ถวัลย์ ดัชนี : ศิลปินผู้อยู่ในใจของทุกคน | Issue 162

ถวัลย์ ดัชนี : ศิลปินผู้อยู่ในใจของทุกคน | Issue 162

อาจารย์ ถวัยล์ ดัชนี คือศิลปินที่วาดภาพได้ราวกับมีชีวิต และจิตวิญาณซ่อนอยู่ ภาพเขียนของท่านจึงได้รับการยอมรับในระดับสูงมาโดยตลอด แม้ตอนนี้ท่านได้ลาจากโลกนี้ไปหลายปีแล้ว แต่ชื่อเสียงและศิลปะที่ท่านฝากไว้ กลับกลายเป็นความอมตะคงอยู่ตลอดกาล

เพื่อเป็นการรําลึกถึงอาจารย์ ถวัยล์ ดัชนี เราจึงขอนำบทสัมภาษณ์ของท่านที่เคยสัมภาษณ์ไว้กับ MiX Magazine เมื่อหลายปีก่อนมาให้ผู้อ่านได้ชมกันอีกครั้ง ด้วยแนวคิดของท่านที่ไม่เหมือนคนอื่น แต่กลับแฝงไปด้วยปรัชญาชีวิต และแง่คิดหลายประการ สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีทีเดียว

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2544  ในครั้งนั้นท่านได้แสดง ไคลแม็กซ์ สำคัญภายในงานเปิดตัว “หอศิลป์เอมเจริญ” (EMJAROEN GALLERY) อาจารย์ “ถวัลย์” บรรจงตวัดแท่งถ่านดินสอฟรีแฮนด์โดยไม่ต้องยกมือขึ้น ออกมาเป็นภาพหมูป่าทรงพลังของเส้นสี เขี้ยวโง้งยาวเรียว เรียกเสียงฮือฮาแก่ผู้ชมนับร้อย ศิลปินจอมอหังการ ที่ไม่ยอมรับแฟชั่นวัฒนธรรมทางวัตถุ รูปร่างใหญ่ ค่อนไปทางเจ้าเนื้อหนวดเคราขาวย้อย ดุจฤษี แห่งยอดดอยนางแล แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเสื้อผ้าม่อฮ่อมสีครามเข้ม สะพายย่ามมีเขี้ยวเล็บและเขาสัตว์เป็นเครื่องประดับ สวมรองเท้าฟองน้ำหูคีบติดดินราคาถูก ผู้มัธยัสถ์สมถะเรียบง่าย กินน้อย นอนน้อย ทำงานมาก

ตลอดชีวิตไม่เคยข้องแวะกับอบายมุขและสิ่งเสพติดใด ๆ ชอบศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปฏิบัติธรรมตามหลักมัชฌิมาปติปทาไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป เป็นคนเปิดเผยใครไม่รู้จักจะเข้าถึงยาก ดูมีอารมณ์ขันพูดจาตรงไปตรงมา เสียงดังฟังชัดนั่นคือ อัตลักษณ์ที่โดดเด่น

เพราะอะไร ทำไมภาพเขียนจากปลายพู่กันของท่าน ภาพเดียวราคาสูงถึง 50 ล้านบาท ค่าตัวคิด วินาทีละ 1 แสนบาทจริงหรือไม่? เราจะมารู้จักตัวตนที่แท้จริงของศิลปินผู้ทระนงเอาจริงเอาจังในรูปทรงแนวความคิดของจิตรกรที่เข้มข้นด้วยพลังทางจิตวิญญาณ มีการแสดงออกที่ฉับไว แม่นยำ องอาจ ขลัง กล้ากำยำเต็มไปด้วยพลัง ด้วยกระแสแห่งจิตเหนือสิ่งอื่นใดผลงานสร้างสรรค์ได้ถูกนำเสนอแก่นสาร สารัตถะ ความพอเพียง ความสงบระงับความเย็นท่ามกลางเตาหลอมเหล็ก ความเร้นลับสุดหยั่งของพลานุภาพทางจิต และการควบคุมศีล สมาธิ ปัญญาไปสู่วิมุต อันเป็นปรินิพพาน ที่ท่านซึมซับเติบโตมาจากวัฒนธรรมล้านนา มีรากเหง้าจากกระแสธารทางพุทธปรัชญาภายใต้เงาเศวตรฉัตรแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ท่านเป็นอีกเกสรดอกไม้ในสวนของข้าแผ่นดิน ที่นำศิลปะไปฟ้องสะท้อนเป็นกระจกเงาแก่ ประชาคมทั่วโลกได้ประจักษ์เห็นรูปลักษณ์ ยอมรับยกย่องความยิ่งใหญ่ของอัครศิลปินไทย วันนี้ท่านกล้าสวนหมัดทางความคิดเปิดปมประเด็นลีลาเร่าร้อนลึกซึ้งเสนอทัศนะกับ MiX Magazine บางครั้งกลับเสียดแทงใจและแฝงไปด้วยนัยยะซ่อนเร้น พลางพูดกระเซ้าว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่นก็คือ พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ทีมงานสามารถลุยฝ่าน้ำ ข้ามเขา สนทนากับศิลปินนามระบือถึงแก่นกระพี้

