เวณิกา บุนนาค

เวณิกา บุนนาค

เรื่องราวของนาฏศิลป์ไทยนับได้ว่าเป็นศิลปะชนิดหนึ่งที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทย สร้างความบันเทิงด้วยการรำ โดยมีดนตรีและการขับร้องในแบบฉบับของตัวเองถูกสืบทอดกันมาอย่างยาวนานรุ่นต่อรุ่น จนมาถึงปัจจุบันครูเวณิกา บุนนาค เองก็ได้รับการถ่ายทอดนาฏศิลป์ชั้นสูงมาจากบรมครูหลายท่าน ทำให้มีความเชี่ยวชาญในการรําและนาฏศิลป์ไทย หรือแม้แต่การรับบทบาทตัวละคร สำคัญเช่น พระราม พระลักษมณ์ พระสังข์ อิเหนา ปันหยีฯลฯ จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) ปีพ.ศ.2558 ที่ผ่านมาทั้งชีวิตท่านบ่มเพาะสอนลูกศิษย์มานับไม่ถ้วน วันนี้เราจึงพาไปรู้จักเรื่องราวชีวิตและแง่มุมของนาฏศิลป์ไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ในวัยเด็กครูเวณิกา บุนนาค เกิดที่ฝั่งธนบุรีอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง โดยคุณพ่อเป็นข้าราชการบำนาญ สำนักพระราชวัง คุณแม่เป็นข้าราชการครู ท่านเริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนสุวรรณวิทย์ซึ่งอยู่แถวบ้าน เมื่อเรียนจบก็ไปต่อชั้นประถมที่โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ เชิงสะพานพุทธ ฝั่งธนบุรี 

ที่โรงเรียนแห่งนี้เองครูเวณิกาได้ทำกิจกรรมหลายอย่างตั้งแต่เรื่องของการได้รับเลือกให้แสดงละครเวทีโดยรับเลือกให้เป็นสโนไวท์ ได้เรียนดนตรีโดยเฉพาะเปียโน แต่เรื่องความชอบนาฏศิลป์ไทยอย่างจริงจังมาจากคุณยายที่เลี้ยงพาไปดูลิเกแล้วชอบการแสดงลักษณะนี้มาก ท่านจึงตั้งเป้าหมายต่อไปว่าจะเรียนทางด้านนาฏศิลป์อย่างเดียว

“รู้สึกว่าตัวเองชอบนาฏศิลป์มากก็เลยคิดว่าถ้าเข้าเรียนทางด้านนี้ก็คงจะไปได้ดี พอจบชั้นประถมศึกษาก็อยากมาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป (ปัจจุบันสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์) โดยก่อนหน้าที่จะได้เข้าเรียนครูมีโอกาสรู้จักกับหม่อมอาจารย์ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ท่านก็บอกว่าถ้าชอบการรำก็ให้มาเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลปดูสิ ที่นี่เขาไม่ได้สอนรำอย่างเดียว แต่มีเรียนหนังสือเหมือนโรงเรียนทั่วไปด้วย พอท่านพูดอย่างนี้ครูก็เลยมาสอบ สมัยนั้นนอกจากจะสอบเรื่องของวิชาพื้นฐานแล้วยังสอบเรื่องของศิลปะด้วยว่าเรามีความสามารถทางด้านนี้มากน้อยแค่ไหน

“ในสมัยก่อนเรื่องของนาฏศิลป์ยังไม่เป็นที่ยอมรับนักมีคนทักท้วงเรื่องการเลือกเส้นทางการเรียนตลอด อย่างมีคนบอกว่าเป็นการเต้นกินรำกินคุณพ่อคุณแม่ให้ไปเรียนได้อย่างไร เราก็บอกว่าไม่ใช่นะคะเขาเรียนหนังสือด้วยและการเรียนศิลปะเป็นวิชาชีพก็พยายามอธิบายให้คนอื่นเข้าใจ

