Body Heat : พิศวาสฆาตกรรม

Body Heat : พิศวาสฆาตกรรม

ย้อนหลังกลับไปยังช่วงระหว่างปี 1980-1981 ลอว์เรนซ์ คาสดาน ในวัย 30 เพิ่งเริ่มทำงานเขียนบทหนังได้ไม่นาน และประสบความสำเร็จโด่งดังในชั่วข้ามคืน จากผลงานฮิตถล่มทลาย 2 เรื่องที่ออกฉายระยะใกล้เคียงกัน นั่นคือ The Empire Strikes Back และ Raiders of the Lost Ark

ความสำเร็จท่วมท้นล้นหลามดังกล่าว ส่งผลให้ชื่อของคาสดานเป็นที่หมายปองของผู้สร้าง-ผู้กำกับหลาย ๆ ราย ได้รับข้อเสนอดี ๆ และการทาบทามจำนวนมาก แต่เขาก็ตอบปฏิเสธไปหมด พร้อมทั้งตัดสินใจเสี่ยง เลื่อนขั้นมาจับงานกำกับหนังที่เขาเขียนบทเอง

หนังเรื่องนั้นคือ Body Heat

นอกจากความเสี่ยงในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ ยังไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ มาก่อนแล้ว ความน่าหวาดหวั่นประการต่อมาก็คือ คาสดานเลือกทำหนังเรื่องแรก ‘สวนกระแส’ เป็นงานในแนวทางฟิล์มนัวร์ ซึ่งขณะนั้นผู้สันทัดกรณีทั้งหลายประเมินว่า เป็นแนวหนังที่เก่า พ้นยุคพ้นสมัย และว่างเว้นห่างหายไม่มีการสร้างมาเนิ่นนานหลายสิบปี (อันที่จริงยังมีหนังฟิล์มนัวร์ปรากฏให้เห็นบ้างนาน ๆ ครั้ง แต่มันไม่เคยประสบความสำเร็จถึงขั้น กลับมาได้รับความนิยม จนเกิดเป็นกระแสและมีการสร้างติดตามมาอย่างต่อเนื่อง)

ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) เป็นตระกูลหนังที่ได้รับความนิยมและเฟื่องฟูสุดขีดในช่วงทศวรรษ 1940 จุดเริ่มต้นนั้นเกิดจากความเบื่อหน่ายอิ่มตัวของผู้ชมที่มีต่อหนังอาชญากรรม (ซึ่งสร้างออกมาเยอะมากในช่วงทศวรรษ 1930) บรรดาสตูดิโอจึงพยายามค้นหาและสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมาทดแทนเรื่องอาชญากรรม โดยเปลี่ยนจากการเล่าถึงขบวนการอันธพาลมิจฉาชีพ มาเป็นเรื่องของตัวบุคคล เช่น นักสืบเอกชนหรือคนธรรมดาสามัญที่ลุ่มหลงในตัณหาราคะ จนถลำลึกก้าวสู่เส้นทางเปื้อนบาป พร้อม ๆ กันนั้นก็ปรุงแต่งประดิดประดอยงานด้านภาพและองค์ประกอบอื่น ๆ ของหนัง เพื่อขับเน้นความลึกลับ ความชั่วร้าย การล่อลวง ความลับที่ซ่อนเร้น ความไม่น่าไว้วางใจ  ที่มีอยู่ตามท้องเรื่องให้เด่นชัดยิ่ง ๆ ขึ้น

ลักษณะเด่นของหนังฟิล์มนัวร์ จึงประกอบขึ้นจาก 2 ส่วน คือ เนื้อหาเรื่องราวและสไตล์การนำเสนอ

อย่างแรกนั้น นิยามโดยรวบรัดได้ว่า ฟิล์มนัวร์เป็นโลกที่บรรยากาศโดยรอบ มุ่งแสดงความขัดแย้งตรงข้ามระหว่างความดีกับความเลว แต่ผู้คนที่อยู่ในโลกใบนั้นล้วนเป็น ‘คนสีเทา’ ไม่มีใครบริสุทธิ์ผุดผ่องไปเสียทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครชั่วช้าชนิดเลวไร้ที่ติ ทุกคนมีด้านสว่างและด้านมืดปะปนกัน และสามารถจะโน้มเอียงเข้าหาด้านใดด้านหนึ่งได้ตลอดเวลา สุดแท้แต่ความเข้มแข็งในจิตใจและภูมิต้านทานต่อสิ่งเย้ายวน

