สมบูรณ์สุข นิยมศิริ

สมบูรณ์สุข นิยมศิริ

สมบูรณ์สุข นิยมศิริ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เปี๊ยก โปสเตอร์ เขามีผลงานวาดใบปิดภาพยนตร์มากกว่า 1,000 เรื่อง นอกจากนี้ยังเป็นผู้กำกับมือทอง แต่ละเรื่องล้วนเป็นหนังคุณภาพ อาทิ โทน (2513), ชู้ (2515) และวัยอลวน (2519) หนังเหล่านี้นอกจากจะประสบความสำเร็จทางด้านรายได้แล้วยังสร้างนักแสดงหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการบันเทิงไทยจนโด่งดังในยุคนั้นอีกหลายคน จากการสร้างผลงานดี ๆ เหล่านี้จึงมีคนเห็นคุณค่า ทำให้ปี พ.ศ. 2558 เปี๊ยก โปสเตอร์ ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ซึ่งเป็นรางวัลที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เปี๊ยก โปสเตอร์ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีคุณพ่อเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แต่ด้วยความที่เป็นลูกชายคนเดียวทางครอบครัวโดยเฉพาะพี่สาวจึงอยากให้เป็นทหารเหมือนคุณพ่อ แต่เขากลับอยากเป็นช่างเขียนภาพมากกว่าครอบครัวจึงไม่เห็นด้วยเพราะอาชีพนี้สมัยเมื่อราว 70 ปีก่อนเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง แต่ด้วยความมุ่งมั่นในสิ่งที่ชอบหลังจบมัธยมปลายตอนอายุ 16 ปีจึงตัดสินใจออกมาจากบ้านไปอยู่กับญาติห่าง ๆ เป็นร้านรับทำป้ายย่านวงเวียนเล็ก อยู่ที่นี่เขาหาเงินใช้เองและในเวลานั้นเขาก็เข้าเรียนศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่างด้วย

“ที่ผมอยากเป็นช่างเขียนเพราะเห็นคนข้างบ้านเขาเรียนที่จุฬาฯ แล้วเขียนภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ พอเข้าไปดูแล้วเกิดความชอบมากก็เลยตั้งปณิธานว่าโตขึ้นจะเป็นช่างเขียนภาพ พอเริ่มโตก็คิดว่าครอบครัวเลี้ยงดูเรามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว หากเราต้องมาเป็นภาระก็รู้สึกไม่ดีเลยต้องออกมาจากบ้านมาเพื่อทำงานเลี้ยงตัวเอง 

“ฝีมือการวาดรูปผมได้รับความรู้มาจากวิทยาลัยเพาะช่างและการฝึกฝนด้วยตนเอง แต่น่าเสียดายผมเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างได้ 3 ปี เท่านั้น ใจจริงผมอยากเรียนให้ครบ 5 ปี เพราะจะไปต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ แต่ทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย เมื่อไม่ได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยศิลปากร พอเรียนจบวิทยาลัยเพาะช่างได้ก็ออกมาทำงานเลย” 

หลังเรียนจบวิทยาลัยเพาะช่างเปี๊ยก โปสเตอร์ ก็ได้ทำงานเขียนภาพกับร้านทำป้ายโฆษณาแห่งหนึ่ง ในช่วงแรกเป็นงานทำป้ายโฆษณาผ้าใบ วาดรูปปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ให้ร้านเจียไต๋ ภายหลังก็ได้เขียนภาพโปสเตอร์ จนกระทั่งมีโอกาสเขียนรูปดาราภาพยนตร์เรื่องแรกชื่อว่า พี่ชาย จากนั้นงานประเภทนี้ก็มีมาเรื่อย ๆ จึงออกมารวมตัวกับเพื่อนอีก 2 คนรับเขียนแต่ภาพโปสเตอร์หนังอย่างเดียวจนสร้างชื่อเสียง โดยกลายเป็นผู้บุกเบิกการเขียนใบปิดหนังด้วยสีโปสเตอร์ เมื่อมีการวาดภาพเสร็จจะมีการลงลายเซ็นว่าเปี๊ยกทำให้ฉายาเปี๊ยก โปสเตอร์ ถูกเรียกตามกันมานั่นเอง 

เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่งก็มีเพื่อนมาชักชวนให้ทำหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทยชื่อ ดาราภาพ ซึ่งในสมัยนั้นวงการหนังสือถือได้ว่าซบเซาแถมระบบการพิมพ์ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร การลงทุนทำหนังสืออาจไม่คุ้มทำให้ไม่ค่อยมั่นใจกับโปรเจ็กต์นี้เท่าไหร่นัก แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจร่วมทำหนังสือกับเพื่อน

“ผมถามเพื่อนที่มาชวนทำหนังสือว่านายมีแต้มต่ออะไรที่คิดว่าทำหนังสือแล้วจะประสบความสำเร็จ เขาตอบผมว่าหนังสือจะพิมพ์ด้วยนวัตกรรมใหม่คือระบบออฟเซ็ท ซึ่งสมัยก่อนระบบการพิมพ์ใช้บล็อกตะกั่วพิมพ์ออกมาจะมีความแตกของหมึกซึ่งไม่คมชัด แต่ระบบออฟเซ็ทจะเรียบเนียนเสมือนจริง

“สมัยนั้นเวลาเขียนใบปิดหนังเสร็จเรียบร้อยก็ต้องไปเก็บเงินที่กองถ่าย เจ้าของหนังเขาก็มักให้ไปนั่งรอนาน ๆ เพื่อจะได้ดึงเวลาผลัดการจ่ายเงินไปอีกวัน เราก็ต้องนั่งรอแบบนั้นทั้งวันเพราะอยากได้เงินเอาไปใช้ พอเพื่อนรู้ก็ให้แนวคิดว่าทำไมต้องไปนั่งรอแบบไม่ได้ประโยชน์ ก็ให้ผมทำตัวเป็นนักข่าวในกองถ่ายคอยสืบว่ามีอะไรเกิดขึ้นเกี่ยวกับดาราบ้าง แล้วเอาข่าวมาส่งกองบรรณาธิการให้คนรีไรท์คำพูดลงหนังสือ เป็นคอลัมน์เปี๊ยก โปสเตอร์ เยี่ยมกองถ่าย นอกจากนี้ผมยังเขียนคอลัมน์ค้างคาว ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับสังคมไนท์คลับและนักร้อง แล้วก็เป็นแบบที่เพื่อนมั่นใจหนังสือดาราภาพประสบความสำเร็จเพราะพิมพ์ด้วยระบออฟเซ็ทและเนื้อหาที่เข้มข้น”

เมื่อทำหนังสือประสบความสำเร็จเพื่อนคนเดิมก็มีโปรเจ็กต์ใหม่คือการทำภาพยนตร์ ในช่วงแรกเขาคิดว่าเพื่อนจะให้ช่วยหาทีมงานนักแสดงและผู้กำกับเพื่อฟอร์มทีมทำหนังขึ้นมาสักเรื่องหนึ่งซึ่งเขาอาสาทำให้  แต่ผิดคาดเพื่อนบอกว่าหนังเรื่องนี้ต้องให้ เปี๊ยก โปสเตอร์ เป็นผู้กำกับเท่านั้น 

“หนังสมัยก่อนเป็นฟิล์ม 16 มม. จะใช้การพากย์ตามหนังทำให้ปากไม่ตรงกับนักแสดงจึงไม่เป็นธรรมชาติ เสียงซาวน์เอฟเฟคก็ล้าสมัย  เช่นเสียงปืนก็ใช้ปากทำเฟี๊ยว ๆ เวลาต่อยกันก็ใช้กระดาษม้วนตีแขนให้ดังตุบตั๊บคือมันไม่สมจริง เวลาถ่ายทำเสร็จก็สามารถตัดต่อทำเองที่บ้านได้อย่างง่าย ซึ่งต่างจากหนัง 35 มม. ของฝรั่งที่สมจริงกว่าทั้งเรื่องของฟิล์มและคุณภาพเสียง แต่การจะทำหนังไทย  35 มม. ราคามันสูงมาก 

