ต้องปวดหัว

ต้องปวดหัว

การซื้อขายของมือสองในยุคปัจจุบัน เรามักเห็นเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทว่าหากไม่ระมัดระวัง การซื้อขายของบางอย่างอาจนำพาคดีความมาหาเราก็เป็นได้ เหมือนอย่างที่พีได้เจอกับตัวเอง

พี หนุ่มพนักงานบริษัทเอกชน มีรถอยู่คันหนึ่งซึ่งใช้ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เนื่องจากเขาใช้รถคันนี้มาหลายปี และวันนี้เขาพอมีเงินเก็บก้อนหนึ่งก็อยากจะเปลี่ยนรถใหม่เพราะคันเดิมที่ใช้อยู่นั้น ต้องซ่อมอยู่เป็นประจำ เรียกได้ว่าสามวันอยู่บ้าน สี่วันอยู่อู่ก็ว่าได้

เขาจึงตัดสินใจประกาศขายรถทางอินเตอร์เน็ต เพื่อหวังจะได้ราคามากกว่าเต็นท์รถเสียหน่อย และเมื่อประกาศไปไม่นานก็มีผู้ต้องการซื้อติดต่อเข้ามาอยู่หลายราย แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่ตัดสินใจขาย หลัก ๆ เป็นเพราะตกลงเรื่องราคากันไม่ได้

จนกระทั่งเขาเจอกับรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งไม่ได้พบกันนานมากแล้ว รุ่นพี่คนนี้เป็นคนที่รู้จักคนเยอะ เขาจึงแนะนำผู้ซื้อให้รายหนึ่ง ซึ่งเมื่อสอบถามเรื่องราคา และตรวจสอบรถแล้ว ก็ตกลงซื้อขายกันแต่ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด

การซื้อขายผ่านไปได้ด้วยดี ในวันนั้นผู้ซื้อได้ชำระเงินให้ทั้งหมดและพีก็ส่งมอบรถให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน อีกทั้งมีการโอนลอยในเอกสารโอนรถ และใบมอบอำนาจแล้ว หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันมีตำรวจมาที่บ้าน และกล่าวหาว่าเขาขับรถชนคนเสียชีวิต

พีตกใจมาก เพราะเขาได้ขายรถคันนั้นไปแล้ว แต่พูดอย่างไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เชื่อ เพราะเขาไม่สามารถแสดงหลักฐานการซื้อขายได้ 

Q :    เอาละครับ เรื่องราวเป็นแบบนี้ เขาจะทำอย่างไร และจะมีความผิดหรือไม่ 
A :    จากข้อเท็จจริงพีได้ขายรถไปแล้วแต่ไม่ได้มีสัญญาซื้อขายรถแต่อย่างใด ถึงแม้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ คือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้เช่นรถยนต์ หลักของสัญญามิได้กำหนดแบบให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่ประการใด เมื่อผู้ขายได้โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อแล้ว และผู้ซื้อก็ได้จ่ายค่าตอบแทนไปครบถ้วนแล้ว สัญญาซื้อขายก็เสร็จสมบูรณ์ เมื่อผู้ซื้อยังไม่ไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนชื่อจึงยังเป็นของผู้ขายอยู่เมื่อตำรวจทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าวไปประสบเหตุชนคนตาย เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าเป็นรถของพีจึงกล่าวหาว่าเขาขับรถชนคนตาย ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้กระทำความผิดก็ตาม แต่ก็ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็ต้องหาพยานหลักฐานแสดงว่าตนเองไม่ใช่ผู้กระทำความผิด

กรณีดังกล่าวจึงเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่ขายรถยนต์และโอนลอย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกระบุความหมายของการโอนลอยไว้คือ การที่เจ้าของรถได้ขายรถของตนแล้วและกระทำการลงนามในเอกสารการโอนรถ และใบมอบอำนาจให้แก่ผู้ซื้อโดยยังมิได้มีการดำเนินการทางทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง 

ดังนั้นหนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะระบุรายละเอียดข้อมูลของผู้ซื้อขาย และยังมีข้อมูลของการซื้อขายไว้ด้วยเช่น วันที่ ราคา ใครรับผิดชอบเรื่องการโอน หรือหากมีการมัดจำ จำนวนเท่าใด มีการชำระเงินและได้รับทรัพย์สินนั้นแล้ว และทั้งสองฝ่ายต้องถือสัญญาที่ถูกต้องตรงกันไว้คนละหนึ่งฉบับ เพื่อแสดงอ้างในกรณีเมื่อผู้ซื้อทรัพย์สิน (รถยนต์) ได้นำไปใช้ประโยชน์และเกิดอุบัติเหตุ หรือใช้ในการกระทำความผิดกฎหมาย อีกทั้งในกรณีผู้ขายเองที่ไม่สุจริตอาจไปแจ้งว่า รถยนต์ของตนเองหายก็ได้

สรุปถึงแม้ว่าพีจะไม่มีความผิดแต่ต้องได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอนครับ ดังนั้นการซื้อขายรถยนต์ทุกครั้งต้องทำสัญญาซื้อขายไว้ครับ เพราะอย่างน้อยเมื่อเกิดปัญหาก็สามารถนำมายืนยันความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินนั้นอยู่ในความครอบครองของใครได้ 

WORD OF WISDOM

กฎหมายนอกจากจะมีไว้คุ้มครองผู้บริสุทธิ์แล้วบางครั้งก็ส่งผลร้ายให้กับผู้บริสุทธิ์ได้เช่นกัน นิติธัช

เพราะขายรถแบบโอนลอย