THAI DRAMATIC ARTS - รัตติยะ วิกสิตพงศ์

THAI DRAMATIC ARTS - รัตติยะ วิกสิตพงศ์

แม่แบบนาฏศิลป์ไทย

ครูรัตติยะ วิกสิตพงศ์ หรือที่ลูกศิษย์เรียกกันว่า แม่ท่านคือปูชนียบุคคลที่สำคัญของวงนาฏศิลป์ไทยท่านหนึ่งที่ไม่ค่อยออกมาแสดงบทบาททางสังคมให้ใครได้รู้จักนัก แต่คนในวงการนาฏศิลปินไทยรู้กันดีว่าท่านมีฝีมือไม่ธรรมดา เพราะจากประสบการณ์ด้านนาฏศิลป์และผ่านการทำงานมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ บ่มเพาะลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จมาแล้วนับไม่ถ้วน สมควรแก่เวลาที่ท่านจะได้รับการยกย่องจากความเพียรและคุณูปการด้านวิชาชีพของตัวเองจนได้รับได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์ไทย ปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา

“ต้องขอบคุณคณะกรรมการกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและต้นสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ที่เล็งเห็นความเหมาะสมให้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติไม่คิดไม่ฝันว่าวันหนึ่งเราจะได้เป็นในสิ่งที่เราได้ทำ คือเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมระดับชาติ ถือว่าเป็นรางวัลชีวิตสูงสุดในชีวิตอีกรางวัลหนึ่งที่ได้รับ และจะปฏิบัติหน้าที่ตรงนี้จนชีวิตหาไม่ เพราะว่าใจแม่รักในนาฏศิลป์ไทยมาโดยตลอด ก็จะอยู่ตรงนี้เป็นแบบอย่างและจะช่วยสืบทอดมรดกชิ้นนี้ให้เด็กรุ่นหลังต่อไป”

หากย้อนกลับไปดูความสำเร็จก่อนหน้าที่ครูรัตติยะจะได้รางวัลศิลปินแห่งชาติท่านได้รับรางวัลสำคัญในเวทีอื่นมาแล้วมากมายหนึ่งในนั้นคือรางวัล “ศิลปินคึกฤทธิ์” ที่มีจัดงานพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ศิลปินคึกฤทธิ์ประจำปี พ.ศ. 2556 ขึ้นที่ศูนย์ศิลปะการแสดงสถาบันคึกฤทธิ์ โดยมีคณะกรรมการในการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ผู้มีผลงานด้านนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงแขนงอื่น ๆ ทั้งที่เคยร่วมงานสร้างสรรค์กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือมีผลงานศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมตามแนวทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

“สมัยก่อนคุณชายคึกฤทธิ์ท่านได้จัดตั้งชมรมโขนละครของท่านขึ้นมาก็เพื่ออนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์และการแสดงด้านอื่น ๆ ของไทยเอาไว้เหมือนกัน แล้วท่านเองได้เชิญบรมครูที่สอนแม่ไปช่วยงาน ตอนนั้นแม่เรียนอยู่ชั้นกลางครูก็ให้แม่และเพื่อน ๆ ติดตามไปด้วย มาถึงตอนนี้หลายคนก็เป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้วอย่าง อาจารย์จตุพร รัตนวราหะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“จากที่เคยตามครูไปเรียนรู้ที่สถาบันพอเราเรียนจบก็ได้เป็นครูแล้วก็ได้มีโอกาสมาสอนที่สถาบันคึกฤทธิ์จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นสถาบันหนึ่งที่อนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมไทย แล้วที่สำคัญมีการสอนเด็ก ๆ โดยที่ไม่คิดค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราไปสอนจนได้รับรางวัลเกียรติยศซึ่งถือเป็นก้าวแรกก่อนที่จะได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติเป็นความภาคภูมิใจเช่นกัน”

กว่าจะมาถึงวันนี้ครูรัตติยะต้องผ่านเรื่องราวและประสบการณ์มากมายจนสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ เริ่มตั้งแต่ชีวิตสมัยที่ครูรัตติยะวัยเด็ก ท่านเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะดีนัก ในตรอกบางวัดพระยาไกร แขวงยานาวา อยู่ในครอบครัวที่มีพี่น้องสามคนโดยมีพี่ชายคนโตและพี่สาวคนกลางโดยท่านเป็นลูกสาวคนสุดท้อง ในวัยประถมมีโอกาสได้เข้าเรียนโรงเรียนอัสลาฟียะห์ ซึ่งเป็นสุเหร่าของอิสลาม จากนั้นได้มาศึกษามัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนศรีสุริโยทัย

