จักรพันธุ์ โปษยกฤต

จักรพันธุ์ โปษยกฤต

วันนี้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรกรรม) ปี พ.ศ.2543 ณ วิมานสถาน 2 ชั้นยกพื้นสูงหลังนี้ที่ถูกประยุกต์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ตั้งเป็นมูลนิธิฯ แลดูขลังดั่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัย บ้านนี้มีชีวิตชีวาผุดขึ้นมาราวกับหน่อไม้ป่าโผล่พ้นอิฐสูงกำแพงหนาท่ามกลางแท่งคอนกรีต เป็นโอชารสของคนกระหายหิวหยิบฉวยนำมาเป็นอาหาร สถานที่รังสรรค์งานของบรรดาสกุลช่างยุครัตนโกสินทร์มากว่า 50 ปีอาจเป็นเพียงภาพหลอนรอยอดีตจารึกทรงจำหรือฐานที่มั่นอันทรงพลังแข็งแกร่งยืนทรนง ที่นี่คือแหล่งรวบรวมภาพเขียน จิตรกรรมอันงดงามสูงค่า หุ่นกระบอกเก่าแก่นับร้อยปีเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เครื่องโขน ดุริยวรรณกรรม พระพุทธรูปโบราณฯลฯ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะบ่มศิลปะและศิลปินทุกแขนงไว้ครบครัน

อาจารย์จักรพันธุ์ เหมือนมีพันกร งานถั่งโถมมากล้นก็ยังสามารถเจียระไนเวลาทำให้ได้ งานของท่านมากมาย ที่ยังค้างคาทั้งภาพเขียนจิตรกรรมพุทธประวัติ วัดตรีทศเทพวรวิหารและวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี จดปลายพู่กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ต้องออกแบบก่อนส่งไปคัดลอกเส้นสายลายไทย สร้างเครื่องโขนงานออกแบบลายปัก กำหนดสี ควบคุมการสร้างศิราภรณ์พัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ สำหรับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ สร้างหุ่นกระบอก ซ้อมเตรียมแสดงหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่ายในอีกไม่กี่ทิวาราตรี เขียนฉาก เขียนภาพ เขียนหนังสือ ประชุมช่างฝีมือหลายหลาก สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนา อนุโมทนาบุญ 

สารพัดเหนือคำบรรยาย

แหล่งพำนักที่นี่จึงเปรียบเสมือนศูนย์รวมสรรพวิชาความรู้และมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ตัวของอาจารย์จักรพันธุ์เองได้รับการยกย่องว่าเป็นสกุลช่างเอกในรัชกาลที่ 9 ชีวิต ทัศนคติ แรงบันดาลใจในวัยเยาว์ ล้วนมาจากความวิริยะ อุตสาหะ พากเพียร สร้างคุณงามความดีงาม กตัญญูรู้คุณครูบาอาจารย์ นี่คือศิลปินเอกขั้นเทพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน วันนี้เราจะพูดคุยกันในวันที่เงาของตึกสูงยังไม่ทาบทาบดบังแสงสุริยันจันทราลงมาที่บ้านหลังนี้

เหลียวหน้า..แลหลัง

“วัยเด็กผมคิดว่าผมไม่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกัน คุณพ่อผมเป็นคนไทย คุณแม่มีเชื้อจีน แต่อย่าเรียกผมว่าลูกครึ่งจีนเลย เรียกหลานครึ่งก็แล้วกัน (ยิ้ม) ผมมีเชื้อจีนปนเหมือนคนไทยทั่วไป ตอนนั้นผมเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่นี่สอนให้มีระเบียบวินัยแต่ไม่เหมือนทหาร เพราะโรงเรียนวชิราวุธฯ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เป็นผู้พระราชทานกำเนิดก่อตั้ง พระองค์ท่านเป็นศิลปินแน่นอน ทรงอักษรเขียนหนังสือ มีพระราชนิพนธ์มากมาย

