เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

ถ้าพูดถึงธุรกิจหลักใหญ่ที่ถือเป็นเสาเข็มของประเทศไทย สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือส่วนของธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่เป็นเสาหลักให้กับการส่งออกของประเทศ วันนี้คุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ กรุ๊ป กำลังเดินหน้าเปิดประตูสู่ตลาดโลก โดยการผลักดันให้โลจิสติกส์ไทยออกสู่การค้าระหว่างประเทศ กับหมวกอีกใบในฐานะนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA)

ภาพรวมของโลจิสติกส์ในประเทศไทย
“โลจิสติกส์การเดินเรือส่วนใหญ่ของประเทศไทย 90% ของสายเดินเรือผู้ส่งออกเป็นสายเดินเรือต่างประเทศ ส่วนสายเดินเรือของประเทศไทยเองมีเพียงประมาณ 10% เท่านั้น เพราะสายเดินเรือคนไทยจะอยู่แต่บริเวณภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นเราจึงเป็นเหมือนตัวเชื่อมสำหรับการขนส่งไปยังประเทศต่าง ๆ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยใช้การขนส่งผ่านประเทศไทย สาเหตุสำคัญที่พูดกันมากก็คงจะเป็นเรื่อง VAT ที่ตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติ เพราะถ้าต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ หรือที่เรียกว่าเป็น Hub ในการขนส่งถ่ายสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ก็ต้องคุยเรื่อง VAT ที่ค่อนข้างสูงของบ้านเราก่อน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยจัดเก็บ VAT ดังกล่าวในเรตที่ค่อนของสูงถึง 7% ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้มาใช้บริการก็สูงตามขึ้นไป ดังนั้นพวกเขาจึงใช้วิธีการไปถ่ายสินค้ายังประเทศอื่น ๆ อย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย แทน แล้วธุรกิจของโลจิสติกส์ประเทศไทยจะเป็นยังไงต่อ เพราะฉะนั้นต้นทุนค่าโลจิสติกส์จากประเทศไทยไปประเทศที่ 3 เลยค่อนข้างสูง ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาของประเทศแล้ว ต้องแก้ที่ตรงนี้ก่อน เพราะถ้ายังแก้ไม่ได้ เราก็จะไปแข่งขันกับสิงคโปร์หรือประเทศอื่น ๆ ไม่ได้  และในที่สุดเราก็จะเสียเปรียบในการเป็นโลจิสติกส์ Hub ในภูมิภาคนี้

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

“ความสำคัญของโลจิสติกส์ไทยในปัจจุบันกับในอดีตเมื่อ 27 ปีก่อน ตอนที่ผมเริ่มทำมีคนอีกมากมายที่ไม่รู้ว่าโลจิสติกส์คืออะไร ในอดีตจนถึงปัจจุบันโลจิสติกส์เดินทางมาไกลครับ ผู้ใช้บริการเข้าใจถึงประโยชน์ของการเลือกใช้ผู้ให้บริการ และลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้เขาก็ให้ความสำคัญกับการขนส่งค่อนข้างมาก ด้วยความที่มีบริษัทโลจิสติกส์เกิดขึ้นใหม่ค่อนข้างมากในประเทศไทย ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบริษัทโลจิสติกส์ใหญ่ ๆ ก็เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น เพราะว่าถ้าเจ้าใหญ่ทำไม่ดี พวกเขาก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกมาก ก็ต้องปรับตัวให้เข้าทันกับยุคสมัยกันไปครับ” 

ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ กับการต่อยอดสู่อนาคต
“ตอนนี้เรามองไปที่ตลาด AEC และอาเซียน เพราะว่าตลาดประเทศไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน เราอยากโฟกัสไปยังตัวเลขที่สูงขึ้นอีก ซึ่งตั้งแต่เริ่มต้นเปิดบริษัทรวมถึงทำงานมาหลายปีก็ถือว่าเราโชคดี เพราะเราสามารถนำตัวเองไปอยู่ในจุดที่หลายคนยังมองไม่เห็นและไม่ได้สนใจ ทำให้เรามีโอกาสดีกว่าหลาย ๆ คน ในขณะที่หลายคนเลือกมองถึงการลงทุนในตลาดเวียดนามหรือกัมพูชา เราก็คิดว่าประเทศไหนที่คนอื่นยังไม่ได้ไปสำรวจและสามารถต่อยอดธุรกิจของเราได้ ก็เลยมองไปที่เมียนมาร์ครับ และตอนนี้ก็ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ ลูกค้าของเราส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมียนมาร์ก็จะเป็นบริษัทที่ดูแลโดยคนไทย เราเข้าไปช่วยส่งเสริมธุรกิจในประเทศเมียนมาร์ ทำให้มีการสร้างงานมากขึ้น แง่นี้เอง
ชาวเมียนมาร์ก็มีความสุข และเราก็มีความสุขไปด้วย 

“ส่วนของอนาคตที่มองไว้ก็จะมี อินโดนีเซีย รวมถึงเวียดนาม แต่ว่าเรายังมองว่าเป็นเรื่องของอนาคต อาจจะไม่ใช่ทางเลือกเสียทีเดียว แต่ก็สามารถขยายและพัฒนาธุรกิจไปได้อีกค่อนข้างไกล ผมเองก็ยอมรับครับว่าที่เมียนมาร์การเริ่มต้นเหนื่อยมาก แต่ตอนนั้นผมถือว่าเป็นความท้าทาย หลังจากนี้เราไม่จำเป็นต้องลงมือเองครบถ้วน 100%  อีกแล้ว พอเราประสบการณ์ก็จะเริ่มมองหาผู้ร่วมทางที่สามารถต่อยอดและผลักดันไปในทิศทางที่ดีได้ ที่สำคัญก็คือเราจะต่อยอดธุรกิจของเราไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไรมากกว่า ขยายให้ครอบคลุมมากที่สุด อย่างที่เมียนมาร์อีกโปรเจ็กต์ที่เรามองไว้ก็คือ ในอีก 3-5 ปี จะมีการประชุมเรื่องของการสร้างโรงงานใหม่ เราจะลงทุนเรื่องรถเครน รถบรรทุก เพื่อรองรับจากผู้ประกอบการในอนาคต หรือแม้แต่ในปัจจุบันเราก็พยายามส่งเสริมการเปลี่ยนโหมดการขนส่งอยู่ การส่งสินค้าจากประเทศไทยไปเมียนมาร์ต้องใช้รถสิบล้อ รถพ่วง พอไปวิ่งที่เมียนมาร์ก็จะเป็นรถ 12 ล้อ ซึ่งตรงนี้ของจะเสียหาย เรามาจากสายธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ เราก็พยายามนำข้อได้เปรียบของเราไปแนะนำและเริ่มคุยเรื่องของการรับประกันความเสียหาย หรือว่าความรับผิดชอบ ก่อนจะต่อยอดไปในทางที่เราถนัด ผมเชื่อว่าตราบใดที่มนุษย์ยังต้องกินต้องใช้ ของที่ต้องกินต้องใช้ที่ไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ก็ต้องชื้อ ผู้ผลิตถ้าต้องการขาย การจะส่งออกไปให้กับผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้ที่จะทำให้โลจิสติกส์อยู่คู่โลกนี้ไปตลอด อยู่ที่ตัวเราจะปรับให้ทันยุคทันสมัยกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไรต่างหาก”

