ปราจิน เอี่ยมลำเนา

ปราจิน เอี่ยมลำเนา

ไฟย่อมหลอมให้เหล็กแกร่ง อุปสรรคย่อมหลอมคนให้เข้มแข็ง ฉันใดฉันนั้น ชีวิตจะประสบผลสำเร็จย่อมมีต้นทุนเสมอ จากบรรทัดต่อไปนี้คือประกายความคิดของอัญมณีแห่งปัญญาของ ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานบริหาร คาวบอยสยามที่ควบอาชาคุมบังเหียนหนังสือนิตยสารยานยนต์ถึง 8 ฉบับ หนังสือพิมพ์อีก 1 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น นิตยสารกรังด์ปรีซ์ นิตยสารมอเตอร์ไซค์ นิตยสารออฟโรด นิตยสาร XO AUTOSPORT นิตยสารนาฬิกาและอัญมณี หนังสือพิมพ์ยวดยาน Thai AUTOBIZ ธุรกิจการพิมพ์ การแข่งรถ

 

กัลยาณมิตรสายน้ำหมึกมอบตำนานอันยิ่งใหญ่ว่าเจ้าพ่อมอเตอร์โชว์ เพิ่งพักผ่อนหลังจากเหน็ดเหนื่อยงานมอเตอร์โชว์ 2008ครั้งที่ 29 เมื่อปลายมีนาคมต่อต้นเมษายนหมาดๆ เน้นแนวความคิดขานรับจับกระแสโลกสีเขียวและน้ำมันเชื้อเพลิงห่วงใยสิ่งแวดล้อม “นวัตกรรมยานยนต์ คน และธรรมชาติ” ทั่วโลกต่างต้องบันทึกจดจำกล่าวขานถึง

 

แต่ทว่าการหยิบจับชีวิตใครสักคนมาทะยานโลดแล่นบนรันเวย์ชีวิต ย่อมจับต้องได้เยี่ยงวิถีแห่งคนกล้า ล้มแล้วลุก สู้ชีวิต ยามเพลี่ยงพล้ำก็ยอมถอยไม่ดันทุรัง พระท่านว่า น้ำเหงื่อคือน้ำมนต์ที่ขลังที่สุด รวยแล้วอย่าลืมตัว ทรัพย์สินเงินทองบริวารเพียบพร้อมไม่ได้เกิดจากดอกผลสมบัติของเจ้าคุณปู่ เจ้าคุณตา ราวละครที่ฉาบฉายอยู่ตามโทรทัศน์ วจีถ้อยคำบรรจุอยู่ในหัวใจของหนุ่มใหญ่ร่างท้วมตุ้ยนุ้ยใบหน้าอิ่มบุญ น้ำเสียงก้องกังวานออกมา แลดูขลัง มีมนต์พลังอำนาจ จริงใจใฝ่ธรรมะ ดำรงตนด้วยหลักปรัชญาดุจพหูสูตไม่สัมผัสคงไม่รู้สึกถึง ดั่งทองแท้ที่ไม่แพ้ไฟ แต่ที่เห็นประกายแวววาวอาจจะไม่ใช่ทองเสมอไป

 

จนเงินแต่อย่าจนน้ำใจ

ปฐมบทของ “ปราจิน” พี่เอื้อยแห่งวงการยานยนต์ รัวหมัดเป็นชุดโดยไม่ต้องรอให้ตั้งคำถาม เมื่อประจันหน้าเหมือนคนคุ้นเคยแวะมาเยี่ยมเยียน นั่งสนทนากัน

 

