ระนอง

ระนอง

แดดเย็นระบายอ่อน ส่องไล้เนินเขาทั้งลูกที่ประดับป้ายอักษร ตุ๊กตาหินรูปสัตว์ รูปขุนนางจีน รวมไปถึงสิ่งมองไม่เห็นอันเรียกว่าอดีตให้กลายเป็นความงดงาม ชายวัยเกือบห้าสิบในนาทีนั้นซ่อนใบหน้าใจดีอยู่ใต้หมวกปีกกว้าง ตัดแต่งหญ้าที่ถอดสีเป็นน้ำตาลทอง รดน้ำตามไม้ดอกที่ยังหลงเหลือ

 

เรายืนอยู่ที่สุสานเจ้าเมืองระนอง “คอซู้เจียง” ชื่อของเขาจำหลักชัดเจน รถราผ่านไปมาบีบแตรแสดงความเคารพอยู่ไม่ขาดช่วงถัดไปอีกราว 10 กิโลเมตร คือทะเลกว้างไกล และย้อนกลับไปตามถนนสายเดียวกัน เมืองเล็กสงบงามอันน่าหลงใหลที่ล้วนปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีส่วนเติบจากเฒ่าชราคนนี้ ก็ดำเนินไปตามคืนวันอยู่ ณ ตรงนั้น

 

เขาจากไปนานแสนนาน แต่สำหรับคนที่นี่ ในเมืองเล็กๆ ที่ห้อมล้อมด้วยผืนทะเล เหมือนเรื่องราวของเขาไม่เคยจางหาย มันยังชัดแน่นพอๆ กับชีวิตที่ปะปนอยู่ตามตึกรามชิโน-โปรตุกีสทรงสวย ถนนเก่าแก่หลายสาย เวียนวนอยู่ในการงานและลมหายใจของผู้คนที่เติบโต

 

อาจไม่ฟู่ฟ่า มากมายรายละเอียด แต่จริงแท้ที่สุดคือเปี่ยมไปด้วยนิยามของคำว่าบ้านที่ล้วนบอกเราว่ามันคงทนเสมอ แม้นาฬิกาจะหมุนวนฉีกปฏิทินสักกี่รอบ

 

1...

ถนนเรืองราษฎร์ยกตัวโค้งขึ้นลงตามจังหวะไปกับสัณฐานของตัวเมืองระนองที่ตั้งอยู่ตามเนินเขา มันยิ่งทำให้แนวตึกเก่าเหล่านั้นน่ามอง มีสูงมีต่ำ สลับทั้งไม้และปูนลับหายไปตามโค้ง สองแถวไม้สีส้มเหลืองจอดรอคิวอยู่หน้าตลาด พี่น้องมุสลิม คนจีน รวมถึงแรงงานพม่าจากฝั่งเกาะสองเติมภาพคึกคักของย่านตลาดให้สมบูรณ์ เด็กสาวทาทานาคาตามตามพวงแก้มเป็นวง ตลาดเช้าตรงศาลเจ้าลาดลงไปตามเนิน มันอาจตื่นตาสำหรับผู้มาเยือน ทว่าแสนชาชินกับชีวิตผสมผสานที่ดำเนินควบคู่

 

ผมแอบรถริมทาง เดินเลาะตามทางเดินอาเขตของตึกเก่าชุดหนึ่งไปเพื่อที่จะพบว่า บรรยากาศครึกครื้นในร้านกาแฟโอภาสนั้นเข้มข้นมาก่อนหน้า มันดูง่ายๆ จริงใจคล้ายโกปี๊ที่พวกเขาเลือกให้วางอยู่บนโต๊ะ

 

ฝั่งตรงข้ามโรงแรมสินทวีเงียบเหงา พอๆ กันกับโรงหนังสักรินทร์ที่เหลือเพียงป้ายชื่อ ฟอนต์อักษรเหลี่ยมๆ ที่นิยมในสมัยโบราณย้อนแสงเหนือหลังคา ชีวิตตลาดราว 50 ปีก่อนอันเรียกได้ว่าคึกคักซุกซ่อนเรื่องราวอยู่เงียบเชียบ ตามร้านรวง แผ่นป้ายโฆษณาหรือในแววตาพ่อค้าชราสักคน