ด้วยพล็อตเรื่องที่มุ่งตีแผ่สะท้อนด้านลบของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความโลภโมโทสัน ความทะเยอทะยานอยากได้ใคร่มี การทรยศหักหลัง การติดบ่วงลุ่มหลงในกามารมณ์จนชีวิต (ทั้งของตนเองและผู้อื่น) พังพินาศย่อยยับ ฯ สาระสำคัญของหนังประเภทนี้ จึงเข้าข่ายการเสนอแบบอย่างของภาพด้านลบและความชั่วร้ายเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนดู

ส่วนในด้านรูปแบบวิธีการนำเสนอ ฟิล์มนัวร์มักจะใช้เวลากลางคืนเป็นฉากหลัง เหตุการณ์ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในห้องที่ทึบทึมมีแสงจำกัด เน้นแสงเงาที่ลอดผ่านบานเกล็ด เน้น Contrast ของแสงเงา หากเป็นฉากภายนอก ก็มักจะเป็นภาพท้องถนนสายเปลี่ยวที่ชื้นแฉะ คลุมเครือไปด้วยหมอกควัน และแสงไฟสลัว ใช้ประโยชน์จากความเป็นหนังขาวดำกันอย่างเต็มที่ (ในเวลาต่อมา หนังฟิล์มนัวร์หลายเรื่อง ถ่ายทำเป็นหนังสี แต่ก็ยังคุมบรรยากาศให้ออกมาเป็นโมโนโทนและใกล้เคียงกับหนังขาวดำอย่างเคร่งครัด)

งานด้านภาพที่ปรุงแต่งอย่างจัดจ้านเหล่านี้ เป็นต้นตอที่มาทำให้เกิดคำศัพท์เรียกขาน (โดยบรรดานักวิจารณ์หนังชาวฝรั่งเศส) ว่า Film Noir หรือ หนังที่มีสีดำ

ลักษณะปลีกย่อยรองลงมาของงานประเภทนี้ คือ มันมีกลิ่นอายแบบเรื่องแต่งหรือนิยายประโลมโลกย์ (แบบย้อนยุคนิด ๆ) อย่างจะแจ้ง ตัวเหตุการณ์มักเต็มไปด้วยสถานการณ์หวือหวาโลดโผน มีสีสันเข้มข้นจัดจ้าน, บทสนทนาเจรจา ที่เน้นการโต้ตอบกันแบบเชือดเฉือน คมคาย ประดิดประดอย และซ่อนนัยสองแง่สองง่าม (โดยเฉพาะการแฝงความหมายพาดพิงถึงเรื่องทางเพศ)

คุณสมบัติข้างต้น น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้หนังฟิล์มนัวร์ กลายเป็นของเก่าโบราณวัตถุไป เมื่อเวลาคล้อยเคลื่อน สังคมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปไกล และแนวโน้มของหนังส่วนใหญ่มุ่งเน้นการนำเสนอที่สมจริงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฟิล์มนัวร์ก็ยังคงมีที่ทางให้หยัดยืนมากเพียงพอในโลกภาพยนตร์ เพราะถึงแม้ว่าหน้าตาภายนอกจะแลดูเก่า ห่างไกลจากความสมจริง แต่จุดแข็งอย่างหนึ่งที่มีอยู่เสมอมา นับแต่แรกถือกำเนิดขึ้นจนถึงปัจจุบันก็คือ การสะท้อนถึงนิสัยใจคอด้านลึกของตัวละครอย่างถี่ถ้วนและสมจริง