ถอดรหัส(ลับ)อาจารย์ “ศิลป์”

วัยเด็ก “ถวัลย์” มีพรสวรรค์ด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูล และชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัวนอกจากนั้นยังมีความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำชื่อเพื่อนร่วมเรียนได้ทุกชั้นปีทั้งที่โรงเรียนประถมเชียงรายวิทยาคม และมัธยมโรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่ออายุได้ 8 – 9 ขวบ มีความคิดแผลง ๆ จำเรื่องนายมั่น นายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม จากนั้นเขาเที่ยวชักชวนเพื่อกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพระยาเย็นด้วยกัน

เมื่อเติบโตขึ้นตามลำดับจนกระทั่งจบมัธยม 6 ที่เชียงราย ท่านได้รับทุนมาเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ช่วงปี พ.ศ.2500 และเป็นนักเรียนดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคมฉับไวจึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นทางด้านจิตรกรรมเคยเขียนภาพขายได้ราคาสูงที่สุดในสมัยนั้นด้วยราคา 1,500 บาท มีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาตินครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิษย์รุ่นท้าย ๆ ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ครั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรปี 1 “ถวัลย์” ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100 + แต่เมื่อขึ้นปี 2 กลับทำคะแนนได้เพียงแค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้วิจารณ์ให้ไว้ว่า “ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ”

 

ถูกกรีดทำลายภาพ !

คำวิจารณ์ของอาจารย์ศิลป์ ครั้งนั้นยังก้องอยู่ในโสตประสาทตลอด ทำให้ “ถวัลย์” เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด จนกระทั่งจบการศึกษาในรั้วศิลปากร เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว ท่านจึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ศิลป์ ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้ท่านได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คน ที่สถาบันแห่งนี้ นั่นคือศิลปินแห่งชาติอินโดนีเซีย ด้านแกะสลัก ศิลปินแห่งชาติอเมริกา และชาวสวิสเซอร์แลนด์นาม Giger ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบมนุษย์ต่างดาว “เอเลี่ยน”

เวลาต่อมายังมีศิลปินแห่งชาติอีกคนคือตัวท่านเอง เมื่อ “ถวัลย์” กลับถึงแผ่นดินแม่ เพื่อมาแสดงผลงานนิทรรศการ เมื่อปี พ.ศ.2514 แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่หลายรูป ถูกนักเรียนกรีดทำลายเสียหายหมด ด้วยเหตุผลว่างานของท่านนั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนาทำให้ “ถวัลย์” พลิกชีวิต เลิกแสดงผลงานของตัวเองในประเทศไทยไปนานหลายสิบปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ท่านก็ต้องชีพจรลงเท้า เดินตากแดดตากฝนลุยหิมะ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายทวีปทั่วโลก สร้างชื่อเสียงก้องกังวานดั่งเสียงระฆังบนยอดดอย อยู่ถึง 30 ปี กวาดรางวัลระดับโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศนับไม่ถ้วน

จนถึงวันนี้ผลงานของท่านได้รับการยอมรับและยกย่องชื่นชมว่าเป็นศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่ตระกูลเศรษฐีชั้นนำนักสะสมงานศิลปะ โดยเฉพาะ งานของท่านอธิบายได้ด้วยตัวเอง เป็นที่ชื่นชมศรัทธาและความตื่นตระหนกชิงชังของคนหลายคน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงหลายชิ้นมีขนาดใหญ่โต มีทั้งภาพมนุษย์ สัตว์ และมนุษย์ผสมกับสัตว์ที่ได้มาจากตำนานโบราณของไทยและฮินดู รวมถึงมาจากแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ทั้งอินเดีย ทิเบต อินโดนีเซีย ยุโรป อเมริกา ฯลฯ ภาพคนและสัตว์เหล่านี้มีรูปทรงที่กำยำเต็มไปด้วยพลังดุดันในโทนภาพขาวดำ โทนสีแดงดำ ที่เน้นแสงและน้ำหนักเงา อันเป็นบุคลิกพิเศษในงานจิตรกรรมของท่าน

บ้านดำ...ดอยนางแล

“ถวัลย์” บอกว่าเขาไม่ใช่ศิลปินแต่คือช่างวาดรูปคนหนึ่งเท่านั้น

อาจารย์ถวัยล์ : ผมไม่เคยมีจุดมุ่งหมายที่คนอื่นเขามีกัน ผมเป็นเพียงนักวาดรูปที่ตั้งใจเกิดมาเพื่อวาดรูปโดยเฉพาะตั้งแต่เล็ก ๆ ผมเขียนรูปเพื่อใส่ไว้ในบ้านเพราะมีบ้านหลายแห่ง ที่กรุงเทพในเมืองและนอกเมืองเชียงรายก็มี ผมไม่เคยเปิดบ้านเป็นหอศิลป์อะไรเลย เป็นบ้านเฉย ๆ ผมไม่มีเป้าหมายที่จะตั้งป้อมความคิดว่าจะให้เป็นอะไร ผมตั้งใจอย่างเดียวคือผมเป็นช่างวาดรูป แล้วก็วาดรูปเพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำหน้าที่ของช่างวาดรูป คนจะดูหรือจะไม่ดูก็ไม่เกี่ยวกับผม เพราะไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมไม่เคยถามดวงดาวในห้วงเวหาว่าเปล่งแสงไปที่ไหน ไม่เคยถามนกที่ร้องเพลงในอากาศว่าทำไมถึงร้องเพลง ผมไม่เคยถามถึงรสหวานที่มีอยู่ในกลีบดอกไม้ เพราะมันคือธรรมชาติ