“ตอนเข้ามาครั้งแรกทางโรงเรียนเขาจะให้เราเลือกว่าจะเรียนนาฏศิลป์ไทย-สากล ขับร้องเพลงไทย-สากล และเล่นดนตรีไทย–สากล แต่ด้วยความที่เราชอบรำก็เลยเรียนนาฏศิลป์ไทย แต่ถ้าเรียนรำครูเขาแนะนำว่าควรจะร้องเพลงไทยให้เป็นเพราะว่ามันเกี่ยวข้องกัน ทำให้เวลารำรู้ว่าเพลงนี้มีกี่จังหวะต้องให้เป็นลักษณะนั้นนี้ แล้วจำเป็นต้องพากย์โขนให้ได้ เหตุผลคือเมื่อมีการแสดงเช่นเรื่องจันทกินนรี ตัวครูได้รับเลือกให้เป็นท้าวพรหมทัตก็ต้องร้องเองแล้วก็พากย์โขนด้วยการแสดงถึงจะสมบูรณ์ 

“การเรียนนาฏศิลป์สมัยก่อนนอกจากเรียนปกติกันในห้องก็ต้องรู้จักเอาความรู้ที่เราได้มาไปฝึกเองที่บ้านด้วยเพราะว่านาฏศิลป์ถ้าไม่ได้ฝึกแล้วจะลืม เราต้องไล่เพลงเองต้องรู้จักการตั้งตัวให้ตรงตามลักษณะพระนาง แล้วต้องใช้ลำตัวให้เป็น พระกับนางและยักษ์ก็จะไม่เหมือนกันเราต้องจำให้ได้ เพราะหลักสูตรไม่มีหนังสือครูจะรำแล้วให้เราจดเองเพราะจะได้จำแม่นกว่า บางคนอาจเรียนที่โรงเรียนอย่างเดียวแล้วไม่ไปซ้อมที่บ้านก็ได้แค่นั้น เวลาสงสัยอะไรก็กลับมาถามครูตลอด”

ครูเวณิกาเรียนอยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลปในหลักสูตร 11 ปี จนจบการศึกษา หลังจากนั้นท่านไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีจนจบปริญญาศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ด้วยความรู้ในวิชานาฏศิลป์ที่มีและไม่อยากให้หายไปจึงกลับมาสอบเป็นครูสอนที่โรงเรียนนาฏศิลปที่ท่านเคยศึกษามาตั้งแต่ต้น

“ชีวิตของการเป็นครูช่วงแรกเขาจะให้ไปสอนเด็กในระดับที่ต่ำกว่าปริญญา เด็กในวัยนี้เราต้องใช้วิธีการสอนตามความสามารถของเขา คือเราจะไม่ให้ความรู้เขาเยอะเพราะถ้าเยอะเกินไปเขาจะรับไม่ได้ อาจทำให้เบื่อหน่ายกับการเรียน แต่ถ้าสอนในระดับที่สูงขึ้นไปอีกหน่อย เราจะดูว่าควรจะสอนอะไรแล้วเขามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าสนใจน้อยเราก็ไม่ให้เพราะให้ไปมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเด็กคนไหนสนใจมากเราก็ให้ไปมาก

“โดยแม่แบบของนาฏศิลป์ที่ครูได้เรียนนั้นก็มาจากแม่มุล (ครูลมุล ยมะคุปต์) ซึ่งท่านเป็นครูที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากวังสวนกุหลาบ โดยร่วมกับอาจารย์หลายท่านตั้งหลักสูตรนาฏศิลป์ไทยขึ้นมา ซึ่งครูเองเวลาสอนลูกศิษย์จะใช้แนวทางของแม่มุลเป็นหลักเอามาจากแม่มุลทุกเพลง แต่คนอื่นเขาอาจไม่ได้สอนตามแนวทางนี้ก็อาจทำให้ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง เวลาที่สอนเด็กเราต้องเตรียมการสอนว่าวันนี้จะสอนอะไร อย่างตอนกลางคืนครูต้องทำการบ้านคือเอาหลักสูตรที่แม่มุลถ่ายทอดมาอ่านทบทวนแล้วรำเพื่อให้เข้าเพลงการสอนในวันรุ่งขึ้นจะได้ไม่ผิดพลาด 

