ภัยโลกวิกฤตมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มาที่ไปของปัญหา

ภัยโลกวิกฤตมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มาที่ไปของปัญหา

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ Climate change มาจากจุดเริ่มต้นคือกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างก๊าซเรือนกระจกมาปกคลุมโลก ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่สภาพของโลกทุกวันนี้เข้าขั้นวิกฤตมาเรื่อย ๆ เห็นได้จากฤดูกาลที่แปรปรวน ไม่ร้อนจัดก็หนาวจัดหรือกลายเป็นภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ

MiX Magazine ฉบับที่ 188 ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มาที่ไปของปัญหาและแนวทางการแก้ไขที่เกิดขึ้นในอนาคต

จุดเริ่มของโลกร้อน

เรื่องโลกร้อนเราได้ยินกันมาหลายสิบปี ในแต่ละปีมีปรากฏการณ์ที่ผิดธรรมชาติจำนวนมาก ตั้งแต่ร้อนจัด หนาวจัด น้ำท่วม โรคระบาด ฯลฯ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร มนุษย์เราก็ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิม โดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าเรากำลังเดินทางเข้าสู่ยุคที่โลกกำลังถูกทำลายอย่างแท้จริง

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) เกิดจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศบนโลกสูงขึ้น มีปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในชั้นบรรยากาศ อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ จนก่อเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศของโลก ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ภาวะโลกร้อนนำไปสู่ผลกระทบด้านลบหลายประการ ตั้งแต่คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และพายุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรง มหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้นเนื่องจาก มีการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจำนวนมาก กรดนี้เองกำลังทำลายความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอย่างช้า ๆ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยตรง แต่ส่งผลต่อมนุษย์ที่บริโภคอาหารที่มาจากทะเลอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางอากาศทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งจากขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลจึงเพิ่มสูงขึ้น ท่วมแผ่นดินที่ติดชายทะเลในหลายที่ของโลก

ความจริงโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติมาหลายล้านปี แต่มนุษย์นี่เองเป็นสาเหตุของการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างไม่จำกัด ทำให้หลายปีที่ผ่านมามีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยมีกิจกรรมสำคัญของมนุษย์มากมาย ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนจำนวนมากมาช่วยดูดซับก๊าซคาบอนไดออกไซด์ แต่กลับถูกทำลายให้ลดลงน้อยลงไปในทุกวัน

โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ การปล่อยก๊าซคาบอนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ในอนาคตอันใกล้ยิ่งจำนวนมนุษย์เพิ่มขึ้นมากเท่าไหร่ จำนวนการใช้พลังงานอย่าง ปิโตรเลียม ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็ยังไม่ได้ลดน้อยลง แม้จะมีความพยายามใช้พลังงานทดแทนในด้านอื่นก็ตาม

ปรากฏการณ์สภาพอากาศ 2 ขั้ว

ความจริงมนุษย์เราดำรงชีวิตอยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะกับวิถีชีวิต คือไม่หนาวหรือร้อนมากจนเกิน แต่ในระยะหลังฤดูกาลของโลกผิดเพี้ยน เช่นฤดูหนาวสั้นลง ฝนตกหนักในบางพื้นที่ มีอากาศร้อนจัดในโซนที่ไม่เคยเกิด ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตรวมถึงการดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่บ่อยครั้ง

ในช่วงที่อากาศเป็นปกติบริเวณเส้นศูนย์สูตรโลกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก จะมีลมตะวันออกพัดจากบริเวณชายฝั่งอเมริกาใต้ไปทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก มาถึงโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบริเวณใกล้เคียง กระแสลมนี้เองนำพากระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกตามออกแล้วจมลง ในขณะเดียวกันกระแสน้ำเย็นเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นในโซนตะวันออก วนไปมาเป็นรอบ ๆ แต่เมื่อเกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแล้ว ฤดูกาลจึงไม่เหมือนเดิมมักเกิดปรากฏการณ์ดังต่อไปนี้

เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฏการณ์ที่ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่วนใหญ่มักเกิดในเส้นศูนย์สูตร ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะในแทบอเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีผลให้เกิดความกดอากาศต่ำทำให้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งคือฝั่งทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก หากกระแสลมเปลี่ยนทิศ พัดกระแสน้ำอุ่นไปทางชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกน้อยลง จะทำให้เกิดสภาวะภัยแล้งในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงทวีปออสเตรเลียอีกด้วย

ลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงข้ามกับ เอลนีโญ คือ อุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกจะเย็นลงผิดปกติ ได้พัดเอากระแสน้ำอุ่นไปทางด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้อุณหภูมิผิวน้ำของฝั่งตะวันตกที่สูงกว่าฝั่งตะวันออก จึงเป็นสาเหตุให้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโซนใกล้เคียงเกิดฝนตกหนัก ในทางกลับกันด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างตอนเหนือของทวีปอเมริกาจะได้รับภัยแล้งนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่ายิ่งนับวันสภาพอากาศบนโลกของเรานับวันจะยิ่งผิดเพี้ยนไม่ตรงตามฤดูกาล ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นแบบนี้ต่อเนื่องจะทำให้เกิดสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

อย่างแรกคือเกิดคลื่นความร้อนสูง เราจะเห็นได้จากข่าวที่มีคลื่นความร้อนในยุโรป อเมริกา ไม่ใช่แค่การปกคลุมธรรมดาแต่กลายเป็น โดมความร้อน (Heat Dome) ที่คลุมอยู่เป็นเวลานาน ตามมาด้วยเกิดภัยแล้งอย่างหนัก แน่นอนว่าเมื่อมีความร้อนสูงแหล่งน้ำในบางพื้นที่ก็ต้องระเหย โดยที่ไม่มีฝนตกลงมา ทำให้เกิดสภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง โดยเฉพาะไฟป่า เนื่องจากมีความร้อนสูงในพื้นที่ป่าที่ไม่มีแหล่งน้ำทำให้เกิดการลุกไหม้ได้ง่าย เราจึงเห็นในหลายพื้นที่ของโลกเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง และสุดท้าย น้ำท่วมอย่างหนัก เมื่อเกิดภัยแล้งพื้นที่หนึ่งส่วนใหญ่ในอีกมุมหนึ่งของโลกก็จะเกิดฝนตกอย่างหนักกลายเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงได้เช่นกัน

สัญญาณเตือนหายนะโลก

ในเรื่องของภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้น หากไม่ได้เกิดขึ้นใกล้ตัวหรือบ่อยจนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเหมือนกับโรคโควิด-19 แล้ว ผู้คนรวมถึงผู้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบของโลก ก็ยังคงใช้ชีวิตตามปกติเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ในความจริงแล้วโลกเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงมาสักพัก เรามาดูกันว่าในรอปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่แปรปรวนผิดธรรมชาติ

บราซิลฝนถล่มหนัก

ในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาโซนอเมริกาใต้โดยเฉพาะประเทศบราซิล ต้นเดือนกุมภาพันธ์ รัฐเซา เปาโล ฝนตกหนักน้ำท่วมและดินถล่มทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ศพ มาในช่วงกลางเดือน ฝนถล่มตกหนักเกิดดินถล่มเมืองใน ริโอ เด เจเนโร โดยสำนักงานป้องกันพลเรือนฯ ระบุว่า เมืองเปโตรโพลิสมีฝนตกหนักในบ่ายวันเดียว มากกว่าค่าเฉลี่ยของฝนตกตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีผู้ที่เสียชีวิตกว่า 70 ราย ยังไม่นับที่สูญหายอีกจำนวนมาก