ท่านเล่าว่าตัวเองเป็นเด็กที่ชื่นชอบในเรื่องของนาฏศิลป์มาตั้งแต่ยังเล็กมีการร้องรำทำเพลงที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในครอบครัว เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นแววว่าน่าจะมาทางสายศิลปศึกษา ในเวลาต่อมาก็สนับสนุนให้มาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ด้วยเป็นท่านเป็นคนที่ชื่นชอบและมีพื้นฐานมาบ้างแล้วการเข้าเรียนจึงไม่ยากนัก

“การได้เข้าเรียนโรงเรียนนาฏศิลปช่วงแรกจะต้องมีการคัดเลือกบทบาทของตัวเองว่า ใครจะได้เป็นตัวอะไรแม่ก็ได้รับเลือกให้เป็นตัวพระ ซึ่งการสอนของครูท่านจะให้เด็กเริ่มต้นด้วยเบสิกเบื้องต้นด้วยจังหวะเพลงช้าและจังหวะเพลงเร็ว เริ่มจากการจีบมือตั้งวง ม้วนมือ การประเท้าการกระทุ้งเท้า การยักตัว ครูท่านจะแบ่งเลยว่าใครเรียนแบบใดจะวางรากฐานระดับไหนบ้าง

“การเรียนการสอนสมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้เราไม่มีหน่วยกิตไม่มีคาบเวลา แต่คิดเวลาเรียนเป็นชั่วโมง การเรียนเป็นชั่วโมงจะได้วิชาที่แน่นและลึกกว่า คือวิชาหนึ่งจะเรียนจนกระทั่งทำได้แล้วเปลี่ยนวิชาใหม่ แต่ปัจจุบันนี้จะเป็นหลักสูตรใหม่ว่าวิชานี้เรียนกี่ครั้ง สมมุติเรียน 10 ครั้งก็เปลี่ยนเป็นวิชาอื่น ครูสมัยก่อนมีแต่ปากกับเสียงแล้วมือก็ถือไม้เรียวสอนกันอย่างนั้นจนเหนื่อย แต่สมัยนี้มีวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัยกว่าสมัยก่อนมากอย่างเรื่องของเทปเสียงที่มาช่วยในการเรียนการสอนเรียกว่าเจริญรุ่งเรืองมาก

“สมัยก่อนนี้เวลารำจะต้องร้องเองรำเอง โดยบางสัปดาห์ครูผู้สอนอาจจะต้องติดต่อฝ่ายดนตรีมาเข้าระนาดเพื่อให้เรารู้ว่าระนาดเพลงช้าจังหวะเข้าอย่างไร แต่พอโลกเจริญขึ้นทางด้านดนตรีที่ให้จังหวะของเราจะอัดเป็นเทปแล้วเด็กจะเรียนกับเทป แต่ครูผู้สอนที่วางรากฐาน ม.1 ปัจจุบันนี้ก็ยังใช้จังหวะเบสิกเบื้องต้นที่เรียนมาตั้งแต่อดีตและจึงค่อยให้เรียนกับเทปแต่ต้องไม่ลืมของเดิมคือผสมผสานกันไป”

“แม่ได้เรียนไปจนมีการคัดเลือกกันว่าใครมีฝีมือดี เราก็ได้บรรจุเป็นศิลปินสำรองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ได้คัดเลือกให้เป็นศิลปินสำรอง กินเงินเดือน 15 บาทในสมัยนั้น ต่อมาก็ได้เลื่อนเป็น 45 บาท จนกระทั่งจบชั้นกลางมาเข้าปีที่ 1 ก็มีการสอบในระดับจัตวา ได้บรรจุเป็นข้าราชการในระดับจัตวากินเงินเดือน 450 บาท ถือว่าเป็นบุญกุศลของตัวเอง ซึ่งต้องขอบคุณท่านอธิบดี ธนิต อยู่โพธิ์ ที่ให้โอกาสมาทำงานตรงส่วนนี้

“การทำงานในสายนี้ก็ได้เลื่อนชั้นตามลำดับจนมาเป็นครูตรี ครูโท เป็นตำแหน่งอาจารย์1 2 3 ตามลำดับไปจนถึงถึงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัย ตอนนี้เกษียณอายุราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย คือแม่อยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 จนถึงวันนี้ไม่เคยจากวังหน้าไปไหนเลยคือใจมันรักถ้าจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็เรียกว่าเป็นลูกหม้อที่นี่มาตลอด