“มนุษย์เรามีปัญหายุ่งยากขึ้นทุกวัน คนเราพอเริ่มที่จะประสบผลสำเร็จตั้งตัวได้แล้ว พวกนี้มันเห็นผลเลย บางคนบอกว่าต้องรวยก่อน ถึงจะไปบริจาคช่วยเหลือคนอื่นที่ด้อยกว่า มหาเศรษฐีเขาจะบริจาคเงินเท่าที่จำเป็นที่เห็นประโยชน์ แต่สำหรับผมแล้วการให้ถือว่าเป็นจุดที่เราได้รับมา เวลาเราเดินไปหาใครเราตั้งความหวังไว้ เมื่อคนที่เดินมาหาเรา ผมก็ไม่อยากให้เขาผิดหวัง เหมือนเราเดินไปหาใครแล้วเขาปฏิเสธมา มองเราต่ำต้อย มันเจ็บปวด มาแล้วเราช่วยอะไรได้ เราจะต้องช่วย เพราะเราถือว่าสิ่งที่เราเริ่มขึ้นมา เราเริ่มสตาร์ทมาจากศูนย์ ไม่มีอะไรเลย เมื่อมีขึ้นมา เราจะไม่รอว่าเรามีมากหรือมีน้อยแล้วจึงจะให้ เรามีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก ในจิตใจของบางคนคิดว่าไอ้นี่หมู มาขออะไรก็ได้หมด แต่เราก็ต้องมาดู จะมีเลขาฯ ของผมคอยสกรีน เราต้องดูที่เจตนาว่าผู้มาหาเราเอาเงินไปทำอะไร บางครั้งเราไม่สามารถไปพิสูจน์ได้ บางทีเราก็จะให้ก่อนที่จะไปดู หากมีอะไรดีก็จะเกิดงบผูกพันต่อเนื่อง คนเราถ้ามีขึ้นมาเมื่อไร เราต้องดูแลคนใกล้ตัวเราก่อน จากครอบครัวจึงไปสู่สังคม โรงเรียนเก่าผมช่วยเหลือตลอดให้การศึกษาช่วยสร้างฐานขึ้นมาเพื่อจะให้เติบโต สร้างตึก สร้างพระวิษณุกรรม ที่ราชมงคลคลอง 6 ผมทำบุญไม่เห็นจะจนลงเลย ไม่ได้ใช้เวลาเพียงปีสองปี ผมทำมาเป็นสิบๆ ปี อย่างน้อยมองว่าโดยพื้นฐานเขาเป็นคนอย่างไร เขาทำอะไรมาก่อน ผมสนับสนุนให้สถานศึกษาเก่าๆ ที่ผมจบออกมา แม้ผมจะจากโลกนี้ไปแล้ว ผมก็ยังต้องให้ลูกๆ ทำหน้าที่แทนเรา นำทุนการศึกษาไปมอบให้ทุกปี เราทำให้ลูกๆ เขาเห็น แม้เราตายไป เราก็เห็นแล้วว่า เงินทองเอาไปไม่ได้ ก็เหมือนกับผืนนา มีแค่นี้เราก็ทำความดีไปเรื่อยๆ หว่านเมล็ดพืช ต้นข้าวไปกำมือหนึ่งแม้จะออกรวงมาห้าต้น สักวันหนึ่งเมื่อมันโตขึ้นมาให้เราเก็บเกี่ยวเป็นประโยชน์

 

“บางคนต้องรอให้มีก่อน พอถึงเวลาปุ๊บคุณจะจนตั้งแต่ในใจคุณเลย เงินเพียง 5 บาท 10 บาทยังมีประโยชน์สำหรับคนบางคนแต่ไม่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นว่าเป็นเงินน้อย รอบริจาคเป็นแสนเป็นล้าน มี 10 บาท 20 บาทหรือ 100 บาท คุณก็บริจาคได้ใจคุณเป็นเศรษฐียิ่งกว่าพวกที่มีเงินร้อยล้านพันล้าน ผมเคยเห็นเศรษฐี ขนาดเงินพันนึงยังไม่ยอมจ่าย เดินสะบัดหน้าตาเฉย เขาไม่รู้สึกว่าคนนี้ลำบากกว่าเรา ด้อยโอกาสกว่าเรา บางคนมีสตางค์แล้วหลบคน กลัวว่าคนจะมาขอ ตรงนี้เริ่มจนใจแล้ว แล้วก็จะจนตลอดไป คนรวยที่ลำบากมีเยอะแยะ คุณไปดูซินายแบงก์ ทุกวันนี้ถ้าเขาช่วยได้ ทั้งที่งบประมาณแบงก์มีกำไรหลายพันล้านทำไมไม่ช่วยด้านกีฬา เราต้องมานั่งมองดู เพื่อวางระบบการทำงาน ในบริษัทมหาชน ทุกคนมันมั่งมีหมด หากให้งบประมาณตรงนี้ไปช่วย คุณสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ดูอย่าง สรพงศ์ ชาตรี เขาสร้างวัด เขาไปรวบรวมสตางค์มาทำใหญ่โต เศรษฐียังทำไม่ได้อย่างเขาเลย นี่คือพลังจิต เขารวบรวมคนมาทำได้ อย่ามัวแต่มารบราฆ่าฟันทะเลาะกันเองเลย ถ้าเราลดตรงนี้ได้เมืองไทยของเราน่าอยู่อีกเยอะ มีทั้งวัฒนธรรมที่ดี ทรัพยากรและธรรมชาติสวยงาม เป็นประเทศที่น่าลงทุนมาก”

 

สืบสานตำนานศิลป์

“ผมจบเพาะช่างปี 2506 รุ่นผมที่สอบเข้าเรียนที่ศิลปากรมีหลายคน ส่วนที่เพาะช่างได้ศิลปินแห่งชาติ มีอยู่ 20กว่าคน มีแต่รุ่นพี่และรุ่นหลังอย่างอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์กมล ทัศนาญชลี ฯลฯ ท่านจะมาทำเวิร์คชอปที่เพาะช่างทุกปี จากนั้นก็จะเดินทางไปที่บ้านอาจารย์ถวัลย์ที่เชียงราย ในฐานะศิษย์เก่าผมไปด้วยทุกปี ภาพศิลปะที่ติดประดับไว้ที่สำนักงานกรังด์ปรีซ์ฯ เพื่อจรรโลงใจให้เกิดความสุนทรีย์ก็มีภาพเขียนของศิลปินหลายท่าน ทั้งภาพพิมพ์ของอาจารย์ประหยัด ภาพเขียนของอาจารย์ถวัลย์ ภาพเขียนของเปี๊ยก โปสเตอร์ 10 กว่ารูป และของสะสมภายในห้องพิพิธภัณฑ์ของเก่า ใครไม่รู้คิดว่าผมจบจากวิศวกรรมจุฬาฯ ทั้งๆ ที่ผมเป็นเพียงที่ปรึกษาของวิศวะจุฬาฯ เป็นกรรมการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย

