เมื่อยักษ์แห่งวงการอย่างซัมซุงต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากแอนดรอยด์ แนวคิดนี้น่าสนใจและต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด ...

เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกสำหรับประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนจากแดนโสมขาว และตัวเลขสรุปยอดจำหน่ายในไตรมาสแรกของปี 2014 นั้น ก็ยืนยันชัดเจนว่าซัมซุงสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดสมาร์ทโฟนได้ถึง 30.2 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง

แต่ซัมซุงก็ไม่ประมาท เพราะในขณะเดียวกันก็ยังหาทางรักษาความเป็นผู้นำและสร้างความแตกต่างเพื่อฉีกหนีคู่แข่งในตลาดที่ปัจจุบันมีผู้เล่นมากมาย อย่าง HTC, Sony, LG, Oppo, Huawei (ยังไม่นับรวมสมาร์ทโฟนราคาถูกจากแดนมังกรนะ) ประกอบกับศักยภาพทั้งในแง่ของการเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกและเงินทุนที่แทบจะไร้ขีดจำกัดจึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องอยู่ใต้ร่มเงาของแอนดรอยด์อีกต่อไป และ ‘Tizen OS’ ก็คือคำตอบของแนวทางการปลดแอกตัวเองจากแอนดรอยด์

จะว่าไปแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซัมซุงมีแนวคิดเช่นนี้เพราะในอดีต (ปี 2010) ก็ได้เคยส่งระบบปฏิบัติการของตัวเองอย่าง ‘Bada OS’ สู่ตลาดมาแล้วในสมาร์ทโฟนรุ่น Wave S8500 แต่ไม่นานก็ต้องพับโปรเจ็กต์ไปเพราะชิงส่วนแบ่งการตลาดได้แค่เพียง 0.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นอกจากซัมซุงแล้ว ยังมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่พยายามไขว่คว้าหาอิสรภาพเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอเมซอนกับแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์ม ‘KINDLE’ หรือโนเกียที่ส่งสมาร์ทโฟนแพลตฟอร์ม ‘Nokia X’ สู่ตลาด ซึ่งแม้ไส้ในจะเป็นแอนดรอยด์แต่ก็ไม่ได้พึ่งพาบริการต่างๆ ของกูเกิ้ลเหมือนอย่างที่แอนดรอยด์โฟนส่วนใหญ่เป็น เช่น Google Maps, Play Store, Google+, Google Now, Gmail, Chrome แต่จะแทนที่ด้วย Here Map, Bing Search รวมไปถึง App Store ของโนเกียเอง ซึ่งผลตอบรับเดาได้ไม่ยากครับ และสุดท้ายก็ตกเป็นภาระของฝั่งผู้ใช้งานเองที่จะต้องมาโมดิฟายด์ปรับแต่งเครื่อง เพื่อโหลดกูเกิ้ลเซอร์วิสมาใช้งาน

แต่กรณีของซัมซุงนั้นน่าสนใจกว่าและมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ Tizen จะแจ้งเกิดในครั้งนี้ได้ ซึ่งแม้จะฟังดูไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากครับ ...

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ซัมซุงเป็นบริษัทที่ผลิตสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่มียอดขายสูงที่สุดในโลกในขณะนี้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะนำเสนอระบบปฏิบัติการ Tizen ให้เป็นที่รู้จักของผู้ใช้งาน และซัมซุงยังมีตลาดแก็ดเจ็ตที่กูเกิ้ลหรือผู้ผลิตรายอื่นๆ ไม่มี (หรือมีแต่ก็ไม่แข็งแรงเท่า) ยกตัวอย่างเช่น นาฬิกาอัจฉริยะ Galaxy Gear 1 และ 2, สมาร์ททีวี, กล้องดิจิตอล หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น รวมไปถึงรถยนต์ ซึ่งซัมซุงอ้างว่าสามารถเชื่อมโยงการทำงานของอุปกรณ์ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถควบคุมจัดการได้อย่างง่ายดายด้วย Tizen

ส่วนสิ่งที่ต้องระวังและไม่พลาดซ้ำสองคือ ‘อย่า’ กดดัน หรือผลักให้ผู้ใช้ต้องอยู่ในภาวะลำบาก ซึ่งซัมซุงก็เริ่มตีเนียนโดยสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่หลายรุ่น รวมไปถึงสมาร์ทโฟน Tizen รุ่นแรกที่มีชื่อว่า ‘Galaxy Z’ ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ววันนี้ จะมีการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหลักที่สามารถทดแทนบริการของกูเกิ้ลได้ควบคู่กันไป เช่น แอพฯ ฟังเพลง 2 ตัว ของกูเกิล 1 ซัมซุง 1, แอพฯ ปฏิทิน 2 ตัว รวมไปถึงสโตร์หรือร้านค้า ที่ซัมซุงก็เปิดให้คุณช้อปปิ้งหนังสือหรือเพลงได้เช่นกัน เรียกว่าปล่อยให้ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยกันไปสักระยะ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดให้นักพัฒนาสร้างแอพฯ ที่ดีและมีคุณภาพให้มากขึ้น

มาลุ้นกันครับ ว่าฝันของซัมซุงจะสำเร็จหรือไม่!

‘ปลดแอก’ แอนดรอยด์