สตูล

สตูล

รุ่งเช้า ผมออกมายืนอยู่ในมุมสูง มองภาพข้างล่างเคลื่อนไหวไปมา แนวตึกแถวชิโนโปรตุกีสทอดยาวไปตามถนน เสียงบทสวดมุสลิมตามเครื่องขยายเสียงยิ่งเสริมให้ภาพที่เห็นเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา ร้านโรตีกาแฟเก่าแก่คร่ำเริ่มประปรายไปด้วยผู้คน

 

ต่อเนื่องเป็นเวลาสักช่วงหนึ่ง ก่อนที่ถนนเล็กๆ สายนั้นจะเข้าสู่ความเงียบเชียบ เมื่อเวลาละหมาดแรกย่างมาถึง ผู้ชายหลายรุ่นอายุในเสื้อตะโละบาลางาสีสะอาดและโสร่งลายสวยมุ่งตรงไปที่มัสยิดหลักของเมือง หายลับเข้าไปและปล่อยให้เสียงสวดล่องลอยออกมาทดแทน

 

บางครั้งคล้ายเป็นช่วงเวลาที่เมืองเล็กๆ แห่งนี้กำลังหยุดนิ่งเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปที่ใดสักแห่ง

 

ออกเดินทั้งที่ไม่ได้เคลื่อนที่ และสัมผัสจุดหมายทั้งที่สองเท้ายังเหยียบยืนอยู่บนจุดเริ่มต้น

 

หากระยะทางไกลคล้ายการประกาศเข็มไมล์ของความเป็นนักเดินทางสำหรับใครบางคน โลกในความมืดที่ห่อหุ้มค่ำคืนที่ผ่านมาอาจไม่ใช่พื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหมายนักสำหรับเขา

 

แล้วถามว่าทำไมใครอีกหลายคนถึงได้ดั้นด้นออกจากบ้านเพื่อมายืนเดินอยู่ในอีกที่หนึ่งซึ่งจะว่าไปก็ไกลแสนไกลและบ่อยครั้งก็โดดเดี่ยวเจ็บหนาว

 

คำตอบนั้นอาจแทรกซ่อนอยู่อย่างเรียบง่าย เรียงรายไปตามซอกมุมต่างๆ ของเมือง ปะปนอยู่ในชีวิตธรรมดาของผู้คนที่นั่น ในฟ้ายามเย็นหรือดอกไม้เล็กๆ สักดอก

 

ด้วยดวงตา ใครบางคนอาจพบเจอคำตอบนั้นตั้งแต่แรกไปถึง

 

เป็นเหมือนเช่นทุกเช้าที่ผมจะผลักประตูโรงแรมสินเกียรติธานีบนถนนบุรีวาณิชแล้วข้ามมายังร้านอาซิปโรตีที่ฝั่งตรงข้าม แต่จะว่าไปก็ไม่เคยทันกลุ่มของ วีรพล หลังการ์ต หรือ บังตุ๊ และ พรชัย กู้สกุล เจ้าของโรงแรมสินเกียรติฯ ที่ผมพักอยู่สักครั้ง พวกเขามานั่งจับกลุ่มและโรตีหอมๆ ก็ถูกฉีกจิ้มแกงตอแมะไปแล้วกว่าครึ่ง ยังไม่นับชาปากีใส่นมแพะที่เมื่อผมไปถึงแก้วของแต่ละคนมักเป็นชาร้อนธรรมดาๆ แก้วที่สอง

 

ตามแบบฉบับของเมืองที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนหลัก สตูลก็เช่นกันที่ยามเช้าร้านโรตีกาแฟมักเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่ไปละหมาดเช้าราวตี 5 และกลับมาเมื่อได้เวลากาแฟราวหกโมงกว่าๆ

 

“สตูลมันเงียบ คนเขาผ่านมาพักเพื่อรอเวลาไปตะรุเตา” นอกจากจะเป็นมุสลิมที่เคร่ง บังตุ๊ยังเป็นไกด์เชี่ยวประสบการณ์ ไม่แตกต่างจากพรชัย ที่แม้จะเป็นคนจีน แต่ภาพแห่งมิตรภาพของพวกเขาและคนที่นี่นั้นฝังมายาวนาน “เกือบสี่สิบกว่าปีแล้ว โรงแรมนี่”เขาหันหน้ามองกลับไปอีกฝั่ง เพื่อนช่างภาพเพิ่งเดินหัวเปียกๆ เตรียมข้ามมาสมทบ

 