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

ธุรกิจรูปแบบใหม่ Self Storage
“ที่มาที่ไปของธุรกิจ ต้องยอมรับว่า Self Storage เป็นธุรกิจที่ใหม่ในประเทศไทย แต่จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าที่ต่างประเทศโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีขึ้นมา 30-40 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งที่เรามองว่ามีโอกาสสำหรับธุรกิจนี้ เพราะตอนนี้สังคมของประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นสังคมคอนโด เพราะคนเมืองนิยมพักอาศัยในคอนโดมากขึ้น ทีนี้ในห้องก็จะมีพื้นที่จำกัด 
ถ้าอย่างนั้นข้าวของส่วนใหญ่จะจัดเก็บอย่างไร เราจึงเปิดธุรกิจสำหรับการเก็บของขึ้นลูกค้าหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มที่อยู่คอนโดกับกลุ่มลูกค้า SME แต่เราพบว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่ม SME ในประเทศไทยและกลุ่มในประเทศเอเชีย มีประมาณ 60% เพราะว่าคนไทยหรือชาวเอเชียไม่ค่อยเก็บของ แต่อย่างพวกคนอเมริกัน เขาต้องการที่เก็บ จะเห็นได้ว่ามีตู้รับเก็บของอยู่ทั่วไปหมด แต่เมืองไทยปัจจุบันยังมีน้อย เราก็เลยมองว่านี่เป็นโอกาส

“ถ้าเกิดเราให้บริการกลุ่มลูกค้าที่เป็น SME ที่จะเก็บของแล้วส่งต่อไปยังผู้ซื้อ รวมถึงกลุ่มผู้ที่อาศัยในคอนโดต่าง ๆ สิ่งหนึ่งที่เราได้จากการที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์เรามองตรงนี้เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ ลูกค้าที่ต้องใช้การนำเข้าส่งออกสินค้าต่าง ๆ สามารถมีพื้นที่เก็บของ ต่อยอดจากการขนส่ง รวมถึงในอนาคตที่เรามองว่าหากเราสามารถเป็น Hub ของเอเชียได้ ทีนี้ถ้าเราอยากจะส่งของให้กับลูกค้า ก็จะสามารถสต๊อกของและส่งได้ในทันที”

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

วันนี้ของเกตติวิทย์
“เรื่องแรกวันนี้ดูแลครอบครัวครับ ดูแลคุณพ่อส่วนคุณแม่ ปัจจุบันแม่เสียชีวิตแล้วครับ ตอนนี้ก็เลยคอยดูแลคุณพ่อ ก่อนหน้านี้คุณพ่ออยู่ที่บ้านผมตลอด 20 ปี แต่ช่วงนี้สุขภาพท่านไม่ค่อยแข็งแรงต้องมีพยาบาลอยู่ใกล้ชิดบ้านผมเป็นทาวน์เฮ้าส์ในเมือง เกรงว่าสิ่งแวดล้อมจะทำให้ท่านแย่ลง ผมก็เลยให้พี่ชายปลูกบ้านแถวนอกเมืองแล้วให้คุณพ่อไปอยู่ ทำให้ต้องห่างกันไปบ้าง แต่ผมก็จะไปมาหาสู่ดูแลท่านตลอด บางทีผมต้องเดินทางไปต่างประเทศก่อนเดินทางก็ต้องแวะไปทักทายพูดคุย หรือหลังจากกลับมาถ้ามีเวลาไม่ดึกเกินไปก็พยายามเข้าไปหาไปดูแล

“ผมเชื่อว่าที่นายเกตติวิทย์มีทุกวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากคุณพ่อที่พยายามให้การศึกษาเลือกโรงเรียนดี ๆ ให้กับลูก ท่านมองว่าภาษาที่สองที่สามนั้นสำคัญ ผมก็ดำเนินรอยตามท่านครับ สอนลูกบอกลูกเสมอว่าภาษาเป็นสิ่งที่จำเป็นแน่นอนในอนาคต ส่วนของครอบครัวเราก็ต้องดูแลให้ดี ถึงแม้จะไม่มีเวลามาแต่เมื่อมีโอกาสก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี ภรรยาเองอยู่กับลูกตลอดก็รับรู้ได้ ส่วนผมเองงานหนักแล้วการไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัวก็ถือเป็นการพักผ่อน เรื่องการจัดตารางเที่ยวผมให้เป็นหน้าที่ของภรรยา ผมอยากจะชดเชยให้เขาตอนที่เราไม่มีเวลา ผมเชื่อครับว่าเราจะอ้างว่าไม่มีเวลากับครอบครัวไม่ได้ 

