สุพัฒน์ งามวงศ์ไพบูลย์

สุพัฒน์ งามวงศ์ไพบูลย์

เขาสามารถสร้างสีสันอาณาจักรแห่งโลกบันเทิงทุกเสี้ยววินาที หากมีจังหวะโอกาสเอื้ออำนวย ก็เพราะมโนสำนึกของเขาเชื่อว่าโอกาสไม่ใช่รถไฟฟ้าที่จะผ่านเข้ามาในชีวิตทุก 5 นาที เขามีคาถาหรือดวงดาวนำโชคเยี่ยงไร เราน่าจะตีตั๋วหนังดราม่าเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน

 

นักกิจกรรมไม่รู้โรย

“ครอบครัวผม คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนเชื้อสายจีน มีธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ เลี้ยงดูลูกอย่างปกติ ไม่มีฐานะร่ำรวยอะไร ใช้ชีวิตสมถะเหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไป สิ่งที่ผมคิดหรือทำอะไรคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างจะปล่อย ผมจึงคิดเองทำเองกันมาตั้งแต่เด็ก ชั้นประถมต้นผมเรียนที่โรงเรียนโรจนปัญญา ย่านสะพานกษัตริย์ศึก พอประถมปีที่ 5 ก็เรียนที่โรงเรียนวัดพลับพลาชัย จนกระทั่งจบประถมปีที่7 จึงไปสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นช่วงการใช้ชีวิตของผมที่สนุกที่สุด ได้อะไรเยอะมากจากสถาบันแห่งนี้ ได้คำว่าเพื่อน ได้คำว่าสุภาพบุรุษ มันเป็นช่วงเวลาของประสบการณ์ที่น่าจดจำ ผมชอบทำกิจกรรม ทุกอย่างมันเลยซึมซับทำแล้วสนุก ทำแล้วมีความสุข งานต่างๆ ที่ออกมาจึงมักประสบผลสำเร็จ

 

“ผมเคยเป็นนักบาสเกตบอล นักปาฐกถาและโต้วาที เป็นคณะกรรมการนักเรียน รวมถึงชุมนุมเชียร์และแปรอักษร จนกระทั่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อนๆ จึงเลือกให้เป็นประธานรุ่นของสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่น 99 เป็นคนแรก จากนั้นผมก็มีความคิดอยากจะเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงสอบเอนทรานซ์เข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์หรือที่เรียกว่าภาคศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรียนอยู่ที่นี่ใช้เวลาถึง 5 ปี ยังคงสนุกกับการเรียนและการทำกิจกรรม เริ่มจากกิจกรรมหน้าเวที พอปี 4 ได้รับเลือกให้เป็นนายกสโมสรนักศึกษาของคณะสถาปัตย์ แต่ลึกๆ 
แล้วยังชอบกิจกรรมบันเทิง อาจจะได้รับอิทธิพลจากคำว่าละครถาปัดในสมัยนี้ ตอนนั้นอยากจะทำงานด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ถึงแม้ที่ลาดกระบังจะไม่มีละครถาปัด แต่มันจะมีบางส่วนของละครของสถาบัน โดยมีผมอยู่เบื้องหลัง ด้วยการจัดดูแลทำให้มันเกิดขึ้นมา หรือหากมีงานใหญ่ๆ ที่สถาบัน ก็จะเป็นพิธีกรหลักคนหนึ่ง จนกระทั่งจบจากลาดกระบังเข้าทำงานครั้งแรก จำได้ว่าเงินเดือน 4,500 บาท (หัวเราะ) เป็นคนออกแบบงานโฆษณา สิ่งพิมพ์ให้กับบริษัทเทนไทยแลนด์เอ็กซ์ซิบิชั่น เมเนจเมนท์ ของโฮมโชว์ยุคนั้น โดยเป็นเจ้าหน้าที่ออกแบบสิ่งพิมพ์ของบริษัท สมัยนั้นยังทำงานอาร์ตเวิร์คด้วย ใช้มีดคัตเตอร์และกาวยางน้ำเพิ่งจะมีคอมพิวเตอร์เข้ามา แต่เพราะสิ่งที่ผ่านหูผ่านตาจึงได้เรียนรู้ซึมซับอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับแวดวงเรื่องของการโฆษณาเหล่านี้ว่ามันมีจุดอะไรที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับมัน และเราก็เรียนรู้ด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตรงนี้ได้เยอะ

 

