เกาะพระทอง

เกาะพระทอง

แดดฤดูหนาวเปิดภาพตรงหน้าอันเป็นจริงของบ้านท่าแป๊ะโย้ยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรือหัวโทงซึ่งเป็นเรือเมล์รอบเดียวบรรทุกคนเกาะพระทองเต็มลำข้ามไปสู่ฝั่งอำเภอคุระบุรีของจังหวัดพังงา ความคึกคักปรากฏอยู่ราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้ารูปเข้ารอยเหมือนกับทุกเช้าต่อมา ต่างคนต่างก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานขึ้นรูปลอบหมึกหน้าบ้าน หรือไม่ก็ลำเลียงไปผูกมัดบนลำเรือซึ่งก่ายเกยหาดทรายสีดำเข้มรอเวลาน้ำขึ้น

 

ทางซีเมนต์เล็กๆ ที่ทอดผ่านบ้านท่าแป๊ะโย้ยและมีบ้านไม้หันหน้ารายล้อมอยู่นั้นไม่ได้กว้างขวางเท่าไหร่นัก จะว่าไปมันก็ราวเมตรกว่าๆ แต่ก็เป็นทั้งทางเดินของชาวบ้านที่วิ่งกันวุ่นของมอเตอร์ไซค์ และถนนสำหรับรถกระบะคร่ำอายุการใช้งาน

 

ท่ามกลางความจ้อกแจ้กจอแจพอประมาณในยามเช้าของบ้านท่าโย้ยอันเป็นจุดที่คึกคักที่สุดที่หลงเหลือของพระทองหลังจากสึนามิโหมกระหน่ำ เราอาจเห็นความเป็นไปง่ายๆ ของคนเกาะพระทองได้สักส่วนหนึ่ง ผมนั่งเอกเขนกร่วมวงกาแฟกับผู้ใหญ่บ้านและเพื่อนๆ ขณะที่หลายรูปแบบชีวิตเคลื่อนผ่านไปมา บ้างก็ดึงเดินตามไปทำความรู้จัก “เห็ดไหม เพิ่งบานเลยนะ” ครูสาวจากโรงเรียนเกียรติประชาสั่นกระดิ่งจักยาน ชี้ชวนให้เลือกเห็ดนางฟ้าจากฟาร์มของโรงเรียน แม่เฒ่าชาวจีนไหหลำเดินเข้าไปหยุดดูอยู่ก่อนแล้ว

 

กว่าจะกร้าวแกร่งพร้อมท่องทะเล เด็กๆ ที่นี่ถูกหล่อหลอมให้โตมากับชีวิตทะเลและโลกกลางแจ้งมากกว่าห้องเรียน ซึ่งมันก็สั่งสมอยู่ในชีวิตคนเกาะพระทองมาแล้วกว่า 3 รุ่น ด้วยเนื้อที่ราบกว้างขวางสุดลูกหูลูกตากลางทะเลแห่งนี้มีลักษณะเป็นสันดอนทรายกว้างใหญ่ ปริมาณดินและความสมบูรณ์ทางแร่ธาตุอาจไม่เอื้อกับการเพาะปลูก ชาวบ้านบนเกาะจึงมักหนีไม่พ้นการทำประมงชายฝั่ง “คนเกาะรู้จักใช้รถนี่ก็ยี่สิบกว่าปีให้หลังนี่เอง แต่ก่อนพวกมาทำเหมืองนั่นล่ะถึงจะมี” ผมกลับมาเดินเล่นไปตามหมู่บ้านพร้อมผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เริ่มคุ้นหน้าเริ่มยิ้มทักทาย

 

ย้อนกลับไปราว 40 ปีก่อน เกาะพระทองก็เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในพังงาและ ที่กระแสการทำเหมืองแร่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงสายแร่จากภูเขาที่มีอยู่ไม่กี่ลูกที่หลั่งไหลแทรกซ่อนอยู่ในเนื้อดินจึงถูกขุดขึ้นไปร่อนแร่ คนจีนไหหลำข้ามทะเลมาปักหลักทำกินกันบ้านปากจกเป็นจุดแรกๆ ซึ่งคนเก่าแก่ของพระทองก็ล้วนเริ่มมาจากที่นั่น

 

หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรื่อยมา เมื่อราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกลดลงฮวบฮาบ ยุคทองของดีบุกปิดฉากไปอย่างถาวรบรรยากาศซบเซาทางเศรษฐกิจส่งผลข้ามมาถึงที่นี่ด้วย ร่องรอยเหมืองแร่เริ่มถูกกลบกลืนด้วยสภาพความรกร้างทางธรรมชาติแต่คนที่ฝังรากและเคยชินกับทะเลก็ไม่คิดจะไปไหน อาชีพประมงจึงกลายเป็นลมหายใจหลัก “จากรุ่นก๋งผมก็หาปลากันแล้ว ไอ้เรื่องท่องเที่ยวนี่มันเพิ่งมาไม่ถึงสิบปี” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมที่พบกันทุกวันเปรยแล้วหันไปแซวลูกบ้านชาวมอแกนที่กำลังคลี่ตาข่ายเตรียมขึงลอบไม้ระกำ

 