“วันนี้คุณแม่ไม่อยู่แล้วครับ ไม่มีโอกาสได้ดูแลท่านในวันที่เราประสบความสำเร็จ ท่านเสียตอนผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 ก็เสียดายนะ แม่พยายามส่งเสียเราเรียน อีกแค่ปีกว่า ๆ เราก็จะได้ปริญญาให้ท่านภูมิใจ แต่อย่างน้อยทุกวันนี้ผมเชื่อว่าทำความฝันของคุณแม่ให้เป็นจริงได้แล้ว เพราะท่านอยากให้ลูก ๆ ประกอบธุรกิจ มันมีเรื่องตลกอยู่อย่าง ตอนเด็กผมกับแม่ไปเดินตลาดชื้อของ ท่านก็พาผมไปดูดวงกับหมอดู แล้วถามว่าหน้าอย่างผมเนี่ยจะทำธุรกิจได้ไหม หมอดูคนนั้นบอกว่าอย่างผม ไม่มีทางหรอก แม่ได้ยินอย่างนั้นก็เสียใจ ตั้งแต่วันนั้นมาผมไม่เคยเอาเรื่องดวงมากำหนดชะตาชีวิตเลย ถ้าเราอยากทำต้องทำให้ได้ 

“วันนี้ผมเชื่อว่าธุรกิจที่ผมทำประสบผลสำเร็จเกินความตั้งใจมามากแล้ว เคยคิดว่ามีพนักงานแค่ 40 คนก็คงพอ ตอนนี้ในเครือทั้งหมด พนักงานเกือบ 400 คน ถ้าคุณแม่ยังอยู่ท่านน่าจะภูมิใจหลายอย่างในตัวผมได้แล้วครับ ที่เกตติวิทย์มีทุกวันนี้ได้ก็เป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ค่อยอบรมสั่งสอน อีกอย่างที่คุณแม่จะบอกเสมอก็คือ  พี่น้องต้องรักกันคอยช่วยเหลือดูแลกัน 
ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ครับ”

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

แนวคิดการทำงานแบบฉบับของคุณเกตติวิทย์
“การทำงานในแบบของผมนั้น ผมจะคิดและบอกกับลูกทีมเสมอว่า ถ้าเรามีลูกน้องสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องสอนลูกน้องให้ทำงานแทนเรา สอนให้เค้าทำงาน ให้ได้มีโอกาสพบเจอสถานการณ์ต่าง ๆ เราพยายามให้ลูกน้องได้ใช้วิจารณญาณของตัวเองในการตัดสินใจเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละคน แสดงให้เห็นว่าเมื่อเขาเข้ามาแล้ว เราก็ต้องดูแลอย่างเต็มที่อย่างใกล้ชิด เราก็จะสอนพนักงานของเราตลอดรวมถึงมีการเทรนนิ่ง ผมเองก็ยอมรับว่าช่วงที่เริ่มเปิดบริษัทใหม่ ๆ ก็ต้องพยายามเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับทีม และบอกกับพนักงานเสมอว่าต้องพยายามเรียนรู้อย่าหยุดนิ่ง ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา คนที่อยู่มานานก็จะสังเกตเห็นว่าบริษัทเราไม่เคยหยุดนิ่ง หรือถ้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเราก็จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่สุด