“ผมทำงานที่นี่ราวปีนึง จึงเริ่มมาเปิดบริษัทเล็กๆ กับเพื่อน ชื่อบริษัทจีมาร์ค รับทำงานเกี่ยวกับเรื่องโฆษณาโปรดักชั่น ทั้งงานสิ่งพิมพ์ งานถ่ายภาพสไลด์มัลติวิชั่น ซึ่งตอนนั้นคนยังไม่ได้หันไปใช้วีดีโอ ก็เป็นกิจการส่วนตัว เป็นช่วงสนุกของชีวิตอีกช่วงหนึ่งรายได้เป็นเรื่องรอง ทำไปได้สักระยะหนึ่ง ทีมงานบางส่วนจึงเริ่มค้นหาชีวิตของตัวเองแล้ว ต่างคนต่างไป ประจวบเหมาะกับกิจการที่บ้านของพี่ชายทำโรงงานพิมพ์สมุดชื่อบริษัทไทยสิน เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางของครอบครัวที่เขาอยากให้เราไปช่วยในสิ่งที่เขาขาด แล้วเรามี เราน่าจะเติมเต็มได้ในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดูแลเรื่องการตลาด ให้เกิดสินค้าที่ออกจากโรงงานจากรูปแบบเดิมๆ เป็นสินค้าใหม่ๆ สู่ตลาดใหม่ๆ ได้ จึงไปนั่งเป็น Business Developer ด้วยการออกแบบแล้วรีเสิร์ชจัดการให้เป็นสินค้าใหม่ๆ ออกมา ส่วนบริษัทจีมาร์ค ยังไม่ได้ปิด ก็จะมีน้องๆ ที่อยู่ในทีมมาช่วยตรงนี้บ้าง ทำในส่วนนี้อยู่ระยะหนึ่ง จึงเริ่มขยายกิจการออกมาเป็นบริษัทลูก แต่หันมาจับในเรื่องของการทำงานโปรดักชั่น งานโฆษณา งานออกแบบเป็นเรื่องที่เราชอบ และแยกหน่อ ออกมาเป็นบริษัทลูกอีกบริษัทหนึ่ง โดยการทำของที่ระลึกพวกพรีเมี่ยม ไดอารี่ เน้นนำความรู้ความสามารถของเราในเรื่องการออกแบบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดผลิตภัณฑ์สำหรับพรีเมี่ยม ขององค์กรต่างๆ ที่ทำแจกให้กับลูกค้า จึงนำชื่อจีมาร์ค โปรดัก มาใช้อีกครั้งหนึ่ง”

 

ไอเดียบรรเจิด

“ในขณะที่ทำบริษัทจีมาร์คเพลินๆ อยู่นั้น ด้วยความที่ผมเป็นคนมีเพื่อนฝูงเยอะ รวมถึงคุณสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ซึ่งเป็นเพื่อนในสมัยที่เรียนสวนกุหลาบฯ ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทของเอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ ซึ่งตอนนั้นเขามีธุรกิจทำโรงหนัง และเป็นเจ้าของสายหนังภาคตะวันออก เป็นธุรกิจของครอบครัวที่ทำมากว่า 30 ปี แล้วมาสานต่อขยายกิจการจนเป็นผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ในภาคตะวันออกแต่เพียงผู้เดียว และขยายเปิดโรงภาพยนตร์ต่างๆ กระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคตะวันออก โดยผมก็มีโอกาสรับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้กับคุณสุวัฒน์ตั้งแต่เริ่มทำโรงภาพยนตร์เอสเอฟ มัลติเพล็กซ์ที่ภาคตะวันออกมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งนั่งคุยกัน คุณสุวัฒน์ถามผมว่า ‘ถ้าเอส เอฟ จะเข้ามาเปิดโรงหนังที่กรุงเทพฯ’ นี่คือคำถามแรกที่เราเริ่มคุยกัน และก็เป็นจุดเริ่มต้นของ เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จนถึงวันนี้ ตอนนั้นราวปี พ.ศ. 2540 ก็ 11-12 ปีที่ผ่านมา

 

“ถ้าถามว่าวันนั้นสภาวะของโรงหนังที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร ก่อนหน้านั้นไล่มาตั้งแต่ โรงหนังสแตนด์อโลน คือโรงหนังแบบโรงเดี่ยวขนาดใหญ่หน่อย ฉายหนังเรื่องเดียว เช่น สกาล่า เฉลิมไทย จนปรับกลายมาเป็นโรงมินิเธียร์เตอร์ที่ผ่าโรงเป็นขนาดเล็กมากกว่า 1 โรงในที่เดียวกัน มาถึงยุคที่โรงหนังซบเซาเนื่องจากธุรกิจวีดีโอเข้ามาครองตลาดแทน จนกระทั่งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จึงเกิดศัพท์ใหม่ของคนดูหนังคำหนึ่งที่เรียกว่าโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ซึ่งเป็นโรงหนังยุคใหม่ที่โรงหนังปัจจุบันใช้กันอยู่ทุกวันนี้

