คารม

คารม

ดร.ซุนยัตเซน ผู้นำการปฏิวัติประเทศจีนจากระบอบราชาธิปไตยสู่การเป็นประเทศสาธารณะรัฐเป็นคนพูดเก่ง มีฉายาที่รู้กันทั่วไปว่า “ซุนขี้โม้” (ซุนปืนใหญ่ หรือ ซุนต้าพ่าว 孫大炮 ) หนังสือประวัติศาสตร์จีนสามารถเขียนฉายานาม “ซุนขี้โม้” นี้ลงไปตรง ๆ ได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

กว่าการปฏิวัติโค่นล้มระบบกษัตริย์จะทำได้สำเร็จ ต้องผ่านปัญหาอุปสรรคมากมาย เมื่อการก่อการเกิดล้มเหลว ซุนยัตเซนต้องหลบหนีระหกระเหินเพื่อรักษาชีวิต ระหว่างนั้นก็ทำงานสร้างแนวร่วม และระดมทุนเพื่อกระทำการปฏิวัติในครั้งต่อไป 

ดร.ซุนยัตเซนไปพูดระดมทุนเพื่อการปฏิวัติยังเมืองต่าง ๆ ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ทั่วโลก ในเอเซียนี่ได้มาทั้งเมืองไทย มาเลเซีย เมืองไทยมีจุดที่เคยยืนกล่าวปาฐกถาอยู่ในย่านเยาวราช ไม่มีหมุดหมายชัดเจนเด่นชัดนัก แม้นี่จะเป็นเรื่องสำคัญระดับประวัติศาสตร์โลก แต่น่าประหลาดไทยไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับที่มาเลเซีย ซึ่งเก็บบ้านที่ท่านเคยพักที่ปีนังทำเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว 

ซุนยัตเซนก่อตั้งสมาคม “ซิงจงฮุ่ย” 興中會 เพื่อการปฏิวัติ แต่ว่าสมาคมจงซิงฮุ่ยก็ไม่ใช่สมาคมที่ยิ่งใหญ่มีกำลังแข็งแกร่ง เคยกระทำการก่อการปฏิวัติล้มเหลวถึง 2 ครั้ง จนตัวซุนยัตเซนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ญี่ปุ่น 

ที่ญี่ปุ่นนี่เองที่ซุนยัตเซนได้พบมิตรสหายร่วมอุดมการปฏิวัติ 2 คน คนหนึ่งคือฮว๋างซิง 黃興 ผู้นำสมาคมฮว๋าซิงฮุ่ย 華興會 ซึ่งล้มเหลวมาจากการลุกขึ้นก่อการปฏิวัติมาแล้ว 2 ครั้งเช่นกัน, อีกคนหนึ่งคือ ถาวเฉิงจาง 陶成章 ผู้นำของสมาคมปฏิวัติกวังฟู่ฮุ่ย 光復會 ทั้ง 3 คนพบกันที่ญี่ปุ่น มีโอกาสพบปะหารือเรื่องการปฏิวัติร่วมกัน ในที่สุดก็มีมติตกลงกันว่าจะร่วมแรงร่วมใจกันรวมตัวกันเป็นสมาคมจงกว๋อถงเหมิงฮุ่ย 中國同盟會 สามัคคีกันเพื่อผลักดันภารกิจการปฏิวัติให้ประสบผลสำเร็จ 

วันที่พลพรรคของทั้ง 3 ผู้นำมารวมตัวกันเพื่อประกาศสถาปนาสมาคมจงกว๋อถงเหมิงฮุ่ยนั้น เนื่องจากการประชุมครั้งนั้นกระทำกันที่บ้านธรรมดาของมิตรชาวญี่ปุ่น คนที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเกินกว่าไม้กระดานปูพื้นจะรองรับน้ำหนักได้ไหว ขณะที่กำลังประกาศอุดมการณ์ “ขับไล่พวกต่างเผ่าพันธุ์ ฟื้นฟูความเป็นจีน ก่อตั้งประเทศของประชาชน แบ่งปันที่ดินให้ทั่วถึงกัน...” ก็เกิดเสียงดังโครม กระดานพื้นเรือนพังทะลายลง 