ยามว่างจากการเขียนรูปมักจะเข้าป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้โดยเฉพาะกระดูก และเขาสัตว์เป็น สัญลักษณ์บ่งบอกถึงอะไร ?

อาจารย์ถวัยล์ : ผมไม่ได้มีสัญลักษณ์อะไรเพียงแต่ว่าเวลาเราอยู่ในมหาวิทยาลัย เวลาเรียนหนังสือเราต้องเรียนกายวิภาค จะต้องเรียนเรื่องคน เราก็จะเรียนผู้หญิงผู้ชายและเด็ก สัตว์เราก็เรียน มีทั้งสัตว์กินหญ้ากีบเดี่ยว เช่น ม้ากินหญ้ากีบวัว ควายกินหญ้ากีบคู่ อันนี้มันเป็นเรื่องการเรียนหนังสืออยู่แล้ว และสัตว์ที่กินเนื้อเช่นเสือ สิงโต ฯลฯ ทีนี้เมื่อผมเรียนจบออกมาผมไม่มีห้องกายวิภาคสำหรับค้นคว้าต่อไป ผมก็ต้องมีห้องเก็บของพวกนี้ไว้เพื่อลับจิตนาการผมให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่ของสะสมหรือสัญลักษณ์อะไร ผมไม่ต้องการรับข้อมูลหรือข่าวสารอะไรจากหนังสือที่มันแห้ง ผมอยากได้ดูตรงจากของจริงเท่านั้น ผมจึงมีของพวกนี้ไว้เป็นครูเพื่อศึกษา

มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บ้านดำ หมู่บ้านดอยนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ประกอบด้วยอาคารแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือและอาคาร สถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์อีกหลายหลัง เพื่อจัดแสดงศิลปะพื้นบ้าน Folk Art ท่านใช้เวลาในการรวบรวมด้วยความตั้งใจนำมาเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้ผู้สนใจได้เขาชมมานานกว่า 20 ปีของการสั่งสมประสบการณ์ ผลงานต่าง ๆ ของผู้ชายคนนี้ท่านยังเป็นผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการรวมตัวของช่างผู้รังสรรค์ศิลปะทั้งช่างท้องถิ่น และภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย

อาจารย์ถวัยล์ : บ้านดำ ดอยนางแล ของผมมี 30 – 40 กว่าหลังผมสร้างเอาไว้เพื่อเก็บสมบัติบ้า! อะไรต่าง ๆ บุคลิกของแต่ละหลังมันแตกต่างกันมันมีวิหารเล็กวิหารใหญ่ ผมเล่าสรุปความคิดรวบยอดว่าบ้านทั้งหมด 45 หลัง ที่ทำทั้งหมดคือ 1 เป็นบ้านเรือนไทยแบบภาคเหนือ อันที่ 2 ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากเอเชียและวัฒนธรรมของทางเหนือตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ มี พม่า ลาว จีน และของไทยแล้วผมก็เอามาประยุกต์รวมกันแล้วสร้างขึ้นมาเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยคือเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน แต่ว่าผมไม่ได้โหยหาอดีต คือไปทำบ้านแบบโบราณหรือไปสร้างเมืองโบราณไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม นาฏกรรม หรือวรรณกรรม ที่รวมทำอยู่ แรงบันดาลใจนี้มาจากไทย คือเอเชีย แล้วเอามาทำให้เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยของโลก โดยมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมตะวันออกหรือพุทธปัญญา

บ้านแต่ละหลังจึงมาจากความรู้สึกที่ว่านี้เหมือนกันหมด แล้วผมไม่ทำแบบเรือนไทยภาคกลางและเรือนไทยภาคเหนือเพราะผมไม่ลอกของเก่า แต่ผมทำแล้วรู้ว่าเข้าใจแบบของเก่า อย่างหอวัดต้นเกวี๋ยน ในงานพืชสวนโลก เขาสร้างลอกเลียนแบบของเก่ามา ดูจากของจริง วัดต้นเกวี๋ยน แต่เขาทำสู้ของจริงไม่ได้ ฝีมือเขาไม่ถึง ความคิดอะไรเขาก็ไม่ถึง ก็เลยทำได้แค่นี้ ผมคิดว่าการลอกเลียนแบบทุกอย่างมันเลวหมด... มันหายใจไม่ได้ อะไรที่ลอกเลียนแบบเป็นอันว่ามันตายไปแล้ว ผมเองไม่ได้ลอกแบบใครผมรู้ว่าในสมัยโบราณทำอย่างไรแล้วผมก็นำความบันดาลใจจากของโบราณมาสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