“การศึกษาเล่าเรียนสมัยนั้นมีนักเรียนเพียง 500 คนเท่านั้น แต่ในจำนวน 500 คนจะเป็นที่รู้จักกันดี ยกตัวอย่าง ดร.ชัยอนันต์สมุทวนิช เป็นต้น วชิราวุธฯ ให้อะไรมากเกินกว่าจะเล่าหมด มันเป็นประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก ที่ผมมาอยู่โรงเรียนประจำ เราคิดถึงบ้านไม่อยากจะพลัดพรากจากบ้านช่องมา แต่ผมเป็นเด็กรุ่นเก่าที่ไม่มีการโวยวาย ไม่มีการกระทืบเท้า ร้องไห้ ผู้ปกครองให้ทำอะไรก็ต้องทำ ผมจะซ่อนความคิดถึงบ้านความทุรนทุรายเอาไว้ เพื่อให้บิดามารดาผมสบายใจ เราต้องอดทน ไม่มีใครสอน มันเป็นของมันเอง ไม่มีใครอยากอยู่โรงเรียนประจำหรอก จะกินจะนอนก็ไม่ได้นอนกับพ่อแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 64 ปีแล้ว รู้สึกได้เลยว่าท่านมองการณ์ไกล เพราะมีคุณประโยชน์กับผมมากมายมหาศาล เรามีทุกวันนี้เพราะวชิราวุธฯ เพื่อนๆ รักใคร่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกๆ เรื่อง มีความผูกพันกันใกล้ชิดสนิทสนมกว่าจะมีมาจากที่อื่น

“เรียนวชิราวุธฯ ไม่จำเป็นต้องเล่นรักบี้ มีกิจกรรมให้เรียนรู้ให้ทำเยอะ ผมรู้แต่ว่าผมชอบเขียนรูปตั้งแต่เด็ก เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็เป็นคนชอบเขียนรูปหลายคน แต่พอโตขึ้นเขาไม่ได้เป็นนักเขียนรูป มีแต่ผมที่เขียนรูปเป็นอาชีพ ตอนนั้นผมไม่เคยตั้งความหวังเลยว่าจบออกมาจะต้องเป็นศิลปิน ผมถูกใช้ตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าอยู่ประถม 4 อายุ 8-9 ขวบ ผู้บังคับการวชิราวุธฯ คือพระยาภะรตราชา ท่านเป็นผู้กำหนดงาน และทุกปีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาที่โรงเรียนเพื่อพระราชทานประกาศนียบัตรในงานกรีฑาทุกปี พระองค์ท่านจะเสด็จมาปีละ 2 หน ในงานบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในวันที่ 25 พฤศจิกายน บางปีก็จะเสด็จมา 2 พระองค์ มีเจ้านายองค์เล็ก เจ้าฟ้าฯ ต่างๆ ก็ตามเสด็จมาด้วย ท่านจะเสด็จมาทอดพระเนตรห้องการฝีมือ ห้องเขียนรูป ห้องวิทยาศาสตร์ พระยาภะรตราชาท่านก็จะคัดเด็กที่มีฝีมือทำของขึ้นมาถวาย ผมได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ด้วย ตอนพระองค์ทรงพระเยาว์มาก ผมเขียนจากรูปถ่าย ต่อมาโตขึ้นผมก็เขียนถวายอยู่ทุกๆ ปี เพียงแต่ไม่ได้บันทึกไว้เผอิญมีรูปนั้นลงหนังสือพิมพ์ไปทั่ว จำได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์สยามนิกร กระทั่งผมจบ ม.8 ก็ยังถวายอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เป็นข่าวเท่านั้น

“เรื่องการเขียนรูปมันกว้างใหญ่ไพศาลมาก ครูก็คือสิ่งที่เราได้เห็นไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือในละคร แม่ผมก็ชอบเขียนรูป อ่านหนังสือ ชอบเล่นดนตรี เป็นศิลปินสมัครเล่น แม่ผมจึงเป็นครู ส่วนพ่อจะสนับสนุนด้วยการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ ผมมีญาติพี่น้องไปเมืองนอกกลับมาจะซื้อสีอย่างดีมาให้ ซื้อกระดาษ พู่กัน ฯลฯ ผมจึงมีของพวกนี้เยอะ จึงได้เปรียบเพราะได้รับการสนับสนุนครูคนแรกก็คือพ่อแม่ที่พาไปดูละคร กลับมาผมก็จะมาเขียน ผมเก็บไว้หมด เป็นที่รู้ๆ กันภายในโรงเรียนว่าจักรพันธุ์นั้นมีฝีมือ ครูจะให้ผมเขียนรูป เขียนเสร็จก็จัดใส่กรอบ เมื่อมีโอกาสก็ถวายพระองค์ท่าน”

