ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์

ภานุวัจน์ ทองร่มโพธิ์

ส่งต่อคอนเน็กชั่นจากฉบับที่แล้วมาถึงผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “คุณภานุวัจน์ทองร่มโพธิ์” ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกับธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ระดับประเทศ ที่มีโรงภาพยนตร์กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยมากกว่า 23 จังหวัด

ธุรกิจในเครือ บริษัท เอสเอฟ?

บริษัท เอสเอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เราเปลี่ยนมาเป็นบริษัทมหาชนได้หลายเดือนแล้วครับ ส่วนแรกเรามีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 47 พื้นที่ 316 จอ ที่นั่งประมาณ 7 หมื่นที่นั่ง ครอบคลุมประมาณ 23 จังหวัด ส่วนที่สองเรามีธุรกิจโบว์ลิ่ง และส่วนที่สามเรามีธุรกิจเป็นพื้นที่เช่าแล้วก็มีธุรกิจโฆษณา มีขายอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่คู่ในโซนของ SF 

เริ่มเข้ามาบริหารตั้งแต่เมื่อไหร่?

ผมเรียนจบมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ประมาณอายุ 19-20 ปี ผมเริ่มเข้ามาวันแรกเป็นเด็กขายตั๋ว มันเป็นช่วงเวลาที่น่าจะดีที่สุดตั้งแต่ผมทำงานมาเพราะว่าหนึ่งคือความรับผิดชอบมันอีกแบบหนึ่ง แล้วผมรู้สึกว่าสิ่งที่สนุกที่สุดคือผมได้เจอหน้าลูกค้าทุกวัน อีกมุมหนึ่งที่ได้คือผมได้รู้ว่าพนักงานคิดอะไร อยู่ข้างบนกับคนที่ขายข้างล่างมันคนละอย่าง หลังจากนั้นพอทำมาได้ไม่นาน 3-6 เดือน ผมก็มาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ แล้วผมก็ขึ้นมาอยู่การตลาดสักพักหนึ่ง 2-3 ปี ตอนนั้นผมใจร้อนอยู่ระดับหนึ่ง ทำได้สักพักเริ่มอิ่มตัว แล้วทีมก็เริ่มพัฒนา เลยขยับขึ้นมาช่วยคุณพ่อแทน  

การเลือกสถานที่ตั้งโรงภาพยนตร์?

เราดูจากหลาย ๆ ปัจจัย หนึ่งคือตัวจังหวัดหรือตัวสิ่งแวดล้อมบริเวณสถานที่นั้น ๆ เช่น ความหนาแน่นของประชากร รายได้ต่อหัวของประชากร เป็นต้น และธุรกิจโรงภาพยนตร์จะต้องพึ่งความถี่ของผู้มาใช้บริการ เราก็จะดูตรงนี้เป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในเมืองไทยจะเปิดคู่ไปกับศูนย์การค้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่ต้องการความครบครัน ทุกอย่างต้องอยู่ในที่เดียวกัน ดังนั้นโรงภาพยนตร์ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่ลูกค้าเลือกที่จะมาใช้บริการในสถานที่นั้น ๆ 

ธุรกิจแนวนี้แตกต่างจากธุรกิจด้านอื่นอย่างไร?

ธุรกิจของผมจุดท้าทายที่สุดคือการบริการ คู่ค้าหลักของผมคือค่ายภาพยนตร์ ธุรกิจแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ผมเรียกว่ามันไม่เหมือนธุรกิจอื่นที่มีความเป็น Seasonal ความเป็นเทศกาล เราไม่สามารถเดาอะไรได้ เหมือนเป็น Commercial Art ที่ไม่มีสูตรสำเร็จ นี่คือลักษณะเฉพาะ ส่วนอื่น ๆ อย่างการเลือกสถานที่ การตั้งราคา การให้บริการ ผมว่าก็คล้าย ๆ โรงแรม และคือทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปกับคอนเทนต์ด้วย เราจะเล่นกับคอนเทนต์ให้เกี่ยวข้องกับลูกค้ายังไง แข่งกับลูกค้าที่เราไม่รู้ความต้องการเขา มันเป็นโจทย์ที่ต้องคิดเยอะเหมือนกัน ที่แข่งขันยิ่งกว่าคือการแข่งขันแย่งเวลาที่มีของลูกค้า ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าโรงหนังเป็นกิจกรรมที่เพิ่มความสุข เป็นโจทย์สำคัญที่มากกว่าการแข่งขันเพียงอย่างเดียว

รู้จัก คุณนริศ วิทยาวรากรณ์ ได้อย่างไร?

พอดีผมได้มีโอกาสเรียนในหลักสูตร ABC ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม แล้วผมเป็นรุ่นหนูทดลอง คือรุ่นแรก พอเรียนจบไป พี่นริศก็มาเรียนรุ่นที่สอง ก็เลยเจอกัน คุยกันแล้วรู้สึกเข้ากันได้เลยสนิทกัน เพราะว่าพอเรียนคลาสพวกนี้มันจะมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ และแก๊งเด็ก ๆ ก็จะอยู่ด้วยกัน ก็เลยได้มีโอกาสคุยกับพี่นริศ แล้วพี่นริศเขาออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ทำให้ได้มีโอกาสไปทำแคมเปญร่วมกัน เขาเป็นคนแนวกล้าได้กล้าเสีย เป็นคนพูดจริงทำจริง ผมชื่นชมเขาในหลาย ๆ ส่วน เขาเป็นคนเก่งครับ

ข้อคิดในการบริหารงาน?

งานของผมเรียกว่าบริหารความรู้สึกคนก็ว่าได้ ผมรู้สึกว่าเด็กสมัยนี้มักใช้หลัก Give แล้ว Take แต่ตัวผมพอผ่านประสบการณ์ทำงานมานาน ผมรู้สึกว่าสุดท้ายมันต้อง Giving และ Receiving ซึ่งชีวิตจริงทุกคนล้วนอยาก Take แหละ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นฝ่ายให้ก่อนไปเถอะ ไม่ต้อง Take หรอก เพราะคนที่เราให้เดี๋ยวเขาก็ Give Back เหมือนกัน สุดท้ายพอเราเป็นฝ่ายให้แม้ไม่ต้องบอกเขาหรอก เขาก็ให้เราเช่นกัน แถมได้มิตรภาพอีกด้วย หลักการอีกอย่างผมได้ข้อคิดจากคุณแม่ตั้งแต่เรียนชั้นประถม ให้ก้าวก่อนเขาหนึ่งก้าว ตอนเด็ก ๆ ก่อนจะไปโรงเรียนหนึ่งวันท่านจะให้จัดกระเป๋าไว้ก่อน หรือทำการบ้านไว้ก่อน เพื่อไม่ต้องเสียเวลาในตอนเช้า พอยึดหลักนี้เวลาผมทำอะไร ผมจะคิดและเตรียมตัวก่อน เพื่อไปเจอกับสิ่ง ๆ นั้น การเตรียมพร้อมเป็นสิ่งสำคัญครับ หากเราพร้อมเราก็รับมือกับสิ่งที่เจอได้ไม่ยากครับ 

Know Him

การศึกษา
•    Bachelor of Commerce (Accounting and Finance) Monash University

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงกับธุรกิจโรงภาพยนตร์รายใหญ่ระดับประเทศ