 

“แต่ก่อนหัวเช้านี่ไม่มีที่นั่งนะ เดี๋ยวนี้ดูสิ มีโต๊ะประจำกันเลยแต่ละกลุ่ม” สุรพร เศรษฐยุกานนท์ ยืนเล่าอยู่หลังร้าน หน้าหม้อน้ำเดือดพล่าน ควันโชยขาวฟุ้ง “คนเหมืองทั้งนั้นแหละแต่ก่อนน่ะ”

 

ห้องแถวของตะแกโปร่งสูง กรุผนังด้วยกระเบื้องสีเขียวอ่อน โต๊ะเก้าอี้มันเลื่อม ผ่านการใช้งานเนิ่นนาน “ระนองมันโตด้วยเหมืองรุ่นก๋งรุ่นเตี่ยผมรวยเหมืองทั้งนั้น” หลังเดินไปเสิร์ฟกาแฟให้กลุ่มหน้าร้าน แกจุดบุหรี่ต้นมวน ยกชาร้อนขึ้นแตะริมฝีปาก ก่อนจะพ่นควันบางๆ อยู่ที่โต๊ะประจำตัว

 

ปฎิเสธได้ยากว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้ขับเคลื่อนเติบโตด้วยสินแร่อย่างดีบุก และชีวิตเหมืองที่เด็กสมัยนี้ทำได้เพียงนั่งฟังเรื่องเล่าผ่านวงกาแฟ “แต่ก่อนพักเหมืองทีคนลงมาแน่น ข้าวของสินค้า หยูกยา มาจากฝั่งพม่า ของดีๆ ทั้งนั้น ปลากระป๋องจากอังกฤษ อะไรหลากหลาย” วงกาแฟข้างนอกคึกคัก นายเหมืองเก่า นายช่าง ที่เดี๋ยวนี้หันมายึดอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง พ่อค้า กลับมาหาส่วนเสี้ยวอดีตของตัวเองอยู่ในวงสนทนา

 

ผมนั่งและจมลงในวัฒนธรรมการกินกาแฟอันแสนเข้มข้นตามแบบฉบับคนใต้ของพวกเขา คุณลุงประพาส อุปรักษิตานนท์เจ้าของร้านตัดผมที่อยู่ถัดไปราว 5 ห้อง ทักทายเพื่อนร่วมสภาเหมือนทุกเช้า แกนั่งลงรินชาใส่จอก จิบเพลินสบายอารมณ์

 

“เมืองเล็กๆ อย่างนี้ คนคุ้นหน้ากันทั้งนั้น แต่นี่ก็แตกต่างกับสมัยก่อนเยอะ เมื่อก่อนใครมาใหม่เป็นเรื่องแปลก คนที่อื่นมาหางานเหมืองทำ เช้าลงรถก็มาร้านกาแฟเป็นที่แรก” สำหรับระนอง ดูเหมือนเรื่องเล่าของคนอายุ 50-60 ปีจะหนีไม่พ้นบรรยากาศของการทำเหมือง

 

ยุคที่พื้นที่ควนเขาแถบหาดส้มแป้นที่มีสายแร่ของเมืองระนองถูกขุดขึ้นเพื่อเปิดทำเหมือง ว่ากันว่าเงินสะพัดยิ่งนัก “ตึกสวยๆ ที่หลานเห็นนี่มาจากทำเหมืองทั้งนั้น ใครมีเงินก็อยากทำ ไม่มีที่ก็เช่าเขา อย่างว่า ราคาดีบุกตอนนั้นมันสูงลิบ” ลุงข้างๆ เสริมขึ้นอีกคนแย่งกันพูด หน้าร้านโอภาสอวลไปด้วยบรรยากาศของอดีตท่ามกลางการเดินไปอย่างเงียบๆ ของโลกปัจจุบัน

 

