Sleeping Beauty

Sleeping Beauty

Sleeping Beauty เป็นหนังออสเตรเลียปี 2011 เขียนบทและกำกับโดยจูเลีย ลีห์ …

ลีห์ ศึกษามาทางด้านกฎหมายและปรัชญา หลังจากทำงานตรงตามสาขาที่ร่ำเรียนมาอยู่ระยะหนึ่ง เธอก็หันมาเอาดีเป็นนักเขียน มีผลงานนิยายที่ประสบความสำเร็จได้รับคำวิจารณ์ในทางบวกอย่าง The Hunter และ Disquiet (เรื่องแรกได้รับการดัดแปลงเป็นหนัง สร้างและออกฉายในปีเดียวกันกับ Sleeping Beauty)

เมื่อได้ดูหนังจบลง ผมมีความเห็นคล้อยตามไปกับทั้งสองฝ่าย คือ ตัวหนังมีส่วนที่ดีและน่าสนใจพอๆ กับส่วนที่ดูแล้วติดขัดเกิดปัญหา

นิยามอย่างรวบรัด ผมคิดว่า Sleeping Beauty เป็นหนังที่พยายามพูดประเด็นเนื้อหาที่ยากสลับซับซ้อน และสามารถนำเสนอแง่มุมต่างๆ ได้แบบลงลึก แต่ในทางตรงข้ามงานชิ้นนี้ก็บอกเล่าด้วยน้ำเสียงท่าทีที่ไม่ผ่อนปรนประนีประนอมกับผู้ชม มิหนำซ้ำใน
หลายตอนสำคัญ ยังถึงขั้นเจตนา ‘ขัดใจ’ คนดูอีกต่างหาก

แต่เท่าที่ปรากฏและเป็นอยู่ มาทางตรงกันข้ามสุดขั้วเลยนะครับ เรียบ นิ่ง และเร้าอารมณ์แต่เพียงน้อยนิด 

เค้าโครงคร่าวๆ ของ Sleeping Beauty เล่าเรื่องผ่านตัวละครหญิงสาวชื่อ ลิซา เธอเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ทำงานเสริมหารายได้ไปด้วย ที่น่าประหลาดคือ จำนวนงานอันหลากหลายและไม่สัมพันธ์กันเลย เช่น การอาสาเข้าทำการทดลองทางแพทย์ในแล็บของมหาวิทยาลัย, เป็นพนักงานถ่ายเอกสารในสำนักงาน, สาวเสิร์ฟตามร้านอาหาร รวมทั้งค้าประเวณีตามแหล่งบันเทิงยามราตรี

หนังมาขยายความเพิ่มเติมให้ทราบในเวลาต่อมาว่า เหตุผลที่ลิซาดิ้นรนทำงานแบบไม่เกี่ยงและไม่เลือกงานราวกับมีหลายร่างในบุคคลเดียว ก็เพื่อรวบรวมเงินเก็บสะสม ทั้งสำหรับใช้สอยส่วนตัว เจียดส่วนหนึ่งให้แม่ผ่านบัตรเครดิต และเป้าหมายสำคัญสุด 
คือ ตระเตรียมไว้สำหรับการรักษาพยาบาลอาการป่วยของ ... ผู้ชายที่เธอรัก

จนวันหนึ่งลิซาก็โทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการสมัครงาน ซึ่งเธออ่านพบประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ แล้วได้รับการติดต่อนัดหมายไปพบปะสัมภาษณ์กับนายจ้างในเวลาไม่นานถัดจากนั้น 

ตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร คือ พนักงานเสิร์ฟในมื้ออาหารหรูหราของบรรดาเศรษฐี เป็นงานพาร์ทไทม์ ชั่วโมงทำงานไม่มาก และมีรายได้ตอบแทนสูงลิ่ว แต่สิ่งที่ผิดประหลาดได้แก่เงื่อนไขสองข้อ