เลาะรั้วศิลปากร

“จบ ม.8 วชิราวุธฯ ผมว่างอยู่ 1 ปี ปีต่อมาผมสอบเข้าเรียนคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. 2503 ตอนนั้นยังไม่มีแผนกภาพพิมพ์ เพื่อนร่วมรุ่นมีเยอะ ที่สนิทก็มี เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ตอนเรียนปี 1 อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเสียแล้ว ก่อนหน้านั้นผมโชคดีหน่อย ตอนอยู่ ม.6 วชิราวุธฯ ช่วง 2-3 ปีก่อนท่านจะเสีย ผมเหมือนเด็กพิเศษ ญาติผู้พี่จะพาไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ศิลป์ เพราะรู้จักกับคุณมาลินี ภรรยาอาจารย์ศิลป์ ซึ่งท่านก็ได้แนะแนวทางเบื้องต้นในการฝึกฝนวาดเส้นด้วยดินสอ การดรอว์อิ้ง ดูฝีมือ 2-3 ครั้ง ท่านสอนให้รู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ตอนหลังผมไปหาท่านที่คณะจิตรกรรมฯ ท่านให้เขียนแลนด์สเคป ผมก็จะเขียน แล้วนำไปให้ท่านดู ท่านก็จะติ ผมก็จะจำ ไม่ได้สอนแบบจ้ำจี้จำไช ผมเขียนรูปสีน้ำมันก่อนเข้าศิลปากร เขียนเสร็จจึงเอาไปให้ท่านดูอีก เขียนรูปคนจากตัวจริง ท่านก็จะติ แต่พอผมเข้ามาเรียนในศิลปากร อาจารย์ศิลป์ ท่านก็จากไป

“ช่วงที่เรียน ผมไม่ได้สนใจเฉพาะจิตรกรรมไทยเท่านั้น ผมสนใจทั้ง 2 อย่าง จิตรกรรมสากลด้วย ผมชอบทุกอย่าง ตั้งแต่จิตรกรรมไทยประเพณี ปัจจุบันผมต้องอาศัย วัลลภิศร์ สดประเสริฐ เป็นลูกศิษย์ จบคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร ทำงานร่วมกันมากว่า 30 ปี ผมรับงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดตรีทศเทพฯ และวัดเขาสุกิม หรือรับงานอะไรที่เป็นไทยมากๆ พวกผูกลายกนกกกก้าน เพราะผมมีวัลลภิศร์ซึ่งเป็นเหมือนทหารเอกของผม

“สมัยก่อนเข้าศิลปากร ผมเขียนรูปคน มีคนมาจ้างให้ผมเขียนรูปเหมือน ตอนนั้นได้เงินมารูปละ 400 บาท ลูกค้าทั้งหมดเป็นคนไทย สมัยนั้นหนังสือจิตรกรรมฝาผนังยังไม่มีพิมพ์ออกมาขาย และยังไม่รู้จักการคัดลอกลายผนังวัดสุวรรณาราม วัดโพธิ์ ออกจากบ้านก็เข้าโรงเรียนประจำ ผมจะไปไหนเป็น ก็อยู่แต่ในรูนี่แหละ (หัวเราะ) แต่ผมดูจากรูปยากาแร็ตเล็กๆ ของบ้านเรา เรื่องพระอภัยมณี เรื่องขุนช้างขุนแผน ผมมีเยอะ ป้าผมให้มา และจะมีหนังสือเล่มหนึ่งของฝรั่งที่มาคัดลอกรูปจิตรกรรมฝาผนังตามพระอุโบสถ พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม สมัยนั้นมันไม่มีหนังสือพวกนี้ออกมาขายในบรรณพิภพเลย นอกจากเล่มนี้

“เราเป็นเด็กไม่รู้จักจะไปวัด จนกระทั่งมาเรียนในคณะจิตรกรรมฯ มันมีวิชาวิจัยศิลปะไทย เราเรียกทับศัพท์ว่ารีเสิร์ช ไปพิพิธภัณฑ์ ไปวัดต่างๆ ผมเพิ่งเคยไป เมื่อเริ่มมาเรียนศิลปากรปี 1 ถึงปี 3 พอปี 4 ปี 5 เลิกไปแล้ว ทำให้ผมได้เรียนรู้ได้สัมผัสได้รับการพัฒนาการเขียนรูปจิตรกรรมไทยประเพณี

“เมื่อก่อนมีการประกวดที่ยิ่งใหญ่มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พระราชทานรางวัลจำได้ว่าอาจารย์ศิลป์ เป็นผู้นำเสด็จอธิบายต่างๆ ผมเริ่มประกวดตอนเรียนปี 1 ถูกคัดออก พอปี 3 ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงต่อมาได้เหรียญเงินเป็นรางวัลที่ 2 ได้เหรียญเงินอยู่ 5 ปีต่อกัน แต่เหรียญทองไม่เคยได้ เวลาประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติผมไม่ได้เขียนรูปพระบรมสาทิสลักษณ์ประกวด แต่เป็นรูปอื่นๆ