นั่งมองโลกริมถนนเรืองราษฏร์จากหน้าร้านของสุรพร ภาพตรงหน้าเปี่ยมชีวิตชีวาจนไม่อาจละสายตาไปได้ สองแถวไม้หน้าศาลเจ้ารอคิวรับคนเนืองแน่น ภาษาใต้ปะปนลอยล่อง พี่น้องพม่าพาตัวเองมาพร้อมชีวิตแรงงานมาปะปนอยู่ในตลาดตามรูปแบบเมืองชายแดน ที่พิเศษหน่อยอาจด้วยระนองเป็นเมืองแสนเล็ก โลกการค้าไม่เพียงขับเคลื่อนให้เมืองก้าวไปข้างหน้า แต่ยังทิ้งรูปแบบเฉพาะของตัวเองไว้ “เทียบกับยุคเหมืองเฟื่องฟู ผมว่ามันยังไม่ได้” พ.ศ. นั้นซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่เรื่องจำเป็น ทุกคนรู้ว่าเมื่อวันพักเหมืองของเจ้าไหนมาถึง ร้านค้าแต่ละเจ้าเป็นต้องพรั่งพร้อมสินค้านานาเอาไว้สำหรับคนที่ถือเงินมาเป็นฟ่อน

 

“บนเขาเป็นที่หาเงิน แต่จะใช้ต้องลงมาที่นี่ ผมเองก็มาระนองเอาในยุคนั้น” เราอยู่กันที่ร้านเกศกรรม ร้านตัดผมแสนคลาสสิกในตึกไม้เก่าแก่ใกล้แยกบางส้าน บานเฟี้ยมสีเขียวอันแสนยาวพับอยู่ริมขอบ เก้าอี้ตัดผมจากญี่ปุ่นที่ต้องขนกันมาทางเรือยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์เหมือนกับวันที่ถูกยกขึ้นมาถึง

 

เช่นเดียวกับ บุญธรรม เงากระจ่าง ช่างตัดผมเก่าแก่ ที่เมื่อมาถึงระนองเอาเมื่อ 40 ปีก่อนก็ไม่เคยจากไปไหนอีกเลย “พวกเหมืองทำงานหนัก ลงมาทีผมเผ้ารุงรัง แต่สตางค์นั้นเป็นฟ่อน” แกว่าผ่านวงหมากรุกประจำวันหน้าร้าน ป้าย “ขอบคุณผู้ชาย” ใต้ชายคาทำเอาผมอมยิ้ม “นั่นล่ะ แต่ก่อนรายได้หลักมาจากหนุ่มๆ ในเหมืองเป็นหลัก”

 

เหมืองดีบุกเฟื่องฟูขึ้นตามราคาตลาดโลก เทคโนโลยีการทำเหมืองอย่างเหมืองหาบเหมืองฉีด เดินทางมาสู่ระนองพร้อมๆ กับการมาถึงของผู้คนมากมาย “ตอนนั้นเหมืองมันเหมือนฝันของคนหนุ่ม ผมเริ่มจากรับล้างแร่ ไปอยู่ตามเหมืองทีก็แปดเก้าวัน ใช้ ‘ไท้’อันเดียวบวกกับเรี่ยวแรง ไม่กี่ปีก็เก็บเงินซื้อตึกที่ตลาดได้” แกว่าถึงเครื่องมือล้างแร่คู่ชีพที่เดี๋ยวนี้ยังเก็บไว้อย่างดีที่ชั้นบน

 

ชีวิตในเหมืองลำบากลำบน แต่หลายคนก็เลือกที่จะมุ่งขึ้นไปหา เพราะเมื่อกลับลงมาข้างล่าง นั่นอาจหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้น “ตึกสวยๆ ใหญ่ๆ นี่นายเหมืองทั้งนั้น แต่ก่อนเชิงเขานิเวศน์นี่แหล่งรวมหนุ่มๆ เลย ใครๆ ก็ต้องรู้จักบาร์พรสวรรค์” เขาว่าถึงแหลงเริงรมย์พักผ่อนของคนเหมือง ที่นั่นมีเหล้า มีบาร์รำวง มีผู้หญิงคนเที่ยวสำหรับหนุ่มๆ ไม่เพียงหนุ่มเหมือง แต่หนุ่มประมงอันเป็นอีกอาชีพที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของระนองก็มารวมตัวกันที่นั่น

 