 

“ส่วนงานรูปเขียนของผม สมัยเรียนที่เพาะช่าง ผมให้เขาหมดเหลืออยู่ 2 รูป ก็นำไปจัดแสดงไว้ที่หอศิลป์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตอนนี้ผมเริ่มซื้ออุปกรณ์ สี เฟรม ทำห้องเขียนภาพไว้หมด จะเริ่มเขียนภาพอีกครั้ง เพราะตอนนี้รู้สึกนิ่ง มีสมาธิ การเขียนภาพครั้งสุดท้ายของผมเขียนคือเมื่อปี พ.ศ. 2507 จบจากเพาะช่าง ก็มาทำงานเป็นช่างศิลป์ ทำอาร์ตเวิร์คหนังสืออยู่ที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช ทำเลย์เอาท์ ทำดัมมี่หนังสือ เป็นบรรณาธิการอยู่ก็จริง แต่เราเปลี่ยนตัวเองลงไปสัมภาษณ์ เป็นคนเขียนเรื่อง เสร็จกลับมาก็ทำดัมมี่ ตรงนี้คือการเรียนรู้ ทิ้งไม่ได้ ต้องทำเอง จัดหน้าเสร็จ ตามเข้าไปดูถึงโรงพิมพ์ นั่งเฝ้า ไม่ต้องจ้างคนเยอะ ผมทำงานตรงนี้ปุ๊บ พอมีสตางค์ ไปดาวน์มอเตอร์ไซค์ยามาฮ่า 80 ซี.ซี.ผ่อนส่ง ขี่มาทำงานพอเขามีการแข่งรถที่สนามบินพิษณุโลก เราก็มีโอกาสไปแข่งบ้าง ไปดูบ้าง เขาเห็นว่าเรามีความถนัดด้านนี้ เขาจึงให้เราทำสูจิบัตรงานมอเตอร์ไซค์บอลล์ นั่นจึงเป็นตัวจุดประกายว่าเรื่องรถนั้นมีคนสนใจไม่น้อย ผมเขียนปกเอง เขียนข่าวนำไปแจกในงานประมาณ 500 เล่ม ที่ตึกอื้อจื่อเหลียง เพชรบุรีตัดใหม่ คนฮือฮามาก เพราะพิมพ์ด้วยบล็อก

 

“ตอนนั้นผมทำงานอยู่กับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านเป็นหัวเรือใหญ่ในการผลิตวารสารชัยพฤกษ์ หนังสือสำหรับเด็ก หนังสือวิทยสารของไทยวัฒนาพาณิช ผมไปเจอคุณชูเกียรติที่ตอนนี้เป็นเจ้าของอัมรินทร์ พริ้นติ้ง เขาจบจากจุฬาฯ มาอยู่กับอานุชอาภาภิรมย์ น้องชาย ดร.อาณัติ อาภาภิรมย์ เข้ามาทำงานที่เดียวกัน เขาเป็นนักวิชาการแต่ผมเป็นฝ่ายศิลป์ เขามีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าหาเรื่อง แปลเรื่อง ผมทำดัมมี่ ทำปก จัดหน้าให้เขา เป็นพวกแบบเรียน เราเป็นคนทำหมด ผมได้เห็นผลงานภาพประกอบของอาจารย์เหม เวชกร ภาพประกอบของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ เรื่องกากี รามเกียร์ติ ฯลฯ เราสนใจเรื่องก่อนจึงอ่านเนื้อเรื่องแล้วเลยกลายเป็นนักอ่านไปเลย ส่วนมากคนทำดัมมี่ ไม่ค่อยชอบอ่านเนื้อเรื่อง เราต้องอ่านเรื่องเพื่อทำการประกอบรูปจะได้ตรงกันตามเรื่องที่กำหนดไว้ ไม่ใช่เนื้อเรื่องจบไปแล้ว รูปภาพดันไปอยู่หน้าอื่น การเป็นนักอ่านเป็นบันไดไปสู่การเป็นนักเขียน สิ่งที่ใกล้ตัวเราคือการถ่ายภาพ ผมเป็นคนลักจำเก่ง ไม่ค่อยนิ่งดูดาย ตอนนั้นโรงพิมพ์องค์การค้าคุรุสภา ยังไม่มีบทบาทเท่าที่ควรไทยวัฒนาพานิช ทำหนังสือแบบเรียนมากที่สุด ยุคหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่นี่มีนักวิชาการเยอะจึงทำหนังสือไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขออนุญาตทำหนังสือแบบเรียนจัดจำหน่ายนักเรียน เมื่อสภาพัฒน์ฯอนุมัติมา เราจึงทำ อีกอย่างองค์การค้าคุรุสภา ทำให้ไม่ทัน ในเชิงพาณิชย์ มันช้ากว่าด้านเอกชนที่พัฒนาเร็วกว่า”

 