“ผมก็บอกเพื่อนไปว่าเป็นผู้กำกับไม่ได้หรอกเพราะไม่มีเครดิต ตัวเองเป็นเพียงช่างเขียนภาพเท่านั้น อีกอย่างถ้าไม่มีนักแสดงอย่างมิตร ชัยบัญชา กับเพชรา เชาวราษฎร์ มาแสดงให้ก็ไม่มีใครดูหนังหรอก เพราะเมื่อก่อนวงการบันเทิงต้อง 2 คนนี้เท่านั้น แถมถ้าจะทำผมคิดว่าต้องใช้เงินลงทุนราว 1 ล้าน 5 แสนบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากด้วยความที่ไม่อยากเป็นผู้กำกับผมบอกว่าทำไปเจ๊งแน่นอน เขาตอบว่าถ้ามันเจ๊งก็ให้เจ๊งไปด้วยกันเพราะเราได้ร่วมทำกันมาสองคน” 

หลังจากที่ถูกเพื่อนรบเร้าให้เป็นผู้กำกับหนังอยู่หลายครั้งเปี๊ยก โปสเตอร์ ก็ใจอ่อนตอบตกลง แต่การที่จะเป็นผู้กำกับไม่ใช่ใครจะทำกันได้ง่าย ๆ สำหรับเขาแล้วต้องทำออกมาให้ดีที่สุดจึงจำเป็นต้องมีหลักวิชาการและแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย จึงผลักดันให้เขาเดินทางไปอบรมดูงานโรงถ่ายโตเอะที่ประเทศญี่ปุ่นถึง 5 เดือน 

“พอไปถึงเจ้าของบริษัทบอกว่าคุณต้องไปอยู่กับมิสเตอร์โฮมานะเพราะเขาพอจะพูดภาษาอังกฤษได้ แต่เขาเป็นตากล้องที่แก่แล้วจึงไม่ค่อยได้ไปถ่ายหนังเอง เขาเคยทำงานหนังญี่ปุ่นระดับโลกอย่างเรื่องราโชมอน และหนังซามูไร ผมก็มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ เวลาถ่ายหนังที่นั่นเขาไม่มีเสียงเอะอะโวยวาย ส่วนหนังไทยมักตะโกนเสียงดัง คนที่รู้เรื่องมีคนเดียวคือผู้กำกับ แต่การทำงานในกองถ่ายหนังญี่ปุ่นก่อนหน้าจะมีผู้กำกับมาอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้ฝ่ายจัดไฟ ฝ่ายประกอบฉากนักแสดงไปในทิศทางเดียวกัน 

“วันหนึ่งผมนั่งอยู่หน้าบ้านพักซึ่งอยู่บริเวณโตเกียวทาวเวอร์อากาศก็หนาวราว 14 องศาแถมเข้าบ้านพักไม่ได้เพราะเลิกงานไม่ตรงกับเจ้าของบ้านก็แอบน้อยใจว่าตัวเองเป็นช่างเขียนภาพทำไมต้องมาทำอะไรที่นี่ด้วย ระหว่างนั้นก็มีคนซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกันมาคุยด้วยว่าทำไมเปี๊ยกไม่เข้าประชุมกับทีมกองถ่ายล่ะ ผมตอบว่าไม่ใช่พนักงานจะเข้าได้ด้วยเหรอ จนมีการเดินเรื่องให้ในที่สุดผมก็ได้เข้าร่วมประชุมทำหนังกับพวกเขา เวลาประชุมกองถ่ายที่นี่พวกเขาพูดคุยกันอย่างเสียงดังเพื่อทำความเข้าใจกันก่อน เวลาถ่ายจริงจึงไม่ต้องตะโกนบอกกันอีกรอบ แล้วผมไปดูว่าบทหนังเขาทำกันอย่างไรปรากฏว่าบทเป็นรูปเขียนทั้งหมดคือมันเป็นสตอรี่บอร์ดที่ใครดูก็เข้าใจ คราวนี้ผมใจชื้นเลยว่าเราจะได้เขียนรูปแล้วซึ่งสามารถเอามาใช้ร่วมกับการทำหนังได้เลย