นี่เหมือนจะเป็นลางไม่ดี ผู้เข้าร่วมต่างก็หน้าเสีย ดร.ซุนยัตเซนพลันหัวเราะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยเสียงอันดัง แล้วพูดปลุกขวัญกำลังใจว่า “ท่านทั้งหลาย นี่คือสัญลักษณ์เป็นลางบอกล่วงหน้าว่ารัฐบาลหม่านชิงกำลังจะล่มสลาย” ปฏิภาณและ
อารมณ์ขันครั้งนี้ช่วยเรียกขวัญกำลังของผู้เข้าร่วมให้กลับมาอย่างได้ผล

การลุกขึ้นก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านความล้มเหลวและการเสียสละชีวิตตลอดผู้ร่วมอุดมการณ์ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองไปไม่น้อย ในที่สุดความเพียรพยายามของเหล่านักปฏิวัติก็ประสบความสำเร็จจากการเริ่มลุกขึ้นก่อการปฏิวัติครั้งที่เรียกว่า “การลุกขึ้นก่อการปฏิวัติที่อู่ชาง” (อู่ชางฉี่อี้ 武昌起義) โดยที่ตัวซุนยัตเซนเองยังอยู่ในอเมริกา เขารับรู้ข่าวความสำเร็จครั้งนี้จากหนังสือพิมพ์ เมื่อได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากฮว๋างซิงจึงได้รีบเดินทางกลับประเทศจีนเพื่อประสานงานในภาพรวมทั้งหมด 

สิ่งที่น่าตกใจหลังการปฏิวัติทำได้สำเร็จคือ เงินในคลังหลวงเหลืออยู่น้อยมาก เมื่อซุนยัตเซนกลับถึงประเทศจีน นักข่าวที่รุมล้อมรอทำข่าวจึงตั้งคำถามตรง ๆ ว่า “ท่านกลับมาจากต่างประเทศครั้งนี้ได้นำเงินติดตัวมาด้วยเท่าไหร่?”

การปกครองดูแลประเทศหลังการปฏิวัติต่อจากความเละเทะแหลกเหลวจากระบบเก่านั้น “เงิน” เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง แค่เงินเดือนเจ้าหน้าที่และกองทัพก็มากมายมหาศาลแล้ว โดยเฉพาะในกองทัพยังต้องห่วงว่าคนฝ่ายอำนาจเก่าจะก่อเรื่องวุ่นหากมีปัญหาด้านการเงิน

เฉพาะกองกำลังทหารจำนวน 300,000 คนที่เข้าร่วมหนุนการปฏิวัติเข้ายึดเมืองหนานจิง 南京 เงินเดือนของกองกำลังหน่วยนี้ก็เป็นตัวเลขขนาดมหึมาแล้ว ยังมีงบประมาณอื่น ๆ ที่รอเงินมาใช้จ่ายอีกเหลือคนา ถูกถามคำถามเรื่องเงินตรง ๆ ซุนยัตเซนซึ่งไม่ได้มีเงินนำติดตัวมาแต่อย่างไรใช้ปฏิภาณและฝีปากให้เป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง เขาตอบว่า “ผมไม่มีเงินติดตัวมาเลยแม้แต่น้อย ที่นำติดตัวมามีเพียงความคิดในการปฏิวัติ” 

คำพูดนี้พาสถานการณ์ให้ผ่านไปด้วยดีอีกครั้ง มันบอกความจริงด้านสภาวะทางการเงินที่ต้องเผชิญกันต่อไป ตามข้อมูลเอกสารอื่น ๆ ที่มีผู้ศึกษาค้นคว้าไว้ ยืนยันว่าเงินคงคลังของประเทศเมื่อการปฏิวัติทำได้สำเร็จนั้นอยู่ภาวะย่ำแย่มากขนาดว่าซุนยัตเซนและคณะต้องกินข้าวต้มและกับข่าวง่าย ๆ เป็นอาหารหลัก ขณะที่งบค่าอาหารที่รัฐต้องจ่ายเพื่อดูแลปูยีและและบริวารด้วยจำนวนเงินมหาศาล 

เรื่องซุนยัตเซนใช้ปฏิภานในการพูดช่วยคลี่คลายสถานการณ์เฉพาะหน้ามีการเขียนเล่าเอาไว้มาก ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีสีสัน เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของซุนยัตเซนมีอยู่มากมาย ทั้งที่ตัวเขาเขียนเอง และที่ผู้อื่นเขียนถึงชีวิตของนักปฏิวัติประดุจนวนิยายเล่มโตที่มากด้วยเรื่องราว 

 

ซุนยัตเซน