“และที่สำคัญที่สุดคือให้อำนาจการตัดสินใจ ผมมีความรู้สึกว่าอยากให้เขาทำงานได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านั้นจะสอนให้มีความเป็นมืออาชีพ มีความรับผิดชอบ ส่วนเรื่องของลูกค้าเราจะมอบเรื่องความรับผิดชอบให้เป็นอันดับแรกเสมอ จนถึงตอนนี้เราสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อถือและไว้ใจด้านความรับผิดชอบแล้ว หลังจากนี้พอมีงานใหญ่เข้ามา พวกเขาก็จะมอบหมายให้เราดูแล เราเป็นองค์กรที่เชื่อว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ ตอนเด็กครอบครัวผมประกอบธุรกิจ คุณพ่อคุณแม่ก็จะสอนให้เราได้เรียนรู้และปฏิบัติ ทำให้ผมรับสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำงานปัจจุบันครับ”

เกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์

หมวกใบที่สอง
“หมวกใบแรกของผมคือ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ กรุ๊ป ส่วนหมวกอีกใบ ผมเป็นเลขาธิการผู้แทนโลจิสติกส์ไทย เป็นงานในด้านเพื่อสังคมที่พยายามผลักดันธุรกิจโลจิสติกส์ให้เป็นที่ยอมรับของทางภาครัฐ เพราะว่าธุรกิจโลจิสติกส์ในอดีตภาครัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ล่าสุดหลังจากผมได้มีโอกาสพูดคุยมาเป็นเวลา 2 ปี เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาลมองว่าโลจิสติกส์เป็นธุรกิจสำคัญของประเทศ เหมือนกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ในส่วนของประเทศสิงคโปร์หรือที่ดูไบ พวกนี้เขาทำมาก่อนแล้ว ปัจจุบันมากกว่า 20% ของรายได้ในประเทศของสิงคโปร์ มาจากธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 

“สิ่งที่ผมสู้คือการขอตั้งทิศทางให้กับบริษัทโลจิสติกส์ในประเทศไทย รวมถึงสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยธุรกิจนี้ในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ทางสมาคมเราก็มีการศึกษาถึงกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น สรรพากร กฎของการค้าต่างประเทศ หรือเรื่องของการขอใบอนุญาตเข้าประเทศ อันนี้ประเทศอื่นเขาไม่ทำกัน แต่ถ้าหากจะขนส่งผ่านประเทศไทยจะต้องขอ ตอนนี้นะครับ ศรีลังกา เขาพยายามแข่งกับดูไบและสิงคโปร์ เพื่อให้ใช้โลจิสติกส์ประเทศเขาเป็นพักเพื่อส่งสินค้า บ้านเขาถูกกว่าสิงคโปร์ 60% ถูกกว่าดูไบ 30% เขาทำตัวเลขออกมาวิเคราะห์ แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยเก็บภาษี 7% แล้วจะเอาอะไรไปแข่งกับเขา ตอนนี้หน้าที่หลักของผมคือพยายามประสานกับภาครัฐ เพราะ ถ้าทำตรงนี้สำเร็จเราจะมีรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำปีละ 2 แสนล้าน สิงคโปร์นี้ปีหนึ่งเป็นล้าน ๆ นะครับ 

“ตรงนี้คือหมวกอีกใบที่ผมกำลังสวมอยู่ และตอนนี้ก็ค่อนข้างได้รับความเห็นชอบในทางบวก แผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์สำหรับธุรกิจกำลังมีการผลักดันกันอยู่ ผมเชื่อในศักยภาพของผู้ประกอบการโลจิสติกส์บ้านเรานะครับ คนไทยจริง ๆ แล้วในอาเซียนผมว่าเราไม่แพ้ใครด้วย ผมเชื่อว่าบุคคลกรของเราสามารถสร้างให้ประเทศไทยเป็น Hub ของภูมิภาคนี้ได้ และหลังจากนั้นเราจะมีรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีกมากเลยทีเดียวครับ”

ใช้สิ่งที่ตัวเองถนัดให้เป็นประโยชน์