สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย

สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย

ไม่กี่วันต่อมา ความจัดจ้าของแดดและเหลี่ยมมุมย้อนแสงก็ทำให้เจดีย์องค์หนึ่งริมแม่น้ำยม เมืองเชลียง อำเภอศรีสัชนาลัยกลายเป็นเงาดำจมหายไปพร้อมกับเด็กซน 2 คนบนอานจักรยานที่ใช้พื้นที่ข้างหน้าเป็นลานเล่นในทุกๆ วัน

 

ห้วงนาทีเหล่านั้น ชีวิตรายรอบก็เหมือนจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับผืนดินที่โอบอุ้มพวกเขาอยู่

กว่า 700 ปี ที่พื้นแผ่นดินริมลุ่มน้ำยมเก็บซ่อนเศษซากความรุ่งเรืองของเมืองและเรื่องราวของผู้ใช้ชีวิตอยู่กับมันไว้ข้างล่าง ในที่นาสักแปลง หรือแม้แต่หนองน้ำสักแห่ง จนเมื่อความรู้สึกอยากรู้ของคนยุคถัดมาอย่างเราๆ ทำให้บ้านเมืองเหล่านั้นกลับเสียดตั้งทะลุวันเวลาขึ้นมาอีกครั้ง รูปทรงลวดลายของเจดีย์ตลอดจนงานปั้นเต็มไปด้วยคำถาม ข้อสงสัย และความงดงาม เครื่องสังคโลกที่ขุดค้นขึ้นมาจากปลักโคลนและเตาเผาโบราณกลายเป็นสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมและการติดต่อกับสังคมภายนอกของพวกเขา

 

พวกเขา-คนที่มีส่วนทำให้เราหยัดยืนอยู่บนดินเดียวกันในวันนี้

 

............................................................................................................................

 

สายๆ ของวันธรรมดาที่มาถึงเขตเมืองเก่า สุโขทัย ร้านรวงเงียบเชียบ จักรยานเช่าหลายร้อยคันของร้านใหญ่หน้าอุทยานฯ จอดเรียงรายเกาะพราวด้วยเม็ดฝน สองแถวไม้หน้าตามีเอกลักษณ์เพิ่งส่งคนเมืองเก่าและนักท่องเที่ยวฝรั่งสามสี่คนลงมายืนรวมหลบฝนกันหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อย่างไม่พูดจา คนพื้นถิ่นกางร่มเดินข้ามเข้าสู่บ้านในชุมชนตรงข้ามอุทยานฯ ขณะผู้มาเยือนผมทองหันรีหันขวาง กางแผนที่ย่อยๆ ในมือ ก่อนที่จะใช้เพิงกาแฟเล็กๆ เป็นที่ตั้งหลัก

 

ความไม่คึกคักจอแจยามฝนเยือนดูจะเข้ากันไม่น้อยกับเรื่องราวและบรรยากาศเงียบๆ ภายในเขตอุทยานฯ เมื่อฝนหยุด ยอดเจดีย์มากมายที่เรียงรายโผล่พ้นแนวไม้ภายในเขตชั้นในก็ดึงดูดให้หลายคนรวมถึงเราเดินเตาะแตะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรุ่งอรุณแห่งความสุข ตามความหมายของชื่อเมืองสุโขทัย

 

แม้จะไม่สันทัดในเรื่องประเภทและความสำคัญของแต่ละรายละเอียด แต่ความงดงามอ่อนช้อย รวมไปถึงลวดลายปูนปั้นและความสมบูรณ์หลังการบูรณะของวัดมหาธาตุ ก็ทำเอาคนรุ่นหลังหลายร้อยปีอย่างเราๆ ต้องแหงนมองเจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์คอตั้งบ่า จดสายตาและย่ำเท้าไปแทบทุกรายละเอียด

 

ซากเจดีย์ต่างแบบต่างสมัยของวัดมหาธาตุบอกให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงต่อเติมตลอดที่สุโขทัยรุ่งเรืองเป็นนครสำคัญบนลุ่มน้ำยม ช่างภาพสนใจปูนปั้นรูปพระสาวกตามรอบฐาน ส่วนผมแยกออกมานั่งมองพระพุทธรูปปางมารวิชัยในวิหารร้างขนาดเล็กทางทิศเหนือที่เป็นภาพติดตาสมัยหัดเรียนวาดเขียนยามประถม