“แต่ครูคิดว่าถ้าเทียบอดีตกับปัจจุบัน หลักสูตรปัจจุบันจะมีความยากขึ้นเพราะว่าบทเรียนที่เขาบรรจุเข้ามาเป็นละคร เป็นชุด เป็นตอน ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้มข้นก็สรุปว่าที่ต้องเรียนแบบนี้เพราะนักศึกษานั้นเรียนในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท ต้องมีความรู้มากกว่าเด็กชั้นเล็ก การฝึกฝนจึงต้องยากขึ้นแต่บางคนเรียนในห้อง พอออกไปแล้วไม่ได้สนใจก็มี หรือบางทีเรียนอยู่ดี ๆ เด็กหายไปเลยก็มีก็ต้องให้เพื่อนไปตามกลับมาทั้งที่จะสำเร็จอยู่แล้ว

“ทุกวันนี้เด็กที่มาเรียนไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะคนมาเรียนในยุคเก่าจะมีความรักในนาฏศิลป์ไทยจริง ๆ แล้วครอบครัวจะค่อนข้างสมบูรณ์ให้การสนับสนุน แต่เดี๋ยวนี้เด็กที่มาเรียนครอบครัวอาจไม่ได้สมบูรณ์นัก เขาอาจต้องหาเงินเรียนเอง บางคนต้องเลี้ยงพ่อแม่ เช่นเวลาพวกเขารำเป็นก็จะไปเล่นงานนอกตามห้องอาหารคือแสดงนาฏศิลป์เพื่อเงิน แต่ถ้าไปเล่นงานสำคัญของทางราชการเราก็ต้องคัดเลือกคนที่มีความสามารถจริง ๆ ไปเล่น”

อาชีพครูสำหรับครูเวณิกานั้นเรียกได้ว่าท่านทุ่มเททั้งกายและใจในการสอนนาฏศิลป์ไทยมาแทบทั้งชีวิตจนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วก็ถึงวันที่ต้องปลดเกษียณ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็คงกลับบ้านไปนอนพักผ่อนสบาย ๆ แต่ด้วยท่านยังรักในอาชีพและวิชานาฏศิลป์อย่างลึกซึ้ง จึงยังอยากถ่ายทอดความรู้ที่มีแก่ลูกศิษย์ แม้ปลดเกษียณไปแล้วก็สอบกลับเข้ามาเป็นครูที่วิทยาลัยนาฏศิลป์หรือสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อีกครั้ง

“หลังจากที่ปลดเกษียณก็มีความคิดว่าอยากกลับไปเป็นครูอีกครั้ง ในสมัยนั้นอาจารย์กมล สุวุฒโฑ เป็นอธิการบดี พอดีท่านเปิดรับสมัครผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย เราก็เลยสมัคร แต่ไม่ใช่ว่ารอบนี้จะเข้ามาได้ง่าย ๆ เพราะต้องผ่านการสอบแข่งขันคือสอบใหม่ทั้งเรื่องของหนังสือและเรื่องของการรำซึ่งก็สอบผ่านมาเป็นครูได้อีกครั้ง

“เหตุผลที่กลับมาเพราะเรายังรักในสิ่งที่เราทำ แล้วสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเราเคยสัญญากับแม่มุล (ครูลมุล ยมะคุปต์) เอาไว้ว่าจะเอาความรู้ที่แม่มุลให้มาถ่ายทอดไปสู่เด็กที่เข้ามาเรียนให้มากที่สุดเพราะความรู้เรามีเยอะต้องแบ่งให้คนรุ่นหลังบ้าง ความรู้ที่เรามีถ้าไม่ได้เผยแพร่มันก็จะตายไปกับตัวเรา

“แต่เชื่อไหมเดี๋ยวนี้วิชานาฏศิลป์มันไม่เหมือนแต่ก่อน ที่มีอนุรักษ์คือการรักษาแบบดั้งเดิมพัฒนาและสร้างสรรค์  เดี๋ยวนี้การสอนอนุรักษ์มันไม่ค่อยเหมือนเดิมอาจเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนไป อย่างเช่น รูปแบบการรำก็แตกต่างจากสมัยก่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพยายามสอนในรูปแบบเดิมให้มากเท่าที่จะทำได้