“สำหรับพระบรมรูปนั้น มีองค์กร เช่น บริษัทปูนซิเมนต์ไทยหรือองค์กรที่ต้องการรูปพระราชวงศ์ไปประดับ มาจ้างผมเขียน ตอนอยู่ปี 4 จะมีที่ทำเนียบรัฐบาลมาจ้างให้เขียนพระบรมสาทิสลักษณ์แต่งชุดทหารบกฉลองพระองค์ และอีกมากมาย ล่าสุดราวปีพ.ศ. 2548-2550 ได้เขียนพระบรมรูปขนาดใหญ่ทั้งสองพระองค์ไปไว้ ณ พระที่นั่งบรมสถิตยมโหฬาร ในพระที่นั่งจักรี

“ผมไม่มีผลงานที่สร้างชื่อเสียง เพราะทุกชิ้นที่เขียนก็สร้างชื่อของตัวเอง ค่อยๆ เป็นที่รู้จัก ผมเขียนไว้เยอะ อย่างผลงานที่ลงตีพิมพ์เป็นปฏิทินก็ดี การ์ดปีใหม่ก็ดี ผมไม่ได้ทำงานขึ้นมาเพื่อกิจกรรมเหล่านี้ องค์กรต่างๆ เขาต้องการรูปที่ผมเขียนไปทำเป็นปฏิทินหรือการ์ดอวยพร ผมจะเอารูปที่ผมเขียนไว้แล้วมาให้ ไม่จำเป็นต้องเขียนเพื่อบริษัทนี้โดยจำเพาะ เช่นปฏิทินของบริษัท เอไอ เอ ผมรวบรวมผลงานเก่าๆ ที่เข้าเรื่องเพื่อส่งไปทำปฏิทินทำให้มา 7 ปีแล้ว รวมทั้งงาน ส.ค.ส. ด้วย”

ความเห็น (แตก) ต่าง

“บางรูปเป็นงานที่ผมประทับใจมาก อาจเป็นวาดลายเส้น ภาพต้นไม้ แต่ไม่เหมาะกับการทำ ส.ค.ส. ทุกสถาบันที่เราทำให้ บริษัทก็ดี มูลนิธิโรงพยาบาลเด็กก็ดี เขาจะมีคณะกรรมการกลุ่มหนึ่ง ดูว่ารูปของจักรพันธุ์ส่งมามันเหมาะมั้ย อย่างรูป “ยายซิ้ม” ที่ผมเขียนสีน้ำ เห็นว่าสวยแทบตาย แต่เขาว่าไม่สวย เราก็เอาออกแล้วส่งรูปละคร รูปในวรรณคดีไทยไปให้ อย่างรูปสีน้ำ ‘จับกังกำลังนั่งล้อมวงกินข้าวต้ม’ ที่ผมชอบมาก แต่บริษัทหรือคณะกรรมการเขาไม่ชอบ ผมก็เอาออก ผมเคยทำปฏิทินเมื่อ ปี พ.ศ. 2516ทำให้บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ตอนนั้นผมจบศิลปากรใหม่ๆ มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเขาชอบรูปที่ผมเขียน เขาขอให้ผมเขียนรูปเพื่อนำไปทำปฏิทินจากวรรณคดีเรื่องต่างๆ ผมเขียนไป 6 รูป ปฏิทินอันนี้ในปัจจุบันกลายเป็นของสะสมหายากที่เขาเล่นกัน มีเด็กหลายคนที่เป็นช่างเขียนอยู่ในเวลานี้ บอกว่าที่ชอบเขียนรูปเพราะได้เห็นปฏิทินเชลล์ที่ผมเขียน คือ สุรเดช แก้วท่าไม้ เขาชอบเขียนรูปคน เขาชอบปฏิทินผมมาก ตอนนั้นเขายังเด็ก อันนี้คือปฏิทินที่ผมทำเฉพาะกิจ อันอื่นไม่มี

“ส่วนแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ให้กับเชลล์นั้นมันผ่านมา 35 ปีแล้ว ผู้ใหญ่ท่านนั้นคือคุณเทพ ท่านชอบฟังเพลงไทยเดิมเพลงจากเรื่องพระลอ เพลงจากเรื่องขุนช้างขุนแผน ท่านจึงอัดเทปคาสเส็ทต์มาให้ผมฟัง ผมเป็นคนชอบฟังเพลงไทยเดิมอยู่แล้วผมก็ฟัง ถึงไม่ฟังผมก็วาดได้เพราะผมชอบ แล้วเรารู้ว่าควรจะเขียนอะไร เราก็เขียนตอนเราชอบ เขียนไป ฟังเพลงไปด้วย แรงบันดาลใจมันมีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แรงบันดาลใจมันควรจะมี ผมว่าช่างทุกคนทำงานอะไร ถึงไม่มีแรงบันดาลใจมันต้องทำออกมาให้ได้