คล้ายจะไม่มีอะไรอาจเป็นความรู้สึกแรกๆ ของคนที่เพิ่งเคยผ่านเข้ามาสตูล แต่ตามภูเขาหินปูนในด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกที่มีส่วนโอบล้อมเมืองเล็กๆ แห่งนี้ไว้จนปรากฏเป็นโถงถ้ำและเพิงผามากมายก็เต็มไปด้วยความเก่าแก่จากสมัยก่อนประวัติศาสตร์การสำรวจทางโบราณคดีได้ค้นพบร่องรอยที่กล่าวได้ว่าพื้นที่ที่เป็นจังหวัดสตูลปัจจุบันนั้นเป็นดินแดนที่เคยมีคนอาศัยอยู่มาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ราว 6,000 ปีมาแล้ว

 

แต่เดิมที่สตูลมีฐานะเป็น มูเก็ม หรือตำบลของเมืองไทรบุรีมาก่อน ชื่อว่า มูเก็มสโตย ควบคู่กับ มูเก็มเปอร์ลิส หรือเมืองเปอร์ลิสของมาเลเซียในปัจจุบันที่ถูกกั้นกันด้วยแนวเขาสันกลาคีรี แต่ความเจริญเติบโตในด้านต่างๆ ก็ล้วนก่อร่างสืบทอดควบคู่กันมา ในหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจดหมายเหตุหรือหนังสือของพ่อค้านักเดินเรือมักปรากฏชื่อเมืองละงู หรือสุไหงอุเป อันเป็นชุมชนเมืองท่าในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่สืบค้นกลับไปได้ถึงความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่แถบอำเภอละงู

 

หลายสิ่งตกทอดสั่งสม ไม่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ท้ายที่สุดก็เกิดซึ่งความเป็นตัวเอง

 

ถนนสองสายอย่างสตูลธานีและบุรีวาณิชก็แช่นกัน เป็นเหมือนสิ่งที่หนีไม่พ้นสำหรับผู้ที่เข้ามาสู่เมืองเล็กๆ ริมทะเลอันดามันใต้แห่งนี้ และจะว่าไปก็แทบทุกวันที่แสงเช้ามาถึงเราต้องเดินเลาะเรื่อยไปตามฟุตบาทเพื่อดูเรือนแถวเก่าทั้งไม้และปูนที่เรียงรายอยู่ทั้งสองฟากถนน หลายหลังเป็นไม้ที่เก่าแก่พอๆ กับการเปิดประตูเข้าสู่ยุคพัฒนาหลังจากปี พ.ศ. 2475 สวยงามไปด้วยริ้วรอยสีสันและสิ่งตกแต่งอย่างกระจกสี ขณะที่ตรงต้นถนนบุรีวาณิช แนวอาเขตที่มีซุ้มโค้งให้เดินลอดยามแสงเฉียงๆ สาดเข้ามาก็งดงามไม่แพ้กัน

 

“แต่ก่อนสตูลค้าขายกับมาเลเซียเป็นหลัก ปีนังก็ด้วย เรารับวัฒนธรรมที่ดีที่สุดจากมาเลเซียตอนเหนืออย่างเปอร์ลิส เคดาห์” เช่นเดียวกับเมืองอื่น ที่มีการค้าขายในคาบสมุทรมลายู ซึ่งมักตกทอดสิ่งปลูกสร้างจากการรับวัฒนธรรมอันผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออกมาจากปีนัง ตึกแถวสไตล์ชิโนโปรตุกีสที่หลงเหลือราว 20 ห้องบนถนนบุรีวาณิชนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ฟู่ฟ่าในเรื่องลวดลายศิลปะประดับอาคารเหมือนแถบภูเก็ต แต่รูปแบบภายนอกและสิ่งที่อยู่ภายในนั้นคงเรื่องราวความเป็นมาเฉพาะตนไม่แตกต่าง

 

“ตึกแถบบุรีวาณิชนี่สร้างมาแต่สมัยพระยาภูมินารถภักดี ร้อยกว่าปีแล้ว กระเบื้อง อิฐเหล็กก็ล้วนมาจากที่นั่น” ด้วยการซื้อขายกับปีนัง หรือที่คนสตูลโบราณรียกที่นั่นว่าเกาะหมาก เนื่องจากมีการบรรทุกหมากไปค้าขายนั่นมาก ทำให้วัฒนธรรมมุสลิมในสตูลได้รับการผสมผสานชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งรกราก

 

“ในสตูลนี่มุสลิมเป็นหลัก ราว 80 เปอร์เซ็นต์” อาซิป โอสถาน เจ้าของร้านโรตีกลายเป็นอีกหนึ่งของวงกาแฟ ที่ตอนนี้ไม่มีทีท่าจะเลิกราง่ายๆ เขานั่งลงพร้อมชาปากีสีอมส้ม หอมละมุนลึก เด็กนักเรียนหญิงสวมฮิญาบขาวเดินเกาะกลุ่มผ่านไปเรื่อยๆ ขณะที่ตามตึกแถวเริ่มเปิดประตู ชีวิตประจำวันของที่นี่เริ่มดำเนินไปอย่างที่เคย