บุกเบิก Sport Speed World

“ห้าโมงเย็นเลิกงาน ผมไปทำงานโอทีต่อ ที่ห้างฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นงานศิลป์ทำเสร็จสองทุ่มครึ่ง เราไปรับจ็อบอีกงานหนึ่งประมาณสามทุ่ม เป็นงานเขียนภาพสไลด์ มีรุ่นพี่เพาะช่างไปรับงานของฝรั่งที่มีโครงการช่วยเหลือโรงเรียนต่างๆ โดยทำภาพสไลด์นิทาน นวนิยาย เขียนภาพโปสเตอร์ประกอบ เพื่อจะถ่ายเป็นสไลด์เป็นชิ้นๆ ฉายให้นักเรียนดู ก็เลยทำงานเยอะมากไม่มีเวลาเที่ยว เป็นนักผ่อนส่ง ผ่อนทีวี เครื่องเล่นแผ่นเสียง ผ่อนที่ดิน ค่อนข้างพอมีเงิน ทำอยู่ 2 ปีคุณพ่อปรารถนาที่จะให้รับราชการแบบท่าน เพื่อเป็นหลักเป็นฐานมั่นคงกว่าทำงานเอกชน จึงไปสอบบรรจุรับราชการที่กรมสรรพสามิต ปรากฏว่าได้ ก็ตัดสินใจลาออกจากไทยวัฒนาพานิช ไปทำงานที่กรมสรรพสามิต ทำได้ 2 เดือนก็ต้องลาออกอีก กลับมาที่ไทยวัฒนาพานิชในตำแหน่งเดิม ซึ่งเขาก็ยินดีต้อนรับ ทำอยู่ประมาณ 3 ปีได้เงินเดือนๆ ละ 900 กว่าบาทและมารับจ็อบเหมือนเดิมได้ชั่วโมงละ 7-8 บาท สมัยนั้นถ้ากินกาแฟที่ผับแก้วละสามบาทห้าสิบสตางค์ กินข้างนอก 75 สตางค์ เบียร์สิงห์ขวดใหญ่ 12 บาทสั่งในผับแก้วละ 25 บาท ต่อมาผมมาบุกเบิกหนังสือ Sport Speed World เพื่อนเป็นเจ้าของหนังสือ จึงมาชวนเข้ามาทำงานในตำแหน่งหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นการบุกเบิกหนังสือแนวมอเตอร์สปอร์ต ครั้งแรกในประเทศไทยเป็นที่ฮือฮาของผู้คนอีกเช่นกัน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของเรื่องความเร็ว จึงเห็นช่องว่างทางการตลาด ในเมืองไทยแทบไม่ปรากฏหนังสือในทำนองนี้ เมื่อเกิดแนวความคิด จึงออกมาทำหนังสือเองในปี พ.ศ. 2513 คือหนังสือกรังด์ปรีซ์ ฉบับแรกเป็นตัวของตัวเอง จากแรงบันดาลใจที่เราทำหนังสือให้คนอื่นเขารวยอยู่หลายปี เมื่อเจ้าของเขาขอดำเนินการเอง เราก็ต้องระหกระเหินเดินออกมาทำเอง เราเป็นคนไม่อยู่นิ่งตัดสินใจเร็ว ไม่ว่าจะทำโรงพิมพ์ก็ดี จะทำหนังสือในระบบออฟเซตก็ดี เราเป็นคนบุกเบิกรุ่นแรกๆ เป็นคนค่อนข้างกล้าเชื่อมั่นตนเองในการตัดสินใจ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปี พ.ศ. 2513 ที่ออกมาทำหนังสือเองในปีนั้นผมก็แต่งงานเมื่อตอนอายุ 27 มันเป็นภาระที่หนักมาก แต่เราต้องมีความเชื่อมั่น เพราะเราทำงานมาหลายปี ผมมีเวลานอนแค่วันละ 4-5 ชั่วโมง ผมไม่เคยนอนเยอะตั้งแต่เข้ามารับผิดชอบงาน

 

“งานทุกอย่างเมื่อเริ่มต้น จะให้ประสบผลสำเร็จเลยมันไม่ใช่ อย่างนั้นคนก็รวยกันล้นประเทศไทยไปหมดแล้ว (หัวเราะ) จุดแรกๆมันต้องอดทน ผมอดทนมาเกือบ 20 ปี จึงจะประสบผลสำเร็จอายุปาเข้าไป 50 ต้องล้มลุกคลุกคลาน เพราะผมเป็นคนแส่หาเรื่อง ขยายงานไปเรื่อย ผมย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ซอยลาดปลาเค้า 66 เป็นแห่งที่ 10 ถือว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายที่มั่นคง ตอนนี้ลูกๆ บริหารงานต่อ การทำงานบางอย่างประสบปัญหาการขาดทุน แต่มันสำคัญว่างานที่เราทำ เรารู้จริงหรือเปล่า การเรียนรู้ของผมคือ รู้งานด้วย รู้คนด้วย รู้จากคนรอบข้างที่เราสัมผัส แต่ก่อนเราเองไม่มีทุนก็จริง แต่ผลงานที่เราทำออกไปเขาเชื่อถือ คนที่เราคบช่วยเราได้ นอกเหนือจากภรรยาแล้ว คนที่เราสัมผัสที่รู้อยู่ว่าเขามีฐานะดีกว่าเรา เราทำให้เขาไว้วางใจได้หรือเปล่า หากเดือดร้อนอะไรมา เราสามารถไปขอความช่วยเหลือจากเขา ไปแลกเช็กก็ดี การหาทุน เราต้องมีแหล่ง เพราะเราจะไปใช้ธนาคารธนาคารเขาก็ถามว่าเรามีโฉนดมั้ย เมื่อไม่มีเขาก็ไม่ให้กู้ แล้วเราจะไปเอาโฉนดมาจากที่ไหน ทำหนังสือกว่าจะมีสตางค์กว่าจะเก็บเงินได้ใช้เวลา 3-4 เดือน”