 

จิตสำนึกความเป็นไทย

อาจารย์ถวัยล์ : ผมเป็นเอเชีย เป็นคนตะวันออก ผมไม่อยากลอกฝรั่งทำตามแบบฝรั่ง ดินแดนที่ผมอยู่คือสามเหลี่ยมทองคำ มีไทย จีน ลาว พม่า อยู่ด้วยกันผมจึงอยากเอาศิลปะพวกนี้มาให้โลกได้ดูไม่ใช่คนไปดูบ้านผมแล้ว มันเหมือนในนิวยอร์ก ปารีส โรม ฯลฯ ผมทนไม่ไหวที่เห็นคนไทยใส่เสื้อนอกผูกไทค์ผมว่าไอ้นั่นมันเป็นเครื่องหมาย ของความเป็นทาส ถ้าในสมัยรัชกาลที่ 4 เราจำเป็นต้องแต่งตัวแบบนั้น ถ้าเราไม่แต่งแบบนั้นฝรั่งมันจะยึดประเทศเราเป็นเมืองขึ้น เราถือว่าเราเป็นอาณารยะ

แต่ทุกวันนี้เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปกลัวฝรั่งมันแล้ว ที่จะต้องอยู่บ้านแบบฝรั่ง แต่งตัวใส่เสื้อนอกแบบเขา บ้านเราร้อนจะตายชักอยู่แล้ว ๆ ไม่รู้ว่าไปแต่งตัวตามเขาทำไม ฝรั่งเขามีหิมะตกจำเป็นต้องใส่เสื้อนอกผูกไทค์ เราอยู่ในตะวันออกเราควรจะมีภาษากาย แบบบรรพบุรุษไทยในอดีต ถ้าเราไปดูในวัดพระแก้ว เราจะเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังว่า สมัยรัชกาลที่ 3 ทุกคนเขาเปลือยอกหมด เขานุ่งผ้าโจงกระเบนเขาไม่ใส่เสื้อผ้าแบบฝรั่งมันเป็นทาสที่ปลดปล่อยไม่ไปทางความคิด คุณดูซิในรัฐสภาฯ มีผู้แทนราษฎร เขาต้องเปิดแอร์ เพราะเราแต่งตัวแบบฝรั่งแล้วเรามาพูดถึงโลกร้อนแล้วให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟ เมื่อไรก็ตามที่เรายังไม่บรรลุนิติภาวะทางความคิด เราก็เป็นกากเดนของฝรั่ง

ศิลปะราคาแพงที่สุดในโลก !

อาจารย์ถวัยล์ : ผมสำคัญตนเองว่าเป็น International Known ผมจึงไม่จำเป็นต้องแสดงผลงานเฉพาะที่เมืองไทยเท่านั้น ผมแสดงงานมาแล้วทั่วทั้งยุโรป และอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน อิตาลี ฯลฯ ผมแสดงมาหมดแล้ว ผมพูดได้ 5 ภาษา ฉะนั้นคุณค่าทางศิลปะควรมีราคาแพงที่สุดในโลกรูปคือภาษาสากล “จัสเปอร์ จอห์น” เพื่อนศิลปินรุ่นพี่เป็นจิตรกร รูปของเขาอย่างต่ำราคาหนึ่งล้านเหรียญขึ้นไป ฉะนั้นศิลปินจึงสามารถซื้อเกาะได้ซื้อเครื่องบินไอพ่นได้ไม่ต่างอะไรกับนักกอล์ฟหรือนักฟุตบอล ดังนั้นในดาวเคราะห์ดวงนี้สิ่งที่แพงที่สุดคืองานศิลปะ ตอนนี้งานของ “แวนโก๊ะ” รูปหนึ่งเป็นหมื่นล้านยิ่งงานของ “ปิกัสโซ่” นี่จะแสนล้านเข้าไปแล้ว รูปของผมมีตั้งแต่ราคา 20 – 30 ล้าน 10 ล้านบาทผมขายได้เสมอ ถ้าผมอยากจะขายแต่บางทีผมอยากจะเก็บเอาไว้ให้ตัวเองดูบ้าง แต่ว่าผมมีรูปราคา 50 ล้านบาทมาจนถึง 5 ล้านอย่างที่คุณเห็นภาพเสือ ภาพช้าง ฯลฯ ติดอยู่ที่ตึกยูคอม ถนนวิภาวดี – รังสิต ที่เปลี่ยนเป็นอาคารเบญจจินดา ผมขายให้คุณบุญชัย เบญจรงคกุล ตอนนั้นเขาเป็นเจ้าของ Dtac ไปหลายรูป ผมไม่ได้นับคร่าว ๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ล้านบาทในสมัยนั้น เพราะเขาซื้อเยอะมาก ผมไม่ค่อยสนใจเงินทองผมอิ่มแล้วมีพอแล้ว คุณบุญชัยกับผมต่างก็อิ่มกัน คุณบุญชัย เขาเอารถให้ผมมา 5 คัน เป็นรถโรซรอยซ์คันหนึ่ง เฟอรารี่คันหนึ่ง เดมเรอร์คันหนึ่ง เมอร์ซิเดนซ์ เบนซ์ 2 คัน แล้วผมก็ทิ้ง ๆ ไว้ที่บ้านอย่างนั้นแหละเก็บเอาไว้ปลูกใบสะระแหน่หรือไม่ก็เอาไว้สำหรับทำปะการังเทียม จะขับอะไรกันวะ คันเดียวก็พอแล้ว