 

มัสยิดมำบังสตูลที่อวดโฉมสีขาวขุ่น ยอดโดมที่อวดสีเหลืองทองขับแดดเย็นนั้นยิ่งน่าเพ่งมองเมื่อคนสตูลที่เห็นต่างชุดต่างเสื้อผ้าจะเข้ามาด้วยเสื้อตะโละบาลางาสีสุภาพ “ตะโละแปลว่าอ่าว ดูรอยปักที่อกเสื้อนี่ โค้งหมือนอ่าวไหม” หลังจากล้างเท้าลุงพงศ์ บินตำมะหงงมานั่งรอเพื่อนๆ อยู่หน้ามัสยิด ผมและช่างภาพ หลังจากยืนชื่นชมเสาสูงทรงโค้งอาร์กแถบโถงระเบียงได้ไม่นาน ก็กลายมาเป็นหลานๆ ร่วมวงกับผู้เฒ่าไปในไม่ช้า

 

ภาพที่เห็นล้วนน่าติดตา ใครมาถึงต่างก็จับมือและขอให้พระอัลเลาะห์คุ้มครอง ไม่เว้นแม้แต่เรา ซึ่งก็ได้รับความรู้สึกนั้นไปด้วย จะว่าไปความรู้สึกและบรรยากาศเช่นนี้อาจเป็นเรื่องน่าประทับใจและตื่นตาสำหรับคนผ่านทางอย่างเราๆ แต่สำหรับคนที่นี่หรือที่ไหนก็ตามที่มีศาสนาคอยยึดเหนี่ยวชีวิต มันคงเป็นสิ่งธรรมดาที่ไม่แตกต่าง

 

สักพักภาพคึกคักปนเปเสียงหัวเราะของคนต่างรุ่นหน้าสุเหร่าก็เงียบลง ทุกคนหายเข้าไปข้างใน เหลือเพียงแต่เราที่ทองเห็นพวกเขายืนสงบเป็นเงาดำ ภายในมัสยิดไม่มีรูปภาพ รูปหล่อ หรือรูปปั้นใด แสงที่ลอดผ่านกระจกกรุนั้นทำให้ภาพที่เห็นยิ่งเปี่ยมศรัทธาเสียงสวดประกอบพิธีละหมาดล่องลอยออกมาข้างนอก แม้ถัดไปไม่ไกลจากมัสยิด ร้านสะดวกซื้อชื่อคุ้นเคยเพิ่งจะเข้ามาตั้งใหม่

 

แต่ราวกับระยะห่างระหว่างทั้งสองสิ่งนั้นช่างยาวไกล

 

อยู่จนใกล้เย็นย่ำ ด้วยความไม่คุ้นทาง กว่าเราจะออกมาสู่ทางหลักแสงเย็นก็จางแรงลงทุกที เมื่อเข้าไปถึงอุทยานแห่งชาติทะเลบัน เขียดว้ากอันเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานฯ ก็ส่งเสียงทำหน้าที่เจ้าของบึงน้ำกันระงม

 

สะพานไม้ทอดตัวตรงบ้างโค้งบ้าง บัดนี้เงียบเชียบ หนุ่มสาวคู่ท้ายๆ เพิ่งออกไปจากศาลาเมื่อครู่ ฟ้าเริ่มอมสีอัลตราไวโอเลตในแผ่นฟิล์ม ผมนั่งมองบึงทะเลบันนี้อยู่นาน บึงน้ำที่ฉ่ำชุ่มไปด้วยสรรพชีวิตตรงหน้านี้นักธรณีวิทยาเชื่อว่าบึงนี้เกิดจากการยุบตัวลงของโพรงถ้ำข้างใต้ภูเขา และชื่อทะเลบันนั้นก็เพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า “ลา โอต เรอ บัน” ซึ่งลา โอต หมายถึงทะเล และ เรอบัน หมายถึงยุบตัว

 

ฟ้าเริ่มมืดลงจนสปีดในกล้องของช่างภาพทำงานเป็นหลายวินาที ทิวเขาทึบทะมึนรอบด้านปิดกั้นเราไว้จากโลกข้างนอก ถัดไปไม่ไกล ด้านหลังเราคือแผ่นดินมาเลเซีย ขณะที่มุ่งหน้าไปอีกเพียงไม่กี่อึดใจ ความเคลื่อนไหวในเมืองสตูลก็ยังคงอยู่ตรงนั้น

 

วันที่มาถึงเมืองสตูลยามค่ำคืน รอบด้านล้วนเงียบงัน สงบนิ่ง บางด้านของดวงตา ผมเห็นว่ามันน่าหลงใหล

 

ต่างกันไหมกับที่นั่งมองและซึมซับความเงียบของทะเลบันอยู่ยามนี้

 