“การเรียนนาฏศิลป์เพื่อให้เข้าใจศาสตร์ด้านนี้แบบลึกซึ้งจริง ๆ ครูแนะนำว่าต้องทำความเข้าใจตั้งแต่เด็ก เพราะว่าเด็กถ้าเขาสนใจ เขาจะอยากเรียนด้วยตัวเองไม่ต้องบังคับ ก็เริ่มเรียนตั้งแต่ท่าง่าย ๆ อย่างรำวงเพลงที่มีทำนองเร้าใจ ใครถามเขาก็ตอบได้
แล้วก็ภูมิใจ ถ้าเขารักทางด้านนาฏศิลป์แล้วจะเรียนอะไรต่อไปมันก็ง่าย”

โดยปกติแล้วศาสตร์วิชานาฏศิลป์นั้นมีหลายประเภทอย่าง ฟ้อน รำ ระบำ โขน มีละครโขน ละครแบ่งออกเป็นละครนอก ละครใน ละครพันทาง และละครดึกดำบรรพ์ เมื่อกาลเวลาผ่านบางอย่างได้ปรับเปลี่ยนไป บางอย่างคงอยู่ในรูปแบบเดิม แต่ก็มีที่สูญหายไปแล้วอย่างละครในที่เคยมีการแสดงเฉพาะในวัง

“การแสดงที่ครูถนัดมากที่สุดคือละครใน เพราะว่าจากเดิมครูเล่นละครในมาก่อนซึ่งมีไว้สำหรับเจ้านาย การดูละครในเขาไม่ได้ดูที่เรื่องแต่เขาดูท่ารำกับเพลงที่เพราะ ละครในต่างจากละครนอกคือละครนอกจะรวดเร็วกว่าแล้วการพูดจาตัวพระเจ้าแผ่นดินเล่นกับเสนาสามารถพูดกันได้ แต่ละครในไม่ใช่มันเป็นแบบแผนของตัวละครพระมหากษัตริย์ที่จะไม่เล่นอะไรกับตัวที่ต่ำลงมาแล้วการจะพูดสุภาพสละสลวย เพลงที่บรรจุก็ช้าแต่สมัยนี้เปลี่ยนไปคนส่วนใหญ่ต้องการความรวดเร็วทำให้ค่อย ๆ หายไปหรือตายไปเลยคือไม่มีการแสดงแล้ว 

“โดยหลักแล้วการจะแสดงละครสักเรื่องหนึ่งต้องประกอบด้วยเรื่องที่เราจะเล่นต้องรู้ว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของใคร แล้วเรื่องตอนนี้มีความสำคัญอย่างไร ต้องรู้ว่าเราแสดงเป็นตัวอะไรจากนั้นก็ไปอ่านหนังสือเพื่อหาข้อมูลว่าอุปนิสัยตัวละครที่เราเล่นเป็นอย่างไรบ้าง อย่างเช่นอิเหนา เราก็ต้องอ่านดูว่าเขาเป็นคนมีอุปนิสัยแบบไหน ทำไมถึงเจ้าชู้มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้ 

“เมื่อพอเข้าใจเรื่องราวเบื้องต้นก็จำเป็นต้องอ่านบทแล้วต้องท่องบทให้ได้ด้วย เพราะบทมันต่อเนื่องกันกับคนอื่นอย่างเช่นว่า การรำ มณฑาลงกระท่อมซึ่งเป็นละครดึกดำบรรพ์ เราต้องร้องเองบทมันถึงจะต่อเนื่อง แต่ถ้าเราไม่ท่องบทของคนก่อนก็จะทำให้ต่อบทไม่ถูก คือต้องท่องให้ได้แล้วควรจะร้องเพลงให้ได้ ทำไมต้องร้องเพลงเพราะถ้าเราร้องไม่ได้เราจะรำไปก่อนหนึ่งจังหวะลีลาท่ารำอาจผิดพลาดหรือไม่สวยงามได้