 

“สมัยก่อนเราจะไปดูหนัง รอบฉายจะถูกกำหนดต้องเวลา 10.00 น. 12.00 น. และ 14.00 น. เป็นเวลามาตรฐาน  พอเป็นโรงมัลติเพล็กซ์ เรียกว่าเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง บริหารจัดการใหม่หมด การลงทุนค่อนข้างสูง โรงทันสมัย ที่นั่ง เสียง ภาพสมบูรณ์แบบ สะดวกสบายทุกอย่างจำนวนโรงจากโรงสองโรงก็ลงทุนเป็นสาขาละ 8-10 โรง เปลี่ยนจากการซื้อตั๋วแบบเขียนด้วยมือ เป็นซื้อตั๋วผ่านระบบคอมพิวเตอร์ การจัดรอบจากที่ฉายได้เพียงโรงละเรื่อง ก็สามารถจัดสรรเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้เกิดการบริหารรอบฉายที่หมุนเวียนตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโรงเยอะ รอบฉายเยอะ มีหนังให้เลือกหลากหลาย เลือกดูได้สะดวกตลอดเวลา

 

“ตอนนั้นเรายังอยู่ที่ภาคตะวันออกทั้งหมด แต่เราก็เริ่มมีโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ ใช้ชื่อว่า เอส เอฟ มัลติเพล็กซ์อยู่ก่อนเริ่มที่จังหวัดชลบุรีและขยายไประยอง ไปจันทบุรี และอีกหลายแห่งของภาคตะวันออก ในธุรกิจหนังหรือโรงหนัง ต่างจังหวัดเขาเรียกเป็นสาย เขาจะมีโซนและแบ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในแต่ละโซน หรืออาจจะมีมากกว่าหนึ่งคนเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจจะมีสัก 2 สาย ภาคใต้ 1 สาย ภาคเหนือ 2 สาย แต่ภาคตะวันออกของเรามีสายเดียวคือของตระกูลทองร่มโพธิ์

 

“จากนั้นเราจึงมีความคิดที่จะมองอย่างมีวิชั่น เริ่มจากสิ่งแรกที่มองก่อนว่าจะมาที่ไหน ซึ่งมีทั้งโจทย์ง่ายและโจทย์ยาก เพราะในตลาดขณะนั้น มันไม่ใช่มีแค่เมเจอร์ฯ เท่านั้น และผมเองก็มีธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว และยังทำอยู่เหมือนเรามานั่งคุยกับเพื่อน มาเริ่มงานกัน หารือกันในแบบเพื่อน ยังไม่มีตำแหน่ง ทำอะไรได้ก็ช่วยกันไป เริ่มแบ่งเวลาส่วนหนึ่งมาเริ่มสตาร์ท ผมมองว่ามันดีธุรกิจมีความท้าทาย ธุรกิจมีความน่าสนใจ ตั้งแต่สมัยเรียนที่อยากจะทำธุรกิจด้าน เอนเตอร์เทนอยู่ก่อนแล้ว จนกลายมาเป็นฝันที่เป็นจริง มันเริ่มจากการเซ็ตอัพไม่กี่คน คุณสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ คือตัวจักรสำคัญที่สุด เป็นผู้ลงทุน เป็นมันสมอง มีทีมงาน 3-4คน ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น

 