การค้าขายเรื่องของธุรกิจหรือทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่กิจของนักวาดรูป ผมมองว่ามันคือเดรัจฉานกิจกรรม ไม่ต้องมาถามสิ่งที่ต้องถามคือช่างวาดรูปคนนั้น ๆ ได้นำสาระอะไรไปสู่คนบ้าง สิ่งที่เป็นสาระจริง ๆ คือรูป คือภาษาสากล แล้วรูปเขียนของผมไม่ใช่ภาษาไทย ฝรั่งก็ดูรู้ ไทยก็ดูรู้ เพราะผมไม่ได้เขียนเรื่องรามเกียรติ์ ผมไม่ได้เขียนเรื่องลายกนก เพราะฉะนั้นใครก็ดูรู้เรื่อง ดอกผลจากการขายรูปทั้งหมดผมนำเงินก้อนหนึ่งไว้ประมาณ 30 ล้าน แล้วนำดอกเบี้ยไปให้ทุนการศึกษาเด็กโดยผมบริจาคเงิน 12 ล้านบาท จัดตั้งมูลนิธิถวัลย์ ดัชนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 แล้วนำดอกผลจากกองทุนดังกล่าวมาสนับสนุนการศึกษาของสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องมีโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม โรงเรียนสามัคคีวิทยา ในจังหวัดเชียงราย วิทยาเขตเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ สถาบันละ 10 ทุนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ค่าตัววินาทีละแสน

อาจารย์ถวัยล์ : คราวที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เชิญผมกับ คุณกมล ทัศนาญชลี ไปแสดงผลงานศิลปะในเรื่อง “Two Vision of Dharma” Thai Contemporary Art หรือ “สองมรรคาวิถีในจักษุธรรมทัศน์” ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ซานฟรานซิสโก ผลงานทั้งหมด 50 ชิ้น มีจิตรกรรม วาดเส้น ภาพพิมพ์ สื่อผสม ประติมากรรมขนาดต่าง ๆ ฯลฯ ผมขายรูปเศษเล็กเศษน้อยของผมได้เงินมา 8 แสนเหรียญ U$ (24 ล้าน) จากนั้นจึงนำเงินทั้งหมดยัดใส่ไว้ใต้ที่นอน เวลาจะใช้ก็เอามีดคัทเตอร์กรีดปาดล้วงเอาเงินออกมาใช้ ลองไปถามอาจารย์กมลดูเขาจะเล่ามันกว่า

ส่วนบ้านที่ต่างประเทศก็มีหลายหลัง ออสเตรเลีย 1 หลัง อเมริกา 1 หลัง แต่ที่เยอรมันแต่ก่อนมี 3 หลัง ตอนนี้มีอยู่แค่หลังเดียวอย่าเรียกว่าบ้านเลย เรียกว่าปราสาทดีกว่า ปราสาทของผมเล็ก ๆ มีอยู่ทั้งหมด 45 ห้อง ซื้อไว้สมัยนั้นไม่ถึง 100 ล้านบาท เพราะรัฐบาลเขาต้องการทะนุบำรุงปราสาทนี้ไว้ หากไม่ซื้อเขาก็จะเอาไปทำเป็นที่ขายไวน์ ขายช็อกโกแลต ขายของที่ระลึกให้แก่นักท่องเที่ยว เมื่อเราซื้อเพื่อเก็บรักษาของเก่าไว้ รัฐบาลเขาก็ลดภาษี แล้วขายให้เราถูก ๆ เพียง 80 ล้านบาท คุณจะไปซื้อได้ที่ไหน ผมซื้อมาเกือบ 20 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้มีคนมาถามซื้อผมเหมือนกัน คือตอนนี้มันมีราคา 1,500 ล้านบาทน่าจะพอขายได้