อินเดียประสบภัยร้อนจัด

เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน ประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรจะเข้าสู่หน้าร้อนโดยเฉพาะประเทศอินเดีย แต่พวกเขากลับเผชิญอุณหภูมิที่สูงที่สุดในรอบ 122 ปี คือในช่วงเดือน เมษายน 2565 คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อรัฐต่าง ๆ รวม 15 รัฐ อุณหภูมิในกรุงเดลีพุ่งทะลุ 44 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่จบแค่นั้น ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 กรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียรายงานสภาพอากาศที่ร้อนจัดในรัฐราชสถาน โดยอุณหภูมิ พุ่งสูงถึงเกือบ 51 องศาเซลเซียส มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรค “ฮีตสโตรก” หรือ “ลมแดด” จำนวนมาก

ยุโรปเจอคลื่นความร้อนและไฟป่า

ใครจะเชื่อว่าทวีปเมืองหนาวจะเจอคลื่นความร้อนเข้าปกคลุม โดยในช่วงกลางเดือน กรกฎาคม 2565 ประเทศอังกฤษเจอคลื่นความร้อนหนัก มีการวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 40.3 องศาเซลเซียส เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศที่อุณหภูมิทะลุ 40 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฝรั่งเศสก็ไม่แพ้กันเมืองแซงต์บรียุกมีอุณหภูมิสูงถึง 39.5 องศาเซลเซียส เมืองน็องต์สูงถึง 42 องศาเซลเซียสทุบสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไปแล้ว มีรายงานเปิดเผยว่า ‘สเปน’ และ ‘โปรตุเกส’ มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพราะหายนะความร้อนครั้งนี้แล้วกว่า 2,000 ราย เป็นวิกฤตคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดของยุโรปนับตั้งแต่ พ.ศ. 2300 หรือในรอบกว่า 260 ปี

 นอกจากคลื่นความร้อนที่เข้ามาปกคลุมแล้ว ยังทำให้เกิดไฟป่าในประเทศโปรตุเกส สเปน ฝรั่งเศส กรีซ ฯลฯ สร้างความเสียหายในการอพยพประชาชนหลายหมื่นคน ทำลายพื้นที่ป่าไปหลายแสนไร่ และจำนวนผู้เสียชีวิตอีกกว่า 100คน

ปากีสถานแล้งจัดและฝนตกหนัก

เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 พวกเขาเผชิญคลื่นความร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส ในขณะที่บางพื้นที่อุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส สำนักงาน Met ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ อินเดียและปากีสถาน จะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้แทบทุกปี

ถัดมาเดือนสิงหาคม 2565 ปากีสถานประสบภัยพิบัติทางน้ำอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ฝนตกดินถล่มมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 1 พันคน กระทบต่อผู้คนกว่า 33 ล้านคน คาดมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท ในเดือนกันยายน เกิดเหตุซ้ำ เกิดจากฝนฤดูมรสุมตกหนักเป็นประวัติการณ์ เกิดธารน้ำแข็งบนเทือกเขาละลาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน 33 ล้านคน จากคนทั้งประเทศ 220 ล้านคน ฮินา รับบานี คาห์ร (Hina Rabbani Khar) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน กล่าวว่า “สถานการณ์ของประเทศปากีสถานเป็น “วิกฤตการณ์ในระดับวันสิ้นโลก” คนยากจนผู้แทบไม่มีส่วนทำให้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น กลับต้องรับผลกระทบหนักที่สุด” ซึ่งถือเป็นการส่งเสียงของคนระดับบนที่แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรอีกเช่นเคย

แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อนจัด

โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาหรือเรียกอีกชื่อว่า "จะงอยแอฟริกา" ประกอบด้วย เอธิโอเปีย เคนยา โซมาเลีย และยูกันดา ประสบกับอุณหภูมิสูงขึ้น และมีปริมาณฝนตกลงมาน้อยกว่าปกติในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. 2565 กลายเป็นสถานการณ์ที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ประชากรกว่า 15.5 - 16 ล้านคน ประสบภาวะขาดแคลนอาหารอีกด้วย