“ผมไม่สามารถพูดได้ว่าชอบรูปนี้ที่สุด มันเหมือนเรามีลูกหลายคน จะรักคนโน้นคนนี้ที่สุด มันคงบอกไม่ได้ ถ้าลูกคนนี้ประจบเราตลอดเวลา เราก็ต้องลำเอียง แต่ต่อให้มันเลวหรือดื้ออย่างไร เราก็ต้องรักมันเพราะมันเป็นลูก ในขณะเดียวกัน หากเป็นรูปเขียนจะมาถามว่าผมประทับใจรูปไหน อาจจะมีสัก 1-2 รูป แต่มันลืมไปแล้ว มันยากที่จะพูดออกมาให้เป็นภาษาที่ไพเราะ มันมีหลายกรณี การเขียนภาพจากอดีตถึงปัจจุบันของผม ผมว่าไม่มีอะไรแตกต่างกัน มันแตกต่างที่ตัวเราแก่ลงไป งานเขียนก็ชำนาญมากขึ้น แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องสายตาที่ต้องใส่แว่นและไม่ค่อยมีเวลาเหมือนเมื่อก่อน เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามวัย มันไม่มีอะไรอยู่กับที่

“สมัยผมจบใหม่ๆ รูปเขียนผมเยอะมากตอนอยู่ปี 5 มันมีหลักสูตรที่ต้องเขียนรูปคน ที่เขาเรียกว่า พอร์ตเทรท นู้ด ฮาล์ฟนู้ด ฟิกเกอร์ฯลฯ แล้วรูปของผมมันเยอะ เมื่อจบมาแล้วไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ก็ให้เพื่อนๆ ไปบ้าง ให้ญาติพี่น้องไปบ้าง ภาษาชาวบ้านพูดว่าโละ ภาษาที่ไพเราะเขาเรียกว่าจำเริญ แปลว่าขจัดออกไปจากบ้าน ผมก็ให้เขาไป ภาพที่ผมเขียน ผมใช้สีอย่างดีวาด มันจึงอยู่คงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งลืมไปแล้ว พอวันเวลาผ่านไปอายุมากขึ้น รูปที่เราให้เขาไปเปล่าๆ กลับไปวางขายอยู่ตามที่ต่างๆ ที่เขาเล่นรูปกัน ได้ออกไปสู่ตลาดโดยนักสะสมรูปที่มีสตางค์ อย่าเรียกว่าปั่นราคาเลย แน่นอนที่สุดเมื่อเขาได้รูปเราไป เขาต้องทำราคาให้ได้สูงๆ เมื่อผมเห็นรูปที่ตัวเองเขียน โอ้โห ขายขนาดนี้เชียวหรือ ผมก็ได้แต่อนุโมทนา ที่เมื่อตกไปอยู่กับเพื่อนหรืองานอะไรที่เราให้เขาไปแล้ว นำไปขายราคาเป็นล้านๆ ผมไม่เคยนึกว่าทำไมเอารูปที่เราให้ไปขาย ผมก็ได้แต่อนุโมทนาที่เขาขาย จะได้มีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเต้าเลี้ยงตัว ก็เป็นอย่างนี้มาเรื่อยมา

“บางคนก็เอารูปมาให้ดูว่าใช่ลายเซ็นจักรพันธุ์หรือเปล่า ทำไมไม่เหมือนลายเซ็นเดี๋ยวนี้ เมื่อพิจารณาก็ใช่ ผมถามว่าได้มาอย่างไร เขาบอกว่ามีคนบอกขายเขา ผมก็ดู บางทีเขาซื้อมาแล้วก็วานผมทำความสะอาด มันมีเทคนิคการทำความสะอาด ซึ่งเราต้องทำเอง บางทีภาพชำรุดจะให้ใครซ่อมในเมื่อเรายังไม่ตาย เราก็ต้องซ่อม ผมก็ซ่อมให้ คิดๆ ดูแล้วเสียดาย ซื้อไว้เองดีมั้ย(หัวเราะ)”

หุ่นกระบอก “บอกรัก” 

“การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดตรีทศเทพฯ และวัดเขาสุกิม จะมีลูกศิษย์ลูกหามาเป็นช่างเขียน เหมือนเป็นคนทำบุญร่วมกันมาก่อน ผมเป็นคนโชคดีที่ว่าคนที่มาทำงานกับผมล้วนเป็นช่างที่มีฝีมือทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานปัก งานปั้น ฯลฯ ล้วนแต่เป็นช่างที่คัดสรรแล้วทั้งนั้น ผมถือว่าเบื้องบนสวรรค์ส่งมา (หัวเราะ)