สำหรับสายตาของคนนอก บางครั้งความเงียบ ความนิ่งกลับดูมีค่า น่าหลงใหล

 

แต่กับคนที่ใช้ชีวิตวิ่งวนอยู่กับมันมา สุ้มเสียงแปลกใหม่จากภายนอกเพียงเบาๆ ก็มีค่าและน่าใส่ใจไม่ต่างกัน

 

วันหนึ่งเรามาอยู่ที่ด่านชายแดนวังประจัน กลางแดดเที่ยงระอุร้อนและสีสันของสินค้าและความหลอมรวมปะปนของคนทั้งสองแผ่นดินอันน่าติดตา

 

ไม่นับสินค้าจากจีนประเภทขนม ของเล่น และเครื่องไฟฟ้าที่อาจพบเห็นได้แทบทุกที่ตามตลาดชายแดนที่มหาอำนาจทางธุรกิจของเอเชียเริ่มแทรกซึมเข้ามาถึงมืถึงครัวของหลายๆ ชาติ แต่สีสันของแต่ละที่นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัว

 

ผมเดินตามรถยี่ห้อโปรตอนคันเล็กๆ ติดทะเบียนมาเลเซียเรื่อยๆ ก่อนที่จะแวะลงที่แผงขายปืนฉีดฟองสบู่ เด็กน้อยและหญิงสาวลองปืนลูกโป่งราคาถูกกันอย่างสนุกสนาน ถัดไปช่างภาพสนใจหอม กระเทียมบรรจุขวดโหลซึ่งทางมาเลเซียห้ามขนข้ามมาจากฝั่งไทย ด้วยต่างก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้มาสู่ประเทศเขาด้วยเช่นกัน

 

จากชายแดนเมืองเปอร์ลิสที่ด่านวังประจัน ต้องใช้เวลาอีกราว 6 ชั่วโมงถึงจะไปถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์ นอกจากคนที่มีธุระประเภทธุรกิจมากๆ เท่านั้นที่การไปกัวลาลัมเปอร์จะเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับคนตรงนี้ การได้อยู่ไปวันๆ อาจเป็นความหมายเดียวกันกับการคงอยู่ของชีวิต

 

ตลาดคึกคัก วุ่นวาย เปี่ยมสีสันอยู่จนราวสามสี่โมงเย็นก็กลับมาสู่ความนิ่งเงียบของภูเขา เราเดินกลับมาที่รถท่ามกลางแผงสินค้าที่ทยอยเก็บ

 

เมื่อกลับเข้าเมือง ภาพนิ่งๆ ของทุกวันที่เราเริ่มเคยชินและคุ้นเคยกลับเลือนหายไปในยามค่ำ ถนนบุรีวาณิชที่ผมมักเดินเล่นทุกเย็น กว่าจะหาของกินในยามค่ำคืนต้องลัดไปถึงร้านข้าวต้มโกโหที่หัวถนนสตูลธานี มาขณะนี้ปิดการจราจรและในนั้นก็เต็มไปด้วยร้านค้า ข้าวของหลากหลายคล้ายบรรยากาศงานถนนคนเดินแถบเชียงใหม่

 

ตึกแถวชิโนโปรตุกีสอาบแสงไฟสวย เด็กๆ มาเล่นวาดรูป ขณะที่เดินถัดมาอีกไม่ไกล หน้ามัสยิดมำบังสตูล วัยรุ่นหนุ่มๆ เล่นดนตรีเปิดหมวกกันสนุกสนาน ข้างๆ กันยังเป็นเรื่องราวรัก โลภ โกรธ หลง ที่แทรกซ่อนอยู่ในผืนผ้าดิบสีขาวและเงาวูบไหวของตัวหนังตะลุงเจ้าประจำที่ข้ามฝั่งเขามาเปิดแสดง

 

มาถึงขณะนี้ภาพที่เห็นสนุกสนานยามค่ำสุดสัปดาห์ กับสิ่งน่าศรัทธาอันเรียบง่ายของผู้เฒ่าในยามเช้าที่เป็นไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันบนถนนของเมืองสตูลนี้ คล้ายทั้งหมดจะเป็นภาพเกี่ยวโยง ต่อเนื่อง และมีที่มาที่ไปซึ่งกันและกัน

 

หนึ่งคล้ายหยุดนิ่ง สงบงัน สองราวกับเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

 

แต่เมื่อมันเกิดขึ้นบนแผ่นดินที่หล่อหลอม สิ่งแฝงฝังและขับเคลื่อนชีวิตในนั้นก็อาจมาจากจุดเดียวกัน

 

เขาหรือเราต่างก็เรียกมันว่าบ้าน

เราไปถึงเมืองแห่งนั้นเอาราวตีสอง ฟ้ามืดสนิทเห็นดาว