“จากคำถามที่ว่า จะทำดีไหม จนมาถึงคำถามที่ว่า จะทำที่ไหนดี เราก็มองว่าทำของยากไปเลย นั่นคือทำที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง เพราะมาบุญครอง ณ ตอนนั้นคืออันดับ 1 ของศูนย์การค้าที่มีศักยภาพที่สุดในขณะนั้น แน่นอน มันก็จะมีเครือข่ายในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ที่อยากจะเข้ามาทำโรงภาพยนตร์ที่นี่เหมือนกัน ถามว่าง่ายหรือยาก ที่เราทำคือ ชั้น 7 หากนึกภาพออกตอนนั้นมันเงียบเหงามากไม่เหมือนตอนนี้ มีเอ็มบีเคฮอลล์จัดคอนเสิร์ต นั้นคือการเช่าพื้นที่ทั้งหมดของมาบุญครองเซ็นเตอร์ ทำเป็นโรงภาพยนตร์เรียกว่าทำครบทุกความบันเทิง มีโรงหนัง โบว์ลิ่ง ร้านอาหาร ร้านค้าอะไรต่างๆ เต็มพื้นที่ชั้น 7 อยู่ในความดูแลของเราทั้งหมด มีโรงภาพยนตร์ครั้งแรกอยู่ 6 โรง เปิดมาวันแรกถือว่าประสบความสำเร็จมาก เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2542 ยุคนั้นเรียกว่ายุคฟองสบู่แตก จังหวะมันขึ้นอยู่กับสภาพรวมต่างๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ แต่ก็มีอีกหนึ่งจังหวะ คือคำว่า หนัง ถ้ามันมีหนังที่แข็งแรง ก็จะกลายเป็นหัวใจสำคัญมากในการทำให้คนอยากจะออกมาดูหนัง ในยุคนั้นเริ่มมีหนังดีๆ เข้ามา เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่อาจจะเกิดจากคนอื่นเริ่มก่อนก็ตาม แต่ยังมีเทรนด์ไปในลักษณะที่ดี โรงหนังไม่ค่อยตกยุค ก็เหมือนปัจจุบันนี้ สภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ผมก็ยังยืนยันว่าหนังปีนี้ดีมาก จะโตเท่าไร ผมวางไว้หมด เรารู้ตัวเรา

 

“สิ่งที่เรามองตอนนั้นในฐานะ New Comer ในสมรภูมิกรุงเทพฯ ก็คือถ้าจะทำต้องทำให้ดีที่สุดก่อน อีก 3 ปีหลังจากที่เราทำก็อาจจะไม่มีใครกล้าทำตามเรา หรือทำได้เท่ากับสิ่งที่เราทำตอนนั้น เรากล้าที่จะลงทุน ทั้งเรื่องของทำเล ที่ตั้ง เรากล้าที่จะลงทุนเรื่องการตกแต่งโรงภาพยนตร์ และกล้าที่จะลงทุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบ เพราะเราหวังว่ามันต้องเกิดให้ได้ ในสาขาแรกเมื่อมันเกิด มันจะเกิดเต็มรูปแบบ สาขาต่อมามันคือสิ่งที่จะตามมาได้ไม่ยาก”

 

ศึกชิงจ้าวยุทธจักร

“โดยหน้าที่ผมจะดูในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะเรามีเซ้นส์ มีความรู้ความสามารถในเชิงครีเอท ในเชิงมีเดียเราก็รู้ แต่ในเชิงพีอาร์เรายังเป็นศูนย์ โชคดีที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงกับผู้บริหารระดับสูง เพราะมันมีการได้คุยได้คิดร่วมกัน ได้เสริมศักยภาพตัวเองจากการทำงานจริงๆ

 

“ยุคนั้นวันเปิดวันแรก คนที่เป็นเจ้าตลาดคือ อีจีวี และมีเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 แต่มันยังมีอื่นๆ ที่ตามมาอีก ยังมีโรงภาพยนตร์ในเครือเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ เราจึงยังไม่คิดที่จะต้องรีบหรือเปิดสาขาใหม่เพื่อขยายในเชิงปริมาณ แต่ทุกสาขาที่เราจะทำ เราต้องมั่นใจว่าจะต้องประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมื่อประสบผลสำเร็จ ก็จะมีพาร์ทเนอร์ ร้านค้าหรือลูกค้าทั้งหมด มาที่เอส เอฟ หลังจากนั้นอีก 2-3 ปีเราจึงไปทำสาขาที่ 2 ที่เดอะมอลล์ จำได้ว่าฉายภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท ผมเปิดโรงหนังพร้อมกันที่เดียว 3 สาขา ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกก็ว่าได้ แกรนด์โอเพนนิ่งทอล์ก มีที่เดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์บางแค และเดอะมอลล์งามวงศ์วาน

 

“ด้วยงานที่ล้นและมากขึ้น แต่ก็เป็นงานที่เราจะต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้สมบูรณ์ ผมจึงกระโดดเข้าไปทำเต็มตัว เพราะเราเกิดกับมันมา จึงอยากจะสานต่อให้มันสมบูรณ์ และเราก็เห็นทางที่ดีของมัน อีกอย่าง ผมยังสนุกกับการทำงานอีกที่หนึ่งที่ทำอยู่ด้วย ซึ่งมันแยกจากส่วนใหญ่มาเป็นส่วนย่อย มันก็อยู่ตัวแล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่นี่เป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทาย มันเป็นเรื่องความชอบในธุรกิจนี้ด้วย