Body Heat ของลอว์เรนซ์ คาสดาน เป็นส่วนผสมที่เหมาะเจาะ ระหว่างการแสดงความคารวะต่อหนังฟิล์มนัวร์ในอดีต โดยยึดถือดำเนินรอยตามขนบจารีตต่าง ๆ ของหนังตระกูลนี้อย่างครบถ้วน ชวนให้ผู้ชมรำลึกถึงคืนวันอันแสนงามแต่เก่าก่อน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะปรุงโฉมให้แลดูร่วมร่วมสมัย (ส่วนนี้ปรากฏให้เห็นผ่านฉากหลัง เสื้อผ้า และงานกำกับศิลป์)

พล็อตคร่าว ๆ ของหนัง จัดอยู่ในเค้าโครงแบบ ‘พิศวาสฆาตกรรม’ ซึ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยอย่างหนึ่งของฟิล์มนัวร์ที่ได้รับความนิยมมาก 

โครงเรื่องแบบนี้ มีหนังเรื่อง Double Indemnity งานคลาสสิกปี 1944 ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นหนึ่งในหนังฟิล์มนัวร์ที่ดีที่สุดตลอดกาล กำกับโดยบิลลี ไวล์เดอร์ เป็นต้นแบบสำคัญ พล็อตของ Body Heat แทบว่าจะเป็นการหยิบมารีเมคใหม่เสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น เงื่อนปมหลัก ไปจนถึงบทสรุปลงเอย ทั้งหมดใกล้เคียงกันมาก

สิ่งที่แตกต่างอยู่ในรายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมดของ Body Heat ซึ่งเป็นอีกเรื่องราวใหม่ที่ผิดแผกจากเดิม และมีความเป็นตัวเองเด่นชัด

หนังเล่าถึงทนายหนุ่มชื่อเน็ด เรซีน ผู้มีวิธีการทำงานแบบก้ำกึ่งไม่สะอาดโปร่งใสนัก รวมทั้งชีวิตส่วนตัวที่ใช้เสน่ห์และรูปลักษณ์ มีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดกับหญิงสาวมากหน้าหลายตา

จนวันหนึ่งเน็ดก็ได้พบและรู้จักกับสาวสวยเสน่ห์ร้อนแรงชื่อแม็ตตี วอล์คเกอร์ ไม่นานต่อมาทั้งคู่ก็ลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว แม็ตตีไม่มีความสุขในชีวิตแต่งงานกับสามีวัยชราฐานะร่ำรวย เธอต้องการหย่าร้าง แต่ข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนแต่ง จะทำให้เธอไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ 

ความลุ่มหลงระหว่างเน็ดกับแม็ตตี ทวีเพิ่มดูดดื่มลึกซึ้ง จนนำไปสู่แผนการสมคบคิดลงมือฆาตกรรมสามีของฝ่ายหญิง เพื่อครอบครองมรดกตามพินัยกรรม และกำจัดอุปสรรคกีดขวางเส้นทางรัก

ข้างต้นเป็นเหตุการณ์ราว ๆ ครึ่งเรื่องแรกของหนัง และเรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นไปจนจบ ก็ไม่ได้เป็นความลับเข้มงวดแต่อย่างไร? ผู้ชมสามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ถึงบทสรุปบั้นปลายทั้งหมด ตั้งแต่ติดตามไปไม่กี่นาทีแรก ๆ ที่ตัวเอกทั้งสอง (หญิงร้ายกับผู้ชายจิตใจอ่อนแอ) ได้พบกัน

ความลับ ความเข้มข้น ความสนุก ความลุ้นระทึกเร้าใจ อยู่ที่การค่อย ๆ เผยแสดงให้เห็นถึงการวางแผน การลงมือฆาตกรรม การสร้างพยานหลักฐานแวดล้อมให้พ้นผิดจากข้อสงสัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และที่สำคัญคือ การค่อย ๆ เผยให้เห็นถึงเงื่อนงำหลายซับหลายซ้อน ที่ตัวละคร ‘หญิงร้ายชายเลว’ ทรยศหักหลังหลอกลวงกันเองอย่างเหนือชั้นและแยบยล

พูดง่าย ๆ คือ ความประหลาดใจของผู้ชม ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์บั้นปลาย แต่อยู่ที่กรรมวิธีในระหว่างทางที่เต็มไปด้วยการล่อหลอกและลูกล่อลูกชนมากมาย ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดขยับเคลื่อนไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร?