ผมหันหน้าออกจากร้านเกศกรรม ฝั่งตรงข้ามคือชุดอาคารชิโน-โปรตุกีสที่สมบูรณ์ที่สุดบนถนนเรืองราษฎร์ มันทาสีใหม่สดใสปรับเปลี่ยนเป็นร้านเสื้อผ้า แต่เสน่ห์ตามลวดลายประดับไม่มีตกหล่น ภายใต้เค้าโครงของอาคารแบบตะวันตกอันโอ่อ่า หน้าบันหน้าต่างโค้งอาร์ก แต่กลับประดับด้วยลวดลายปูนปั้นไม้เถามงคลของจีน ลีลาเฉพาะตัวของอาคารรูปแบบนี้ไหลเวียนจากปีนังภูเก็ต และหัวเมืองต่างๆ ในภาคใต้ ไม่เว้นแม้แต่เมืองเล็กอย่างระนอง

 

“แต่ก่อนคนที่นี่ใครมีเงินก็ส่งลูกหลานไปปีนัง มันง่ายกว่าไปกรุงเทพฯ อีก” จริงอย่างที่บุญธรรมว่า นอกจากคนทำเหมืองที่ว่ากันว่าแถบละอุ่นต้องเดินตัดเขาลงมาเป็นวันกว่าจะถึงระนอง การไปไหนมาไหนทางเรือดูจะเป็นเรื่องที่สะดวกกว่า เช่นนั้นเองการค้าขายตลอดจนความสัมพันธ์ของคนที่มีอันจะกินของระนองจึงผูกโยงอยู่กับทางภูเก็ตและปีนังเสียมากกว่า

 

แดดสายเริ่มฉายแรง ผมข้ามไปยังตึกฝรั่งหัวใจจีนที่ฝั่งตรงข้าม ติดกันเป็นห้องแถวไม้ประตูสีเขียวปิดเงียบ ฝรั่งสามสี่คนเดินสวนไปมาพร้อมกับไกด์บุกเล่มเล็ก พวกเขาแวะเที่ยวเมืองสงบแห่งนี้ราววันสองวัน จากนั้นอาจข้ามไปเกาะพยาม เลาะลงไปพังงาภูเก็ต ขณะที่บางมุมตึกแถวหลังเก่าบางห้องปรับตัวเองกลายเป็นเกสต์เฮาส์ หลายสิ่งขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านไปตามนาฬิกาเรือนปัจจุบัน

 

ชีวิตในตลาดดำเนินไปแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คนรุ่นก่อนเหลือที่ทางให้โหยหาอดีตเฉพาะตัวกันตามเหลี่ยมมุม ในร้านกาแฟ กลางวงหมากรุก หรือประชาคมสักแห่ง

 

แต่พวกเขารู้ดีถึงความเปลี่ยนแปลง มันอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายสักเท่าไร ในเมื่อพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ค่อยๆ เคลื่อนไหวไปตามจังหวะการเดินของพวกเขา

 

และทางเดินก็ยังคงเป็นเส้นเดิม

 

2...

“ผมว่านอกจากดีบุกอันเฟื่องฟูทำให้เมืองเรามีอยู่มีกิน คนระนองแทบทุกคนต้องมีท่านเจ้าเมืองอยู่ในหัวใจ” ท่ามกลางพื้นที่เกือบ36 ไร่ในค่าย ณ ระนอง ในปลายบ่ายยามอันเงียบงัน โกศล ณ ระนองยืนอยู่หน้าป้ายไม้สลักหน้าศาลบรรพบุรุษตระกูล ณระนอง อันอ่านว่า “เถาหยัง” และแปลความหมายว่า “ดวงตะวันอันสูงส่ง”

 

เมื่อเข้ามาสู่ในค่าย ณ ระนอง คล้ายบรรยากาศโบราณร้อยกว่าปีไม่ได้จากไปไหน กำแพงโบราณ จวนท่านเจ้าเมืองที่กลายเป็นซากปรักหักพังล้วนบ่งบอกว่าพื้นที่เชิงเขานิเวศน์แห่งนี้เคยรุ่งเรือง เป็นเหมือนหัวใจหนึ่งของเมืองระนอง

 

