Design Therapy

Design Therapy

เชื่อหรือไม่ครับว่าการออกแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความสวยงามของสิ่งก่อสร้างหรือชิ้นงานออกแบบแต่เพียงอย่างเดียว ประโยชน์ของการออกแบบนั้นยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ใช้งานด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่สามารถสัมผัสได้เลยครับ ในโรงเรียนการออกแบบแทบจะทุกที่จะมีอยู่คอร์สหนึ่งที่บรรดานักออกแบบจะต้องทำการศึกษา หรืออย่างน้อยก็จะจัดให้มีการบรรยายพิเศษ นั่นก็คือการศึกษาในหัวข้อที่เรียกรวมๆ ว่า “Design Therapy” หรือ “การออกแบบบำบัด”

Design Therapy
Design Therapy

Design Therapy นั้นจะเป็นการศึกษาพฤติการณ์การออกแบบทั้งหมด รวมไปถึงการศึกษาผลกระทบในการเลือกใช้วัสดุการออกแบบต่างๆ อย่างละเอียด ที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ใช้งาน เพื่อหวังผลในด้านดีต่อผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด การศึกษาเหล่านี้ทำให้เกิดการออกแบบต่างๆ มากมายที่ทำให้คุณอมยิ้ม เช่น โรงพยาบาลสีลูกกวาด หรือ โรงพยาบาลสีชมพู การศึกษาในการออกแบบเชิงลึกนั้น ได้บอกเอาไว้อย่างน่าฟังว่า โรงพยาบาลในความรู้สึกของหลายๆ คน อาจจะเป็นที่ที่สุดแสนจะน่ากลัว เพราะเมื่อเข้ามาก็มักจะได้กลิ่นยาและกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อคละคลุ้งเต็มไปหมด สีขาวของอาคารและสีเสื้อกาวน์สีขาวปนเขียวนั้น ให้ความรู้สึกที่พึ่งพาได้ก็จริงอยู่ แต่กลับไม่ได้ให้ความรู้สึกที่สดใสและเป็นมิตร การออกแบบอาคารสีลูกกวาด หรือ ตึกสีชมพู ที่ปรากฏออกมานั้น จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดความหวาดกลัวของคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการ อีกทั้งสำหรับผู้ป่วยหนักยังช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นอีกด้วย

Design Therapy
Design Therapy

Design Therapy นี้ไม่ได้มีแค่โรงพยาบาลครับ มันยังได้ถูกนำมาใช้กับการออกแบบอื่นๆ เช่น เรือนจำอีกด้วย ซึ่งทำการออกแบบออกมาได้อย่างสวยงามจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นห้องขังผู้ต้องหา โดยเรือนจำเหล่านี้บางท่านอาจจะเคยผ่านตาทางสื่อต่างๆ มาแล้ว แต่ครั้งนี้ผมขอหยิบยกมาให้เห็นในประเด็นของการออกแบบสักหน่อยนะครับ 

ที่แรกที่ผมขอนำเสนอนั้นมีชื่อว่า Justizzentrum Leoben Prison ตั้งอยู่ในประเทศออสเตรเลีย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเรือนจำแห่งนี้นั้นเห็นได้ชัดๆ เลยครับว่าคือกระจก และเป็นกระจกใสที่ส่องเข้าไปถึงด้านใน ผู้ที่อยู่ภายในสามารถมองออกมาภายนอกได้อย่างชัดเจน สิ่งที่เป็นความแตกต่างของเรือนจำแห่งนี้กับเรือนจำปกติที่นอกเหนือจากความสวยงามหรูหราก็คือ เรือนจำแห่งนี้เทียบระบบการป้องกันแล้วน้อยมากครับ มีแค่กำแพงกระจกกับรั้วลวดหนามใบมีดกั้นเพียงเท่านั้น นักออกแบบเรือนจำแห่งนี้ได้ศึกษาพฤติกรรมของนักโทษแล้วว่า นักโทษเมื่ออยู่ในที่ๆ คับแคบมืดทึบจะส่งผลต่อสภาพจิตใจให้ซึมเศร้า และเกิดอาการเครียดที่สามารถทำร้ายผู้อื่นและคนรอบข้างได้ การทำให้อาคารเรือนจำเปิดโล่งด้วยกระจกใสนั้นช่วยให้นักโทษสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอก ได้ผ่อนคลายจากการเห็นแสงจากภายนอกที่ส่องเข้ามาภายใน มันช่วยให้สภาพจิตใจของนักโทษนั้นปลอดโปร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดภายในเรือนจำอีกทั้งช่วยรักษาสภาวะจิตใจให้สงบได้เป็นอย่างมาก 