 

คล้ายแง่มุมและความสนใจส่วนตัวจะปรากฏในความเงียบ เท่าที่รู้สึกเวลาเข้ามายังเขตโบราณสถาน แต่ละคนเหมือนถูกเสน่ห์อันอ่อนช้อยในรอยอิฐดึงให้ตรึงตราแทบจะไร้คำพูดคุย ปรางค์สามยอดลักษณะอิทธิพลศิลปะขอมของวัดศรีสวายโดดเด่นอยู่หลังคูน้ำที่ล้อมรอบปรางค์ ลายปูนปั้นรูปครุฑและเทวดาที่กลีบขนุนของปรางค์องค์ซ้ายละเอียดอ่อนไม่แพ้ลายปูนปั้นซุ้มเรือนแก้วของปรางค์องค์กลาง

 

นอกเหนือจากทั้งสองวัด ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ชั้นในยังเรียงรายหย่อมโบราณสถานไว้ตามจุดต่างๆ อย่างวัดตระพังเงินโดดเด่นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมอยู่ทางทิศตะวันตกของตระพังหรือสระน้ำตามวัดสระศรีที่เจดีย์ทรงลังกาตระหง่านอยู่กลางสระใหญ่กลางเมือง ที่เมื่อเราข้ามสะพานไม้เล็กๆ เข้ายืนจึงได้เห็นว่า ด้านหน้าองค์เจดีย์มีวิหารขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยไว้อย่างสวย

 

ตระพังหรือบ่อน้ำคูน้ำมากมายภายในเขตเมืองนี้เอง ที่เป็นสิ่งสะท้อนกายภาพของเมืองสุโขทัยที่ยังหลงเหลือให้เห็นถึงความโดดเด่นของการวางผังและการจัดระบบชลประทานในอดีตกาลนับร้อยปี ตระพังกักเก็บน้ำจากทางน้ำที่หลั่งไหลมาจากเขาหลวง เพื่อหล่อเลี้ยงผู้คนในอดีตทั้งการใช้และการเพาะปลูก

 

 ความเป็นชุมชนของคนในอดีตกาลไม่เพียงอัดแน่นอยู่แต่ในเขตกำแพงเมือง ภายนอกกำแพงรายรอบทั้งสี่ทิศก็ทิ้งเรื่องราวการก่อตั้งเมืองไว้ในวัดต่างๆ อย่างวัดพระพายหลวงทางทิศเหนือ ที่เมื่อเราไปถึงพร้อมฟ้าขมุกขมัวแต่เสน่ห์ไม่เลือนจางตกหล่น ลายปูนปั้นตามหน้าบัน ฐานเจดีย์น่าตื่นตาเมื่อเดินเข้าไปโฟกัสใกล้ๆ วัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางชุมชนยุคแรกของสุโขทัยที่ปะปนศิลปะขอมแบบบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่นับถือพุทธศาสนานิกายมหายานเอาไว้ที่องค์ปรางค์ ต่อมาเมื่อถูกเปลี่ยนให้เป็นพุทธสถานในนิกายเถรวาทก็ได้มีการสร้างเจดีย์และพระสี่อิริยาบถอันเป็นสิ่งสะท้อนสกุลช่างสุโขทัยเพิ่มเติมต่อมาทางทิศตะวันออก

 

เลียบเลาะไปทางทิศเหนือของเมือง ระหว่างเดินลอดผนังมณฑปเข้าไปยืนมองความยิ่งใหญ่ของพระอจนะแห่งวัดศรีชุม ที่ทางซ้ายมีช่องทางเดินขึ้นไปสู่ยอดมณฑปแต่ถูกปิดตายไปแล้ว บางคนว่าถึงเชิงช่างโบราณด้านบนของวิหารวัดศรีชุมคือที่ที่ใครสักคนจะเข้าไปยืน พูดจาให้เสียงล่องลอยออกมาสู่ผู้คนข้างล่าง คล้ายพระอจนะจะเปล่งวาจาได้ เป็นภูมิปัญญาของช่างโบราณสมัยสุโขทัยอันน่าทึ่ง

 