 

เดินตามฝัน...งานมอเตอร์โชว์

“พวกนายธนาคารนี่ก็แปลก เวลาเราขาดเงิน เขาไม่ให้เรากู้หรอก แต่เวลาเรามีเงิน เขาอยากยัดเหยียดเอาเงินมาให้ เพราะฉะนั้นตรงนี้เราต้องมีตัวช่วย คือคนที่เรารู้จักกันมานาน แล้วเขาอ่านเราออก ไว้วางใจเรา เมื่อเดือดร้อนพวกนี้เขาจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง แล้วเราก็นำไปคืนเขา กฎ กติกามารยาท มันมีบางคนหลอกตัวเอง ทุกวันนี้ผมยังช่วยเหลือคน แต่ผมก็โดนเขาหลอกแต่สุดท้ายเขาก็ทำลายตัวเอง กฎแห่งกรรมมีจริง เราเองไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ ผมไม่ใช่เป็นนายธนาคารใหญ่ที่มีเงินเหลือเฟืออยู่ตรงนี้ ผมช่วยเพราะเห็นว่าคุณเป็นคนดี แต่ถ้าคุณหลอกตัวเองเมื่อไร ธุรกิจที่คุณทำก็จะไม่มีกำไร

 

“ตอนนี้หนังสือยานยนต์เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งหมดมี 70 หัว ตอนนี้เหลือเกือบ 40 หัว แล้วคุณมาหลอกตัวเองว่าธุรกิจคุณพังหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำอย่างน้อยใช้เวลา 1-2 ปี ผมหมดเงินไปเกือบ 10 ล้านไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ผมเคยปิดไปหลายเล่ม อะไรที่ไม่ดี ก็ไล่ปิดไป เพราะขาดทุนอย่าดันทุรัง นานไม่ได้ ทำหนังสือมา 2 ปี บางเล่มหมดไปเกือบ 20 ล้านก็มีทำเล่มหนึ่งจะเอาคืนเมื่อไร เราต้องมานั่งถามตัวเองว่า หนังสือที่คุณทำมีอนาคตหรือไม่ เราต้องมีแผนงาน หากมีไอเดียแปลกๆ เข้ามาก็น่าจะทำ ในงานมอเตอร์โชว์ตั้งแต่ที่ผมเปิดมาไม่ขาดทุน แต่มันไม่มีกำไร ที่ผมขาดทุนจริงๆ มีอยู่ครั้งเดียวก็คือตอนย้ายจากการจัดแสดงที่สวนอัมพร ครั้งที่18 มาจัดที่ BITEC บางนา เพราะตอนนั้นตลาดรถยนต์มันทรุดฮวบ ค้าขายขาดทุน ผมต้องรับรถยนต์มาเกือบ40 คันเพื่อเอามาขายแทนค่าเช่า ผมขายขาดทุนเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 พอมาปีที่ 2เอาทุนคืนปีที่ 3-4 ได้กำไร จัดมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 19 ปีนั้นขาดทุนไปประมาณ 20 กว่าล้าน

 

“สมัยก่อนเริ่มจัดครั้งแรก เราจัดที่สวนลุมพินีสถาน ราวปี พ.ศ. 2522 เราอยู่ได้ แต่ไม่มีกำไรเพราะค่าบัตรผ่านประตู เรานำเงินไปให้มูลนิธิดวงประทีปหมด ได้มาเกือบสองแสน ตอนนั้นบัตรผ่านประตูแค่ 3 บาท เราให้ลูกเสือเขาเก็บให้หมด ปรากฏว่ากลายเป็นเขาได้กำไรกว่าเราตรงนั้น (หัวเราะ) กำไรคาดว่าอยู่ประมาณ 6 -7 หมื่นบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าบัตรผ่านประตู ต่อมาจึงไปจัดที่สวนอัมพร เรารู้แล้วว่าเราต้องเก็บค่าผ่านประตูเอง ในส่วนของรัฐบาลมีรายได้จากภาษีรถยนต์เข้ารัฐบาลมหาศาล อย่างงานมอเตอร์โชว์เมื่อปีที่แล้ว จำหน่ายรถยนต์ได้ 17,000 กว่าคัน หากคิดเป็นเงินอยู่ที่ประมาณเกือบๆ 20,000 ล้าน

 