Design Therapy
Design Therapy

อีกแห่งหนึ่งที่ผมจะมานำเสนอก็คือ เรือนจำ Halden Prison กล่าวกันว่าเป็นเรือนจำที่ทันสมัยที่สุดในโลก

มีผู้ต้องขังอยู่ทุกรูปแบบ เรือนจำแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทีวี ตู้เย็น ห้องอ่านหนังสือ และแม้กระทั่งห้องออกกำลังกายการออกแบบของเรือนจำแห่งนี้นั้นค่อนข้างที่จะแตกต่างกับเรือนจำก่อนหน้านี้ ที่ไม่ได้โปร่งโล่งเท่าใดนัก แต่เรือนจำแห่งนี้ได้เน้นการออกแบบที่เรียบง่าย รวมไปถึงการจัดสวน ที่ออกไปในทางลักษณะคล้ายคลึงกับการจัดสวนของญี่ปุ่น ตามสไตล์การออกแบบนิกายเซน อีกทั้งควบคุมโทนสีของอาคารให้เกิดความรู้สึกสงบ ไม่ให้ฉูดฉาดหรือหม่นหมองมากเกินไป การออกแบบเหล่านี้เมื่อผสานกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในเรือนจำช่วยส่งผลให้บรรดานักโทษทุกประเภทลดพฤติกรรมก้าวร้าวความรุนแรงลงไปได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งในขณะที่รับโทษที่เรือนจำและเมื่อพ้นโทษไปแล้ว มีหลักฐานทางตัวเลขที่ชี้ชัดให้เห็นถึงผลดังกล่าวก็คือ นักโทษที่พ้นโทษออกไปแล้วจากที่นี่มีประมาณ 20% ที่กระทำความผิดแล้วกลับเข้ามาอีก นับเป็นอัตราส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับอังกฤษซึ่งเรือนจำ
มีสภาพย่ำแย่กว่า แต่มีคนที่เคยติดคุกแล้วกลับเข้ามาอีกมากกว่าคือราว 50%

จากผลที่ปรากฏนั้น สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยครับว่าการออกแบบช่วยส่งผลโดยตรงกับสภาพจิตใจของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ไม่ต้องไปดูที่ไหนหรอกครับวันไหนที่คุณเครียดๆ จากภายนอกกลับบ้านมาแล้วเจอสภาพบ้านรกๆ อับๆ ทึบๆ คุณจะยิ่งเหวี่ยงยิ่งหงุดหงิดเป็นธรรมดาจริงไหมครับ ซึ่งจากตัวอย่างตรงนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเรือนจำที่ได้ผ่านการออกแบบและเห็นผลชัดเจนที่สุดมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายเห็นภาพของงานและผลของงาน Design Therapy ดังกล่าว ซึ่งผมไม่ได้หมายความว่า “คุกออกแบบดีๆ ก็น่าอยู่” หรอกนะครับ..? (ฮา) 

“คุกยังไงก็คือคุก ไม่มีอิสระเมื่อถูกคุมขัง ต่อให้คุกดีแค่ไหนก็ไร้ซึ่งความสุขที่แท้จริง ดั่งนกน้อยในกรงทอง” นั่นเองครับ  

การออกแบบบำบัด