“อย่าง ต๋อง-วัลลภิศร์ สดประเสริฐ เป็นคนที่มีฝีมือมาก ก็มาทำงานกับผม ไม่ว่าจะออกแบบตาลปัตรอะไรต่างๆ ก็ร่วมกันทำ เราเป็นช่างเขียน เราเขียนรูปพุทธประวัติ เราต้องศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างละเอียด แต่เดชะบุญสวรรค์ส่งทหารเอกมาให้ ต๋องเขาอ่าน เขาบวชเรียนมาลึกซึ้ง หากสงสัยอะไรก็ไต่ถามกัน เหมือนกับการจะเขียนรูปพระพุทธเจ้า นั่ง ยืน เดิน นอน จะเขียนปางไหนดี ต๋องก็จะบอกผมว่าลองเขียนพระพุทธเจ้าข้ามแม่น้ำคงคาสิ คือผมมีต๋องที่แตกฉานในเรื่องนี้อยู่ ในความคิด ความอ่านที่คล้ายคลึงกัน

“เคยได้ยินเหมือนกันว่ามีคนยกย่องว่าผมเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันนี้ไม่รู้ใครเขาจัดให้รู้สึกขอบคุณที่เขาให้เกียรติยกย่อง แต่ถึงแม้เราจะไม่มีชื่อในนั้น แต่เรายังเป็นช่างอยู่ ไม่ใช่ว่าพอเราไม่มีชื่อเราจะไม่เป็นช่างก็เปล่า

“ผมสนใจหุ่นมานานนมตั้งแต่อายุ 10-11 ขวบ ดูในทีวีขาวดำ จำได้ว่าช่อง 4 บางขุนพรหม ชอบมานานไม่ใช่เพิ่งหันมาชอบ แต่ตอนเรียนมันไม่มีเวลา ต้องเขียนรูปและเรียนหนังสือหนักมาก เมื่อผมจบ ผมก็มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาวิจัยศิลปะไทย คณะมัณฑนศิลป์ที่ศิลปากร ช่วงนั้นมีเวลาที่จะแวะไปหาครูชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหุ่นกระบอก ที่บ้านฝั่งธนบุรี ได้หัวหุ่นเก่าแก่ของครูเปียก ประเสริฐกุล บิดาครูชื้น จึงนำมาซ่อมแซมใหม่จนดูสวยงาม แล้วลองปั้นหุ่นเองดู ก็เลยชอบ

“ส่วนหุ่นหลวงเป็นศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับหุ่นกระบอก เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อยู่ในพระที่นั่งทักษิณาภิมุข หุ่นหลวงพังยับเยินกองอยู่จำนวนมาก ต่อมาราวปี พ.ศ. 2526-2529 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต้องการให้ผมซ่อมหุ่นให้ เพราะสภาพมันเป็นศพ (หัวเราะ) หัวแยกออกจากลำตัวรุ่งริ่งกองอยู่ เขาเห็นว่าผมชอบหุ่น แต่ทางพิพิธภัณฑฯ เขาไม่มีงบประมาณ คุณพี่พารณ อิศรเสนา เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่อยู่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยสมัยนั้น เป็นรุ่นพี่วชิราวุธฯ ท่านก็ให้เงินสนับสนุนมาซ่อมหุ่นหลวง การที่เราซ่อมหุ่นทำให้เรารู้กลไกต่างๆ ภายในตัวหุ่น การนุ่งผ้า หรือนิ้วกระดิกได้ ก็เรียนรู้จากหุ่นหลวง ซึ่งตัวใหญ่มาก หุ่นหลวงเป็นมหรสพของหลวง ที่เล่นในงานพระเมรุ มีชาวบ้านดูด้วย ไม่ได้เล่นให้เจ้านายดูอย่างเดียว เป็นหุ่นที่เล่นในงานพระบรมศพ งานพระเมรุ งานสำคัญๆ สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 4 หุ่นหลวงเริ่มจะพัง มาถึงรัชกาลที่ 5 จึงไม่มีหุ่นหลวงเล่น เป็นผลงานชิ้นแรกที่เราซ่อม

“ต่อมาอีก 10 กว่าปี ผมมาซ่อมหุ่นวังหน้า เป็นของวังหน้ากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เขาจะมีหุ่นตัวเล็กๆ เรียกว่าหุ่นวังหน้า เหมือนหุ่นหลวงแต่ตัวเล็กกว่า ผมก็เข้ามาซ่อม ปูนซิเมนต์ไทยก็เข้ามาสนับสนุนตลอดเป็นสิบๆ ปี