“มิสเตอร์โฮเขารู้ว่าผมเป็นช่างเขียนภาพมาก่อนก็บอกกับผมว่าคุณไม่น่ามาเป็นผู้กำกับหนังนะ ผมก็ใจแป้วเลยแต่เขาบอกว่าคุณน่าจะเป็นผู้กำกับแสงและภาพมากกว่า เวลาคุณเขียนรูปต้องใช้สีแต่เวลาถ่ายหนังคุณเอาแสงมาถ่ายหนัง แสงจะเป็นตัวเล่าเรื่องไม่ใช่คำพูด หนังอาชญากรรมต้องจัดแสงแบบหนึ่ง หนังเศร้าต้องจัดแสงอีกอย่างหนึ่ง หนังตลกก็ต้องแสงฉูดฉาดอะไรประมาณนี้ การจะทำแบบนี้ได้ต้องเรียนรู้หลายอย่างทั้งเรื่องกล้องเลนส์ที่มีหลายชนิด

“ตอนไปอยู่ที่ญี่ปุ่นผมยังไม่รู้เลยว่าจะกลับมาทำหนังเรื่องอะไรเลย เวลาเหงา ๆ อยู่ในสวนหลังบ้านพัก ผมก็เอากระดาษขึ้นมาขีดเส้นกลางขึ้นมาแล้ววิเคราะห์ว่าหนังไทยตอนนั้นนิยมบทที่มีสถานภาพต่างกัน พระเอกรวยนางเอกจนหรือนางเอกรวยพระเอกจน ผมก็เลยเลือกพระเอกจนเขียนไว้ในกระดาษรวมทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเขียนเป็นเลขาคณิตเชื่อมโยงกันไปมาจนกระทั่งกลับมาผมก็เลยเขียนเรื่องเอง ทำสตอรี่บอร์ดเอง จากนั้นก็หานักแสดงมาได้ไชยา สุริยัน กับ อรัญญา นามวงศ์ เป็นคู่พระนาง สร้างขึ้นมาเป็นหนังเรื่องโทน ซึ่งเป็นหนังเรื่องแรกของผม”

หนังเรื่องโทนได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ทั้งเรื่องตัวหนังและรายได้ เหล่านี้มาจากการลงทุนสร้างหนังต้นทุนสูง ระบบ 35 มม. มีการจัดภาพและแสงที่มีอารมณ์ มีระบบเสียงธรรมชาติ รวมถึงเนื้อเรื่องที่ฉีกแนวไปจากหนังในยุคก่อนหน้าทำให้ไม่เหมือนหนังไทยทั่วไปเป็นการจุดกระแสหนังไทยให้เริ่มพัฒนาไปอีกขั้น 

“เมื่อกำกับหนังเสร็จผมรู้สึกเหนื่อยมากก็อยากจะพักผ่อน แล้วมีความคิดว่าจะกลับมาเขียนภาพอีกครั้ง ในขณะที่ลงมือเขียนภาพได้เพียงครึ่งแผ่นก็มีนายทุนเจ้าใหม่มาติดต่อให้ผมไปเป็นผู้กำกับหนัง ผมเลยตัดสินใจพักงานเขียนภาพเอาไว้ก่อนแล้วไปเป็นผู้กำกับหนังอย่างเต็มตัว

“โดยหนังเรื่องที่สองของผมมาจากแนวคิดของตัวเองที่ตอนแรกไม่เชื่อเรื่องดวง แต่สำหรับผมดวงมันเกิดขึ้นจริงจากช่างเขียนภาพผ่านไปเพียงครึ่งปีกลายเป็นผู้กำกับหนังที่มีชื่อเสียง ทำให้ผมนำไอเดียแบบนี้มาเขียนเรื่องเองกลายเป็นหนังที่มีชื่อว่าดวง เพราะผมเชื่อว่าดวงที่เราอาจไม่เคยคิดว่ามันมีผลต่อตัวเราแต่วันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงจนได้

“ในช่วงปลายที่ผมใกล้จะเลิกทำหนัง ผมกำกับหนังเรื่องสะพานรักสารสิน แล้วพอดีตากล้องที่ผมใช้อยู่เขาติดธุระไม่สามารถมาทำงานได้ผมเลยต้องเป็นตากล้องเองด้วย ถือเป็นความโชคดีที่หนังเรื่องนี้หลังจากการออกฉายก็ได้รับรางวัล ภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ในปี พ.ศ.2530 ถึงสองรางวัลด้วยกันคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและกำกับภาพยอดเยี่ยม 

“หนังเรื่องสุดท้ายของผมคือเรื่องบินแหลก ซึ่งมีคนเขียนเป็นหนังสือมาก่อนก็หยิบเอามาทำหนัง เป็นเรื่องราวของสจ๊วตที่ทำงานบนเครื่องบินต้องพบเจอปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเวลาทำเป็นหนังผมก็ต้องไปดูสถานที่และการทำงานจริงของคนเหล่านี้ ก็ต้องเพิ่มบทให้น่าสนใจลงไป แต่จริง ๆ สาระของหนังเรื่องนี้ที่ผมจะสื่อให้คนได้ดูคือ ทัศนะคติของคนที่คิดว่าหญิงสาวที่อยากเป็นแอร์โฮสเตสแล้วมองว่าสูงส่งมากซึ่งอาจไม่ใช่ทั้งหมด โดยในหนังแอร์โฮสเตสต้องเผชิญกับปัญหามากมายในการบริการผู้คน ทั้งเด็ก หรือคนเมา 

“หนังที่ผมทำส่วนใหญ่ผมจะเขียนเรื่องเองทำให้ช้ากว่าจะได้ทำแต่ละเรื่อง เวลาจะไปถ่ายทำที่ไหนผมจะเข้าไปดูโลเกชั่นเองเสมอ เพราะผมจะต้องเอามาเขียนสตอรี่บอร์ดเพื่อเอามาแจกทีมงานทุกคนที่เกี่ยวข้องแล้วเขาจะรู้หมดเลยว่าตัวเองต้องทำอะไร ฉากนี้ถ่ายยังไงมุมไหนแบ็คกราวด์สั้นยาวเท่าไหร่แสงประมาณไหน เวลาทำงานจริงเราจึงไม่ต้องไปบอกพวกเขาจะรู้กันหมด

“จากการทำหนังมาหลายเรื่องมักมีผลตอบรับค่อนข้างดีจากคนดูเกือบทั้งหมด อาจเป็นเพราะผมเป็นช่างเขียนจะมีภาพในสมองมากกว่าคนที่จินตนาการไม่ออกหรือบางคนมีภาพที่ดีแต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้ร่วมงานเข้าใจได้ ผมมีสตอรี่บอร์ดในสมองว่านางเอกพระเอกจะทำอะไรบ้างในฉากนี้พอทำหนังออกมามันจึงดูเป็นสากล”

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลาเมื่ออายุได้ 60 ปี เปี๊ยก โปสเตอร์ก็รู้สึกว่าตัวเองเต็มอิ่มกับวงการหนัง จึงเกษียณตัวเองออกจากเมืองหลวงเพื่อมาอยู่บ้านภูตะวัน อำเภอปากช่อง ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับธรรมชาติที่สวยงามอย่างเงียบ ๆ ปิดฉากการกำกับหนังที่ทำมา
เกือบ 30 เรื่อง ภายในเวลากว่า 30 ปี 

“ผมมุ่งมั่นในการเป็นช่างเขียนภาพถึงขนาดออกมาจากบ้านตั้งแต่เด็กเพื่อตามหาฝันของตัวเองแล้วผมก็ประสบความสำเร็จ แต่พอมีโอกาสมาทำหนังการวาดภาพก็ต้องพักลงไป แต่ก็ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้กำกับแทน ซึ่งข้อเสียของการทำหนังก็คือการใช้ร่างกายหนัก เนื่องจากกินนอนไม่เป็นเวลา คือผมนอนวันละไม่กี่ชั่วโมงแล้วเมื่อตอนที่เราอายุ 60 ปี ถ้าหากยังใช้ชีวิตแบบเดิมต่อไปมีหวังล้มป่วยหรือเป็นภาระคนอื่นแน่นอน ผมก็เลยวางแผนไว้ก่อนว่าเมื่ออายุ 60 ปีก็ควรเลิกทำหนัง แล้วเปลี่ยนอาชีพกลับมาทำงานเป็นช่างเขียนภาพเหมือนเดิม