“ทางญี่ปุ่นเขาเตือนผมเสมอว่าการจัดงานมอเตอร์โชว์โดยบริษัทกรังด์ปรีซ์ฯ นั้นไม่มีที่ไหนในโลกทำ เพราะทุกประเทศทั่วโลกมักจะจัดโดยสภาอุตสาหกรรมสนับสนุน อุตสาหกรรมยานยนต์รวมตัวกันจัด จะมีก็แต่ที่ประเทศไทยที่เดียวที่เจ้าของหนังสือเป็นคนจัดเอง เขาบอกว่าแสดงว่ายูเป็นมาเฟียเมืองไทยนี่หว่า (หัวเราะ) คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์จัดได้มั้ย ไม่ได้ มันต้องเป็นองค์กรเป็นสมาคม ฯลฯ เป็นผู้จัด ในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรมหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม จะทำอะไรแต่ละครั้งต้องหาเงินทุนก่อน

 

“เมื่อผมเติบโตจากหนังสือ ผมก็แตกไลน์ไปจัดแข่งรถมอเตอร์ไซค์ แข่งรถยนต์ แล้วลงทุนหุ้นกับเพื่อนๆ ช่วงแรกลงไป 40 กว่าล้าน มาสร้างสนามแข่งรถพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต พัทยา จากนั้นจึงมาทำโรงพิมพ์เอง เราดูวงจรของเรา เราไม่ใช่มองอยู่แค่หน้าตัก จ้างเขาพิมพ์ค่าพิมพ์กินหมด ค่าพิมพ์นี่สามารถซื้อโรงพิมพ์ได้เลย”

 

รับปากแล้วต้องทำได้

“พอตั้งโรงพิมพ์เสร็จ เราต้องมองการณ์ไกล ดูด้านการรับโฆษณา เหมือนกับคำถามที่เราตั้งว่า ทำไมในต่างประเทศเขาจัดงานมอเตอร์โชว์แล้วเขาได้กำไรเยอะแยะ ตรงนี้เราทำได้ รถยนต์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ทุกประเทศ ต้องมาลงโฆษณาในหนังสือของเราการแข่งรถทุกครั้งต้องผ่านเราหมด ทำไมเราไม่เป็นเจ้ามือเอง ที่ผมรู้เรื่องการตลาดเพราะก่อนหน้านั้น ผมสนิทกับผู้ใหญ่หลายค่าย โดยเฉพาะทางโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) เพราะช่วงปี พ.ศ. 2514 ผมไปทำหนังสือโตโยต้านิวส์ เป็นหนังสือของบริษัทคาร์โตโยต้า เขาเรียกเราไปทำ ผมเป็นคนวางดัมมี่ วางเลย์เอาต์ เป็นคนทำข่าวเองทั้งเล่ม สมัยนั้นรับจ้างทำฉบับละ 1หมื่นบาท เขาเห็นผลงาน ก็จ้างทำมาตลอดเป็นสิบๆ ปี เราต้องรู้ว่าประธานบริษัทจากญี่ปุ่นมาเมืองไทยกี่คน ใครบ้าง โฆษณาเข้ามาอย่างไร กลไกการตลาดเป็นอย่างไร เขาเริ่มจัดการฝึกอบรมสัมมนาพนักงานโตโยต้าทั่วประเทศ ที่โรงแรมบางแสน ชลบุรีตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักพัทยา เราก็ตามไปทำข่าวกับเขาด้วย เขาจัดสัมมนากลไกการตลาด เราไม่รู้จะไปไหน ทำข่าวเสร็จแล้วจึงนั่งฟังอยู่หลังห้องได้รับความรู้เรื่องการขาย การตลาดของโตโยต้า หมดเปลือก ผมไม่เคยเรียนด้านนี้มาก่อน จึงลักจำด้านมาร์เก็ตติ้งว่ารถต้องขายอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะปิดการขายลูกค้าได้ รถคันนี้ดีมีจุดแข็งอย่างไร หลายคนจึงสงสัยว่าทำไมผมถึงทำการตลาดได้ ในงานมอเตอร์โชว์ ผมทำการตลาดของผมเองมาตลอด งบอยู่ในมือผม ช่างภาพเราก็เรียนมาแล้ว การจัดจำหน่ายก็ทำมาแล้ว ผมส่งหนังสือเอง เราทำมาหมดทุกอย่าง ทำเพื่อเรียนรู้การตลาด หลังจากที่ได้รับฟังจากคณาจารย์ที่เป็นวิทยากรทั้งหลาย เราจึงรู้ว่ามันฝังอยู่เต็มตัว

 