ในขณะที่ฝั่งตะวันออกของแอฟริกาอย่างประเทศมาดากัสการ์ ก็เจอกับภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นกัน ส่งผลให้ประชากรกว่า 4 แสนคนได้รับผลกระทบ ในเรื่องของอาหาร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้ถูกทำลายไปกับภัยแล้ง

 พายุหิมะถล่มอเมริกาและแคนาดา

เรียกว่าสด ๆ ร้อน ๆ ตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสปี 2565 ถึงต้นปี 2566 เมื่อพายุฤดูหนาวได้เข้าปกคลุมพื้นที่ กว่า 3,200 ตร.กม. ตั้งแต่รัฐเทกซัสตอนใต้ของสหรัฐฯ ไปจนถึงรัฐควิเบกของแคนาดา ประสบกับความหนาวจัด ในรัฐมอนทานาของสหรัฐ ลดลงไปอยู่ที่ -50 องศาเซลเซียส ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้เกิดไฟดับเป็นวงกว้างกระทบผู้คนมากกว่า 1.5 ล้านคน พายุฤดูหนาวยังทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 19 ศพ

เห็นได้ว่าความจริงแล้วเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกนั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ วัน เพียงแต่เราอาจไม่ได้ใส่ใจจนกว่าจะพบเจอด้วยตัวเอง

บรรเทาลดโลกร้อน

การใช้พลังงานในยุคปัจจุบัน ต้องแลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโลกของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละกว่า 2 หมื่นล้านตัน ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 0.7-3 องศาเซลเซียส ในอีก 50 ปีข้างหน้าหากไม่มีการทำอะไรการสูงขึ้นของอุณหภูมินี้เอง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ทำให้อากาศของโลกแปรปรวนอย่างร้ายแรง อาจเกิดลมพายุแรงกว่าปกติ มีความกดอากาศต่ำมากขึ้น ในบางส่วนของโลกอาจเกิดการแห้งแล้ง มีคลื่นความร้อนบริเวณขั้วโลกมีน้ำแข็งละลายระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งได้

ในปัจจุบันมีความพยายามเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่พลังงานเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานในรูปแบบอื่น เรามาดูกันว่าที่นิยมใช้มีอะไรบ้าง

พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy)

เป็นพลังงานมีเยอะมากในประเทศไทย โดยแสงแดดจะผ่าน Solar Cell ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นไฟฟ้า ปัจจุบันเรามีการใช้โซลาร์เซลล์ ในหลายรูปแบบตั้งแต่ของชิ้นเล็ก ๆ อย่างไฟฉาย ไฟส่องสว่างที่ติดไว้บริเวณบ้าน แต่ในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปก็นำไปใช้ในบ้านเรียกว่า โซลาร์รูฟ ซึ่งในปัจจุบันมีคนนำไปใช้บ้างแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีความชัดเจนในระบบการขายคืนไฟฟ้าให้รัฐมากนัก หากมีการประชาสัมพันธ์ถึงระบบการทำงานให้ชัดเจน รับรองว่ามีหลายครัวเรือนที่ต้องหันมาใช้อย่างแน่นอน

พลังงานลม (Wind Energy)

เป็นพลังงานที่หมุนเวียนอยู่บนโลกใช้แล้วไม่มีวันหมดไป ลมยังสามารถนำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า โดยใช้กังหันลมขนาดยักษ์เมื่อใบพัดหมุนก็ไปนำสู่การปั่นมอเตอร์ ในการเปลี่ยนพลังงานจลน์ที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของลม จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นพลังงานกลอีกทอดหนึ่ง เพื่อใช้ในการหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไปติดตั้งกังหันลมที่ภูเขาซึ่งมีลมแรง หรือชายทะเล ซึ่งข้อเสียของพลังงานลมคือแต่ละพื้นที่มีลมแรงไม่เท่ากันจึงทำได้ในบางภูมิภาคหรือแล้วแต่พื้นที่เท่านั้น