 

“การแข่งขันในยุคนั้นโรงภาพยนตร์อาจจะไม่ค่อยเยอะเหมือนในปัจจุบัน การแข่งขัน การทำกิจกรรมอะไรต่างๆอาจจะไม่เท่ากับปัจจุบัน มันเป็นรูปแบบที่ไม่ดุเดือด ไม่ต้องสร้างสรรค์มากเท่าขณะนี้ มันจะเป็นเรื่องของ 2 ส่วน คือเรามีการเปิดสาขาใหม่ เราจึงมีในเรื่องของการเซ็ตอัพและการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการตลาด โรงหนังใหม่ของเรา กิจกรรมการตลาดมันต้องต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนมากเป็นการโปรโมชั่นร่วมกับภาพยนตร์ กิจกรรมหน้าโรงภาพยนตร์ ถ้าเป็นสมัยมาบุญครอง จะสนุกมาก ทำทุกอย่างได้ เราคิดและสามารถทำได้ทันที เพราะมีอยู่สาขาเดียว แต่พอสาขามากขึ้น ความรับผิดชอบ
สูงขึ้น เราก็ต้องทำเป็นทีม ก็จะกลายเป็นเรื่องบริหารจัดการ วางแผนการตลาด ไม่ว่าจะทำกิจกรรมกับหนังเรื่องนั้นๆ หรือการโปรโมชั่น อีเว้นต์ต่างๆ เพื่อสร้างกิจกรรมของเราขึ้นเองในเทศกาลต่างๆ จะได้สร้างสีสันในการดึงลูกค้ามาที่เรา เพราะแบรนด์เรายังใหม่อยู่

 

คุณภาพต้องมาก่อน 

“สำหรับกลยุทธ์ในการหาภาพยนตร์นั้น ในความเป็นจริงโรงหนังก็อยากจะฉายหนังดีๆ ที่ทำเงิน เจ้าของหนังเองก็อยากจะมาฉายกับโรงภาพยนตร์คุณภาพและโรงภาพยนตร์ที่ทำเงิน เพราะมันเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน รายได้โดยประมาณก็แบ่งครึ่งหนึ่ง 50/50 เพราะฉะนั้นโรงหนังของเรา เราเชื่อว่าเราเป็นโรงหนังที่ดี เป็นโรงหนังที่ทำเงิน เป็นโรงหนังที่ค่ายหนังต่างๆอยากจะมาฉายที่เราแน่นอนอยู่แล้ว และในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่คุ้นเคยกัน เป็นพาร์ทเนอร์กันโดยส่วนตัว ต้องพึ่งพาอาศัยกันหนังของเราก็พยายามจะจัดฉายให้เขาได้มากที่สุด

 

“ส่วนคำถามที่ว่าโรงหนังของเราส่วนมาก ทำไมถึงอยู่ที่ชั้น 7 ผมว่าเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่า เพราะเราไปอยู่ในศูนย์การค้าและศูนย์การค้าส่วนใหญ่จะสร้าง 6-7 ชั้นโดยประมาณ ด้วยสูตรของการทำศูนย์การค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โรงหนังเราศูนย์การค้าเขามองว่าเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงลูกค้าให้ขึ้นมาได้ ก็เลยมักจะเอาโรงหนังขึ้นไปไว้ชั้น 7 หากเลือกได้ เราอาจจะเลือกอยู่ชั้นล่างก็ได้ (หัวเราะ)

 

“ผมวางแนวคิดและแนวทางตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ปัญหามีไม่มาก หากมีก็แก้ได้ไม่ยาก เพราะเราเติบโตอย่างมั่นคง เราไม่จำเป็นต้องมีโรงหนังจำนวนสาขามากที่สุด หรือมีปริมาณขยายสาขาอย่างรวดเร็ว แต่เราจะบอกกับตัวเองเสมอว่า โรงหนังสาขาทุกที่ที่เราเปิด ต้องมีศักยภาพ ต้องทำรายได้ ต้องเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า ต้องมีคุณภาพที่ดี ตอบสนองทุกคนได้ เราตอบได้ว่า
เรามั่นคง เรายืนยาว เมื่อรากฐานตรงจุดนี้ เบสิกมันแน่นปัญหาก็ไม่เกิด หรือถ้าเกิดเราก็แก้ไขก่อนได้ไม่ยาก เพราะเรามองในแง่บวก ปัญหาทุกปัญหามันแก้ได้เสมอ มันอยู่ที่เรามอง อยู่ที่ความคิดของเรามากกว่า แต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ผมต้องตั้งสติแล้วถอยออกมานิดหนึ่ง เพื่อหยุดดูว่ามันเป็นอะไร อย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องปกติ แค่ดูแล้วคิดกับมันหน่อยแล้วลงมือทำให้ดีที่สุด ถ้ามันดีที่สุดอย่างใช้สติ ใช้ข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะเป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น ต้องยอมรับมันและทำตัวเราเองว่าอย่าไปสร้างปัญหามากขึ้นให้กับตัวเราเองอีก

