The  Creation from Forest

The Creation from Forest

การนำไอเดียดี ๆ มาสร้างสรรค์ผลงานบวกกับนำฟังก์ชั่นการใช้งานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานมาผสมผสาน ทั้งยังเป็นงานไม้คุณภาพดี เรียกได้ว่าเป็นความลงตัวที่หายากในเมืองไทย นั่นคือแบรนด์ “Pana Objects” ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ นำงานไม้และความงามของธรรมชาติมาดีไซน์ให้คล้องกับชีวิตคนเมือง ด้วยนักออกแบบกลุ่มหนึ่งที่หลงเสน่ห์งานไม้เข้าอย่างจัง 

‘โร่-ภัทรพงศ์ พรพนาพงศ์’ หนึ่งในหุ้นส่วนแบรนด์ Pana Objects บอกถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังว่า “เกิดจากการรวมตัวของเพื่อนที่มหาวิทยาลัย ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งหมด 7 คน พอเรียนจบ ต่างคนก็ต่างทำงาน แล้วรู้สึกว่าอยากทำแบรนด์เป็นของตัวเอง ที่บ้านผมก็ทำเกี่ยวกับสวนไม้สักทอง เหมือนแม่ก็อยากให้ทำอะไรบางอย่างที่สามารถต่อยอดกับงานของที่บ้านได้ ผมเลยชักชวนเพื่อน ๆ มารวมกลุ่มกัน แต่ว่าแบรนด์ที่ว่านี้ก็เหมือนลองตลาดดู เราก็ไปเอาไม้นอก อย่างพวกไม้บีช ไม้เมเปิ้ล ไม้วอนัท ซึ่งลายมันสวยและคุณสมบัติไม้มันดีอยู่แล้ว ก็เลยเอาโจทย์ตรงนี้มานั่งคุยกัน

“ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่พวกเราทำออกมา มีทั้งหมดเจ็ดตัวเพราะนักออกแบบมีเจ็ดคน แต่ตอนแรกก็เหมือนกับว่าค่อย ๆ ทยอยออก อันไหนออกได้ก็ออก อันไหนออกไม่ได้ก็รอไว้ก่อน อย่างตัวขยายเสียง คิดไว้ตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่หน้าตามันไม่ใช่แบบนี้นะ เป็นอีกแบบหนึ่ง ดูแล้วรู้สึกว่ายังไม่เวิร์ค เราก็ยังไม่ขาย ก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ อีกสองปีให้หลังก็เพิ่งมาออกตัวนี้”

คอนเซ็ปต์หลักของ Pana Objects อาจจะนิยามได้ว่า ‘ตัดทอนให้ลงตัว’ ปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานมากที่สุด ภายใต้แนวคิดในการนำวัสดุไม้มาดีไซน์ โดยเน้นความทันสมัย, เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขายความงามธรรมชาติของเนื้อไม้จริง ซึ่งผลิตภัณฑ์แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ Living Item เป็นของแต่งบ้านและของใช้งานในชีวิตประจำวัน, Stationary พวกอุปกรณ์เครื่องเขียน และประเภทสุดท้ายคือ Gadget อุปกรณ์สำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ

“เรามักจะนึกถึงการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก ถ้าโดยหลักการแล้วจะเรียกว่า Human Centered Design ไม่ใช่แค่ตั้งโชว์ แต่เน้นใช้งานจริง เราต้องคิดว่าจะทำของอะไรไปเสิร์ฟเขา ไปเติมในสิ่งที่เขาขาด ถ้าใช้แล้วจะมีวิถีชีวิตบางอย่างที่ดีขึ้นนะ ฉะนั้นการออกแบบแต่ละปีก็จะไม่เหมือนกัน บางปีเราจะโมเดลจินตนาการขึ้นมาว่า ในห้องหนึ่งคนจะใช้งานอะไร มันควรจะมีอะไรอีกสักหน่อยไหม หรือบางปีเราก็มารีเฟรชของที่เราขายมาตั้งแต่ปีแรก ฟังก์ชั่นเดิมแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ 

“กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบงานดีไซน์ ตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงคู่แต่งงานใหม่ที่กำลังเริ่มแต่งบ้าน รีโนเวทบ้าน หรือซื้อคอนโด ฉะนั้นของที่เขาเลือกไปจะเป็นของที่คัดสรรมาอย่างดีแล้ว โดยจะออกแบบให้ผลิตภัณฑ์ใช้งานได้ทั้งชายและหญิง”

ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังได้รับการการันตีด้วยรางวัลอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวขยายเสียง ที่ได้รับรางวัล DEmark ปี 2014 หรือปีถัดมาที่เปิดขวดก็คว้ารางวัล DEmark 2015 และ Gmark 2015 

“ก่อนที่เราได้รางวัลก็เริ่มเป็นที่รู้จักบ้าง แต่พอได้รางวัลมาก็รู้สึกอะไรมันก็ง่ายขึ้น เหมือนเป็นการวัดว่าเรามาถึงจุดไหน เพราะเราทำมาก็รู้ฟีดแบคจากลูกค้าว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แต่อะไรที่จะมาคอนเฟิร์มว่าของเราดีจริงล่ะ มันก็คือรางวัลที่มาช่วยการันตีว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เรานำเสนอไปมันดีจริง ๆ นะ

“ตอนนี้ผมก็ชอบตัวขยายเสียงนี่แหละครับ คือโชว์ลูกค้ากี่ที คนก็ว้าวกันทุกที อารมณ์เหมือนไม่มีอะไรแต่มันเสียงดังได้ อีกตัวหนึ่งที่ผมชอบก็เป็นตัวเปิดขวด ตัวนี้ก็เป็นตัวเล่นเชิงพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่ง คือทุกคนจะมีเหรียญพกติดตัวอยู่ ถ้าเราอยากจะเอาไม้มาเปิดขวดโดยไม่มีอะไรข้างในได้ไหม ถ้าเป็นไม้โดยตรงมางัดกับเหล็กมันก็จะสู้กันไม่ไหว แต่พอใส่เหรียญเข้าไป มันก็จะเหมือนเอาเหรียญมาเปิดขวด ซึ่งทุกคนอาจจะต้องเคยทำมาก่อน” 

ส่วนช่องทางการขายจะมีหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นฝากขายตามห้าง Siam Discovery, Siam Center, The Selected และ The Jam Factory เป็นต้น แต่พวกเขาไม่มีช็อปเป็นของตัวเอง เพราะมองว่าเป็นดีไซน์เนอร์กับผู้ผลิตเท่านั้น เน้นออกบูธแสดงงานมากกว่า เหมือนทำให้ได้พบปะลูกค้า นอกจากนี้ยังบุกตลาดต่างประเทศด้วย โซนยุโรป และโซนเอเชีย อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน  

“ผมมองว่าไม้ เป็นอะไรที่ใคร ๆ ก็ซื้อได้ ถ้าคุณเดินไปร้านขายไม้นะ แต่ประเด็นที่เราไม่เหมือนคนอื่น ก็คือแนวคิดการออกแบบมากกว่าครับ ทั้งในเชิงพฤติกรรม เชิงการใช้งาน หรือแนวคิดที่เรานำเสนอใส่เข้าไป แถมมุมมองที่เรามองเรื่องของการดีไซน์ผลิตภัณฑ์แต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นแนวคิดที่เราคิดออกมาใหม่ ด้วยสิ่งที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน มันก็จะมีความแตกต่างของมันอยู่แล้ว 

“อนาคตเรามองภาพของ Pana Objects น่ารัก ๆ ไว้ครับ เราอยากทำเป็นบ้านที่มีของเราในมุมนั้นมุมนี้ อาจจะจินตนาการเป็นบ้านหลังหนึ่งขึ้นมา แล้วก็มีของเราเต็มไปหมด จริง ๆ คือเราไม่ได้เลี่ยนถึงขนาดที่บ้านเราเป็นไม้แล้วต้องเอาผลิตภัณฑ์ไม้ไปวาง แต่เราพยายามทำให้ผลงานของเราสามารถเข้าไปอยู่แต่ละสไตล์ของบ้านได้ เป็นกลาง ที่สำคัญเราใช้ Natural Material ฉะนั้นสีที่ออกไปมันก็เป็นธรรมชาติ กลมกลืนได้ทุกสภาพแวดล้อม อย่างผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดของเรามี 3 ตัวที่ออกมา เป็นนาฬิกาเล็ก แขวนได้ ตั้งโต๊ะได้, กล่องใส่ดินสอขนาดเล็ก และกล่องเก็บของบนโต๊ะ เป็นรูปรถบัสครับ”

ด้วยระยะเวลาเพียง 4 ปี พวกเขาก็สามารถสร้างแบรนด์ Pana Objects ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างโดดเด่น มีสไตล์ที่ชัดเจน แถมยังแฝงลูกเล่นสนุก ๆ ลงไปในชิ้นงาน ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย บวกกับคุณภาพที่อัดแน่น จึงทำให้ Pana Objects เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าจับตามอง  

เรียบง่าย มีสไตล์ Pana Objects