“ในการทำลูกค้าสัมพันธ์ การเข้ากับคนที่เขาบอกว่า ลูกค้าคือพระเจ้าก็เหมือนกันกับที่เราทำมอเตอร์โชว์เราต้องรู้จิตใจของลูกค้ามนุษย์ยังอยู่อีกนาน อยู่ในน้ำยังต้องรู้ใจปลา อยู่ป่าต้องรู้ใจนก ผมเลี้ยงปลา ผมดีดนิ้วเคาะน้ำ ปลายังว่ายมาหา ผมเลี้ยงนกแก้วมาร์คอร์จับมาลูบหัวเล่นได้ ขนาดมันพูดภาษาคนไม่ได้ แล้วมนุษย์ที่พูดคุยกันรู้เรื่อง ทำไมจึงครองใจเขาไม่ได้ เพื่อให้เขาเชื่อใจในตัวเรา ประธานบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายที่ผมคบ ไปนั่งจิบไวน์ทานข้าวที่บ้านพักตากอากาศเขาใหญ่ เขาเชื่อถือในตัวผมว่าผมคุมบังเหียนเรื่องงานมอเตอร์โชว์ให้เขาประสบผลสำเร็จได้ ผมรับปากอะไรแล้ว ต้องได้ แล้วได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ ผมไม่เอาสตางค์ ผมรับประกันตรงนี้ได้ ฉะนั้นคนที่คบกับผม ผมสร้างความมั่นใจให้เขา”

 

วิถีของคนกล้า 

“มอเตอร์โชว์ทุกปีผมทำของแจก ผู้สื่อข่าวไทย ฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ ผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติที่มางานมอเตอร์โชว์ ผมแจกตั๋วเครื่องบินฟรี ที่พักโรงแรมฟรี วินเซอร์สูท อาหารทุกอย่างฟรีหมด รถไปรับถึงสนามบินส่งที่โรงแรม พัก 3 คืน จะไปเล่นกอล์ฟหรือคาราโอเกะจะไปไหนขอให้บอก ขากลับมีของฝากอีกเพียบ เพราะพอเมื่อเขากลับไปก็เขียนข่าวประเทศไทย เรื่องวัฒนธรรมประเพณี อาหารการกิน การท่องเที่ยว เขียนข่าวงานมอเตอร์โชว์ของผม ผมทำงานแทนรัฐบาลควักเงินเอง แล้วผมจะไม่ดังได้อย่างไร

 

“ลองคิดดูสิ หนังสือในเยอรมนี หรือหนังสือในญี่ปุ่นคนอ่านกันเยอะจำหน่ายไปทั่วโลก ประชากรเขาเท่าไรเขาผลิตรถยนต์จำหน่ายทั่วโลกเท่าไร ผมเคยจะไปลงโฆษณางานมอเตอร์โชว์ของผม ลงหนังสือยานยนต์ในเยอรมนี ยอดพิมพ์ของเขา 8 หมื่นฉบับ โฆษณาหน้าละ 5 แสน 2 หน้าล้าน ผมสะดุ้งเลย ก็มานั่งคิดว่าเวลาเราเดินทางไปมอเตอร์โชว์ในต่างประเทศ สมัยก่อนเขาก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาเชิญเรา มาจากบริษัท BMW เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำบ้าง ผมจัดงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาก็ต้องเลือก
ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 8 ฉบับ 12 คน ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ 4 คน มาเลเซีย 2 คน สิงคโปร์ 1 คน ออสเตรเลีย 2 คน ฮังการี จีน ไต้หวันเกาหลี อีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ ประมาณ 40 ฉบับ เมื่อเขากลับไปเขียนให้ผม 2-3 หน้า คุณไม่ต้องจ่ายอะไรเลย สาระน่าอ่านด้วยมอเตอร์โชว์คราวที่แล้ว หนังสือพิมพ์ไทยลงหน้า 1 ทุกฉบับ รถยนต์ราคา 50-60 ล้าน เราสร้างกระแสซื้อรถช่วยชาติ ขายได้หมื่นล้านบาท รัฐบาลได้ภาษี 6-7 พันล้านบาท เราทำได้ สร้างสรรค์ได้เพราะเราอยู่กับสื่อ

 

“งานมอเตอร์โชว์ของเรา OICA ยอมรับว่าเป็นมอเตอร์โชว์โลก ความยิ่งใหญ่ของบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยเท่านั้น หากแต่ยังได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำและสื่อมวลชน จากหลายประเทศทั่วโลก บรรจุเข้าสู่ปฏิทินมอเตอร์โชว์โลก งานมอเตอร์โชว์จัดที่ญี่ปุ่นก่อนหน้าประเทศไทย 2-3 เดือน แต่พริตตี้โชว์ สวยสู้บ้านเราไม่ได้ ที่นั่นเขาจะถ่ายมิสโตโยต้า มิสมอเตอร์โชว์อะไรต่ออะไรของบ้านเราไปลงหนังสือเขา ผมตัดเก็บไว้หมด

 

“การประเมินผลงานทุกครั้งต้องประเมินจากใจเรา เพราะเราเห็นโลกกว้างเมื่อเห็นมามาก จึงประเมินดูว่างานมอเตอร์โชว์ทั่วโลกเขาเติบโตอย่างไร งานมอเตอร์โชว์ญี่ปุ่นเป็นหลัก เยอรมันเป็นรอง อเมริกายังไม่เท่าไร อย่างสนามแข่งรถ ผมเลียนแบบมาจากหลายประเทศ เพราะเขาเกิดก่อนเราประมาณ 30-50 ปี เขาเริ่มแข่งตามสนามบินมาก่อน ผมจึงเริ่มเปิดเกมแข่งที่สนามบินดอนเมืองบ้าง แข่งที่สนามบินลพบุรีบ้าง เพราะคัมภีร์มันมีอยู่แล้ว เพียงแต่ใครจะทำก่อน มันเป็นวิถีของคนกล้า แล้วคนกล้าต้องมีเพื่อนดี มีคนคอยสนับสนุน ผมมีที่ปรึกษาเยอะ ผู้หลักผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ผมชอบทำงานใหญ่ เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ”