 

“เราเคยมีการจัดคอนเสิร์ตหรือจัดกิจกรรมในโรงบ้าง โดยเฉพาะโรงที่บรรจุผู้ชมได้ 700-800 คน ก็จัดมาหลายงานแล้ว แต่ไม่ได้เป็นเมน แต่เป็นฟังก์ชั่นที่เรารองรับให้เขาเพื่อสร้างสีสัน เพราะโรงหนังยุคนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแต่โรงหนังอย่างเดียว หากสำรวจให้ดี จะมีร้านอาหาร มีพื้นที่ข้างหน้า เนื่องจากโรงหนังเป็นจุดที่เกิดกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้อย่างชัดเจนอย่างที่ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ เป็นคนที่มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเองอยู่พอสมควร ลูกค้ากลุ่มต่างๆ จะรับรู้ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นการเกิดพื้นที่โฆษณาที่โรงภาพยนตร์ เกิดการจัดกิจกรรมทางการตลาดของคู่ค้าต่างๆ มาจัดกิจกรรมที่หน้าโรงหนังเรา เพราะมันเป็นจุดสำหรับกลุ่มลูกค้าทาร์เก็ตเหล่านี้ที่มาใช้ชีวิตที่นี่ และเกิดในแง่ของการทำกิจกรรมของคู่ค้าต่างๆ ควบคู่ไปด้วย”

 

ปรัชญาชีวิต

“อิทธิพลจากการทำงานด้านการตลาดแล้วประสบผลสำเร็จ สำหรับผม ผมมองว่าทุกช่วงชีวิตมีผมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวรวมทั้งผู้ร่วมงาน หรือจะเป็นคนรอบข้างก็ตาม อยู่ที่ว่าจะเลือกหยิบส่วนใดจากประสบการณ์นั้นมาใช้ ผมชอบฟังพี่ชายคนโตคุยธุรกิจ เขาเคยบอกผมว่าสมมติเรานั่งอยู่ข้างๆ กับเถ้าแก่สักคนที่กำลังนั่งคุยโทรศัพท์ทั้งวันกับลูกค้า ให้เราฟังเถ้าแก่คนนั้นพูด เราจะได้รับรู้อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในเชิงของธุรกิจตรงนี้ เพียงแต่ว่าเถ้าแก่คนนั้นจะเก่งหรือไม่เก่ง ผมว่าอีกส่วนหนึ่งคือคำว่าโอกาส เริ่มตั้งแต่การที่ได้มาอยู่ในสังคมนักเรียนที่สวนกุหลาบหรือตอนเรียนที่ คณะสถาปัตย์ ผมว่าน่ามีผลทางความคิดหล่อหลอมความเป็นตัวผมมากพอสมสควรเพราะมันเป็นจุดรวมของสังคมของที่มึหลากหลายมากด้วยกาารใช้ชีวิตสังคมที่มีรูปแบบเฉพาะตัวหรือจากการที่เราได้ทำกิจกรรมต่างๆ ผมว่าเริมชอบคิดอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนชาวบ้านเค้าตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว (หัวเราะ)

 

“แต่จุดที่มีส่วนทำให้เกิดความรู้ ความคิดเชิงการตลาดจริงๆ จังๆ ต้องยอมรับว่าเป็นประสบการณ์ที่มาพร้อมกับโอกาสในการจับงานที่ เอสเอฟ ตั้งแต่ต้นเพราะว่ามันเริ่มจากการเริ่มต้น ก็ได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้จากลูกค้าจริงๆ ได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานที่ร่วมลองผิดลองถูกมาด้วยกันโดยเฉพาะได้เรียนรู้วิสัยทัศน์ แนวคิดการทำธุรกิจอย่างมีหลักการและความเป็นมืออาชีพจากผู้บริหารระดับสูงที่นี่ มันหล่อหลอมอยู่ในตัวเรา จากของจริงไม่ได้มาจากทฤษฏี