จากชายหนุ่มจีนฮกเกี้ยนที่รอนแรมจากเมืองเจียงซิวหู ข้ามผืนทะเลมาเริ่มต้นชีวิตที่เกาะหมากหรือปีนัง การดิ้นรนต่อสู้เหวี่ยงตัวเองเข้าสู่ระบบการค้าตามวิสัยของคนจีน เป็นกรรมกรแบกหาม มานะบากบั่นออกสำรวจเส้นทางค้าขาย เข้ามาอยู่ภูเก็ต และต่อมาจนพบกับความมั่งคั่งในสินแร่ดีบุกของเมืองระนอง

 

ด้วยเห็นว่าเมืองระนองเป็นเมืองที่มีภูเขาและดีบุกมาก ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ผู้คนที่ขุดหาแร่ดีบุกจริงๆ มีน้อย เขาจึงคิดจะตั้งกิจการค้าดีบุกให้เป็นเรื่องราว โดยที่ไม่ต้องแย่งชิงกับผู้ใด คอซู้เจียงจึงเข้ามาขอผูกอากรดีบุกกับเมืองระนองและย้ายครอบครัวมาตั้งภูมิลำเนา ณ เชิงเขานิเวศน์

 

ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัตนเศรษฐี ตำแหน่งอากรในเมืองระนอง ต่อมาอีกหลายรัชสมัย คอซู้เจียงก็ได้เลื่อนยศจนกระทั่งมีตำแหน่งเป็นพระยาดำรงสุจริมหิศรภักดี ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง

 

“แต่คนที่นี่มักเรียกท่านว่าเจ้าคุณผู้เฒ่าบ้าง ท่านเจ้าเมืองบ้าง เราอยู่กันแบบพี่น้องมายาวนาน ระนองมีวันนี้ไม่ได้ถ้าปราศจากท่าน” โกศลชี้ชวนให้ผมดูแท่นสถิตย์ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ เครื่องเรือน ตราพระราชทานจากเมืองหลวง กล้องยา ภาพเขียนสีน้ำมัน หรือภาพถ่ายลูกๆ ของท่านหลายคนที่มีความสำคัญกับบ้านเมืองไทยในยุคต่อๆ มา

 

นาทีนั้นคล้ายเรื่องราวเกือบ 160 ปีที่ตกทอดจะดูชัดเจน แม้ในนี้จะเป็นเพียงห้องเล็กๆ กลิ่นธูปไม่เคยจางไปแม้สักวัน “เราต้องเคารพบรรพบุรุษ เคารพแผ่นดิน เหมือนคติของตระกูล อดทน ซื่อสัตย์ กตัญญู” เขาบอกกับผม แซ่คอแปลความหมายได้เช่นนั้น

 

เหล่านี้ล้วนบอกว่าอดีตเป็นเรื่องน่าทึ่งและพึงเคารพ

 

ยิ่งเมื่อมันผันผ่านเติบโตมาคู่กับเมืองที่หล่อหลอมมันอยู่อย่างแยกไม่ออก บางอย่างอาจแตกหักเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่กับบางที่ บางคน และบางแววตา มันไม่เคยตกหล่นไปจากจิตใจ

 

ในวันนี้ที่ระนองไม่เหลือภาพแรงงานในขุมเหมือง ไม่มีโรงฝิ่น บ่อนเบี้ยของนายเหมือง ร้านกาแฟกลายเป็นเพียงที่นั่งระลึกถึงคืนวันอันเรืองโรจน์ แม้เหมืองจะปิดตัวไปแต่เมื่อกลับมาสู่กลางเมือง สิ่งที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐานอาจเห็นได้ในตึกแถวโบราณเสียงหัวเราะ และเรื่องเล่าหนหลังของเหล่าผู้เฒ่าผู้แก่

 

เช่นนั้นเองที่อาจบอกเราว่า ท่ามกลางพื้นที่เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง สิ่งเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องภายนอก หากแต่เมื่อพวกเขาเลือกที่จะไม่จากไปไหน

 

ทางเดินภายในก็อาจยาวไกลให้ใช้ชีวิตค้นหาได้ไม่รู้จบสิ้น

ขณะที่เดินตามทายาทของตระกูลเก่าแก่แห่งเมืองระนอง