“ผมซื้อหนังสือและตำราเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมาศึกษาเรื่องของร่างกาย หนังสือเล่มแรก ๆ ที่ผมซื้อคือหนังสือป้องกันต่อมลูกหมากโตเพราะว่าผู้ชายที่อายุมากจะเป็นเยอะ ผมอ่านหนังสือแนวนี้เยอะมากเวลาที่เริ่มแก่สายตาไม่ดีเราก็มีหลักว่าจะดูแลอย่างไร  หลักการดูแลร่างกายของผมคือหนึ่งอย่าไปอยู่ในที่ที่อากาศไม่ดี สองทำจิตใจให้ร่าเริงเข้าไว้ สามอาหารต้องบำรุงอวัยวะภายในเราได้ ให้เลือกกินของที่ไม่ทำร้ายร่างกายผมไม่สูบบุหรี่ไม่กินเหล้า แล้วผมจะมีห้องออกแบบอาหารว่างตอนเช้า
เราจะกินอะไรเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ผมจึงเลือกมาอยู่ที่ปากช่อง ที่นี่มีโอโซนเป็นอันดับ 7 ของโลก เพราะมันแทบไม่มีรถ มีแต่ต้นไม้ แล้วต้นไม้ตอนเช้ามันจะคายออกซิเจน มันช่วยให้ร่างกายเราแข็งแรงได้

“เชื่อไหมว่าผมเล่นกีฬาเทนนิสมาตลอดจนถึงอายุ 82 ปีเพียงแต่หมอประจำตัวบอกว่าให้เลิกเล่นเพราะว่ามันเป็นกีฬาที่หนักเกินไปสำหรับคนวัยนี้และอาจมีปัญหาเรื่องข้อเข่าได้จึงแนะนำให้ผมไปว่ายน้ำแทน เดือนที่แล้วผมไปรวจสุขภาพมาก็ไม่เป็นอะไรเลยทั้งเรื่องของความดันและผลเลือดยังปกติดี”

“มาถึงตอนนี้ 20 กว่าปีแล้วที่ผมเลิกทำหนัง ตอนนี้ก็เป็นคนเขียนรูปอย่างเดียวทำไปเรื่อย ๆ จากประสบการณ์ที่มีเทคนิคการเขียนภาพของผมไม่มีอะไรมาก สมัยก่อนจะใช้รูปแบบการตีสเกลภาพเพื่อนำไปขยายเวลาเขียนภาพใหญ่ แต่ตอนนี้ใช้เพียงเครื่องฉายทาบเอาท์ไลน์ออกมาซึ่งง่ายขึ้น แต่ดีเทลต่าง ๆ เราต้องใส่เข้าไปเอง เราต้องรู้เรื่อง อนาโตมี่อย่างคนล่ำหรือผอมเห็นซี่โครงไหปลาร้าต้องเขียนอย่างไร ถ้าคนล่ำเราต้องรู้เรื่องของกล้ามเนื้อว่ามีเท่าไหร่กี่มัด ต้องเรียนรู้ทั้งหมด

“บางคนเรียกผมว่าเป็นศิลปินแต่ผมเป็นช่างเขียนเพราะว่าผมเขียนจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว  แต่ศิลปินเขาจะเขียนมาจากจินตนาการของตัวเอง ซึ่งผมก็เขียนพอร์ทเทรตเป็นหลักโดยไม่มีภาพแอพสแตรก  ปัจจุบันแม้จะไม่มีงานเขียนใบปิดหนังแบบสมัยก่อนแล้วแต่คนก็ยังนิยมให้วาดภาพเหมือนของตัวเองหรือครอบครัว มีงานปฏิทิน หรือให้วาดภาพหน้าปกเพื่อนำไปใช้เกี่ยวกับภาพยนตร์ก็มีบ้าง ผมอยู่ที่นี่จึงสบายดีอยู่กับธรรมชาติและการวาดรูปของผมตลอดเวลา”

ปัจจุบันเปี๊ยก โปสเตอร์ ในวัย 84 ปีเป็นผู้สูงอายุที่ยังดูแข็งแรงเหมือนคนหนุ่มเดินเหินอย่างคนปกติไม่มีเหนื่อยให้เห็น  มีชีวิตเรียบง่ายกับธรรมชาติและทำในสิ่งที่เขาไม่เคยลืมเลือนคือการเขียนรูปที่ตัวเองรัก บางทีความฝันของคนเราอาจไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่เราตั้งใจจริง  ไม่ว่าจะรับบทเป็นผู้กำกับหรือช่างเขียนภาพ เขาก็จะทำมันให้ดีที่สุดและนี้คือชีวิตของเปี๊ยก โปสเตอร์  

The Hand of the Creator ปรมาจารย์งานหนัง