“การเป็นครูสอนนักเรียนนั้นเราก็ต้องเอารากฐานเริ่มต้นจากที่ตัวเองประสบมาตั้งแต่ตอนเด็ก ตั้งแต่จุดแรกเลยคือ การจะรับเด็กเข้ามาเรียนต้องดูที่สรีระร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทั้งหมดว่าสมบูรณ์ไหมพอจุดนี้ผ่านก็ต้องให้เขาไปทดสอบความสามารถเบื้องต้นแล้วไม่ใช่จะเรียนรำอย่างเดียวต้องเรียนวิชาสามัญด้วยสมัยก่อนมีการเรียนวิชาสามัญและวิชาศิลปะวันละ 3 ชั่วโมงแต่เดี๋ยวนี้เป็นคาบละ 50 นาที

“เมื่อเด็กผ่านเกณฑ์ทุกอย่างของสถาบันจะมีคณะกรรมการคัดเลือกอีกชั้นหนึ่งว่าใครเหมาะที่จะรับบทบาทใด อย่างการเป็นตัวพระต้องสูงโปร่งเพรียวสมส่วนมีหน้ารูปไข่ ตัวนางต้องรูปร่างท้วมรูปหน้ากลม แล้วจะทดต้องสอบพื้นฐานความสามารถว่าเด็กมีพื้นฐานอะไรมา รูปแบบการรำรู้จักมากน้อยแค่ไหน ให้จีบมือตั้งวงดูว่าแขนคอกหรือมือหักไหมเราดูเพียงแค่แววตาก็รู้แล้วว่าเด็กคนนี้จะไปรอดหรือไม่รอด แต่บางครั้งใช้สายตาในขณะนั้นตัดสินร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ยังไม่ได้ต้องดูความสามารถในวิชาสามัญ และดูทักษะของเขาด้วย สำคัญที่สุดคือสรีระว่าเขาจะมารับกับเราได้ไหมในการแสดงทั้งโขนและละคร

“ต้องยอมรับว่าเด็กที่เข้ามาส่วนหนึ่งจะมีพระสวรรค์ด้านนาฏศิลป์ติดตัวมาเราสามารถทดสอบเด็กเหล่านี้ได้ตลอดเรียนตั้งแต่ ม.1 จนจบ ม.3 แต่ถ้าเขาไม่ชอบหรือเรียนไม่ไหวก็จะมีอาจารย์มาแนะแนว มีการทดสอบทักษะทางด้านอื่นหากเรียนมา 3 ปีแล้วไม่สามารถรับทักษะของนาฏศิลป์ได้ก็ไม่ต้องไปเคี่ยวเข็ญเขา เพราะบางทีปู่ย่าตายายชอบนาฏศิลป์แต่ตัวเด็กไม่ชอบก็มี บางทีตัวเด็กชอบแต่สรีระหรือความสามารถไปไม่รอดก็จงอย่าเอาเขามาเคี่ยวเข็ญทางด้านนี้เลย แนะนำให้เขาไปเรียนทางด้านสามัญหรือด้านวิชาชีพที่เขาถนัดจะดีกว่า

“คนที่เรียนนาฏศิลป์นั้นไม่ได้หมายความว่าพอเรียนจบแล้วต้องกลับมาเป็นครูสอนทางด้านนาฏศิลป์อย่างเดียว แต่พวกเขามีทางเลือกอีกหลายทาง อย่างคนที่เรียนจบออกไปมีทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ ไปทำงานสื่ออย่างทีวี ไปเป็นดารา หรือไปทำธุรกิจส่วนตัวก็มีเยอะ คือมีหลากหลายอาชีพ เวลาที่เราปัจฉิมนิเทศนักเรียนหรือก่อนที่นักเรียนจะเรียนจบ ทางสถาบันจะมีการเชิญบุคคลการที่เป็นศิษย์เก่ามาแนะแนวน้อง ๆ ที่กำลังสำเร็จการศึกษาออกไป แม่จึงภูมิใจในครูนาฏศิลป์ของเราว่าเราไม่ได้จบแล้วต้องสอนอย่างเดียว

“อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักศึกษาที่จบชั้นสูงจากเรายังมีการเรียนต่อในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทต่อไป ถ้าเขารักทางด้านนี้จริง ๆ ก็สมัครลงเรียนปริญญาที่นี่ได้ ในอนาคตเราจะมีปริญญาเอกขยายขึ้นมา พวกลูกศิษย์ที่มีพื้นฐานมีทักษะดีเขาก็อาจจะกลับมาเรียนตรงนี้ซึ่งเขาสามารถที่จะเลือกทางเดินชีวิตได้ ในฐานะที่แม่เป็นครูก็ภูมิใจที่ลูกศิษย์ปัจจุบันนี้จบไปไม่ได้หมายความว่ามีวิชาอย่างเดียวคือการรำแต่เขามีทางเลือกที่หลากหลายบางคนสามารถไปถึงต่างประเทศไปตั้งรกรากสืบทอดวิชาความรู้แล้วเขาก็ยังวนเวียนกลับมาหาเหมือนเดิม

“ถ้าพูดถึงชีวิตของการเป็นครูสอนนักเรียนนาฏศิลป์นั้นบางครั้งอาจมีการเปรียบเปรยว่าเหมือนเรือจ้างให้กับลูกศิษย์ แม้จะเจอปัญหาบ้างแต่แม่ไม่เคยท้อเลย ถ้าท้อใจก็คงอยู่ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้แม่มีอุดมคติไว้อย่างหนึ่งคือต้องซื่อสัตย์กตัญญูต่อบรมครู ขยันหมั่นเพียร ถือหลักเมตตาธรรม เพราะคิดว่าในสมัยก่อนนี้เรามีครูผู้สอนวิชาให้ เราก็ต้องยกครูเหมือนแม่คนที่สองของเรา สมัยนี้ลูกศิษย์ของเราก็มาเรียกเราว่าแม่มันมีการสืบทอดเป็นลูกโซ่เหมือนที่เราเคยทำกับครูเช่นเดียวกัน

“ปัจจุบันเรื่องของนาฏศิลป์และศิลปวัฒนธรรมการแสดงด้านอื่น ๆ ของไทยเดินหน้ามาถึงทุกวันนี้ได้เพราะบารมีพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่ส่งเสริมและสนับสนุนนาฏศิลป์ไทยมาโดยตลอด อย่างโขนพระราชทานในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เกิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนซึ่งเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยให้ดำรงอยู่สืบไป ก่อนที่จะมีการแสดงต้องมีการคัดเลือกหรือออดิชั่นเด็ก แม่เคยไปเป็นกรรมการในชุดนั้นด้วยก็เห็นว่าเด็กที่มาไม่ใช่เป็นเด็กของนาฏศิลป์อย่างเดียวแต่มาจากกรมสามัญศึกษา กลุ่มอาชีวะ เด็กฝึกหัดมากมายที่อยากเข้ามาเพื่อแสดงโขนพระราชทาน แต่บางทีโควตาเรามีน้อยกว่าผู้สมัครจำเป็นต้องคัดคนเข้ามา แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าในระดับเยาวชนนาฏศิลป์ยังได้รับความนิยมอยู่มาก

“ในเรื่องของศิลปะและนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง ทุกวันนี้เราได้เผยแพร่ไปทุกที่มีตัวแทนอยู่ทุกจุดทั่วประเทศที่จะอนุรักษ์แล้วสืบทอด แทรกซึมไปทุกโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชนก็เริ่มมาใส่ใจ เดี๋ยวนี้จึงถือว่าศิลปวัฒนธรรมของเราเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก โดยได้รับพระบารมีจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ถือว่าเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง แม่ในฐานะที่เป็นข้าพระบาทก็จะทำงานด้านนี้ไปตลอด ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของเราต้องรุ่งโรจน์คู่กับประเทศชาติต่อไป”

DID YOU KNOW
การศึกษา
• ท่านจบการศึกษาระดับประถมศึกษาที่ โรงเรียนอัสลาฟียะห์ มัธยมปีที่ 1 โรงเรียนศรีสุริโยทัย
• สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง ที่โรงเรียนนาฏศิลป กรุงเทพฯ
• ระดับปริญญาตรีสาขานาฏศิลป์ไทย คณะนาฏดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวะศึกษา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร)

ผลงาน การทำงานด้านศิลปะการแสดงท่านได้รับบทตัวละครสำคัญ อาทิ
• โขน เรื่องรามเกียรติ์ รับบทเป็น พระอิศวร พระพรต พระราม
• ละครใน เรื่องอิเหนา ระบท ประตาระการหลาเทพเจ้า ท้าวดาหา ฯลฯ
• ละครนอก เรื่องขุนช้างขุนแผน รับบทขุนแผน พลายเพชร พลายชุมพล
• เรื่องเงาะป่า รับบทพ่อนางลำหับ ฯลฯ

the artist