แต่ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องตัวเงิน เหมือนคุณถามผมว่ารูปราคาเท่าไรพอจะบอกได้มั๊ย ผมก็บอกผมขายรูปละ 40 – 50 ล้าน เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่กงสุลใหญ่แอลเอ ผมวาดรูปพญาอินทรีสยายปีก กางกงเล็บเพื่อเตรียมตะครุบเหยื่อ ใช้อุปกรณ์ 3 อย่าง มี สี พู่กัน ผ้าดิบ กระซวก 2 – 3 ทีก็เสร็จ ไม่ต้องที่อื่น เวลาผมเขียนรูปใช้เวลา 15 วินาทีอย่างน้อยได้ล้านห้าขึ้นไป เพราะฉะนั้นผมจะเอาตีนเขียนเลยก็ได้ คุณต้องไปถามพี่หยัด (ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศน์ศิลป์ปี 2541) พี่หยัดบอกว่า “เฮ้ย !ไอ้เครามึงเขียนอะไรให้กูหน่อย” ผมใช้เวลาแค่ 15 วินาทีเสร็จ พี่หยัดก็เอาไปขายให้คุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ได้เงินมาล้านสอง เพราะฉะนั้นค่าตัวผมคิดเป็นวินาที ถ้าล้านสองต่อ 15 วินาที ก็คือ วินาทีละแสนเมื่อคุณมีค่าตัวอย่างนี้แล้วคุณจะไปสนใจอะไรเรื่องเงินเรื่องทอง มันหลุดพ้นไปแล้ว

ผมไม่อยากพูด ตัวมูลค่าแต่ผมอยากพูดถึงคุณค่ามากกว่า ยกตัวอย่างเช่นคนมีเงินมากกว่าผมตั้งเยอะแยะ แต่เขาไม่เคยทำอะไรให้กับแผ่นดินเลย เขาดูดทรัพย์จากแผ่นดิน เขาตักตวงทรัพย์จากแผ่นดิน แต่ผมให้แก่แผ่นดิน อย่างน้อยผมก็ทำความงามให้กับแผ่นดินได้ประจักษ์ เสนาสนะที่ผมทำ อย่างน้อยผมก็ทำให้มันงดงาม หากคุณมีฝีมือช่างอย่างเดียวคุณก็เป็นได้แค่กรรมกรศิลปะ ถ้าคุณมีปัญญาอย่างเดียวไม่มีฝีมือคุณก็ไม่สามารถ เอาฝีมือเชิงช่างไปอุ้มความคิดของคุณถึงเป้าหมาย เพราะฉะนั้นคุณต้องจัดเจนทั้งฝีมือและความคิด ฝรั่งเขามีโพยที่พูดถึงผมว่าผมเป็นบิดาของช่างวาดรูปสมัยใหม่ของตะวันออก เพราะผมไม่ได้ลอกฝรั่ง ผมมีวิถีชีวิตของผมเอง อันนี้เป็นตัวเก่งหรือความยิ่งใหญ่ของผมอยู่ตรงนี้

ผมหมดรสอยาก ผมไม่มีความทะเยอทะยานในสิ่งที่เป็นเดรัจฉานกิจกรรม ผมมุ่งหน้าไปสู้เป้าหมายปลายทางของผมที่มหาวิหาร ถึงแม้ผมจะก้าวลงหลุมฝังศพผมแล้ว แต่ผมก็ไม่เคยท้อถอย ผมทำงานในหน้าที่ของผมอย่างดีล้ำเลิศ ผมจึงไม่เคยเสียใจ อีกอย่างผมใช้โลกเป็นเวทีเมื่อมีใครขานรับเสียงกู่บางคนไม่มีกำลัง ก็จำเป็นอยู่ในที่คับแคบในเมืองไทยไปตลอดชีวิต ผมใช้โลกเป็นเวที ผมจะอยู่ยุโรปหรืออยู่อเมริกาก็ได้ อยู่ที่ไหนในโลกนี้ได้หมด เพราะสังคมตอบรับผมในเรื่อง International งานของผมทำให้ฝรั่งดู ให้พิพิธภัณฑ์ดู รูปของผมอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก คนที่ซื้อรูปผมไม่มีลูกค้าที่จบ ป.4 อย่างน้อยก็ปริญญาโท ปริญญาเอก 90% ที่ซื้อรูปไปเป็นฝรั่งทั้งนั้น อีกอย่างคนเขาเห็นว่ารูปของผมราคามันเป็นล้าน ๆ ขึ้นไป ไม่มีใครเขาซื้อหรอก นักวาดรูปอยู่ระหว่างคนที่ไม่เกิดกับคนที่ตายไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีใครเข้าใจมัน นักวาดรูปมันเกิดก่อนเวลา ดังนั้นจึงมีนักวาดรูปน้อยคนที่ขณะมีชีวิตอยู่จะประสบผลสำเร็จ คือขายรูปได้ขณะมีชีวิตที่เห็นชัด ๆ ก็มี “ปิกัสโซ่” แต่ส่วนมากต้องตายไปแล้วหลายร้อยปีถึงจะขุดค้นความคิดของเขานั้นมาได้ ซึ่งในแง่นี้ผมก็ถือว่าโชคดี

ตีกรอบเหมืองกรงขังสัตว์!