 

“ผมว่าผมมีโอกาสหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ตอนเรียน จนกระทั่งมาถึงตอนทำงาน ที่คนอื่นอาจจะไม่มี เพียงแต่ว่า บังเอิญเราก็ไปคว้าโอกาสนี้ แล้วก็สรุปกับโอกาสตรงนี้ แล้วก็ไปสร้างโอกาสต่อของตัวเราเองขึ้นมามากกว่า แม้ว่าบางคนในทีมงาน มองผมว่าเป็นอาร์ต แต่ผมว่าผมเป็นคนที่คิดในเชิงโพสิทีฟมากกว่า ไม่ได้มีเล่ห์เหลี่ยม มีความจริงใจ ด้วยการซื่อสัตย์กับตัวเองเวลาทำงานกับทีมงาน ทั้งเจ้านายผู้บริหาร หรือคู่ค้าพาร์ทเนอร์ต่างๆ หรือลูกค้าของเราเองก็ตาม ผมว่าตรงนี้มันเกิดจากตัวเราเองโดยเนื้อแท้ มันทำออกมาโดยอัตโนมัติ มันออกมาจากใจ มันจึงมีความสุขที่ไม่ได้เสแสร้งอะไร แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมันออกไป มันก็จะสะท้อนกลับมาหาเราในสิ่งที่ดีกับเราอยู่เสมอ บวกกับโอกาสที่เรียกว่าจังหวะชีวิต ผมอาจจะไปได้ดีหรือแย่กว่านี้ก็ได้ แต่ผมก็พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ ผมเป็นคนที่เรียบง่าย ยิ้มเก่ง คุยกับใครก็ได้ ไม่ได้เป็นคนที่ทะยานอยาก

 

“ผมเชื่อว่าจังหวะชีวิตของคนมันเกิดจากตัวเองสร้าง และมันก็เกิดจากโอกาสที่มันจะมาด้วย บังเอิญผมอาจจะไม่ได้ถึงกับสร้างโอกาสให้กับตัวเอง แต่บางครั้งต้องมีคนให้โอกาส ก็ถือเป็นความโชคดี ผมพอใจกับมันตรงนี้ เพราะชีวิตคนมันก็มีอยู่แค่นี้ ทำงานครอบครัว ส่วนตัว ผมอยากเซ็ตอัพงานตรงนี้ให้สมบูรณ์เป็นตัวขับเคลื่อนต่อไป ผมอาจจะไปสู่จุดที่สองได้ ก็คืออยากให้ตัวเองมีชีวิตที่ว่างกว่านี้หน่อย (หัวเราะ)

 

“ผมไม่เคยตั้งตัวเองว่าจะเกษียณอายุเมื่อไร ถ้าทำได้อยากจะผ่อนมากกว่า เซ็ตอัพให้ดี แล้วก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสานต่อไปได้ เราก็คงอยากจะดูแลหรือคอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ อีกสัก 2-3 ปีก็คงเริ่มผ่อน ถึงวันที่ผมมีเวลาเป็นของตัวเองมากขึ้น ก็อาจมาคิดอีกทีว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน อย่างไร ซึ่งแน่นอนส่วนหนึ่งยังต้องทำงาน แต่อีกครึ่งหนึ่งของชีวิตต้องอยู่กับครอบครัว ต้องยอมรับว่าในเรื่องเวลาที่มีให้กับครอบครัว อาจจะไม่เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ เพราะเวลาจะสวนกันพอสมควร เราใช้ชีวิตเรียบง่ายในการดูหนัง ทานข้าว มีโอกาสก็ไปต่างจังหวัดบ้าง แต่ก็อาจจะเป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวที่ผมสามารถทำให้ครอบครัวมีความสุขได้ หรืออาจจะเพราะผมมีรอยยิ้มอยู่ในตัว ผมมีความอบอุ่นและสร้างความสุขให้กับครอบครัวได้ ผมมีลูกสาว 2 คน สามารถปรึกษาพูดคุยกันได้ในทุกเรื่อง เลี้ยงดูลูกแบบเพื่อนจริงๆ เนื่องจากเขาโตแล้ว คนโตอายุ 18 เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนคณะมัลติมีเดีย ภาคอินเตอร์ อีกคนหนึ่งอายุ 15 จะขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ผมโชคดีที่มีลูกๆ เชื่อฟังไม่ทำให้หนักใจ ส่วนหนังต้องยกความดีให้กับภรรยา เพราะเขาเป็นแม่ที่คอยดูและลูกอย่างใกล้ชิด เราเป็นที่ปรึกษาที่สามารถตอบทุกคำถามให้กับลูกได้หมด ด้วยการสอนที่เราเข้าใจลูก เราเข้าใจกลุ่มเด็กวัยรุ่น เข้าใจคนสมัยใหม่ค่อนข้างชัดเจน