ห่างไกลออกมาจากสุโขทัยราวร้อยกว่ากิโลเมตร ย้อนแม่น้ำยมขึ้นเหนือ ผ่านนาข้าวเขียวชอุ่มที่มีมุมแปลกตาหลากหลายให้เลือกมองผ่านกระจกรถ เมื่อไปถึงเมืองเก่าแห่งนั้น ความเงียบเชียบสงบง่ายก็ดูจะทำให้การเข้ามาเดินอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นเมืองศรีสัชนาลัยดูจะเป็นเรื่องรื่นรมย์สำหรับผู้ขับรถยาวไกลมาอย่างเราๆ

 

สัณฐานคล้ายหอยสังข์จากการที่แม่น้ำยมโอบเมืองเป็นคุ้งโค้งนี่เอง ที่คนโบราณซึ่งก่อรากหล่อหลอมเมืองเก่าแห่งนี้ในหลายร้อยปีที่ผ่านมาเชื่อกันว่าเป็นมงคลลักษณะ เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของพระนารายณ์

 

จะอย่างไรก็ตามในความเชื่อเก่าก่อน แต่สิ่งที่เห็นทุกวันนี้คือความงดงามที่สั่งสมมาจากพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ได้ผ่านทิศทางของการก่อเกิด ล่มสลาย จนกลับขึ้นมาเจอกับการหมุนของโลกปัจจุบัน

 

กายภาพแบบเมืองโอบเขา เขาโอบเมืองอันเป็นความเชื่อเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่แพร่หลายในโลกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคนั้นชัดเจนเมื่อเราใช้เวลายามบ่ายเข้าสู่ความร่มรื่นของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ฝนหนักๆ เมื่อช่วงเช้าเหือดหายไปกับแดดบ่ายระอุร้อน

 

หากขึ้นไปมองด้วยสายตาของนก เมืองโอบเขา เขาโอบเมือง จะเห็นได้ชัดว่าในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยที่ขยายมาจากเมืองเชลียงที่อยู่ไม่ไกลกันนั้นมีเขาพนมเพลิงทอดตัวยาวอยู่กลางเมือง และขณะที่รอบนอกกำแพงเมืองออกไป เขาพระศรีก็โอบล้อมทั้งเมืองและเขาอยู่อีกชั้นหนึ่ง

 

ภายนอกน่าสนใจ ข้างในยิ่งน่าใส่ใจยิ่งกว่าเมื่อผมมายืนมองรูปปั้นช้างเก่ากร่อนทั้ง 39 เชือกที่ฐานเจดีย์วัดช้างล้อม แต่ละตัวหักพังแต่ก็ยังสะท้อนความใหญ่โตและความเชื่อเรื่องช้างแบกโลกและจักรวาลตามคติของศาสนาพราหมณ์ที่น่าจะเข้ามาถึงเมืองแห่งนี้ก่อการเข้ามาถึงของศาสนาพุทธ ไม่ไกลกันนักจากวัดช้างล้อม เพียงเดินไปตามทางลาดยางร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ วัดเจดีย์เจ็ดแถวก็เรียงรายรูปทรงต่างๆ ของเจดีย์อันหลากหลาย สะท้อนความสามารถของช่างโบราณที่ผสานศิลปะแบบต่างๆ ทั้งสุโขทัยและล้านนาเข้าไว้ด้วยกัน บ้างเป็นทรงปราสาท ทรงดอกบัว ทรงมณฑป ที่สำคัญทั้งหมดต่างดงามด้วยงานประดับและลวดลายตามซุ้มคูหา

 

ว่ากันถึงเรื่องลวดลายประดับ เราเลยมาถึงวัดนางพญาที่มีลายประดับซึ่งว่ากันว่างามที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เห็นตกต้องแสงท้ายๆ อยู่ในปลายบ่าย เมื่อเข้าไปดูใกล้ ลายปูนปั้นอ่อนช้อยละเอียดลออนั้นคล้ายรูปคนกำลังวิ่ง มีลายใบไม้และดอกไม้ที่ประดิษฐ์อย่างวิจิตรล้อมรอบ เหนือขึ้นไปตามกรงหน้าต่างที่ยังเป็นเค้าโครงก็เป็นลายรักร้อยเลื้อยขึ้นไปตามความสูง

 