แรกสุด ขณะปฏิบัติงานจะต้องแต่งกายสวมใส่เฉพาะเพียงแค่ชุดชั้นใน ถัดมาคือ สัญญาข้อตกลงว่า ทั้งฝ่ายผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ไม่มีพันธะผูกมัดต่อกัน ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและสามารถบอกเลิกได้ทุกเมื่อ แต่ที่สำคัญสุดคือ หากตกลงรับเงื่อนไขยินยอมทำงานนี้ ต้องปกปิดรักษาความลับอย่างเข้มงวด หากละเมิดหรือฝ่าฝืนจะพบกับบทลงโทษอย่างรุนแรง

ลิซาตัดสินใจรับงานดังกล่าวอยู่ 2 - 3 ครั้ง และสามารถลุล่วงผ่านพ้นไปด้วยดี หลังจากนั้นเธอก็ได้รับการทาบทามยื่นข้อเสนองานใหม่ ซึ่งมีค่าตอบแทนดีกว่าเดิมมากมายหลายเท่า แต่ก็เพี้ยนพิลึกยิ่งกว่าเดิมเช่นกัน นั่นคือการสวมบทบาทเป็น ‘เจ้าหญิงนิทรา’ นอนหลับในสภาพเปลือยเปล่า (ด้วยฤทธิ์ของยานอนหลับ) เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นมหาเศรษฐี ผู้มีชื่อเสียงในวงสังคม กระทำต่อเธอได้ตามใจชอบ สุดแท้แต่จินตนาการทางเพศของแต่ละคน โดยมีเงื่อนไขกติกาเพียงแค่ ห้ามมีการสอดใส่อวัยวะเพศ และห้ามทิ้งร่องรอยบาดแผลใดๆ บนร่างกายของหญิงสาว

เรื่องราวถัดจากนี้ ค่อยๆ คืบหน้ามุ่งสู่บทสรุปที่เป็นโศกนาฏกรรม ชายคนรักของลิซา เสียชีวิตด้วยสาเหตุเสพยาเกินขนาด หญิงสาวโดนไล่ออกจากห้องเช่า โดนไล่ออกจากตำแหน่งพนักงานถ่ายเอกสาร ต้องหาที่พำนักพักพิงใหม่ และได้ห้องในอาคารหรูหรา ส่งผลให้เธอต้องเป็นฝ่ายเอ่ยปากขอรับงานเพิ่ม และที่หนักหนาสาหัสสุดคือ ภารกิจครั้งสุดท้าย ในสภาพร่างกายอิดโรยจากค่ำคืนที่สุดเหวี่ยงทั้งเรื่องเซ็กซ์และยาเสพติด ลูกค้าที่ตัดสินใจใช้ยากระตุ้นเป็นตัวช่วย และการที่ลิซาตัดสินใจฝ่าฝืนกฎต้องห้าม โดยแอบลักลอบบันทึกภาพเหตุการณ์ระหว่างที่เธอหลับ ด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น?

ทั้งหมดนี้นำไปสู่หายนะเกินควบคุมในเช้าวันต่อมา เมื่อเศรษฐีชราผู้มาใช้บริการทางเพศเสียชีวิตอยู่บนเตียง ลิซาเองก็หัวใจหยุดเต้นก่อนจะได้รับการช่วยเหลือไว้ทันท่วงที และเกิดอาการสติแตกกรีดร้องอย่างไม่อาจควบคุมตัวเอง

โดยวิถีการถ่ายทอดเรื่องราว Sleeping Beauty ไม่ได้ร้อยเรียงต่อเนื่อง แต่มีลักษณะเหมือนในหนึ่งฉาก บอกเล่าหนึ่งข้อมูลแล้วก็ตัดไปสู่อีกเหตุการณ์ ต่างสถานที่ ต่างเวลา บอกเล่าอีกชิ้นส่วนหนึ่ง ปล่อยให้ผู้ชมทำหน้าที่ปะติดปะต่อเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ด้วยตนเอง

รายละเอียดที่หนังบอกเล่าให้ผู้ชมรับรู้ มีเพียงเฉพาะช่วงที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันของตัวละครลิซาเท่านั้น ขณะที่อดีตหนหลังของเธอ แทบจะไม่มีการกล่าวถึงหรือหากจะมีก็น้อยนิดเต็มทน แต่ส่วนที่ดีและน่าสนใจของหนังก็คือ เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดแล้ว บ่งชี้เด่นชัดว่า ชะตากรรมของตัวละครในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตของตัวละครทั้งสิ้น

