ปราบคอร์รัปชั่น

ปราบคอร์รัปชั่น

ฉบับนี้ขอพาท่านผู้อ่านออกไปนอก AEC นิดนะครับ ไปเกาหลีใต้ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน +6  กันเพราะเมื่อปี พ.ศ. 2503 คนเกาหลีใต้มีรายได้เฉลี่ยคนละ 5,100 บาท คนไทยมีรายได้เฉลี่ยคนละ 3,300 บาทต่อปี ต่างกันแค่ 1,800 เท่านั้นเอง แต่พอมาถึงปี พ.ศ. 2556 ขณะที่คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 188,000 บาทคนเกาหลีใต้ กลับมีรายได้สูงถึง 842,000 บาทต่างกัน 654,000 บาท ที่เขาทำได้นอกจากจะเป็นเพราะเขามียุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนกว่าเราแล้ว อีกเรื่องที่ผมคิดว่ามีผลอย่างมากก็คือ เขาปราบคอร์รัปชั่นได้เก่งกว่าเรา ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้นการคอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้นั้นเคยหนักหนาสาหัสไม่น้อยไปกว่าในไทย 

การคอร์รัปชั่นในเกาหลีใต้เริ่มพร้อมๆ กับการที่ประเทศเขาได้เอกราชจากญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2491 เพราะในตอนนั้นรัฐบาลได้ยึดทรัพย์สิน และโรงงานของญี่ปุ่นมาเป็นของรัฐ ใครอยากได้ของดีราคาถูกก็ต้องวิ่งเข้าหารัฐบาล แต่คนมีสิทธิ์ก็จะมีเพียงคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเท่านั้น กลุ่มธุรกิจไหนที่สายสัมพันธ์ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็จะเติบใหญ่กลายเป็น “แชโบล” ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีแปลว่า “ธุรกิจขนาดใหญ่”

ความสัมพันธ์ระหว่างแชโบลกับการเมืองจึงเป็น “ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์” เหมือนๆ กับในเมืองไทย หากใครหันไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามก็จะถูกประธานาธิบดีใช้กฎหมายปราบปรามคอร์รัปชั่นจับติดคุกหมด ดังนั้นก่อนปี พ.ศ. 2540 การปราบคอร์รัปชั่นจึงเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าที่มีเอาไว้ใช้ปราบศัตรูทางการเมือง เท่านั้นเอง

เติบใหญ่ทางธุรกิจก็ยังไม่พอ แชโบลยังอาศัยสายสัมพันธ์ที่ดีรุกคืบเข้าไปซื้อหุ้นธนาคารที่รัฐบาลเคยถือหุ้นอยู่ ซึ่งรัฐบาลก็เต็มใจขายเพราะมีแรงกดดันจากนานาชาติให้เปิดเสรีทางการเงิน พอได้เป็นเจ้าของธนาคารด้วยแชโบลก็เลยสนุกสนานกับการเอาเงินธนาคารที่ตัวเองเป็นเจ้าของไปลงทุนแบบไม่ยั้ง จนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อสินทรัพย์ของแชโบลนั้นโตเป็นบอลลูนเลยทีเดียว และพอวิกฤติ     ต้มยำกุ้งซึ่งเริ่มต้น จากเมืองไทยลามไปถึงเกาหลีใต้ เศรษฐกิจที่นั่นก็เลยพังพาบไปพร้อมๆ กับเมืองไทยเลยทีเดียว