ชีวิตบนเกาะดูจะเป็นเรื่องผสมผสานไปแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่วิถีชีวิตเก่าและใหม่ที่ข้ามมาจากฝั่ง นอกจากเรื่องถนนดีๆ และไฟฟ้าที่ยังต้องปั่นใช้กันเองแล้ว ความเป็นปัจจุบันที่คนบนฝั่งได้สัมผัส พวกเขาเองก็รู้จักและเข้าใจมันได้ดี บางอย่างไม่ได้มีก็ไม่ยากที่จะจินตนาการถึง และจะว่าไปภาพผสมผสานหลายอย่าง ก็ก่อเกิดฝังรากมาเนิ่นนาน “บนเกาะนี่ไม่ได้มีแต่คนจีนนะ มอแกนก็เยอะแต่ที่นี่เขาเรียกตัวเองว่าไทยใหม่กันส่วนใหญ่” ต่อหน้าแม่เฒ่ามอแกน ผมและผู้ใหญ่นั่งลงข้างๆ แกต้อนรับด้วยรอยยิ้มที่ไม่ต่างจากผู้ใหญ่เอ็นดูลูกหลาน

 

มอแกนที่เกาะพระทองซึ่งปักหลักกันบนเกาะนี้เป็นกลุ่ม “มอเกล็น” หรือมอแกนบกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนฝั่ง ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับการล่องก่าบางหรือเรือเป็นเหมือนบ้าน ซึ่งแตกต่างกับ “มอเก็น” ที่เกาะสุรินทร์ แต่ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันคือเรื่องความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตที่ผูกโยงอยู่กับทะเลมากว่าอาชีพอื่นๆ

 

ในเอกสารหรือบทบันทึกต่างๆ ถึงที่มาที่ไปของพวกเขา ส่วนใหญ่มักกล่าวไว้ว่า จุดที่เชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของชนเผ่ากลุ่มนี้คืออินโดนีเซีย บ้างอพยพจากแผ่นดินใหญ่ไปตั้งถิ่นฐานใช้ชีวิตแบบชาวเกาะอยู่ที่เกาะบอร์เนียว จนเชื่อกันว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของที่นั่น

 

ในขณะที่บางพวกอย่างบรรพบุรุษของมอแกนได้แยกออกไปใช้ชีวิตแรมรอนกลางทะเล หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่ายักทะเล เร่ร่อนผ่านมาทางคาบสมุทรมลายูและไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ยังล่องเรือผ่านมาทางช่องแคบมะละกาสู่ทะเลอันดามัน ไปตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยเช่นเดียวกับที่เกาะสุรินทร์และที่มาปักหลักปรับรูปแบบชีวิตจนเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์อย่าง
มอแกนบนเกาะพระทอง

 

ไม่เพียงแต่ถ้อยคำและรอยยิ้มของผู้คนที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ธรรมชาติและความงดงามของเกาะก็ทำให้การข้ามมาและท่องไปทั่วพื้นที่ราบ ๆ กลางทะเลแห่งนี้เต็มไปด้วยมิติอันรื่นรมย์

 

บนเกาะพระทอง เมื่อพ้นจากตัวหมู่บ้านแต่ละบ้านเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาตินั้น เส้นทางที่ทอดไปบนผืนทรายและป่าเสม็ดจะปรากฏหลากหลาย ทับซ้อนวนเวียนไปมาจนน่าเวียนหัว แต่ก็ให้ภาพแปลกตาราวกับภาพยนตร์แฟนตาซีสักเรื่อง เห็นจะมีเพียงคนบนเกาะหรือผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เท่านั้นที่จะจดจำมันได้อย่างขึ้นใจ

 

เมื่อมาจอดรถอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเหลืองนับหมื่นไร่ที่มีต้นเสม็ดขึ้นเป็นจุดๆ ตามพื้นท่ามกลางแสงยามเย็นที่หลอมระบาย ก็ไม่ยากนักที่ทุ่งหญ้ากว้างไกลเป็นสีทอง

 

คนเกาะพระทองยุคใหม่เรียกทุ่งหญ้าสีทองแบบคนเมืองว่าทุ่งสะวันนา ผมยืนนิ่งกันอยู่นาน ลมยามเย็นพัดไปมาไม่เพียงยอดไม้ที่ไหวเอนแต่ยอดหญ้าข้างล่างก็ลู่ลมไปในทางเดียวกับกระดุมเงินและ ดุสิตา ดอกเล็กๆ ดูคล้ายรอบข้างจะเต็มไปด้วยความอ่อนนุ่มกว้างไกล และงดงาม

 

นาทีนั้น เหมือนเราอยู่ในที่หนึ่ง ซึ่งไกลแสนไกลรอยล้อมากมายบอกว่ามีหลายคนทีเดียวที่เข้ามาเยือนทุ่งหญ้าแห่งนี้ ไม่นับคนเกาะพระทองที่ใช้เส้นทางนี้ไปมาระหว่างหมู่บ้าน แต่นักท่องเที่ยวหลายต่อหลายคนก็มุ่งหวังจะขึ้นมาเห็นความงามของทุ่งหญ้าสีทองนี้สักครั้ง

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกนักหรอก ไม่เคยเห็นก็ย่อมอยากเห็น อยากสัมผัสและรู้จักใกล้ชิด

 

แต่หากโฟกัสดวงตาไว้เฉพาะที่ เจาะจงเลือกมองสิ่งใดแต่มุมเดียว สิ่งสำคัญหลายต่อหลายส่วนอาจตกหล่นละเลยไปนอกดวงตา

 

และในที่สุด มันอาจไม่ได้สำคัญกับสิ่งที่อยู่ในใจอีกต่อไป

บ่ายจัดกลางเกาะแห่งหนึ่งในทะเลอันดามัน