเช่นปัจจุบันนี้ เขาได้นำหลักการการเรียนรู้ของผู้พิการทางสายตาที่มีมานานแล้วแต่ถูกหลงลืมไป มาประกอบกับอุปกรณ์ที่ได้คิดค้นขึ้นมา มันจึงสามารถ
ใช้งานได้และตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาจินตนาการของเด็กๆ ได้จริง

“แม้เราจะผ่านการพัฒนามาหลายรูปแบบจนเป็นตัวที่สมบูรณ์อย่างทุกวันนี้แล้วก็ตาม เราก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาเพื่อหวังว่าจะสามารถตอบสนองทั้งในเรื่องของการใช้งาน และความต้องการให้ได้มากที่สุด และไม่เคยคิดว่านี่จะเป็นธุรกิจเลยนะ จนเมื่อเราได้ลงมือทำพร้อมๆ กับศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พบว่า มันมีระบบธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่จะนำพาซึ่งการให้แบบยั่งยืนได้ เราจึงขยับมันให้เป็นธุรกิจในรูปแบบของ Social Enterprise เราไม่ได้เน้นกำไรสูงสุด แค่อยากให้เด็กๆ ได้มีอุปกรณ์ที่สามารถเสริมสร้างความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ให้กับพวกเขาได้อย่างไม่มีปัจจัยใดๆ มาทำให้การพัฒนาเหล่านี้หยุดลง  

“สองปีที่ได้เริ่มคิดและลงมือทำ สิ่งที่เรียนรู้คือ แนวความคิดเพื่อช่วยสังคมแบบนี้มันมีหน่วยงานที่ซัพพอร์ทเยอะมาก เพียงแค่คุณมีแนวคิดที่ดี สามารถสร้างคุณค่า และพัฒนาสังคมได้จริงๆ ช่วงที่เริ่มทำแรกๆ ก็เคยมีคิดท้อเหมือนกัน เพราะเป็นช่วงที่ลาออกจากงานประจำ และก็กำลังเรียนต่อปริญญาโทไปด้วย เมื่อได้พบปะกับเพื่อนฝูง หลายคำถามจากการพูดคุยก็มักสะท้อนได้ถึงความไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ ในขณะที่เพื่อนๆ ต่างก็ก้าวกระโดดในหน้าที่การงานไปมากแล้ว แต่นั่นมันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกแวบเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อตอบคำถามของตัวเองได้แล้ว คำถามของคนอื่นๆ ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป”

ตลอดเส้นทางที่เขาได้ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่ามันคือสิ่งที่ดี แน่นอนว่าสำหรับเขา ‘มันมีคุณค่ามากกว่าตัวเงิน’ เขามองว่าการทำธุรกิจ 
มันต้องวัดกันว่าธุรกิจที่ทำนั้นมันสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้มากน้อยเพียงใด และหวังเล็กๆ ว่า แท้ที่จริงแล้ว อยากให้แนวคิดนี้ได้เป็นแนวคิดพื้นฐานหลักของสังคมการ
ทำธุรกิจ ในทุกวันนี้และในอนาคตต่อไปได้จริงๆ 
ดังนั้นสำหรับคนที่เริ่มฉุกคิด และอยากจะทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง ขอให้ลงมือทำได้ในวันนี้ เพราะโอกาสที่จะได้เดินหน้าต่อนั้นมีมากกว่า ‘คิดแล้ว ... แต่ยังไม่ได้ทำ’ 

Know Him

ก่อนหน้านี้เขาได้ริเริ่มทำธุรกิจแท็กซี่สำหรับผู้หญิงมาแล้ว

เขาได้รับการสนับสนุนโครงการจาก Banpu Champions for Change Season 2 

ชุดวาดเขียนเล่นเส้นได้มีการพัฒนาร่วมกับคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, กรมการศึกษาพิเศษส่วนกลาง กระทรวงศึกษาธิการ, โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ 

ตอนนี้ในเมืองไทยมีโรงเรียนสำหรับเด็กพิการทางสายตาอยู่  12 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งเขาได้ส่งผ่านเครื่องมือเหล่านี้ไปแล้ว 11 โรงเรียน แถมยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศบ้างแล้ว 

ต่อจากนี้เขากำลังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผู้พิการด้านอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมและมีรายได้จากกการผลิตของบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ด้วยเช่นกัน

เมื่อตอบคำถามของตัวเองได้แล้ว คำถามของคนอื่นๆ ก็ไม่สำคัญ