“แล้วเรื่องของการรำนั้นความจริงตัวละครมันต้องเท่าเทียมกันหมดแม้กระทั่งตัวเสนา เพราฉะนั้นเราต้องรู้หน้าที่ของเราว่าเวลาเราเล่นละคร ไม่ใช่เราเป็นตัวเอกแล้วจะสำคัญตลอดนะ ความจริงแล้วทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด เพราะจะต้องรับส่งบทซึ่งกันและกัน”

การแสดงนาฏศิลป์สำหรับครูเวณิกานั้นมีผลงานการแสดงทั้งในและต่างประเทศมากมายแต่งานที่ท่านภูมิใจงานหนึ่งคือการได้ร่วมงานกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) สร้างสรรค์ท่ารําเพื่อประยุกต์ให้สอดคล้องกับการเชิดหุ่นกระบอกในเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย 

“ก่อนหน้านี้ครูรู้จักกับอาจารย์จักรพันธุ์มาก่อนแล้ว ต่อมามีโอกาสได้ร่วมงานกันคืออาจารย์จักรพันธุ์มีแนวคิดว่าอยากจะให้หุ่นรำได้มีชีวิตคล้ายคน จึงได้ไปช่วยอาจารย์จักรพันธุ์ว่าจะทำอย่างไรดีแล้วทีนี้เพลงหน้าพาทย์คือเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบอากัปกิริยาของหุ่นนั้นไม่สามารถทำได้ เหมือนเราก็ต้องจัดจังหวะอย่างไรให้ลงแล้วให้ดูรู้ว่าหุ่นมีอิทธิฤทธิ์ก็ต้องไปร่วมคิดกับท่าน

“หุ่นของอาจารย์จักรพันธุ์ตอนรำในช่วงแรกยังดูติดขัด เราก็ต้องจัดจังหวะใหญ่อยู่นานพอสมควร ให้หุ่นทำท่านี้แล้วก็ดูกันหลาย ๆ คนว่าไปได้ไหมจนในที่สุดก็ทำได้ เป็นงานการแสดงหุ่นโดยเอานาฏศิลป์ไทยเข้าไปช่วยเรื่องลิลิตตะเลงพ่ายซึ่งได้แต่งบทพร้อมกับทำดนตรีขึ้นใหม่ด้วย” 

จากที่ครูเวณิกาอยู่กับวิชานาฏศิลป์ไทยมากว่าครึ่งศตวรรษนั้น ทำให้มองเห็นอะไรหลายอย่างในวงการนาฏศิลป์ไทยที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสังคม ภายภาคหน้าอาจหดหายไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นครูเวณิกาก็จะยังคงรักษามรดกชิ้นนี้เอาไว้ต่อไป

“ครูคิดว่าสังคมยุคนี้ต้องการความรวดเร็ว ทำให้ศิลปะการแสดงทุกแขนงของไทยเริ่มเปลี่ยนไป สังเกตได้จากจำนวนคนเรียนคณะศิลปะนาฏศิลป์น้อยว่าศิลปศึกษา และมีแนวโน้มที่จะน้อยลงไป ตอนนี้สถาบันอื่น เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ราชภัฎหลายแห่ง เขาก็มีสอนนาฏศิลป์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องรักษามาตรฐานการเรียนการสอนของเราให้ได้ก่อนเพราะเราเป็นแม่แบบ ถ้าแม่แบบไม่รักษาสถานภาพเอาไว้มันจะสู้คนอื่นไม่ได้

“ในเรื่องของการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทยนั้นครูคิดว่ามีน้อยมาก แม้ในทีวีจะมีบางรายการนำศิลปะของไทยไปออก แต่ก็ยังเป็นไปในรูปแบบประยุกต์ ก็ช่วยได้ในเรื่องของกระแสความเป็นไทยนิดหน่อย ครูคิดว่าเรื่องแบบนี้ต้องร่วมมือกันทุกส่วนตั้งแต่ผู้บริหารระดับประเทศวางนโยบายให้ดีมันถึงจะไปรอด แล้วคนตัวเล็กอย่างเราจะได้ช่วยสนับสนุนเพราะคนเดียวไม่สามารถทำได้”