เมื่อเกาหลีใต้เขารู้ตัวแล้วว่าถ้าปล่อยให้มีการโกงแบบนี้ต่อไป เขาไปไม่รอดแน่ ประธานาธิบดี คิม แด จุง ก็เลยผลักดันให้การต่อต้านการคอร์รัปชั่นให้เป็นวาระแห่งชาติ และมีการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่นใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างแท้จริง จึงได้มีการตั้ง “คณะกรรมการอิสระต่อต้าน คอร์รัปชั่นเกาหลี” หรือ “ Korea Independent Commission Against Corruption : KICAC” ซึ่งมีหน้าที่และโครงสร้างคล้ายๆ กับ ICAC ของฮ่องกงซึ่งปราบคอร์รัปชั่นได้ดีและหลายๆ ประเทศได้เอารูปแบบเหล่านี้ไปเป็นต้นแบบใช้กันเลยทีเดียว ในปี พ.ศ. 2542 ดัชนีความโปร่งใสขององค์กรความโปร่งใส นานาชาติของเกาหลีใต้ยังได้แค่ 3.8 สูงกว่าเมืองไทยที่ได้ 3.2 อยู่ไม่มากเท่าไหร่แต่พอหลังจากมีกฎหมาย ปราบปรามคอร์รัปชั่นใหม่และมี KICAC คะแนนดัชนีความโปร่งใสของเกาหลีใต้เริ่มทิ้งห่างของไทย

เกาหลีใต้เขาไม่ได้หยุดอยู่แค่ KICAC เท่านั้น เพราะเขามองว่าการมุ่งแต่การปราบปรามคอร์รัปชั่น เพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้เกาหลีใต้หลุดพ้นจากปัญหาคอร์รัปชั่นเชิงอุปถัมภ์ได้อย่างเด็ดขาด แต่เขามองว่าจะปราบคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกได้นั้นจะต้องสร้างระบบบริหารราชการให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสพร้อมป้องกันการคอร์รัปชั่นให้ได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2551 เกาหลีใต้จึงได้เอาอีกสองหน่วยงานคือ ผู้ตรวจการรัฐสภา และ คณะกรรมการรับเรื่องอุทธรณ์การบริหารงาน มารวมเข้ากับ KICAC และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง” หรือ “Anti-Corruption and Civil Rights Commission of Korea : ACRC” 

ACRC มีหน้าที่หลักๆ 4 ด้าน ซึ่งรวมเอาหน้าที่ของหน่วยงานที่มารวมกันไว้ในที่เดียวเป็น One Stop Service คือ 1 รับร้องเรียนจากประชาชนและแก้ไขให้  2 ตัดสินคดีเกี่ยวกับบริหารราชการ 3 ปราบปรามการคอร์รัปชั่นและ 4 พัฒนาปรับปรุงกฎหมายและระบบ การทำงานของหน่วยงานองค์กรสาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพียงไม่กี่ปีหลังการก่อตั้ง ACRC ก็ทำงานอย่างได้ผลจนทั่วโลกยกย่อง โดยเขาเน้นการเอาระบบไอทีมาช่วยให้การทำงานขององค์กรสาธารณะสามารถบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ที่สำคัญเขาใช้ระบบไอทีให้เป็นช่องทางให้ประชาชนและภาคธุรกิจใช้ร้องเรียนการบริการที่ไม่ดี แจ้งเบาะแสการทุจริต หรือการกระทำที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยของประชาชน อีกทั้งแนะนำรัฐบาลในด้านต่างๆ ด้วย แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษก็คือยุทธศาสตร์ในการปราบคอร์รัปชั่นที่ผมเห็นว่าดีและเมืองไทยน่าจะเอามาใช้บ้าง 