อาจารย์ถวัยล์ : ศิลปินไทยที่เก่ง ๆ มีเยอะแยะ พวกนี้ทั้งหมดเขาต้องต่อสู้กับข้างนอกได้บ้าง แต่ทว่าด้วยความคับแคบของเขา คือเขาไม่กล้า คุณจะเห็นว่าส่วนใหญ่เขาเป็นข้าราชการ เมื่อคุณอายุถึง 60 ปีแล้ว คุณก็เหมือนกับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงในกรงจนแก่ แล้วทีนี้เมื่อคุณออกนอกกรงมาแล้ว คุณขาดสัญชาตญาณในการหาอาหาร ในการหลบหลีกภัย เหมือนนกที่อยู่ในกรงมันไม่กล้าร้องเพลงหรือผสมพันธุ์ เปรียบเหมือนสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอยู่ในคอก ความเร็วที่สุดของสัตว์มันมีอยู่ 2 อย่างคือ มันกำลังล่า กับมันกำลังถูกไล่ล่า ทีนี้ไอ้พวกนี้ไม่เคยล่าและไม่เคยถูกไล่ล่า รับเงินเดือนตลอดเวลาเหมือนคนอื่นเขา เหมือนไก่กระบอก คนเขาไปป้อนอาหารให้กินตลอดเวลา

ทีนี้พอคุณอายุเลย 60 ปีมาแล้วคุณจะไปสู้อะไรกับใครไม่ได้แล้ว เพราะสติปัญญาของคุณอ่อนลงไปแล้ว เพราะเขาถูกเลี้ยงจากโครงสร้างของข้าราชการ คุณไม่กล้าคิด เมื่อคุณคิดเมื่อไร คุณต้องคิดถึงเจ้านายก่อน คิดถึงอะไรต่าง ๆ แล้ว ดวงตาคุณก็ไม่หาญกล้าที่จะไปประสานกับใครเพราะว่าคุณมีครูบาอาจารย์ เขาก็มีคณบดี อธิการบดี หากคุณเป็นคณบดี เขาก็มีเจ้าทบวง เมื่อคุณเป็นเจ้าทบวงเขาก็มีรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีไปเรื่อย ผมไม่ได้อยู่ในคอบครองนี้ ผมจึงไม่สนใจเรื่องนี้ ถ้าเผื่อบอกว่าผมอยู่เมืองไทยผมก็อดตายเหมือนช่างวาดรูปทั่ว ๆ ไป คนพวกนี้เขาไม่กล้าเพราะอย่างน้อยเขาเป็นครูเขาก็มีเงินเดือนกิน

 

เข้มข้นอยู่ที่ตัวตน

อาจารย์ถวัยล์ : ความเข้มข้นของผมอยู่ที่การทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานมากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ถ้ามัวแต่แบ่งปันเวลาไปสร้างเสนาสนะบ้าง ไปเขียนกวีบ้างมันไม่ใช่หน้าที่ ผมเขียนรูปเป็นบทกวีที่ล้ำเลิศที่สุด เพราะว่าเป็นกวีที่ไม่ต้องมีภาษา คนไทยเขาอ่านภาษาไทยกัน 60 ล้านคน แล้วคนอ่านงานของผมไม่ถึง 60 คนในเมืองไทย ฉะนั้นภาษาผมเป็นภาษาดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่วงแหวนยังไม่ล้อมดาวพระเสาร์ ผมจึงเขียนรูปอย่างเดียวก็พอ บางทีรูปไม่ต้องไปใส่สี รูปของผมก็ยังอยู่ในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว ที่ถามโดยสายเลือดของศิลปินมีส่วนตกกระทบถึงลูกบ้างมั๊ย... (ดอยธิเบศร์ ดัชนี) ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันก็มีส่วนกระทบบ้าง เพราะมันเห็นพ่อเขียนรูปมาตั้งแต่เล็ก ๆ มันก็กระทบตอนเด็ก ๆ มันอยู่บนหลังของผมบ้าง อยู่ตรงหน้าอกเวลาผมเขียนรูปบ้าง มันก็นอนกลิ้งเกลือกอยู่ตรงนั้น เมื่อมันโตขึ้นมานี้มันจะหนักไปทางออกแบบหรือดีไซน์เนอร์มากกว่าจะเป็น Artists คือจิตวิญญาณของมันไม่แรงกล้าพอที่จะเป็น Artists แต่จะออกมาเป็นดีไซน์เนอร์ ไดเร็คเตอร์ เป็นมัณฑนากร พวกช่างตกแต่งออกแบบอะไรพวกนี้มากกว่า ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น”

เริงระบำกับฤดูกาลของชีวิต

อาจารย์ถวัยล์ : หัวใจสำคัญของจิตรกรหรือจิตรกรรม ผมมองว่ามันน่าจะใช้พื้น FRAME ของมันเป็นผืนจิตวิญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวตนของมนุษย์ชาติและโลก เป็นกระจกสะท้อนให้มนุษย์ชาติได้ส่องว่า จิตวิญญาณของตัวเองที่ร้องเริงไปกับฤดูกาลของชีวิตเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นรูปผมจึงสัมพันธ์กับโครงสร้างทั้งหมด ไม่ใช่ว่าผมเขียนแค่ข้าวตอก ดอกไม้ เขียนคน เขียนสัตว์ ผมเดินทางไปพร้อมกับฤดูกาลของชีวิตของโลกทั้งหมด ผมต้องเลือกที่ของผมว่ามันควรจะไปอยู่ที่ไหน หากผมอยู่ในที่แคบ ๆ ในเมืองไทย คนเขาก็ต้องการเพียงกระดาษติดผนัง ผมเขียนรูปตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ผมทำกระดาษติดผนังเป็นงานช่างฝีมือ