 

“เมื่อผ่านจากจุดที่ดูแลตัวเองได้ ก็จะเริ่มดูแลคนรอบข้างได้ แล้วก็ต้องกลับมาสู่ตัวเองว่า ต้องไม่ไปเป็นปัญหาให้กับสังคม มันขึ้นอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่ไปไล่บริจาค ทำโน่น ทำนี่ เราต้องทำด้วยตัวเอง โดยเฉพาะเราเป็นธุรกิจโรงภาพยนตร์ เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่มีผลต่อผู้บริโภค เราเป็นโรงภาพยนตร์ที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการจัดฉายภาพยนตร์มากที่สุด อย่างการจัดฉายภาพยนตร์โฆษณาหนัง เราเข้มงวดมาก กับโฆษณาหนังที่จะฉายคู่กับหนังบางกลุ่ม อย่างเช่น “ก้านกล้วย 2” หนังที่จะโฆษณาที่จะฉายก่อนก้านกล้วย จะไม่มีหนังที่มีผลต่อเรื่องของศีลธรรม จริยธรรม ความรุนแรง ต่างๆ ฉายก่อนแน่นอน แม้จะเป็นหนังที่เชื่อว่าจะทำเงินมากแต่รุนแรงก็ตาม เราเป็นโรงภาพยนตร์เครือเดียว ที่ไม่เอาเข้ามาฉายหนังทำเงินบางเรื่อง ด้วยเหตุผลเหตุผลเดียว ก็คือมันรุนแรงเกินไป สำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่จะมาดู เราจึงไม่ยอมฉายหนังเรื่องนั้น”

 

โปรดติดตามตอนต่อไป

“ผมเป็นคนที่ไม่ใช่วัยรุ่น แต่ความรู้สึกของหัวใจเรายังหนุ่มอยู่ตลอดเวลา ผมก็ยังไปเที่ยว บางทีหลังจากทำงานเสร็จ ก็จะมีสังคมมีเพื่อนฝูงนั่งคุยกัน ผมใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ ส่วนมากจะดูหนัง ผมดูหนังในฐานะของคนดูหนัง พยายามทำตัวให้เหมือนคนดูหนังทั่วไป ไม่ได้ไปจับผิดหนัง รู้สึกอยากสนุก อยากร้องไห้ อยากหัวเราะกับมัน หรือไปร้องเพลงก็ร้องได้ แต่ผมไม่เที่ยวกลางคืน นอกจากบางครั้งผมจะมีปาร์ตี้กับแวดวงสังคมชั้นสูง จนไปถึงการร่วมงานของกลุ่มวัยรุ่นต่างๆ ได้อย่างไม่เคอะเขิน สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเห็นด้วยตัวเราเองเยอะ เราสามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าด้วยตัวเราเองเพื่อนำมาประยุกต์กับวิถีชีวิต

 

“สำหรับหนังปีนี้ จะเป็นปีทองของหนังที่ย้อนมาสู่ยุคของหนังทำเงิน หนังใหญ่ที่จะฉายทำเงินสำหรับปีนี้มีจำนวนมาก จากช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป เป็นช่วงเวลาของหนังบล็อกบัสเตอร์ ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ดจะออกมาแทบทุกสัปดาห์ ปีนี้มีหนังใหญ่ดาหน้าเข้ามาฉายจำนวนมาก ทั้ง เอ๊กซ์เมน ภาคกำเนิดวูลฟ์เวอร์รีน, ไนท์ แอท เดอะมิวเซียส, คนเหล็ก 4, 
ทรานฟอร์มเมอร์ 2, แฮร์รี่ พอตเตอร์ นี่คือหนังภาคต่อที่เรารู้จักกัน เรียกว่าระดับ 100 ล้านทั้งนั้น แล้ว

 

หนังไทยเองก้านกล้วย 2 ก็เป็นหนังทำเงิน ปลายปีก็จะมี องค์บาก 3,ตำนานสมเด็จพระนเรศวร 

ถางเส้นทางที่เติบโตอย่างมั่นคงในธุรกิจภาพยนตร์