ชีวิตของครูเวณิกาอุทิศตนเป็นครูสอนนาฏศิลป์มาทั้งชีวิต การทำงานหนักเช่นนี้ทำให้มีคนเห็นคุณค่ามอบรางวัลศิลปินแห่งชาติปีสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย) พ.ศ.2558 ให้เพื่อเชิดชูเกียรติในคุณงามความดี ซึ่งครูเวณิกาเผยว่ารู้สึกภูมิใจมากแต่ก็ต้องมีภาระเรื่องกิจกรรมในส่วนของการออกงานเพิ่มขึ้นด้วย

“เนื่องจากครูอายุมากขึ้นบางครั้งมีการเชิญไปงาน การเดินทางไปไหนมาไหนอาจไม่สะดวกนักทำให้เหนื่อยง่ายหรือแม้แต่เรื่องของการสอนเองก็เหนื่อย อย่างการสอนตีไม้บู๊คือมันเป็นไม้ในเรื่องราชาธิราชเราก็ต้องกระโดดให้เด็กดูเพราะเด็กทำไม่เป็นจึงใช้ร่างกายมากกว่าการรำชนิดอื่น 

“ชีวิตทุกวันนี้ก็สอนนักเรียนแทบทุกวัน จากเดิมวิชานาฏศิลป์ไทยมีตำราน้อยมาก ผู้เรียนต้องเขียนลำดับขั้นตอนกระบวนท่ารำด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันให้นักเรียน นักศึกษาฝึกหัดจดท่ารำด้วยตนเอง เวลาจะจบการศึกษาต้องเขียนศิลปนิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ พร้อมส่งงานวิจัย เพื่อทดสอบนักเรียน นักศึกษาว่าเรียบเรียงเขียนบทความถูกต้องตามหลักภาษาไทยหรือไม่ มีความรู้ ความสามารถ ถ่ายทอดท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์ไทยให้บุคคลอื่นอย่างถูกต้องเพียงใด ซึ่งต้องให้นักเรียนไปแก้ไขตลอดต้องคอยสอนเขาให้ได้ตามมาตรฐาน ก็คิดว่าจะทำงานเป็นครูแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายมันไม่ไหว ตอนนี้ก็อายุ 70 ปีแล้ว ซึ่งช่วงนี้ก็เพิ่งหายจากไม่สบายมาความจริงเราไม่สอนก็ได้แต่เพราะยังรักในอาชีพนี้อยู่จึงต้องทำ

“ครูแนะนำคนที่อยากมาเรียนทางด้านนาฏศิลป์ว่าถ้าอยากมาเรียนต้องมีใจรัก แล้วก็ยึดมั่นกตัญญูในครูบาอาจารย์ถ้าไม่มีความกตัญญูก็ไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ ซึ่งการเรียนนาฏศิลป์จะทำให้มีสมาธิแน่วแน่เพราะเวลารำหูฟังเพลงสมองคิดท่ารำโดยไม่วอกแวก

“แล้วก็อยากให้ทุกคนสนใจนาฏศิลป์มากกว่านี้เพราะว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ที่แสดงถึงความเป็นชาติอย่างแท้จริงถ้าเราไม่มีนาฏศิลป์เราจะสู้ชาติอื่นไม่ได้ เพราะชาติอื่นเขาก็มีศิลปะของเขา อย่างการแสดงนาฏศิลป์ในส่วนของพระบรมวงศานุวงศ์เวลาไปต่างประเทศ บางทีท่านก็เอาไปแสดงเพื่อให้รู้ว่าศิลปะนี้เป็นของสวยงามและของคนไทย คนไทยเองจึงควรภูมิใจในศิลปะชนิดนี้ด้วย” 

Thai Classical Performing Arts ต้นแบบครูนาฏศิลป์ไทย