ความเก่าแก่ที่หยัดยืนขึ้นมาท่ามกลางความเรียบง่ายของศรีสัชนาลัยไม่เพียงแต่ทำให้คนมาเยือนอย่างเราๆ อิ่มเอม แต่การปักหลักชีวิตอยู่กินกับผืนแผ่นดินรุ่นต่อรุ่นก็ทำให้เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำยมแห่งนี้มีเรื่องราวต่อเนื่อง สวยงาม และชัดเจน

เย็นย่ำท้ายๆ วัน ไม่มีอะไรดีไปกว่ามาเดินเล่นริมน้ำยมแถบเมืองเชลียง เมืองเก่าก่อนจะย้ายไปสร้างเมืองศรีสัชนาลัยในกำแพงเมืองที่อยู่ถัดไปไม่ไกล วัดพระศรีรัตมหาธาตุเชลียงเด่นอยู่ด้วยการรับอิทธิพลศิลปะขอมในยุคแรกของการตั้งเมืองในซุ้มประตูทางเข้า และผสมผสานศิลปะอยุธยาที่องค์ปรางค์หลังการบูรณะมาหลายยุคหลายสมัย

เด็กๆ ขี่จักรยานผ่านมาและลิ่วเข้าไปป่ายปีนก้อนอิฐที่ก่อกันขึ้นเป็นสิ่งที่เรียกว่าเจดีย์

พระเณรออกมากวาดลานตรงหน้าโบราณสถานคล้ายมันเป็นส่วนหนึ่งของการงานและสิ่งที่ต้องกระทำ

 

นาทีนั้นผมนึกถึงคำพูดของคนใกล้ตัวที่ว่าโบราณสถานไม่ใช่เพียงก้อนอิฐก่ายกองและจะดูมีชีวิตเสมอหากได้เป็นส่วนร่วมกับคนที่อยู่กับมัน

อาจไร้ความชัดเจน เกลื่อนกล่นเป็นเศษซากพังทลาย หรือก่อรูปข้ามวันเวลาขึ้นมาใหม่

หากว่าชีวิตที่หลากไหลรายรอบได้อยู่ร่วมเติบโต

บทบันทึกข้อใดในประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจสำคัญเท่า

 

How to go?

ออกจากจากกรุงเทพฯ ด้วยทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) จากนั้นแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ผ่านพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เลี่ยงเมืองนครสวรรค์ มุ่งสู่กำแพงเพชร เมื่อแยกขวาเข้าเมืองกำแพงเพชร ถึงวงเวียนหน้าเมือง แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านอำเภอพรานกระต่าย คีรีมาศ เข้าสู่จังหวัดสุโขทัย ระยะทางประมาณ 440 กิโลเมตร หลังจากเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ต่อไป ผ่านอำเภอสวรรคโลก ถึงอำเภอศรีสัชนาลัย เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 18-19 เลี้ยวซ้ายข้ามแม่น้ำยม จะมีทางแยกเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยทางขวามือ

 

อัตราค่าเข้าชมภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสุโขทัยและศรีสัชนาลัย คนไทย ราคา 10 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 40 บาท หรือสามารถหาซื้อบัตรรวมได้ คนไทย ราคา 30 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 150 บาท นำรถยนต์เข้าขับเที่ยวชมภายในอุทยานฯ ราคา 50 ต่อคัน (รวมคนขับ)

 

อุทยานฯ สุโขทัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-21.00 นาฬิกา (วันศุกร์-วันอาทิตย์ มีการเปิดไฟประดับโบราณสถานยามค่ำคืน) ส่วนอุทยานฯ ศรีสัชนาลัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-17.00 นาฬิกา

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทรศัพท์ 0 5569 7310

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โทรศัพท์ 0 5567 9211

 

และในปีนี้ อันถือเป็นปีเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางอุทยานประวัติศสาตร์สุโขทัยจัดงานประเพนี “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ งดงามอลังการด้วยแสง สี ณ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย งานจัดในช่วงวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2554 ผู้ที่สนใจเข้าเที่ยวชมสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุโขทัย โทร. 0 5561 1619

 

ขอบคุณภาพจาก: 

อภิสิทธิ์ มิตรพิทักษ์, กัลยา รักศิลป์, บุญเลิศ เกตุแก้ว

บุคลิกที่สุโขทัยเต็มไปด้วยความอึมครึม