Body Heat สามารถเป็นได้ทั้งหนังที่น่าเบื่อมาก ๆ เท่า ๆ กับสนุกสุด ๆ นะครับ พูดแบบติดลบ มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องเดินหน้ารวบรัดฉับไว แต่ทุกฉากทุกตอน เต็มไปด้วยบทสนทนาที่ตัวละครตีฝีปากเล่นสำนวนโวหาร มีจังหวะลีลาอ้อยอิ่งเนิบนาบ ปราศจากการเร่งเร้าอารมณ์กระชากกระชั้น แต่ในทางตรงข้าม ถ้าผู้ชมสามารถเพลิดเพลินไปกับภาษาพูดที่เจตนาปรุงแต่งให้คมคาย และเพลิดเพลินไปกับการวางแผน ชิงไหวชิงพริบของตัวละคร นี่คือ หนังที่บันเทิงมาก ๆ

พูดอีกแบบ มันเป็นเรื่องแนว ‘พิศวาสฆาตกรรม’ ที่โน้มเอียงมาทางสายบุ๋น มากกว่าสายบู๊

มีองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังนำมาใช้อย่างได้ผล จนกลายเป็นหนังฟิล์มนัวร์สมัยใหม่อย่างเต็มที่ นั่นคือ เลิฟซีน ฉากเปลือย และความเป็นหนังอีโรติกแบบไม่หนักมือ 

ในยุครุ่งเรืองของหนังฟิล์มนัวร์ช่วงทศวรรษ 1940 ประเด็นและแง่มุม
เหล่านี้ มีอุปสรรคข้อจำกัดมากมาย จนไม่อาจนำเสนอในหนัง ได้แต่เพียงสื่อสารแบบอ้อม ๆ พอให้ผู้ชมทราบเป็นนัย ๆ

ตรงนี้ส่งผลให้เมื่อแรกออกฉาย  ฉากรักต่าง ๆ ใน Body Heat เป็นที่กล่าวขวัญอึงคะนึงมากถึงดีกรีความร้อนแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไป และมาดูกันในปัจจุบัน หนังประเภท Erotic Thriller หลายเรื่องที่ต่อยอด คลี่คลาย และได้รับอิทธิพลจากงานชิ้นนี้ ก็ส่งผลให้แง่มุมอีโรติคใน Body Heat กลายเป็นปกติธรรมดา ไม่ดุเดือดเร่าร้อนเหมือนที่เคยรู้สึกกัน (แต่ยังคงได้ผลเต็มเปี่ยมในด้านความงาม ความเซ็กซีเย้ายวน และบทบาทหน้าที่สำคัญในการเล่าสะท้อนให้เห็นถึงการติดกับดักลุ่มหลงของตัวละครเน็ด เรซีน) รวมทั้งพลังทำลายล้างระดับรุนแรงของดาราหน้าใหม่อย่างแคทลีน เทอร์เนอร์ ซึ่งแจ้งเกิดได้อย่างสวยงามจากบทแม็ตตี วอล์คเกอร์

เมื่อแรกออกฉาย Body Heat ประสบความสำเร็จมากในด้านรายได้ ขณะที่เสียงวิจารณ์โดยรวมได้รับคำชื่นชม แต่ก็มีนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งโจมตีหนังเรื่องนี้อย่างสาดเสียเทเสีย เป็นเสียงตอบรับที่ไม่เป็นเอกฉันท์อยู่บ้างเล็กน้อย

แต่ล่วงเลยมาถึงตอนนี้ Body Heat ก็ผ่านการพิสูจน์โดยวันเวลาไปเรียบร้อยแล้ว และขึ้นหิ้งให้ติดกลุ่มหนังฟิล์มนัวร์ยุคใหม่ในระดับคลาสสิก

 

TEXT :  นรา

#mixmagazinethailand #VivaErotica #นรา