ที่สำคัญคือ ข้อมูลที่คลุมเครือน้อยนิด ยังส่งผลให้แง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของหนัง เปิดกว้างเป็นอิสระให้ผู้ชมครุ่นคิดตีความไปได้ต่างๆ นานา หลากหลายแง่มุม และเกิดความลุ่มลึก

ส่วนดีที่เด่นชัดอีก 2 ประการของหนังเรื่องนี้ก็คือ สไตล์อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ครึ่งหนึ่งนั้นปรากฏผ่านวิธีลำดับเล่าเรื่องราวที่แปลกจากขนบในหนังเพื่อความบันเทิงส่วนใหญ่ อีกครึ่งเป็นสไตล์ที่เกิดจากงานสร้าง ไม่ว่าจะเป็นภาพ แสงเงา การใช้สี ดนตรีประกอบ ทั้งหมดนี้ผมสรุปรวมๆ ตามความรู้สึกส่วนตัวว่า สวยแปลกเหมือนภาพเขียน

ความยอดเยี่ยมนั้นอยู่ที่ว่า บทหนังให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครอย่างเป็นรูปธรรมไว้ค่อนข้างน้อย แต่การแสดงที่ดีเยี่ยมของเธอก็มีส่วนมากๆ ในการทำให้ผู้ชมเข้าใจได้มากขึ้น ถึงปัญหาเก็บกดในจิตใจอันสลับซับซ้อนของตัวละครนี้ 

เราไม่อาจทราบได้ว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเธอ ทว่าขณะเดียวกันสิ่งที่ผู้ชมรู้สึกสัมผัสได้ตลอดเวลาก็คือ เธอกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหน่วงสาหัสในชีวิต เก็บกด อัดอั้น โหยหาความรัก หรือแม้กระทั่งว่าใครสักคน รวมถึงเคว้งคว้างไร้ที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพา

อีกส่วนหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายบริการทางเพศ ผ่านการสวมบทบาท ‘เจ้าหญิงนิทรา’ ซึ่งหนังเล่าให้เห็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้นปฏิบัติกิจของลูกค้าแต่ละรายเพียงเล็กน้อย แล้วก็ผ่านข้ามเลยไป ปล่อยให้ผู้ชมจินตนาการคาดเดาเอาเอง

ตรงนี้เป็นส่วนที่ให้อารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ทั้งลึกลับ เซ็กซี่เย้ายวน และสลดเศร้าสะเทือนใจ เมื่อมองในแง่มุมว่า ลิซากลายเป็นวัตถุทางเพศที่ถูกกระทำย่ำยีได้ตามใจชอบ ไม่อาจขัดขืนโต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเธอ

แง่มุมในความเป็นหนังอีโรติกของ Sleeping Beauty ไม่ได้เสนอผ่านฉากเลิฟซีนเลยนะครับ หนังบ่งบอกให้รู้เพียงแค่ว่ามีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น แล้วก็ตัดข้ามเว้นไปทุกครั้ง ความเซ็กซี่เย้ายวนส่วนหนึ่งจึงอยู่ที่การเล่นสนุกกับการคาดเดาของคนดู และอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ฉากเปลือยในห้วงขณะต่างๆ ของตัวละครลิซา ซึ่งนำเสนอความงามของเรือนร่างเธอออกมาได้น่าประทับใจ

ผมคิดว่าปัญหาของหนังเรื่องนี้มีอยู่ประการเดียว และไม่แน่ใจว่าควรถือเป็นข้อด้อยข้อบกพร่องได้หรือเปล่า นั่นคือ เจตนาของคนทำหนังที่บอกเล่าข้อมูลให้กับผู้ชมน้อยเกินไปมันเป็นความน้อยที่มุ่งแสดงชั้นเชิงลีลาทางศิลปะ แต่ผลกระทบก็คือ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าถึงแก่นสารสาระของเรื่อง ... 

 

การเดินทางไปสู่ความล่มสลาย