 

ภูมิใจในแผ่นดินเกิด

“สิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุดคือ ผมได้เกิดบนผืนแผ่นดินนี้ที่เราเกิดมาเป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทย สามารถนำประโยชน์ในสิ่งเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้เห็น ทำให้ประเทศชาติมีชื่อเสียงได้ มันไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่านี้อีกแล้ว ถือว่าแผ่นดินนี้ยิ่งใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีการสูญสลายได้หมด แต่ชาติกับผืนแผ่นดินนี้มันสูญสลายไปไม่ได้ มันยังอยู่ทุกอย่างแม้แต่ประเทศของเรา ทำไมไม่เปิดเพลงรักชาติตอนนี้ล่ะ ให้คนหันมารักประเทศไทย เดี๋ยวนี้คนไม่รักประเทศไทยแล้ว ถ้าเขารักประเทศไทย ทำไมทำอย่างนี้เขาไม่รักประเทศไทยเลย เขารักตัวเองกับพวกพ้อง ทำไมเราไม่สร้างตอนนี้เพื่อให้ทุกคนตระหนักดีว่านี่คือประเทศชาติ เราอยู่กันมา ประเทศไทยไม่ได้สูญสลายไปไหน แต่ทุกอย่างแตกดับได้ ตั้งแต่ 200 ปีลงมาในโลกมีประเทศไหนแตกดับบ้าง ไม่มี มีแต่การสู้รบกันในแอฟริกา ในอเมริกา สู้รบฆ่าฟันกันเอง ประเทศเขายังอยู่ ประเทศอิรักก็เปลี่ยนแปลงเพราะนักการเมือง ภายในประเทศเขาไม่มีความสุข

 

“ผมฝากไว้ให้คิด ทุกวันนี้ ผมอยู่กับงานที่ผมชอบ ยังไม่เกษียณ เราหลงรักมัน เพียงแต่รับผิดชอบน้อยลงหน่อยแต่ต้องอยู่ตรงนี้ทำงาน 3-4 วัน แล้วมาประชุม เพราะเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ งานต่างๆ ก็ผ่องถ่ายให้ลูกหลานดูแล ผมมีลูกชาย 2 คน คนโต อโณทัย คนรอง พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ส่วนหลานที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาชื่อ จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ผมบอกกับพวกเขาเสมอในเรื่องหลักการทำงาน การแบ่งงานให้กับเพื่อนร่วมงาน ที่ปรึกษา พนักงานมีทั้งหมด 248 คน สิ่งที่ผมอยากจะทำคือการออกหนังสือให้ได้เยอะๆ เพราะหนังสือเป็นสิ่งได้ดูได้เห็นพกพาสะดวก ราคาไม่แพง พวกเทป พวกอินเตอร์เน็ต ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ หนังสือมันเปิดอ่านรองรับได้เร็ว หากอยากส่งเสริมให้ลูกหลานรักการอ่านหนังสือ เงินเดือนที่ออกมาให้ซื้อหนังสือให้เขาเดือนละ 2 เล่มปีหนึ่ง จะได้หนังสือ 24 เล่ม สอนให้เขาเข้าห้องสมุด คุณอยากรู้อะไรในหนังสือมีหมด ทำไมฝรั่ง ญี่ปุ่น เก่งกว่าเรา เพราะอะไร เพราะเขามีคนแปลหนังสือให้อ่าน แล้วไปสอนพลเมืองของเขา ดูอย่างการซ่อมรถไม่ต้องเข้าอู่หรอก มีคู่มือขายเลย ถอดชิ้นไหนหรือการต่อเติมบ้าน มันมีคู่มือให้หมด เรียนรู้จากหนังสือ แต่สำหรับคนไทยไม่ชอบอ่าน ชอบฟังมันง่ายกว่า แต่การฟังมักโดนหลอก การอ่านไม่ค่อยโดนหลอกเพราะมีสิ่งเปรียบเทียบ แต่การฟัง เราฟังด้านเดียว

 

“การที่ผมอยู่ได้บนถนนหนังสือยานยนต์เพราะคนอ่านเชื่อมั่นเรา เพราะหนังสือมันหลอกเราไม่ได้ การอ่านหนังสือจึงสร้างผมขึ้นมาได้ด้วยการทำหนังสือให้ได้อ่าน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง เหมือนเราอยู่ใกล้ๆ เขา เราไม่โกหกหรือหลอกเขา เวลาผมไปไหนมาไหน แม้แต่คนจะไม่รู้จักผมแต่พอเอ่ยชื่อ&

อาณาจักรกรังด์ปรีซ์ ในซอยลาดปลาเค้า