พลังงานน้ำ (Hydro)

พลังงานน้ำถือเป็นพลังงานสะอาดที่มีการใช้งานมากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหากมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ขึ้น จะมีการสร้างระบบผลิตกระแสไฟฟ้าตามมา โดยใช้หลักการน้ำในที่สูงเคลื่อนที่ลงสู่ที่ต่ำด้วยความแรงต่อเนื่อง จากการสะสมพลังงานศักย์ เมื่อทำการเปิดน้ำให้ไหลลงที่ต่ำ น้ำที่แรงจะไปปั่นใบพัดด้วยพลังงานจลน์ทำให้เกิดไฟฟ้าขึ้น โดยในประเทศไทยนั้นมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำเป็นจำนวนมาก ข้อดีของการใช้พลังงานทดแทนแบบนี้คือเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าการใช้พลังงานแบบการเผาไหม้ ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้

นิวเคลียร์ฟิวชัน แสงสว่างที่ริบหรี่

ในทางทฤษฎี หากคนทั้งโลกร่วมมือกันประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาบอนไดออกไซด์จะสามารถช่วยโลกให้ฟื้นกลับมามีสภาพอากาศที่ปกติได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่แทบจะไม่สามารถทำได้เลย เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ในอนาคตเราจะเห็นความต้องการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อมาทดแทนพลังงานในรูปแบบเดิมที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ มีคนบางกลุ่มพยายามคิดหาวิธีนำเอาพลังงานรูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่พลังงานในแบบเดิมมากมาย แต่ที่ดูแล้วจะพอมีหวังมากที่สุดคือ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน

นับเป็นข่าวดีที่มีการรายงานข่าวออกมาว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จในการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน เปิดหนทางสู่พลังงานสะอาดไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นพลังงานแบบเดียวกับดวงอาทิตย์แบบที่มนุษย์ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้ วันนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถคิดหาวิธีเก็บเกี่ยวนิวเคลียร์ฟิวชันมาได้แล้ว ด้วยการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชัน มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นพลังงานสะอาดของโลกในอนาคตตลอดไป

โดยหลักการของนิวเคลียร์ฟิวชันคือเชื้อเพลิงต้องทำให้เกิดความร้อนสูง 1ร้อยล้านองศาเซลเซียส ต้องมีการเก็บความร้อนในปริมาตรเล็ก ๆ โดยอตอมของไฮโดรเจนต้องรวมตัวกันเพื่อเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่ต้องการ ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันได้มานานแล้ว แต่ไม่สามารถกักเก็บไว้ได้เนื่องจากการสูญเสียพลังงานอย่างรวดเร็ว แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์สหรัฐสามารถทำให้พลังงานที่จ่ายเข้าไปน้อยกว่าพลังงานที่ออกมา จึงถือเป็นก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติที่จะมีพลังงานงานอย่างยั่งยืนใช้

ดร. คิม บูดิล ผู้อำนวยการ แอลแอลเอ็นแอล ระบุว่า “นี่คือความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์... ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ผู้คนหลายพันคนทุ่มเทกับการทดลองนี้ ต้องใช้วิสัยทัศน์อย่างมาก กว่าที่เราจะมาถึงจุดนี้ได้”

แต่ที่เล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงขั้นตอนการทดลองเท่านั้น หากนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์จริงต้องผ่านกระบวนอีกหลายสิบปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มีผลประโยชน์จำนวนมาก จากบ่อน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้า ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์มหาศาลจึงเป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกได้ในเร็ววัน

ในเรื่องของพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน ก็คงอาจยังไม่เกิดขึ้นจริงภายในทศวรรษนี้ แต่พอจะมองเห็นแสงสว่างว่ามีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ก่อนที่วิกฤตโลกจะแย่ไปกว่านี้

Climate change ฤดูกาลที่แปรปรวน ไม่ร้อนจัดก็หนาวจัดหรือกลายเป็นภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