“อย่างหุ่นคุณลุงโจหลุยส์เป็นหุ่นละครเล็ก เห็นทั้งขาและแขนเห็นก้านเสียบออกมา แต่หุ่นหลวงไม่เห็นก้าน ทุกอย่างเป็นสายออกทางก้นหุ่น เหมือนคนมาก หุ่นกระบอกของผมเชิดด้วยตะเกียบ มันคนละตระกูลช่างกัน ของเราจะไม่เรียกการแสดงละครหุ่นของผมเรียกว่าการแสดงหุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ โปษยกฤตและคณะ

“เมื่อปี พ.ศ. 2532 ต๋อง-วัลลภิศร์เขียนบทสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ แสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ฮือฮามาก ต่อมาปีพ.ศ. 2533 ต๋องก็เขียนบทเรื่องตะเลงพ่าย ปัจจุบันยังซ้อมกันอยู่เลย ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นโคลงเป็นร่าย ไม่เหมาะกับการแสดง เรามาแต่งเป็นกลอนสำหรับเล่นหุ่น แต่งบทเสร็จ ต้องค่อยๆบรรจุเพลงก่อนโดยครูบุญยงค์ ครูบุญยัง เกตุคง ครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์ ครูชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติทั้งนั้น มาบรรจุเพลงที่บ้านนี้ อีกไม่นาน ราวๆ 3 ปี (ยิ้ม) คงได้ดู นอกจากคอนโดมิเนียมสูง 32 ชั้นของนายทุนชาวสิงคโปร์ที่จะสร้างข้างๆ มูลนิธิจักรพันธุ์ฯ หากสร้างขึ้นมาความเสียหายก็จะเกิดกับศิลปวัตถุ เราก็ต้องหยุด หาที่ทำงานใหม่ ถ้าไม่สร้างเราก็ดำเนินงานต่อ ทุกวันนี้เราใช้วิธีตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลไปให้”

แสงหนึ่งคือหิ่งห้อย

“ผมชอบเป็นช่างเขียนรูปมากกว่า การเขียนรูปมันเขียนได้ด้วยคนเพียงคนเดียว นอกจากคนขึงเฟรม แต่หุ่นไม่ใช่ ต้องทำกันหลายคน จะว่าไปผมก็ชอบหุ่นด้วย แต่ถามว่าทำด้วยคนๆ เดียวได้มั้ย มันทำไม่ได้ มีทั้งคนปั้น คนหล่อ ปิดกระดาษ เขียนหน้าทำมือ เขียนลาย คนปักสะดึง กรึงไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ปักไหม ผ้าห่มตัวนาง สารพัด มันเป็นงานใหญ่ใช้องค์ประกอบเยอะ ไหนจะมีนักร้อง นักดนตรี ปี่พาทย์ คนเชิด รวมแล้วใช้คนเป็นร้อย แต่เขียนรูป เราเขียนคนเดียว เขียนรูปจึงชอบมากกว่า

“กฎกติกาของผู้ที่จะได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ส่วนมากมักจะเป็นครูอาจารย์ ต้องได้รับพิจารณาก่อน ผมคิดว่ามันเป็นภาษาที่เขาจะใช้ ไม่ใช่หมายความว่าเขาเป็นครูหรือต้องไปสอนหนังสือเช้าไปเย็นกลับ มันไม่ใช่ แต่ว่ามีการถ่ายทอดการสอนอยู่ตลอดเวลา ผมเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนคณะมัณฑนศิลป์ อยู่ในรั้วศิลปากรตลอด 5 ปี แล้วลาออก เรื่องนี้ผมว่ามันเป็นภาษาการสืบทอดทางการสอนมากกว่า ซึ่งคนอาจจะคัดค้านผมไม่ให้ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติก็ได้ แม้ผมไม่ได้ไปสอนตามมหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่อง แต่ผมสอนเด็กในบ้านหรือสอนน้องที่เป็นช่างเขียนลายจิตรกรรมฝาผนังวัดตรีทศเทพฯ ปรับฝีมือให้เขาเป็นช่างเขียนจิตรกรรมในคณะเรามาตลอดเวลา แม้คนเดียวก็ถือว่าสอนแล้ว จากนั้นเขาก็นำวิชาความรู้ที่เราสอนไปถ่ายทอดอย่างคนเชิดหุ่น ผมมีคนเชิด 20 คน สอนจากคนๆ เดียวคือผม จากนั้นเขาก็นำไปสอนกันต่อๆ ตลอดเวลา”