เมื่อโตขึ้นมางานช่างจึงเป็นบันไดขั้นต้นของผม ผมผ่านช่างมาเยอะแยะ ผมต้องการให้งานของผมมีความหมายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นกระจกสะท้อนจิตวิญญาณให้กับมนุษย์ร่วมสมัยว่าเราควรจะปฏิบัติต่อมนุษย์ต่อโลก ต่อสิ่งแวดล้อมในสภาวะปัจจุบันนี้อย่างไร เพราะโลกมันไม่ใช่งานแค่เขียนรูปฝีมือเชิงช่างอย่างเดียว มันต้องเป็นผู้ชี้นำให้คนที่จะเดินก้าวตามมาเกิดความภาคภูมิของคนรุ่นเก่า เป็นความชื่นชมของคนรุ่นเรา เป็นความทระนงของคนที่มาทีหลังว่า คนนี้เขาเป็นต้นแบบของความคิด ดูอย่างตัวเองผมเติบโตขึ้นมาในสายวัฒนธรรมล้านนา ผมเกิดที่จังหวัดเชียงราย นั่นคือวัฒนธรรมที่ 1 ที่ได้รับอันที่ 2 ผมมาถูกจุ่มในวัฒนธรรมของรัตนโกสินทร์ เพราะผมต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ วัฒนธรรมที่ 3 ผมก็ถูกจุ่มในวัฒนธรรมของเรเนสซองส์ที่ยุโรป วัฒนธรรมที่ 4 เมื่อผมจบออกมาตลอดเวลาที่ผมทำงานมา 40 ปีผมก็ทำเหมือนอย่างจิตรกร ทั้งหลายที่เขาทำนั่นคือกระจกสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมร่วมสมัย

เมื่อเป็นเช่นนั้นผมมีความ ปิติ ผมก็ เริงร้อง ผมก็ร้องไห้ ผมก็มีปริเวทนาเป็นเหมือนกับวัดความเป็นไปของสุนทรียะภาพแห่งโลก คือไม่ใช่ร้องไห้หรือปีติอย่างเดียว คือผมร้องเริงไปกับฤดูกาลของชีวิตที่ผมชี้ให้เห็น ในบางครั้งผมก็เป็นดอกไม้งาม บางครั้งผมก็เป็นมีดของหมอผ่าตัด ซึ่งชำแหละลงในบาดแผลความผิดพลาดของมนุษย์ชาติ เพราะฉะนั้นงานจิตรกรรมที่แท้จริง ก็คือการสะท้อนจิตวิญญาณให้เห็นว่ามนุษยชาติ ควรส่องกระจกดูตัวเองว่า รูปเขียนที่แท้จริงเขาสะท้อนอะไรบ้างในวิญญาณความร่วมสมัย

ผมไม่ทำงานย้อนยุค อีกอย่างผมไม่เชยผมไม่ได้ทำเพื่อเมื่อวาน หรือผมไม่ทำเพื่อพรุ่งนี้ ที่พูดถึงอนาคต ผมทำปัจจุบันของผมให้ดีให้ล้ำเลิศที่สุด อีกอย่างที่ผมอยากจะฝากทิ้งท้ายเพื่อเรียกร้อง คือเอาขนมไข่เหี้ยของผมคืนมา เอาไข่หงส์คืนไป คือขนมไข่เหี้ยรูปร่างมันเหมือนไข่เหี้ยจริง ๆ มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งผมเห็นเขาเลี้ยงนก ที่บ้านผมเขาเรียกนกวิจิลิวที่นี่เขาเรียกนกปรอดหัวโขน คนไปเรียกผิดหมดว่านกกรงหัวจุก ผมอยากได้คำว่าปรอดหัวโขนของผมคืนมา ผมอยากได้ไข่เหี้ยของผมคืนมา แล้วเอาไข่หงส์คืนไป

 

บทสรุปเรื่องไข่เหี้ย ยังเป็นประเด็นทิ้งท้ายให้ได้ขบคิด นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของศิลปินล้านนา ผู้อหังการ ด้วยผลงานอันยิ่งใหญ่ ทำตัวเรียบง่ายไว้ผมยาวหนวดขาวเครารุงรัง แขวนเขี้ยวสัตว์ระเกะระกะสะพายกระเป๋า สวมรองเท้ายาง แต่ทว่าคมความคิดในมโนสำนึกประกาศก้องถึงโคตรเหง้าวัฒนธรรมไทยให้ชาวโลกได้เสพ งานศิลป์ของเขากลับเปล่งรังสีรัศมีเป็นประกาย อย่างน่าเกรงขาม

Photo : ปุยฝ้าย

ถวัลย์ ดัชนี : The Greatest Artist of All Time ศิลปินผู้อยู่ในใจของทุกคน | Issue 162