ยุทธศาสตร์แรกคือ “เกลือเป็นหนอน” การทุจริตในองค์กรสาธารณะนั้น ถ้าอยู่นอกองค์กร เราไม่มีทางรู้และไปตามจับได้หรอกครับ คนในองค์กรต่างหากที่จะรู้และช่วยจับได้ ACRC จึงให้ความสำคัญกับการแจ้งเบาะแสของคนในองค์กรเป็นอย่างมาก โดยเน้นที่การให้รางวัลและการคุ้มครอง ACRC แก้กฎหมายปราบปรามการทุจริตให้ผู้แจ้งเบาะแสได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ถ้ามีคนในหน่วยงานใดแจ้งเบาะแส หน่วยงานนั้นโดยเฉพาะผู้บริหารมีหน้าที่ต้องคุ้มครองผู้แจ้งในทุกกรณี หากมีการข่มขู่หรือกลั่นแกล้ง ผู้บริหารหน่วยงานนั้นไม่ว่าจะรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ก็ตาม ต้องมีความผิดตามกฎหมาย มีโอกาสทั้งติดคุก และโดนปรับวงเงินสูงถึง 10,000  ดอลลาร์สหรัฐ หากหน่วยงานที่ถูกแจ้งเบาะแสไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน เช่น ขอเอกสารแล้วไม่ส่งให้ หน่วยงานนั้นก็จะถูกปรับในวงเงิน 10,000  ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตัวผู้แจ้งเบาะแสนอกจากจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่แล้ว ยังอาจได้รับรางวัลจากการแจ้งเบาะแส สูงถึง 2  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของคดี

ยุทธศาสตร์ที่สอง “เชือดไก่ให้ลิงดู” หากเจ้าหน้าที่ขององค์กรสาธารณะรับสินบนหรือยักยอกทรัพย์ หากโดนจับได้ไม่ว่าวงเงินจะมากน้อยแค่ไหนหรือเพิ่งเป็นการคอร์รัปชั่นเพียงครั้งแรก ACRC เขาจะลงโทษอย่างเต็มที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งรับเงินและเจ้าหน้าที่ซึ่งรู้เห็นเป็นใจจะโดนไล่ออกทันที แถมจะต้องโดนลงโทษทั้งปรับเงิน และโดนจับติดคุก ACRC เน้นเรื่องนี้มากไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เพราะเขารู้ดีว่าต้องเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปถึงคนโกงว่าอย่าแม้แต่จะคิด ทำผิดทีเดียวชีวิตพังทันที ที่โน่นเจ้าหน้าที่ของรัฐแค่ยอมให้ภาคเอกชน พาไปเลี้ยงดู ปูเสื่อ ยังต้องโดนไล่ออก ปรับและจับติดคุกเลย

ยุทธศาสตร์ที่สาม “ตัดไฟแต่ต้นลม” ACRC เขาเน้นการจัดอบรมเรื่องจริยธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งระดับสูงทั้งที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ และได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา เรื่องนี้ถือเป็นภาคบังคับที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทุกคนต้องเข้ารับการอบรม ในอนาคต ACRC ยังคิดจะจัดตั้งสถาบันขึ้นเป็นพิเศษเพื่อคอยให้ การศึกษาและจัดอบรมเรื่องจริยธรรมอีกด้วย เข้มงวดตอนอยู่ในตำแหน่งก็ยังไม่พอ ACRC ยังออกกฎหมาย ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งเกษียณแล้วออกไปทำงานกับภาคเอกชนซึ่งอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีกด้วย ACRC จะตรวจสอบย้อนหลังไป 5 ปีก่อนการเกษียณว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนนั้นๆ เคยมีอำนาจที่จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้กับองค์กรเอกชนที่เขากำลังจะเข้าไปทำงานได้หรือไม่ หากเกี่ยวพันหรือเอื้อประโยชน์ได้ เจ้าหน้าที่เกษียณผู้นั้นก็จะไม่สามารถเข้าไปทำงานกับองค์กรเอกชนนั้นได้ ถ้าหากเคยเป็นอัยการหรือผู้พิพากษา พอเกษียณก็จะมีกฎหมายห้ามไม่ให้รับปรึกษาหรือว่าความในคดีที่เกี่ยวพันกับหน่วยงานเดิมที่เขาเหล่านั้นเคยทำงานอยู่ด้วย เน้นจริยธรรมกันขนาดนั้นเลยทีเดียว

ดูเหมือนจะยากมากถ้าไทยเราจะทำบ้าง แต่ผมคิดว่าไม่ยาก ผมคิดว่าถ้าเกาหลีใต้ทำได้ ไทยก็ทำได้ครับ แค่จะทำกันจริงหรือเปล่าเท่านั้นเอง? 

แบบเกาหลี