สนองพระราชเสาวนีย์

“บั้นปลายชีวิตของผมไม่ทราบ แต่ความฝันคืออยากเขียนรูปที่ยังไม่เคยได้เขียน อยากเชิดหุ่นให้คนมาดูกันทุกวันอาทิตย์ของสิ้นเดือน เราอยากมีโรงหุ่นที่ดี สามารถรองรับคนได้มากๆ แต่ไม่รู้จะมีได้อย่างไรโดยไม่ต้องพูดถึงภาครัฐฯ อีกอย่างผมหง่อมแล้วอายุ 64 ปีจะทำอะไรเล่นๆ ไม่ได้ จึงต้องมีการบันทึกประวัติศาสตร์เก็บไว้ ก่อนที่มันจะเป็นอากาศธาตุ ทุกวันนี้ทำงานกันพัลวันเพราะทางกรมศิลปากร มีหนังสือมาเชิญผมกับวัลลภิศร์ เป็นที่ปรึกษาในเรื่องโขนของกรมศิลปากร สำหรับการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกพรหมาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งอาจจะเปิดการแสดงกลางปี พ.ศ. 2552 ที่โรงละครแห่งชาติ ไปๆ มาๆ คนรับเหมาทำตอนแรกฝีมือน้อย แล้วผมเป็นคนตรวจงาน มันไม่ผ่าน สุดท้ายต้องลงมาทำเอง

“ตอนนี้ผมมีลูกศิษย์ลูกหามาช่วยงานเยอะแยะที่ทำงานร่วมกันมา ทั้งเชิดหุ่น ทั้งปัก ปั้น จะมีคนทำงานหลายอย่างไม่น่าเป็นห่วงในตัวมูลนิธิฯ วัตถุดิบ รูปเขียนของผมสามารถนำมาพิมพ์ใช้หารายได้ รับประโยชน์ในการนี้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น ถ้ารู้จักทำ เพราะธรรมดาเรามีหน้าที่ป้อนวัตถุดิบให้กับมูลนิธิอื่นๆ อยู่ ที่มาขอรูปเราไปพิมพ์หารายได้ ผมไม่ห่วงอะไรทั้งสิ้น หวังว่าเด็กคงมีความสามัคคีกันไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ร่วมมือกันทำงานไปเรื่อยๆ หุ่นมีคนเก่งๆ ช่วยกันเยอะ ผมจึงหวังว่าจะมีเวลาเขียนรูป เขียนหนังสือมากขึ้น

“ผมไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นต้นแบบที่ดี ผมเป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาครบถ้วนอย่างที่คนพึงจะมี ผมเห็นเด็กหลายคนนิยมงานผมชอบรูปแบบผมหรืออยากจะเอามาเป็นแบบอย่าง แต่คงทำไม่ได้หมดทุกประการ หากจะเทียบจากตัวเราเองแล้ว เด็กควรจะมีหรือควรจะเป็นคือควรจะมีครูบาอาจารย์ที่ดี คนชอบมาถามผม ผมก็บอกว่าผมมีครูอาจารย์ที่ดี เมื่อมองย้อนดูตัวเอง จะไม่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ตอนที่เรียนอยู่ ผมจะเป็นคนที่ชื่นชมรุ่นพี่ พี่ที่เก่งอย่างพี่ถวัลย์ ดัชนี พี่อนันต์ ปาณินท์พี่เทพสิริ พี่ปฐม จะเขียนเก่ง ปั้นเก่ง เพราะฉะนั้นคนที่รู้สึกว่าตัวเองเก่ง ใครพูดอะไรก็จะไม่ฟังเลย มันไม่มีในตัวผม ผมชอบเขียนรูป ใครแนะนำหรือพูดอะไรเราก็นำมาคิดมาปรับปรุง แม้กระทั่งการพูดที่ไม่ดียังนำมาเป็นสิ่งที่ดีได้เลย (หัวเราะ) มันมีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะติหรือว่าพูดให้เราเกิดความหดหู่ท้อใจ หรือติด้วยความรัก มันมีประโยชน์ทุกครั้ง

“ตอนผมอยู่ปี 3 ผมเข้าไปในห้องอาจารย์ศิลป์ อาจารย์เขียน ยิ้มสิริ เป็นคณบดี นั่งอยู่กับพี่อนันต์ ปาณินท์ พี่อนันต์บอกว่าผมเขียนแนวเรียลลิสติก เขียนเหมือนจริง อะไรๆก็แม่น ไหนลองทำสีหน้าให้เป็นสีอย่างอื่น

เสียงดนตรีปี่พาทย์ขับกล่อมบรรเลงลึกซึ้งกินใจ